สัมภาษณ์ สุธิราช วงศ์เทวัญ เส้นทางชีวิตลิเกกว่าจะเป็นพระเอกในหัวใจทุกคน

สัมภาษณ์ สุธิราช วงศ์เทวัญ เส้นทางชีวิตลิเกกว่าจะเป็นพระเอกในหัวใจทุกคน
“ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ” นับเป็นเพลงลูกทุ่งที่โด่งดังมาก สร้างชื่อเสียงและทำให้พระเอกลิเกคนหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องลูกทุ่งที่แจ้งเกิดในวงการอย่างรวดเร็ว กระทั่งไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ กุ้ง–สุธิราช วงศ์เทวัญ ด้วยความรักในการร้องเพลงแต่เกิดในตระกูลลิเก เขาปรับเปลี่ยนสไตล์ลิเกธรรมดา ให้มีการเล่นคอนเสิร์ตร้องเพลงหน้าเวที จนเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของคณะลิเกคณะวงศ์เทวัญ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ เขาก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคสารพัด ทำให้คราบน้ำตาในวันนั้นกลับกลายเป็นรอยยิ้มในวันนี้ วันที่เขาไม่ต้องร้องขอเป็นพระเอกในหัวใจใครอีกต่อไป เพราะเขาเป็นพระเอกในหัวใจทุกคนเป็นที่เรียบร้อย [caption id="attachment_10538" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ สุธิราช วงศ์เทวัญ เส้นทางชีวิตลิเกกว่าจะเป็นพระเอกในหัวใจทุกคน กุ้ง–สุธิราช วงศ์เทวัญ[/caption]   The People: จำครั้งแรกที่ขึ้นเวทีลิเกได้ไหม สุธิราช: จำได้แม่นเลยครับ เพราะเราเป็นทายาทลิเก อยู่ในครอบครัวลิเกมานานตั้งแต่เด็ก พ่อแม่เป็นพระเอก-นางเอกลิเก และเป็นเจ้าของคณะ แต่เราไม่อยากเป็นลิเก (หัวเราะ) ตั้งแต่จำความได้คืออาย ไม่กล้ารำ ไม่กล้าร้องจนพ่อแม่ปวดหัว เพราะเขาสร้างหลักปักฐานมากับลิเก ตั้งใจให้เราสืบทอด แถมเราเป็นลูกคนโตด้วย แต่ทำอย่างไรเราก็ไม่ยอม เขาก็เลยแกล้งว่า ถ้าไม่ยอมเป็นลิเกก็ไม่ต้องมานอนในบ้าน ไล่ออกไปนอนนอกบ้าน หรือปิดประตูขังเราให้อยู่บ้าน ตอนเด็ก ๆ เราก็เลยยอม ตกปากรับคำว่าเป็นลิเกก็ได้ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ตั้งใจสืบสานอะไรต่อ จนกระทั่งถึงช่วง ป.4 ทางโรงเรียนรู้ว่าเราเป็นลูกลิเก แล้วครูที่โรงเรียนกำลังจะเกษียณอายุราชการ โรงเรียนก็เลยมอบหมายให้เรามารำลิเกในงานปลดเกษียณ ซึ่งเราเป็นเด็กไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร จึงรับปากเขามา ตอนแรกเราบอกพ่อแม่ว่าไม่เอา จะเบี้ยวงาน (หัวเราะ) แต่แม่ก็บอกไม่ได้ เราเป็นลูกลิเก ถ้าไม่ไปเสียชื่อตาย เราก็เลยต้องเริ่มซ้อมรำลิเก การเล่นลิเกครั้งแรกคือเพื่อรำหน้าเวทีในงานปลดเกษียณครูที่โรงเรียน วินาทีแรกที่ออกไปเล่น เรามองไม่เห็นอะไรเลย คนดูเยอะมาก แต่ตามันพร่าไปหมด ไม่สู้แสง แล้วก็คงตื่นเต้น แต่เราก็รำผ่านไปจนได้ พอจบการแสดงก็รู้สึกภูมิใจนิด ๆ ว่าเราทำได้ จากที่คิดว่าทำไม่ได้เลย   The People: ทำไมตอนแรกคุณถึงไม่อยากเป็นลิเก สุธิราช: อาย เราไม่กล้าแสดงออก คิดว่าตัวเองไม่น่าจะทำได้ แต่พ่อแม่เขาเห็นแววเราตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเวลาอยู่หลังโรงลิเก เราจะรู้ว่าคนไหนร้องผิด เขาเห็นว่าเรามีความสามารถซ่อนอยู่ แต่ยังไม่กล้าแสดงออกมาเท่านั้น แต่พอเริ่มฝึกจริงจัง ทางบ้านก็พยายามสร้างสถานการณ์ให้เรามีความรักในอาชีพลิเก มีญาติพี่น้องรุ่นราวคราวเดียวกันหรือเด็กข้างบ้านมาหัดลิเก ทำให้เรามีเพื่อนเล่นลิเกด้วยกัน ตั้งแต่ฝึกร้องฝึกรำพื้นฐาน เหมือนจำลองเวทีอยู่ชานบ้าน เล่นอยู่อย่างนั้นเหมือนเป็นการฝึกออกเวทีใหญ่   The People: ทราบมาว่าบทบาทแรก ๆ ที่ได้รับคือบทตัวตลก? สุธิราช: ตอนฝึกเป็นพระเอกนะ แต่ตอนเล่นจริง ๆ เป็นตัวโจ๊ก (หัวเราะ) คุณแม่เขาคงอยากให้เรามีความกล้าแสดงออก เพราะถ้าเป็นพระเอกมันจะนุ่มนิ่ม แล้ว ณ ตอนนั้นบทพระเอกมันมีตัวแสดงอยู่แล้วคือคุณพ่อ เขาก็มองว่าเราเป็นตัวตลกดีที่สุดแล้ว เวลาออกไปเล่นจะได้กล้าพูด กล้าแสดงออก เพราะว่าตัวโจ๊กพูดอะไรก็ได้ ไม่ผิด ไม่ต้องดำเนินเรื่องมาก มีเนื้อเรื่องนะ เพียงแต่ว่าเราคอยแซม คอยแทรก ไปเกี้ยวกับนางโจ๊กบ้างบ้าง ออกไปกับนางเอกบ้าง ออกมาร้องเพลงเพลงหนึ่งบ้าง ร้องลิเกสักกลอนหนึ่ง แล้วก็กลับไปเกี้ยวนางโจ๊กกัน ในฐานะตัวโจ๊กทำให้เราสั่งสมประสบการณ์ ทำให้เราหน้าด้านมากขึ้น หน้าด้านแบบกล้าแสดงออกมากขึ้น   The People: จากบทตัวตลกกลายเป็นบทพระเอกได้อย่างไร สุธิราช: จากตัวโจ๊กก็เริ่มมาเป็นพระเอกตอนเด็ก เริ่มเล่นบทลูก เริ่มมีบทดรามาเข้ามาแล้ว เริ่มร้องไห้ ถูกทำร้าย ถูกพ่อแม่ตี เนื้อเรื่องจะออกลูกทุ่งหน่อย ๆ เราก็รับบทบาทตรงนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นพระเอกเด็กตลกบ้าง พระเอกเด็กเศร้าบ้าง บทพระเอกตอนเด็กคือเหมาเลย   The People: พอขึ้นมาเป็นพระเอกเต็มตัว คุณน่าจะอยู่ในยุครุ่งเรืองที่สุดของลิเก อยากให้เล่าบรรยากาศตอนนั้นหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง สุธิราช: หลังจากเล่นบทพระเอกเด็กมาสักพัก เราเริ่มเข้าอายุ 16 ปีก็เกิดเหตุให้เราต้องกลายมาเป็นพระเอก เมื่อคุณน้าที่แสดงเป็นพระเอกคู่กับคุณพ่อเสียชีวิตกะทันหันจากอุบัติเหตุ เขาเป็นตัวสำคัญหลักของทีมงานเลย คุณพ่อก็แก้ไขสถานการณ์ด้วยการเรียกเรามาแสดงนำแทน เขาจะปั้นลูกเต็มตัวแล้ว เราจึงต้องเป็นพระเอกจริง ๆ แม้จะหวั่นใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ตกปากรับคำว่าได้ ต้องทำให้ได้ ในเมื่อพ่อแม่หวังกับเราแล้ว งานแสดงที่เป็นพระเอกครั้งแรกก็คืองานครบรอบ 100 วันของคุณน้า หลังจากนั้นเราก็เริ่มออกแสดงเป็นพระเอกจริง ๆ มีแฟนคลับที่ดูเรามาตั้งแต่เด็ก จนเหมือนเขาผูกพันกับเรา พวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้กำลังใจ ณ เวลานั้นงานก็เยอะมากครับ แสดงติดกัน 5-6 เดือน ว่างเว้นไม่ถึง 10 คืน แถมเราต้องเรียนหนังสือด้วย แยกร่างยากมาก ไหนจะต้องเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งกีฬาเซปักตะกร้อระดับจังหวัดอีก ไปแข่งอ่านทำนองเสนาะด้วย กิจกรรมทุกอย่างรวมอยู่ที่เรา ซึ่งตอนนั้นถือว่าหนักมาก แต่เราก็สู้จนผ่านไปได้ ทำให้คนรู้จักเราและคณะมากขึ้น และแล้วมันก็มีจุดพลิกผันที่ทำให้ลิเกมีชื่อเสียงมากขึ้นกว่าเดิมก็คือการได้มาเป็นนักร้องลูกทุ่ง   The People: จุดเริ่มต้น “ลิเกสไตล์คอนเสิร์ต” เกิดจากอะไร สุธิราช: ตอนเด็ก ๆ เราอยากเป็นนักร้องมากกว่าเป็นลิเก พ่อเห็นว่าเราอยากเป็นนักร้อง ก็เลยมีไอเดียว่าทำเป็นคอนเสิร์ตลิเกดีไหม คือไม่มีการออกแขกเหมือนสมัยก่อน เราจะใช้การเล่นคอนเสิร์ตแทนการออกแขก มีการแต่งตัวเป็นนักร้อง มีแดนเซอร์ ออกมาร้องเพลง แล้วแดนเซอร์ก็คือพวกนางรำลิเกนั่นแหละ เอามาฝึกเต้นกันดู โดยมีเราเป็นนักร้องนำ เอาเพลงของรุ่นพี่มาร้องหน้าเวที เป็นการแจกแถมให้กับเจ้าภาพ เพราะเจ้าภาพเขาจะรู้แค่ว่า ลิเกคือการแสดงลิเก แต่เราอยากเป็นนักร้อง อยากร้องเพลง ผมแถมให้คอนเสิร์ตให้ด้วย บางทีก็มีลดราคาเพื่อให้เราได้ร้องเพลง   The People: การเปลี่ยนรูปแบบลิเกเป็นลิเกสไตล์คอนเสิร์ต คือการตอบสนองตัวเองที่อยากร้องเพลง? สุธิราช: ใช่ มันทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนได้เป็นนักร้องบนเวทีของเรา แม้จะเป็นการนำเพลงคนอื่นมาร้อง แต่ก็ถือว่าเป็นนักร้องแล้วล่ะตอนนี้ ขณะเดียวกันมันก็มีทั้ง 2 แง่คือคนชอบ และคนไม่ชอบ เพราะว่าคนยุคเก่าบางคนจะไม่ค่อยอินกับคอนเสิร์ต เขาจะมาดูลิเก มันก็เลยทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าภาพจ้างผมไปเล่นในงานงานหนึ่ง พอเราเริ่มต้นคอนเสิร์ตร้องเพลง เจ้าของบ้านก็เดินขึ้นมาบนเวที เดินขึ้นมาคว้าไมค์จากมือเราแล้วก็ชี้หน้าด่าว่า “กูให้มึงมาเล่นลิเก ไม่ใช่ให้มึงมาร้องเพลง มึงหอบเสื้อผ้า หอบคณะมึงกลับไปเลย กูไม่ให้เล่น” ตอนนั้นเรายังเด็ก อายุประมาณ 18 ปี ก็รู้สึกเสียใจ บอกขอโทษแล้วเดินกลับเข้ามาหลังเวที ตอนนั้นพี่ป้าน้าอาทุกคนบอกว่า “ไม่เล่นแล้ว” สั่งเก็บของกลับแบบไม่คิดเงินด้วย แต่ด้วยสปิริตที่ผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าเราไม่เล่นวันนี้จะเสียหายมาก เหมือนเราทิ้งงาน ยังไงก็ต้องเล่น เราก็ทำใจกลับมาเล่นลิเกใหม่ ออกมาฉากแรกก็พยายามฝืนตัวเองว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันต้องผ่านไปได้ สุดท้ายพอเอ่ยคำแรกออกมาน้ำตาก็ไหล ร้องไห้ (เสียงสั่นเครือ) ไม่ไหวจริง ๆ หนักมาก มันเป็นเหตุการณ์ฝังใจตั้งแต่ตอนนั้น เราไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้หน้าเวที เหตุการณ์นี้คือพีคสุด แต่ว่ามันก็จุดประกายให้คนเห็นว่าเรารับผิดชอบต่อหน้าที่ และทำออกมาอย่างเต็มที่ ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเข้ามาพูดมาคำหนึ่งว่า “คอยดูนะ จากวันนี้ไปกุ้งจะดังเป็นพลุแตกเลย” แล้วมันก็จริง หลังจากวันนั้นทำให้เรามีชื่อเสียงมากขึ้น คนดูเรามากขึ้น ประกอบกับรู้จักพี่คนหนึ่งที่เป็น sound engineer ในห้องอัดเสียง เขาเคยเห็นเราร้องเพลงหน้าเวที เขาก็พาเราไปคุยกับนายห้างทำเพลง แต่นายห้างมองว่าเด็กรุ่นนี้ทำเพลงยาก เขาจึงไม่มาเสียเวลามาลงทุนกับเด็กอย่างเรา ทำให้ความหวังที่อยากเป็นนักร้องยังไม่สำเร็จ เราจึงกลับมาด้วยความผิดหวัง   The People: แล้วมาเป็นนักร้องลูกทุ่งได้อย่างไร สุธิราช: พี่คนเดิมยังติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นเขาไปบอกรบเร้าอาจารย์สมปอง เปรมปรีดิ์ (โปรดิวเซอร์นักแต่งเพลงชื่อดัง) จนเขารำคาญแล้วเอาเรามาร้องเทสต์เสียง เราก็ร้องเพลงแต่เขายังไม่ชอบเท่าไหร่ คุณพ่อก็บอกให้เราร้องเพลง “อกหักซ้ำบ๊อยบ่อย” (ของ เสรี รุ่งสว่าง) อาจารย์ฟังปั๊บก็บอกว่า นี่แหละ กุ้งต้องร้องเพลงแบบนี้ เขาก็ตกปากรับคำว่าจะทำเพลงให้ ผ่านไปเป็นปี เล่นลิเกคอนเสิร์ตจนลืมไปแล้ว เขาก็ติดต่อกลับมาว่าได้เพลงแล้วนะ วันหนึ่งก็เลยไปเข้าห้องอัดเสียงร้องเพลง “ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ” ผมได้คุยกับอาจารย์สมปองว่าทำไมแต่งเพลงนี้ เขาก็บอกว่าได้ตามเราไปดูหน้าเวที เวลาเราเล่นคอนเสิร์ตอยู่บนเวทีเหมือนเราอยู่ท่ามกลางคนดูสาว ๆ เขาก็เลยบอกว่า ถ้าผมเป็นกุ้งอยู่บนเวทีนะ ผมจะร้องขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ มันจึงเป็นที่มาของเพลงนี้ [caption id="attachment_10537" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ สุธิราช วงศ์เทวัญ เส้นทางชีวิตลิเกกว่าจะเป็นพระเอกในหัวใจทุกคน กุ้ง–สุธิราช วงศ์เทวัญ[/caption]   The People: พอปล่อยเพลงนี้ออกมาผลตอบรับค่อนข้างโด่งดังมาก ตอนนั้นคุณรับมือกับความโด่งดังนั้นอย่างไร สุธิราช: ตอนแรกยังไม่รู้ตัว จนรู้สึกว่าทำไมเพลงมันเปิดทุกสถานีวิทยุเลย (หัวเราะ) ไปที่ไหนคนก็ขอเพลงนี้ จนวันหนึ่งเขาเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ แต่พอไปถึงทีมงานบอกว่าไม่มีชื่อศิลปินให้เราขึ้น คุณแม่ถึงกับแอบร้องไห้ในรถว่าลูกโดนอีกแล้ว ลูกสะดุดอีกแล้ว แต่เราไม่เป็นไร ทำใจได้ เหมือนมีภูมิคุ้มกัน แต่สุดท้ายรายการก็เมตตาเรา ให้ร้องเพลงก่อนเวลาออกอากาศ พอร้องก่อนเวลาปุ๊บ แฟน ๆ ก็เฮกันลั่น คล้องพวงมาลัยกันจนแน่น จนรายการทราบว่าเป็นความผิดพลาดทางการประสานงาน สัปดาห์ถัดไปเขาก็ให้เราออกรายการ ทำให้เรามีโอกาสออกรายการถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรกในฐานะนักร้อง ทำให้ทั้งเพลง ทั้งลิเกของเราบูมมาก ไปที่ไหนก็มีแต่คนต้อนรับ ไปไหนก็มีคนรู้จัก   The People: ลิเกเป็นพื้นฐานของการร้องลูกทุ่งจริงไหม สุธิราช: จริง มีส่วนมาก เพราะการร้องลิเกจะมีลูกเอื้อน เป็นการร้องแบบสละสลวย แต่ว่าไม่สามารถเอามาใช้ได้ทั้งหมด แต่ด้วยความที่เราชอบร้องเพลงลูกทุ่ง ฟังเพลงลูกทุ่งมาเยอะ เราก็จะแยกออกระหว่างการร้องลิเก กับการร้องเพลงลูกทุ่ง เราจะเห็นว่าการร้องมีความแตกต่าง แต่ว่าพื้นฐานลูกทุ่งก็มาจากลิเกด้วยเหมือนกัน   The People: คุณคิดว่าลิเกสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง สุธิราช: มีการเปลี่ยนแปลงครับ เพราะว่าเรามีโอกาสเห็นยุคพ่อในช่วงเวลาที่เขาลำบาก บางทีไม่มีเวทีเล่น หรือทั้งคณะนั่งรถไปคันเดียวกัน แน่น ๆ บางทีพ่อต้องนั่งบนหลังคารถ ต้องขึ้นฉากเวทีกันเอง เป็นเวทีวัด เอาหญ้ามาฝางปูเป็นพื้น เป็นฉากชักรอก ยุคนั้นเป็นยุคที่เราเติบโต พอยุคเราก็ขยับให้ทันสมัยขึ้น เริ่มมีเวทีลอยฟ้า มีฉาก ไฟ แสง สี เสียง จากฉากตัดไม้อัดกลายเป็นพิมพ์อิงค์เจ็ท ปัจจุบันทันสมัยยิ่งขึ้นเป็นจอ LED ซึ่งสามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ตามใจเราเลย เป็นคอนเสิร์ต ใช้กราฟิก ซึ่งช่วยในการแสดงได้ด้วย   The People: ในแง่ของคนดูล่ะ มีการเปลี่ยนแปลงไหม ปัจจุบันใครเป็นคนดูลิเก สุธิราช: คนดูมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เมื่อก่อนมีแต่คนสูงอายุ แต่ปัจจุบันมีวัยรุ่น มีเด็ก บางทีพ่อแม่พาลูกเต้ามาดูด้วย พอยิ่งมีคอนเสิร์ต ยิ่งชักจูงให้วัยรุ่นสนใจ คนสมัยนี้ยังดูลิเกกันครับ เราเองก็พยายามนำเสนอให้ลิเกไม่น่าเบื่อ มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งการแสดงลิเกจะมีเนื้อเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่เราก็สามารถเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น ให้ฉับไวขึ้น ดูแล้วตื่นเต้น ขณะเดียวกันก็จะอิงเรื่องปัจจุบันเข้าไปด้วย เสริมเป็นมุกตลกเพื่อให้ดูใหม่ตลอดเวลา เช่น บางทีการเมืองแรง ๆ เราก็จะเอาการเมืองมาเล่นหน้าเวทีบ้าง อำกันขำ ๆ เพิ่มอรรถรสในการแสดง   The People: คุณเป็นทั้งพิธีกร นักร้อง ลิเก คิดว่าบทบาทอะไรที่เราชอบที่สุด สุธิราช: ก็คงยังไม่หนีไม่พ้นลิเก เป็นรากฐานที่เราเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อให้เรามีงานมากมายขนาดไหน จะเป็นพิธีกร เล่นละคร ร้องเพลง แต่อาชีพที่เราไม่ทิ้งก็คืออาชีพลิเก ยังคงแสดงอยู่ ยังคงรับงาน และยังคงพาญาติพี่น้องของเราทำมาหากิน คุณพ่อได้ปลูกฝังให้เรารักญาติพี่น้องทุกคน คุณแม่เป็นตัวอย่างในการนำพาครอบครัวลิเกเราเติบโตไปด้วยกันได้ แล้วก็มีงานอยู่ทุกวัน อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ทิ้งการแสดงลิเก ต่อให้มีชื่อเสียงขนาดไหนก็ยังคงเป็น กุ้ง–สุธิราช วงศ์เทวัญ เป็นสายเลือดลิเก ที่จะนำพาครอบครัวเราให้มีกินมีใช้   The People: อีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการ “เสียงสวรรค์ รางวัลชีวิต” คุณเห็นเด็กรุ่นใหม่อยากเป็นนักร้องลูกทุ่งมากน้อยขนาดไหน สุธิราช: สนุกดีครับ เด็กรุ่นใหม่เขามีความสามารถในการร้องเพลงกันเยอะมาก บางคนอายุ 15-19 แต่ว่าร้องเพลงลูกทุ่งดีมาก แล้วก็เป็นเพลงลูกทุ่งรุ่นเก่า ๆ ที่เราไม่คิดว่าเด็กรุ่นนี้จะฟังกันแล้ว เราได้เจอน้อง ๆ มากมายหลายอาชีพที่อยากแจ้งเกิดในวงการลูกทุ่ง แล้วก็อยากคว้ารางวัลชีวิตให้กับครอบครัว บางคนลำบากมาก ไม่พอกินในแต่ละวัน บางคนก็สู้เพื่อครอบครัว บางคนก็สู้เพื่อตัวเอง อยากจะเรียนหนังสือต่อแต่ไม่มีทุน มันมีคนมากมายหลายอาชีพที่ต้องการรางวัลชีวิต เราก็จะเอาเสียงเพลงนี่แหละเป็นการวัด และมอบรางวัลชีวิตให้กับคนที่เสียงดี ซึ่งตอนนี้กำลังเข้มข้นเลยครับ   The People: รู้สึกอย่างไร เมื่อมีคนนำเพลงของคุณมาร้องประกวดในรายการ สุธิราช: มันก็เหมือนเป็นรางวัลชีวิตของเราเหมือนกันนะ จากเด็กบ้านนอกที่อยากเป็นนักร้อง อยากมีเพลงเป็นของตัวเอง กลายเป็นต้นแบบน้อง ๆ ในรายการเอาเพลง “ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ” มาร้อง เราก็รู้สึกดีใจนะ ว่าเราคือนักร้องต้นฉบับ เพลงนี้ก็ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่มันยังคงมีความเป็นอมตะ เพลงลูกทุ่งคือความเป็นอมตะ เรายังสามารถฟังเพลงของพี่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ เรายังฟังเพลงของสายัณห์ สัญญา มันบ่งบอกได้ว่า ลูกทุ่งมันอยู่ในรากเหง้าของคนไทยเหมือนกับลิเก มันควบคู่กันมาตลอด เลยรู้สึกว่าดีใจเวลามีน้อง ๆ เอาเพลงเอาไปร้องในรายการ   The People: เด็กสมัยนี้สามารถฟังเพลงได้หลากหลายมาก แต่ทำไมเขาถึงยังชอบฟังลูกทุ่งกันอยู่ สุธิราช: ก็จริงนะ ผมว่าเป็นเรื่องการสืบทอดจากพ่อแม่มากกว่า เพราะถ้าพ่อแม่ชอบ เด็กก็จะซึมซับได้ยินอยู่บ่อย ๆ อย่างตัวผมจริง ๆ แล้วฟังเพลงทุกแนวนะ แต่ลูกทุ่งมันเป็นเรามากที่สุด   The People: ณ ตอนนี้วางแผนกลับมาร้องลูกทุ่งบ้างไหม สุธิราช: มันชอบอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว ตอนนี้โชคดีที่มาอยู่กับ Rsiam ทำให้ผมได้ทำเพลงต่อเนื่อง ล่าสุดมีโอกาสได้ร้องเพลงประกอบละคร “เทพธิดาขนนก” และได้ร่วมแสดงด้วย ชื่อเพลง “รักในรอยสาบาน” เป็นเพลงลูกทุ่งเก่า ๆ ติดตามชมทางช่อง 8 ครับ   [caption id="attachment_10536" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ สุธิราช วงศ์เทวัญ เส้นทางชีวิตลิเกกว่าจะเป็นพระเอกในหัวใจทุกคน กุ้ง – สุธิราช วงศ์เทวัญ[/caption]   The People: มีช่วงหนึ่งที่คำว่า “ลิเก” ถูกนำมาใช้เป็นคำเหยียด คุณรู้สึกอย่างไร กุ้ง สุธิราช: มีบางอารมณ์ที่รู้สึกว่าทำไมต้องมองลิเกเหมือนเป็นการเหยียด (เสียงสั่น) มองอาชีพลิเกต้อยต่ำ เรารู้แล้วล่ะว่าเมื่อก่อนทุกคนคิดว่าลิเกคือการเต้นกินรำกิน แต่อีกมุมหนึ่งลิเกกำลังแบกวัฒนธรรมของไทยนะ ลิเกทุกคณะไม่ใช่ว่าลืมตามาเป็นลิเกได้เลย เขาต้องมีการเรียน มีการฝึกเหมือนทุกคนทุกอาชีพ เช่น กว่าจะเป็นหมอได้ก็ต้องเรียนหมอ กว่าจะเป็นวิศวกรได้ก็ต้องเรียนวิศวกร ลิเกก็เหมือนกัน เขาต้องร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็ก สั่งสมประสบการณ์ และมันเป็นอาชีพที่สุจริตนะ เป็นอาชีพที่เรารัก ถ้าใครมองเป็นการเหยียดหยามคนอื่นเรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับอาชีพนี้   The People: อยากให้ทุกคนมองชีวิตลิเกเป็นอย่างไร กุ้ง สุธิราช: อยากให้ทุกคนมองว่าลิเกคือศิลปะพื้นบ้านที่อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ทุกวันนี้ลิเกยังอยู่และยังได้รับการยอมรับ ยังมีงานแสดง ต้องบอกว่าลิเกเป็นความบันเทิงที่คนทั่วไปจะสามารถชมได้ตามงานวัดงานวา ศิลปะการแสดงบางประเภทก็หายไปแล้ว เช่น ลำตัดหรือโขนสดที่ต้องไปดูตามโรงละครใหญ่ ๆ เท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ดูตามงานทั่วไป ถ้าลิเกไปถึงจุดนั้น ต่อไปลิเกจะไม่น่าติดตาม แล้วมันก็จะหายไป   The People: คาดหวังอนาคตของคณะลิเกตัวเองไว้อย่างไร กุ้ง สุธิราช: อยากให้อยู่นานที่สุด เพราะเรารับวัฒนธรรมลิเกมาแล้ว เราเป็นศิลปินก็จะสืบทอดรับช่วงต่อไป คุณพ่อเขารักอาชีพนี้มาก พ่อถึงกับตั้งปณิธานไว้ว่าขอตายด้วยอาชีพลิเก ตายกลางเวที ตายหน้าเวที เขาขอแบบนั้น และเราก็ได้รับความรู้สึกนี้มาโดยตลอด อาชีพจะมีคนที่อาจจะหลงระเริง มีชื่อเสียง แต่อาจไม่สามารถรักษาที่เสียงไว้ พอถึงวันหนึ่งมันจะหายไป ขณะเดียวกันเราคิดว่าต้องยืนหยัดอยู่ตรงนี้ให้ได้ เราต้องอยู่กับคนดูเพราะเขาคือนายเรา อย่าไปมองข้ามว่าเราดังแล้วคนดูเข้าหาไม่ได้ หยิ่ง เมื่อใดที่คนดูมองว่าเราหยิ่ง ไม่เป็นกันเอง เขาก็จะไป ตอนนี้ลิเกมีมากมายหลายคณะ เขาเลือกดูคณะไหนก็ได้ เราต้องรักษาคุณภาพ รักษามาตรฐานเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ อาจนำญาติพี่น้องลูกหลานคนรุ่นใหม่ให้มาสืบทอดคณะ เพื่อที่จะให้คณะวงศ์เทวัญอยู่ไปอีกนาน ๆ   The People: ลิเกและลูกทุ่งสามารถสืบสานวัฒนธรรมไทยได้อย่างไร สุธิราช: เราไม่อยากให้ศิลปะพื้นบ้านเหล่านี้หายไป เราอยากมีตัวแทนสืบสานกันต่อ เพราะว่าทั้งสองอย่างเป็นวัฒนธรรมไทย อย่างเพลงลูกทุ่งเหมือนพาเราย้อนอดีตเวลาฟังเพลงตามท้องไร่ทุ่งนา มีความสวยงามของภาษา และบ่งบอกเรื่องราวในยุคนั้น ๆ เพราะอาจารย์นักแต่งเขาเห็นภาพ มันมาจากชีวิตจริง เป็นการบันทึกช่วงเวลา จนถึงปัจจุบันนี้เพลงก็มีแนวทางใหม่ ถามว่าผิดไหมกับการเป็นลูกทุ่ง มันก็ไม่ผิด มันก็เป็นช่วงเวลาจริงที่เกิดขึ้น เพลงลูกทุ่งก็จะมีคำฮิตบางคำที่สามารถเอามาแต่งเพลงได้ เพลงลูกทุ่งคือการบันทึกช่วงเวลานั้น ๆ นอกจากเพลงที่มันเป็นอมตะจริง ๆ อย่าง “ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ” ผ่านมา 20 ปีแล้วก็ยังมีคนเอามาร้อง เพราะมันเป็นอมตะครับ   [caption id="attachment_10539" align="aligncenter" width="960"] สัมภาษณ์ สุธิราช วงศ์เทวัญ เส้นทางชีวิตลิเกกว่าจะเป็นพระเอกในหัวใจทุกคน กุ้ง – สุธิราช วงศ์เทวัญ[/caption]   ร่วมสัมภาษณ์: นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์ (The People Junior)