สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต

สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต

“เราก็เสี่ยงนะถ้าจะทำอะไรแบบเดิมซ้ำ ๆ นิ่งอยู่กับที่โดยไม่มีความตั้งใจจะเสาะหาสิ่งใหม่ ๆ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนล่ะคนชอบฟังอะไรที่พวกเขาเคยฟังมา แต่มันไม่มีความก้าวหน้านะแบบนั้น”

       การที่คุณจะคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย สำหรับทุกคนในโลกปัจจุบัน ยุคสมัยที่ผ่านพร้อมกับพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การเสพเพลงแบบซิงเกิลได้เข้ามาแย่งพื้นที่ผลงานแบบเดิม และกลายเป็นบีบคั้นให้ศิลปินต้องฉีกกฏและธรรมชาติของตัวเองในการนำเสนอผลงานเพื่อความอยู่รอด หันมาทำเพลงเดี่ยว เพื่อการตลาดมากขึ้น

แม้การผลิตอัลบั้มออกมาท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมดนตรี อาจจะเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่ย้อนกลับไปในปี 2012 ยังมีหนึ่งวงร็อกจากเกาะอังกฤษ ที่เชื่อว่าการสร้างสรรค์ผลงานแบบเป็นอัลบั้ม คือการเล่าเรื่องที่จะบ่งบอกถึงตัวตนของศิลปินในช่วงเวลานั้น ได้ดีที่สุด พวกเขามาพร้อมกับอัลบั้มชุดที่สองของตัวเองที่ชื่อว่า Babel ผลงานที่นำเอาเครื่องดนตรีอะคูสติกอย่างแบนโจ หรืออัพไรท์เบส มาผสมผสานเข้ากับดนตรีร็อกร่วมสมัยอย่างลงตัว

สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต

       แม้ภาพรวมมันอาจจะเป็นสุ้มเสียงที่ดูเชย สำหรับโลกที่กำลังหมุนเข้าหาเทคโนโลยี แต่ผลงานชุดดังกล่าวของพวกเขาก็แสดงให้โลกเห็นว่า การทำให้เพลง 10 เพลง ออกมาลงตัวเป็นหนึ่ง คือคุณค่าและความท้าทายที่วงการเพลงต้องการ สุดท้ายอัลบั้มชุดดังกล่าวกระโดดขึ้นไปคว้าอัลบั้มยอดเยี่ยมของเวทีแกรมมี่ อวอร์ดส ในปี 2013 และทำให้ชื่อของ “Mumford & Sons” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

Mumford & Sons ที่นำโดยนักร้องนำของวง มาร์คัส มัมฟอร์ด (Marcus Mumford) เบน โลเว็ตต์ (Ben Lovett) วินสตัน มาร์แชล (Winston Marshall) และเท็ด ดเวน (Ted Dwane) ก่อตั้งวงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 และถูกจับตามองในฐานะศิลปินที่ฟื้นฟูแนวเพลงโฟล์กอังกฤษ ให้ผสมผสานเข้ากับแนวดนตรีบลูกราส โฟล์ก คันทรี และร็อก

[caption id="attachment_13732" align="aligncenter" width="705"] สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต จากซ้าย เบน โลเว็ตต์, มาร์คัส มัมฟอร์ด, วินสตัน มาร์แชล และเท็ด ดเวน[/caption]

       The People มีโอกาสคุยกับ มาร์คัส มัมฟอร์ด และเท็ด ดเวน ตัวแทนของวงในหลากหลายประเด็น ทั้งความสำคัญของมิตรภาพในวันแรกที่พวกเขาได้เจอกัน และวันที่ต้องทิ้งภาพลักษณ์เดิม เปลี่ยนแนวเพลงทั้งหมด เพื่อความก้าวหน้าของวง

The People: อัลบั้มใหม่ของคุณมีดนตรีหลายรูปแบบ และค่อนข้างแตกต่างจากอัลบั้มที่ผ่าน มา คุณมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร

มาร์คัส: พวกเราไม่ได้อยากทำอัลบั้มที่เป็นดนตรีแบบเดิมไปเรื่อย ๆ พวกเราเบื่อ เหมือนพวกสมาธิสั้นที่ต้องลองอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด ไม่ได้หยุดอยู่ที่สิ่งเดียว อย่างดนตรีพวกเราสนใจทั้ง เฮฟวี่ เมทัล แจ๊ส ป๊อป อาร์แอนด์บี ฮิปฮอป และดนตรีโฟล์ก ตอนพวกเราตั้งวงกันใหม่ ๆ พวกเรามีเครื่องดนตรีหลายประเภท จากนั้นก็สะสมเครื่องดนตรีมากขึ้นและเริ่มทำงานกับผู้คนที่ใช้เครื่องดนตรีหลากหลาย รวมถึงคนที่ใช้เครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) ด้วย ส่งผลให้หลังจากนั้น หลายครั้งตอนพวกเราไปที่สตูดิโอ เราจะไปนั่งอยู่กับเครื่องสังเคราะห์เสียงเพื่อลองหาดนตรีแบบใหม่ ๆ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำดนตรีของพวกเรา สรุปแล้ว ผมคิดว่าคงเป็นความอยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ ๆ และความตั้งใจที่จะทำดนตรีที่แตกต่างออกไป โดยที่ไม่ได้มีกรอบตั้งแต่แรกว่าอยากให้ไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นเราชอบดนตรีแบบไหนมากกว่า

The People: การทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์ระดับท็อปอย่าง พอล เอ็พเวิร์ธ เป็นอย่างไรบ้าง พวกคุณได้อะไรกลับมาจากการผนึกกำลังครั้งนี้

ดเวน: พวกเราเป็นแฟนตัวยงของเขา ที่อังกฤษเขาเป็นสมบัติของชาติเลย เขาร่วมงานกับอเดล (Adele) และวงอินดี้ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับพวกเราตอนตั้งวงใหม่ ๆ ด้วย เขาเป็นคนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานในแบบที่สนุก เป็นธรรมชาติ และเป็นคนที่น่าทำงานด้วยเพราะเขาเป็นคนที่มีพลังงานบวกสูงมาก การทำงานในสตูดิโอหลายชั่วโมงติดกัน คุณต้องการคนที่มีพลังงานแบบนั้น ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงานกับเขา พอล เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมากเลย มันไม่มีคำตอบที่ผิดอะไรทั้งนั้นกับพอลน่ะ มีแค่การค้นคว้าค้นหาไปด้วยกัน เราทำอัลบั้ม Delta เสร็จ เพราะพลังและความคิดสร้างสรรค์ของเขาล้วน

The People: ครั้งแรกที่พวกคุณได้เจอกันเป็นอย่างไร และมิตรภาพสำคัญอย่างไรต่อดนตรีของพวกคุณ

ดเวน: เราเป็นเพื่อนกันมาก่อนจะมาเป็นเพื่อนร่วมวงกันอีก เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เป็นอย่างแรก เราเล่นกับหลายวงมาก่อนที่จะมารวมกันเป็นวงนี้ เรากระตือรือร้นที่จะทำซาวนด์ที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน แล้วด้วยความสนใจดนตรีไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้คุณได้ยินซาวนด์ในแบบของ Mumford & Sons

สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต

The People: มาร์คัส คุณเรียนวรรณกรรมมา เป็นเรื่องยากไหมที่จะนำสิ่งที่คุณเรียนมา มาใช้กับการแต่งเพลง

มาร์คัส: ผมว่าง่ายนะ เพราะว่าผมมักจะใช้แรงบันดาลใจสิ่งที่ผมอ่าน บทสนทนาในชีวิต หรือแม้กระทั่งใช้ความฝันมาใส่ในเพลงของผมอยู่แล้ว และผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมดี ๆ การอ่านทำให้คุณเขียนได้ดีขึ้น และผมไม่เคยอายกับสิ่งนั้นเลย เรากลับรณรงค์เรื่องนี้ด้วยซ้ำไป

The People:  พวกคุณคิดว่ากุญแจสำคัญในการทำเพลงที่ดีอยู่ที่ตรงไหน เนื้อร้อง ทำนอง เมโลดี้ หรือจังหวะ และพวกคุณให้ความสำคัญกับการทำเพลงที่สอดรับกับตลาดดนตรีโลกขนาดไหน

มาร์คัส: ผมคิดว่าแต่ละเพลงก็มีจุดสำคัญต่างกันไป ไม่มีเพลงไหนสมบูรณ์แบบที่สุด แต่การแต่งเพลงแล้วคำนึงถึงทำนองเพลง เนื้อเพลง จังหวะ และความรู้สึกไปด้วย สามารถทำให้เกิดเพลงดี ๆ ขึ้นมาได้ ผมคิดว่าเนื้อเพลงที่ดีที่ถ่ายทอดผ่านทำนองที่ไพเราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นเพลงที่ตราตรึงใจคนอยู่เสมอ ส่วนเพลงที่ทำนองดีแต่เนื้อเพลงไม่ดี ผมไม่ค่อยกลับไปฟังเท่าไหร่

ไม่ใช่ว่าทำนองไม่สำคัญนะ แต่ยกตัวอย่างอเดล ที่เพลงของเธอประสบความสำเร็จขนาดนี้ไม่ใช่เพราะว่าทำนองดีอย่างเดียว แต่เพราะเนื้อเพลงของเธอด้วย ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราตามหาในเพลงของเรา ความรักและทำนองที่เข้ากันกับเนื้อเพลง

ดเวน: พวกเรามองว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของเพลงคือ ความตั้งใจ การทำงานเพื่อให้ได้เพลงมาก็เพื่อสนองความตั้งใจของเรา และถ่ายทอดให้ผู้คนอย่างที่เราหวังไว้มากที่สุด เพลงคือความสำเร็จสำหรับพวกเรา ถ้าอารมณ์ความรู้สึกนั้นมันสามารถแบ่งปันได้ เราไม่คิดเรื่องการค้าอะไรในสตูดิโอหรอก

The People: เอกลักษณ์เฉพาะตัวของวงทำให้พวกคุณประสบความสำเร็จมาก แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของวง ซึ่งในขณะนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงพอสมควร ทำไมพวกคุณถึงตัดสินใจอย่างนั้น

ดเวน: ตอนนั้นพวกเราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เราอัดเพลงไป 2 อัลบั้มและหลังจากที่พวกเราเสร็จจากทัวร์ของอัลบั้มที่สอง พวกเราไม่ได้คิดว่าควรจะเป็นอย่างไรต่อไป พวกเราแค่อยากจะทดลองสิ่งใหม่ ๆ พวกเราไม่อยากทำอะไรเดิม ๆ ไม่มีประโยชน์ที่จะทำอะไรซ้ำเดิม และยิ่งเรามีโปรดิวเซอร์เก่ง ๆ อย่างเจมส์ ฟอร์ด (James Ford) พวกเรายิ่งต้องไม่พลาดโอกาสนี้ ตอนนี้พวกเรามีอิสระที่จะสร้างสรรค์ผลงานในแบบที่เราต้องการ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเรา สิ่งที่เราทำในตอนนั้นอาจจะดูบ้าในสายตาของคนอื่น แต่สำหรับพวกเราแล้ว นั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พวกเราควรทำ

The People: แฟน ๆ หลายคนยังติดภาพพวกคุณในฐานะวงโฟล์กร็อก ที่มีสุ้มเสียงของดนตรีอะคูสติกเป็นส่วนประกอบสำคัญ แม้ปัจจุบันพวกคุณกำลังก้าวเดินต่อไปในทางใหม่ ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีแฟนเพลงบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสไตล์ใหม่ของพวกคุณเท่าไหร่

ดเวน: ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้วที่อัลบั้มส่วนใหญ่ก็มักจะได้ความเห็น ความรู้สึกต่าง ๆ ปน ๆ กันไปจากแฟน ๆ แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาก็ดูจะโอเคกับมัน ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นหลังจากได้ดูโชว์แล้ว ในอีกมุมหนึ่งเราก็เสี่ยงนะถ้าจะทำอะไรแบบเดิมซ้ำ ๆ นิ่งอยู่กับที่โดยไม่มีความตั้งใจจะเสาะหาสิ่งใหม่ ๆ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนล่ะคนชอบฟังอะไรที่พวกเขาเคยฟังมา แต่มันไม่มีความก้าวหน้านะแบบนั้น

[caption id="attachment_13731" align="aligncenter" width="1024"] สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต Babel[/caption]

The People: มีแอบคิดถึงมันบ้างไหม

มาร์คัส: เราเล่นเพลงนั้นทุกคืน เราเลยไม่รู้สึกว่ามันหายไปจากชีวิตเรา ตอนนี้เราแค่เพิ่มเพลงเข้าไปในลิสต์ของเรามากกว่า กลายเป็นลิสต์เท่ ๆ ที่มีความหลากหลาย ทำให้โชว์มีความแตกต่าง ดีกว่าเล่นเพลงเดิมตลอด

The People: เพลงของคุณทำให้คนฟังรู้สึกถึงความรัก ความหวัง หรือแม้กระทั่งการสูญเสีย ในฐานะนักแต่งเพลง คุณคิดว่าดนตรีมีความหมายกับคุณอย่างไร

มาร์คัส: ผมคิดว่าดนตรีให้โอกาสคุณได้พูดในสิ่งที่ปกติคุณไม่ได้พูดถึง หลายครั้งคุณรู้สึกสบายใจที่จะร้องออกมามากกว่า มันน่าแปลกเหมือนกันว่าไหม ดนตรีจึงกลายเป็นที่ที่คุณได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่คุณไม่เคยนึกถึงมาก่อน นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเรารักดนตรีมาก ดนตรียังเป็นเหมือนเพลงประกอบชีวิตด้วยนะ ถ้าคุณนึกถึงช่วงเวลาแห่งความยินดีอย่าง วันเกิด วันแต่งงาน วันที่ได้งานใหม่ เรามักจะนึกถึงดนตรีหรือเพลงบางเพลงไปด้วย ตอนที่ผมไปเที่ยวกับครอบครัว ผมจำได้ดีเลยว่าตอนนั้นเราฟังเพลงอะไรกัน การได้ทำดนตรีก็เหมือนการได้มีอภิสิทธิ์ที่จะสร้างเพลงประกอบชีวิตของใครหลายคน พวกเราไม่อยากจะมองข้ามจุดนั้น แต่ก็ไม่อยากจะซีเรียสกับตรงนั้นมากเกินไป กำลังพยายามหาจุดตรงกลางอยู่

ดเวน: ความหวังสูงสุดของเรา คือการทำให้คนได้รับข้อความของเราผ่านเพลงเหล่านี้ ได้รับความรู้สึกที่พวกเราส่งต่อไปให้ เรารักการทำเพลงมาก และการที่เห็นแฟน ได้รับผลกระทบจากเพลงของเรา มันเป็นอะไรที่เราดีใจมากจริง

The People: เทคโนโลยีที่กำลังเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อย ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในวงการดนตรี หลากหลายทฤษฎีเกิดขึ้น โดยเฉพาะคำถามที่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้จริงหรือ

ดเวน: ผมคิดว่าเพลงก็สามารถแต่งโดยเครื่องจักรกลได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือพลังของความรู้สึกที่ส่งผ่านดนตรีมันคือเวทมนตร์ มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นมาได้แน่นอน

The People: หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญคือการให้บริการสตรีมมิ่ง ที่เข้ามาปฏิวัติพฤติกรรมการฟังเพลงของทุกคนอย่างสิ้นเชิง ส่วนตัวในฐานะศิลปินที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญจาก physical สู่ดิจิทัล พวกคุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ดเวน: นิสัยของมนุษย์เรามักจะชอบความสะดวกสบาย ตอนนี้ใคร ๆ ก็ใช้สตรีมมิ่ง และมันก็โอเค แต่แค่คนที่ทำสตรีมมิ่งต้องให้ความสำคัญกับนักดนตรีอยู่เสมอ เมื่อก่อตั้งธุรกิจแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าหากไม่มีนักดนตรีก็คงไม่มีสตรีมมิ่งหรอก ส่วนตัวผมชอบการได้สะสมแผ่นเสียง แผ่นซีดี และผมยังซื้อสิ่งเหล่านั้นอยู่ แต่ขณะเดียวกันผมก็ใช้ Spotify เพราะความสะดวกสบายยังคงเป็นสิ่งสำคัญในสังคมเรา เราสามารถฟังเพลงและหาเพลงทุกรูปแบบได้อย่างง่าย ๆ จาก Spotify ดนตรีที่ผมเคยต้องจ่ายแพง ๆ สมัยเด็ก ตอนนี้สามารถหาได้ง่ายหมดแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ในด้านธุรกิจอาจจะยังถือว่าเป็นเส้นทางใหม่ที่ผมหวังว่าเขาจะสามารถหาทางช่วยสนับสนุนศิลปินใหม่ ๆ ได้ในอนาคต

มาร์คัส: ผมคิดว่าถ้าไม่มีสตรีมมิ่ง วงการดนตรีของไม่เป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ผมคิดว่ามันเกิดมาจากความต้องการของคนนี่แหละ แต่ผมก็ยังสะสมแผ่นเสียงอยู่เพราะว่าผมชอบการที่ได้หยิบเพลงที่ผมชอบออกมาจากชั้น ใส่เครื่อง แล้วกด play ด้วยตัวเอง

สัมภาษณ์ Mumford & Sons วงร็อกเจ้าของรางวัลแกรมมี่ กับวันที่ดนตรีเปลี่ยนชีวิต

The People: คุณจำได้ไหมว่าอัลบั้มไหนเป็นแรงบันดาลใจที่เปลี่ยนชีวิตคุณ

มาร์คัส: อัลบั้มของไมลส์ เดวิส (Miles Davis) อัลบั้ม Kind of Blue, The Miseducation of Lauryn Hill ของ ลอรีน ฮิลล์ (Lauryn Hill) และอัลบั้ม Hell to the Thief ของ Radiohead เป็นสามอัลบั้มที่เปลี่ยนชีวิตผมตอนวัยรุ่น

ดเวน: สำหรับผมคงเป็นอัลบั้ม One Hot Minute ของ Red Hot Chili Peppers และเพลงของจิมี่ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) ก็เจ๋งเหมือนกัน ผมไล่ฟังทุกเพลงของเขาเลยตอนผมเพิ่งรู้จักเขาใหม่ ๆ ตอนผมยังเด็ก ๆ ผมตื่นเต้นมากตอนฟังครั้งแรก

The People: ถ้าถามว่าช่วงเวลาสำคัญที่สุดของพวกคุณคือตอนไหน หลายคนอาจจะเดากันว่ามันคือตอนที่พวกคุณได้รางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจากเวทีแกรมมี่ อวอร์ดส แต่สำหรับพวกคุณมันคือช่วงเวลาไหน

ดเวน: ในฐานะที่เรามาจากอังกฤษ และเป็นวงอังกฤษ การได้ไปเล่นที่งานเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรี เป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่สุด ๆ สำหรับพวกเรา เราได้รับเกียรตินั้นตอนปี 2013 และจะไม่มีวันลืมเลย

The People: คุณได้ลองชิมอาหารไทยหรือยัง

มาร์คัส: พวกเราไปทานร้านเจ๊ไฝมา ผัดขี้เมา แกงเผ็ด บล็อคโคลี่ ทุกอย่างอร่อยมาก ผมชอบอาหารไทยมาก ที่ลอนดอนมีคนไทยเยอะและมีร้านอาหารไทยอร่อย ๆ อยู่บ้าง แต่การได้มากินที่เจ๊ไฝเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมาก

The People: นี่คือโชว์แรกของพวกคุณในประเทศไทย อยากให้พวกคุณทิ้งท้ายอะไรถึงแฟนเพลงชาวไทยสักเล็กน้อย

ดเวน: เราอยากมาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทยมานานมากแล้ว และเราตื่นเต้นกันมาก ที่จะได้เห็นกรุงเทพฯ และเจอผู้คน ต้องขอโทษที่ให้รอนานนะ

มาร์คัส: ขอบคุณแฟน ๆ ทุกคนที่ทำให้เราได้มาที่นี่ ขอโทษด้วยที่ทำให้ทุกคนต้องรอนาน ครั้งนี้เราได้มาเจอแฟนคลับชาวไทยแล้ว และพวกเราหวังว่าจะได้กลับมาอีก นี่จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น พวกเราดีใจและตื่นเต้นมาก

 

Mumford & Sons เปิดคอนเสิร์ตในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 2019