สัมภาษณ์ ไผท ผดุงถิ่น: เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก

สัมภาษณ์ ไผท ผดุงถิ่น: เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก

เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก

"ผมอยากชวนคุยเรื่องการเลี้ยงลูกครับ" นี่คือประเด็นที่ไผท ผดุงถิ่น เกริ่นกับ The People ตอนที่เราติดต่อไปเพื่อที่จะนัดสัมภาษณ์เขา ไผท ผดุงถิ่น เป็นผู้ก่อตั้ง BUILK ONE GROUP เป็นบริษัท Tech Startup สายก่อสร้าง ที่คนในวงการรู้จักกันดี ในมุมหนึ่งเขาคือคนกุมบังเหียนบริษัท startup ที่มาแรง แต่ในอีกมุมเขาคือคนที่พยายามพัฒนาตัวเองเสมอผ่านการอ่านหนังสือ และการฟัง Podcast จำนวนมากมายในวันที่รถติดบนท้องถนน เขาเป็นคนไทยไม่กี่คนที่มีโอกาสไปร่วมงาน Web Summit 2018 ที่เมืองลิสบอน โปรตุเกส และเขาเป็นคุณพ่อของ "น้องเมไจ" เด็กหญิงวัย 10 ขวบ ที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูในแบบของตัวเอง โดยมีเป้าหมายที่อยากให้ลูกสาวสนุกในโลกที่ตัวเองได้เลือกเอง สัมภาษณ์รอบนี้ The People จึงชวนเขาพูดคุยว่าด้วยเรื่อง startup, เทรนด์ของโลก, การฟัง Podcast และการเลี้ยงลูก สัมภาษณ์ ไผท ผดุงถิ่น: เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก The People: เราควรเลี้ยงลูกท่ามกลางโลกเทคโนโลยีและโลกที่ก้าวสู่ยุค AI อย่างไร ไผท: (หัวเราะ) ผมว่าเรื่อง parenting มันสนุก เพราะมันไม่มีถูกไม่มีผิดนะครับ แต่ว่ามันเป็นเกมยาว มันคือทั้งชีวิตของคนซึ่งมี input แตกต่างกันไป ผมว่า...ผมก็ไม่รู้นะ ผมพยายามเต็มที่แหละว่าลูกก็คือถูกเลี้ยงดูโดย assumption ของผมและแฟนผม ซึ่งผมไม่ได้ให้ลูกผมเรียนเปียโน ผมไม่ได้ให้ลูกผมเรียนอะไรที่เขาเรียนกัน ผมไม่ให้เรียนพิเศษ ผมไม่มีพี่เลี้ยงป้อนข้าว ไม่มี ผมว่าคนคนหนึ่งในฐานะ global citizen ควรจะ unique เรียนรู้เพื่อ explore ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเต้นบัลเลต์ เพราะคนอื่นเต้นบัลเลต์กัน ลูกผมเป็นเด็กคนเดียวในห้องที่เต้นคุกกี้เสี่ยงทายไม่เป็น แล้วอาจารย์ต้องไปติวว่าทำไมไม่รู้จักคุกกี้เสี่ยงทาย เพราะลูกผมไม่ดูละครไทย ไม่ฟังเพลงไทย ผมรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะสร้างให้ลูกคือ...ผมไม่รู้ทฤษฎีใครนะครับ จำไม่ได้ คือผมไม่เชื่อเรื่อง FOMO ผมไม่ชอบ FOMO - Fear of Missing Out ผมก็บอกว่าลูกผมเนี่ย สิ่งที่อยากให้มีคือ Joy of Missing Out ผมเรียกว่า JOMO คือเราก็เป็นของเรายังงี้แหละ ไม่ต้องเหมือนใครหรอก เพื่อนเขาทำยังงั้นกัน เราเป็นคนหนึ่ง แต่เราควรจะมีจอยนะ เราควรจะมีความสุขที่ไม่เหมือนเขา รู้สึกสอนลูกให้อินดี้เกินไปหน่อย (หัวเราะ) ซึ่งผมรู้สึกว่ามี element นี้ เขาก็ใช้ชีวิตต่อได้ไม่ว่าโลกจะเป็นยังไงก็ตาม ผมไม่ได้เชื่อว่าสายไหนคือสายหนึ่ง ผมว่ามันไม่ใช่ 2 มิติ มันไม่ใช่สายเนเจอร์กับสายแข่งขัน มันคือความเป็นไปได้ ลูกผมอาจจะเจอทางของเขา ไม่ได้ต้องเรียนตามระบบก็ได้หรือก็ไม่ต้องอินดี้ขนาดจะโฮมสคูลขนาดนั้นก็ได้ อะไรขนาดนั้น ให้พัฒนาการไปแล้วสนุก The People: เมื่อปีที่แล้ว คุณเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ไปร่วมงาน Web Summit 2018 ที่โปรตุเกส จากงานนั้น มองเห็นว่าโลกเราจะเคลื่อนไปทางไหน ไผท: core topic ที่สำคัญ ๆ ปีนี้พูดเรื่อง equality แล้วก็พูดเรื่อง digital cybercrime เรื่อง sustainable มันเปิดเรื่องมาดีฮะ เพราะว่า ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ที่เป็นคนคิดอินเทอร์เน็ตเป็นคนมาพูดเอง ผมรู้สึกผมอิน คือเราก็เคยอ่านชีวิตเขาเยอะนะ แล้วก็ไม่คิดว่าจะได้มาฟัง คือเขาเหมือนเขามาห่วงลูกเขา ลูกที่เกิดมาปี 1995 นะ วันนี้แม่งลูกอายุ 20 กว่าปีนะครับ ซึ่งมันก็เป็นวัยรุ่นแล้ว แล้วมันก็มีคนที่ทำให้ลูกคนนี้มันเปื้อนไปคนละแบบ วันนี้มีอินเทอร์เน็ตทำให้ชีวิตคนดีได้ทั้งโลกก็จริง แต่ก็มีความรู้สึกคุกคามมาสู่ชีวิตคนเยอะขึ้น เขาแสดงความเป็นห่วง โลกนี้ควรจะทำอะไรกันจริง ๆ จัง ๆ แล้วนะ เพราะว่ามีคนใช้มันในด้านมืดเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เรามี hate speech เรามีการปั้นข่าวกันอะไรยังงี้เยอะ แล้วเราก็มีขยะที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตที่เป็นผลเสียกับรุ่นลูกรุ่นหลานเราเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ดูมันมี...agenda ที่น่าสนใจ แต่ว่างานนี้ฟังไม่หมด แต่ดีที่เขาก็ใจกว้าง ก็เปิด session มีคลิปวิดีโอครบทุกคลิปนะครับ ผมก็เรียกฟัง session ที่ผมไม่คิดจะฟัง เพราะว่าปกติผมก็อยู่ในวงการ startup ก็จะอยู่แต่ในเวที startup ผมได้ไปฟังเรื่อง deep tech ซึ่งผมก็บ้าน ๆ ผมไม่ได้เป็นคน deep tech จริง ๆ ทำเรื่อง startup เป็นนายกสมาคม startup คนแรก แต่ว่าผมเขียนโปรแกรมไม่เป็นครับ แต่ก็แค่ผมสนใจ แล้วก็ต้องขวนขวายหาความรู้เยอะ แล้วก็มีเวทีพูดเรื่อง creative ผมชอบฟัง แล้วก็เวทีเกี่ยวกับเรื่องการเมือง forum เป็นเรื่องดีเบตกันน่ะ มัน debatable จริง ๆ ไอ้ตัวคอนเทนต์ในงานเลยสนุกฮะ เป็น 3-4 วันที่แบบเหนื่อยมาก วิ่งควั่ก ๆ เลยฮะ วิ่งดูคนนั้นคนนู้นคนนี้ แล้วก็เจอคนไทยบ้าง เราแยกกันฟัง แล้วก็มาสรุป ใครได้อะไรจาก session ไหน แต่ session ที่ยังอินสุดของผมคือ session เรื่องเกี่ยวกับลูก เรื่องเกี่ยวกับเด็ก เพราะผมตั้งใจไปฟัง session นั้น เพราะว่าผมมีลูกมั้ง แล้วผมจะอินกับลูก ๆ คือเด็กเจนฯ วายถามผมบ่อยเลยว่า ทำ startup แล้วแบ่งเวลายังไง ผมก็ว่าผมไม่มีทางเลือกอะไรมากตอนนั้น คือผมมีไอเดียที่จะทำ Builk พอดีกับผมเลือกตั้งครอบครัวพอดี ผมก็หลังพิงฝา ผมต้องไปให้สุด แต่ในขณะเดียวกันผมเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ครับ ผมเป็นชนชั้นกลาง ผมไม่ได้มีพี่เลี้ยงอะไร ผมพยายามจะเลี้ยงลูกเอง 2 คนสามีภรรยา เลี้ยงลูกเองได้มา 10 ปีแล้วก็โอเค สนุกดี ก็เลยจะอินกับเรื่องพัฒนาการของลูกไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการของบริษัท เหมือนบริษัทแม่งหัดเดิน ลูกผมก็หัดเดินหัดพูดหัดคิดอะไร session หนึ่งที่ชอบคือเขาพูดถึงเรื่อง Alexa ที่เป็น voice assistant ที่บ้าน คือปีก่อนผมพาลูกผมไปทัวร์อเมริกา ไป 2 คนพ่อลูกนะครับ แล้วก็ไปเจอครอบครัวอื่น...เขาก็ใช้ Alexa กันนะ เราก็คิดว่ามันก็คงเป็นส่วนหนึ่ง เราก็ถาม Alexa เฮ้ โรงหนังเป็นยังไง มี Beauty and the Beast ฉายกี่โมงอะไรงี้ เราก็คิดว่าแค่นั้น มันมี session หนึ่งใน Web Summit พูดถึงครอบครัวหนึ่งที่เด็กคนหนึ่งคุยกับ Alexa มาตั้งแต่เกิด คราวนี้เด็กคนนี้อายุ 4 ขวบ พอปิดห้องปุ๊บก็ไม่มีอะไรคุย คุณพ่อคุณแม่ออกไปแล้วใช่ปะ เขาคุยกับ Alexa เฮ้ Alexa เป็นยังไงบ้าง สิ่งที่บางคนคิดว่าเป็น conspiracy theory ว่า Alexa แม่งเก็บข้อมูลทุกอย่างเปล่าวะ ซึ่งมันก็อาจจะเก็บจริง ๆ นะ ผมไม่รู้ละกัน บางคนบอกว่าเก็บ บางคนบอกว่ามันไม่น่าจะเก็บได้ ผมว่าก็...มีโอกาสละกัน Alexa ก็เข้าใจเด็กคนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือพอกลับมาสู่ลูกผม ลูกผมมีสกิลบางอย่างที่ผมสอนไม่ได้ เขาเรียนรู้มันเองบนอินเทอร์เน็ต เขาชอบวาดรูป แล้วเขาก็ดูคลิปวิดีโอบนยูทูบที่สอนวิธีการวาดรูป วาดรูปสีน้ำยังงี้ เสร็จแล้วเขาก็มีสกิลใหม่ ๆ ที่ผมเองก็ไม่รู้จัก คุณครูเขาก็ไม่เคยสอน เขาวาดรูปไม่เหมือนกับเด็กที่โรงเรียน แต่เขาว่ายูทูบ recommended วิธีการวาดรูปใหม่ ๆ ขึ้นมาให้ แล้วเขาก็เรียนรู้ด้วยตัวเองเร็ว ๆ นี้ สิ่งที่ผมคิดว่าชีวิตลูกผมกำลังถูกอัลกอริทึมบางอย่างสร้างขึ้นมา เขาเรียนรู้เรื่องการวาดรูปเร็วกว่าไปเรียนกับคุณครูสอนพิเศษหรือเรียนในคลาส เด็กชอบหรือดูคลิปนี้จบ คลิปใกล้เคียง recommended มาอีกแล้ว เออ ดูต่อ ๆ โชคดีที่ยังไม่ได้ไปสายมืดสายอะไรมากเพราะยังเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อยู่ (หัวเราะ) แต่นั่นแหละ พอกลับมานั่งคิดเรื่อง Alexa ที่เด็กคนนั้นเจอกับลูกผมเจอ จริง ๆ บทสรุปที่ผมได้มา 1 อย่างกับชีวิตก็คือว่า วันนี้ชีวิตเรากำลังถูกอัลกอริทึม มันกำลังคราฟต์ชีวิตเราให้เป็นไปตามที่เราทำอยู่ อย่างชีวิตผมก็จะมีเพื่อน ๆ ที่ชอบเรื่อง business รายล้อมอยู่บนไทม์ไลน์ผม แล้วถ้าผมใช้ชีวิตอยู่บนโซเชียลมีเดีย 4 ชั่วโมงต่อวัน ผมก็นึกว่าโลกทั้งโลกแม่งพูดแบบนี้กันไปหมด ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ อัลกอริทึมกับรอบ ๆ ตัวเรามันกำลังคราฟต์โลกของผมให้เป็นแบบนี้เอง แล้วผมก็จะ shape ตัวเองไปแนว ๆ นี้ขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่จริง ๆ โลกมันมีอีกหลายแบบ ทำไงให้ผม break อัลกอริทึมนี้ออกไปได้ โลกจะต้องพูดเรื่อง business กัน พูดเรื่อง sustainable กัน อันนี้คือคนรอบตัวผมพูดเรื่อง มันก็ต้องทำ impact กับชีวิต เป็นวัยรุ่นเจนฯ วายต้องทำชีวิตให้มันดูดี ออกกำลังกาย แต่ถ้าผมไม่ได้อยู่ในอัลกอริทึมนี้ ผมไปอยู่ในอัลกอริทึมอีกสายหนึ่ง สายที่แม่งปล้นฆ่ากัน ผมก็ถูก shape ชีวิตไปแบบนั้น ไปสุดเลยนะ ผมอาจจะเป็นมหาโจรก็ได้ วันนี้ผมเป็น startup founder เพราะอัลกอริทึมแม่ง shape ผมมาอย่างนี้ ผมเชื่อว่ายังมีหลายคนไม่รู้จักงาน Web Summit เพราะว่าอัลกอริทึม หรือ message ที่ผมและเพื่อน ๆ พูดไปไม่ถึงเขาอยู่แล้ว เขาก็ยังเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมเลยสนุกครับที่ได้เจอคนใหม่ ๆ แล้วก็พยายามจะเอา circle มาเบลนด์กัน ผมไปเจอพวกนักเขียน ไปเจอศิลปิน เจอพวก tech บ้าง ไม่งั้นมันจะโดนหลอกอยู่ยังงั้น ให้อยู่ในโลกเราไปเรื่อย ๆ แล้วก็เนี่ยเวลาเลี้ยงลูก ผมก็พยายามบอกลูก ลูกเชื่อพ่อแม่น้อยกว่าเชื่อ AI แน่นอนตอนนี้ พอ recommended อะไรมา แม่งฉิบหายเลย พ่อแม่บอกพักวาดรูปบ้างลูก ไปตีแบดบ้างลูก ยังไม่ตีอะ ก็ไม่ตีอะ ทำยังไงดีวะ เออ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่น่าท้าทายสำหรับคนทุกคน The People: แล้วเห็นอะไรในงาน Web Summit 2018 อีก ไผท: ผมชอบโปรตุเกสประเทศที่จัดงาน ชอบความพยายามของประเทศเล็ก ๆ นี้นะ โปรตุเกสเคยเป็นประเทศกลุ่มที่เคยมีปัญหาด้วยซ้ำ แต่วันนี้เขาเริ่มเทิร์นตัวเองให้มีที่ยืนในโลกเทคโนโลยีอย่างมีนัยยะสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะ ผมว่าเป็นความพยายามที่ดี เมืองลิสบอนที่มีงาน มีคน 6 แสนคน จัด Web Summit ทีมีคนมา 70,000 คน ตั้ง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนเมืองนี้ คือทุกอย่างแบบเตรียมความพร้อมขึ้นมาเรื่องนี้โดยเฉพาะ แล้วผมถามคนขับรถแท็กซี่ คนขับรถอูเบอร์ที่นั่นว่า Web Summit แต่ละครั้งเป็นยังไง คือแต่ก่อนงานนี้เซ็นสัญญากับโปรตุเกสไว้ 3 ปี คราวนี้ปีนี้ประกาศต่อเลยว่าขอยืนที่นี่ 10 ปี รัฐบาลอัดให้สร้าง infrastructure ให้ใหม่เพิ่ม แล้วคนมันเริ่มตื่นเต้น ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในสายเทคนะ ไปถามแม่ค้าร้านทาร์ตไข่ที่อยู่ในเมืองเขายังรู้สึกเลยว่านี่เป็น Web Summit บ้านเราจะมีแค่เทศกาลดนตรี แต่มันคือเทศกาลเทคโนโลยีที่รวม nerd รวม geek มารวมกันพร้อมกัน แล้วก็พูดเรื่อง agenda ของโลก ผมว่าปีหน้าผมอยากไปอีก สัมภาษณ์ ไผท ผดุงถิ่น: เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก The People: งานนี้ทำให้เราเห็นไหมว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในวงการ startup โลก ไผท: ผมกลับมา sharing นะครับ เล่าให้น้อง ๆ startup ฟัง บอกทีมงานผมฟังว่า พวกเราก็ถือว่าเป็นพิกเซลเล็ก ๆ มากเลยนะในซีนของเทคโนโลยีโลก แล้วหลาย ๆ อย่างเราเข้าใจตัวเองไปผิด ผมว่ายุโรปก็เจอทางตัวเองโดยที่ไม่ต้องเดินตามอเมริกา เราก็ควรเดินทางเราเอง ไม่ได้เดินตามจีนและอเมริกา และไม่เดินตามยุโรปเหมือนกัน อะไรคือจุดที่ startup ไทยควรจะอยู่นี่เราต้องหา The People: เทคโนโลยีทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น แต่ก็ทำให้คนตกงานมากขึ้น คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ไผท: คือผมว่าคำถามนี้เวลาโดนผมทีไร ผมก็ชวนคิดอย่างนี้ทุกทีนะ คือผมว่าคำนิยามของคุณภาพชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันคืออะไรกันแน่ดีกว่า สำหรับผม ผมมองว่าคุณภาพชีวิตคือการมี luxury of choices คือการมีช้อยส์ให้เราเลือกเยอะๆ คือคุณภาพชีวิตที่ดี คือผมชอบอยู่ออฟฟิศตรงนี้ (อโศก) เพราะผมรู้สึกมันมี luxury of choices ผมนั่ง BTS ได้ ผมนั่ง MRT ได้ ผมนั่งเรือคลองแสนแสบได้ คือช้อยส์มันคือคุณภาพชีวิต บางทีไม่ต้องอยู่ในที่รวยที่สุด ดีที่สุด แพงที่สุดก็ได้ บางทีคนรวยแต่ไม่มีช้อยส์ ผมว่าไม่ใช่คุณภาพชีวิตที่ดีที่ผมหา สมมติว่าผมได้นั่งอยู่ในรถหรูหรา แต่ต้องรถติดอยู่ยังงี้ ผมก็อาจจะ suffer ได้อีกแบบหนึ่ง กับบางคนที่ไม่ได้มีหรูหราอะไรมาก แต่รู้สึกมีทางเลือก ถ้าผมตอบคำถามก็คือว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตดีขึ้นไหม แน่นอน ผมว่าส่วนหนึ่งมันคือเพิ่มช้อยส์ให้ชีวิต แต่คนที่จะใช้ชีวิตแบบมีคุณภาพจริง ๆ ก็คือคนที่รู้จักเลือกว่าเราจะใช้ชีวิตที่มันมีช้อยส์เยอะแยะ เราเลือกแม่งแบบไหน เลือกสักอย่าง เลือกในแต่ละเรื่อง ถ้าไม่เลือกเลยคุณก็ suffer อยู่ดี สติแตก เลือกที่จะเสพ เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบหนึ่งโดยที่ไม่ได้พะวงว่าเราเป็นอะไร แต่ถ้ามองว่าเลือกไม่ได้ ผมว่าแม่งก็ทุกข์ เรื่องตกงาน ผมไม่รู้สึกเราจะตกงานกัน โอเค มันมีคอมพิวเตอร์มาแทนแน่ ๆ มันก็จะก่อให้เกิดงานประเภทใหม่ถ้าคนที่ปรับตัว คนที่ไม่ปรับตัวคือคนที่แม่งนั่งบ่นกับตัวเองอย่างเดียวว่าฉันใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ คนนั้นคงจะเป็นคนที่ทุกข์มาก ๆ แต่ผมเองผมรู้สึกว่าผมอาจจะโดนทดแทนได้ ถ้าคุยแบบมีเรื่อง startup ผมจะบอกชัด ๆ เลยผมเชื่อว่าชีวิต startup มันก็ชีวิตเดินบนเส้นด้ายอยู่ดี มันอาจจะเกิดแป้กอะไรขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะ เราไม่รู้ด้วยซ้ำเราแข่งกับอะไรอยู่ วันนี้ก็คิดว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาแล้วเรายังไม่ยอมแพ้ มีวิธีการเรียนรู้สกิลใหม่ ๆ เร็วขึ้นมาก ถ้าคนมันเรียนรู้สกิลใหม่ได้แล้วปรับตัวเอง อยู่รอดได้ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีให้เราอยู่รอด เทคโนโลยีอาจจะฆ่าเราได้ แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เราอยู่รอดได้เหมือนกัน ผมเชื่อว่าอย่างนั้น เออ พูดแบบดูเหมือนแม่งแบน ๆ แต่ว่าผมเชื่อว่าเทคโนโลยีไม่ทำร้ายผมนะ ผมจะใช้ ผมจะฟื้นขึ้นมาใหม่ ผมพยายามลุกขึ้นมาใหม่โดยใช้เทคโนโลยีอีกเช่นกัน ผมไม่ได้คิดว่าแม่งทำร้ายกู แล้วกูจะเกลียดมัน กูจะเจ็บ แม่งไล่กูออก แต่กูจะเกลียดเทคโนโลยี จะเข้าป่า ผมคงไม่ใช่คนแบบนั้น ผมคิดว่า เอ้อ เราคง...น่าจะมีอีกมุมหนึ่งที่เราหยิบมาใช้ได้ The People: เรายังเชื่อใจและศรัทธากับธุรกิจเทคโนโลยีได้อยู่ใช่ไหม ไผท: เอางี้ ผมมองว่าถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่า cryptocurrency วันนี้เฟล แต่เดี๋ยวมันก็จะกลับมาแบบที่เราเข้าใจมันมากขึ้น วันแรกมันคือ hype มันคือความคาดหวังแบบเกินเหตุ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วไงตอนยุคปี 2000 ตอนวิกฤตดอทคอม ทุกคน hype กับมันกันหมด แล้วทุกคนก็เก็ง ทุกคนก็คิดว่าไอ้สิ่งนี้จะเปลี่ยนโลก แต่จริง ๆ แล้วใช้เวลาอีก 2-3 ปีนะกว่าจะเริ่ม settle ขึ้นมาว่า เอ้ย จริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่วะ ผมว่า cryptocurrency สอนเราหลายอย่าง แล้วก็ย้ำภาพความเป็นมนุษย์ให้เราเห็นอยู่แล้วว่ามันมีคน geek มันมีคนใช้มันผิดประเภทเยอะไปหมด แต่บนเทคโนโลยีของมันเอง มันก็ยังมีแก่นที่มันน่าสนใจอยู่ใช่ไหมครับเรียกเป็นการ decentralize อะไรงี้ ผมเชื่อว่ามันจะกลับมา อย่าง bike sharing ก็เช่นกัน มันก็เป็น hypeในจังหวะที่ทุกคนก็จะแชร์กันไปหมด ตอนสมัยก่อนข่าวแม่งมีแชร์ล่ม แชร์กันไปหมด bike ก็เป็นโมเมนต์หนึ่ง แล้วก็จังหวะเหมาะที่สามารถจะระดมทุนได้ โตได้แล้ว แต่วันนี้สิ่งที่มันกลับมาปรับฐานก็คือแล้วตั้งคำถามว่า value จริง ๆ มันคืออะไร แล้วความท้าทายของการเป็นธุรกิจจริง ๆ มันคืออะไร ถ้ามันตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้มันก็จะล้ม คนที่เรียนรู้จากบทเรียนนี้แล้วกลับมาตอบมันได้จริง ๆ มันก็จะกลับมาทำให้สิ่งนี้อยู่ต่อ ผมเชื่อ sharing economy ก็อยู่ แต่แค่ bike sharing ล่มกันแบบ...ล่มสลายเร็ว คนที่ไป Web Summit จะพูดแบบตกใจกันมากเลย เพราะว่า Web Summit 2017 เวทีปิดคนที่มาพูดคือ Ofo (ที่ธุรกิจ bike sharing) เออ ยังบอกอยู่นี่คือสุดยอด unicorn ที่โตเร็วที่สุด พอปี 2018 Ofo ปิดแล้ว แล้วคนที่มาพูดเป็นไลน์ scooter sharing ซึ่งยุโรปมีเยอะมาก วันนี้เมืองไทยกำลังมี สิงคโปร์มี แต่ก็อาจจะไม่เกิดที่ไทยก็ได้ ฟุตปาธแม่งยังห่วยอยู่เลย วิ่งขับสกู๊ตเตอร์ไม่ได้หรอก นั่นคือบทเรียนจากประวัติศาสตร์ใช่ไหม มันมีการ hype มันมีปรับฐาน แล้วก็มีการเข้าใจมัน enlightenment อยู่กับความเป็นจริงของสิ่งนี้ เอ่อ ก็เราจะเชื่อมันได้ขนาดไหน คนมันมีหลายสไตล์ด้วยกัน คนที่กระโดดเกาะมันเร็ว ๆ เนี่ย ต้องเล่นให้เป็น ผมว่าไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด มันเป็นสไตล์ คนที่ชอบเกาะตอน hype แม่งสูงมาก ๆ ส่วนใหญ่จะทำเงินได้ก็ช่วงแรกนะ โดยการทำให้เป็น marketing based เป็นหลัก แบบของหวือหวา แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนสไตล์นั้น คุณก็อาจจะรอมันปรับฐานก่อน แล้วก็ไปช้อนมันตอนที่คุณเข้าใจมันจริง ๆ คุณก็อาจจะโตได้อีกแบบหนึ่ง The People: มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ big data ที่กำลัง hype อย่างไร ไผท: big data เนี่ยพูดได้ยาวมากเลยนะ ตัวผมอินเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ว่าคือ big data เป็น hype ครับ ใคร ๆ พูดว่าตัวเองทำ big data หมด ผมในฐานะคนทำ big data คนหนึ่งพูดเหมือนกัน ต้องบอกจริง ๆ big data เหมือนตาบอดคลำช้าง มันคลำคนละส่วน big ไหมอะ สมมติชีวิตคุณอยู่บน big data ของใครสักคนหนึ่ง อยู่บนทวิตเตอร์มันก็รู้ว่าแพตเทิร์นคุณเป็นยังไง แฮชแท็กอะไรบ้าง อยู่บนเฟซบุ๊กก็บอกคุณไปไลก์อะไร ไม่ชอบอะไรใช่ไหม บนอินสตาแกรมก็บอกคุณไปส่องใคร ไปกดเลิฟใครบ้าง ทุกอย่างเก็บ big data คนละนิดละหน่อย แต่จริง ๆ แล้ว big data คำนิยามมันก็คือว่า การเอา data จำนวนมากไปใช้ประโยชน์ให้ได้ มันจะใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ บางทีเราอาจจะต้องใช้การรวบรวมมาจากคนที่คลำคนละส่วน วันนี้ผมทำ big data ในวงการก่อสร้าง ผมรู้สึกว่ามันมีที่ว่างอยู่ในวงการก่อสร้าง ผมเริ่มทำมา 8 ปี เราอยากกระโดดมาคลำส่วนหนึ่ง สมมติว่าวงการก่อสร้างแม่งคือช้าง ตาบอดคลำช้างนะ ผมคลำขาช้าง แล้วผมก็บอกว่าผมมี data เพียงพอจะ predict ได้ว่าช้างแม่งจะหน้าตาเป็นยังไง แต่จริง ๆ ผมคลำขาอยู่นะ มาคิดเอาว่างวงคงจะเป็นยังงั้นแหละ เออ หางแม่งคงจะเป็นงี้แหละ แล้วมีบางคนที่เกิดขึ้นมาใหม่บอกว่ากูก็ทำ big data ในวงการก่อสร้างอยู่ แต่คลำหางช้างอยู่ กูกำลังจะบอกว่า predict ได้ว่าขาช้างมันหน้าตาเป็นยังไง คลำ ๆ ไปอย่างนี้คนละส่วนฮะ จริง ๆ สิ่งที่อินเทอร์เน็ตมี แล้วสิ่งที่มันจะต้องพัฒนาต่อไปคือการเอา open data มารวมกัน ไอ้คนคลำขา คนคลำหางเห็นบางสิ่งมารวมกัน ช้างถึงจะเห็นว่าเป็นช้างจริง ๆ ไอ้คนคลำงวงต้องบอกเราได้ว่างวงมันเป็นยังไง มันถึงจะประกอบภาพจริง ๆ พอทุกคนเห็นภาพช้างจริง ๆ แล้วเราจะเข้าใจช้างเปลี่ยนไป เราจะเปลี่ยนโลกได้จริง ๆ ใช่ไหม วันนี้มันยังเป็นการเดาอยู่บ้างบางส่วน แพลตฟอร์มขนาดใหญ่เท่านั้นแหละที่คลำไปได้หลายส่วนแล้ว สมมติว่าแอปฯ ไลน์เนี่ยคลำมาเยอะแล้วถูกไหม คลำว่าคนดูหนังยังไง คลำว่าคนชอปปิงแบบไหน คลำว่าคนคุยอะไรกันบ้าง data ต้องมีปริมาณเยอะ ต้องมีความถี่เยอะ เดือนละหนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มคุณ แม่งไม่พอกินหรอกใช่ไหม วินาทีละหนอาจจะพอ ดีขึ้นเยอะเลย เพราะฉะนั้นเฟซบุ๊ก ในไลน์ทุกอย่างพยายามจะทำให้คุณมาใช้ชีวิตอยู่บนนี้ให้เยอะที่สุด ถี่ที่สุด และคนเป็นร้อย ๆ ล้านคนปริมาณก็ต้องเยอะด้วย ผมว่านี่มันคือคาถาในการทำ startup ที่เราเฝ้ามอง ที่เราถอดรหัสออกมานะ ความลับที่เราคิดว่าเราเข้าใจ ผมอาจจะเป็น...ถ้าในวิชาจอมยุทธ์ของการเป็น startup ผมอาจจะอยู่ขั้นที่ 5 จาก 10 ขั้นอะไรงี้ ผมเชื่อว่ามันยังมีอีกเยอะที่ผมไม่เข้าใจ แต่ขั้นที่ 1 2 3 ที่น้อง ๆ กำลังเรียนรู้ ผมบอกทางลัดขั้น 5 ให้ได้เลยก็ได้ ขั้น 5 คือกลางทางที่ผมเข้าใจแล้วคือ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปลี่ยนนิสัยคนให้ได้ นิสัยคนเนี่ย มนุษย์อยู่กันมาโฮโมเซเปียนส์กันมากี่หมื่นกี่แสนปี มันมีนิสัยของมันอยู่ อยู่ดี ๆ วันนี้ช่วง 10 ปีให้หลังมันเปลี่ยนเร็วมากนะ แล้วก็มีคนเชื่อแบบน้อง ๆ เชื่อแบบ futurist ต่าง ๆ ว่าจะเปลี่ยนนิสัยคนพวกนี้ได้ โดยการทำแอปพลิเคชัน โดยการทำ Internet of Things โดยการทำอะไรก็แล้วแต่มาเปลี่ยนนิสัย แต่โดยพื้นฐานเข้าใจก่อนนะว่าต่อให้ไม่มีเรา เขาก็ใช้ชีวิตอยู่กันได้เป็นร้อยปีแล้ว วันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มไปมนุษย์ยังไม่ได้ล่มสลายทันทีนะ แต่แค่แม่งคัน มีแค่ของที่มันเคยมีแล้วมันไม่มีเท่านั้นเอง แต่เขายังใช้ชีวิตได้ เกมมันคือทุกคนฝันหมดในการเปลี่ยนนิสัย แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จซะที คนเป็น startup ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลย กูจะเปลี่ยนโลก กูมี passion กูทำนู่นนี่ นั่นคือความฝันที่จะเปลี่ยนนิสัยคนได้ แต่คนส่วนใหญ่เปลี่ยนไม่ได้ startup ไทยหลายพันรายที่เกิดขึ้นมาช่วง 5 ปีหลัง ก็คิดเหมือนกัน วิธีคิดคล้าย ๆ กัน ก็จำมาพูด ผมก็จำเขามา ผมไม่ได้คิดเอง แต่คนที่อยู่ได้ทุกวันนี้คือคนที่เปลี่ยนนิสัยสำเร็จในบางมุม เช่นเปลี่ยนนิสัยการดูหนังโรง เปลี่ยนเป็นนิสัยดู Netflix ได้ เปลี่ยนนิสัยคนสำเร็จก็ไปได้ เปลี่ยนนิสัยคนไม่สำเร็จก็รอวันตาย ขนาดมีแอปเกิน 20 แอปในโทรศัพท์ผมที่ผมไม่ได้ใช้อีก ลงไว้แล้ว ลง Tiktok ไว้ อยากเข้าใจว่าคิดยังไง โอเค มันเปลี่ยนนิสัยผมไม่ได้ แต่วันนี้ผมก็โดนเปลี่ยนนิสัยเป็นเฟซบุ๊ก เปลี่ยนนิสัยเป็นฟัง Podcast อะไรงี้ ผมอ่านหนังสือลดลงนะครับ แต่นิสัยที่เปลี่ยนไปคือผมเสพ knowledge ผ่านหูแทนตา แล้วผมได้คอนเทนต์เยอะขึ้นและกว้างขึ้นเยอะเลย นี่คือนิสัย นั่นคือคาถาข้อที่หนึ่ง คาถาข้อที่สอง คนทำ startup นี่คือเคล็ดวิชาขั้นที่ 5 มันคือถ้ามันเปลี่ยนสำเร็จแล้ว รักษานิสัยนี้ให้นานที่สุดนะ เพราะในทุก ๆ วันจะมีคนเกิดใหม่ เด็กกว่า สดกว่า ใช้เทคโนโลยีใหม่กว่า มาพยายามเปลี่ยนนิสัยที่เรากว่าจะเปลี่ยนได้เลือดตาแทบกระเด็น เปลี่ยนไปอยู่กับทางนั้นทันที แค่นั้นเอง ผมว่าผมได้ 2 ข้อ แต่ขั้นที่ 6 7 8 ยังไม่รู้ สัมภาษณ์ ไผท ผดุงถิ่น: เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก The People: คุณฟัง Podcast บ่อยมาก มันเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคุณอย่างไร ไผท: เดี๋ยวนี้คนไทยมี Podcast ไทยดี ๆ เยอะ แต่ก่อนผมฟังวิทยุเหมือนกับทุกคนแหละ ก็ขับรถอะ รถในกรุงเทพฯ มันติดก็เลยฟังวิทยุเอา มีอยู่ปีหนึ่งผมรู้สึกผมอยากจะเลิกฟังวิทยุ ยุคประมาณ 30 ต้นๆ เนี่ย เรารู้สึกว่าเราเริ่มมีความเก๋าระดับหนึ่ง เราเริ่มเลือกชีวิตได้ เรายังเป็นวัยรุ่นอยู่ ผมเคย define ตัวเองว่าผมไม่อยากเป็นคนตกยุค ผมจะเป็นคนที่เกาะไปกับทุกกระแสที่แม่งเป็นกระแสได้ เพราะผมกลัวเป็นคนตกยุค อะไรเป็นกระแส Cat Radio งานเฟสติวัล มิวสิกผมอยู่ตรงนั้นหมด แต่พอมาทำธุรกิจก็พยายามจะแบ่งซีกตัวเอง ฟังช่องข่าวธุรกิจบ้าง ฟังเพลงบ้าง เพราะเรากลัวเป็นคนตกยุค มีช่วงหนึ่งรู้สึกว่า อายุ 35 ประมาณนั้น ตกยุคก็ได้วะ ช่างแม่ง กูรู้แล้วว่ากูทำอะไร ผมเลิกฟังเพลง ผมเลิกไปงานมิวสิก แต่ผมรู้สึกว่าถ้าผมมีเวลาจำกัด ผมต้องเลือกตัดอะไรบางอย่างนะ ผมรู้สึกว่าผมมีธุรกิจ ผมมีลูก ผมมีความรู้ที่ผมต้องพัฒนา อะไรที่ผมตัดได้ผมจะตัด ผมตัดเรื่องเกม ตัดเรื่องฟุตบอล ที่แต่ก่อนก็เคยคุยเรื่องฟุตบอลกับเพื่อนได้ เฮ้ย มึงชอบทีมอะไรวะ ถามฟุตบอลนี่เหมือนถามศาสนากันอะ ตอนนี้ผมบอกผมไม่มีแล้วว่ะ เลิกดูแล้วว่ะ ผมเอาเวลามาศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเองเนอะ Podcast เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เริ่มลองฟังดูก่อน เออ ก็ดีกว่าวิทยุนี่หว่า ยุคนั้น Podcast ไทยมันน้อยสัก 4-5 ปีที่แล้ว ผมมี Podcast ภาษาอังกฤษ ผมได้ไปซิลิคอน วัลเลย์ ช่วงนั้นพอดี ผมว่าเออ ได้ฝึกภาษาอังกฤษว่ะ ปั่นจักรยานไปทำงานแล้วก็ฟังไป รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็ค่อย ๆ ซึมไปเรื่อย ๆ กลับมาผมก็บอกลูกว่าเราเลิกฟังวิทยุกันเถอะ เราลองฟัง Podcast กันเป็นภาษาอังกฤษตลอด แล้วก็หาโอกาสใช้ มันทำให้ผมรู้สึกว่า เฮ้ย ผมไม่ได้เป็นคนไทยก็ได้นี่หว่า บนโลกดิจิทัล เราเป็น global citizen ได้จริง ๆ ผมไปฟัง Jeff Bezos ผมไปฟังคนที่พูดอยู่ใน Podcast ผมฟัง เควิน ไฟกี เรื่อง Marvel เฮ้ย ก็ฟังได้นี่หว่า ภาษาอังกฤษฟังไม่รู้เรื่อง ก็ฟัง 2 รอบดิวะ ฟังซ้ำได้ เออ ดีว่ะ ผมก็เริ่มฝึก Podcast ภาษาอังกฤษจากการฟังซ้ำครับ วันนี้ภาษาอังกฤษผมเริ่มดีขึ้นนะ ผมได้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน อย่างน้อยฟังทุกวัน ผมพูดกับลูกเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน ลูกผมไม่ได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ด้วย เรียนโรงเรียนไทย แต่พูดกับพ่อเองเป็นภาษาอังกฤษ แล้วลูกผมก็ฟัง Podcast ภาษาอังกฤษ มี Podcast ทำเรื่องชา ทำเรื่องขนม เรื่องวอลต์ ดิสนีย์ ที่เขาชอบงี้ ก็เป็นภาษาอังกฤษหมด วันนี้ผมก็เลยแบ่งชีวิตอย่างนี้ ผมฟัง Podcast ภาษาไทยเป็นความเร็ว 1.5 เท่า เพราะว่าภาษาไทย ภาษาพ่อภาษาแม่ พูดเร็ว เวลารถติด คนพูดพูดครึ่งชั่วโมงมันเหลือ 15 นาทีนะ แป๊บ ๆ ผมก็ไปฟังคนอื่น ภาษาอังกฤษผมฟัง 1x (ความเร็วปกติ) หรือบางทอล์กผมต้องฟัง 2 รอบ แล้วผมจะมีลิสต์ของผมเป็น Podcast ภาษาอังกฤษเยอะที่ผมเริ่มหัดฟัง สัมภาษณ์ ไผท ผดุงถิ่น: เทคสตาร์ทอัพสายก่อสร้าง เทรนด์ของโลกและการเลี้ยงลูก The People: อะไรคือแรงขับเคลื่อนของชีวิตในตอนนี้ ไผท: วันนี้เพื่อนๆ ก็คงจะเลือกพาร์ตของตัวเองในวัยกำลังจะ 40 ไปคนละทางนะ ผมเองว่าสิ่งหนึ่งที่ผมมีคือผมไม่ได้อยากเป็นแบบใครเขามากนัก ผมก็รู้สึกว่าผมมีพาร์ตของผม เพื่อนมีรถสปอร์ตหรู ๆ แต่ผมไม่อยาก ผมไม่ได้แบบจะนิพพานอะไรยังงี้นะ ผมแฮปปีกับรถบริษัทที่บริษัทช่วยเช่าให้ผมใช้ Toyota C-HR คันหนึ่งผมก็โอเคแล้ว ผมไม่ได้ต้องมีบ้านใหญ่มาก ผมทำความสะอาดไม่ไหว ผมตั้งคำถามว่า ทำไมพ่อแม่ฝรั่งแม่งเลี้ยงลูกคนหนึ่งขึ้นมาได้ พ่อแม่ญี่ปุ่นเลี้ยงลูกคนหนึ่งไม่ต้องมีพี่เลี้ยง ไม่ต้องมีบ้านใหญ่โต แต่ว่ามีเวลาให้กับลูกได้แบบ คือผมเป็นพ่อ full time ไปพร้อม ๆ กับเป็น founder full time นะ ผมเลยจะคิดเรื่องชีวิตกับเรื่องงานไปพร้อม ๆ กัน ไม่ได้ถึงกับขนาดไม่อยากได้ไม่อยากมีอะไรหรอกครับ แต่คิดว่าเรามีทางของเรา แล้วเราแฮปปีกับทางของเราก็พอแล้วอะไรงี้ ผมขอ luxury of choices ในชีวิต วันนี้ผมเดินทางแบบไม่ได้ใช้รถใช่ไหม เพราะว่าถ้าบ่ายผมนั่งเรือไปประชุมที่ทองหล่อ หรือว่าเช้าผมนั่งรถไฟไปทำงานได้ ผมก็โอเค ผมไม่เชื่อเรื่องศาสนาแบบเชิงพิธีกรรม ผมก็ไม่ได้ทำบุญแข่งกันบอกว่า อยากได้อะไร อยากมีอะไรขนาดนั้น ผมอยู่กับปัจจุบัน ทุกวันนี้ผมเอนจอยกับชีวิตผมระดับหนึ่ง คนอื่นเขาอาจจะมองว่ามึงบ้า ๆ ก็แล้วไง ไม่อยากได้ไม่อยากมีใช่ไหม ก็ไม่ถึงขนาดนั้นแล้วกัน บริจาคหมดไหม ก็ยังไม่ได้บริจาคหมดนะ (หัวเราะ) มันมีเป้าหมายอย่างอื่นดีกว่าที่เราเชื่อ ที่เราอยากจะทำครับ ขาหนึ่งน่ะผมอยากสำเร็จ ผมอยากให้น้อง ๆ startup คนอื่นเห็นผมแบบหนึ่ง ทุกคนก็คงมีความคาดหวังว่าอยากโลกจำเราแบบไหน ผมอยากให้วงการก่อสร้างจำผมอย่างหนึ่งว่า ไอ้เด็กบ้ากลุ่มนี้แม่งเปลี่ยนวงการก่อสร้างไทยได้จริง ๆ มันทำอะไรไม่เหมือนคนอื่นเลยว่ะ มันไม่ได้ลอกฝรั่งมาด้วยนะ มันคลำทางของแม่งจนวันนี้มันมี impact กับวงการก่อสร้าง นี้ได้แล้ว ผม drive ด้วยเรื่องนี้ นี่คือ drive ในชีวิตฮะ กับอีก drive ซีกหนึ่ง พูดในเชิง business เลยมันคือ fear ผมกลัวว่า business จะล้มเมื่อไหร่ไม่รู้ คือผมไม่รู้เลยนะว่ามันจะมีเด็กที่เก่งกว่าผม เกิดมายุคอินเทอร์เน็ตบูมแน่ ๆ อยู่แล้ว มี AI พ่อรวย ได้ investor มาเยอะกว่าผมอีกร้อยเท่ามา disrupt ผมตายเลย ผมกลัวเรื่องนั้นเยอะเหมือนกันครับ เพราะงั้นด้านนี้อยากสำเร็จ ด้านนี้กลัวตาย แม่งก็เลยซอยขาถี่ ๆ แล้วก็โฟกัสชัด ๆ ว่าเราทำอะไร เราอาจจะ JOMO แล้วก็ได้นะ เรามีความเชื่อของเรา เราก็จอยของเรานะ คือเราเห็นเพื่อนได้ดี ทำงาน แชร์กันตามโซเชียลต่าง ๆ แต่เรารู้สึกวันนี้เราใช้ชีวิตบนเฟซบุ๊กมา 10 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะใช้เฟซบุ๊กไม่เหมือนเดิมแล้วนะ มันมาพร้อมกับความเข้าใจโลกโซเชียลมากขึ้น มันแก่ แล้วก็ไม่อยากได้ไม่อยากมี รู้ว่านี่คือข่าวลวง รู้ว่านี่คือพฤติกรรมถุย ๆ เออ ช่างมันก็ได้ ในขณะที่เราเป็นคนแก่ในโลกโซเชียล เรากลายเป็นผู้อาวุโสในโลกโซเชียล เราใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง เราเรียนรู้มันอีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้หลงใหลไปกับความอยากได้อยากมีและความอวดของสิ่งมันอยู่ในไทม์ไลน์เราแล้ว