ชีวิตที่ต้องคว้าดาวอีกครั้งของ เอ็ม-อรรถพล หลังวันที่ออกไปตามหาตัวตนบนเส้นทางดนตรีและความเร็ว

ชีวิตที่ต้องคว้าดาวอีกครั้งของ เอ็ม-อรรถพล หลังวันที่ออกไปตามหาตัวตนบนเส้นทางดนตรีและความเร็ว

หลังสิ้นเสียงประกาศชื่อผู้ชนะบนเวทีเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว (The Star) ปี 2 รายการเรียลิตี้ค้นหานักร้องชื่อดังเมื่อปี พ.. 2547 ชีวิตของ เอ็ม-อรรถพล ประกอบของ ก็เปลี่ยนไป จากเด็กหนุ่มขี้อายชาวเชียงใหม่ผู้นั่งอยู่หลังกลองของวงดนตรีที่ก่อตั้งร่วมกับเพื่อน ๆ และหารายได้พิเศษจากการร้องเพลงตอนกลางคืน มาตามหาฝันจนได้เป็นศิลปินพ่วงด้วยนามสกุลเดอะสตาร์อย่างเต็มตัว พร้อมปล่อยอัลบั้มเดี่ยวและผลงานเพลง ไม่ว่าจะเป็นอย่าร้อนตัว’, ‘คนเบื้องหลังและตัวอิจฉาทำให้ชื่อของเขาปรากฏบนชาร์ตเพลงอยู่หลายครั้ง

ทว่าเส้นทางดนตรีที่ต้องออกอัลบั้มเดี่ยวติด ๆ กันมาถึง 5 ปี เป็นจุดเปลี่ยนให้ เอ็ม ตัดสินใจออกจากบ้านหลังใหญ่แสนคุ้นเคยอย่าง Grammy ด้วยเหตุผลว่า ขอทำเพลงที่มันใช่จริง ๆ แล้วก็ถูกใจเราจริง ๆจนมาถึงวันนี้ เอ็ม พร้อมกลับมาจับไมค์อีกครั้งกับเพลงที่เขารู้สึกใช่อย่าง โคตรเพราะ ใน ขอบคุณที่กลับมาโปรเจกต์ ของค่าย Khaosan Entertainment หลังห่างหายจากเส้นทางดนตรีถึง 8 ปี เพื่อตามหาตัวตนและโลดแล่นบนสนามแข่งรถที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก 

The People พูดคุยกับเขาในหลายแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทางดนตรี ความท้าทายในสนามแข่ง และการกลับมาร้องเพลงในวันที่เขาพร้อมอีกครั้ง

 

The People : ชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

อรรถพล: เด็ก ๆ โตมาในครอบครัวที่ถามว่าเกี่ยวข้องกับเสียงเพลงไหม ก็นิดหน่อย เพราะว่าพ่อเป็นอาจารย์ แม่ก็เป็นอาจารย์ ซึ่งแม่ชอบฟังเพลงนะ ชอบร้องเพลง  ตอนเด็ก ๆ เราชอบร้องเพลงแต่ว่าเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าร้องให้ใครฟัง ต้องแอบร้องในห้องน้ำ 

The People : แต่ตอนนั้นก็ชอบดนตรีแล้วใช่ไหม

อรรถพล: ชอบครับ ชอบฟังเพลง ชอบดนตรีตั้งแต่เด็กแหละ ชอบร้องแต่ว่าไม่ได้ฝึกแบบจริงจัง ตอนช่วงมัธยมก็มีเล่นดนตรี ไปตั้งวงกับเพื่อน ๆ เราก็เป็นมือกลองตีกลอง สมัยก่อนจะชอบ X Japan เมื่อก่อนเราชอบตีกลอง เฮ้ยอยากเป็นมือกลองแบบโยชิกิ (ฮายาชิ) ก็เลยไปฝึกตีกลอง แล้วก็ทำวงจนถึงช่วงจบ ม.ต้น ก็ไม่ได้เล่นกันต่อ เพื่อน ๆ ก็แยกย้ายกันไป

The People : เหมือนดนตรีค่อย ซึมซับเข้ามาในชีวิตแบบไม่รู้ตัว?

อรรถพล: ใช่ เมื่อก่อนจะชอบร็อก เพราะร็อกผมว่ามันฟังง่ายมากกว่า ฟังแล้วเข้าใจง่าย ฟังแล้วเข้าถึงง่าย เมื่อก่อนยังไม่ได้ฟังอาร์แอนด์บี ไม่ได้ฟังอะไรพวกนี้เท่าไหร่ ก็ซึมซับมาเรื่อย ๆ กับเพลงร็อก สมัยก่อนจะฟัง Green Day มี Red Hot (Chili Peppers) มีวงที่ออกแนวร็อก ๆ เลยแต่ก็ไม่ได้เป็นร็อกที่เป็นเมทัลหรือฮาร์ดคอร์

The People : เริ่มหลงใหลดนตรีอย่างจริงจังเมื่อไร

อรรถพล: จริง ๆ เริ่มจากที่เราชอบตีกลองก่อน ตีแล้วมันได้รู้สึกปลดปล่อย คือที่ตีกลองเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่กล้าไปอยู่ข้างหน้า เวลาเป็นแบนด์จะให้เรามายืนเล่นกีต้าร์ หรือว่าให้ร้องเพลงอย่างนี้ ไม่กล้าเลยตอนนั้น เลยเลือกเล่นกลองเพราะอยู่ข้างหลัง ได้ใส่เต็มที่ ได้คุมจังหวะของวง 

จากที่เราฟังเพลงร็อกสมัยก่อน ๆ ก็เริ่มมาฟังแนวอาร์แอนด์บี เป็นโซลมากขึ้น แล้วเริ่มอยากร้อง แบบ... เฮ้ย ถ้าเราร้องเพลงประมาณนี้ มันให้ความรู้สึกได้ แต่ส่วนมากเมื่อก่อนจะร้องเพลงช้า ผมเป็นคนร้องเพลงช้าเสียเยอะ ตอนนั้นต้องหาฟังจากวิทยุหรือฟังจากเทป จากนั้นเราก็จะแกะมาร้องตาม ก็ยากอยู่หาเพลงที่จะฟัง ต้องไปหาซื้อเพลง เมื่อก่อนเริ่มมีซีดีแล้ว แต่ราคาแพง เราก็ฟังวิทยุแล้วก็ซึมซับมันมาเรื่อย ๆ ก็ฟังด้วยความสนุก ไม่ได้ฟังด้วยความว่าต้องเล่นให้ได้ ร้องให้ได้แบบนี้ 

ชีวิตที่ต้องคว้าดาวอีกครั้งของ เอ็ม-อรรถพล หลังวันที่ออกไปตามหาตัวตนบนเส้นทางดนตรีและความเร็ว

The People : ความชอบดนตรีเริ่มจากความรู้สึกของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับปัจจัยอื่น?

อรรถพล: ใช่ ๆ แต่พอจบช่วง ม.ต้น เหมือนเราก็เลิกตรงนั้นแล้วไปเล่นกีฬาแทน ตอนนั้นเราเล่นบาสฯ การร้องเพลงก็กลายเป็นสิ่งที่เราไม่ได้โฟกัสกับมันเท่าไหร่ มีโอกาสมาโฟกัสอีกทีคือตอนที่เรามาร้องเพลงประจำ 

แต่การร้องเพลงก็มาจากความบังเอิญ ตอนแรกเราไม่ได้อยากจะเป็นนักร้อง แต่ว่ามีโอกาสเข้ามา เพื่อนเราทำงานอยู่ที่ร้านเป็นคลับเมื่อก่อน เป็นแดนเซอร์อยู่ที่เชียงใหม่ แล้วรู้ว่าเราชอบร้องเพลงแต่ไม่กล้าแสดงออก มันเลยแกล้งเรา ไปบอกวงที่ร้านว่ามัน (เอ็ม) ร้องเพลงเพราะนะ แต่ว่ามันไม่กล้าแสดงออก พี่ลองให้มันลิปซิงค์ดู (เขา) ก็เลยให้นักร้องในร้านออกไปลิปซิงค์อยู่บนเวที แล้วผมร้องอยู่หลังเวที ผ่านไปครึ่งเพลงแล้วค่อยเฉลยว่าไม่ใช่เสียงนักร้องบนเวที ก็เล่นฮา ๆ ไป เราก็ร้อง ๆๆ ไปเสร็จปุ๊บ ผู้จัดการร้านเขาก็ เฮ้ย เสียงใช้ได้นะ มาลองร้องเพลงไหม เราก็บอกพี่ ผมร้องได้แค่ไม่กี่เพลง เขาบอกไม่เป็นไร มาเหอะ เอา มีเงินเดือนด้วยนะ 8,000 บาท มาหรือเปล่า เราก็เอาเลย คือ 8,000 ตอนนั้นก็เยอะนะ เราก็โอเค ก็เลยเริ่มฝึกร้องตั้งแต่ตอนนั้น ยอมรับเลยว่าตอนนั้นก็คือชอบร้องแหละ แต่ว่ามันได้ตังค์ด้วย เรียนด้วยแล้วก็ร้องเพลงหาเงินไปด้วย ก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาให้เราฝึกร้อง 

The People : อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนขี้อายลุกขึ้นมาประกวดร้องเพลง

อรรถพล: เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ชอบ แล้วก็ไม่อยากไปประกวดในรายการประกวดร้องเพลง สมัยก่อนมันจะเป็นการร้องเพลงที่เป็นแพตเทิร์นว่าต้องมีการร้องแบบนี้ ท่าทางต้องออกมาอย่างนี้ สื่อสารออกมาต้องสื่อสารอย่างนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราเป็นแบบนั้นไม่ได้ เราทำแบบนั้นไม่ได้ เราเลยไม่อยากไป แต่เราอยากเป็นคนที่ร้องเพลง  

ตอนนั้นเราร้องเพลงประมาณ 5 ปี ก่อนที่ไปประกวด 4-5 ปี เรารู้สึกว่ามันอิ่มตัวที่ว่า เฮ้ย เราร้องมาจนถึงจุดนี้ เราอยากมีเพลงของตัวเองบ้าง เพลงที่เราร้องมาแล้วเป็นสไตล์ของเรา เป็นสิ่งที่เราชอบ แล้วเมื่อก่อนเราไม่สามารถจะออกอัลบั้มได้เองเหมือนสมัยนี้ที่ใครอยากจะทำเพลงเองก็ทำเองแล้วก็อัปโหลดเอง โปรโมตเองได้เลย แต่เมื่อก่อนเราต้องอาศัยค่ายเพลง อาศัยแมวมองที่มาคอยดูว่า โอเค ทำอัลบั้มให้คุณนะ คุณสามารถออกได้ 

ตอนนั้นเราก็เจอรายการนี้แหละ เป็นรายการแรกในเมืองไทยที่ไม่ได้เป็นการประกวดแบบเก่า ๆ เดิม ๆ คือหาคาแรคเตอร์ หาสไตล์ หาการร้องที่ดูน่าสนใจ ก็โอเค ตัดสินใจไปประกวด ถามว่าตอนนั้นที่ร้องมาประมาณ 4-5 ปี ความเขินอายเราก็หายไปแล้วแหละ แต่มันเริ่มกลับกลายเป็นความอยากจะมีเพลงเป็นของตัวเองมากกว่า 

The People : ตอนแรกที่ประกวดคาดหวังไว้เยอะไหม

อรรถพล: ไม่ ๆ ตอนนั้นพูดตรง ๆ เลยว่าแค่เข้ารอบภาคมาก็โอเคแล้ว เพราะว่าปีแรก ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน 4 ภาค มีคนประกวดภาคละ 1,000 กว่าคน แล้วก็คัดเหลือตัวแทนภาคแค่ประมาณ 8 คนต่อภาค ไม่เกิน 10 คน จากนั้นเอามารวมกันแล้วก็คัด ปีแรกผมตกรอบไม่เข้ารอบภาค คือได้มีโอกาสไปร้องให้กรรมการ 3 คนได้ฟังแล้วก็ไม่เข้ารอบ ซึ่งปีแรกถามว่าเฟลไหม ก็เฟล  

แล้วตอนนั้นก็มีชวนน้อง ๆ ไปด้วยคือมี นิว (นภัสสร ภูธรใจ) - จิ๋ว (ปิยนุช เสือจงพรู) เราเป็นคนชวนเลยนะว่า เฮ้ย ไปเถอะ น่าสนใจ ไปลองดู  2 คนได้เข้ารอบแต่เราตก พอปีที่ 2 เฮ้ย ไม่ไปดีกว่า แต่ก็มีน้อง ๆ มีนิวจิ๋ว เพื่อน ๆ ในวง แล้วก็รุ่นพี่ที่ร้านว่าไปสิ เอ็มน่าจะทำได้ ก็เลยโอเค ฮึดอีกครั้งหนึ่ง 

The People : การตัดสินใจครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตไปเยอะไหม

อรรถพล: โห เยอะมาก แต่มันเปลี่ยนในช่วงเวลาสั้นมากเลย ช่วงเวลาที่ไปประกวดประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่เริ่มเข้าประกวด เข้าไปอยู่ในบ้าน เริ่มโหวตทำให้คนรู้จักเรา ช่วง 2 เดือนนั้นเราเปลี่ยนจากคนธรรมดากลายเป็นคนที่มีคนรู้จัก ถ้านับช่วงนั้นคือเป็นรายการที่ดัง แล้วก็สามารถทำให้คนรู้จักเราได้ทั่วประเทศจริง ๆ ก็ต้องขอบคุณรายการเดอะสตาร์ที่ทำให้เราได้มีชื่อเสียง ได้มีเพลงเป็นของตัวเอง ได้เป็นศิลปิน 

จากคนธรรมดาได้มาเป็นศิลปินก็ถือว่าเกินสิ่งที่เราคาดหวังไว้เยอะมาก เพราะตอนแรกคิดว่าเข้ารอบภาคก็ดีใจแล้ว พอเข้ารอบ 8 คนอีกก็ดีใจขึ้นอีก จริง ๆ ตอนเข้ารอบ 8 คน คิดว่าเราไม่ได้เป็นตัวเก็งเลย เราไม่ได้เป็นคนที่ร้องเก่งที่สุด เราไม่ได้เป็นคนที่มีคนโหวตให้เยอะในตอนแรก ๆ แทบจะเกือบตกเหมือนกัน หลัง ๆ มาคะแนนโหวตเริ่มเยอะขึ้น ๆ จนมาถึงรอบสุดท้ายได้ก็เกินคาดมาก ๆ คิดว่าเราได้มาถึงตรงนี้ เพราะว่าทั้งรายการเดอะสตาร์ด้วย ทั้งแฟนคลับที่โหวตให้

The People : ช่วงที่ห่างหายจากการเป็นนักร้อง เป็นเพราะไฟหมดหรือว่าอะไร

อรรถพล: เมื่อกี้มานั่งนับ ตอนแรกที่คิดว่า 5-6 ปี แต่จริง ๆ 8 ปี ผมมีอัลบั้มเดี่ยวทั้งหมด 5 ชุด ซึ่งชุดที่ 5 ปี 2553-2554 ก็นับมาประมาณ 8 ปี ถามว่าไฟเราหมดไหม ไฟเราไม่หมด แต่เราอยากได้อะไรที่ใช่จริง ๆ แล้วค่อยออก  

ตอนนั้นผมออกอัลบั้มมาติดกันเลย ปีละอัลบั้ม 5 ปี โดยชุดที่ 4 กับชุดที่ 5 ผมเริ่มรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรแตกต่าง ไม่มีอะไรใหม่ ๆ ผมได้ฟังคำพูดจากดีเจว่า เฮ้ยพี่ อันนี้ชุดใหม่หรือชุดเก่า ชุด 4 หรือชุด 5 คือดีเจยังงง สมมติเราเพิ่งมาโปรโมตชุดที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว ผ่านมาอีกไม่นานเรามาโปรโมตชุดที่ 5 อีกแล้ว แล้วสไตล์เพลงก็ใกล้เคียงกัน เลยทำให้เรารู้สึกว่าติดกันเกินไป ขนาดดีเจก็รู้สึก คนฟังก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรแตกต่าง ก็เลยขอทางผู้ใหญ่ว่าขอทำเพลงที่มันใช่จริง ๆ แล้วก็ถูกใจเราจริง ๆ แต่ที่ผ่านมาเหมือนกับว่าเราก็ทำไปหลายเพลงนะ ก่อนที่จะมาเป็นเพลงนี้ ถ้านับแล้วก็เป็นสิบที่ทำแล้วก็ทิ้งไป ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเราหาอะไรที่ใช่ 

ชีวิตที่ต้องคว้าดาวอีกครั้งของ เอ็ม-อรรถพล หลังวันที่ออกไปตามหาตัวตนบนเส้นทางดนตรีและความเร็ว

The People : หลังจากนั้นเลยไปหาตัวตน?

อรรถพล: ใช่ ๆ หาตัวตน มีทั้งลองผิดลองถูก ลองไปร้องแบบนี้ดู ลองไปทำแบบนั้นดู ลองไปเปลี่ยนแนวทางดู แต่สุดท้ายเราก็มาค้นพบว่าเราหนีตัวตนเราไม่ได้หรอก แต่ว่าสิ่งที่เราเป็น มันอาจอยู่ในแต่ละช่วงว่าช่วงนี้เราเสพอะไร เราฟังดนตรีแบบนี้ คือแต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่ฟังเพลงไม่เหมือนกัน ช่วงเด็ก ๆ เราฟังเพลงร็อก โตมาเรามีโซล มีอาร์แอนด์บี ตอนประกวดเราอาจเน้นร้องแต่เพลงร็อก แต่ตอนนี้ด้วยวัยเราตอนนี้ เราเติบโตมาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร วิธีคิด การร้องของเรามันมาตรงนี้ ถามว่ามันก็อาจจะเป็นเพลงที่ทำให้คนนึกถึงสมัยเพลงอย่าร้อนตัว’, ‘คนเบื้องหลังแล้วก็เพลงโคตรเพราะผมว่าจังหวะและเวลามันได้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ศิลปินยุค 90 กำลังกลับมา เพลงเก่า ๆ กำลังกลับมา แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าที่เราร้องเพลงตรงนี้ เพลงแบบนี้ ณ เวลานี้ มันคือ timing ของมัน 

The People : ตอนออกจากค่ายที่ให้โอกาสเรามาตลอด เป็นการตัดสินใจที่ยากไหม

อรรถพล: จริง ๆ ไม่ครับ ผมอยู่กับค่าย Grammy มา 13 ปี ปีแรกเซ็นสัญญา 5 ปี ปีที่สองอีก 5 ปี,ปีที่สามอีก 3 ปี แล้วสัญญาผมหมดไปเมื่อปีที่แล้ว แล้วทางค่ายก็ไม่ได้คิดว่าจะต่อ ไม่ได้ทำอะไรกับเราต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาก็รอจังหวะ ก็ให้เราทำเพลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ได้สักที

จริง ๆ ผมไม่ได้คิดว่าผมต้องย้ายไปอยู่ค่ายไหน แต่ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งรู้จักกับพี่เวสป้า (อิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) ที่เป็นคนแต่งเพลงนี้มาก่อน แล้วก็บอกว่ามีเพลงนี้สนใจไหม อยากจะร้องหรือเปล่า ผมฟังแล้วก็อยากร้องโดยไม่ได้คิดว่าจะอยู่ค่ายไหนหรอกเพลงนี้ แต่เราอยากร้องเพลงนี้ โดยที่ทางค่ายข้าวสารฯ ให้เพลงนั้นมีโปรเจกต์เป็นขอบคุณที่กลับมามีพั้นช์ (วรกาญจน์ โรจนวัชร) เป็นคนแรก ซึ่งพั้นช์ก็เคยอยู่ค่ายเดียวกับเรา ตอนที่อยู่ใน Grammy อยู่ MUSICCREAM แล้วเขามาทำเพลงนี้ แล้วเรารู้สึกว่า attitude หรือว่ามุมมองของค่ายไปทางเดียวกับเรา ก็เลยโอเค อยากร่วมงาน 

The People : มีโอกาสที่จะกลับไปร่วมงานกันในอนาคตไหม

อรรถพล: ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นโปรเจกต์พิเศษ เอาจริง ๆ ผมก็รู้สึกว่าผมไม่ได้ออกไปไหนหรอก ไม่ได้อยากออกอัลบั้ม อยากออกเป็นซิงเกิล แล้วก็ในแต่ละซิงเกิลมันก็จะมีวิธีการทำงานของมัน สมมติซิงเกิลนี้ เราทำงานในช่วงนี้ เราอยากจะนำเสนอเพลงแนวนี้ สไตล์นี้ ในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่ายังไง แต่ว่าผมก็ยังทำงานกับทาง Grammy เหมือนเดิม เพราะว่าเราก็ขายงานคอนเสิร์ต แล้วก็ร่วมงานกับ Grammy ตามปกติ 

The People : ถือว่าเป็นการจบที่ดีไหม

อรรถพล: ดีครับ เพราะว่าเป็นการหมดสัญญาที่เราไม่ได้ไปฉีกสัญญาที่มีอยู่ ไม่ได้ทำสัญญา (ต่อ) เพราะว่าใน Grammy ตอนนี้ก็อาจจะมีเรื่องของศิลปินในมือเขาค่อนข้างเยอะ การที่จะออกซิงเกิลหรืออัลบั้มใหม่ก็ต้องใช้เวลา แล้วก็ต้องดูว่าจะออกเมื่อไหร่ดี เพลงอะไรยังไงเมื่อไหร่  ช่วงระหว่างนี้เราก็อยากทำแต่โปรเจกต์ขึ้นมา เราก็เลยอยากร้องเพลงนี้ 

The People : ทำไมถึงเปลี่ยนจากการร้องเพลงบนเวทีมาเป็นนักแข่งรถ

อรรถพล: จริง ๆ ผมชอบแข่งรถมาก่อนที่จะร้องเพลงด้วยนะ นานแล้วตั้งแต่สมัยวัยรุ่นเลย แต่แข่งในสนาม ไม่ได้แข่งบนถนน ผมจะแข่งจิมคาน่า (Gymkhana) เมื่อก่อน เป็นการแข่งรายการเล็ก ๆ ในเชียงใหม่ แล้วพอมีโอกาสได้เข้ามาประกวด ได้มาอยู่กรุงเทพฯ ผมก็เริ่มมาแข่งทางเรียบแบบเซอร์กิต (Circuit) แล้วก็มาแข่งดริฟต์ (Drift) ต่อ ถ้านับเวลาแล้วก็ได้เกือบ ๆ 20 ปีที่แข่งรถมา

The People : เริ่มต้นลงสนามแข่งพร้อมกับการเป็นนักร้อง?

อรรถพล: ใช่ครับ เริ่มต้นใกล้เคียงกันเลย เมื่อก่อนเราอยู่เชียงใหม่ ร้องเพลงประจำ เรียนไปด้วย แล้วก็แข่งรถ รถที่ใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละที่เอาไปแข่ง ไปสนาม แล้วก็ใช้ไปทำงาน ไปเรียนด้วย เลยเหมือนกับว่าซึมซับมา แล้วเมื่อก่อนเราแข่งเป็นมือสมัครเล่น แต่ตอนนี้เราแข่งเป็นอาชีพอย่างจริงจัง มีสปอนเซอร์ มีการแข่งที่ล็อกคิวไว้ล่วงหน้าเป็นปี แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

The People : อะไรที่ทำให้หลงใหลในกีฬาความเร็ว

อรรถพล: ผมว่าความเร็วที่เราควบคุมได้เป็นอะไรที่ท้าทาย เราสามารถทำลายสถิติของตัวเองได้ เริ่มจากการแข่งขันกับตัวเองก่อน เราอยากจะชนะตัวเอง เราอยากจะพัฒนาตัวเอง เราได้ควบคุมอะไรที่อยู่ในความเร็ว รู้สึกชอบ มันท้าทาย ผมว่าผู้ชายส่วนมากก็ชอบนะ ส่วนใหญ่เลยแหละก็คือชอบความเร็ว ชอบกีฬา อยู่ที่ว่าใครจะมีโอกาส อยู่ที่ว่าใครจะได้สัมผัสมันมากกว่า 

ชีวิตที่ต้องคว้าดาวอีกครั้งของ เอ็ม-อรรถพล หลังวันที่ออกไปตามหาตัวตนบนเส้นทางดนตรีและความเร็ว

The People : มองว่าการแข่งรถให้อะไรกับชีวิต

อรรถพล: จริง ๆ เลยนะ มันแค่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง ทุกอย่างแหละ ของสะสม งานอดิเรกของทุกคน มันไม่ให้อะไรเลยนอกจากความต้องการของตัวเองล้วน ๆ คุณสะสมโมเดลรถ คุณสะสมตุ๊กตา คุณสะสมหุ่นยนต์ คุณสะสมรูปภาพอัลบั้ม นี่คือความต้องการล้วน ๆ เลย  บางคนอาจจะไปชอบในสิ่งที่แตกต่างกัน ชอบนาฬิกา ชอบเที่ยว ชอบเดินทาง แต่ละคนก็จะมีทางของตัวเองในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข 

ผมยังไม่เคยได้รางวัลจากการแข่งรถมาเป็นกอบเป็นกำที่แบบว่าโอ้โห ทำให้เรารวยเลย ไม่มี แต่เราได้ความภูมิใจกับมัน ได้มีความรู้สึกว่าตายไปก็ไม่เสียดายแล้วที่ได้ทำ รู้สึกว่าเฮ้ย ชีวิตนี้เราคุ้มแล้วที่ได้ทำสิ่งพวกนี้ ได้ร้องเพลง ได้เป็นนักแข่งรถ 

The People : ทำไมความเสี่ยงในสนามแข่งถึงทำให้รู้สึกว่าใช้ชีวิตคุ้มแล้ว” 

อรรถพล:  ถ้าเทียบกับ F1 (ฟอร์มูลาวัน) กับกีฬาที่ผมเล่นอย่างดริฟต์ ความอันตรายมันต่างกันเยอะด้วยความเร็ว ตั้งแต่แข่งมาอาจจะมีนักแข่งฟอร์มูลาวันเสียชีวิตบ้าง นักแข่งฟอร์มูลาทูมีเสียชีวิตบ้าง แต่ดริฟต์นี่ไม่เคยมีเสียชีวิต อย่างมากก็แค่ชน บาดเจ็บ หัก อาจจะมีเจ็บหนัก ยังไม่มีถึงขั้นเสียชีวิต 

แต่ว่ากีฬาทุกประเภทมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีโอกาสที่จะเสี่ยงอยู่แล้ว ยิ่งขึ้นไปถึงจุดที่สูงแค่ไหนก็จะเสี่ยงมากขึ้นแค่นั้น เพราะเวลาการแข่งขันถ้าทุกคนไม่มีความเสี่ยง ก็จะไม่มีผู้ชนะขึ้นมา ทำไมคนที่เร็วที่สุด คนที่ชนะถึงทำได้ เพราะเขาเสี่ยงที่สุด เพราะเขาสามารถไปถึงลิมิตตรงนั้นได้  ถ้าเราไปไม่ถึงลิมิตตรงนั้น การแข่งรถก็อาจจะเป็นกีฬาที่ไม่เสี่ยงก็ได้ หรืออุบัติเหตุมันอาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราคาดไม่ถึงก็ได้  

แต่อุบัติเหตุจากการแข่งขันก็ยังมีอุปกรณ์ safety มีการป้องกันที่ค่อนข้างดี อย่างตัวผม ผมก็มองแล้วว่าเราแข่งถึงจุดที่ถ้าเร็วมาก ๆ ก็เป็นจุดที่ค่อนข้างเสี่ยงพอสมควรที่เราจะเกิดอุบัติเหตุ แต่เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย มันคุ้มที่ได้ทำ

The People : ในฐานะนักแข่งรถ คิดอย่างไรกับการขับขี่บนถนนของเมืองไทย

อรรถพล: ส่วนมากคนที่เป็นนักแข่งจริง ๆ ที่แข่งจริง ๆ ไม่ใช่แข่งกันทั่วไปตามถนน จะเป็นคนควบคุมสติตัวเองได้ค่อนข้างดี เวลาขับบนถนนจริง ๆ เขาจะค่อนข้าง safety พอสมควร เพราะรู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเราจะควบคุมตัวเองได้ยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  

สมมติเราขับรถไปเบียดใครสักคนหนึ่ง ถ้าเราขับรถทั่วไป เราอาจจะรู้สึกโกรธหรือรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมต้องมาเบียดเรา แต่ถ้าอยู่บนสนามเราจะรู้ว่ามันอาจจะมีเหตุผลที่เขามาเบียดเรา ทำให้เรารู้สึกว่าปล่อยผ่านได้ในจุดนี้ รู้สึกว่าเขาอาจจะหลบคันนี้มา แล้วก็เข้ามากินเลนเรา ถ้าเป็นนักแข่งที่เป็นนักแข่งจริง ๆ และเป็นมืออาชีพพอ จะค่อนข้างคุมอารมณ์ได้ค่อนข้างดีพอประมาณ ไม่หัวร้อน

The People : ในฐานะนักร้องที่ผ่านเวทีประกวด มองว่าเทคโนโลยีต่าง เปลี่ยนวงการเพลงในปัจจุบันมากไหม

อรรถพล: เปลี่ยนเยอะมากครับ ก็เหมือนกับทั่วโลกนะ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ใครอยากเป็นศิลปิน คุณสามารถทำเพลงได้ที่บ้าน แล้วก็อัปโหลดปล่อยเพลงให้ทุกคนฟังได้จากที่บ้านเลย process มันง่ายมาก อัปลง YouTube ก็ได้แล้ว คุณก็สามารถมีเพลงเป็นของตัวเอง เป็นศิลปินได้ มันเลยทำให้ช่องว่างระหว่างค่ายเล็กและค่ายใหญ่หายไป ทุกคนมีอาวุธที่ใกล้เคียงกัน  

สื่อโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นก็เล่นกันเป็นแล้ว ใครอยากจะทำอะไรก็สื่อสารออกมาผ่านทางสื่อได้ โดยที่มีสื่อเป็นของตัวเอง บางทีค่ายใหญ่อาจจะไม่ได้เปรียบเสมอไปด้วยซ้ำ ผมว่าตอนนี้การเป็นศิลปินใครก็เป็นได้ แต่ต้องเป็นตัวจริงถึงจะเป็นที่จะยอมรับ ถึงจะเป็นที่ให้ทุกคนได้เข้าถึงมัน เพราะผมว่าแนวเพลงเดี๋ยวนี้มันเปิดกว้างมาก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพลงที่ดนตรีดีมาก ๆ ถึงจะเป็นเพลงที่ดัง เดี๋ยวนี้เป็นเพลงที่เข้าใจและสื่อสารได้ง่าย คนฟังรับรู้ถึงมันได้แค่นี้แหละ ผมว่าก็เป็นเพลงที่ดังได้แล้ว

The People : หลังจากเพลงนี้ออกมาแล้ว ชีวิตเส้นทางดนตรีจะเป็นอย่างไรต่อไป

อรรถพล: ผมว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับเพลงนี้แหละ ถ้าการกลับมาแล้วดี มีการตอบรับ แล้วเรารู้สึกว่าเราอยู่กับมันได้ เราอยากร้อง คือเพลงนี้ผมอยากร้องแน่นอน ผมก็อยากจะทำซิงเกิลต่อ แต่ว่าในการทำซิงเกิลต่อก็ต้องมีเวลาในการทำ ซึ่งผมว่า 90% ยังไงก็ต้องทำต่อหลังจากที่เราหายไป 8 ปี แต่ก่อนหน้านั้นก็มีเพลงประกอบละคร เพลงโปรเจกต์พิเศษอะไรอย่างนี้ เพียงแต่เพลงที่เป็นแบบเราเลยคือ 8 ปีแล้วจากชุดที่ 5 มาถึงซิงเกิลนี้ ก็หวังไว้ว่าเราจะได้กลับมาทำสิ่งที่เรารักอีกไปนาน ๆ

The People : มีอะไรที่อยากทิ้งท้ายถึงแฟนเพลงที่ยังติดตามและแฟนเพลงไหม

อรรถพล: ผมว่าแฟนของผมตอนนี้ต้องแบ่งเป็น 2 เจเนอเรชัน เจเนอเรชันแรก ๆ ที่ตั้งแต่ผมประกวด ออกซิงเกิลมาแรก ๆ กับคนที่รู้จักผมในฐานะเป็นศิลปิน แล้วมันจะมีช่วงระหว่าง 8 ปีที่หายไป บางคนก็เป็นแฟนใหม่ ๆ ที่เข้ามาโดยที่ไปฟังเพลงเราย้อนหลัง ผมก็อยากให้ 2 กลุ่มนี้จอยกันให้ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนเพลงยุคแรก ยุคปัจจุบันมาอยู่รวมกัน แล้วก็อยากให้คนที่ชอบเพลงเรา ติดตามผลงานแล้วก็รอฟังเพลงใหม่ของเรา  

ผมอยากนำเสนอเพลงที่เป็นสิ่งที่เราเป็น เราอาจจะไม่ได้เป็นศิลปินที่ตามกระแส แต่เราเอาเพลงของเรามาลงให้ถูกจังหวะ ซึ่งตอนนี้ก็คือโปรเจกต์ขอบคุณที่กลับมาของทางค่าย Khaosan Entertainment ผมว่านี่เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมของผมแล้วที่ผมจะกลับมา แล้วก็ได้กลับมาเจอกับแฟน ๆ 

เรียบเรียงโดย: ศุภจิต ภัทรจิรากุล