สัมภาษณ์ อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand ในวันที่ video streaming กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน

สัมภาษณ์ อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand ในวันที่ video streaming กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
เมื่อพูดถึงเว็บไซต์ video streaming ถูกลิขสิทธิ์ในประเทศไทย หนึ่งในแบรนด์ที่หลายคนต้องนึกถึงย่อมมีชื่อ iflix Thailand แน่นอน เพราะเว็บดังกล่าวรวบรวมทั้งหนังและซีรีส์ดังมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจากฮอลลีวูด เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และไทยไว้ในที่เดียวกัน ผ่านการบริหารของ ขิม – อาทิมา สุรพงษ์ชัย อาทิมาจบปริญญาตรีและโท สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า Imperial College of Science, Technology and Medicine ประเทศอังกฤษ มีประวัติการทำงานในสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ก่อนจะกระโดดมารับตำแหน่ง Country Manager ประจำประเทศไทย ปลุกปั้นมาตั้งแต่เป็นทีมเล็ก ๆ ที่ประชุมในห้องอพาร์ตเมนต์ ก่อนจะขยับขยายมาเป็นบริษัทใหญ่อย่างในปัจจุบัน The People จึงชวนคุยถึงกระแส video streaming ที่มา disrupt การชมภาพยนตร์แบบเดิม, แนวทางการบริหาร และกลยุทธ์การทำงานที่ทำให้ iflix Thailand มีวันนี้ [caption id="attachment_12013" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand ในวันที่ video streaming กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand[/caption]   The People: ปกติคุณชอบดูหนังประเภทไหน อาทิมา: เป็นคนที่ชอบหนังค่อนข้างหลากหลาย หนังก็ดู ซีรีส์ก็ดู ดูเยอะด้วย ทั้งซีรีส์ฝรั่ง-เกาหลี ดูได้หมด และเป็นติ่งระดับหนึ่ง ระดับหนึ่งแบบเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) แล้วเป็นคนที่ดูหนังแล้วจำรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครได้ ถ้ามีแข่งแฟนพันธุ์แท้ในบริษัทเรื่องหนัง เราก็สู้ได้ หนังที่ดูบ่อยมาก ๆ คือ Kingdom of Heaven (2005) และเป็นแฟนหนัง เอ็ม.ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) ชอบ Unbreakable (2000), The Village (2004), Signs (2002), Lady in the Water (2006) ชอบมาก สนุกมาก   The People: การดูหนังนอกจากให้ความบันเทิงแล้ว มันให้อะไรกับคุณบ้าง อาทิมา: นอกจากจะให้ความบันเทิงเหรอ ก็สามารถทำให้เราเสียเงินต่อนอกจอด้วย เช่น เวลาอบป้ามา (หัวเราะ) แล้วก็ทำให้เราได้ทำธุรกิจด้วย เย้!   The People: คุณจบวิศวะไฟฟ้า แต่ทำไมถึงมาสนใจทำงานสายธุรกิจ  อาทิมา: ไม่ได้วางแผนว่าจะเปลี่ยนสายขนาดนั้น ตอนเรียนเราชอบวิทย์ ฟิสิกส์ เคมี เลข สิ่งเดียวที่นึกออก ณ ตอนนั้นคือเรียนวิศวะ พอปี 4 ไปฝึกงานวิศวะแล้วไม่เอ็นจอยกับการทำงานในสายวิศวะ โดยเฉพาะตอนนั้นเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งตอนเรียนพอดี เราก็เลยหาธุรกิจที่เราสามารถทำได้ ตอนนั้นก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท The Boston Consulting Group (BCG) เขาไม่แคร์ว่าคุณจบอะไร เขาแคร์ว่าคุณคิดในเชิง logic ได้ไหม ก่อนจะเปลี่ยนงานมาทำสตาร์ทอัพชื่อ Freebie กับเพื่อน เป็นบริการโทรศัพท์ฟรีแลกกับการฟังโฆษณา แต่ก็เกิดการประท้วงทางการเมืองเกิดขึ้น ทำให้เราต้องปิดและขายกิจการทิ้งไป สุดท้ายพรหมลิขิตก็ทำให้เราเจอกับ iflix  ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยมีบริการแบบนี้ เราในฐานะ consumer ก็อยากได้บริการนี้ในเมืองไทย ก็เริ่มทำงานกุมภาพันธ์ ปี 2015 ปลุกปั้นมาตั้งแต่ในบ้านเลย มีอพาร์ตเมนต์ที่หนึ่งที่ไม่มีใครอยู่ มี 3 ห้องนอน เราก็ใช้ทุกห้องเลย ทีมหนึ่งอยู่ในครัว อีกทีมในห้องนอน อีกทีมอยู่ห้องรับแขก รวมกว่า 10 ชีวิตอยู่ในนั้น 6 เดือน ก่อนที่เราจะจดทะเบียนและตั้งบริษัท ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ท้าทายดี สนุกค่ะ   The People: คุณใช้ความรู้ทางสายวิศวะมาปรับใช้ในการทำงานอย่างไรบ้าง อาทิมา: สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จาก Freebie คือเราชอบสตาร์ทอัพ การทำทุกอย่างในองค์กรเอง แล้วแต่ละเดือนแต่ละปีก็รู้สึกว่าคาดเดาอะไรได้ยาก สิ่งที่เราวางแผนถ้ามันไม่เกิด เราจะต้องเปลี่ยนแปลงยังไง แก้ปัญหายังไง motivate คนยังไง ประยุกต์ประสบการณ์จากที่เคยทำงานมาบริหารสไตล์การทำงาน สร้างวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เราชอบ    The People: ย้อนกลับไป ณ เวลานั้น บริการ streaming ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ คุณมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ทุกคนเชื่อมั่นในทิศทางเดียวกับคุณ อาทิมา: ตอนนั้นเราเป็นบริการใหม่ และแบรนด์เราไม่ได้เป็นที่รู้จัก ยอมรับว่ามีหลายคนที่อยากให้มาร่วมงานกับเราแต่รู้สึกเสี่ยง มาสัมภาษณ์ก็ไม่มีออฟฟิศ เขาจะมีความสงสัยในองค์กร แต่คนที่มองข้ามจุดนั้นมาได้ คนที่มีแพสชันจริง ๆ ก็จะเป็นการสกรีนระดับหนึ่ง เพราะคนรุ่นนั้นจะเป็นคนทำงานที่อยู่กับเรานานมาก เพราะเขามองข้ามอะไรที่ไม่จำเป็นไป มีแพสชันเกี่ยวกับธุรกิจจริง ๆ คือมีแพสชันอย่างเดียวกันที่อยากให้มีบริการ streaming ในเมืองไทย ปี 2015 มี international player แค่เรากับอีกเจ้าหนึ่งที่เป็น regional ส่วน streaming ยักษ์ใหญ่ยังไม่มาถึงเมืองไทยเลยด้วยซ้ำ มีแค่ local player 2-3 คน ทำให้เราต้อง educate ตลาดเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเขายังชอบบริโภคของเถื่อน คิดว่า “ทำไมต้องจ่ายตังค์ล่ะ”,  “ทำไมไม่ดูฟรีล่ะ” แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นมากขึ้นก็มีผู้ให้ข้อมูลมากขึ้น คนเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี แต่เถื่อนยังไม่หมดนะ ยังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่คนเริ่มมีความละอายมากขึ้น อายที่ว่าฉันยังใช้เถื่อนอยู่ ขณะเดียวกันคนที่ใช้ streaming ถูกลิขสิทธิ์เริ่มมีความภาคภูมิใจ  ทีนี้พอพูดถึงเรื่องเงิน iflix ก็เปลี่ยนเป็นฟรีเมื่อปีที่แล้ว ฉะนั้นตอนนี้บริษัท iflix เป็นฟรีเมียมโมเดล ใครอยากดูฟรีก็ดูได้ แต่มีโฆษณานะ ส่วนใครจ่ายเงินเดือนละ 100 บาท หรือปีละ 1,000 บาท คุณก็จะได้คอนเทนต์พรีเมียมกว่าและไม่มีโฆษณา   The People: การเป็นฟรีเมียมเป็นกลยุทธ์ที่มีในทุกประเทศเลยหรือไม่ แล้วบริษัทแม่ของ iflix ที่มาเลเซียให้อิสระในการดำเนินกลยุทธ์มากน้อยแค่ไหน อาทิมา: ทุกประเทศเป็นฟรีเมียม แต่ในบางประเทศจะมี VIP ที่สูงไปอีก เช่น กัมพูชาได้สิทธิ์ถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกซึ่งเป็นคอนเทนต์ premium value มาก เขาจะมีอีกราคาที่สูงกว่า VIP ด้วยซ้ำ ทำให้กีฬาเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินอัพเกรดไปอีก รวมไปถึงความหลากหลายของคอนเทนต์ที่เราสามารถดูได้ในบางประเทศ ที่ต่างประเทศถ้าเปิด iflix คอนเทนต์จะแตกต่างกัน iflix Thailand ก็จะมีหนัง GDH เยอะขึ้น ซึ่งเป็นการจัดให้ตรงกับรสนิยมของแต่ละประเทศ เว้นแต่จะมีคอนเทนต์ที่มาจากเมืองนอกพร้อมกัน เช่น ซีรีส์ The Flash [caption id="attachment_12012" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand ในวันที่ video streaming กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand[/caption]   The People: ปัจจุบันผู้เล่นในตลาด video streaming มีหลายเจ้ามาก คุณคิดว่า iflix Thailand แตกต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร อาทิมา: แต่ละเจ้าแข่งกันที่คอนเทนต์กับฟีเจอร์ แต่ละเจ้ามี positioning ของตัวเอง บางเจ้าเป็นสายเกาหลี บางเจ้าสายเวสเทิร์น บางเจ้าเป็นสายอนิเมะล้วน ๆ ซึ่งเรามองว่า iflix เป็นช่องทางที่หลากหลายสำหรับทุกคน กว้างที่สุด เพราะเรามีทั้งซีรีส์จากฮอลลีวูด หนังจากฮอลลีวูด บางเรื่องเราทันอเมริกาตอนต่อตอนด้วยซ้ำ มีซีรีส์เกาหลีหลายพันชั่วโมง มีหนังและซีรีส์สำหรับเด็ก ล่าสุดเพิ่มช่อง Live มีกีฬา มีข่าว มีคลิปสั้น ๆ เรามองว่า iflix ค่อนข้างครบรส และมีคอนเทนต์จำนวนมากในราคาที่ดีที่สุด  ขิมคิดว่าผู้บริโภคเขาจะเลือกบริโภคเป็น pick and choose อะไรตรงจริตฉันมากกว่า ฉันก็จะจ่าย ใครที่มีทุนทรัพย์หน่อยก็จะมีทุกช่องทางเลยเอาไว้ดูหนังที่แตกต่างกัน เพราะจริง ๆ คอนเทนต์แต่ละเจ้าทับซ้อนน้อยมากนะ เรากับอีกเจ้าอาจจะทับกันนิดหนึ่ง แต่เรามีสิ่งที่กว้างที่สุด เยอะที่สุด บางเจ้าอาจมีทุนทรัพย์สูงกว่าเรา เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก ซึ่งเขาก็ตั้งราคาตามเนื้อผ้าไป แต่สิ่งที่เราทำคือพยายามเป็นบริการที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องมีบัตรเครดิตก็เข้าถึงได้ ไป 7-11 ก็ซื้อโค้ดได้ หรือใน Shopee หรือ K PLUS เราพยายามเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินให้ตรงกับตลาดเมืองไทยมากขึ้น จ่ายผ่านมือถือก็ได้ เหมือนเพิ่มความหลากหลายในการทำ partnership มากกว่า    The People: iflix มองผู้เล่นอื่นในตลาดเป็นคู่แข่งหรือพันธมิตร อาทิมา: เราคิดว่าถ้ามีทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น คนที่เลือกถูกลิขสิทธิ์ก็จะมากกว่าคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เราสู้คนเดียวไม่ได้ แต่ถ้ารวม ๆ กันแล้วเราอาจมีคอนเทนต์ที่เปลี่ยนใจคนละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกคนหนึ่ง เขาจะเป็นพันธมิตรในเชิงว่ามีศัตรูคนเดียวกับฉัน    The People: ศัตรูที่ว่าคือการละเมิดลิขสิทธิ์? อาทิมา: ไม่ว่าบริการ streaming ไหน คอนเทนต์แต่ละอย่างต้องมีต้นทุนเสมอ ที่บอกว่าคู่แข่งใหญ่ที่สุดเป็นของเถื่อน เพราะเขาไม่มีต้นทุน    The People: คุณคิดว่าหน่วยงานจากรัฐบาลสามารถจัดการปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้ไหม อาทิมา: ได้ ถ้าเขาจะทำ เรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างการเมือง ขณะที่ต่างประเทศมีองค์กรเดียวในการดูแล เจอเว็บเถื่อนสามารถสั่งปิดได้เลย   The People: กลับมาที่ iflix Thailand คุณคิดว่าคนที่ดู iflix คือคนกลุ่มไหน อาทิมา: ดูจากโปรไฟล์ 85% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล แล้วส่วนใหญ่บริโภคคอนเทนต์ผ่านมือถือ 70% เพราะว่ามันเข้าถึงทุกคน หลายคนอาจไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แต่มีมือถือชัวร์ มือถือทำให้โอกาสในการดู iflix เยอะขึ้นเพราะการเข้าถึงมันเยอะขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ผู้หญิง-ผู้ชายเท่ากัน แต่จริง ๆ แล้วถ้าดูข้อมูลเฉพาะคนที่สมัครอย่างเดียวก็ดูยากนะ เพราะว่าเขาแชร์กันได้หลายคน เช่น ที่บ้านสามีสมัครแล้วภรรยาดู หรือลูกสมัครให้คุณพ่อดู  ครั้งหนึ่งเราเคยจัดรางวัลคนที่ดู iflix มากที่สุด ปรากฏว่าเป็นแอคเคาท์ผู้ชายคนหนึ่งที่ดูเกาหลีเยอะมาก แต่จริง ๆ แล้วเป็นภรรยาที่ดูหมดเลย เพราะภรรยาอยู่บ้านกับลูกทั้งวัน    The People: เทรนด์ในการดู iflix มีอะไรบ้าง อาทิมา: เทรนด์เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของปี ถ้าเป็นหยุดยาวคนดูจะเยอะ บางทีเราก็เปลี่ยนพฤติกรรมเขา หรือเขาเปลี่ยนพฤติกรรมเราเหมือนกัน แล้วแต่ช่วงเวลา หนัง/ซีรีส์ตะวันตกกับเกาหลีเป็น Top 2 แซงกันไปมาตลอด เวลามีอะไรเข้ามาใหม่ เช่น ตอนซีรีส์ The Flash เข้าใหม่ The Flash ก็จะดัง หรือตอนเลขาฯ คิม จาก What's Wrong With Secretary Kim เข้าใหม่ ก็จะเป็นอันดับหนึ่งในช่วงเดือนนั้น ส่วนปิดเทอมอนิเมะก็จะขึ้นมา เห็นชัดเลยว่าคอนเทนต์เด็กจะขึ้นปิดเทอม และคอนเทนต์ยาว ๆ จะขึ้นช่วงวันหยุด   The People: ตอนนี้มีผู้ใช้ iflix ในระบบประมาณกี่รายแล้ว อาทิมา: ในทุกประเทศมีประมาณ 15 ล้านแอคเคาท์ ส่วนในเมืองไทยมีประมาณ 2 ล้านแอคเคาท์ที่ยังแอคทีฟ แต่ละช่วงเวลาก็ต่างกัน บางเดือนครึ่งล้าน บางเดือน 5 แสน แต่ก็มีคนที่แอคทีฟดูทุกวัน ดูทุกอาทิตย์ก็มี เวลาเรามีคอนเทนต์ใหม่ ๆ ก็จะดู หรือบางคนจ่ายเงินมาดูซีรีส์ 1 ซีซันแล้วหายไปเลยก็มี และเราก็ยังมีคนดูขาจรที่สามารถหาซื้อโค้ดได้ใน 7-11 คนก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามปกติ ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างนิ่ง คือซีรีส์ที่มีคนดูตลอดเวลา ดูซ้ำเยอะมาก คือ ซีรีส์เนื้อคู่เรามีครบ 3 ซีซัน – เนื้อคู่ประตูถัดไป, เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร?, เนื้อคู่ The Final Answer – และซีรีส์ของ กง ยู (Gong Yoo) สายเกาหลีที่อยู่ยงคงกระพันมาก ๆ ส่วนซีรีส์ฝรั่งคือ The Flash  ขณะที่หนังเก่า ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนดูจะน้อย อย่าง Pacific Rim (2013), Gravity (2013) Mission Impossible ภาค 1-4 ก็ยังมีคนดูซ้ำเรื่อย ๆ [caption id="attachment_12010" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand ในวันที่ video streaming กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand[/caption]   The People: สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ iflix มีทีมทำซับไตเติลที่จริงจังมาก แทบไม่มีการแปลผิดเลย อาทิมา: การดูซับไตเติลภาษาไทยในเมืองไทยเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เราไม่เคยโปรโมทหนังหรือซีรีส์อะไรที่ไม่มีซับไตเติลไทยเลย เว้นแต่คอนเทนต์เด็กหรือสารคดีบางอย่างที่ต้องมีความเข้าใจในภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นซีรีส์เกาหลีต้องมีซับไตเติลไทย 100% ส่วนหนังจีนนี่ต้องเป็นพากย์ไทยด้วยซ้ำเพื่อให้ได้อรรถรส เราก็ได้เสียงพากย์จากพันธมิตร  เราคุมการทำซับไตเติลทั้งหมดเอง เราใช้ภาษาที่ real เป็นภาษาที่คนพูดจริง ๆ แปลตามบริบทของหนัง ซับไตเติลทั้งหมดต้องผ่านทีมเพื่อตรวจสอบคุณภาพเสมอ   The People: video streaming ภาพรวมในประเทศไทย มีโอกาสเติบโตมากน้อยขนาดไหน อาทิมา: ได้อีก ปัจจัยที่ทำให้โตยังคงอยู่ในอีก 3 ปีต่อไป คือ นับวันอินเทอร์เน็ตจะแรงขึ้น และราคาโทรศัพท์มือถือถูกลง คุณภาพดีขึ้น ผู้บริโภคเองก็มีความรู้มากกว่า 3 ปีที่แล้ว เขารู้ว่า video streaming คืออะไร ถ้าปัจจัยพวกนี้ยังอยู่ คอนเทนต์ที่ดียังอยู่ ตลาดจะยังโตไปได้อีก เว้นแต่มีกฎหมายอะไรแปลก ๆ ที่อยู่ดี ๆ ออกมาเปลี่ยนอะไร ถ้าไม่มีเรื่องพวกนี้ ปัจจัยการเติบโตยังคงอยู่ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าบริการ streaming จะไปฆ่าใคร เพราะแต่ละเจเนอเรชันดูคอนเทนต์มากขึ้นเป็นเท่าตัว สมัยพ่อแม่เรามีแค่แพลตฟอร์มเดียว สี่ทุ่มไม่มีอะไรดูแล้ว ต่อมาเริ่มมีคอนเทนต์ตั้งแต่กลางวันยันเที่ยงคืน ต่อมามีวิดีโอ ซีดี หรือออกมาดูหนังข้างนอกบ้านก็ได้ แต่ตอนนี้เราสามารถเสพคอนเทนต์ได้ทุกที่ ในรถ ในบีทีเอส บางครั้งดูได้นานกว่าอยู่ที่บ้านอีก นี่เป็นสิ่งที่สมัยก่อนเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเน็ตแพง มือถือก็แพง การดู streaming มันกินเน็ต สมัยก่อนมีไม่ถึง 1 GB ด้วยซ้ำ 500 MB ก็หรูมากแล้ว เราจึงไม่สามารถฟุ่มเฟือย data เท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้เหรอ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด แถมยังทบไปเดือนหน้าได้อีก กลายเป็นว่าทุกคนมีอะไรให้ดูเสมอ   The People: การเติบโตมาจากธุรกิจสตาร์ทอัพ คุณได้ใช้กลยุทธ์อะไรจากสตาร์ทอัพมาใช้ใน iflix บ้าง อาทิมา: อยากแชร์ถึง The Tao of iflix เว็บไซต์หนึ่งที่เป็นหัวใจในการทำงานของเรา CEO มาร์ก บริตต์ (Mark Britt) บอกถึง 5 อย่างที่อยากให้พนักงานทุกคนทำได้ก็คือ be simple , be brave , be curious , be real และ be playful  be simple คืออย่ายากเกิน บางทีสื่อสารอะไรกับลูกค้าไม่ต้องใช้ศัพท์เทคนิค พูดปกติง่าย ๆ พูดให้น้อย ใช้คำง่ายแต่เข้าใจมากที่สุด  be brave คือกล้าคิดไอเดียใหม่ ๆ กล้าฉีกกฎ เช่น ฉันจะทำ live ฉันจะทำฟรี หรืออยากให้ทุกคนกล้าถาม กล้าคิด กล้าทำ  be curious ชอบตั้งคำถาม สงสัยว่าทำอย่างไรแล้วงานจะดีขึ้น ทำให้ดีกว่าเดิมได้ไหม ถามตัวเองให้เกิดการพัฒนา เพราะถ้าเราไม่ทำ มันก็จะนิ่ง be real ตรงไปตรงมา อย่ามาหมกเม็ด real กับลูกค้า real กันเอง ทำทุกอย่างให้ real  แล้วก็ be playful เราเป็นบริการที่ให้ความสุขกับลูกค้า ถ้าคุณมีความสนุกมันก็จะถ่ายทอดไปกับทุกคนที่เราคุย 5 อย่างนี้เราใช้ในทุก ๆ วันเลย พยายามเปลี่ยน mindset และเป็น culture ที่เราเอามาใช้ค่ะ [caption id="attachment_12011" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand ในวันที่ video streaming กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน อาทิมา สุรพงษ์ชัย Country Manager iflix Thailand[/caption]