'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน

“ผมฟังเล่มนี้แล้วอร่อยจัง” ข้อความโย้เย้ที่ปรากฏบนโน้ตพร้อมภาพประกอบระบายสีตามประสาเด็ก โน้ตแผ่นนี้แปะอยู่บนหนังสือ ‘ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต’ เด่นอยู่ในร้าน หากลงรายละเอียดที่ร้านนี้จริง ๆ นอกจากโน้ตดังกล่าวที่เขียนรีวิวหนังสือมาจากคนอ่านแล้ว ยังมีโน้ตอีกมากมายที่เขียนสั้น ๆ เพื่อช่วยแนะนำหนังสือมากมายในร้านซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งละอันพันละน้อยในความเอาใจใส่ลูกค้าของเจ้าของร้าน ร้านหนังสือไม่ใช่เพียงแต่ขายหนังสือ นี่คงเป็นก้อนความคิดที่เจ้าของมีต่อร้านตัวเองกระมัง มองไปทั่วร้าน ยังมีโปสต์การ์ดหลากสีสันจากทั่วทุกสารทิศแปะเรียงรายอยู่ข้างฝาผนัง นักอ่านที่เคยสัญจรไปมาล้วนแต่ส่งความคิดถึงมายังร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งนี้ กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นลอยมาจากเครื่องชงหลังเคาน์เตอร์ การมีส่วนร่วมแบ่งปันจากนักอ่านไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้บ่อย ๆ ในร้านหนังสือทั่วไป แต่ที่นี่ สิ่งเหล่านี้คือตัวตนของร้านที่ไม่มีใครเหมือน จนผู้มาเยือนจากต่างแดนรายหนึ่งยังยกให้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็น ‘โอเอซิสแห่งเดียวในกรุงเทพฯ’ อะไรคือกุญแจที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ครองใจผู้คนนับไม่ถ้วนมายาวนานกว่า 20 ปี? เราคงไม่สามารถให้คำตอบได้ดีเท่า ‘หนุ่ม’ อำนาจ รัตนมณี นักอ่านผู้ยอมเสี่ยงโชคเพื่อทำตามความฝันฉบับคนรักในตัวหนังสือ และลงแรงสรรสร้างร้านหนังสืออิสระน้อย ๆ ที่มีชื่อชวนคิดว่า ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ (Passport Bookshop) แม้จะลงหลักปักฐานจนมั่นคง แต่ความท้าทายใหม่ก็รอคอยร้านหนังสือแห่งนี้อยู่ เมื่อสถานีรถไฟที่ก่อสร้างกำลังเรียกคืนพื้นที่ย่านถนนพระสุเมรุ ทำให้ร้านต้องย้ายจากพื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง The People ขอพาไปสนทนาในกลิ่นอายกระดาษภายในร้านกับ ‘หนุ่ม’ อำนาจ รัตนมณี ในหลากหลายประเด็น ทบทวนจุดเริ่มตั้งแต่การทำงานองค์กรระหว่างประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือที่ใส่ใจทุกรายละเอียด หนังสือหลายเล่มมีโน้ตแนะนำสั้น ๆ แต่อบอุ่นให้รู้ว่าเจ้าของร้านเป็นเพื่อนคู่คิดในการอ่านหนังสือ เรื่องราวของโปสต์การ์ดมากมายจากนักอ่านที่ยังคงคิดถึงร้านแม้ตัวจะอยู่แดนไกล ไปจนถึงแผนการย้ายของร้าน และอนาคตของร้านหนังสืออิสระในไทย   The People : ก่อนจะมาทำร้านหนังสือ เคยทำอะไรมาก่อน ก่อนที่จะมาทำร้าน พี่ทำงานประจำในองค์กรระหว่างประเทศที่หนึ่ง ทำอยู่ประมาณ 3-4 ปี ตอนที่ทำงานองค์กรต่างประเทศจริง ๆ ก็แฮปปี้อยู่กับหน้าที่การงานแหละ แต่มันเกิดคำถามแล้วก็แอบถามตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้าเราไม่ทำงานประจำ มันมีทางเลือกอื่นให้เรามีชีวิตอยู่ต่ออีกได้ไหม หรือว่าการทำงานประจำมันเป็นทางเลือกเดียวในชีวิตคนหรือเปล่า คำถามนี้มันเกิดขึ้นมายังไง สำหรับพี่เนี่ยพี่รู้สึกว่าพี่มีภาพเปรียบเทียบของไลฟ์สไตล์ของผู้คนระหว่างคนในจังหวัดอื่นกับคนในกรุงเทพฯ พี่เองเติบโตมาจากต่างจังหวัด เป็นคนจังหวัดสงขลา ทีนี้พอเข้าสู่ชีวิตการทำงานในกรุงเทพหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย พี่รู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมคนในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย แค่ 4-5 โมงเย็น เขาสามารถกลับถึงบ้านได้แล้ว พอ 6 โมงก็อยู่กับครอบครัวได้ แต่ว่าเราเวลาอยู่ในเมืองหลวง เราออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่สว่าง กลับบ้านก็มืดแล้ว มันมีวิธีมีชีวิตรูปแบบอื่นหรือเปล่า คำถามมันเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ แค่นี้ แต่พอมันถามตัวเองบ่อย ๆ พี่ก็ตอบตัวเองว่าเฮ้ย พี่ต้องหาทางเปลี่ยนแปลงแล้วแหละ มันเริ่มจากแค่นิดเดียวเองครับ ทีนี้คำว่าเปลี่ยนแปลงของพี่มันก็นำมาสู่อีกสิ่งหนึ่ง ก็คือพี่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ โดยบุคลิกดั้งเดิมเป็นคนที่อ่านหนังสือมาตลอด พอไม่ได้อยู่ที่บ้านที่จังหวัดสงขลา สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายก็คือหนังสือ ทีนี้หลายสิ่งหลายอย่างจากการอ่านมันก็ตะล่อม ๆ เรา แล้วพี่มาเจอประโยคหนึ่งจากหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือที่เขียนโดยนักเขียนละตินอเมริกา Paulo​ Coelho พี่ก็เล่าให้หลายคนฟังเรื่องนี้ หนังสือชื่อ ‘The Alchemist’ ภาษาไทยก็แปลว่า ‘ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน’ จริง ๆ พี่มีอยู่กับตัวนะครับ เล่มที่เปลี่ยนก็คือเล่มนี้ อันนี้คือเวอร์ชั่นพิมพ์แรก ๆ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นคนแปล มันมีประเด็นหนึ่งแล้วก็ประโยคหนึ่งเป็น motto หลักที่มันทำให้ชีวิตพี่กล้าเปลี่ยนแปลงก็คือว่า “คนเราควรจะใช้ชีวิตให้เป็นตำนานส่วนตัวของตัวเอง” ประโยคนี้ประโยคเดียว ใช้ชีวิตให้เป็นตำนานส่วนตัวของตัวเอง มันหมายความว่าอะไร มันหมายความว่าเราทุกคนถึงวันหนึ่งมองย้อนกลับไป เราน่าจะตอบตัวเองได้ว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นคือชีวิตที่ฉันภูมิใจที่ได้ใช้มาหรือเปล่า เป็นชีวิตที่ฉันดีใจว่าใช้มันเต็มที่หรือยัง ประกอบกับว่าพอมามีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้น มันมีจังหวะที่มาลงตัวคือว่าพี่ไปเจอเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งแถวถนนพระอาทิตย์ เขาก็บอกว่ามันมีที่ว่างแถวถนนพระอาทิตย์นะ สนใจเอาไปทำอะไรไหม พี่ก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ยมันน่าสนใจจัง แทนที่จะต้องรออีก 4-5 ปี ทำไมไม่มาลองดูตอนนี้ล่ะ ถ้าลองดูตอนนี้ถ้ามันไม่ใช่พี่ก็จะได้ปิดประตูความฝันนั้นไปเลย จะได้เดินอีกเส้นทางหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ถ้ามันใช่ มันเจอก่อนมันไม่ดีกว่าหรือ หรือถ้าเกิดพี่ต้องไปทนทำอะไรบางอย่างที่พี่ไม่มีความสุข ทำไมพี่ไม่มาทนทำในสิ่งที่พี่ทำแล้วพี่มีความสุขล่ะ มันมีประเด็นเหล่านี้ค่อย ๆ ตะล่อมพี่ ๆ จนไปคุยกับแฟนพี่ ว่าถ้ามันมีโอกาสอย่างนี้เราลองมาทำอะไรดูไหม ก็เลยกลายเป็นร้านหนังสือเดินทางขึ้นมา 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : ทำไมถึงเลือกคอนเซปต์ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ทีนี้ทำไมมันกลายเป็นร้านหนังสือเดินทาง ทำไมไม่เป็นร้านขายหนังสือประเภทอื่น พี่ก็ต้องคิดให้ลึกลงไปอีกนิดหนึ่ง มันมีปัจจัยที่พี่ต้องเอามาประกอบการตัดสินใจ 2 แบบ ก็คือว่าหนึ่งคือปัจจัยข้างนอกเอง ธุรกิจหนังสือโดยรวมกับปัจจัยข้างในตัวพี่เอง พี่ไม่เคยมีความรู้เรื่องธุรกิจหนังสือในประเทศไทยมาก่อน ก่อนที่จะทำร้านหนังสือ ต้นทุนเดียวที่พี่มีก็คือว่าพี่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ มันอาจจะทำให้พี่พอที่จะรู้อยู่บ้างมั้งว่าหนังสือเล่มนี้ใครเขียน นอกจากเขาเขียนเล่มนี้แล้วเขามีเล่มไหนอีกอะไรเหล่านี้แค่นี้เองครับ เพียงแต่ว่าแค่นี้เองมันก็อาจจะเป็นทั้งจุดดีทั้งจุดด้อยก็ได้ ถ้ามองจุดดีก็คือพอไม่รู้มันก็เลยไม่กลัว มันพร้อมที่จะวิ่งชน พอมาได้ตรงนี้มา พี่ก็เลยมาถามตัวเองให้ลึกอีกสักนิดหนึ่งว่า ถ้าเกิดพี่จะทำร้านหนังสือพี่ควรจะทำร้านหนังสือประเภทไหนดี พี่ก็มาดูเชลฟ์หนังสือที่ชอบอ่าน ก็เลยสรุปได้อย่างหนึ่งคือหนังสือที่พี่อ่านส่วนใหญ่มันมีธีมบางอย่างใกล้เคียงกัน มันคือคำว่า ‘เดินทาง’ แต่ว่าเดินทางของพี่มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเดินทางท่องเที่ยว บางทีหนังสือที่อ่านนอกจากหนังสือที่เป็นบันทึกการเดินทาง เป็นสารคดี มันยังมีเรื่องราวทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับประเทศนั้น ทำไมเขาถึงมีความเชื่ออย่างนี้ ทำไมประเพณีอย่างนั้นถึงเกิดขึ้น ทำไมการเมืองถึงเป็นอย่างนี้ แล้วมันพาไปสู่หนังสืออีกหลายประเภท มันเหมือนกับว่าสุดท้ายแล้วพี่มองการเดินทางไปอีกประมาณสัก 2-3 สเต็ป หนึ่งก็คือว่าหนังสือที่กระตุ้นให้คุณอยากเดินทาง สองก็คือหนังสือที่ให้ข้อมูลคุณ สามก็คือคุณไปแล้วคุณอยากรู้ว่าทำไมเขาเป็นอย่างนั้น ก็จัดเป็นหนังสือหมวดหนึ่ง มันก็เลยนำมาสู่ข้อสรุปว่า ถ้างั้นถ้าเราจะทำร้านหนังสือ เราคงไม่สามารถแข่งกับธุรกิจเจ้าอื่นได้หรอก เราไม่สามารถแข่งกับนายอินทร์ ไม่สามารถแข่งกับซีเอ็ด ไม่สามารถแข่งกับ chain store ทั้งหลายได้ ถ้าเราจะต้องทำร้านหนังสือ หนึ่งคือเราต้องเฉพาะทาง แฟนพี่ก็บอกถ้าเราเล็ก เราจำเป็นต้องลึก แทนที่จะแข่งกันในเชิงปริมาณ มันอาจจะต้องมาใส่ใจเรื่องคุณภาพ มันก็เลยกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของร้านหนังสือเดินทางอย่างที่เห็น พี่เลยรู้สึกว่า เออถ้างั้นถ้าพี่ทำร้านสักร้านหนึ่ง พี่จะเอาคำว่าหนังสือเดินทางนี้แหละเป็นธีม อยากให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกมีแรงบันดาลใจ ได้รับ inspired ให้เขาอยากออกไปสู่โลกกว้าง ออกไปสู่อะไรสักอย่างหนึ่งที่มันต่างจากเดิม ส่วนเขาไปแล้วเขารู้สึกอยากรู้อยากเห็นมากกว่าเดิม พี่ก็จะมีหนังสืออีกไม่น้อยที่จะคอยเติมเต็มตรงนั้นให้เขา อันนี้อาจจะเรียกว่าเป็นสารตั้งต้น เป็นภาพเริ่มต้นของสิ่งที่เราอยู่ สิ่งที่เราเห็นว่าร้านหนังสือเดินทางได้คอนเซ็ปต์เหล่านั้นมายังไง 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : กลัวคนเข้าใจชื่อร้านผิดบ้างไหม จริง ๆ สาเหตุที่ตั้งชื่อว่าร้านหนังสือเดินทาง เป็นความตั้งใจเลือกชื่อที่มันมีความหมายได้มากกว่าหนึ่ง ตอนพี่หาชื่อกันก็มีชื่อมากมายขึ้นมา แต่ว่าไม่ชอบเท่าคำนี้ ทำไมถึงชอบคำว่าหนังสือเดินทาง ถ้ามองเป็นประโยคหนึ่ง หนังสือเป็นประธาน เดินทางเป็นกริยา อันนั้นก็อาจจะมีความหมายหนึ่ง หรือว่าหนังสือเดินทางที่หมายถึงการเดินทางในโลกของตัวหนังสือก็เป็นไปได้ คือไม่จำเป็นต้องออกไปสู่ข้างนอก แค่การนั่งอ่านหนังสือมันก็คือการเดินทางลักษณะหนึ่ง หรือแม้แต่หนังสือเดินทางที่แปลว่า passport นั่นคือสาเหตุที่ทำไมร้านตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า passport พาสปอร์ตจำเป็นต่อการเดินทางฉันใด การมาร้านหนังสือเดินทาง พี่ก็เชื่อว่าลูกค้าน่าจะได้แรงบันดาลใจ ได้ข้อมูลซึ่งมีความจำเป็นพอ ๆ กับพาสปอร์ตฉันนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าแน่นอนมันนำมาสู่เรื่องราวตลก ๆ มากมาย ปีแรก ๆ มีฝรั่งแบกเป้พุ่งพรวดเข้ามาในร้าน เฮ้ย ฉันจะทำวีซ่ามีอะไรแนะนำไหม หรือฉันจะต่ออายุพาสปอร์ตต้องทำอะไรดี แม้แต่คนไทย บางทีมีพระสงฆ์โทรมา ฮัลโหล อาตมาจะข้ามไปลาวต้องใช้พาสปอร์ตประเภทไหน สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น มันนำมาสู่จุดเริ่มต้นของบทสนทนากันและกัน ที่ร้านต้องมีเบอร์กรมหนังสือเดินทางติดไว้ตรงนี้ ก็คือโอเคอาจจะโทรมาผิดนะครับ แต่โทรไปที่นี่ได้ การที่เขามาหาเราแล้วจะไปทำไมครับประเทศนู้นประเทศนี้ มันก็นำมาสู่บทสนทนาที่มากกว่านั้น อันนั้นพี่ว่ามันเป็นชื่อที่ทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่ชื่อ มันเป็นตัวจุดชนวนให้มันมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ซึ่งพี่ว่านี่แหละคือเสน่ห์บางอย่างของสิ่งที่เราเรียกว่าร้านหนังสืออิสระ พี่เคยเจอฝรั่งคนหนึ่งเขาบอกว่านี่คือโอเอซิสแห่งเดียวในกรุงเทพฯสำหรับเขาอะไรประมาณนี้ พี่รู้สึกว่าในมุมหนึ่งมันก็น่าสนใจ แต่ขึ้นอยู่กับว่าร้านแต่ละร้านจะกล้าที่จะเซ็ตคอนเซ็ปต์แบบนั้นไหม   The People : เจอปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงอะไรในแวดวงหนังสือบ้าง จริง ๆ พี่ว่าถ้าจะมองว่าแวดวงหนังสือมีปัญหาไหม มันแล้วแต่คนจะมอง แวดวงหนังสือมีปัญหามากมายให้คุณนับได้ แต่ถ้าคิดว่ามันคือความท้าทาย มันคือหน้าที่ของเรา ตอนที่พี่เริ่มต้นทำร้านหนังสือ สิ่งหนึ่งที่พี่รู้สึกว่าตอนนั้นมันเห็นชัด แล้วก็รู้สึกชัดด้วยว่าสิ่งที่คนเป็นห่วงคืออะไร สิ่งที่คนเป็นห่วงก็คือว่าทุกคนเชื่อว่าคนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่ไม่เข้มแข็ง พูดกันอีกแบบให้ชัดเจนมันคือคนไทยอ่านหนังสือน้อย ทีนี้ถ้าคุณมาทำธุรกิจเพื่อขายลูกค้าจำนวนน้อย หลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะรอด พี่ก็ตระหนักว่าเอาเข้าจริงคนไทยเราก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งนะ แต่เราจำเป็นต้องทำให้มันเข้มแข็งขึ้นหรือเปล่า ตรงนี้พี่กลับมองอีกแบบหนึ่ง พี่รู้สึกว่าถ้ามันอ่อนแอ เราต้องหาทางทำให้มันเข้มแข็งขึ้นสิ พี่ถึงบอกว่ามองว่ามันเป็นปัญหาไหม มันเป็นปัญหา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองปัญหานี้ยังไง สำหรับพี่มองว่าถ้าอ่านกันน้อย พี่ก็อยากจะสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนอ่านกันเยอะ ทีนี้ 20 ปีผ่านไป อีกปัญหาหนึ่งตอนนี้ก็คือว่าเอาเข้าจริงโลกออนไลน์ มันเอาเวลาของคนไปอีกรูปแบบหนึ่ง อันนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนใช้เวลากับหนังสือที่เป็น printed media น้อยลง แล้วนั่นเป็นปัญหาไหม พี่คิดว่าถ้าเรามองแค่ในเชิงตัวเลขทางธุรกิจก็น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเราคิดหรือว่าเรายังเชื่อว่าหนังสือที่มันเป็นเล่ม ๆ มันยังมีข้อมูลมันมีคอนเทนต์อีกลักษณะหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนมันดีขึ้นได้ มันก็จะทำให้เราเกิดความมุ่งมั่น ความพยายามที่จะส่งทอดสิ่งเหล่านี้อยู่ ซึ่งคนที่ยังอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ ก็ยังมีอยู่ไม่น้อย อันนี้มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือกับมันยังไง หรือแม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ พี่คุยกับบางคนว่าร้านมีช่องทางการขายออนไลน์หรือเปล่า ตอนนี้ว่ากันตามตรง ทั้งนักเขียน ทั้งสายส่ง ทั้งสำนักพิมพ์ ทำหน้าที่เป็นนักขายหมดเลย แล้วก็ขายออนไลน์กันด้วย ขายแบบมี ส่วนลดด้วย ซึ่งหน้าร้านอย่างพี่แทบจะให้ส่วนลดไม่ได้ด้วยซ้ำไป พี่ถึงบอกว่าถ้ามองแค่ตัวเลขทางธุรกิจก็ถือว่าเป็นปัญหา แต่สำหรับพี่พี่รู้สึกว่าพี่เริ่มต้นทำร้านหนังสือเพราะพี่เชื่อในพลังของหนังสือมากกว่า พี่เชื่อว่าการอ่านหนังสือดี ๆ การได้เสพคอนเทนต์ดี ๆ มันจะทำให้คนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาได้ พอพี่คิดอย่างนั้น สำหรับหนังสือเป็นเล่มพี่เลยคิดว่าซื้อช่องทางไหนก็ได้ ตราบใดที่คนยังซื้อไปอ่าน พี่โอเคหมดเลย ไม่จำเป็นต้องซื้อผ่านพี่ก็ได้ ซื้อผ่านสายส่ง ผ่านสำนักพิมพ์ก็ได้ ตราบใดที่คนซื้อไปอ่านยังแฮปปี้ พี่ไม่ได้ถือว่าเราเป็นคู่แข่ง พี่กลับมองว่าคนเหล่านั้นคือคนที่ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการบริโภคหนังสือเล่มให้มันเข้มข้นมากขึ้นด้วยซ้ำไป อาศัยร้านเดียวมันคงไม่เพียงพอ อาศัยสำนักพิมพ์ที่เดียวคงไม่เพียงพอ อย่างคนที่ทำ podcast พี่ว่าเขาก็เก่ง เขามีทักษะ หลายคนฟัง podcast หาซื้อไม่ได้เลยมาซื้อที่ร้านก็มี คนมาซื้อที่ร้านเห็นหนังสือมากมายที่ podcast ไม่มี ก็มี อย่างน้อยพี่ว่ามันทำให้สังคมมีทางเลือก ซึ่งอันนี้พี่ว่าเป็นสิ่งที่ดี สำหรับพี่เองพี่ค่อนข้างชื่นชมสิ่งเหล่านี้ แล้วก็อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป ส่วนประเภทของหนังสือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พี่รู้สึกว่ามีลักษณะแตกต่างกันไป ตอนนี้หนังสือเดินทางที่เป็นหนังสือเดินทางจริง ๆ โดยเฉพาะพวกไกด์บุ๊กพวกนี้ ไม่มีตลาดสำหรับคุณอีกแล้ว คอนเทนต์ที่เป็นรีวิวมันไปอยู่บนโลกออนไลน์หมดแล้ว เป็นไกด์บุ๊กไม่มีที่ยืนให้คุณอีกแล้ว เพราะว่าเอาเข้าจริง YouTuber ก็ทำหน้าที่นั้นได้หมดแล้ว หนังสือเดินทางหรือพวกสารคดีที่ยังคงอยู่ได้ ก็คือเป็นประสบการณ์การเดินทางที่มันไม่เหมือนใคร ที่ต้องอ่านเท่านั้นถึงจะได้สัมผัสประสบการณ์นั้น ๆ ถ้าเขียนแค่รีวิวอันนี้มันสู้ออนไลน์ไม่ได้ 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนอ่านอย่างไรบ้าง พี่ตอบได้ว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พี่เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนอ่านอย่างไรบ้าง มี 2 ลักษณะ ถ้าให้พี่ตอบในฐานะคนขาย หนึ่ง-คนที่เคยอ่านหนังสือมาก่อนก็ยังอ่านหนังสืออยู่ ถ้าคุณเคยอ่านมาก่อน หลายคนตอนนี้เข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน มีครอบครัว มีลูก มีครอบครัวขยายขึ้น ไม่ได้อยู่คนเดียวอีกแล้ว หลายคนที่เคยเป็นนักอ่าน ตอนนี้เขาก็ยังเป็นนักอ่านอยู่ และเขาสามารถส่งทอดสิ่งเหล่านั้นให้ลูกเขาได้ด้วย ตรงข้ามกันครอบครัวที่ไม่เคยเป็นนักอ่าน ก็ยากมากที่ลูกจะอ่านหนังสือ พี่เจอคำถามมากมายจากลูกค้าจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ทำยังไงดีลูกถึงจะอ่านหนังสือ ถามย้อนกลับไปนิดหนึ่งแล้วคุณพ่อคุณแม่อ่านไหมครับ คำตอบคือไม่ คือถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เห็นความสำคัญตรงนั้น ไม่ได้สร้างตัวอย่างให้ลูกเห็น พี่ว่ามันก็ยากที่ลูกจะอ่าน พี่ว่านักอ่านที่เคยอ่านยังไงเขาก็อ่านต่อไป เขารู้ว่าถ้าจะเสพสื่อจากหนังสือเขาจะได้คอนเทนต์ประเภทไหน เขาจะเสพสื่อออนไลน์เขาจะได้คอนเทนต์ประเภทไหน ถ้าเขาเคยอ่านเขาก็ยังอ่าน ส่วนในเชิงประเภทของหนังสือ พี่คิดว่าทุกวันนี้สำหรับร้านพี่ non-fiction ขายดีกว่า fiction หนังสือที่มีกลิ่นอายของความเป็นวิชาการ แต่เป็นงานวิชาการที่ไม่ได้เขียนมาเพื่อให้นักวิชาการด้วยกันอ่าน เป็นงานที่เขียนมาเพื่อให้คนทั่วไปได้อ่าน นั่นเป็นตลาดเรียกว่าเป็นตลาดหนังสือขนาดใหญ่ด้วยซ้ำไป นั่นเป็นหนังสือส่วนใหญ่ที่ร้านหนังสือเดินทางขายอยู่ ซึ่งน่าเสียดายก็คือว่าส่วนใหญ่มันเป็นหนังสือแปล ถ้ามองอีกด้านหนึ่งที่ว่านักเขียนไทยสามารถสร้างตรงนี้ขึ้นได้ก็น่าสนใจ แล้วหลายสำนักพิมพ์ที่ยืนอยู่ได้ด้วยหนังสือแปลเหล่านี้ 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : เพราะหนังสือปกหนึ่งมีแปลหลายเวอร์ชั่นหรือเปล่า พี่ว่าหนังสือแปลอย่าง ‘เจ้าชายน้อย’ มีแปลกันตั้งหลายสำนักพิมพ์ คือมันอาจจะเข้าใจได้ว่าในมุมของสำนักพิมพ์เขามองว่าถ้าหนังสือมันเป็นที่รู้จักดี หนังสืออย่างนี้ยังไงพิมพ์ออกมามันก็มีคนซื้อ ในเชิงธุรกิจมันตอบโจทย์ได้ อันนั้นก็เข้าใจมันน่าจะมีความเสี่ยงต่ำกว่า พี่เคยเล่าเรื่องเหล่านี้ให้นักเขียนอีกคนหนึ่งฟังว่า ตอนนี้ตลาดหนังสือเป็นตลาดหนังสือแปลนะ พี่แกพูดคำหนึ่งที่พี่ว่าน่าสนใจก็คือ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปนักเขียนไทยลำบาก เพราะเท่ากับว่านักเขียนไทยเท่าที่เขียนงานออกมาตอนนี้ คุณต้องสู้กับงานของนักเขียนทั้งโลก เพราะคุณเขียนออกมาคุณสู้นักเขียนจากอเมริกา จากอังกฤษได้ไหม เพราะเขาแปลกันหมดแล้ว ถ้าจะให้นักอ่านไทยกลับมาอ่าน คุณก็ต้องไปให้ไกลกว่าสิ่งเหล่านั้น มองในแง่หนึ่งมันก็เป็นข้อดีนะ มันก็ทำให้คนทำงานเองก็ต้องอัพตัวเองขึ้นมาอีกสเกลหนึ่ง แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งมันก็น่าเสียดายจังเลยที่งานของนักเขียนไทยไม่ได้มีส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่   The People : กลุ่มลูกค้าประจำจะมีบุคลิกประมาณไหน พี่ว่ามีบุคลิกคล้ายกันอยู่ แล้วก็ช่วงวัยมีตั้งแต่เด็กยันวัยชราแล้วตอนนี้ ไม่ใช่วัยกลางคนไม่ใช่นักศึกษาแล้ว มีตั้งแต่เด็กจริง ๆ ยันถึงแบบลูกค้าเสียชีวิตไปก็มี แล้วคนที่เคยมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ตอนนี้มีลูกมีครอบครัว แยกกับครอบครัวก็ยังมี ก็ยังกลับมา ช่วงวัยของลูกค้าถือว่าครบทุกช่วงแล้ว แต่ว่าบุคลิกลักษณะพี่ว่าอาจจะมีบางอย่างร่วมกันอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน คือถ้าพูดว่าเป็นคนที่ใฝ่รู้มันก็อาจจะเป็นคำที่กว้างเกินไป ผมว่าเป็นคนที่ยังสนใจอยู่ว่าหนังสือมีประโยชน์ยังไงสำหรับเขา   The People : ร้านหนังสือเดินทางกับ Notting Hill Bookshop มีคอนเซปต์คล้าย ๆ กันไหม พี่มาดู ‘Notting Hill’ ทีหลัง ตอนร้านพี่อยู่ที่พระอาทิตย์บ้านเลขที่ 142 ซึ่งเป็นบ้านเลขที่เดียวกับร้าน Notting Hill ที่นู่นเลยนะ พี่ยังเคยมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของร้าน Notting Hil จริง ๆ ที่กรุงเทพฯด้วยซ้ำไป แต่มันคงไม่เหมือนกันหรอก เพราะพี่ว่าร้านหนังสืออิสระ สิ่งหนึ่งที่มันเป็นเสน่ห์ก็คือมันเป็นรสมือของคนที่เป็นเจ้าของ คนที่เป็นเจ้าของจะมีอิทธิพลต่อในร้าน แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์มีอิทธิพลทั้งประเภทของหนังสือ ทั้งบรรยากาศ ทั้งเพลงที่เปิด ทั้งชนิดของดอกไม้ในแจกัน อันนี้พี่ว่ามันเป็นเสน่ห์ของร้านเหล่านี้ สำหรับพี่กับ Notting Hill อาจจะมีสิ่งบางอย่าง คือธีมคำว่าหนังสือเดินทางที่มันแชร์กัน ที่มันเหมือนกัน แต่ว่าในรายละเอียดพี่ก็ไม่รู้ พี่ก็ไม่เคยเจอ Julia Roberts ในร้านนะ (หัวเราะ) แต่สิ่งหนึ่งที่พี่คิดว่ามันมีเหมือนกันก็คือเสน่ห์ของแต่ละร้าน สำหรับพี่เองตอนทำร้าน พี่ก็หลับตานึกว่าถ้าเกิดพี่ต้องเดินเข้าไปในร้านหนังสือสักร้านหนึ่ง บรรยากาศแบบไหนกันที่พี่อยากเจอ สารภาพนะครับว่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งพอสมควร พี่ไม่ชอบร้านหนังสือที่มันดูหรูเกินไป มันก็เกร็ง แต่ถ้ามันดูไม่เป็นระเบียบซะเลย พี่ว่ามันก็ยากจังเลยในการจะเดิน อันนี้ก็ชน อันนี้ก็ไม่ได้ พี่อยากจะทำร้านที่สามารถเข้าไปแล้วมันใช้เวลาอยู่กับมันได้ มันเป็น cultural destination มันสามารถมาแล้วไม่จำเป็นต้องเจอแค่หนังสือ หรือมันมาแล้วมันรู้สึกมันมีเซนส์ของ belonging เกิดขึ้นในที่สุด พี่อยากได้บรรยากาศแบบนั้น เวลาเราเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บางทีเหงาเหมือนกันเนอะ คนมากมายแต่ทำไมเหงาจัง ถ้าเป็นอย่างนี้พี่ว่าเราไปสถานที่เล็ก ๆ สักที่หนึ่ง แล้วรู้สึกว่าเราเป็นส่วนร่วมกับมัน เรามาแล้วเราคาดหวังได้ว่าเดี๋ยวคนที่เรารู้จักจะมา เราสามารถคุยกับเจ้าของร้านได้ มันน่าจะดีกว่าไหมอะไรแบบนี้ พี่ว่าความรู้สึกเหล่านั้นอาจจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้พี่ค่อย ๆ ตะล่อม ๆ เอามาเป็นปัจจัยประกอบในการสร้างบรรยากาศของร้านอย่างที่เห็น 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : เคยมีประเด็นไหนในร้านที่ทำให้ตัดสินใจลำบากไหม อย่างชั้นล่างมันมีประเด็นหนึ่งที่มันเคยเกิดขึ้นคือการติดป้ายห้ามถ่ายรูป อันนี้พี่คิดว่ามันขัดแย้งกับคอนเซ็ปต์หรือว่าความเชื่อของร้านมากมาย ร้านน้อย ๆ ยินดีที่ให้ใครก็ได้เข้ามาถ่ายรูป แต่สำหรับพี่มันเกิดเหตุการณ์มากมายที่ทำให้พี่ต้องเลือกที่จะ ปกป้องลูกค้าของร้าน (หัวเราะ) เพราะว่าถึงจุดหนึ่งมันมีตามกระแสเนอะ ตามยุคสมัย ตามความเปลี่ยนแปลง พี่คิดว่าร้านหนังสืออาจจะเป็นสถานที่เดียวบนโลกใบนี้มั้งที่คุณสามารถเดินเข้าไปได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียสตางค์สักบาทเดียว ขอเข้าห้องน้ำได้อีกต่างหาก ถ้าเป็นร้านอาหารอย่างน้อยคุณน่าจะสั่งสักจาน แต่ว่าพอมันเป็นอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่ร้านหนังสือต้องเจอคือว่ามันมีคนมากมายเข้ามาเพื่อแค่ขอถ่ายรูป ถ่ายพรีเวดดิ้งก็มี เดินเข้ามาขอถ่ายรูปได้ไหมครับ ตอนแรก ๆ เราก็ไม่รู้เราก็ตกลงไป แต่ว่าเขาออกไปแล้วกลับมาพร้อมกองใหญ่อะไรแบบนี้ ซึ่งในมุมหนึ่งพี่ว่ามันก็ไม่แฟร์กับเจ้าของสถานที่เหมือนกัน สุดท้ายพี่ก็เลยห้ามทุกคนไปเลย แฟร์เท่าเทียมกัน ซึ่งกลับกลายเป็นข้อดีด้วยซ้ำไป สิ่งหนึ่งที่มันกลับมามันก็คือว่าลูกค้าที่เขาตั้งใจมาซื้อหนังสือจริง ๆ เขาแฮปปี้ เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่โดนรบกวน อีกอันหนึ่งที่พี่รู้สึกก็คือว่าคนที่ตั้งใจมาถ่ายรูป มันทำให้เขาต้องกลับมาตระหนักอะไรใหม่ว่าเฮ้ยจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องอยู่กับมือถือตลอดเวลาได้ เราสามารถวางสิ่งเหล่านั้นลง แล้วก็ใช้ผัสสะทั้งหมดซึมซาบกับบรรยากาศรอบ ๆ ได้ วันปกติพี่จะไม่มีเพลงด้วยซ้ำไป พี่เล่นคอนเซ็ปต์ silent cafe ไปเลย พี่เลยมี motto ว่าบางทีคนเราชอบคิดว่าความสนุกเท่านั้นคือความสุข บางทีเราลืมไปว่าความสงบก็เป็นความสุขได้เหมือนกัน อันนี้พี่ว่ามันเป็นบางอย่างที่แต่ละร้านต้องค้นหาให้เจอ แล้วถ้าค้นหาให้เจอมันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่สุดท้ายแล้วพี่ว่าคนที่ชอบมันมี พี่เล่าเรื่องราวของร้านหลายร้านที่เจอสถานการณ์อย่างนี้ ลูกค้าคนหนึ่งเขากลับคอมเมนต์บอกว่า ถ้าร้านที่มันเกิดดรามาแสดงว่ามันดีพี่ มันดีเพราะเจ้าของร้านเขากล้าที่จะ protect ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง มันก็เป็นการคัดเลือกกันและกัน 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : โปสการ์ดที่แปะไว้มากมายมาจากไหน ถ้าเราลงไปข้างล่างเราจะเห็นโปสการ์ดมากมายที่ส่งมาที่ร้าน พี่ไม่ได้บอกว่านั่นคือโปสการ์ดที่เขาส่งมาหาพี่ แต่ส่งมาหาร้านต่างหาก พอส่งมาหาร้านทุกคนสามารถอ่านได้ พี่ก็จะแปะไว้ตึ้ก ๆๆ คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยมันเริ่มต้นจากคนที่มาที่ร้านครั้งเดียว แล้วเขาก็กลับไป พอเขามีโอกาสเดินทาง เขาอาจจะนึกถึงร้านเขาก็ส่งกลับมา พอส่งกลับมาเขากลับมาอีกครั้ง คำถามที่เขาถามคือได้รับโปสการ์ดไหมครับ ร้านก็ได้รับแล้วครับ พี่ว่าแค่นี้มันเริ่มต้นจากการขยับความสัมพันธ์แล้ว เมื่อก่อนคุณอาจจะเป็นแค่ลูกค้า แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว มันเริ่มมีจุดร่วมในการสนทนาร่วมกัน มันก็ค่อยกลายเป็นเพื่อน แล้วไปมาสนุกไหมครับ ไปนอนยังไง เราเองก็ได้ข้อมูล เขาเองก็รู้สึกมีความสุขที่สิ่งที่เขาให้มามันได้รับการให้ความสำคัญ การที่คุณมาเข้าร้านเจอโปสการ์ดคุณที่คุณส่งมาห้อยอยู่อย่างนี้ พี่ว่าในมุมหนึ่งเขาเองก็รู้สึกดี ความรู้สึกที่บอกว่า sense of belonging อันนี้เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งที่มันทำให้เห็น ตอนที่เริ่มต้นทำร้านพี่ก็ไม่ได้มีคอนเนคชั่นเลย ไม่ได้รู้จักใครเลย เริ่มต้นกัน 2 คนกับแฟน เริ่มต้นกันด้วยการที่ว่าวิ่งชนไปทีละด่าน แต่พี่ว่าการที่เราพิสูจน์ให้คนเห็นว่าสิ่งที่เราทำเราทำด้วยความตั้งใจจริง ๆ ในที่สุดมันก็จะเจอคนที่เห็นความตั้งใจเรา มันมีพี่คนหนึ่งบอกว่ามันจะทำให้คุณเจอมิตรที่มองไม่เห็น มิตรที่ถ้าคุณไม่ทำสิ่งนี้คุณไม่มีทางเจอเขาแน่นอน คุณจะเจอเขาก็ต่อเมื่อคุณทำมันขึ้นมาก่อน แล้วมันจะมีข้อต่อมันขึ้นมาเพื่อที่จะยื่นไปหาเขา แล้วเขาก็จะยื่นมาหาคุณ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่พี่สัมผัสได้ว่าคำพูดนี้จริง 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : องค์ประกอบหลายอย่างในร้านทำให้ลูกค้ารู้สึกมีส่วนร่วมใช่ไหม ใช่ ทุกสิ้นปี ก่อนโควิด-19 พี่สามารถจัดงานปาร์ตี้ในร้านได้ด้วยซ้ำไป เชิญลูกค้ามากัน แล้วแต่ละคนก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำไป แต่ว่าพอมาถึงพี่เองก็เป็นคนกลางที่จะ blend ทุกคนให้เขารู้จักกัน กลายเป็นว่าทุกคนก็ได้เพื่อนใหม่มากมาย ได้งานใหม่มากมาย อันนี้พี่รู้สึกว่ามันจำเป็นไหมในโลกปัจจุบัน ถ้าถามพี่อันนี้เราจำเป็น จำเป็นทั้งการทำให้ชุมชนนั้นน่าอยู่ขึ้น จำเป็นทางลักษณะที่ว่าเป็นทางรอดของคุณในการสู้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายด้วยซ้ำไป ตอนที่พี่ทำร้าน พี่ก็ดีไซน์ด้วยการพยายามจะตอบโจทย์ว่า เราจะทำยังไงให้คนสามารถอยู่กับเราได้นานที่สุด เราจะทำยังไงให้ร้านมันเป็นมากกว่าสถานที่ที่คนมาแล้วซื้อหนังสือแล้วกลับ เราจะทำยังไงถึงจะสามารถทำให้เราในฐานะคนที่ต้องอยู่ร้านมากกว่าใครอยู่แล้วก็มีความสุขด้วย อันนี้พี่ว่ามันก็นำมาสู่รูปธรรมต่าง ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้เราควรจะทำร้านที่มันสามารถมีที่ให้คนนั่งได้ไหม เวลาเราไปร้านหนังสือร้านอื่นบางทีเราอยากจะเลือกซื้อหนังสือนาน ๆ มันนั่งก็ไม่ได้ ชอบไหมบรรยากาศอย่างนั้น ไปร้านบางร้านบางทีห่อพลาสติกมันหมดทุกเล่มอย่างนี้ มันได้ไหมกับธุรกิจหนังสือที่มันอาจจะต้องขอเสพหน่อยหนึ่ง ถ้าเกิดไม่รีบกลับหิวน้ำขึ้นมา ควรไหมที่จะมีอะไรสักอย่างหนึ่งช่วยดับกระหาย มีเพลงเพราะ ๆ ให้ฟัง มันเริ่มต้นจากอย่างนี้ หรือถ้าเราต้องอยู่กับร้านทุกวัน คนที่อยู่ในร้านเราควรจะเป็นคนที่คุณอยากเจอไหม บางทีพี่กลับย้อนไปสู่ช่วงที่ยังทำงานประจำ เวลาเราทำงานประจำวันจันทร์เราก็ active วันพุธเราก็เริ่มเหนื่อย วันพฤหัสเราเริ่มโทรหาเพื่อนแล้วว่าวันศุกร์เจอกันหน่อยดิ เบื่อจังเลย คำถามของพี่คือว่าเราทำไมไม่ทำให้คนที่เราอยากเจอทุกวันเป็นคนที่เราอยากเจอ เป็นทั้งลูกค้าด้วย เป็นทั้งคนที่เราอยากปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งพอพี่จัดองค์ประกอบอย่างนี้ พี่ว่ามันคัดสรรไปโดยปริยาย คนที่เดินผ่านหน้าร้านแล้วหยุดมองแล้วตัดสินใจที่จะเปิดประตูเข้ามา พี่ว่าไม่น้อยก็คือคนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกันแล้วแหละ พอรสนิยมใกล้เคียงกัน พี่ว่าพอมันเข้ามามันก็คุยกันได้สนุก แต่ว่าแน่นอนการพูดคุยมันก็ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ว่ามารอบแรกก็ตึ้ก ๆๆ แต่ถ้ามาบ่อย ๆ มันก็มีวิธีค่อย ๆ ขยับไป อันนั้นพี่ว่ามันสร้างบรรยากาศที่มีความสุขกันทั้งสองฝ่าย มันก็เลยกลายเป็นสิ่งเหล่านี้ มันมีที่ให้นั่ง มีชากาแฟซึ่งพี่ว่าชากาแฟมันก็เป็นมาตรฐานของร้านหนังสือที่มีคาเฟ่อยู่ในตัวมากมายเนอะ แต่ว่าพี่เองก็มีอยู่ด้วยการตอบโต้สิ่งเหล่านี้ ทำยังไงให้เป็น cultural destination ให้ได้ พอมันมีปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะที่มนุษย์ปฏิบัติกับมนุษย์ สิ่งที่ตามมามันสัมผัสได้โดยตัวมันเองหรือเปล่าพี่ก็ไม่รู้นะ แต่ลูกค้าเริ่มขยับความสัมพันธ์กลายมาเป็นเพื่อน มีคนไปเที่ยวส่งโปสการ์ด ส่งของมาให้มากมาย แล้วร้านพี่มีหนังสือหลายเล่มมากที่จะมีโน้ตสั้น ๆ แปะไว้ โน้ตเหล่านั้นมาจากพี่เองด้วย แล้วก็มาจากลูกค้าด้วย เขาอ่านเล่มนี้แล้วเขารู้สึกว่ามันดีจังเลย เขาก็เลยเขียนโน้ตมาแปะไว้ พี่รู้สึกว่าสำหรับพี่มันน่าสนใจและน่าเชื่อถือมากกว่าเวลาเราเดินเข้าไป แล้วมีอันดับหนังสือขายดี 1-10 แต่อันนี้ไม่ได้บอกว่ามันดี 1-10 หรือไม่ แต่มันบอกว่ามันดีอย่างไร แล้วมันดีอย่างไรจากคนที่อ่านจริง ๆ ลายมือมันอาจจะโย้เย้ ๆ ไม่งดงาม แต่มันดูแล้วมันเป็นมนุษย์มากกว่า มันทำให้หลายคนที่ไม่เคยอาจจะหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาดู แต่ได้อ่านข้อเขียนสั้น ๆ แล้วรู้สึกว่าฉันอยากจะลองดูหนังสือเล่มนี้จังเลย หลายคนเจอหนังสือดี ๆ เพราะด้วยวิธีแบบนี้ มันเหมือนว่าเพื่อนเจอสิ่งดี ๆ มาแล้วก็มาบอกกันต่อ   The People : มีโน๊ตแนะนำหนังสือที่รู้สึกประทับใจไหม มีเล่มของเด็กอยู่อันหนึ่งพี่ประทับใจเพราะว่ามันบริสุทธิ์มาก เด็กคนหนึ่งเขาน่าจะยังอ่านไม่คล่อง เขาก็เลยให้พ่ออ่านหนังสือ ‘ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต’ ของ Roald Dahl ให้ฟัง ทีนี้พออ่านให้ฟังเขาก็พยายามเขียนออกมาแล้วก็เขียนโย้ ๆ “ผมฟังเล่มนี้แล้วอร่อยจัง” พี่ชอบคำว่าอร่อยจัง หนังสือมันฟังแล้วมันอร่อยได้ใช่ไหม พี่ว่าเรื่องเล่าของเขามันก็คงไป touch เขามาก พ่ออ่านให้ฟังแล้วเขาคงเห็นภาพอะไรอย่างนี้ พี่ว่าข้อเขียนอย่างนี้ ถ้าเราจะเห็นแค่โครงสร้างประโยคมันก็ผิดหลักหมด แต่ว่ามันเรียล มันอ่านแล้วมันสัมผัสได้ว่านี่มันมาจากความรู้สึกของเด็กจริง ๆ 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : หนังสือแบบไหนที่เลือกมาวางแผงในร้าน จริง ๆ เกณฑ์หลัก หรือว่าเป็นตัว criteria ในการคัดเลือกหนังสือเข้าร้าน พี่ว่ามันหนีไม่พ้นจากคอนเซ็ปต์คำว่าหนังสือเดินทางนี่แหละ หนังสือเล่มนั้นมันทำหน้าที่กระตุ้นให้คนกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเปล่า ออกไปดูโลกกว้างไหม ออกมาดูโลกกว้างในความหมายของพี่ มันไม่ใช่กำกับอยู่แค่การเดินทางท่องเที่ยว มันอาจจะรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น inspire คนไหม ให้ข้อมูลไหม ให้ข้อมูลในเชิงลึกลงไปอีกได้ไหม พี่ก็ไม่ได้จำกัดว่ามันต้องเป็นสารคดีอย่างเดียว มันอาจจะอยู่ในรูปแบบบทกวีก็ได้ เรื่องสั้น นิยายได้หมด งานศิลปะเป็น photobook กราฟิก novel ยังได้เลย ถ้ามันตอบสิ่งเหล่านี้ เอาเข้าจริง ๆ ถ้ามันไม่หลุดจากคอนเซ็ปต์นี้ พี่ก็มีสำนักพิมพ์เล็ก ๆ มากมายที่เข้ามาลองดู พี่กลับให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินด้วยซ้ำไปว่า ถ้าเกิดคุณมาแล้วลูกค้าตอบรับโอเค ก็เอามาวางได้ แต่ถ้าเกิดลูกค้าหรือว่ายอดขายมันไม่ขยับเลย ลูกค้าไม่เปิดอ่านเลย พี่ว่ามันก็ชัดเจนในตัวเอง แต่ว่าหลัก ๆ ก็คือใช้คอนเซ็ปต์ว่าหนังสือเดินทางเหล่านี้ ซึ่งก็มีอยู่ 2-3 ปัจจัยก็คือว่ามันกระตุ้นให้คนกล้าเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ให้ข้อมูลเขาไหม หรือถ้าเกิดเขาอยากรู้ลึกมากขึ้นว่าทำไมประเทศนั้นมันเป็นอย่างนี้ ทำไมประเทศนี้ถึงเป็นอย่างนั้น มีความสามารถในการตอบสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : มีหนังสือเล่มไหนบ้างที่อ่านแล้วประทับใจ จริง ๆ พี่ว่าหนังสือประทับใจของแต่ละคน ถ้าถามพี่นะพี่ว่ามันมีมากกว่าหนึ่ง มันขึ้นกับว่าช่วงวัยไหนคุณกำลังต้องการอะไร พี่เคยเจอคำถามจากลูกค้าไม่น้อยว่ามีหนังสือให้กำลังใจบ้างไหม หนังสือให้กำลังใจเล่มเดียวพี่สารภาพตามตรงว่ายากจังเลย คำนิยามหรือว่าคำแนะนำเดียวที่พี่อาจจะพอแนะนำได้คือว่าอ่านให้มากเข้าไว้ มีลูกค้าคนหนึ่งพูดดีมาก เขาบอกว่าหนังสือมันไม่ใช่ยารักษานะ มันคือวัคซีน อ่านเยอะ ๆ พอเป็นมะเร็งมันช่วยได้เยอะมากเลย เขาพูดอะไรประมาณนี้ มันเหมือนว่าถ้าคุณอ่านเยอะคุณจะมีเครื่องมือเยอะ คุณเจอสถานการณ์นี้คุณควักเล่มนี้ขึ้นมา คุณเจอสถานการณ์นั้นคุณควักเล่มนั้นขึ้นมา แต่ว่าถ้าจะเอาเล่มเดียวจบค่อนข้างยาก แต่ถ้าการอ่านเยอะมันช่วยได้ สำหรับพี่ถามว่ามีหนังสือเล่มไหนที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละช่วงไหม อย่างช่วง 20 ต้น ๆ ว่าฉันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตดีไหมหรือไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงดี หนังสือขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน พี่ว่าได้ อันนี้พี่ว่าสำหรับคนที่ 20 กว่า ๆ ที่กำลังต้องการความมั่นใจว่าฉันจะทำงานแบบนี้ต่อไปไหม หรือฉันจะเปลี่ยนแปลงดีอะไรเหล่านี้ เล่มนี้พี่ว่าน่าจะช่วยให้คุณเจอคำตอบ หรือพอวัย 30 กว่า ๆ พี่ก็จะเป็นอีกแนวหนึ่ง หรือว่า 40 กว่าตอนนี้ก็อาจจะสนใจอีกแบบหนึ่ง ในวัยต่อมา อย่างที่พี่บอกมันขึ้นกับว่าแต่ละวัยมันจะเจออะไร อย่างในวัย 30 ปี ตอนที่พี่ทำร้านมาได้ 10 ปี พี่เจออันหนึ่งที่พี่กลับมาทบทวนแล้วพี่รู้สึกว่ามันน่าสนใจ คือว่าเวลาคุณได้ทำสักอย่างหนึ่งมาเป็นเวลา 10 ปี พอถึง 10 ปีคุณยังสนุกกับมันไหม อันนี้พี่ว่าน่าสนใจ พี่เจอหนังสือบางเล่มซึ่งพี่มีอยู่ตอนนี้คือหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือออกแนวธุรกิจหน่อยชื่อ ‘ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปีฯ’ ของญี่ปุ่น มันเป็นเรื่องการเดินทาง ผู้เขียนคุณเกตุวดี (Marumura) พี่ว่าเขาคงมีแบ็กกราวด์ทางภาษา มีโอกาสได้ไปทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นหลายปี เขาพาเราไปรู้จักกับธุรกิจญี่ปุ่นมากมาย แล้วเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโต แต่เขาเลือกที่จะไม่เติบโต คีย์เวิร์ดหนึ่งที่พี่ว่าน่าสนใจคือว่า แทนที่จะเลือกที่จะทำธุรกิจที่จะสามารถขยายร้านได้ 100 สาขา ทำไมไม่พยายามสร้างธุรกิจที่สามารถอยู่ได้ 100 ปีล่ะ พี่ว่าอันนี้น่าสนใจจัง บางคนธุรกิจไปได้ดีขยาย ๆ จากนั้นก็ขาย แบบนั้นก็แล้วแต่ แต่มันกลับมีคนอีกไม่น้อยในญี่ปุ่นที่เลือกที่จะทำร้านหรือทำธุรกิจที่ไม่ได้ต้องใหญ่มาก แต่ทำให้มันอยู่ได้เป็นร้อยปี อันนี้สำหรับพี่พี่รู้สึกว่ามันน่าสนใจจังเลย ยิ่งอ่านต่อไปอีกมาเจอคีย์เวิร์ดอีกประมาณ 2-3 อัน ที่มันทำให้เรามุ่งมั่นที่จะไปต่อไป พี่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถทำสิ่งที่เราทำอยู่อย่างมีความสุขต่อไปได้ ก็คือว่าลองถามตัวเองดูว่าถ้าสิ่งที่เราทำอยู่มันหายไป หรือถ้าเราไม่ทำสิ่งที่เราทำอยู่ มันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนรอบข้าง ทำไมโลกนี้จึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่คุณทำอยู่ มันส่งผลอย่างไร นี่ไม่ได้จำเป็นว่าต้องส่งผลใหญ่โตนะ แต่มันส่งผลต่อใครบ้าง ถ้าสิ่งนี้หายไปมันจะเกิดอะไรขึ้นเราคิดตรงนี้ดี ๆ พี่รู้สึกว่ามันทำให้เราเกิดพลังมากขึ้นกว่าเดิมในการที่จะ keep ไปต่อ สำหรับพี่พี่ว่าร้านหนังสือเดินทางปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรารู้สึกว่าพี่ยังสนุกกับมัน การมีสเปซเล็ก ๆ แบบนี้มันยังมีคุณค่าบางอย่างอยู่ ซึ่งจริง ๆ พี่ว่าอาชีพทุกอาชีพมันมี แต่เพียงแต่ว่าแต่ละคน แต่ละอาชีพจะมองเห็นมันหรือเปล่า 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : อยากแนะนำหนังสือเล่มไหนให้ The People พี่กลับชอบเล่มที่พี่พูดถึงไปแล้วเมื่อกี้ที่ว่าเล่มนี้ตอบโจทย์ยุคสมัยได้ดีมาก โดยเฉพาะยุคสมัยที่โควิด-19 มาทดสอบความจำเป็นของคุณว่า ธุรกิจไหนยังจำเป็นอยู่สำหรับโลกปัจจุบัน คือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปีฯ พี่ว่ามันเรียลแล้วมันจริง แล้วมันเห็นได้ชัดว่าทำไมคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยถึงสามารถสร้างธุรกิจที่มันยืนยาวอยู่ได้เป็นร้อยปี ทำไมเราไปญี่ปุ่นแล้วทุกคนต้องประทับใจกับเซอร์วิสแบบญี่ปุ่นมากมาย หลายคนปฏิเสธการซื้อขายออนไลน์ด้วยซ้ำไป หลายคนปฏิเสธการที่จะมีโอกาสขยายร้านให้ใหญ่โตด้วยซ้ำไป แต่พี่ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเอาตรงนี้เป็นโมเดลนะ แต่อันนี้พี่รู้สึกว่ามันทำให้เรามีเครื่องมือในการก้าวข้ามอะไรบางอย่าง สำหรับพี่พี่อ่านเล่มนี้แล้วที่เกิดไอเดีย เกิดแรงฮึดหลายอย่างในการทำร้านด้วยซ้ำไป มันทำให้เราได้เห็นคนเล็ก ๆ ที่เขาค้นพบแล้วว่าแก่นแท้จริง ๆ ในชีวิตเขามันคืออะไร แก่นแท้ในชีวิตเรามากมายก็คือเรื่องงาน แต่งานแบบไหนล่ะที่เราพร้อมที่จะสละเวลาให้กับมัน อันนี้พี่ว่าน่าสนใจ ถ้าเกิดอยากจะเดินเข้าไปทำความรู้จักหัวจิตหัวใจของเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งเราสามารถเอามาเป็นแบบอย่าง เอามาเป็นแบบเรียนได้   The People : เล่มไหนเป็น All Time Best Seller ของร้าน มันมีหนังสืออยู่จำนวนหนึ่งเหมือนกันที่ถ้าเกิดว่ามาในร้านแล้วขายดีตลอด หนึ่งคือถ้าสำหรับภาษาอังกฤษ คือ ‘The Judgement’ หรือ ‘คำพิพากษา’ ของพี่ชาติ กอบจิตติ ฉบับภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องแปลกซึ่งเป็นเรื่องที่พี่ว่าสำนักพิมพ์ หรือว่านักเขียนไทยอาจจะมองข้ามไปจริง ๆ แล้วมันมีนักเดินทางต่างชาติหรือคนต่างชาติจำนวนไม่น้อยอยากจะอ่านงานที่เขียนโดยนักเขียนไทย แต่มันไม่มีแปล บังเอิญมั้งว่าในบรรดาจำนวนน้อยที่มีแปล งานของพี่ชาติ กอบจิตติเป็นงานที่มีแปลอยู่ไม่น้อย แล้วเรื่องที่ขายดีมากก็คือเรื่อง ‘คำพิพากษา’ ฝรั่งบางคนที่พี่เคยแนะนำให้อ่านถึงขั้นกลับมาบอกว่านี่คือหนังสือที่นักเดินทางท่องเที่ยวควรจะได้อ่านก่อนที่เขาจะมาประเทศไทยด้วยซ้ำไป อันนี้ถ้ามีมาที่ร้านหนังสือทุกครั้งขายดีตลอด พี่น่าจะขายไปให้แกเยอะมากด้วยซ้ำมั้ง (หัวเราะ) แต่ตอนนี้มันหมดไปแล้ว นั่นคือเล่มหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น best seller ของ all time ด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นภาษาไทย เล่มหนึ่งที่พี่รู้สึกว่าไหลไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีวันสิ้นสุด ก็คือหนังสือชื่อว่า ‘ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป’ (ผู้เขียน : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) เป็นเรื่องราวที่จะเรียกว่าเป็นสุนทรพจน์ก็ไม่เชิง แต่เรียกได้ว่าเป็นถ้อยคำของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ก่อนที่เขาจะประกาศยอมแพ้ต่อคนขาว อันนี้เป็นหนังสือที่ไม่ได้หวือหวาถึงขั้นแบบมาแล้วยุบ แต่ว่ามันจะไหลออก ๆ เรื่อย ๆ มันเป็นหนังสือที่พี่ว่ามันพูดออกมาจากความรู้สึก จากเบื้องลึกของคนที่ประสบชะตากรรมเหล่านั้นจริง ๆ ถ้าใครอยากเข้าใจหัวจิตหัวใจของพี่น้องชาวจะนะ พี่ว่าลองอ่านเล่มนี้ดู มันบังเอิญแล้วมันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่พล็อตประมาณนี้ยังใช้ได้กับทุกยุคสมัย ที่อื่นพี่ไม่รู้ แต่ว่าที่ร้านหนังสือเดินทาง นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่พี่ว่ามันขายได้ มันทำให้คนจากที่อื่นสามารถนั่งอยู่ในหัวใจของคนที่มันกำลังจะสูญเสียทุกอย่าง หนังสือ ณ ที่ดวงตะวันฉายแสงฯ ตอนที่มันมาที่ร้านแรก ๆ พี่เองก็อาจจะเหมือนหลายคน เราอาจจะประเมินตัวเราไปว่า เรารู้จักเรื่องราวของอินเดียนแดงดีมั้ง พี่ก็เลยไม่ได้เปิดอ่าน จนกระทั่งวันหนึ่งพี่จอบ-วันชัย ตัน ซึ่งเป็นคนเขียนและเรียบเรียงแกเดินเข้ามา แล้วแกบอกว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แล้วมีนักศึกษาคนหนึ่งอ่านจบแล้วกลับไปบอกกับอาจารย์ว่า หนังสือเล่มนี้มันทำให้หนูนึกขึ้นได้ว่าหนูไม่ได้แหงนมองท้องฟ้ามานานแค่ไหนแล้ว แค่ประโยคนั้นพี่รู้สึกว่าเฮ้ย มันต้องมีอะไรแน่นอน พี่เลยเอาไปอ่านดูบ้าง อ่านคืนเดียวรวดเลย น้ำตาไหลเลย จากนั้นก็เหมือนอย่างที่น้องนักศึกษาคนนั้นบอกจริง ๆ มันเข้าใจเลยว่าอ๋อ ทำไมต้องรู้สึกแบบนั้น สายลม ท้องฟ้า ผืนน้ำ มันขายกันได้ด้วยหรือ พี่รู้สึกว่ามันสะเทือนจังเลย 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : ตอนนี้หนังสือทำมือยังมีอยู่ไหม เมื่อสัก 20 ปีก่อนตอนนั้น กระแสหนังสือทำมือเรียกว่าเป็นที่ popular มาก แถวถนนพระอาทิตย์มีงานหนังสือทำมือมากมาย แต่ตอนนั้นต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นมาในยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่มีช่องทางในการเผยแพร่ความคิด หรือว่าข้อเขียนของแต่ละคนมันไม่มีรูปแบบอื่นนอกจากเป็น printed media แต่ทีนี้ตอนนี้ทุกคนเป็นเจ้าของสื่อเอง เป็นเจ้าของคอนเทนต์เองได้ทางโลกออนไลน์ สิ่งเหล่านั้นมันก็เลยถูกแทนที่ไปโดยปริยาย แต่ก็มีคนทำหนังสือทำมือจำนวนหนึ่งเหมือนกันนะ ที่เติบโตมากลายเป็นนักเขียนเป็นจริงเป็นจังในปัจจุบัน หลายคนก็อาจจะอยู่ในแวดวงหนังสือ อยู่ในกองบรรณาธิการอะไรเหล่านี้เป็นต้น   The People : จะย้ายร้านไปที่ไหน คือประเด็นหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วก็เป็นความท้าทายของร้านหนังสือเดินทาง ก็คือว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งมาจากเตาปูนไปราษฎร์บูรณะ อยู่ในโครงการที่กำลังจะเริ่มมีการก่อสร้าง แล้วเขาต้องการพื้นที่บนถนนพระสุเมรุจำนวนหนึ่งเพื่อไปทำสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งพื้นที่ที่เขาต้องการเวนคืน รวมถึงสถานที่ที่ร้านหนังสือเดินทางตั้งอยู่ตอนนี้ โครงการมีความชัดเจนขึ้นแล้วว่ามาแน่นอน หลายปีก่อนก็เคยได้แค่ได้ยินข่าวคราว แต่ว่าเมื่อ 3-4 เดือนก่อนก็มีการมาสำรวจพื้นที่อย่างเป็นทางการ ปลายเดือนมกราคมจะมีความชัดเจนว่าร้านสามารถอยู่ได้อีกกี่เดือน ซึ่ง maximum ไม่เกินปีหน้ากลางปี พี่อาจจะจำเป็นต้องไป แล้วก็เป็นไปได้ ส่วนไปไหนยังไม่ได้เริ่มหาอย่างเป็นทางการ เพราะว่ากำลังรอไทม์ไลน์ที่ชัดเจนจากเจ้าของโครงการอยู่ แต่ทั้งหมดทั้งนี้ทั้งนั้นเอาเข้าจริงพี่อยากย้ายนะ เพราะว่าในหัวพี่จริง ๆ แล้วพี่มีแพลนที่จะหาสถานที่ที่ใหญ่กว่าเดิมมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าการย้ายเองกับการมีเงื่อนไขบีบบังคับให้เราต้องย้ายมันต่างกัน มันก็เลยไม่สะดวกบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ส่วนจะไปไหนคิดว่ากลางปีหน้าจะตอบได้ แต่ว่าสิ่งที่พี่มองหาก็คือว่าพี่กำลังมองหาสถานที่ที่ใหญ่กว่าเดิมอีกสักหนึ่งเท่า เพราะจริง ๆ พี่รู้สึกว่าร้านสามารถทำอะไรได้เยอะกว่านี้ การสต๊อกหนังสือ มันทำได้ดีกว่านี้แน่นอนถ้าเกิดเราได้สเปซที่มากกว่า   The People : นักอ่านขาประจำติดตามเรื่องย้ายร้านอย่างไรบ้าง ลูกค้าที่พอรู้ข่าวก็มีอะไรน่าสนใจเหมือนกัน ก็คือว่าลูกค้าจำนวนหนึ่งบอกว่าถ้าเกิดพี่ย้ายไปไหน แล้วพี่ได้สถานที่ที่มันมากเกินไปสำหรับร้าน เขาก็พร้อมที่จะไปอยู่ด้วยในลักษณะว่าหลายคนมีธุรกิจที่คิดว่าน่าจะไปกับร้านหนังสือเดินทางได้ พี่ก็นึกว่าก็ดีจัง ตอนนี้พี่ย้ายมาถนนพระสุเมรุเมื่อ 16 ปีก่อน ตอนนั้นย้ายมาจากถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุไม่ได้เป็นอย่างถนนพระสุเมรุทุกวันนี้ด้วยซ้ำไป พี่ถือว่าเป็นรายแรก ๆ ที่มาด้วยซ้ำไป พอมาอยู่ลูกค้าจำนวนไม่น้อยไปมาหาสู่กัน หลายคนก็กลายเป็นเจ้าของคาเฟ่ หลายคนก็กลายเป็นเจ้าของแกลอรี่ ผับแจ๊สก็มาอยู่ โรงแรมก็ค่อย ๆ ทยอยเปิดขึ้น ในมุมหนึ่งพี่รู้สึกว่าร้านหนังสือมันเหมือนกับเป็นตัวทะลวงอยู่เหมือนกันนะ เหมือนกับว่าพอร้านหนังสือไป คนที่อาจจะมีรสนิยมใกล้เคียงกัน ชอบในสิ่งใกล้เคียงกันก็จะตามมา พอตามมามันทำให้ย่านนั้นมันมีชีวิตชีวาขึ้น นั่นคือสิ่งหนึ่งที่พี่สังเกตเห็นจากก่อนที่พี่ย้ายมาอยู่พระสุเมรุ เปรียบเทียบภาพเมื่อ 16 ปีก่อนสภาพตอนนี้ โห มันต่างกันเยอะมากเลย แต่กลายเป็นพี่เป็นเจ้าที่ต้องไปก่อน   The People : รู้สึกว่า Comfort Zone สั่นคลอนไหม พี่กลับอยู่ในจุดที่พี่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ไปแล้ว ถามว่าการเปลี่ยนแปลงมันเหนื่อยไหม มันเหนื่อยแน่นอน พี่ก็ต้องใช้แรงกายในการที่จะต้องหาที่ใหม่ ต้องสร้างมันขึ้นใหม่ แต่พี่คิดว่าวันหนึ่งถ้าเกิดพี่ล้มหายตายจากไปจากโลกนี้ไป ร้านมันก็คงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี ในมุมหนึ่งการมาถึงของรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยส่วนตัวพี่เห็นด้วยกับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้นะ พี่ว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาจราจร การจราจรโดยอาศัยรางก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ แต่ว่าในเรื่องการชดเชยอะไรก็อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถามว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง มันก็เป็นสิ่งที่พี่รับได้ แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับสิ่งที่เราคุยกันมาตลอด พี่คิดว่ารสมือหรือว่าสิ่งที่อยู่กับเรา ประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสทำมา 20 ปี มันน่าจะทำให้เราไปอยู่ที่ไหนก็น่าจะสร้างบรรยากาศเดิม ๆ ขึ้นมาได้ ดีไม่ดีอาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำไปก็อาจจะเป็นไปได้ กลับมองในแง่นั้นมากกว่า มองในเชิงว่ามันเป็นโอกาสที่น่าจะนำไปสู่อะไรที่น่าจะแฮปปี้กัน ทั้งลูกค้าเอง ร้านเอง เจ้าของที่อยู่ในร้านเองด้วยซ้ำไป ส่วนมันจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่พี่กลับมองว่านี่คือโอกาส ซึ่งถ้าใครมีไอเดียดี ๆ ว่าร้านหนังสือเดินทางจะไปอยู่ไหนก็บอกกันได้นะ (หัวเราะ) 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : มีช่วงไหนที่เจอปัญหาหนักจนต้องตั้งคำถามกับตัวเองไหม คือพี่ว่าคำถามเดียวแล้วเป็นคำถามหนัก ก็คือคำถามตอนเริ่มต้นปีแรกที่ต้องเจอว่ามันจะรอดไหม แล้วก็เป็นคำถามที่ถามคนอื่น ๆ ทุกคนฟันธงหมดว่ามันไม่รอดหรอก พี่ว่าการต้องรับมือกับ สมมติฐานนี้ตั้งแต่ต้น ก็ยอมรับตามตรงว่าพี่ก็รู้สึกไม่สบายตัวเหมือนกันนะในการที่จะฝ่ามันไปให้ได้ แต่ว่าตอนนี้คำถามนั้นหายไปแล้ว ไม่มีเกิดขึ้นอีกแล้วสำหรับพี่ ตอนนี้พี่อายุ 40 กว่าแล้ว อีกไม่กี่ปีก็จะ 50 แล้ว มันครึ่งชีวิตคนแล้ว มันพิสูจน์ด้วยตัวมันเอง มันชัดเจนด้วยตัวมันเอง มันอยู่ได้ ด้วยวิธีการใด ก็ด้วยวิธีการทั้งหมดที่เราคุยกันมาทั้งหมด เพียงแต่ถามว่าสิ่งที่มันเคยต้องเจอแล้วก็ถือว่าหนักที่สุด ก็คงต้องสู้กับสมมติฐาน ต้องสู้กับความเชื่อที่มันก็มีเหตุผลเพียงพอที่ทำไมเขาต้องเชื่ออย่างนั้นว่าร้านหนังสือมันอยู่ยาก ถามพี่ตอนนี้พี่ตอบได้เลยว่าอยู่ได้ แต่คุณต้องรู้ว่าจะอยู่ยังไง คุณต้องรู้ว่าคุณจะอยู่ไปทำไม พูดให้ชัดเข้าไปอีกด้วยซ้ำว่าจริง ๆ แล้วคุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนด้วยซ้ำไปว่าคุณจะทำร้านหนังสือไปทำไม ถ้าตอบได้มันจะนำมาสู่กระบวนการ สู่วิธีการ ซึ่งพี่คิดว่าอยู่ได้แน่นอน แต่ถ้าตอบไม่ได้พี่ว่า ก็อยู่ไม่ได้จริง ๆ   The People : มองอนาคตของร้านหนังสืออิสระในไทยเป็นอย่างไร คืออนาคตของร้านหนังสืออิสระในไทยเป็นยังไง ถ้าเปรียบเทียบปีนี้กับ 20 ปีก่อนตอนที่พี่เริ่มต้น จำนวนร้านหนังสืออิสระในเมืองไทยตอนนี้มากกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำไป แน่นอนมันมีร้านที่หายไป แต่ว่ามันมีร้านที่เปิดใหม่มามากมาย ทีนี้พี่คิดว่าร้านที่หายไปก็ต้องไปถามในรายละเอียดเหมือนกันว่าแต่ละร้าน นิยามตัวเองไว้แบบไหน จัดองค์ประกอบของร้านเป็นยังไง อันนี้พี่ว่ามันคงไปแนะกันไม่ได้ แต่พี่ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ร้านเกิดใหม่ หรือว่าคงอยู่ หรือดับไป ก็น่าจะไม่หลุดจากตรงนี้ มันล้อไปกับยุคสมัยหรือเปล่า มันมีบุคลิกที่ชัดเจนไหม มันต่างจากคนอื่นยังไง เจ้าของทำไปเพื่ออะไร อันนี้พี่ว่าเป็นตัวชี้วัดด้วยซ้ำไป 2-3 ปีที่ผ่านมา มีร้านหนังสืออิสระเกิดใหม่ขึ้นอีกไม่น้อยเหมือนกัน ต่างจังหวัดก็มี ในกรุงเทพฯก็มี แต่พี่ได้ยินข่าวร้านที่อยู่มานานถึง 30-40 ปีที่มีแนวโน้มว่าต้องปิดไปก็มี บางทีมันอาจจะเป็นอีกเจเนอเรชั่นหนึ่งที่อาจจะไม่มีคนส่งต่อ หรือว่าเจ้าของอาจจะรู้สึกว่าฉันพอแล้ว อันนั้นก็เป็นไปได้ แต่พี่ว่ามันก็แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละร้าน 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน   The People : ตอนนี้ก็ยังหนักแน่นเหมือนเดิมไหม ยังหนักแน่นเหมือนเดิม หนักแน่นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ไม่รู้ คือสิ่งหนึ่งที่พี่อาจจะเกริ่นไปบ้างก็คือว่า เอาเข้าจริง พี่คิดว่าคอนเทนต์ที่มันเป็นหนังสือ ในมุมหนึ่งมันจะทำให้คุณต้องคิดตาม พอคิดตามเยอะ ๆ พี่ว่ามันก็จะทำให้คุณตกตะกอนบางอย่าง แล้วสุดท้ายมันจะนำมาสู่สิ่งที่พี่บอกเราตอนต้นว่ามันจะนำมาซึ่งการมีเครื่องมือในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต พอพี่เชื่อว่าหนังสือมันยังทำหน้าที่เหล่านั้นอยู่ พี่เองก็ได้สิ่งดี ๆ จากมันมากมาย พี่ก็อยากจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นต่อ คำถามที่นักอ่านน้อง ๆ หลายคนที่มาถามตอนนี้คือว่า ทำไมหนูรู้สึกหดหู่จัง มีหนังสือให้กำลังใจบ้างไหม คนวัย 50 ถึงขั้นเดินเข้ามาแล้วบอกว่าผมรู้สึกหมดไฟมีอะไรช่วย พี่รู้สึกว่าทำไมมันต้องอยู่ในภาวะอย่างนี้ เรามีวิธีเรียกสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาได้ไหม พี่รู้สึกว่าหนังสือสำหรับพี่มันยังทำหน้าที่นั้นได้อยู่ พี่ก็เลยรู้สึกว่างั้นความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อสิ่งเหล่านี้มันยังมีอยู่สำหรับพี่ หรือสภาวะตอนนี้ สภาวะที่สภาพบ้านเมืองเรามันแทบจะหายใจไม่ทั่วท้อง พี่กลับยิ่งรู้สึกว่าหนังสือยิ่งจำเป็นด้วยซ้ำไป อ่านให้เยอะ ๆ เข้าไว้ก่อนที่จะเลือกว่าจะยังไง เหมือนที่หลายคนบอก บางทีเราอ่านเล่มเดียวเราอาจจะเชื่อคน ๆ นั้น อ่าน 2 เล่มแล้วอาจจะเชื่ออีกคนหนึ่ง แต่พอเราอ่านหลาย ๆ เล่มเราจะสามารถสังเคราะห์บางอย่าง เอาเรื่องนี้มายันกับเรื่องนู้น เอาเล่มนู้นมาอ้างกับเล่มนี้ สุดท้ายแล้วมันจะตกตะกอนเป็นความคิดของเราเอง พอมันเป็นอย่างนี้พี่ก็เชื่อว่ายังไงหนังสือมันยังทำหน้าที่อยู่ 'หนุ่ม' อำนาจ รัตนมณี: 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง' บ้านหลังที่สองของนักอ่าน