ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว

ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว

วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว

"ผมรู้สึกว่าสีเหลืองมันคือสีของผม ผมชอบสีเหลืองมาก ตอนทำ branding ตอนทำทุกอย่างผมก็ยังจะยัดสีเหลืองเข้าไป แต่วันนี้ผมรู้สึกว่าบริษัทผมแม่งมีหลายสีแล้ว มันมีสีม่วง ๆ เขียว ๆ ส้ม ๆ มาจากคนหลาย ๆ คน..." บ่ายวันหนึ่ง The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ไผท ผดุงถิ่น CEO ของ Builk One Group เทคสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เมื่อปี 2562 เรามีโอกาสพูดคุยกับเขาครั้งหนึ่ง การพูดคุยครั้งนั้นมีฉากหลังเป็นออฟฟิศเหมาชั้นที่มีพนักงาน 100 กว่าคน จำได้ว่าไผทได้ออกมาต้อนรับทีมงานด้วยการสวมเสื้อทีเชิ้ตสีเหลือที่มีโลโก้ของ Builk One Group ที่เจ้าตัวบอกเป็นสีที่ชอบมาก ในตู้เสื้อผ้าของเขาเต็มไปด้วยชุดสีเหลือง แต่มาวันนี้เขาสวมเสื้อสีอื่นพร้อมกับออกตัวว่า ชีวิตจากวันนั้นถึงตอนนี้ผ่านมา 3 ปี มีอะไรต่าง ๆ มากมายเข้ามาในชีวิตโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วิธีคิดที่มีต่อชีวิตและธุรกิจนั้นเปลี่ยนไป ชีวิตไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ ออฟฟิศของเขาเล็กลง มีพนักงานเข้ามาทำงานไม่มาก แต่ทุกคนผลักดันงานในระบบผสมคือ Work From Home บวกกับการเดินทางไปทำงานที่ co-working space ที่ทางบริษัทได้ดีลไว้ 9 จุดรอบกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อให้พนักงานทำงานสะดวกขึ้น 'เอาออฟฟิศไปไว้ใกล้บ้านพนักงาน' เขาบอกกับเรา อยากเรียนรู้อะไรอื่นจากเขาอีก ก็คงต้องใช้เวลาคุยกับเขา... นี่คือบทสัมภาษณ์ไผท ผดุงถิ่น กับมุมมองธุรกิจที่ยังเป็นอยู่และเปลี่ยนไป และเรื่องราวการเติบโตของ Builk One Group ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว The People : ความเป็นมาและการเติบโตของ Builk One Group เริ่มต้นที่จุดไหน ไผท : จริง ๆ ผมเป็นคนปลายเจเนอเรชันเอ็กซ์ เป็นต่อเจเนอเรชันวาย ก็เคยเห็นต้มยำกุ้งวิกฤตต่อหน้าต่อตามา แรงบันดาลใจที่มาทำธุรกิจในวันนี้มันมาจากตอนที่สมัยเราเรียนจบ เราเห็นว่าประเทศกำลังจะเป็นเสือตัวที่ห้าแล้วแหละ แต่ว่ามันไม่ได้เป็น ในยุคนั้นเศรษฐกิจมันพังไปต่อหน้าต่อตา วัยรุ่นยุคนั้นก็คงเหมือนวัยรุ่นทุกยุคแหละครับที่เรามีความฝันว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในยุคผมคือพอมันพังไปแล้วมันเลยเกิดคำถามในคนยุคเราว่าเราจะทำอะไรกันต่อดี ส่วนหนึ่งก็คือกระแสของสังคมยุคนั้นประมาณปี 1998-1999 คือมาเป็นผู้ประกอบการสิ ผู้ประกอบการยุคนั้นคือเรียกว่า SME SME จะสร้างรากฐานของเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลตีข่าวปาว ๆ ให้มาเป็น SME ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกว่าเราก็ยังไม่เห็นอนาคตชัดเจน ไปทำงานบริษัทเศรษฐกิจก็ไม่รู้จะเป็นยังไง ก็เลยมีความฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แล้วก็ได้ลงมือทำเป็นเจ้าของธุรกิจโดยที่ไม่ได้มี background ที่ว่าจบบริหารธุรกิจหรือว่ามีธุรกิจที่บ้านมาก่อน แปลว่าเราเริ่มจากศูนย์ เราอยากจะเป็นนักธุรกิจ ได้แต่ครูพักลักจำอ่านหนังสือเอา ผมเรียนจบวิศวะโยธา ไม่ได้มีพื้นฐานทางธุรกิจ ไม่เคยเรียนวิชาธุรกิจเลยสักตัวเดียว แต่ว่าด้วยความอยากล้วน ๆ แล้วก็กระแสก็เลยอยากจะลองทำดู ได้มีโอกาสได้ทำงานอยู่ที่บริษัทอยู่ประมาณสัก 3 ปี ตอนนั้นก็เป็นจุดรอยต่อของทางเลือกของชีวิตเหมือนกัน คนรุ่นผมจะบอกว่าทำงานเก็บประสบการณ์แป๊บหนึ่งแล้วก็ไปเรียนต่อ MBA ไหม ซึ่งเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไปเรียนต่อ แต่เราก็รู้สึกว่าโอกาสมันมาแล้วครั้งหนึ่งในชีวิต และความอยากที่มันสะสมไว้อยู่คืออยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ไปเรียน MBA แล้วกัน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ก็เตรียมความพร้อมไว้ระดับหนึ่งสอบ TOEFL เตรียมเงินเก็บอะไรไว้บ้างแล้ว มีที่บ้านช่วยสนับสนุนด้วย แต่ตอนนั้นตัดสินใจว่าไม่เอาแล้ว ขอเปิดบริษัทเลยแล้วกัน เงินก้อนแรกก็คือเงินที่ที่บ้านให้มาพร้อมกับเงินเก็บตอนสมัยทำงานบริษัทอยู่ได้ก้อนหนึ่ง ก็เอามาลงทุนเปิดบริษัทของตัวเองตอนอายุ 23 ปี แล้วก็เป็นธุรกิจ SME ตามฝัน แต่ว่าก็ไม่ได้ไปรอดเท่าไหร่ ธุรกิจแรกก็ล้มเหลวกันไปโดยการที่คิดว่ามันจะสวยหรู พออายุ 25-26 ปีก็เริ่มเห็นว่าทุกอย่างมันยากไปหมดเลย เป็น SME ห่วย ๆ คนหนึ่งดีกว่า ก็คือทำงานแล้วก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เงินหมุนก็ไม่ดี การเงินก็จ่ายเงินลูกน้องช้า จ่ายเงินซัพพลายเออร์ช้า จริง ๆ ตอนนั้นก็เกิดความรู้สึกเครียดกับตัวเองมากนะ เพราะว่าเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย เปรียบเทียบกับเพื่อนที่เรียน MBA จบกลับมาตอนอายุ 26-27 ปี เรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้วะ ทำไมเราไม่มีเงินเลย ก็ผมร่วงตอนนั้นจริง ๆ นะ แล้วเราถือว่าเป็นความทรงจำของชีวิตว่าเราเคยมีความฝันแบบเด็ก ๆ แต่ว่าโลกจริงมันก็โหดร้าย เราก็เลยได้ภูมิคุ้มกันมาอีกแบบหนึ่ง คือเราก็ต้องพยายามจะสู้ในแบบที่เราทำได้ ธุรกิจที่สอง เริ่มต้นจากติดลบด้วยซ้ำ เพราะว่าธุรกิจแรกมันไปไม่ได้ ก็เป็นหนี้ ไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นเขามาเพื่อน ๆ ใครเจอผมตอนนั้นผมก็ยืมเงินไปหมด บัตรเครดิตเต็มทุกใบ ประสบการณ์ของธุรกิจที่สองคือพยายามจะกอบโกยประสบการณ์ห่วย ๆ ของธุรกิจแรกขึ้นมา ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี เรื่องดีก็คงพอมีอยู่บ้าง แต่เรื่องไม่ดีน่าจะเยอะกว่า มันก็กลายเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจที่สองอีกทีหนึ่งที่เราจะไม่อยากจะเป็นแบบธุรกิจแรก ธุรกิจที่สองก็ทำกับเพื่อน ๆ แล้ว จริง ๆ พอโชคดีที่มีเพื่อน ๆ ให้เครดิตอยู่บ้างว่าเราก็ยังมีแนวคิดและมีประสบการณ์ มีแผลที่หลัง เปิดแผลที่หลัง คนข้างหลังเขาก็ยังเชื่อเราบ้าง ธุรกิจที่สองผมชวนเพื่อน ๆ ที่เรียนปริญญาตรีด้วยกันมาเปิดบริษัทซอฟต์แวร์ธุรกิจ ธุรกิจแรกของผมคือธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งไปไม่รอด ธุรกิจที่สองคือทำซอฟต์แวร์ให้กับธุรกิจก่อสร้างคนอื่น มันเป็นเรื่องตลกเหมือนกันว่าเหมือนนักบอลที่เตะบอลไม่เก่ง แต่วันหนึ่งอยู่ดี ๆ มาทำเครื่องไม้เครื่องมือให้คนไปเตะบอลคนอื่น แล้วบอกว่าเขาน่าจะเตะบอลเก่งนะถ้าใช้เครื่องมือของเรา ซึ่งก็อาศัยประสบการณ์แหละ เรารู้ว่าชีวิตการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างมันมีข้อจำกัดยังไง มีความท้าทายยังไง แล้วก็ยังมีแรงอยู่ ตังค์ไม่มี มีแรงกับมีประสบการณ์ทั้งด้านไม่ดีและด้านดี แล้วก็มีเพื่อน ๆ ที่มาช่วยกัน เพื่อน ๆ ก็เรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ เรียนมาเคยเขียนโปรแกรมได้ ฝั่งเราก็ให้โจทย์ที่เป็น requirement เรามาพัฒนาโปรแกรมกันเถอะ เพื่อนอีกคนก็ออกมาจากบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จก็เอามารวมประสบการณ์กัน ธุรกิจที่สองเริ่มต้นทำซอฟต์แวร์ขึ้นมา ก็เป็นก้าวแรกที่กระโดดเข้ามาสู่วงการเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้เทคโนโลยีอะไรมาก ธุรกิจที่สองก็ยังถือว่าเป็นซอฟต์แวร์ SME อยู่ดี ทำกันแบบ SME ทำค่อย ๆ ทำไป เอาเงินเก็บมาลงกันไป ก็ใช้เวลาสัก 2-3 ปีนะ ตั้งตัวขึ้นมาพอจะคืนหนี้คืนสินตอนสมัยเป็นผู้รับเหมาได้หมด แล้วก็เข้ามาสู่ยุครอยต่อที่ตอนอายุ 29-30 ปีที่เราเริ่มถามตัวเองว่าไอ้ 10 ปีที่แล้วที่ทำมา ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างนี้ เราจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไหมวะ เราจะเป็น SME ที่ยังมีความไม่แน่ไม่นอนแบบนี้ต่อไปไหม ผมว่า SME ไทยก็เหมือนกัน หลาย ๆ คนก็มีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เราว่าเราก็ทำของเรามาดี ๆ วันดีคืนดีการเมืองก็มีปัญหา วันดีคืนดีเศรษฐกิจ ปัจจัยภายนอกอะไรมากระทบเราเต็มไปหมดเลย แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นเราถามว่าถ้าเราจะเป็น SME ที่จะอยู่รอดต่อไปได้หรือว่าจะมีอนาคต เราเคยถามกันว่าแล้วตอนอายุ 40 ปีจะทำอะไร เราจะเป็นแบบนี้ต่อไปไหม เรายังจะต้องมาถามกันว่าเฮ้ย มีเงินเข้าบัญชีหรือเปล่า เก็บเงินลูกค้าได้หรือยังแบบนี้ต่อไปไหม ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว ก็คิดว่าเป็นโมเมนต์สำคัญ ผมกับเพื่อน ๆ ก็อาศัยความกล้าตรงนั้น บอกว่าเราลองเน้นอีกสักเรื่องไหม เรามาทำอีกธุรกิจที่สามกันดู ธุรกิจที่มันจะไม่เหมือนธุรกิจที่สอง ธุรกิจที่จะใช้ประสบการณ์ต่อยอดอีกทีหนึ่ง เราเริ่มเข้าใจเทคโนโลยีแล้ว เรายังอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราคิดว่าเราเห็นมันมานาน มันเป็นต้นทุนในชีวิตเราไปแล้ว เราจะต่อยอดอะไรแบบนี้ได้ก็เป็นธุรกิจที่ชื่อว่า Builk One Group ในวันนี้ เป็นธุรกิจที่เข้าสู่ยุคของ startup 10 ปีที่แล้วยังไม่มีคนพูดเรื่อง startup บริษัทเราก็ได้ยินคำนี้มาจากอินเทอร์เน็ต ก็ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ตจริง ๆ ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต ธุรกิจ SME บ้าน ๆ ของผมก็คงจะขยายตัวมากขึ้นไม่ได้ เราได้เห็นอ่านบทความ ดูข่าวสารการเมืองนอกว่าธุรกิจ startup เป็นธุรกิจที่อยากจะทำ แล้วมันเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ตอนเป็น SME เรารู้สึกว่าก็ไปกู้เงินแบงก์ได้โตเท่าที่โตได้ แล้วรู้สึกว่าเราโตเหนือกว่า GDP ประเทศ 3 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ก็ดีใจตายห่าแล้ว ดีใจตายแล้ว วันนี้พอได้รู้เรื่อง startup แล้วรู้สึกว่าเออเราอยากจะโตข้ามเส้นนี้ไปให้ได้ แต่วิธีการทำงาน startup เป็นยังไงเราไม่เคยมีประสบการณ์เหมือนกัน เราก็มั่วเอา ใช้ประสบการณ์การเป็น SME ผมเปิดแผนกใหม่ขึ้นมาเป็นแผนกชื่อว่า Build เป็นแผนกที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ย้ายออฟฟิศออกมาจากออฟฟิศ SME เดิม มาตั้งพื้นที่ใหม่ ใส่ขาสั้นทำงาน ใส่เสื้อยืด ทำงานแบบเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แล้วก็ทดลองทำอะไรใหม่ 2 ปีแรกก็รู้สึกอ้างว้างเพราะไม่มีใครไปด้วยกัน ไม่มีการพูดถึง startup ในประเทศนี้เท่าไหร่ อันนั้นคือปี 2011 กับ 2012 ปี 2012 เริ่มมีกระแส startup ในประเทศไทยนะ แต่ผมต้องไปประกวด startup ที่สิงคโปร์ ผมเป็น best startup ในสิงคโปร์แล้วก็กลับมาทำธุรกิจต่อ เริ่มมีคนถามถึงบ้างอะไรคือ startup ไม่มีนักลงทุนอะไรหาเรา ซึ่งแตกต่างจากในวันนี้มาก ก็ผ่านมา 10 กว่าปีวันนี้ธุรกิจของผม Builk One Group ก็เป็น startup แก่ ๆ ที่มีประสบการณ์ทางด้านการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์การฝ่าวิกฤตในแผนที่ไม่เป็นไปตามแผน แล้วก็ปัจจัยอย่างโควิด-19 อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนตัวเองไปหลาย ๆ อย่าง วันนี้เราเป็น startup ที่อยู่ในโหมดที่กำลังทำกำไร แล้วก็มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็อาจจะแตกต่างกับเรื่องราว startup เรื่องที่อื่น ๆ ที่หลาย ๆ คนเคยฟังมานิดหนึ่ง   The People : เชื่อในเรื่อง Third time's a charm ไหม (พยายายามถึงครั้งที่สามแล้วสำเร็จ) ไผท : จริง ๆ ผมเชื่อในเลข 3 เหมือนกันนะ กฎของเลข 3 Rule of three Third time's a charm ก็เป็นเรื่องที่ฟังดูใกล้เคียงกับที่ผมเชื่อนะ ผมเชื่อว่าการทำครั้งแรกบางทีมันก็อาจจะเป็นความบังเอิญ ไม่ว่าจะเป็นด้านดีก็เป็นความบังเอิญเนอะ อันไม่ดีก็เป็นแค่ 1 ครั้ง พอเริ่มทำอะไร 2 ครั้งมันเริ่มมีแพทเทิร์น แต่ 3 ครั้งเป็นจังหวะที่เหมาะสมมาก เพราะเราได้เรียนรู้แพทเทิร์น เราได้สะสมอะไรมามากขึ้นพอแล้ว   The People : เสน่ห์และจุดเด่นของ Builk One Group ไผท : ธุรกิจของผมจริง ๆ มันเริ่มจากการที่ผมอยู่ในวงการก่อสร้างมาตั้งแต่เด็กแล้วกัน ไม่ได้แปลว่าผมต้องทำก่อสร้างนะ คือผมเคยเห็นประเทศไทยยุคที่มันมีงานก่อสร้างเยอะ ๆ ผมนั่งรถไปโรงเรียน สมัยก่อนรถติดมากนะครับวันละ 2-3 ชั่วโมงผมนั่งติดอยู่วิภาวดี -รังสิต กำลังสร้างดอนเมืองโทลเวย์อยู่เมื่อประมาณ 25-30 ปีที่แล้ว เวลารถติดผมก็มองเครื่องจักร และผมก็มองเห็นมันว่ามันเหมือนกับเวลาเราเล่นเลโก้ มีคนมาต่อ มีคนมาเทปูน ผมมีความสุขกับโมเมนต์ที่ผมอยู่กับเครื่องจักรมาก ผมเลยเลือกเรียนวิศวะโยธา ธุรกิจของผมนี่มันต่อยอดมาจากความชอบสมัยเด็ก แล้วก็เรื่องที่เรียนมา ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนในชีวิตเนอะ การที่เราเรียนวิชาอะไรมาสักอย่าง 3-4 ปีในมหาวิทยาลัยคือต้นทุนที่เราเอาชีวิตไปแลกมา ธุรกิจของผมคือผมอยากจะเห็นวงการก่อสร้างมันดีขึ้น วงการก่อสร้างที่พบเห็นมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะรู้สึกว่ามันอันตราย มันสกปรก หรือว่ามันถึก ๆ แดดร้อนทำไมต้องไปทำตากแดดแบกปูนอะไรขนาดนั้นด้วย แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งคือมันดูมีสีเทา ๆ วงการก่อสร้างไม่เคยเห็นไซต์ก่อสร้างไหนเสร็จทันเวลามาก่อน เมกะโปรเจ็กต์ประเทศไทยมีแต่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก งบประมาณบานปลายแล้วงบประมาณบานปลายอีก ผมอยากทำธุรกิจที่มาเปลี่ยนจุดนี้ของวงการก่อสร้างให้ได้ ธุรกิจของผมชื่อ Builk  One Group ครับ เราทำซอฟต์แวร์ให้กับคนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้างหลาย ๆ คน ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง เราทำซอฟต์แวร์ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ คนที่สร้างรถไฟความเร็วสูง คนที่สร้างตึกสูงที่สุดในประเทศไทย เราทำซอฟต์แวร์ให้กับผู้รับเหมา SME ที่ไปต่อเติมครัวที่บ้านคุณ ไปรับสร้างโรงเรียนตามต่างจังหวัด เราทำซอฟต์แวร์ให้กับร้านวัสดุก่อสร้างที่ขายวัสดุก่อสร้างให้คนพวกนี้ เราทำซอฟต์แวร์ให้กับโรงงานผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เราทำงานซอฟต์แวร์ให้กับเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่กำลังผลิตบ้าน ผลิตคอนโดฯมาขายกัน แปลว่าเราเชื่อว่าวงการก่อสร้างมันมีคนที่เกี่ยวข้องเยอะ แล้วก็เทคโนโลยีในวันนี้มันสามารถเข้าไปช่วยคนแต่ละคนให้ทำงานดีขึ้นได้ แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ ถ้าทุกคนทำงานเชื่อมโยงกันได้ ทุกคนทำงานดีขึ้นคนละนิดคนละหน่อย เรามีคนหลาย ๆ คนถ้ามันเชื่อมโยงกันได้ ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้มันน่าจะดีขึ้น ตอนนี้ในบทบาทของบริษัทก็คือว่าเราเป็นผู้ช่วยไป transform องค์กรต่าง ๆ พวกนี้ให้ทำงานเป็นดิจิทัลให้มากที่สุด แล้วพอมันเป็นดิจิทัลแล้วข้อมูลมันจะเชื่อมโยงกัน พอข้อมูลเชื่อมโยงกันแล้วโอกาสต่าง ๆ มันก็จะอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของผมเอง โอกาสของเพื่อน ๆ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง หรือว่าคนที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ สามารถจะเข้ามา enjoy กับข้อมูลที่เป็นดิจิทัลได้มากขึ้น   The People : ลูกค้าต้องการอะไรจากเรามากที่สุด ไผท : ผมว่า pain point แรกมันคือผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง SME มาก่อน ปกติเราพอจะก่อสร้างได้ เรารู้ว่าบ้านมันจะสร้างด้วยอะไร มีเหล็กมีปูน แต่เราบริหารธุรกิจไม่เป็น ธุรกิจก่อสร้างเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เปิดจดทะเบียนมากที่สุด เวลากระทรวงพาณิชย์รายงานธุรกิจที่จดทะเบียนมากที่สุดได้แก่รับเหมาก่อสร้าง แล้วปิดกิจการมากที่สุดในแต่ละเดือนก็ได้แก่รับเหมาก่อสร้างเหมือนกัน นี่คือผลลัพธ์ที่คอนเฟิร์มว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมันกระโดดเข้ามาง่าย เหมือนวันที่ผมเริ่มต้นทำธุรกิจ ผมมีรถกระบะคันหนึ่ง ผมมีงานก่อสร้าง คนนู้นบอกให้ไปสร้างโรงงานให้หน่อย ผมเป็นได้เลย ไม่มีใบอนุญาตอะไรเป็นพิเศษเลย วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทข้อ 1 อยู่แล้วใน 20 กว่าข้อเริ่มต้น คุณสามารถเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้ ใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่ว่าพอเป็นแล้วความท้าทายคือมันจะบริหารยังไงดีวะ ผมว่าการบริหารธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ท้าทายที่สุด เพราะว่าคุณจะต้องใช้ยืมตา ยืมปาก ยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจไม่รู้กี่ทอด ต้องใช้ subcontractor ใช้แรงงานต่างด้าว เอาวัสดุก่อสร้างที่แต่ละไซต์ก็มีไม่เหมือนกัน ผมสร้างบ้านให้คุณก็เป็นแบบหนึ่ง ผมไปสร้างบ้านให้อีกคนหนึ่งสเป็กก็ไม่เหมือนกัน วัสดุไม่เหมือนกัน ความท้าทายมันคือต้องเอาไอ้องค์ประกอบเหล่านี้มาจัดการให้ได้ มันไม่เหมือนการผลิตอยู่ในโรงงาน วัตถุดิบมีอยู่ไม่กี่อย่างผ่านไลน์การผลิตที่มันชัดเจน วงการก่อสร้างไม่ค่อยชัดเจน เพราะงั้นความท้าทายคือการจัดการเรื่องที่มันหลากหลายและไม่ชัดเจนแบบนี้ pain point อันนี้ผมเคยสัมผัสมากับตัวเอง นั่นคือช่วงเวลาหนึ่งเลยที่ผมเอาตีนก่ายหน้าผากแล้วก็บริหารธุรกิจแบบมวยวัด วันนี้ผมตั้งใจว่าจะเอาประสบการณ์ของผมพร้อมกับเทคโนโลยี เปลี่ยนจากคำสอน ผมไม่อยากจะเป็นแค่อาจารย์ หรือเป็นแค่คนมาเล่าให้ฟังว่าทำธุรกิจแบบนี้ดีเพราะมีเครื่องมือให้ด้วย และแรงบันดาลใจของพวกเราก็คือว่าวันที่เราเป็น SME เราไม่มีตังค์ เราไม่คิดจะลงทุนด้วยซ้ำกับเรื่องซอฟต์แวร์ เราเลยทำซอฟต์แวร์ฟรีขึ้นมา builk.com เริ่มขึ้นมาเพราะว่าเราอยากจะทำซอฟต์แวร์ฟรีให้คนใช้มากที่สุด ซอฟต์แวร์ธุรกิจฟรี ๆ มันไม่ค่อยมีหรอกครับ ซอฟต์แวร์ธุรกิจอย่างน้อยก็ขอเก็บตังค์คุณเดือนละกี่บาทก็ว่ากันไปถูกไหม จะเช่าใช้รายเดือน หรือจะซื้อขาด business model ของซอฟต์แวร์ธุรกิจในประวัติศาสตร์มันมีแต่คิดแบบนี้มาตลอด แต่ builk.com เป็นธุรกิจแรกที่ทำซอฟต์แวร์ธุรกิจให้คนใช้งานฟรีเพื่อตอบโจทย์ pain point ของตัวเองด้ว อยากให้คนอื่นมองเรายังไง ในตอนนั้นผมคิดว่าผมอยากจะเป็นเพื่อนผู้รับเหมา วันที่ผมเฟลมาก ๆ วันที่ผมต้องไปโกนหัวแล้วผมไม่มีตังค์ ต้องเดินไปบอกลูกน้องว่าเฮ้ย ไม่มีเงินจ่าย ผมเข้าใจว่ามันมีคนแบบผมมีอีกเป็นหมื่น ๆ บริษัทที่เคยมีสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเราอยากจะกลับไปบอกเขาได้ คุณต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง คุณเอาเครื่องมือนี้ไปใช้สิ แล้วคุณจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ ความคาดหวังก็คือมีเพื่อนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไม่ตายเหมือนที่เราเคยตาย แต่ผมก็มี business model อยู่ได้ด้วยเหมือนกัน ผมคงไม่ได้ทำสิ่งนี้ฟรี ถึงแม้ว่าใจอยากจะยกระดับวงการก่อสร้างก็ตาม แต่พ่อผมไม่ได้รวยเอาตังค์มาให้จากไหน ผมก็ต้องหา business model ของเรา อันนั้นคือเรื่องของ startup ที่มันเข้ามา ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะต้องใช้เงินจากนักลงทุน เพื่อทำให้เราไปถึงบันไดที่ทำให้ฝันเราเป็นจริงทีละขั้น พอมันไปถึงแต่ละขั้น ผ่านไปแต่ละด่านมันก็จะค่อย ๆ แสดงศักยภาพของธุรกิจออกมา จากซอฟต์แวร์ฟรีมันจะอยู่รอดมาได้ยังไง วันนี้ผมกำลังขึ้นปีที่ 12 ของธุรกิจ Builk One Group ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว The People : โมเดลธุรกิจนี้สร้างรายได้อย่างไร ไผท : โมเดลของพวกเราคือพอเราทำโปรแกรมให้คนใช้ฟรี แล้วสิ่งที่เราได้มาคือปริมาณคนใช้ที่มันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เรามีคนใช้งานอยู่เป็นหมื่น ๆ บริษัทในประเทศไทยแล้วก็ในอาเซียนด้วย เขาเข้ามาทำงาน สิ่งที่แพลตฟอร์มได้มาก็คือเราได้ data ขึ้นมา แต่เป็น data ในเชิงกิจกรรมในงานก่อสร้าง วันนี้ใครเทปูนที่ไหน วันนี้ใครซื้อตะปูยี่ห้ออะไร วันนี้ใครซื้อเหล็กจากโรงงานไหน ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลที่ไม่เคยมีใครเก็บได้มาก่อน อยากจะเก็บข้อมูลแบบนี้ต้องส่งคนไปทำแบบสอบถามไม่รู้เท่าไหร่ แต่พอแพลตฟอร์มมันทำหน้าที่ของมัน แล้วข้อมูลแต่ละวันมีคนซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นร้อย ๆ ล้านบาททั่วอาเซียนก็อยู่ในระบบเรา มันก็เลยทำให้เราสามารถจะวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าแบรนด์ไหนเป็นแบรนด์อันดับหนึ่ง คนซื้ออะไร คนซื้อสิ่งนี้แล้วกำลังจะซื้อสิ่งใดต่อ เราได้เรียนรู้พฤติกรรมของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่หลาย ๆ คนไม่เคยเห็น ก็เลยเป็นที่มาว่าเราก็เข้าสู่ business model ของการทำ sponsorship มีแบรนด์ต่าง ๆ มาสปอนเซอร์เราในการขายสินค้าของเขาบนแพลตฟอร์มเรา มีการทำ e-Commerce ขายวัสดุก่อสร้าง พอคนซื้ออิฐแล้วจะต้องซื้อปูนฉาบต่อ ซื้อปูนฉาบเสร็จแล้วจะต้องซื้อสีต่อ อันนี้คือข้อมูลที่เรามี แล้วมันก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจแบบเรา หรือธุรกิจเพื่อน ๆ เราเข้ามาใช้ประโยชน์ของข้อมูลเซ็ตนี้ ข้อมูลเซ็ตนี้พอมันมีขึ้นมาแล้วมันช่วยลดความไร้ประสิทธิภาพของอุตสาหกรรม ลดความห่วย ช้า แพง สมัยก่อนร้านค้าก็ต้องมาเดาเอาเองว่าไอ้คนที่จะซื้ออะไรแล้วจะขายอะไร แต่วันนี้การเดามันลดลงไปมากเพราะมันมีข้อมูลพอมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นคุณก็สามารถจะใช้ต้นทุนที่ต่ำลงในการค้าขายในอุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น   The People : ลูกค้าของ Builk คือผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ใช่ไหม ไผท :  คือในช่วงเวลาหนึ่งธุรกิจของพวกเราก็อยู่บน business model ที่เป็นโฆษณา ก็จะมีแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เข้ามา advertising กับพวกเรา แต่มากกว่านั้นอีกเราก็มีช่องทางให้แบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาขายด้วย เป็น e-Commerce ด้วยเป็น marketplace ด้วย ธุรกิจมันเปลี่ยนผ่านไปตามอายุไขของมัน business model แบบนี้มันก็อยู่ได้มีอายุไขของมันเหมือนกัน พอตลาดมันเริ่มเปลี่ยนเพราะมันมี option มากขึ้นแล้ว ผมคิดว่าตัวผมเองก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน สิ่งที่มันเคยใหม่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้ธุรกิจผมก็ต่อยอดแตกแขนงไป วันนี้เรามีทีมงานอยู่ประมาณสัก 120 คน แล้วก็บริหารโปรดักส์อยู่ประมาณ 9 ตัว มี builk.com เป็นแกนหลักแกนหนึ่ง ก็คือซอฟต์แวร์ฟรีสำหรับ SME ขนาดเล็ก เรามีซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ผู้รับเหมาข้ามชาติ พวกนี้บริษัทใหญ่ ๆ เขาก็พร้อมจะลงทุนพร้อมจะจ่ายเงินได้ ซอฟต์แวร์ของผมก็เป็นซอฟต์แวร์แบบขายก็มี ซอฟต์แวร์แบบเช่าใช้ก็มี เรามีซอฟต์แวร์ไปให้ร้านวัสดุก่อสร้างใช้ เพราะว่าร้านวัสดุก่อสร้างก็ต้องขายของเข้ากับผู้รับเหมาพวกนี้ ก็ต้องมีระบบมาลิงก์กันให้ได้ เรามีซอฟต์แวร์ไปบริหารอาคาร เพราะตึกอาคารที่เขาสร้างเสร็จแล้วเวลาจะมีน้ำรั่ว มีแจ้งซ่อมอะไรต่าง ๆ เราก็มีระบบไปบริหารอาคารให้มัน smart ขึ้น แล้วก็ปัจจุบันนี้เรามีซอฟต์แวร์ไปตรวจสอบเรื่องคุณภาพ ใช้กล้อง 360 องศาไปดูไซต์ไกล ๆ เวลาผู้รับเหมาไทยไปรับงาน หรือดีไซเนอร์ไทย ผู้ออกแบบประเทศไทยไปรับงานอยู่ในต่างประเทศ บางทีเราติดโควิด-19 ไปดูไม่ได้ เราก็มีเทคโนโลยีของพวกเราไปช่วยให้เขาดูงานได้ วันนี้เราเป็น construction tech company อะไรที่มันยังมีความไร้ประสิทธิภาพอยู่ เราคิดว่าเรายังมี area ให้ลงไปทำอีก แต่เราโฟกัสมากกับวงการ construction เพราะคิดว่าวงการนี้หลาย ๆ คนก็มองข้ามนะ มันเหมือนเป็น support industry ของหลาย ๆ อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมอื่นจะเจริญ จัดตั้งโรงงาน EV จะตั้งโรงงานยารักษาโรคอะไรก็แล้วแต่ แต่ fundamental ของมันคือต้องมีใครสักคนที่ก่อสร้างดี ๆ แล้วก็นักลงทุนอยากจะกำเงินเข้ามาในประเทศไทย ลงทุน EEC ถามว่าเขากำลังไปเมืองจีนแล้วบอกว่าโรงงานรถไฟฟ้าสร้างใกล้เสร็จภายใน 12 เดือน แต่มาเมืองไทยบอกว่าผู้รับเหมาไทยแม่งสร้างเสร็จ 3 ปีอย่างนี้  นี่คือโอกาสของเศรษฐกิจไทยเหมือนกัน เราเชื่อว่าวันนี้เทคโนโลยีมันสามารถจะย่นระยะเวลาทำงาน ทั้งระยะเวลาที่เร็ว คุณภาพที่ดี และในราคาที่เหมาะสมได้ ผมรายได้อยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือรายได้จากค่าซอฟต์แวร์ ไอ้ค่าซอฟต์แวร์ทำให้คนเช่าใช้หรือว่าจ่าย มีปีละประมาณสัก 70-80 ล้านบาท แล้วก็ซีกหนึ่งผมมี data ที่เอามาขายวัสดุก่อสร้าง อันนี้บริษัทเราขายวัสดุก่อสร้างเองประมาณปีละ 500 ล้านบาท ก็มีรายได้อยู่ 2 ส่วนนี้ เมื่อกี้ keyword คือคำว่า supply chain คืออยากเล่าคำว่า supply chain ให้กับคนทำธุรกิจด้วยกันฟัง คือผมทำเรื่อง digital construction supply chain คือการทำให้ supply chain ในอุตสาหกรรมเป็นดิจิทัล supply chain จะมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง ไม่ใช่แค่การขนส่งเคลื่อนของ โลจิสติกส์อย่างเดียว ปกติแล้ว supply chain ประกอบไปด้วยของที่เคลื่อนจากคนคนหนึ่งไปหาคนอีกคนหนึ่ง อันนี้ flow ที่หนึ่ง  flow ที่สองก็คือเคลื่อนเงิน พอคนที่รับของเสร็จแล้วก็จะเคลื่อนเงินกลับไปให้คนที่ส่งของ แล้ว flow ที่ 3 คือ data ก็งานมันมีของ มันมีเงิน มันมี data ธุรกิจเราวิ่งอยู่บนนี้ วันนี้เราทำทางเลือก data ที่ทำให้คนส่งของจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้ ส่งคุณค่าจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้ แล้วก็ของด้วยเหมือนกัน เราก็ทำเรื่อง e-Commerce แล้วสุดท้ายเราก็จับมือกับธนาคารทำเรื่อง Fintech ในวงการ construction เหมือนกัน ทำให้ผู้รับเหมาที่แต่ก่อนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก แต่วันนี้พอเขาทำงานแล้วมี data สามารถจะวิเคราะห์ได้ว่าคนนี้มีความเสี่ยงระดับไหน ก็สามารถจะหาแหล่งเงินกู้ให้กับผู้รับเหมาที่เหมาะสมได้ แล้วก็เข้าถึงแหล่งเงินได้ถูกกว่าไปหาเงินกู้นอกระบบ   The People : แนวคิดการตลาดของ Builk ไผท : คือเริ่มต้นเดิมที Builk คิดว่าตัวเองเป็นธุรกิจ B2B (Business-to-business) ไม่ต้องให้ใครรู้จักมากก็ได้ แต่ขอให้คนในอุตสาหกรรมเรารู้จักก็พอ เราก็จะใช้เรื่องการทำออฟไลน์เยอะ เราเดินทางไปคุยกับคนที่เหมือนกับ เราเดินสายไปคุยกับมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องวิศวะ เรื่องบริหารงานก่อสร้างกับสถาปัตย์ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งมันเป็นช่วงที่บังเอิญฟลุกไปทำอะไรที่มันแมสขึ้นมาหน่อย คือเราไปทำแคมเปญตัวหนึ่งแล้วกลายเป็นไวรัลตอนปี 2016 ชื่อว่าเจ๊จูวัสดุก่อสร้าง จริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นไวรัล เพราะเราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นไวรัลอยู่แล้ว ด้วยความที่ไม่คาดหวังไว้มั้งว่าจะเป็นไวรัล แล้วพอเป็นไวรัลมันก็กลายเป็นเซอร์ไพรส์ มันเป็นครั้งหนึ่งของชีวิตที่ทำให้ไอ้แคมเปญที่เราทำกันเอง internal กะว่าให้ร้านวัสดุก่อสร้างดูแล้วรู้เรื่อง พอปรากฏว่ามันหลุดออกไปกลายเป็นชาวบ้านที่ไหนก็รู้จัก เด็ก ๆ ก็พอจะรู้จักว่ามีร้านวัสดุก่อสร้างออนไลน์ชื่อเจ๊จูวัสดุก่อสร้างขึ้นมา แต่อันนั้นคือเราเลือกว่าอันนี้จะเป็นตัวเราเองต่อไปไหม เราจะต้องทำให้มันแมสอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไหม ปรากฏว่าผมเองและทีมงานก็บอกว่ามันก็คงไม่ใช่ ยังไงโลกมันมี 2 ซีก มันเหมือนพระจันทร์มีด้านสว่างที่คนเห็นบ่อย กับมีด้านมืดที่คนไม่ค่อยเห็น เราเชื่อว่าด้านมืดมันใหญ่ไม่แพ้ด้านสว่างคือด้าน B2B คนที่ไม่เคยเห็นมันจะไม่รู้หรอกว่ามันใหญ่ขนาดไหน  แต่เราเองเราอยู่ในนี้เรารู้สึกว่าการทำการตลาดแบบ B2B มันน่าตื่นเต้นสำหรับเรามากเลยนะ วัสดุก่อสร้างแต่ละอย่างมันมีวิธีของมันมากเลยจะทำให้เป็นการขายแบบ B2B ได้ คุณอาจจะไปเห็นวัสดุก่อสร้างที่ไปขายลงโฆษณาตามรายการทีวี อันนั้นเขาทำการตลาดแบบ B2C แต่ข้างหลังบางคนพื้นที่เราเหยียบกันอยู่ยี่ห้ออะไรก็ไม่รู้แล้วนะ เพราะว่ากระเบื้องพอมันคว่ำไปเสร็จแล้ว แบรนด์มันก็ไม่เห็นแล้วนะ ของบางอย่างไปยืนฉี่ในห้องน้ำเห็นว่ายี่ห้ออะไร การตลาดบางอย่างต้องทำกับคน บางอย่างต้องไปทำกับช่าง บางอย่างต้องไปทำกับร้านวัสดุก่อสร้าง บางอย่างต้องมาทำกับสถาปนิก วิศวกร คนวางสเป็ก คือผมเป็นพวกการตลาดแบบ B2B แล้วก็วิธีทำการตลาดของธุรกิจเราก็จะเน้น B2B เป็นหลัก เราว่าเรามีองค์ความรู้ในการทำการตลาดแบบ B2B ที่ชัดเจนแล้วก็ apply กับอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ค่อนข้างดีแล้ว คือการทำการตลาดแบบ B2B มันมีเสน่ห์สำหรับผมอยู่ ก็คือว่าเวลาจะทำธุรกิจสู่ธุรกิจ ในธุรกิจที่เรากำลังจะไปหาเขาอยู่ มันมีความเป็นคนอยู่ด้วย บางทีเราไปเจอฝ่ายจัดซื้อ เราไปเจอฝ่ายบุคคล เราไปเจอฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ ในความเป็นคนเราต้องเข้าใจเขา เขาก็อยู่ในองค์กรซึ่งมีข้อจำกัด มีระบบระเบียบ มีการวางแผนงานเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเราจะขายของกับเขาได้ พี่ ๆ ฝ่ายจัดซื้อเขามี budget พอหรือเปล่า เขาต้องไปขออนุมัติใครบ้าง สุดท้ายก็จะกลายมาเป็นยอดขายของเราได้มันจะต้องผ่านกี่ด่านบ้าง กลยุทธ์แบบนี้มันเป็นกลยุทธ์ที่คน B2C อาจจะมองไม่ออก แต่คน B2B ก็ต้องฝึกสะสมประสบการณ์เหมือนกัน ทำยังไงให้เข้าถึงคนตัดสินใจพร้อมกับซัพพอร์ตคนทำงานไปด้วยกันพร้อม ๆ กัน ถ้าเถ้าแก่บริษัทหรือ CEO บริษัทลูกค้าเราบอกว่าเอา แต่ลูกน้องบอกว่าไม่เอา บางทีดีลก็ไม่จบเหมือนกันนะ ทำยังไงให้เราผ่านด่านลูกน้อง คนทำงาน คนจัดซื้อไปจนถึง decision maker คนสุดท้ายให้ได้   The People :โควิด-19 ที่ผ่านมาเจออะไรบ้างและแก้เกมอย่างไร ไผท : โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ผมว่าท้าทายบริษัทผมมาก ๆ เลย คือย้อนกลับไปตอนปี 2019 ตอนช่วงปลาย ๆ ปีมันเป็นช่วงเวลาที่วงการ startup ของโลกเองก็มีความท้าทายอยู่แล้วว่า มูลค่าของ startup มันเฟ้อเกินไปหรือเปล่า บางคนตอนนั้นจับตามองว่ามันเป็นฟองสบู่หรือเปล่า โชคดีที่มันไม่ได้เป็นฟองสบู่ใหญ่โตอะไร มันแตกโควิด-19 ซะก่อน คือตอนนั้นมันมี startup ชื่อดังอย่าง WeWork ที่มีมูลค่าธุรกิจเบ่งจนมากเกินไป แล้วนักลงทุนก็ตั้งคำถามว่านี่หรือเปล่าคือของจริง startup ที่ตาม ๆ กันมาก็โดนมองไปแบบนั้นด้วย ตอนปี 2019 กระแสของนักลงทุนที่มองต่อ startup คืออยากหาธุรกิจที่ทำกำไรไปพร้อมกับสเกลเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มันขัดกัน สมัยก่อนหน้านั้นธุรกิจ startup คือเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างเดียว ขาดทุนได้ คุณจะขาดทุนร้อยล้าน ขาดทุนพันล้าน ถ้าคุณยังรักษาระดับการเติบโตได้ เดี๋ยวสุดท้ายมันน่าจะเป็นธุรกิจได้นะ ยุคก่อนหน้านั้นคือนักลงทุนมองหาอย่างนั้น พวกเราเองเราเป็น startup ในปี 2015 ที่เราเริ่มระดมทุนมาจนถึง 2018-2019 เราก็เป็น startup ในโหมดที่ศัพท์ startup เรียกว่าเบิร์นเงิน คือระดมทุนมาแล้วก็เอาเงินมาใช้ฉีดให้มันเกิดลงทุน สร้างแพลตฟอร์มใหม่ ลงทุนการตลาด ลงทุนแบบ acquire คือสร้างฐานผู้ใช้ให้มันเยอะขึ้น พูดถึงแต่จำนวนคนใช้ พูดถึงแต่จำนวน transaction คุณมีปริมาณวิ่งอยู่เท่าไหร่อะไรอย่างนี้ แต่เรื่องขาดทุนปิดตาไว้ก่อน เพราะเราเชื่อว่าเราต้องยึดตลาดให้มันได้อย่างที่สุดก่อน แต่พอปี 2019 เกิดขึ้นมาปั๊บ ต่อด้วย 2020 ซึ่งตลาดเริ่มตกใจกับเรื่องโควิด-19 ด้วย ผมว่าเป็นช่วงเวลาที่บริษัทเราช็อกไปเลยว่าเราจะระดมทุนแบบ startup ต่อไปไหม หรือว่าเราจะกลับมาอยู่บนพื้นฐานของตัวเองดี เราก็ทำมาหลายปีแล้วนะ เราเริ่มมีโปรดักส์ มีแพลตฟอร์มอะไรสะสมไว้เยอะเต็มไปหมด แล้ววันนั้นเรามองว่าเราอาจจะยังหานักลงทุนลำบาก เพราะเราไม่ใช่ธุรกิจแบบ B2C e-Commerce อะไรขนาดนั้น เราเป็นธุรกิจ B2B นักลงทุนก็มีกลุ่มไม่ใหญ่นักที่จะสนใจธุรกิจแบบนี้ เพราะงั้นเราเลยจะต้องเลือกทางเลือกว่าเราจะเอาตัวรอดผ่านมาให้ได้ จากธุรกิจเราสมัยก่อนที่เคยขาดทุนปีละหลัก 10 ล้าน 20 ล้าน 30 ล้าน ปี 2020 เป็นปีที่เราปักธงว่าเราจะทำกำไรปีแรกให้ได้ จากคนที่ไม่เคยทำกำไรมานานแล้ว ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว ย้อนกลับไปตอนสมัยเป็น SME มุมมองของผมเหมือนเพื่อน ๆ  SME หลายคน คือเราทำธุรกิจให้มันมีกำไร ทำข้าวมาจานหนึ่งก็รู้อยู่แล้วต้นทุนมันเท่าไหร่ แล้วเราจะบวกเท่าไหร่ แล้วข้าว 1 จานที่เราขายได้จะกำไรเท่าไหร่ ผมทำซอฟต์แวร์สมัยก่อนผมก็คิดอยู่แล้วว่าโปรแกรมที่ผมตั้งราคาไว้มันจะมีส่วนกำไรเท่าไหร่ มันจะพอเลี้ยงบริษัทได้ยังไง แต่ผมปิดโหมดนั้นไปหลายปีมากเพราะเป็น startup ไม่ต้องพูดเรื่องกำไร พูดแต่ว่าเราจะ growth ยังไง เราจะไปหานักลงทุนยังไง ผ่านไป 2-3 ปีถึงเวลาไปหานักลงทุนคนถัดไปดีกว่า คนที่เชื่อว่าจะพาเราโตต่อไปได้ พอเราตัดสินใจว่าเราไม่ไปหานักลงทุน เราก็ต้องกลับมาสู่โหมดกำไร ผมเรียกว่าเราตั้งวอร์รูมขึ้นมาสู้วิกฤตด้วยกัน ตอนนั้นคือเรายอมรับเราบอกพนักงานตอนนั้นเรามีประมาณสัก 110 คน บอกว่าเราอยู่ในโหมดที่ท้าทายมากเลย ผมว่าเริ่มจากการที่ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์เหมือน ๆ กันก่อน คือก่อนหน้านั้นอาจจะไม่เคยรู้สึกว่าบริษัทแม่ขาดทุนมาก่อน เพราะว่าฉันก็มีออฟฟิศดี ๆ อยู่บนตึกแถวอโศก มีอาหารกลางวันให้กินฟรี มีสวัสดิการต่าง ๆ แบบที่มันควรจะมี แต่พอเจอโควิค-19 เข้าไป เราบอกว่าเรามาช่วยกันสู้หน่อย ผมคิดว่าเราอาจจะเหลือสายป่านอีกไม่นานแล้ว เราจะสู้สิ่งนี้มาได้ยังไง ขอให้น้อง ๆ หลาย ๆ คนปรับวิธีการทำงาน หรือว่าบางคนเปลี่ยนฟังก์ชันงานเลยไหม เปลี่ยนจากกองกลางมาเป็นกองหน้า บริษัทเหมือนกันบริษัทผมเป็นบริษัทที่มี engineer เยอะ ก็คือเป็นกองหลังพยายามจะผลิตซอฟต์แวร์มาเยอะ ๆ เลย กองกลางคือคนที่เอาซอฟต์แวร์ที่เราผลิตมาไปส่งมอบ ไปวางระบบให้กับลูกค้า ไปซัพพอร์ตให้กับลูกค้า กองหน้าคือคนขาย มีคนลากตาข่ายอยู่ไม่กี่คน สมัยก่อนผมเหมือนเราเล่นบอลกันอยู่ แบบ 5-4-1 ผมทิ้งกองหน้าไว้ตัวเดียว แล้วก็ไม่ค่อยได้เน้นเรื่องการทำประตูเท่าไหร่ แต่พอโควิด-19 มาเราเปลี่ยนสูตรเลย อาจจะขยับมาเป็น 4-3-3 อย่างนี้เลย  กองหน้าเราเพิ่มขึ้น ขอให้น้อง ๆ หลาย ๆ คนที่แต่ก่อนไม่เคยขายของ มาก่อนวันนี้โปรดักส์ก็ทำมาเองกับมือแล้ว เคยเจอลูกค้ามาเองแล้ว ออกไปช่วยกันขายหน่อยได้ไหม หลาย ๆ อย่างก็พอได้รับความร่วมมือจากทีมงานในวอร์รูมของเรา กางตารางขึ้นมาเลยว่ามีมันมีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่เราจะลองทำกันช่วงวิกฤตนี้ อะไรที่เราไม่เคยทำเราอาจจะมีเวลาไม่มากนัก เราจะลองทำอะไรแล้วผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง มันเป็นช่วงเวลาที่เริ่ม work from home ผมจำได้ว่ามันคือมีนาคม 2020 เริ่มคุยกันผ่าน Microsoft Team แล้วก็ setup ระบบขึ้นมา เราจะเปลี่ยนวิธีการทำงานยังไง ทำไปสัก 2 เดือนผมเริ่มเปิดโหวตให้กับน้อง ๆ ว่าเราจะลดต้นทุนอะไรได้อีกบ้างโดยที่ไม่ลดต้นทุนพนักงาน ผมเชื่อว่าการลดเงินเดือนพนักงานคือสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำ ทำไมผมถึงคิดอย่างนั้น เพราะผมเคยทำมาก่อนแล้วตอนที่ผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ผมเคยลดเงินเดือนพนักงาน ผมเคยจ่ายเงินเดือนพนักงานช้า อันนั้นคือความรู้สึกที่ยังฝังใจผมอยู่เลยว่ามันเป็นเรื่องที่มันเจ็บปวดมากสำหรับผู้บริหาร มันจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างนั้นเมื่อถึงเวลา แต่ถ้าเราเลือกได้แล้ว เรายังไม่ถึงเวลาขนาดนั้น เราจะตัดสินใจอะไรก่อน ตอนนั้นเราถามน้อง ๆ ว่าเราจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกันได้ไหม ผมจะลดเงินเดือนเป็นอันดับสุดท้าย ผมจะตัดคนเป็นอันดับสุดท้าย อะไรที่เราตัดได้ก่อนบ้าง ออฟฟิศ startup ของพวกเรานี่แหละ แต่ก่อนเราเช่าออฟฟิศอยู่ 2 ชั้น ชีวิตความเป็นอยู่ดี๊ดี ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการทำงานจะเกิดอะไรขึ้นนะ ตอนนั้นกระแส work from home เริ่มมา สมัยก่อนผมว่าผมก็ไม่ได้คิดเยอะเรื่อง work from home ผมรู้สึกว่าเรา work from home ได้ น้อง ๆ คง work from home ได้แล้ว แต่ก่อนเรามาทำงานได้น้อง ๆ ก็คงมาทำงานได้เหมือนกัน แต่ก่อนออฟฟิศเราอยู่อโศก คือน้องบางคนอยู่รังสิต บอกผมว่านั่งมอเตอร์ไซค์มาปากซอย แล้วก็ต่อรถเมล์มาต่อ BTS แล้วก็มาต่อ MRT หนูถึงมาถึงออฟฟิศ เสียเงินวันละขาไป 150 บาท ขากลับอีก 100 กว่าบาท ไม่รวมระยะเวลาที่ติดอยู่กับรถเมล์แถวรังสิตอีกเป็นชั่วโมง ผมไม่เคยคิดเลยนะ ยอมรับจริง ๆ ว่าผมได้ realize หลายอย่างว่าต้นทุนของพนักงานผม เขาก็มีทั้งต้นทุนการเงิน ต้นทุนเวลา ถ้าเราเอาสิ่งนี้กลับไปคืนเขาได้ แล้วก็ชีวิตมันก็น่าจะดีขึ้นกับทุกคน เราไม่ต้องบังคับให้ทุกคนต้องมาทำงานให้เราเห็นหน้าด้วยความเชื่อแบบ startup คนต้องมาเจอหน้ากัน งานครีเอทีฟคนต้องมาประชุมกัน มันเลยเกิดเป็นไอเดียของพวกเราขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นเอาออฟฟิศไปใกล้บ้านน้องดีไหม ออฟฟิศเราไม่ต้องไปอยู่รวมกันที่เดียวก็ได้นี่นา แต่ก่อนออฟฟิศอโศกค่าเช่าก็แพง ถ้าเราย้ายมีออฟฟิศอยู่รังสิตบ้างล่ะ มีออฟฟิศอยู่ฝั่งธนฯ มีออฟฟิศอยู่บางนา แล้วมีออฟฟิศอยู่หลาย ๆ ที่ต้นแบบของเราก็ครูพักลักจำเขามาเนอะ การทำงานแบบ Hybrid office มันอาจจะยืดหยุ่นได้ แล้วแถมยังลดต้นทุนได้อีก เราลดค่าเช่าออฟฟิศจำนวนมหาศาลจากการเปลี่ยนนโยบายมาเป็น Hybrid office การเข้าทำงานแต่ก่อนต้องเชื่อใจกันไหม ต้องมาตอกบัตรไหม จริง ๆ ออฟฟิศเราก็ไม่ได้ตอกบัตรอยู่แล้ว แต่ว่าเราเปลี่ยน protocol เปลี่ยนกระบวนการทำงานมาเป็นการเช็กอินแทน 8 โมงครึ่งผู้บริหารจะต้องเช็กอินเข้ามาในวอร์รูมก่อน ผมก็จะมีกลุ่มของผม วอร์รูมก็คือเหมือนกำลังสู้กับศึกอยู่ วันนี้เราก็ประชุมวอร์รูมมาตั้งแต่เริ่มโควิด-19 มาจนถึงวันนี้จนเป็นนิสัยใหม่ของบริษัทไปแล้ว เราประชุมวอร์รูมกันทุกวัน 8 โมงครึ่ง แล้ว 9 โมงนิด ๆ ก็แยกย้ายกันไปเข้าทีมใครทีมมัน ตอนเย็นก็มีเช็กเอาต์ของแต่ละทีม กระบวนการใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ บริษัทเปิดให้คุณใช้หมด แล้วก็มีพี่ดูแลน้อง มีหัวหน้าทีมดูแลลูกน้องในทีมแล้วก็เริ่มทดลองแบบนี้มากขึ้น ออฟฟิศก็เลยลดขนาดลงได้ ตอนนี้เรามีแกนออฟฟิศเรียกว่า core office อยู่ที่อโศกอยู่ก็จริง แต่ขนาดเล็กลงไปมาก แล้วเราก็ไปเช่า co-working space อยู่ 9 โลเคชั่นรอบ ๆ กรุงเทพฯและในต่างจังหวัดด้วย บ้านใครใกล้ตรงไหน ใครอยากจะทำ workshop กับใครที่ไหน ใช้ออฟฟิศตรงไหนก็ไปใช้ตรงนั้นได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่อโศก หลัก ๆ ก็ยังทำงานที่บ้านกันอยู่ผ่านเครื่องมือที่เป็นดิจิทัล แล้วก็ถ้าถึงเวลาที่จะต้องมา interact กันคือมา workshop มาช่วยกันระดมสุมหัวกัน บริษัทเตรียม facility ไว้ให้ ทุกคนได้ทำงานแบบเดิมได้ ก็เป็นวิธีแบบใหม่ที่พวกเราทำ แล้วเราก็เห็นน้องบางคนกลับไปทำงานที่ต่างจังหวัด เขายังสามารถ deliver งานของเขาได้ เขายังสามารถเขียนโปรแกรม ทำกราฟฟิกส่งกลับมาที่กรุงเทพฯได้ โดยที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวของเขาได้ กินข้าวไข่เจียวที่แม่ทำ แต่เงินเดือนเท่ากับตอนอยู่อโศก โดยที่เงินเดือนไม่ได้ลดแต่คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ทั้งหมดนี้จริง ๆ มันไม่ใช่นโยบายที่ผมคิด ผมให้น้อง ๆ โหวตกัน คือบริษัทเราก็ใช้เครื่องมือโหวตกันบ่อยก็อยากใช้นโยบายนี้ไหม แต่ว่าสิ่งที่แลกมาคือสิ่งนี้นะ หรือว่ากลับไปสู่นโยบายเก่า ออฟฟิศก็เปิดได้แต่ว่าก็กลับมาอยู่ที่นี่ด้วยกัน สุดท้ายคน 90% โหวตว่าอยากใช้ชีวิตแบบ Hybrid office แต่ยังไงทุกคนต้องช่วยกันรักษานโยบายนี้ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ผมไม่ได้เป็นแนวแบบบังคับ หรือว่าบี้ไปมันกลายเป็น culture ของพวกเราว่าเราอยากจะรักษาสิ่งดีไปด้วยกัน ทำมานา 2 ปี ผลที่ออกมาจากการมี Hybrid office ผมคิดว่าคนที่ไม่ฟิตก็ออกไป คนที่ไม่ฟิตแปลว่าตัวเขาเองไม่สามารถจะ control การทำงานแบบนี้ได้ แล้วก็เพื่อนรอบ ๆ ตัวเขา สังคมเล็ก ๆ รอบตัวเขา หัวหน้างานเขาก็เห็นว่ามันไม่เหมาะ เขาก็ออกไป แต่ว่าคนที่คิดว่ามันเหมาะก็พยายามจะรักษาสิ่งนี้ไว้ได้อยู่ ช่วงที่พีค ๆ เลยก็คือเราคิดว่า productive มากขึ้นมาก ๆ productivity มันสูงขึ้นมาก ๆ แต่ผมคิดว่าอันนั้นมันเป็นเหมือนทุกอย่างในชีวิตมันจะมีขาขึ้นแล้วก็มีช่วงปรับฐาน วันนี้เราไม่ได้พีคขนาดแต่ก่อน แต่คนก็เรียนรู้ว่าการ work from home มันทั้ง drain พลังงานชีวิต แยกแยะตัวเองไม่ออก แต่วันนี้เราเริ่มเรียนรู้อยู่กับมันได้แล้ว มันเริ่มแยกแยะตัวเองออก เราเริ่มชัดเจนขึ้นว่าการแชทในช่องทางไหนแปลว่าเรื่องด่วน การแชทช่องทางไหนเรียกว่าไม่เร่งด่วน ผมอาจจะทักน้อง ๆ ไปวันเสาร์-อาทิตย์บ้าง แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องตอบ ถ้ามันผ่านในช่องทางแชทที่ไม่ได้เร่งด่วน ถ้าเร่งด่วนผมหยิบโทรศัพท์โทรแล้ว อันนั้นคือเราจัด piority ของช่องทางการสื่อสาร ทำให้คนเข้าใจว่าวิธีการทำงานแบบที่เชื่อใจกัน แบบที่ทำงานรีโมทได้มันจะอยู่ด้วยกันได้ยังไง วันนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของคนที่เรามีอยู่กับระบบที่เราออกแบบไว้ หลังจากนี้ก็ยังมีความท้าทายอยู่บ้าง อย่างเช่น การเริ่มต้นพนักงานใหม่ การที่มีพนักงานใหม่เข้ามาจะมีพี่เลี้ยงดูแลยังไง การที่สมัยก่อนมีห้องประชุม มีห้องผู้บริหารนั่งอยู่ น้อง ๆ เข้ามาเคาะประตู พี่ครับขอคุยด้วยหน่อย one on one หน่อย แต่วันนี้มันแค่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นออนไลน์แล้ว ผมก็มีสเตตัสสีเขียวอยู่ ใครอยากจะมาน็อก ๆ อยากจะมาคุยเมื่อไหร่ก็คุยได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะเลยก็คือหลาย ๆ ฟังก์ชัน อย่าง HR บริษัทเราเปลี่ยนฟังก์ชันไปเลย จากที่สมัยก่อน HR ก็คือการนั่งอยู่ในห้อง รอคนเอามายื่นเอกสาร ทำเอกสารส่ง วันนี้ HR ผมกลายมาเป็น vlogger ทำคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ มีทั้งฝ่ายเข้ามาออฟฟิศ HR ก็ตั้งกล้องสัมภาษณ์ หรือไม่งั้นก็ทำ zoom สัมภาษณ์กัน พาไปทัวร์บ้านกลายเป็นคนเล่าเรื่องในออฟฟิศไป เพราะคน 120 คน ปัจจุบันนี้ 120 เกือบ 130 คน บางคนไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรามีเพื่อนร่วมงานอีกเป็นร้อยคน 3 เดือนทีเราก็จะมีมีตติ้งใหญ่ทีหนึ่งเรียกว่า all hand มาเจอกันที น้อง ๆ บางคนก็บอกที่ออฟฟิศเราใหญ่ขนาดนี้เลยเหรอ แต่ว่าวันธรรมดาเราใช้ระบบ honor system อยากให้คนอื่นทำยังไงเราก็ทำอย่างนั้นกับเขาก่อน ไม่อยากให้คนอื่นทำยังไงก็อย่าทำอย่างนั้นกับเขา แล้วสุดท้ายอย่าโกหก ที่นี่ไม่มี โซตัส ที่นี่มีแต่ honor system แล้วเราก็อยู่กันมาแบบนี้ ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว The People : Builk One Group มีความเป็นตัวตนของคุณอยู่ในนั้นอย่างไรบ้าง ไผท :  ตอนแรก ๆ มีเยอะมาก คือผมว่าวันที่เริ่มทำ startup มันก็คือฝันของเราแล้วก็พอมีน้อง ๆ มา โอเค เราขายฝัน น้อง ๆ ก็มาร่วมฝันกับเรา มีความเป็นเราค่อนข้างสูง แต่พอทำไปสักพักหนึ่ง ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากจะปล่อยให้ Builk One Group มันเป็นโบ๊ทเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะว่ามันต้องมีพื้นที่ให้คนอื่นเขาฝัน แล้วก็เติมความเป็นเขาเข้ามาในนี้ไปเรื่อย ๆ ถามว่าวันนี้มันผ่านมา 10 กว่าปี ผมว่ามีความเป็นผมอยู่ก็คงเป็นกรอบกว้าง ๆ แล้วแหละ แต่ละพาร์ทมันเริ่มมีองค์ประกอบใหม่ ๆ โผล่ขึ้นมา มันเป็นองค์ประกอบที่บางอย่างผมก็ขัดใจนะ เพราะมันไม่ใช่ผม แต่ว่ามันกลับใส่เข้ามาแล้วมันกลมกล่อมขึ้น คือถ้ามันเป็นบริษัทที่แม่งชื่อโบ๊ทวันกรุ๊ปนะ แม่งคงเจ๊งไปแล้วเอาอย่างนี้ดีกว่า ผมก็มีสไตล์การทำงานแบบหนึ่งมีทั้งข้อดีแล้วข้อไม่ดี ผมอาจจะมองโลกสวย มองว่าอะไรกูแม่งทำได้เต็มไปหมดเลยตัดสินใจเร็ว แต่พอในวันนี้บริษัทมันเริ่มเติบโตแข็งแรงขึ้นมา มีวุฒิภาวะระดับหนึ่ง แล้วมันก็จะมีหลาย ๆ ที่ไม่ใช่ของผม ตัวผมเองผมมอง ไม่รู้เป็น disorder หรือเปล่า ผมมองหลาย ๆ อย่างเป็นสี แล้วผมก็มาจะคิดแบบติงต๊องของผมตั้งแต่เด็กว่าถ้าผมมี cosmo cosmo ผมจะสีเหลือง ผมเป็นคนชอบสีเหลืองมาก เพราะสีเหลืองมันคือ energy มันคือ hope มันคือความสดใสมั้ง ผมรู้สึกว่าแล้วผมอยู่ไซต์ก่อสร้าง ผมเห็นเครื่องจักรสีเหลืองมาตั้งแต่เด็ก ผมรู้สึกว่าสีเหลืองมันคือสีของผม ผมชอบสีเหลืองมาก ตอนทำ branding ตอนทำทุกอย่างผมก็ยังจะยัดสีเหลืองเข้าไปในธุรกิจ ทุก element ของผม โลโก้ผมก็ดีไซน์เอง corporate identity ผมก็ทำเอง ทุกอย่างแม่งเป็นสีเหลืองไปหมดเลย แต่วันนี้ผมรู้สึกว่าบริษัทผมแม่งมีหลายสีแล้ว มันมีสีม่วง ๆ เขียว ๆ ส้ม ๆ มาจากคนหลาย ๆ คนมาจาก Manager ใหม่ ๆ ที่บางคนเขาเข้ามาช่วยผมในวันที่บริษัทมันเริ่มเติบโตขึ้น ถ้าผมยังเอาความเป็นเหลืองไปยัดให้กับเขา หรือเอาสีเหลืองผมไปเจอกับสีม่วงของคนบางคนแม่งคงเป็นสีเน่า วันนี้ผมว่าผมมีถาดสีที่มีสีเหลืองอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วก็มีสีอื่น ๆ  ครบ กลมกล่อมดี แปลว่าไม่ได้เป็นบริษัทผมซะทีเดียว แล้วผมมีนักลงทุนนะ ถามว่านักลงทุนนี้เป็นคนที่ยกจานสีขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ถามว่าบางอย่างมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไปซะทั้งหมดหรอก แต่ก่อนเราเริ่มทำธุรกิจ เราเคยคิดว่าเป็นเจ้าของธุรกิจมันคือเป็นเจ้าของ คือเราคิดเองทุกอย่างแล้วมันจะเป็นของเรา พอเริ่มทำมาจริง ๆ ลูกค้าก็มีผลกับธุรกิจผม ลูกน้องก็มีผลกับธุรกิจผม นักลงทุนก็มีผลกับธุรกิจผม ทุกคนที่แม่งเป็นรอบ ๆ เรามันมีผลกับธุรกิจเราเต็มไปหมด แปลว่าคำว่าธุรกิจส่วนตัว หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจมันมีปัจจัยอื่น วันนี้ถ้าตอบผมมองภาพเป็นแบบนี้   The People : หลัง ๆ นี้ไม่ค่อยใส่เสื้อเหลืองบ่อย ๆ แล้ว ไผท : ใช่ ๆ รู้สึกว่าก็ไม่อยากจะยัดเยียดความเป็นสีเหลืองไปให้คนทุกคนขนาดนั้น ผมใส่เหลืองทุกวัน ในตู้ผมแม่งมีแต่สีเหลือง (หัวเราะ) แล้วจริง ๆ ตอนนี้คือพยายามจะลดอีโก้ ลดอัตตาของตัวเองลงด้วยมั้ง แล้วก็คิดว่า 2 ปีที่ผ่านมาโควิด-19 ด้วยแหละ มันทำให้กระเทือนเราหลายอย่างมากเลย สมัยก่อนเราคิดว่าเราเป็น startup จะใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์แล้วก็ไปพ่นความเป็นตัวเองออกไปให้คนรู้จักเยอะ ๆ อันนี้ไม่ใช่คิดว่าความเป็นตัวเรา วันที่ธุรกิจมันล้ม วันที่เราป่วย วันที่เราเห็นคนรอบข้างป่วย เฮ้ย มันมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มันไม่ใช่ธุรกิจอยู่เยอะมากเลยนะ ต่อให้ธุรกิจมีร้อยล้านแต่มึงหาเตียงโควิด-19 ให้ญาติไม่ได้ โมเมนต์หลัก ๆ ที่มันเจอขึ้นมาคือว่าเสียคุณแม่ พอคุณแม่เสียเป็น taking point ของชีวิตเหมือนกันว่าเออ กูทำงานหนัก แล้วก็ชีวิตมันคืออะไรวะ ตอนช่วงโควิด-19 พอดี คือตอนแม่เสียนี่คือล็อกดาวน์ด้วย ห้ามขับรถไปรับศพแม่ เฮ้ย คืออะไรวะเนี่ย ทำไมกูต้องมาเจออย่างนี้ มันก็เลยเปลี่ยนมุมมองไป   The People : มองว่าอีโก้สำคัญและไม่สำคัญอย่างไร ไผท :  both ways เปลี่ยนไปเหมือนกันว่าพอเราเริ่มแผ่วตัวเอง ถามว่าแผ่วในแง่ของความหิว ความกระหายหิวไฟไหม ไฟในความคิดสร้างสรรค์ คิดว่าไม่ได้แผ่วไป แต่ว่ามันเริ่มเห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งที่แต่ก่อนเราไม่ได้มอง เหมือนเราวิ่งเร็ว ๆ อยู่ เหมือนรถมันกำลังวิ่งเร็ว ถ้า startup นี่คือมันวิ่งเร็วมาก กูจะ growth กูจะแม่งเติบโต กูจะลงทุนอีก 100 ล้าน คิดอย่างนั้นอย่างเดียวโดยที่มันไม่เคยเหลือบมาดูด้านอื่น ๆ บ้าง เราก็สนุกเนอะโมเมนต์สำคัญ ก็คือว่าพอเริ่มมีเรื่องครอบครัวด้วย มีลูกกำลังจะเป็นวัยรุ่น รู้สึกว่าเฮ้ยโมเมนต์ที่เราเคย enjoy มาก ๆ กำลังจะหมดแล้วว่ะ ตอนลูก 10 ขวบเริ่มรู้สึกว่าเขากำลังมีห้องส่วนตัว แล้วกำลังจะเริ่มแยกไป ตอนเราเป็นเด็ก 12 เราก็ไม่อยากเจอพ่อแม่เรา เราจะเข้าใจเขาได้ถึงเมื่อไหร่ เราก็อยากจะ challenge ตัวเองว่าเราจะเป็นเพื่อนลูกได้ถึงเมื่อไหร่ โมเมนต์เหล่านี้เราจะเสียมันไปไหมนะในขณะที่เรากำลังวิ่งรถเร็ว ๆ อยู่ หรือเราจะรู้จักผ่อนคันเร่งบ้าง หรือว่าหาคนอื่นมาช่วยเสริมกำลังขับเคลื่อนอะไรอย่างนี้บ้าง มันก็เป็นการสร้างองค์กร สร้าง culture สร้างวิธีคิดใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ถามว่ารู้สึกยังไง ก็กลัวอยู่เหมือนเดิม สเต็ปยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน ก็คือว่าถ้ามันมีขาอยู่ 2 ขา ขาหนึ่งก็กลัวว่าจะโดน disrupt กลัวจะตกขบวน กลัวว่าเฮ้ย กูจะทำให้สำเร็จ กูจะเป็น startup ที่แก่ที่สุดในไทยแล้วเฟลให้คนอื่นดูหรือเปล่าวะ ก็กลัวแบบนั้นเหมือนกันนะ raise fund มาได้ก่อนใครเพื่อน สุดท้ายแม่งเจ๊งก่อนใครเพื่อน ตายเพราะโควิด-19 หรือเปล่าวะ ตอนนั้นเราคิดอย่างนั้น หรือว่าอีกทางหนึ่งก็คือว่าเราจะข้างหนึ่งคืออยากสำเร็จ ข้างหนึ่งคือกลัวตาย ก็วิ่งกันอยู่อย่างนี้ ไฟมันก็เลยยังมีอยู่บ้าง วันนี้อยากเป็นตัวอย่างให้กับน้อง ๆ หรือว่าให้ลูกตัวเองดู หลัก ๆ คือบอกว่าเฮ้ย พ่อไม่ได้เก่งอะไรมากมาย แต่พ่อพยายามแล้วก็ฝ่าวิกฤตมาได้ พยายามจะเล่าให้ลูกฟังต่อได้ เพราะตอนนั้นตอนเจอโควิด-19 เคยโดนสัมภาษณ์แรก ๆ เลย คิดว่าจะรอดไอ้นี่ไปแล้วจะทำอะไรต่อ หรือถ้าไม่รอดจะทำยังไง ผมคิดอย่างเดียวตอนนั้นคือผมเคยได้ยินผู้ใหญ่รุ่นก่อนผมบอกว่ารอดตอนต้มยำกุ้งมา แล้วมาเล่าให้ฟัง คนไม่รอดก็มาเล่าให้ฟังในอีกแบบหนึ่ง คนรอดก็มาเล่าให้ฟังในแบบหนึ่ง ผมโคตรชอบโมเมนต์นั้นเลย ตอนที่ผมมาเป็นผู้ประกอบการเพราะคนเหล่านั้น วันนี้ผมอยากจะรอดโควิด-19 หรือว่าต่อให้ผมไม่รอด ผมว่าผมได้มีบทเรียนอะไรที่มันเป็น lesson learned มาให้ผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ที่ผมพอจะเป็น inspiration เขาให้ได้ในยุคถัดไปฟังว่าผมแก้โควิด-19 มาได้ยังไงวะ การมีส่วนร่วมการยอมรับ การยอมทำอะไรใหม่ ๆ การลดอีโก้ลง มันคือทางรอดของผมตอนโควิด-19 คือถ้าผมยังมีอีโก้อยู่ เฮ้ย กูยังเป็น startup หน้าใหญ่อยู่ ออฟฟิศกูยังต้องใหญ่อยู่ กูยังต้องบอกพนักงานอยู่ว่าชีวิตกูแม่งยังดีอยู่ ผมว่าผมอาจจะไม่รอดว่ะ ผมยอมมาทำสิ่งที่ผมไม่เคยคิดจะทำมาก่อน ยอมฟังทางรอด บอกให้ทุกคนเฮ้ย กูไม่ไหวว่ะ มาช่วยกันหน่อยดิ มีไอเดียอะไรทุกคนลงมาหมดเลย แล้วลงมือทำกันเร็ว ๆ ความเป็นฮีโร่ของ CEO founder มันไม่ใช่ทางออก  คือผมว่าไม่หรอก ผมเชื่อว่าจริง ๆ แล้วเราเลือกที่จะฟังแบบนั้นเพราะมันง่าย ในความเป็นจริงผมก็เชื่อว่าในทุก ๆ องค์กร โอเค leader มันสำคัญ แต่ในนั้นมันมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง แต่เราไม่มีโอกาสได้ฟัง คือเรื่องราวของเบอร์สอง เบอร์สาม จริง ๆ บางคนแม่งเจ๋งไม่แพ้เบอร์หนึ่ง แต่กล้องมันจับเบอร์หนึ่งแค่นั้นเอง อย่างนี้ผมคิดว่าจริง ๆ ผมรอดมาได้ไม่ใช่เพราะผมเก่งอะไรเลย เพราะว่าน้อง ๆ เบอร์สอง เบอร์สาม แม่งช่วยกันเก่งมาก แล้วมันไปถึงทุกคนเลยเบอร์ 120 ก็ช่วยกัน แล้วก็จะถามว่าเรื่องฮีโร่เหรอ มีคำถามที่แบบถามว่าจะต้องมีไอดอลไหม เราอ่าน biography ของคน หรือเราฟังพอดแคสต์ หรือเราดูคลิปว่าคนนี้เจ๋ง คือแบบที่บอกผมมองว่ามันคือการเล่าเรื่องด้านเดียว มันน้อยครั้งมากที่เขาจะมาแสดงความไม่เข้มแข็ง หรือว่ามาแสดงความสงสัยให้เราดู เราไม่เห็นกระบวนการคิดนั้น เขาอาจจะมีเพื่อนเขาเป็นคนเรียบเรียงความคิดให้ เขาเป็นแค่ front line คนที่น่าจะเป็น stage man ที่อธิบายเรื่องนี้ออกมา เวลาฟังตอนนี้คือพยายามจะฟังหลาย ๆ มุม แล้วก็ทุก ๆ อย่างแหละมันมีคนชอบและมีคนเกลียดเสมอ มีคนที่สำเร็จและมีคนที่ตั้งคำถามกับความสำเร็จของคุณ คือผมเริ่มรู้สึกว่าโลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ เข้าใจโลก เข้าใจธุรกิจ เข้าใจการเมือง เข้าใจชีวิตในอีกแบบหนึ่ง ไผท ผดุงถิ่น : BUILK One Group วันที่สีองค์กรไม่ได้มีแต่ ‘สีเหลือง’ อย่างเดียว The People : หนังสือที่อยากแนะนำที่มีอิทธิพลกับคุณ ไผท : ผมว่าสิ่งที่ทำให้ผมเป็นผมวันนี้มาจากหนังสือที่ผมเคยอ่าน แต่ว่ามันคงหนังสืออินดี้ ๆ หน่อย ชื่อ ‘Karaoke Capitalism’ เป็นหนังสือที่ผมเริ่มอ่านตอนปี 2000 ต้น ๆ จำปีไม่ได้ 2004-2005 แล้วแหละ คือเราเป็น wannabe entrepreneur คนยุคที่แล้วมันไม่ได้มีเครื่องมือหรือองค์ความรู้อะไรมากมาย สมัยก่อนผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างผมฟังวิทยุ วิทยุคือครูคนแรกของผม แล้วก็รายการ business อย่างนี้อาจารย์ธันยวัชร์ (ไชยตระกูลชัย) คุณอาทิตย์ โกวิทวรางกูร พูดอยู่ในวิทยุผมขับรถไปเก็บเช็ค หรือผมขับรถไปดูไซต์งานก่อสร้าง ผมก็จะฟังแล้วกลางคืนผมก็จะมานั่งเขียน ๆ ผมฟังอะไรวะ ชอบ ๆ อะไรบ้าง อาจารย์แกก็จะแนะนำหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ แนะนำ CEO คนนั้นคนนี้ ผมก็รู้จักจากวิทยุ CEO ที่ผมฟังจากอาจารย์ธันยวัชร์แล้วผมก็ได้อ่านหนังสือจาก ในสมัยก่อน โอ้โหแม่งแบบ… ก็คือคุณ Sigve Brekke (ประธานและซีอีโอของกลุ่ม Telenor) คือเราก็มองเขาในแง่แบบตอนเด็ก ๆ ทุกคนพยายามจะยึดหาไอดอล เราก็เห็นว่าคุณ Sigve แม่งไอดอลเว้ย แต่เราอยากเข้าใจคุณ Sigve มากกว่าเดิม คุณ Sigve เป็นอะไร แล้วมีบทความถึงคุณ Sigve บอกว่าเขาอ่านหนังสืออะไรบ้าง ผมก็ไปอ่านหนังสือทุกเล่มที่คุณ Sigve เมนชั่นถึงนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าเราอยากจะย้อนกลับไปทำความเข้าใจคนที่เราชื่นชอบ ตอนนั้นเด็ก ๆ ต้องมีไอดอล แต่ตอนนี้โตขึ้นมาถามไอดอล ผมผมตอบไม่ได้เลย ปรากฏว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่คุณ Sigve เมนชั่นถึงชื่อ Karaoke Capitalism เป็นโปรเฟสเซอร์ที่จากสวีเดน แล้วก็ผมคิดว่าหนังสือ mainstream ที่เพื่อน ๆ อ่านกันตอนนั้นคือ ‘พ่อรวยสอนลูก’ หนังสืออะไรที่คนอ่านกัน ความรู้สึกว่าผมอ่านแค่คำนำแล้วก็อ่านบทสรุปนิดหน่อยผมก็วาง ผมอยากหาหนังสือที่แม่งแบบคนอื่นไม่อ่านกันว่ะ ถ้ามันเป็นหนังจีนจอมยุทธเก่า ๆ คือผมอยากไปเจอคัมภีร์ที่แม่งอยู่ใต้หน้าผา ที่ไม่ใช่เขาฝึกกันเส้าหลิน ที่แม่งฝึกเส้าหลินกันสุดท้ายก็เป็นหลวงจีนหัวโล้นที่ต่อย ๆ เอานิ้วจิ้มธูปเหมือนเดิม ผมอยากเจอคัมภีร์แบบพิเศษ หนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์พิเศษของผม เป็นหนังสือที่ผมรู้สึกว่ามัน remind ว่าคนมันไม่ต้องเหมือนกันนี่หว่า ถ้าเรายิ่งทำอะไรเหมือนกับคนอื่นเราเป็นแค่นักร้องคาราโอเกะ ไม่มีใครจำนักร้องคาราโอเกะได้ ทำยังไงเราจะฝึกฝนจากคาราโอเกะแล้วเราจะสร้างเพลงที่มันเป็นเพลงของเราเองให้ได้ แล้ววันหนึ่งจะมีคนร้องตามเราหรือเปล่านั้นก็สุดแล้วแต่ แต่อย่าไปคาดหวังว่าเราจะเป็นเหมือนใคร ผมว่านั่นคือ keyword ที่มันสร้างผมมาวันนี้ ผมเลิกหาว่าใครจะเป็นไอดอลที่ผมจะต้องเดินตาม ผมอยากจะให้คนจำผมเหมือนใครไม่มี ไม่มีอีกเลย หลังจากนั้น ผมใช้ชีวิตแบบที่มองว่ามันเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยขององค์ประกอบต่าง ๆ แล้วสุดท้ายผมก็กำลังจะเขียนเพลงที่มันเอาท่อนนี้มา improvise มาจากเพลงนั้นจากเพลงนี้ แล้วคุณจะจำไม่ได้เลยว่ามันเป็นเพลงไหน มันจะเป็นของผม