“เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

“เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
คณะละครมาร็องดู เป็นคณะละครของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งใช้หลักการที่วางไว้โดย ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal) ซึ่งจะชวนคนดูตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชวนคิดหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับตัวเองผ่านการเข้าไปเป็นตัวละครนั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงละครให้เป็นในแบบที่คุณต้องการ ล่าสุดเขานำเสนอประเด็นเพศทางเลือกในชื่อ “เห็นฉัน ไม่เห็นฉัน” จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง สู่บทละครที่จะพาคุณไปสัมผัสกับชีวิตของ “พลอย Trans Man” และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคน LGBTQ ที่ต้องเจอความกดดันท้าทายจากตัวเอง ครอบครัว คนรัก และคนในสังคม The People จึงชวนคุยกับ หม่อง-ธานินทร์ แสนทวีสุข และ พีร์-ณัชชาพร มีสัจ สองตัวแทนจากคณะละครมาร็องดู ที่อยากชวนทุกคน “มาลองดู” ละครเวทีเรื่องนี้กัน   [caption id="attachment_13586" align="alignnone" width="1200"] “เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พีร์-ณัชชาพร มีสัจ และ หม่อง-ธานินทร์ แสนทวีสุข[/caption]   The People: ทำไมคุณถึงสนใจศาสตร์ละครเวที ธานินทร์: เริ่มมาจากความสนใจการแสดง พูดง่าย ๆ คือมีความฝันอยากจะเป็นนักแสดงโดยเฉพาะละครเวที แต่ก็เข้าใจว่าต้องใช้ความสามารถเยอะ เพราะต้องเล่นรวดเดียว ไม่มีเทค ไม่มีคัต พอเข้ามาเวิร์กช็อปกับคณะละครเวทีมาร็องดู (Malongdu) ทำให้รู้ว่าเขาไม่ได้เป็นรูปแบบละครเวทีแบบที่เราเคยรู้จักกัน ไมใช่ดูจบแล้วกลับบ้านไปเลย คณะละครมาร็องดูมีที่มาจากละครของผู้ถูกกดขี่ เรื่องราวทั้งหมดจะถูกเขียนโดยคนที่ถูกกดขี่ด้วยอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในหลากหลายมิติ ที่น่าสนใจคือไม่ได้เล่นละครเพื่อให้เสพงานอาร์ตอย่างเดียว แต่เล่นละครเพื่อปลุกความกล้าบางอย่างในตัวคนดู โดยจะเป็นการแสดงในรูปแบบละครแทรกสด (Forum Theatre) ซึ่งยินดีและเชิญชวนให้ผู้ชมได้ขึ้นมาร่วมแสดงกับนักแสดง เป็นการช่วยกันนำเสนอทางออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งในละคร สมมติเรื่องแท็กซี่ เราจะเล่นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น โบกแท็กซี่แล้วไม่รับ ก็จะเซ็ตนักแสดงให้แสดงในเหตุการณ์แบบนั้น เริ่มต้นแสดงไปรอบหนึ่งก่อน พอแสดงรอบที่สองก็จะให้คนดูเช็คความรู้สึกตัวเองว่าไม่โอเคกับฉากไหนหรือตัวละครไหน ระหว่างรอบที่สองก็สามารถยกมือบอกให้นักแสดงหยุด แล้วบอกว่านักแสดงต้องทำอย่างไร เปลี่ยนอย่างไร หรือเข้ามาแสดงแทนเองเลย เป็นการเข้ามาสวมบทบาทในเวอร์ชันที่คนดูพอใจ ณัชชาพร: จริง ๆ ไม่ได้สนใจนะเพราะว่ากลัว มีปมเรื่องของร่างกายว่าเราเกิดมาเป็นผู้หญิง แต่ว่ารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิง ก็เลยไม่สะดวกที่จะใช้ร่างกายในการทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ หรือการส่งเสียงอะไร ทำให้เราเป็นคนเก็บตัว อินโทรเวิร์ต แต่พอมารู้จักมาร็องดูแล้วเข้าไปเวิร์กชอปครั้งหนึ่ง รู้สึกว่าคล้ายละครบำบัด ตอนนั้นเขาเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาสอน เป็นการเยียวยาวิธีหนึ่งในการสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของตัวเองให้มากขึ้นว่าจริงแล้ว ๆ เรามีปมปัญหาในชีวิตเพราะอะไร ทำให้สนใจแนวทางละครของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งจะมีเรื่องราวของคนที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน เช่น คนไร้บ้าน เด็กเร่ร่อน คนจน หรือคนขับแท็กซี่  ส่วนตัวอยู่ในกลุ่มของผู้ถูกกดขี่ในเรื่องเพศสภาพ การแสดงละครจึงเป็นเหมือนการเยียวยาตัวเองวิธีหนึ่ง เป็นการ empower เสริมอำนาจข้างในตัวเองให้กล้าพูด กล้าทำ กล้าส่งเสียง กล้าเป็นตัวแทนของคนอื่น เราก็เลยสนใจศาสตร์นี้   The People: ละครของผู้ถูกกดขี่ช่วยเยียวยาคุณอย่างไร ณัชชาพร: ปกติเรากินข้าวแล้วต้องเข้าห้องน้ำใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่เข้าห้องน้ำเลยก็จะท้องอืด ท้องแน่น ความรู้สึกมันก็คล้าย ๆ กัน เพราะเราใช้ชีวิตมาหลายปีแต่ไม่เคยได้ถ่ายความรู้สึกออกไป ไม่ได้ทิ้งออกไป มันเก็บไว้ข้างในจนเน่า อืด การใช้ละครก็เป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถกำจัดของเสียที่อยู่ในร่างกายได้ แต่ประเด็นนี้มันไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่อาหาร แต่มันเป็นเรื่องของจิตใจ ธานินทร์: คล้ายเก็บกดอะไรบางอย่าง สะสมแต่ไม่ได้ถูกปลดปล่อยออกมา ซึ่งรูปแบบหนึ่งของละครสามารถช่วยเราได้ ให้เรามีพื้นที่ในการปลดปล่อย ณัชชาพร: ใช่ เป็นพื้นที่ปลดปล่อย เป็นละครที่ทำเพื่อเปลี่ยนแปลงคน เหมือนจุดไฟ จุดความหวัง หรือจุดประกายมากกว่า จะเรียกว่าให้ความหวังด้วยก็ได้    The People: ทำไมถึงเลือกพูดถึงประเด็นของผู้ถูกกดขี่เป็นหลัก ธานินทร์: เอาคำพูดของผู้ก่อตั้งคณะละครคือพี่ ฉั่ว-ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย นะครับ ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน เขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงการละครเวที เรียนปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามีคำถามว่าอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ทำไมละครที่ดูจบแล้วกลับบ้าน มันจึงไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เขาก็เลยค้นหาว่ามีการละครศาสตร์ไหนบ้างที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ก็ไปเจอหนังสือ “การละครของผู้ถูกกดขี่” ของ ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal) เขาเป็นนักการละครชาวบราซิล ซึ่งพี่ฉั่วสนใจคอนเซปต์นั้น ละครของเราจะพูดถึงการใช้อำนาจ แต่ละครอื่น ๆ อำนาจของคนดูแทบจะไม่มีเลย คนดูแค่นั่งดูอยู่ในมุมมืด ๆ ไม่เห็นหน้ากันด้วยซ้ำ คนข้าง ๆ ก็ไม่รู้จักกัน มีหน้าที่เสพสิ่งที่ศิลปินพยายามถ่ายทอด แค่นั้น จบ แล้วกลับบ้าน แต่ละครแนวนี้จะให้อำนาจคนดูด้วยในการลุกขึ้นไปเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จากประสบการณ์ที่ทำมาเรื่อย ๆ พบว่ามีหลายเคสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวคนดู เขาได้ดูในละครแล้วไปเจอสถานการณ์คล้าย ๆ กัน เขาพบว่าตัวเองกล้ามากขึ้น เช่น เวลาเจอแท็กซี่ปฏิเสธ แรก ๆ อาจจะปล่อยไป โบกคันใหม่ก็ได้ ทั้ง ๆ ที่มันมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอยู่ คนดูคนนั้นเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกเขาโบกรถแท็กซี่แต่ไม่รับตามปกติ คันที่หนึ่ง คันที่สอง คันที่สามผ่านไป พอถึงคันที่สี่ก็คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้วเพื่อเป็นการเคลมอำนาจของตัวเอง คันสุดท้ายจึงเปิดประตูแล้วขึ้นรถไปนั่งเลย สุดท้ายแท็กซี่ก็พาเขาไปส่งตามสถานที่ที่ต้องการ   The People: การให้คนดูมีส่วนร่วมในการแสดง มีจุดประสงค์อะไร ธานินทร์: เราเชื่อว่าการเสพละครเฉย ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมได้ ตัวละครเองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ละครสามารถทำให้คนดูเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เพื่อที่จะเอาตัวเองไปเปลี่ยนแปลงสังคม  กระบวนการนี้ไม่เรียกว่าโชว์ด้วยซ้ำ เราเรียกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ พอพูดว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ก็จะไม่ใช่แค่ดูเฉย ๆ มันต้องมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนเล่นกับคนดู เหมือนเข้าไปเวิร์กช็อป ต้องมีปฏิสัมพันธ์ แต่ไม่ใช่การมานั่งฟังเลกเชอร์ เราเชื่อเรื่องกระบวนการเรียนรู้ว่าจะทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ณัชชาพร: เรามองเหมือนเป็นพื้นที่ซ้อมด้วยซ้ำ เป็นพื้นที่ทดลองซ้อมเหตุการณ์ที่อาจจะเจอในชีวิตจริง และเมื่อเจอในชีวิตจริง เราก็สามารถนำสิ่งที่ซ้อมในกระบวนการละครไปใช้ในชีวิตจริงได้   The People: เท่าที่อยู่ในกลุ่มละครมาร็องดู มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคุณเองบ้าง ณัชชาพร: เปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะเราได้รู้จักกับปม หรือเหตุการณ์บางอย่างที่โดนทำร้ายจากคนในครอบครัว จากคุณครู หรือจากที่ทำงาน มันมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่แค่เปลี่ยนผู้เล่น จากพ่อแม่ เป็นคุณครู เป็นเจ้านาย หรือเป็นคนทั่วไป แต่ว่าเราเจอบทสนทนาเดิม ๆ ที่ส่งผลต่อเรา จริง ๆ ในช่วงแรกยากนะ ที่คนถูกกดขี่จะลุกขึ้นมาส่งเสียง หรือมาบอกความต้องการว่าฉันยอมไม่ได้แล้ว ฉันอยากจะเปลี่ยนแปลงตอนจบ ซึ่งมันใช้เวลาหลายเดือน เราต้องซ้อมหลายครั้งถึงจะถึงจุดที่มั่นใจว่าเราจะไม่แพ้ เราจะส่งเสียงตัวเองให้เป็นคนชนะบ้าง การได้มาซ้อมบ่อย ๆ เหมือนเป็นการเผชิญปัญหา เผชิญอดีตของตัวเอง แต่เราไม่ได้ทำแค่ประเด็น LGBTQ อย่างเดียว เราทำงานเรื่องผู้ถูกกดขี่หลายมิติ เช่น ในการศึกษา ทำไมครูถึงใช้อำนาจในการดุกล่าวว่านักเรียน, การเรียกแท็กซี่ทำไมไม่รับ เพราะภาวะผู้ถูกกดขี่ทำให้เราไม่มีอำนาจในการต่อรอง ความจริงมันเชื่อมโยงกันในหลาย ๆ ประเด็น   The People: สำหรับคุณ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้กล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องเพศสภาพของตัวเอง ณัชชาพร: เหมือนข้ามช็อตไปแล้ว เรารู้สึกเห็นใจคนที่กดขี่เรา (หัวเราะ) เห็นใจว่าการที่เขามากดขี่เรา อาจเพราะเขาก็โดนกดขี่มาอีกทอดหนึ่งเหมือนกัน  สมมติเวลาไปสมัครงานแล้วเจอคนสัมภาษณ์เหยียดเพศ จริง ๆ แล้วคนสัมภาษณ์เขาก็อาจมีภาวะโดนกดทับอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาเลือกแสดงว่ารังเกียจเรา ทั้ง ๆ ที่เขาอาจจะไม่ได้รังเกียจจริง ๆ ก็ได้ สิ่งที่ตัวเราเห็นชัดก็คือเรื่อง LGBTQ จึงอยากช่วยเสริมสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยมากขึ้น [caption id="attachment_13589" align="alignnone" width="1200"] “เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม หม่อง-ธานินทร์ แสนทวีสุข[/caption]   The People: เคยมีคนกล่าวว่า “ละครเป็นการจำลองสังคม” คุณเชื่อคำพูดนี้ไหม ธานินทร์: เห็นด้วยครับ มันจำลองให้สมจริงมากที่สุด เพราะเรื่องราวที่คณะละครมาร็องดูสร้างนำมาจากนักแสดงทุกคนเลย มันเป็นเรื่องราวจริงของเขา เราจะมีกระบวนการแชร์เรื่องราวของแต่ละคนก่อน สมมติประเด็น LGBTQ ใครที่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมหรือส่วนได้ส่วนเสียกับการถูกกดขี่ในประเด็นนี้ ก็จะรวมกลุ่มกันแชร์แล้วหาประเด็นตรงกลางร่วมกัน ฉะนั้นคนที่อยู่ในอำนาจน่าจะอินกับประเด็นนั้นด้วย ก็เลยกลั่นออกมาเป็นละครเรื่องหนึ่ง ดังนั้นคำว่า “ละครเป็นโลกจำลอง” หรือ “โลกคือละคร” เป็นความจริงที่กลับกันได้  ณัชชาพร: เห็นด้วย ละครเป็นการจำลองสังคม ละครเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ shape สังคมให้เกิดขึ้น แต่เราไม่ใช่แค่จำลองสังคมปัจจุบัน ต้องฝันถึงสังคมที่ดีกว่าปัจจุบันด้วย   The People: ล่าสุดละครเวทีเกี่ยวกับ LGBTQ ใช้ชื่อว่า “เห็นฉัน ไม่เห็นฉัน” ทำไมถึงตั้งชื่อนี้ ธานินทร์: ที่มาของชื่อเกิดขึ้นมาโดยหัวหน้าคณะละครครับ ถ้าสังเกตโลโก้ชื่อจะเห็นว่าเป็นตัวอักษรมุมกลับ หลักคิดนิดเดียวเองครับ แค่เปลี่ยนมุมมอง คุณอาจจะเห็นพวกเรา เราจึงอยากให้คุณรับรู้ในหลาย ๆ มุมที่เราได้ประสบพบเจอในสังคมว่ามันมีปัญหายังไงกับพวกเราบ้าง แล้วจริง ๆ คนที่มาดูก็อาจมีคนใกล้ตัวหรือตัวเขาเองที่ประสบปัญหานี้อยู่ก็ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง  ซึ่งละครมีความพิเศษตรงที่สามารถซ้อมกี่ครั้งก็ได้ ความผิดพลาดมันเกิดขึ้น มันไม่ได้เสียหายเท่ากับเราไปทำพลาดในสถานการณ์จริง   The People: คนที่เข้ามาดูละครจะได้เห็นปัญหา LGBTQ อะไรบ้าง ธานินทร์: ความตั้งใจหนึ่งอยากให้เขาเข้าใจปัญหาในเชิงอำนาจที่กดทับในกลุ่มของพวกเรา ซึ่งเรียกว่าเป็นตัวแทนก็ได้ เพราะปัญหานี้มีอยู่จริง จริง ๆ มันมีหลายประเด็นเวลาเราคุยกัน แต่เราเลือกประเด็นที่น่าจะมีส่วนร่วมกับคนมาก ๆ ซึ่งเราใช้เรื่องราวของพีร์เป็นตัวดำเนินเรื่องหลักครับ ณัชชาพร: จริง ๆ เส้นเรื่องมีสองเส้นหลัก แต่เราเป็นตัวละครหลักเกี่ยวกับ Trans Man หรือว่าผู้ชายข้ามเพศ ที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังของแม่ที่อยากได้ลูกสาว แม่ก็พยายามทำทุกวิถีทางให้เรายังคงเป็นผู้หญิง ความที่เทกฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ เสียงก็จะแตกแล้วทำให้ดูเหมือนทอม ไม่ใช่ผู้ชาย เวลาสัมภาษณ์เขาก็จะโดน discriminate จากที่ทำงาน ไหนจะเป็นเรื่องของครอบครัวใหญ่ที่ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับ โดนตัดออกจากกองมรดก ก็จะมีประเด็นครอบครัวด้วย ก็จะเป็นเรื่องราวจากประสบการณ์จริงของเรา ลึก ๆ แล้วอยากให้ญาติ ๆ มาดู (หัวเราะ) แต่ไม่รู้จะกระอักกระอ่วนขนาดไหน และไม่รู้ว่าเขาจะมาหรือเปล่า แต่เราอยากสื่อสาร ละครเป็นแค่เป็นเสียงของเรา เราอยากเล่าประสบการณ์ชีวิตในรูปแบบละคร แล้วเชื่อว่ามีหลายคนที่มีประเด็นร่วมคล้ายกัน เขาอาจจะรู้สึกอินได้ [caption id="attachment_13591" align="alignnone" width="1200"] “เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พีร์-ณัชชาพร มีสัจ[/caption]   The People: รู้สึกอย่างไรที่ต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองมาเล่าให้คนอื่นฟัง ณัชชาพร: กลัว ตอนแรกก็กลัว (หัวเราะ)  ธานินทร์: ระหว่างซ้อม พีร์ทรมานเหมือนโดนสะกิดแผลตัวเอง ณัชชาพร: จริง ๆ การได้ออกมาเผชิญกับมันบ่อย ๆ ได้เล่าออกมาบ่อย ๆ ในแง่หนึ่งมันดีขึ้นได้นะ ถ้ามีกระบวนการให้คนช่วยเหลือ มีคนรับฟัง มีอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน หรือมีคนเห็นเรา เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครเห็นเรา ซึ่งการเผชิญเรื่องราวทรมานก็จะลดความทรมานลงได้   The People: คาดหวังให้ใครมาดูละครเรื่องนี้บ้าง ธานินทร์: คาดหวังทุกคนเลย เพราะว่าทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ถูกกดขี่หรือจะเป็นผู้ที่กดขี่ก็ตาม เราไม่สามารถบอกให้เฉพาะกลุ่ม LGBTQ ออกไปยืนยันตัวเอง ยืนยันสิทธิ์ เพราะการมีชีวิตอยู่ของเราก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบข้างด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคนอื่นรับรู้ประเด็นนี้ก็จะช่วยเสริมการมีชีวิตอยู่ของกันและกัน   The People: มีปัจจัยมากมายที่กระทบต่อประเด็นนี้ ทั้งตัวเอง ครอบครัว คนรัก สังคม ฯลฯ คิดว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของ LGBTQ มากที่สุด ณัชชาพร: น่าจะเป็นครอบครัว ความเข้าใจของครอบครัวสำคัญมาก พีร์รู้จักเพื่อนที่เป็น Trans หลายคนที่ครอบครัวสนับสนุน  ครอบครัวเข้าใจ แล้วเขาเผชิญกับความท้าทายน้อยกว่าเรา แต่เราไม่สามารถทำแบบนั้นกับครอบครัวเราได้ ซึ่งก็มีคนที่เป็นแบบเราอยู่เหมือนกัน คนที่ไม่สามารถบอกเล่าความต้องการ ไม่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงกับคนที่เรารักมากที่สุด จริง ๆ ครอบครัวน่าจะส่งผลมากที่สุด พอครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ มันก็ทำให้ด้านอื่นของชีวิตหมดไฟและหมดพลัง  ธานินทร์: อีกเส้นเรื่องหนึ่งคือประเด็นคู่รักชาย-ชาย ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญคือคนในครอบครัวหรือคนที่เรารักนั่นแหละ ตามประสบการณ์จริงของผมคือการบอกครอบครัวว่าเราชอบผู้ชาย เราบอกแค่คนที่บ้านกับเพื่อนสนิท แค่นี้เลย รู้สึกว่าพอแล้วที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้แบบมีอิสระ ทุกวันนี้พยายามออกมาเป็นตัวเองในสังคมวงกว้างมากขึ้น อยากเปลี่ยนแปลงให้เขาเข้าใจเราด้วยนิดหนึ่ง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในความคิดผมคือตัวเราเองนี่แหละ การมองว่าคนอื่นกดขี่เรา แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังกดขี่ตัวเราเองต่างหาก ที่ไม่ยอมรับความเป็นเพศของตัวเอง ถึงแม้เราพยายามเรียกร้องคนอื่น แต่ทำไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าเราไม่เลิกกดขี่ความเป็นเพศของตัวเอง  แต่ก่อนผมก็อึดอัดว่าจะต้องคอยแอ๊บแมน คอยแอ๊บว่าเราชอบผู้หญิง แซวผู้หญิงได้ มันไม่ใช่ เรารู้สึกอึดอัด แล้วเราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน เราก็เลยต้องออกมาให้ข้อมูลว่า ชีวิตเราเป็นยังไง ลำบากยังไง และเราต้องการอะไร   The People: เราจะสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร ธานินทร์: ผมว่าสังคมเข้าใจ แต่สิ่งที่ยากคือยอมรับได้หรือเปล่า   The People: ความเข้าใจกับการยอมรับ ไม่เหมือนกัน? ธานินทร์: ไม่เหมือนกัน สมมติเราเข้าใจว่าความเป็นเกย์เป็นยังไง แต่เรายอมรับตัวเองได้ไหม อีกเรื่องหนึ่งเลยนะ เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เราพูดว่าสังคมไทยเปิดรับความหลากหลายทางเพศแล้ว ใครจะเป็นอะไร ใครจะรักใครได้หมด แต่ถ้ามีคนถามย้อนกลับมาว่า แล้วถ้าคนคนนั้นเป็นลูกของคุณล่ะ คุณยอมรับได้ไหม คนก็คิด... เออว่ะ ถ้าเป็นลูกฉันก็ไม่เอา  ผมยังไม่รู้วิธีที่ทำให้สังคมยอมรับที่ใช่ที่สุด แต่ตามแนวทางของมาร็องดูที่ยึดถือ เจตนาคือไม่ได้ไปเป็นศัตรูกับผู้กดขี่หรือผู้มีอำนาจ เราไม่ได้ออกไปต่อต้านเขา แต่เราพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง จากผู้ถูกกดขี่ให้รู้สึกว่าตัวเองมี power ในการเจรจาได้ สื่อสารได้ เคลมอำนาจได้เหมือนกัน เพราะเมื่อตัวเราเปลี่ยนแล้ว ก็จะส่งผลกระทบให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน ผมว่านั่นแหละคือวิถีที่จะสร้างการยอมรับ ยอมรับตัวเองก่อน แล้วคนอื่นก็จะยอมรับเรา  ณัชชาพร: การยอมรับสร้างได้ แต่ใช้เวลา เพราะด้วยชุดข้อมูลหรือความรู้เก่า ๆ เราอาจได้ยินว่าเป็นพวกวิปริตผิดเพศบ้าง เป็นโรคจิตบ้าง เรื่องพวกนี้ก่อสร้างมาหลายสิบปี แต่ว่าช่วงหลัง homosexual หรือ transgender ก็ถูกถอดจากอาการทางสุขภาพจิต ซึ่งงานวิจัยหลาย ๆ อย่างก็เริ่มบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็มีคนเริ่มเปิดตัวมากขึ้น มีหนัง มีละครที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เรียกว่าเป็นการให้ข้อมูล ให้ชุดความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นการยอมรับพวกเรามากขึ้น  พีร์คิดว่าคนรุ่นใหม่ยอมรับได้ง่ายกว่าคนที่อายุมากกว่าเรา ผู้ใหญ่มักยอมรับได้ยากกว่าเด็ก อย่างเด็กประถมฯ พูดแป๊บเดียวเขาก็เข้าใจ เราก็จะพยายามสร้างความเข้าใจและมีความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ พอข้อมูลพวกนี้มันมีมากขึ้น ทุกคนก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือลดความเกลียดกลัวได้มากขึ้น  [caption id="attachment_13588" align="alignnone" width="1200"] “เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พีร์-ณัชชาพร มีสัจ และ หม่อง-ธานินทร์ แสนทวีสุข[/caption]   The People: วันนี้ใส่เสื้อ “สังคมเลวเพราะคนเฉย” มา ทำไมความเฉยชาถึงเป็นสิ่งเลวร้ายในสายตาคุณ ธานินทร์: อย่างที่บอกตอนต้นว่า ตัวละครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ฉะนั้นแนวทางของเราจึงมุ่งสร้างคนให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคมอีกที พูดง่าย ๆ ก็คือเปลี่ยนจากคนที่เฉย ละเลย หรือสยบยอมต่ออำนาจ เปลี่ยนให้รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเขานี่แหละที่จะลุกขึ้นมาทำ ถ้าทุกคนเฉยไปหมดก็จะยิ่งไปเสริมอำนาจของคนที่เป็นผู้กระทำให้ทำอะไรตามใจเขาก็ได้  ณัชชาพร: มันจะมีคนที่ขยับด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนกดขี่กับกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ในเวลาที่เราเห็นการกดขี่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ถือว่าเราอยู่ในฝ่ายของผู้กดขี่โดยอัตโนมัติ เพราะมันเป็นการปล่อยให้เหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ส่งเสียง ไม่ได้เรียกร้องอะไรแทนเขา สมมติผัวเมียตบกันริมถนน ผู้ชายตบผู้หญิง ถ้าเราไม่เข้าไปห้ามเลย ผู้หญิงอาจโดนทำร้ายหนักขึ้น แต่ถ้าเราไม่เฉย เราเข้าไปห้าม ช่วยดูแลฝ่ายหญิง ช่วยทำให้ผู้ชายใจเย็นลง ค่อย ๆ แก้ไขปัญหา นั่นเป็นจุดเริ่มต้น กล้าเอาตัวเองเข้าไปเล่นกับปัญหา  ไม่ใช่แบบ...มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต ฉันไม่เกี่ยว ฉันไม่ยุ่ง แต่ทุกอย่างมันล้วนเชื่อมโยงกัน  น่าเศร้าที่สังคมทุกวันนี้พยายามแยกเราให้รู้สึกโดดเดี่ยว ยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คอนโดฯ แบ่งแยกเราเป็นห้อง ๆ และเราแทบไม่ค่อยรู้จักเพื่อนข้างห้องแล้ว ด้วยระบบหลาย ๆ อย่างทำให้เราแปลกแยก ไม่ต้องไปรับรู้หรือสนใจปัญหาของมนุษย์เพื่อนบ้าน แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการสื่อสาร ต้องการความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต  ฉะนั้นเวลาคนมีปัญหา เราก็อยากเข้าไปดูแล เข้าไปช่วยเหลือ ฉะนั้นสังคมมันจะเลวลงเพราะคนเฉย  ธานินทร์: กรณีเจอผัวเมียทะเลาะกัน เหมือนเราอยู่ในทางแยกว่าจะเลือกทำอะไร เพราะเราเป็นบุคคลที่สาม ถ้าเกิดเลือกดูแลตัวเอง เราจะกลายเป็นคนเฉย แต่ละครทำงานอย่างนี้ครับ เรายกสถานการณ์นี้ไปอยู่บนการแสดง แล้วให้คนดูตั้งคำถามว่า ถ้าเราไม่เฉย จะมีวิธีอื่นอีกไหมนอกจากเข้าไปห้าม  การห้ามอาจเป็นวิธีที่หนึ่ง แล้วมันมีวิธีที่สอง ที่สาม ที่สี่หรือไม่ เช่น แจ้งตำรวจหรือพาไปหาคนอื่นมาช่วยแทนได้ไหม ละครของเราจะทำให้คนดูเกิดการ generate ความคิดว่าคุณจะทำอะไรได้อีกบ้าง เราถึงเรียกเครื่องมือนี้ว่าเป็นละครแทรกสด หรือ Forum Theatre    The People: ละครเวที “เห็นฉัน ไม่เห็นฉัน” โดยคณะมาร็องดู ตั้งใจนำเสนออะไร ณัชชาพร: ปัญหาสังคมมีหลายประเด็น มีความขัดแย้ง มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่การที่เราออกมาเล่นละครเรื่องนี้ ก็เพราะมีความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่ให้น่าอยู่ขึ้นสำหรับเรา เราถูกกดขี่เรื่องประเด็นเพศสภาพ ถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหวขยับออกมาเองก็ไม่มีใครที่จะมาทำแทนเรา เราต้องทำประเด็นเรื่องของตัวเอง หรือว่านำเสนอเสียงของตัวเอง ตอนนี้เหมือนมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังว่าคนจะยอมรับเราได้เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการให้ความรู้ชุดใหม่ ๆ ให้เรื่องราว ให้ความเป็นธรรมกับคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น  อยากให้ทุกคนที่ว่างก็มาดูได้ เพราะว่าดูฟรีด้วย แล้วคนที่มาดูก็จะเห็นความเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวละคร กับเรื่องราวของตัวเองในมุมใดมุมหนึ่ง เพราะละครเรื่องนี้เป็นการจำลองสังคมของเรา เป็นการจำลองสังคมปัจจุบัน เพื่อให้เราซ้อมแก้ไขเพื่อสร้างสังคมที่เราอยากอยู่ให้เกิดขึ้นจริง  ธานินทร์: ความที่ผมเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตรวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แค่เราขยับตัวนิดหนึ่ง มันก็ส่งผลกระทบต่ออีกคนหนึ่งแล้ว พูดง่าย ๆ อย่างถ้าเราไม่มาคุยกันวันนี้ คุณก็อาจจะต้องไปส่งผลกระทบต่อคนอื่น ดังนั้นการขยับของคนคนหนึ่งมันส่งผลกระทบอยู่แล้ว จึงอยากให้มาดูครับ อย่างน้อยพาตัวเองก้าวออกมาจากบ้าน ออกมาดูละครของเรา มันก็จะช่วยส่งผลกระทบสะท้อนไปยังคนอีกหลาย ๆ คนมากขึ้นด้วย  สิ่งที่ค้างคาข้างในก็คืออยากตะโกนบอกว่า เฮ้ย! แม่ง... โลกมันมีหลายมิตินะ มี 360 องศา อย่าจำกัดตัวเองด้วยมุมแคบ ๆ เพียงมุมเดียวแล้วตัดสินโลกใบนี้ทั้งใบ อยากให้ออกจากพื้นที่เซฟโซนของตัวเอง แล้วมาดูว่าโลกในส่วนที่เราไม่เคยมองว่ามีอะไรอยู่บ้าง มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเรามีผลกระทบต่อโลกทั้งใบนี้ยังไง  ณัชชาพร: เคยได้ยินคนพูดว่า ความเกลียดชังและความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะว่าเรามองโลกเพียงด้านเดียว แต่ว่าโลกไม่ใช่มีแค่ด้านเดียว การมองแค่ด้านเดียวก็เหมือนหอกที่ทิ่มแทงคนอื่นที่เห็นต่างจากเรา แต่ถ้าเราฝึกมองให้รอบด้าน มันจะกลายเป็นวงกลมมากขึ้น เป็นวงกลมที่ไม่มีมุม ดูละมุนมากขึ้น เราจะเข้าใจคนทุก ๆ ด้าน แล้วก็จะเกิดเรื่องของความรัก ความเมตตา มากกว่าแสดงออกถึงความรุนแรงและความเกลียดชัง “เราไม่อยากเป็นสิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ ทั้งที่โลกใบนี้เป็นของเราเหมือนกัน” คณะละครมาร็องดู (Malongdu) คณะละครเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม *หมายเหตุ Malongdu Showcase เรื่องที่ 3 “เห็นฉัน ไม่เห็นฉัน” เข้าชมฟรี! วันที่ 16 - 17 พฤศจิกายน 2019 ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพ ห้อง 501 เวลา 14:30-15:30 น. สำรองที่นั่ง : https://form.jotform.me/92895244578474