มาโนช พุฒตาล: นักเล่าเรื่องผู้ใช้บทเพลงค้นหาชีวิตผ่านการไหลของ "ลำธาร"

มาโนช พุฒตาล: นักเล่าเรื่องผู้ใช้บทเพลงค้นหาชีวิตผ่านการไหลของ "ลำธาร"
“ต้องใช้คำพูดนี้มากกว่าครับว่าเป็นคนเล่าเรื่อง เล่าเรื่องด้วยสารพัดเครื่องมือที่มีอยู่ตอนนี้ เพราะผมเป็นคนชอบเล่าเรื่องมาตั้งแต่เกิด ตอนผมเป็นเด็กอยู่ ป.5 ไปเตะบอลโรงเรียนประตูชัย อยุธยา มีสนามบอลแค่สนามเดียว แต่มี ป.5 ป.6 ป.7 เฉพาะ ป.5 ก็มี 7-8 ทับ รวมกันแล้ว 30 กว่าห้อง ถ้ามีสนามบอลสนามเดียวมันแย่งกันไง ก็ต้องต่อคิวกัน ระหว่างรอคิวผมจะนั่งอยู่ใต้ต้นก้ามปู เพื่อน ป.6 ป.7 จะมานั่งล้อมวงฟังผมเล่านิทาน ผมจะแต่งนิทานเล่าให้เพื่อนฟังทุกเที่ยง ถ้างั้นผมเป็นนักเล่าเรื่องมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ” นักเดินทาง นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน นักดนตรี พิธีกรรายการ...เรารู้จักกับ มาโนช พุฒตาล ในหลากหลายบทบาท ซึ่งหากจะยุบรวมบทบาทเหล่านี้เพื่อให้คำนิยามจำกัดความสั้น ๆ ของความเป็นมาโนช พุฒตาล คงจะไม่ผิดนักที่จะบอกว่า เขาคือ "นักเล่าเรื่อง"  ช่วงเวลานี้ มาโนช พุฒตาล กลับมาอีกครั้งกับเพลง "ลำธาร" ครั้งแรกในรอบ 24 ปีที่เพลงข้ามกาลเวลานี้ถูกนำเสนอในรูปแบบมิวสิควิดีโอ (ชมเอ็มวีของเขาได้ที่ลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=ejStLDjhS38) ในวัย 64 ปี จากพื้นเพที่โตมากับครอบครัวมุสลิมริมน้ำเจ้าพระยา ที่กรุงเก่า-จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านร้อน ผ่านหนาว แดดลมฝน มาโนช พุฒตาล ได้พกเรื่องเล่ารอบล่าสุดมาฝากชาว The People   The People: ที่มาของประโยคแนะนำตัว "ผมมาโนช พุฒตาล บุตรของนายเฉลียวและนางอำไพ" มาโนช: คือเวลาผมกลับบ้านที่อยุธยา ไปเจอคนแก่ คนเฒ่า ญาติพี่น้อง ผมก็ขึ้นบ้านเข้าไปสวัสดีคุณยาย เขาก็จะถาม เอ็งใครล่ะ ผมก็บอกว่า ผมมาโนช พุฒตาลไง ยายก็ทำหน้าแบบ ใครวะ มาโนชไหนวะ พอเราบอกว่าผมลูกตาเหลียวไง อ๋อ ลูกพี่เหลียว เพราะฉะนั้นการบอกชื่อพ่อชื่อแม่ มันเป็นวิธีหาตัวตนของเราให้กับคนรุ่นเก่าได้ง่ายที่สุด เพราะคนรุ่นเก่าเขาไม่รู้จักนามสกุล เขารู้จักแต่ว่ามึงเป็นลูกเต้าเหล่าใคร นี่คือเหตุผลที่ผมกำลังจะบอกใคร “อ๋อ ผมมาโนช พุฒตาล บุตรนายเฉลียวกับนางอำไพ”  แต่มันมีประเด็นตามมาอีกหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ยุคหนึ่งมันจะมีภาพล้อเลียนนักการเมืองที่ชอบอ้างว่าเขาเป็นลูกใคร ลูกใครหว่า เคยเห็นไหม เป็นรูปเด็กกำลังกระโดดข้ามรั้ว ไม่ข้ามทางม้าลาย แล้วแบบลูกใครหว่า มันสะท้อนว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ถึงถามคำถามนี้ ผมเลยบอกว่า ผมเชื่อว่าผมทำสิ่งที่พอใช้ได้มาตลอด ผมจึงอยากอวดพ่อแม่ผมว่าผมลูกนายเฉลียวกับนางอำไพนะ เขาสอนผมมาดี แล้วมันจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับตีกรอบให้ผมด้วยว่าอย่าไปทำชั่วในที่สาธารณะเชียวนะ เพราะเขาด่าถึงพ่อแม่มึงทีเดียว  เพราะฉะนั้น การบอกว่าเราเป็นลูกเต้าเหล่าใคร มันทำให้สืบค้นว่าเราเป็นใครได้ด้วย ทำทั้งให้เราภูมิใจในพ่อแม่เราด้วย ทำทั้งให้เราไม่กล้าทำความผิดอีกด้วย แล้วมันยังเท่ เพราะว่าผมจำมาจากหนังเรื่องบัญญัติ 10 ประการ (The Ten Commandments-1956) ตอนที่โมเสสไม่ยอมเป็นฟาโรห์ แล้วจะเป็นทาส เพราะเป็นลูกยิว แล้วมีคนถามว่าเจ้าล่ะคือใคร เขาก็บอกว่าฉันคือโมเสส บุตรของอัมบรามกับนางโยเคเบด ผมว่าชาร์ลตัน เฮสตัน พระเอกของเรื่อง พูดประโยคนี้ได้ทรงพลังอย่างยิ่ง ผมก็เลยขออนุญาต copy มาใช้ มาโนช พุฒตาล: นักเล่าเรื่องผู้ใช้บทเพลงค้นหาชีวิตผ่านการไหลของ "ลำธาร" The People: ทำไมถึงนำเพลง “ลำธาร” ซึ่งออกมานาน 24 ปี มาทำเป็นมิวสิควิดีโอครั้งแรก มาโนช: เริ่มต้นจากนับวันผมก็อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราก็ทำงานมาตั้งแต่อายุ 19 ทำงานมาตลอด พอมาถึงวัย 60  มันไม่อยากหยุดทำงาน คราวนี้เราทำงานอะไรถึงจะเหมาะ ผมก็เห็นผู้คนเขาขายของกัน ทีแรกผมอยากขายแกงมัสมั่นเพราะผมชอบทำแกงมัสมั่น แล้วแกงมัสมั่น ผมจะรู้สึกว่า เอ้ย มีที่มาน่าสนใจนะ จากเปอร์เซียมาอินเดีย จากอินเดียมาอยุธยา แล้วสูตรก็ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เรื่อยมาจนถึงรุ่นผม เด็กรุ่นใหม่ไม่เอาแล้ว ผมยังรู้ว่า มันมีคุณค่าเว้ย มันน่าถนอม แต่คราวนี้จะทำขาย มันก็ต้องดูยุคสมัยใช่ไหม ยุคสมัยนี้เขาใช้ภาพพจน์ ใช้สื่อออนไลน์ ใช้สื่อมวลชนเพื่อจะผลักดัน ถ้าผมอยากทำบ้างก็ต้องตั้งชื่อเป็น มัสมั่นแห่งอยุธยา อยุธยามัสมั่น อะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ หรือชื่อตราเรือโยง เรือโยงคืออาชีพพ่อผมขับเรือโยงในแม่น้ำ แล้วพ่อผมเป็นคนส่งสูตรให้ผมต่อมา หัดทำมานานแล้วอย่างนี้  ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะไปถึงผู้คน ผมก็อยากทำเป็นทอล์กโชว์ แต่ทอล์กโชว์เราไม่ใช่ โน้ส-อุดม แต้พานิช ใช่ไหม เราไม่สามารถจะดึงคนได้เป็นพันหรอก ผมก็คิดแบบ...ผมจัดทอล์กโชว์ที่ออฟฟิศคุณได้ไหม แล้วผมทำแกงมัสมั่นมาให้คุณกินกันด้วย แล้วก็คิดเป็นรายหัว แต่มันพบอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราต้องขึ้นพูดต่อหน้าคน เราไม่มีความสุข เพราะเรารู้สึกว่าจะคุ้มสตางค์ที่เขาจ่ายซื้อตั๋วไหม ไอ้เรื่องอาหารผมมั่นใจว่าอร่อยอยู่แล้ว แต่เขาจะสนุกกับสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราเล่าไหม เกิดแรงกดดัน เกิดความทุกข์ ผมก็เลยถอยหลังตรงนี้ ไม่ไหวว่ะ ไม่ควรทำ  ก็เลยกลับมาถามตัวเองต่อ งั้นเราควรจะทำอะไร ผมก็ถามว่าผมมีความสุขกับการทำอะไร มีความสุขกับการเล่าเรื่องผ่านไมโครโฟนเพื่อเป็นรายการวิทยุ เล่าเรื่องผ่านกล้องโทรทัศน์เพื่อเป็นรายการทีวี หรือเป็น YouTube ออนไลน์เล่าเรื่องผ่านดนตรีที่เราแต่งเพลง ร้องเพลง ทำแล้วมีความสุข ก็เลยกลับมาทบทวนใหม่ ถ้าอย่างงั้นจะทำอะไรได้แบบนี้ ยุคนี้ ทำสิ่งที่ถนัดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ก็เลยไปรื้อฟื้นของเก่ามา ผมมีอะไรอยู่ ผมมีบริษัท Milestone อยู่ Milestone มี ดิ โอฬารฯ มีมาลีฮวนน่า มีศิลปินในสังกัด แล้วมีเพลงของตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง มีเรื่องเล่าทางวิทยุที่ผมทำลง YouTube มาตลอดอยู่แล้วอีกส่วนหนึ่ง ผมก็รวบรวมทั้งหมดในช่อง Milestone TV ทางยูทูบ แล้วอะไรจะเป็นคอนเทนต์ใน Milestone TV บ้าง ก็ได้แก่เรื่องเล่าของผมสารพัดชนิด เรื่องเล่าจากการเดินทาง เรื่องเล่าจากประสบการณ์ เรื่องเล่าจากเสียงเพลงและมิวสิควิดีโอที่เรามีอยู่ในสังกัดของเรา ผมก็มาทบทวนว่าผมจะทำมิวสิควิดีโอเพลงอะไรก่อนดีกว่า ถ้าจะทำเพลงของมาลีฮวนน่าซึ่งเขามีเพลงฮิตเยอะก็ยุ่งเพราะว่าจะต้องไปคุยกับศิลปิน ถ้าจะทำเอ็มวีของ ดิ โอฬารฯ ก็ต้องคุยกับโอ้ คุยกับโป่ง เอาของตัวเองดีกว่า คุยกับตัวเองง่ายดี ก็รวบรวมว่าเพลงอะไรที่คิดว่าเหมาะที่สุดที่ผมควรจะนำเสนอ แบ่งเป็น 2 แนวคิด แนวคิดแรกคือเพลงใหม่ ผมทำเพลงใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ นะครับ เพราะว่ามีเพลงใหม่สำหรับรายการทีวีสามัญชนคนไทย กับเพลงใหม่ที่ตั้งใจทำเลย ทำเสร็จไปแล้วสองสามเพลงแล้วด้วย จะเอาเพลงใหม่มาทำเอ็มวีเลยดีไหม ผมก็คิดว่าสู้เอาเพลงเก่าที่มีอยู่หนึ่งเพลง ดูเหมือนเพลงนี้จะมีคนรู้จักมากสุด ก็เลยตัดสินใจเลือกเพลงลำธาร พอเลือกเพลงลำธารมาทำ ผมก็จะให้ใครทำดีล่ะ  ลูกชายคนโตผมชื่อ ไผ่-คาลิล เขามีเพื่อนชื่อบอมบ์ (สกัณห์ อายุรพงศ์) บอมบ์เขารับทำมิวสิควิดีโอให้กับพวก เลิฟอีส บอย โกสิยพงษ์ ผมก็คิดว่ามันคนใกล้ตัว ก็เลยเอาโครงการนี้ไปส่งมอบให้ลูกชาย บอกว่าไผ่ ทำมิวสิควิดีโอให้พ่อเพลงหนึ่งสิ กับทีมบอมบ์ พ่อจะไม่ยุ่งอะไรเลย ไม่คิดด้วย แค่ทำให้สำเร็จแล้วกัน ก็เอาเพลงให้เขาไป เขาก็เอาไปคิดกันเอง ผมก็แค่ว่าวันไหนจะถ่ายเรียกผมไป ผมจะไม่ออกความเห็น สั่งให้ทำอะไรจะทำหมดเลย เขาสั่งให้ใส่หมวก ผมก็จะใส่หมวกทั้ง ๆ ที่ไม่ชอบใส่หมวก ผมเกลียดกลิ่นควัน เขาฉีดควันผมก็อดทน เพราะว่าบอกเขาแล้วว่าเราจะไม่ยุ่งอะไรเลย ก็ให้เขาทำ มันก็เสร็จมาแบบนี้ครับ  มาโนช พุฒตาล: นักเล่าเรื่องผู้ใช้บทเพลงค้นหาชีวิตผ่านการไหลของ "ลำธาร" The People: ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง มาโนช: อันแรกนะ สมัยที่ผมยังทำงานอยู่ เช่น ผมเป็นฝ่ายโปรดักชัน เวลามีเด็กรุ่นใหม่ ๆ มาให้เราเป็นคนถ่าย ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก เขาจะกังวล เขาจะเกร็ง เขาต้องยกมือไหว้ทุกคนในกองถ่ายเลย แต่นี่กลับทางกัน พอถึงกองถ่ายเราแก่สุด เราอายุ 63 คนถ่ายทำอายุ 20-30 ปีทั้งนั้นเลย เด็กกว่าเราหมด แล้วทุกคนรู้ว่าเราเป็นพ่อของคนในกองถ่ายด้วย เลยไม่มีใครมาดุเรา ไม่มีใครมากดดันเรา มีแต่คอยถามเหนื่อยไหม ไหวหรือเปล่า ก็ทำให้ หนึ่ง สบาย สบายมากในการไปร่วมงานครั้งนี้ แต่ไอ้วิธีการทำงาน คือผมเข้าใจว่าถ่ายทำมิวสิควิดีโอไม่น่าจะลงทุนสูงอะไรมากใช่ไหม นึกว่าเขาใช้กล้องวิดีโอ แต่ทีมนี้เขาดันต้องการทำให้ดีที่สุดในความเห็นของเขา เขาก็เช่ากล้อง อาร์ อี ดี มั้ง กล้อง RED เช่าทีมมาอย่างกองถ่ายหนังโฆษณาเลย ผมก็แบบตื่นเต้นหน่อย ๆ โอ้โห! มันเล่นใหญ่โตกันขนาดนี้เลยเหรอ แต่ทุกอย่างเสร็จลงภายในหนึ่งวัน เริ่ม 6 โมงเช้า เสร็จ 6 โมงเย็น ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราตัดสินใจทำ เออ เว้ย คุ้มค่า ครับ   The People: การตีความเพลง “ลำธาร” สู่มิวสิควิดีโอ มาโนช: ต้นฉบับเดิมเลยครับ ที่อยู่ในอัลบั้มอยู่ในทรรศนะของข้าพเจ้า แต่ว่าเขาตีความ พยายามอธิบายเนื้อเพลงแตกต่างจากที่ผมคิด แต่ผมบอกแล้วไงผมจะไม่ยุ่ง มันเป็นเรื่องของเขาเลย แต่ผมก็พึงพอใจกับสิ่งที่เขาคิด เขาคิดออกมาในรูปแบบ...เหมือนจะปลดปล่อยตัวเองไปตามเนื้อหาของเพลงบางท่อนครับ ว่าคนเราเกิดมามีพันธะ มีวัตถุ มีเสื้อผ้า มีหีบห่อ มีภาระต้องแบกหามไป แต่ตอนจบของเพลงคือ ค่อย ๆ ถอดมันทิ้งทีละอย่าง ๆ จนปลายทางไปเจอแม่น้ำ ก็ตามเนื้อเพลงคือ ปลดปล่อยไปตามลำธาร เหมือนกับว่าหลุดพ้นแล้ว วาง ละวางทุกสิ่งแล้ว ไม่แบกรับอะไรอีกต่อไปแล้ว มีอิสระที่แท้จริงเสียที เขาจบแบบนี้  แล้วตอนจบของเพลง ถ้าในอัลบั้มที่บันทึกเสียงผมมีบทสนทนา บทสนทนานี้ผมเอามาจากภาพยนตร์เรื่อง The Mission (1986) ฉากที่นักรบมาขอพรบาทหลวง บาทหลวงบอกว่าพ่อให้พรนักรบไม่ได้หรอก เพราะว่าถ้าบอก เออ...ไปสิไปรบเลย ขอให้ชนะ มันก็ผิดหลักการของนักบวชใช่ไหม เพราะว่ามันต้องสันติภาพ ต้องไม่ทำร้ายผู้อื่น บาทหลวงก็เลยอธิบายบอกว่า ให้พรไม่ได้หรอก แต่ว่าถ้าสิ่งที่เอ็งทำมันถูกต้องก็ไม่ต้องขอพรหรอก พระเจ้าอยู่ข้างเอ็งแล้วเพราะมันถูกนี่ แต่ถ้ามันผิด พรหลวงพ่อก็ไม่มีประโยชน์อันใด แต่ถ่ายมิวสิควิดีโอเขาถ่ายมาเป็นภาพเด็กกำลังหัดเล่นกีตาร์ ซึ่งมันโดนใจผมตรงนี้ เพราะผมจำได้ว่าตอนเป็นเด็กผมเล่นกีตาร์ไม่ได้ พ่อจะดุ พ่อจะตี พ่อจะห้ามเลย เหมือนกับสิ่งที่ผมทำมันผิดเหรอ แต่ถ้ามันถูกต้อง มันจะอยู่เคียงข้างเราตลอดไป ผมก็เลยเอามาเขียนเป็นบทความสั้น ๆ ก่อนจะเสนอมิวสิควิดีโอบอกว่า ถ้าเพลงนี้มันถูกต้อง คนดูก็จะอยู่เคียงข้าง ถ้าเพลงนี้มันผิดก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะดู แล้วผมก็เอามาผสมกันเป็นแบบนี้ครับ   The People: เพลง “ลำธาร” เชื่อมโยงอย่างไรกับวรรณกรรม “สิทธารถะ” ของเฮอร์มานน์ เฮสเส มาโนช: หนังสือเล่มนี้ สิทธารถะ ผมอ่านมาก่อนตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต มีหนังมาฉายด้วยตอนสมัยผมอยู่ประมาณ มศ.4 น่าจะตอนพ.ศ. 2515 มีหนังเรื่องสิทธารถะมาฉายในเมืองไทยเลย ผมจำไม่ได้ว่าเป็นหนังอินเดียหรือหนังฝรั่ง ทำจากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมไปซื้อหนังสือมาอ่าน ผมอ่านสำนวนของอาจารย์สดใส พออ่านแล้วเป็นหนึ่งในหนังสือที่ชอบ เพราะว่าบ้านเราเป็นคนริมแม่น้ำ ผมอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมแม่น้ำ ริมคลองเมือง มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างในหนังสือที่เข้ากับชีวิตเรา วิถีชีวิตเรา เพราะเราเป็นคนพายเรือ เมื่อก่อนผมไปเรียนหนังสือ พายเรือไปเรียน จะไปซื้อกับข้าว พายเรือไปซื้อ ตกปลา พายเรือไปตกปลา ชีวิตเราใกล้เคียงกับตัวสิทธารถะตอนจบ แต่เขาเป็นคนแจวเรือ มันมีหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าใกล้เคียงกัน  หนึ่งเรื่อง ผมชอบเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ชอบกางเต็นท์ริมลำธาร มีอยู่ลำธารหนึ่งชื่อห้วยแม่กะสะ อยู่ทุ่งใหญ่นเรศวร น้ำในห้วยแม่กะสะมันใสถึงขนาดว่าเราเอาน้ำไปดื่ม สมมติเราเอาน้ำใส่ในแทงก์ไปแบบนี้ แล้วเพื่อนเราไปกรองน้ำในลำห้วยมาอีกแทงก์หนึ่งมาตั้งติดกับเรา แยกไม่ออก ไม่รู้ว่าน้ำไหนกันแน่ที่เป็นน้ำของห้วยแม่กะสะ หรือน้ำอันไหนที่ซื้อ มันทำให้เรารู้สึกว่า โอโห น้ำสามารถใสได้ขนาดนี้เชียวเหรอ  แต่ในความใสก็มีอะไรเยอะแยะไปหมดเลย เพราะว่าตอนเย็นที่เรานั่งอยู่ริมลำห้วย เสียงกระดึง กุ๊งกิ๊งกุ๊งกิ๊ง มีคนเลี้ยงควายเดินผ่านมา แล้วเป็นผู้หญิงล้วนเป็นสาวกะเหรี่ยงหน้าตาดีด้วย เขากำลังต้อนควายข้ามลำห้วย มันเร้าใจมากเลยเพราะว่าสาวกะเหรี่ยงเขานุ่งผ้าถุง แล้วเขาเดินข้ามห้วย เขาต้องถกผ้าถุงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าน้ำแค่เข่ามันก็แค่เข่า แต่น้ำมันแค่เอว เขาถกผ้าถุงขึ้นเรื่อยแล้วเราก็นั่งดูอยู่ มันเร้าใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันบอกว่า เฮ้ย ลำห้วยสายนี้น้ำก็ใส บางทีก็มีสัตว์เลี้ยงเดินข้าม มันก็ขี้ก็เยี่ยวลงไปในแม่น้ำ ลำห้วยสายนี้ ยังมีเรื่องอารมณ์เพศอยู่ในแม่น้ำด้วย ซึ่งอารมณ์เพศไม่ได้เกิดจากตัวเขา แต่เกิดจากเรานั่งมองแล้วเห็นความเซ็กซี่ของสาวป่า สอนเราให้รู้ว่าลำห้วยเดียวเป็นแทบทุกอย่างเลย ทั้งความใส ทั้งปฏิกูล ทั้งการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างหญิงชาย ทุกอย่างอยู่ในลำห้วยนี้หมดเลย ไม่ต้องพูดถึงตอนกลางคืน กลางคืนเราตั้งวง นั่งกันอยู่ริมห้วย ดื่มกิน เคลิ้มไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง พอแหงนมองท้องฟ้าตลกมากเลย มันมีทางเป็นสีขาวอยู่บนฟ้าแล้วมันเคลื่อนไปเรื่อย แค่นี้ก็เป็นประเด็นได้ถกกันทั้งคืนแล้วว่ามันคืออะไร บางคนก็บอกว่าเป็นทางช้างเผือก ก็บอกบ้า ไม่ใช่ดาวสักหน่อย แต่ผมเดาว่าเป็นกลุ่มควันอันเกิดจากเครื่องบินเจ็ต เครื่องบินโดยสารพวกไอพ่น แล้วไอน้ำกลายเป็นสีขาว แล้วทำไมมันเคลื่อนไหว เพราะลมพัดไปเป็นทางแบบนี้ บางคนก็คิดเป็นผีสาง เทวดา นั่นมันคือการอยู่ในธรรมชาติ การอ่านหนังสือสิทธารถะ การเห็นผู้คน มันทำให้เราอยากถ่ายทอดเรื่องราว ถ้าจะเป็นบทเพลง ผมว่าผมถ่ายทอดโดยเล่าเรื่องของแม่น้ำจะสามารถเล่าได้เยอะครับ   The People: ทราบมาว่าคุณชอบเดินป่า ด้วยวัยขนาดนี้พร้อมแค่ไหน มาโนช: พร้อม 100% อยู่แล้ว ผมมีรถปิกอัพคันหนึ่ง เป็นรถกระบะเล็ก ๆ  แล้วผมทำข้างหลังเป็นห้องนอน มีที่นอนปูได้ มีหมอน มีอะไร กันยุงได้ ผมดีไซน์ชีวิตเอาไว้ตอนนี้คือผมก็ต้องไปกับภรรยานะ ไปคนเดียวมันก็เหงา แต่ภรรยาผมก็ไม่ชอบนั่งรถคันนี้เพราะมันกระเทือน มันกระเทือนมาก แล้วแอร์ก็ไม่เย็น ผมเลยใช้วิธีว่าผมจะขับไปคนเดียว เช่น ออกจากกรุงเทพฯ ไปถึงแม่สอด จากแม่สอดไปถึงอุ้มผาง ผมก็เที่ยวสักอาทิตย์หนึ่ง พอครบ 5 วัน วันศุกร์ผมก็จะขับรถมาจอดที่สนามบินแม่สอด ถึงแม่สอดผมก็จะฝากรถไว้ที่สนามบิน แล้วผมก็นั่งเครื่องบินกลับมากรุงเทพฯ แล้ววันศุกร์จะได้ทำหน้าที่พ่อตามเดิมไปรับลูก อยู่กับลูก ดูแลลูก วันอาทิตย์ส่งลูกกลับ วันจันทร์ก็จะชวนเมียขึ้นเครื่องบินไปลงแม่สอด แล้วก็ขึ้นรถคันนี้ขับจากแม่สอดไปถนนสายความมั่นคง 105 ไปทางแม่ระมาด ท่าสองยาง ขึ้นไปนอนดอยเปเปอร์ จากดอยเปเปอร์ไปออกแม่ตื่น จากแม่ตื่นไปออกอมก๋อย จากอมก๋อยไปเชียงใหม่ นี่ก็สัก 5 วัน วันศุกร์ถึงเชียงใหม่ ผมกับเมียก็ขึ้นเครื่องบินกลับมากรุงเทพฯ วันศุกร์เย็นก็ไปรับลูก ดูแลลูก วันอาทิตย์กินข้าวเสร็จส่งลูกกลับคอนโดปั๊บ เช้าวันจันทร์กลับไปเชียงใหม่ จากเชียงใหม่ก็ตีไปบ้านห้วยพ่านที่น่านแล้วกัน อำเภอเชียงกลาง ก็จะใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่โดยไม่ทอดทิ้งความรู้สึกเดิมที่ว่ายังผูกพันกับลูกอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นตอบคำถามว่ายังพร้อมที่จะไปเที่ยวป่าแบบนี้ครับ    The People: เวลาเที่ยวป่า มีอะไรบ้างที่ต้องติดไปกับรถ  มาโนช: ผมชอบเอากีตาร์ไป แต่สิ่งที่ผมติดไปแน่ ๆ คือ เตา เตาแอลกอฮอล์เล็ก ๆ ผมสามารถใช้เวลากับมันได้ครึ่งค่อนวันเลย เติมน้ำมันแอลกอฮอล์ เติมแอลกอฮอล์ 100%  ซึ่งเวลาไปซื้อแอลกอฮอล์ 100% นะสนุกมาก ต้องไปซื้อที่คุรุสภาที่เขาขายของสำหรับการศึกษา แล้วต้องอ้างเขาว่าเราเป็นครู เพราะว่ามันเอาไปทำเหล้าได้ มันคือแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ ผมก็จะเอาไปใส่เตาแล้วก็จุด แล้วก็ต้มชา ต้มกาแฟ หุงข้าว ทำบ่อย ๆ เราจะชำนาญถึงขนาดว่าเติมน้ำมันแค่ไหนมันมอดหมดปั๊บข้าวสุกพอดี พอจะต้องมีเตานี้ไป มีหม้อหุงข้าว แล้วหม้อหุงข้าวมันเป็นปรัชญาชีวิตผมมากเลย มันมีหม้อสนาม หูเล็ก ๆ  มีหูจับอย่างนี้ ถ้ากินข้าวผมใช้มันหุงข้าว ถ้าได้กินบะหมี่สำเร็จรูป ผมใช้ต้มบะหมี่สำเร็จรูป ถ้าผมลงลำห้วยผมใช้มันเป็นขันอาบน้ำ ถ้าผมนอนผมใช้เป็นกระโถนเยี่ยว ผมก็เยี่ยวใส่นี่ แล้วก็เททิ้ง รุ่งเช้าก็ล้างหน่อยแล้วก็ต้มข้าวกิน ใช้หนุนหัวยังได้เลยด้วย หม้อใบเดียวหนุนหัวได้ ปัสสาวะได้ หุงข้าวได้ ตักน้ำอาบได้ ถ้ามีเพื่อนร่วมวงเป็นเพอร์คัชชันได้อีก หรือเป็นอาวุธให้เมียก็ได้ เกิดเมียยัวะเรา ก็ตีกบาลเราได้อีก มันสะท้อนจากหม้อใบเดียว    The People: นอกจากครอบครัว นอกจากการเดินทางแล้ว ทุกวันนี้คุณอยู่กับดนตรีแนบแน่นแค่ไหน มาโนช: อาจจะแตกต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนดนตรีกับผมหมายถึงการฝึกทักษะ หมายถึงเปิดวิดีโอดูวง Emerson, Lake & Palmer โอ้โห! มันเล่นคีย์บอร์ดอย่างนี้ได้ยังไง ดู Yngwie Malmsteen ดู Steve Howe วง Yes นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะทำในอดีต แต่มาวันนี้ มันไม่เป็นแบบนั้นเลย  วันนี้ผมมักจะคิดว่าผมจะเล่าเรื่องอะไร แล้วจะเล่าโดยมีทำนองหรือไม่มีทำนองหรือไม่ผมก็จะคิดแต่สิ่งที่จะเล่าเรื่อง เล่าอะไร อะไรมันจะช่วยเป็นสะพานได้ดีก็จะใส่ ถ้าไม่มีก็...ผมเริ่มตระหนักว่า ลำพังคำพูดถ้ามันเป็นความจริง แล้วถ้ามันมีวิธีการพูดที่จังหวะหรือแง่มุมอะไรเหมาะสม มันสามารถกระตุ้นคน มันสามารถเปลี่ยนแปลงคน เอาอย่างนี้ก็ได้ครับ พระเยซูมีผู้เดินตามเป็นสาวก จนสุดท้ายเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก มาจากคำพูดอย่างเดียวเลย มีสิ่งที่เป็นสิ่งประกอบที่ทำให้มีคนเชื่อคำพูดท่านคือปาฏิหาริย์ ต้องเดินบนน้ำ ต้องชุบชีวิตคนให้เห็นก่อน คือคนมีนิสัยคือต้องรอปาฏิหาริย์ก่อน พอใครมีปาฏิหาริย์ปั๊บ เขาอ้างว่าเขาเป็นบุตรพระเจ้าก็เชื่อได้แล้ว เพราะเขามีปาฏิหาริย์ ที่เหลือคือถ่ายทอดคำพูด แล้วคำพูดเหล่านี้เปลี่ยนแปลงโลกเลย  ผมถามว่าปาฏิหาริย์คืออะไร ปาฏิหาริย์ในความเห็นผมคือ ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ขึ้นมา ถ้าใครที่ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ขึ้นมา สร้างปาฏิหาริย์ เช่นเดินบนน้ำ เช่นชุบชีวิตคน บางคนบอกว่ากูเลิกบุหรี่ไม่ได้ กูไม่มีทางเลย แต่ถ้าเขาทำจนเลิกได้ เขามีปาฏิหาริย์ไหม บางคนบอกว่าฉันไม่สามารถจะลดความอ้วนได้ ยังไงฉันก็ต้องอ้วน จริง ๆ มันลดได้ แล้วเมื่อเขาลดได้มันเป็นปาฏิหาริย์ให้เขาไหม ถ้าเป็นปาฏิหาริย์เสร็จปั๊บ เกิดอะไรขึ้น คำพูดของคุณจะน่าเชื่อถือ แต่ผมเชื่อว่าคุณไม่จำเป็นต้องบอกให้คนอื่นเชื่อถือคุณหรอก คุณได้ตัวเองเชื่อถือตัวคุณเอง พอถึงจุดนี้ปั๊บ คำพูดแต่ละคำพูด ความคิดแต่ละความคิดที่อยู่ในสมองคุณมันเป็นจริงได้หมดแล้ว  มาโนช พุฒตาล: นักเล่าเรื่องผู้ใช้บทเพลงค้นหาชีวิตผ่านการไหลของ "ลำธาร" นั่นแหละเวลาผมทำเพลง ผมคิดแต่เรื่องแบบนี้ ไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องเป็นคอร์ดเอไมเนอร์ หรือซี หรือดี อะไร แต่คิดแต่ว่าถ้ามันจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ก็พูดอย่างเดียว ระยะหลังผมก็จะมีงานประเภทไปเล่นดนตรี ผมก็จะใช้วิธีนี้ ใช้กีตาร์ตั้งไว้ด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่จะเล่าเรื่อง แล้วประเด็นของผมคือเรื่องนี้ เราจะเชื่อถือตัวเองได้ไหมครับ    The People: เป็นนักเขียน เป็นผู้ดำเนินรายการ จัดรายการวิทยุ เป็นนักดนตรี จริง ๆ แล้วถ้าจะให้คำนิยามตัวเอง “มาโนช พุฒตาล” เป็นใคร มาโนช: ต้องใช้คำพูดนี้มากกว่าครับว่า เป็นคนเล่าเรื่อง เล่าเรื่องด้วยสารพัดเครื่องมือที่มีอยู่ตอนนี้ เพราะผมเป็นคนชอบเล่าเรื่องมาตั้งแต่เกิด ตอนผมเป็นเด็กผมอยู่ ป.5 ไปเตะบอลโรงเรียนประตูชัย อยุธยา มีสนามบอลแค่สนามเดียว แต่มี ป.5 ป.6 ป.7 เฉพาะ ป.5 ก็มี 7-8 ทับ รวมกันแล้ว 30 กว่าห้อง ถ้ามีสนามบอลสนามเดียวมันแย่งกันไง ก็ต้องต่อคิวกัน ระหว่างรอคิวผมจะนั่งอยู่ใต้ต้นก้ามปู เพื่อน ป.6 ป.7 จะมานั่งล้อมวงฟังผมเล่านิทาน ผมจะแต่งนิทานเล่าให้เพื่อนฟังทุกเที่ยง ถ้างั้นผมเป็นนักเล่าเรื่องมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ   The People: มีต้นแบบ หรือมีใครที่ทำให้เรามีบุคลิกภาพแบบนี้หรือเปล่า มาโนช: ผมว่าเป็นชุมชนที่ผมอยู่มากกว่า ผมอยู่หัวแหลม เป็นชุมชนที่ชาวมุสลิมอยู่ด้วยกัน แล้วติดแม่น้ำเจ้าพระยา อาชีพของคนที่นี่คือล่องเรือ เขาเรียกว่าเรือขายเครื่องเทศ เป็นเรือที่อยู่กินเป็นครอบครัวอยู่ในเรือนั้นเลยนะ แล้วใต้ท้องเรือก็จะเป็นพวกชาม จาน กระเบื้อง เครื่องใช้ไฟฟ้า มีข้าวของ มันเหมือน 7-11 เคลื่อนที่ เขาจะล่องเรือเพราะสมัยก่อนถนนมีน้อย จากอยุธยาก็ล่องไปตามแม่น้ำทางคลองสี่ คลองห้า รังสิต ไปทะลุแม่น้ำนครนายก ขึ้นไปทางแม่น้ำปราจีนบุ ไปบางปะกง เขาไปกันตลอดปี แล้วชีวิตคนพวกนี้ ทำไมรู้ไหมครับ ค่ำไหนนอนนั่น ไปผูกเรือในที่ที่พอจะปลอดภัย ผ่านตรงนี้เขามีเรื่องราวในชีวิตเขามาตลอดปี แล้วเขาอยู่ไปทางแควน้อย เขาเห็นนกยูงอยู่ที่ชายหาด ฤดูน้ำหลากสมัยสงคราม พอน้ำลงเหมือนหนังสยองขวัญ มีศพห้อยต่องแต่งตามกิ่งไม้ ศพเชลยที่มาทำสะพานข้ามแม่น้ำแคว เขาเห็นเรื่องเหล่านี้ เขาเห็นเหตุการณ์จากทั่วประเทศ พอถึงฤดูถือศีลอดเขาเรียกเดือนรอมฎอน เรือทุกลำประมาณ 40-50 ลำ จะมาจอดรวมกันที่ริมตลิ่งข้าง ๆ สุเหร่า ก็อยู่กินกันบนเรือ แต่ก็ต้องขึ้นมาละหมาดบนสุเหร่า แล้วก็ขึ้นไปเยี่ยมญาติ  บ้านผมอยู่บนบก เวลาเดือนรอมฎอนบ้านมันไม่เคยเงียบ เพราะว่าญาติพี่น้องที่เพิ่งกลับมาจากทั่วประเทศมารวมกัน แล้วผมมีหน้าที่วิ่งไปซื้อกาแฟ ผมจะวิ่งไปซื้อแล้วก็มาตั้งให้เขา เขาก็กินกาแฟกินชากัน แล้วสารพัดเรื่องเล่ามันจะมาทั่วประเทศ เรื่องโจร เรื่องผี เรื่องธรรมชาติ เรื่องสัตว์ ทุกสารพัดเรื่อง ลุงชวนเล่าเก่ง ลุงเชิดเล่าเก่ง ตาขีด ตาเขียน ตาแต้ม ตาป้าย มีแต่คนนักเล่าเรื่อง แล้วเราก็นั่งตักเขา ก็มีผ้าคลุมผ้าขาวม้าปัดยุงให้ เราก็ฟังเรื่องเล่าอย่างอบอุ่นมาก หน้าที่เราคือวิ่งไปซื้อกาแฟอย่างเดียว กับกลัวผี เพราะว่ามันมีร่องไม้อยู่เวลาเขาเล่าน่ะ มันเอานิ้วแยงร่องขึ้นมานะ (ทำท่าเอานิ้วแยงร่องพื้นบ้าน) เราอายุไม่กี่ขวบ คุณคิดดูจินตนาการมันจะขนาดไหน แล้วเป็นแบบนี้ชั่วนาตาปี  ผมอยู่กับคนที่เป็นนักเล่าเรื่องโดยธรรมชาติ ผมก็เลยติดนิสัยมาจากญาติพี่น้องแบบนี้แหละ