ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง London Art Biennale

ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale
จากเวียนนา - กรุงเทพฯ - ลอนดอน  จากรอยต่อครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 สู่ต้นศตวรรษที่ 20 มาบรรจบกับยุค 2020s นี่คือการเดินทางผ่านรอยต่อของกาลเวลา ระยะห่างระหว่างสถานที่ ผ่านสื่อกลางคือ ‘ศิลปิน’ ที่ส่งไม้ต่องาน ‘ระดับครู’ ผ่านการตีความใหม่ทั้งวิธีคิดและรูปแบบการนำเสนอจนได้ผลงานใหม่ที่ยังได้รับอิทธิพลจากรากเดิม ณ ใจกลางลอนดอน ที่ถนน King’s Road ย่านชอปปิงอันเลื่องชื่อ มีตึก Chelsea Town Hall เด่นอยู่ในย่านนั้น ช่วงเวลา 1 ถึง 4 กรกฎาคม 2021 ที่นี่มีการจัดแสดงงาน London Art Biennale 2021 งานแสดงศิลปะที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในงานนี้ มีภาพศิลปะภาพหนึ่งที่เจ้าของผลงานใช้ชื่อ PCOOL มองดูผาดแรกจะชวนให้นึกถึงสไตล์งานของกุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) ศิลปินชาวออสเตรีย ที่มีช่วงชีวิตอยู่ระหว่างปี 1862-1918 งานของคลิมต์ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาก ๆ ก็อย่าง The Kiss ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์ออสเตรีย Belvedere ที่กรุงเวียนนา แตกต่างกันแต่ว่า งานของคลิมต์ได้ทิ้งรอยฝีแปรงให้เห็นชัดเจน แต่งานของ PCOOL คืองานศิลปะดิจิทัล ที่เขียนผ่านคอมพิวเตอร์ ภาพนี้มีชื่อว่า Neo Klimt #1 เป็นผลงานของ PCOOL ซึ่งเป็นศิลปินชาวไทยที่มีชื่อว่า ปีติ กุลศิโรรัตน์ สำหรับคนในแวดวงศิลปะ คงจะเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างในฐานะอาจารย์พิเศษ (ที่เคย) สอนสุนทรียศาสตร์ที่ ม.กรุงเทพ และ ม.ศิลปากร เจ้าของร้าน ‘เฮมล็อค’ ย่านท่าพระอาทิตย์ เป็นแหล่งกินดื่ม และสนทนา อันเป็นที่รู้จักกันดีของคนในย่านนั้น หลังจากวางมือจากการสอน หนึ่งประกายบันดาลใจของการเป็นศิลปินของเขาเริ่มต้นขึ้นจากการที่มีนักท่องเที่ยวฝรั่งลืมกล้อง compact เล็ก ๆ ไว้ที่ร้านเมื่อหลายปีก่อน เขาจึงลองใช้กล้องนี้จนเริ่มชินมือ แล้วคิดว่า ควรจะเริ่มทำงานศิลปะในแบบที่ตัวเองสนใจ 5 ปีก่อนหน้าที่เราจะได้เห็นงาน Neo Klimt #1 ที่ลอนดอน ปีติเริ่มฝึกฝนงานศิลปะดิจิทัลจนเข้ามือในวัยล่วง 50 ปี ชีวิตที่เริ่มต้นทำงานศิลปะเมื่อวัย 50 ปีของเขาค้นพบอะไร นี่คือบทสนทนาที่ชวนผู้อ่านพาดผ่านพรมแดนเวียนนา - กรุงเทพฯ - ลอนดอน ในขณะที่พูดคุยกันที่ร้านเฮมล็อค ท่าพระอาทิตย์ กับการเดินทางร้อยกว่าปีของมรดกความคิดด้านศิลปะจากการตวัดฝีแปรงของกุสตาฟ คลิมต์ สู่การขยับเมาส์และปากกาต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ของปีติ กุลศิโรรัตน์ ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale

Neo Klimt #1 by PCOOL

  The People: ทำไมผลงานถึงได้รับเลือกให้ไปโชว์ที่ London Art Biennale ปีติ: คือผมก็ทำงาน Digital Fine Arts มา 5 ปีแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่เคยเผยแพร่ ไม่เคยแสดงงานที่ไหนเลย ยังไม่เคยเปิดตัว แล้วเก็บสะสมงานมาเรื่อย ๆ ทีนี้ช่วงโควิด-19 มันก็มีข้อดีอยู่ตรงที่ว่าเวลาว่างเรามากขึ้น เป็นปีที่เราได้งานดี ๆ ขึ้นมาหลายชิ้น แล้วก็ประกอบกับบรรยากาศหลายอย่างที่มันขุ่นมัว ชีวิตมันก็แย่ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง เราก็เลยเสิร์ชหาว่ามันมีงานประกวด งานแสดง งาน painting ระดับโลกที่ไหนบ้าง ก็พอดีเสิร์ชไปมาก็ไปเจอ London Biennale นี่แหละ เมื่อต้นปีเขาให้ส่งไป เดดไลน์ประมาณช่วงมีนาคม-เมษายน ให้ส่งไป 3 ชิ้น ถ้าใครได้คัดเลือกเขาก็จะคัดไปแค่ชิ้นเดียว ลองส่งไปก็ปรากฏว่าได้ขึ้นมา เซอร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะว่าเป็นการส่งประกวด Digital painting ครั้งแรกในชีวิต เราก็ถือว่าเป็นการเปิดตัวครั้งแรก แสดงงานครั้งแรกได้ที่ลอนดอนเลย ก็ดีใจ Digital painting โดยเฉพาะ Fine Arts ยุคหลายปีที่ผ่านมานี้มันเป็นช่วงเริ่มต้นนะ คือจริง ๆ ในวงการ painting หรือแกลเลอรีต่าง ๆ เมื่อประมาณสัก 4-5 ปีมานี้ จริง ๆ เขายังไม่ค่อยยอมรับ เพิ่งจะยอมรับกันจริง ๆ เมื่อประมาณสัก 2 ปีนี้ เท่าที่ผมติดตามนะ ที่ยอมเอาไปเชิดหน้าชูตาได้เทียบเท่ากับ painting เข้าไปอยู่ในการประกวด คือพูดคำนี้ได้เต็มปากเต็มคำก่อนหน้านี้ คำว่า Digital Arts มันกลายเป็นว่าอยู่ในวงการของพวกแอนิเมชัน พวกออกแบบเกม ภาพคล้าย ๆ การ์ตูน แล้วถ้าเป็นวิดีโอก็จะเป็นวิดีโอแบบเซอร์ ๆ หลุดโลกอะไรสั้น ๆ เราอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง มันจะออกแนวนั้นหมดเลย คือที่เป็น Fine Arts จริง ๆ แทบไม่มี อย่างทุกวันนี้ถ้าไปเสิร์ช Google Digital Arts คุณก็จะเห็นงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างที่บอก แล้วมีงาน Fine Arts จริง ๆ อยู่น้อยมาก แล้วในบรรดาเท่าที่มี ที่ถึงขั้นที่เราดูแล้วรู้สึกว่าเป็นงานที่ดี หรือว่างานที่สวยยิ่งน้อยลงไปอีก หรือแทบไม่มี เพราะฉะนั้น มันก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก   The People: คุณนำผลงานอะไรไปนำเสนอ ปีติ: งานชื่อ Neo Klimt No.1 ส่งไป 3 ภาพ เป็น Neo Klimt หมดเลย 1 2 3 เขาเลือกหมายเลข 1   The People: ทำไมเลือกทำ Neo Klimt ชอบอะไรในกุสตาฟ คลิมต์เป็นพิเศษไหม ปีติ: ที่จริงผมทำงานหลายสไตล์ แล้วตลอดเวลาที่ทำ คือเราต้องหาบุคลิกของตัวเราเองอยู่แล้ว อันนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้วแหละ แต่ว่าเราก็รู้สึกสนุกที่จะเลียนแบบมาสเตอร์หลาย ๆ คนที่เรารัก แล้วเราก็พยายามจะดูซิว่างานที่ดิจิทัลมันสามารถทำงานแบบ (Vincent) Van Gogh ได้ไหม มันสามารถทำงานแบบ (Claude) Monet ได้ไหม รวมทั้ง (Gustav) Klimt ด้วย ก็มีงานหลายแนว แล้ว Klimt ก็ทำไว้หลายชิ้น แต่ว่าชิ้นที่ได้แสดง Biennale มันก็ดีที่สุดจริง ๆ ในคอลเลกชันที่มี มันซับซ้อน มันค่อนข้างละเอียด ซึ่งไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ คือคนมักจะตั้งคำถามอยากรู้ว่าเทคนิคการทำในดิจิทัล มันยังเป็นยุคแรกเริ่มนะ บอกได้คร่าว ๆ ว่ามันก็เหมือนกับเราทำงานบน iPad ที่มี brush มาให้ แล้ว brush นี่มันก็ โห! เยอะมาก เราเคยเล่น เยอะกว่า brush จริง ๆ ที่ศิลปินใช้เพนต์กันอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ มันก็อยู่ที่เราเลือก Klimt มันก็เป็นส่วนหนึ่ง คือว่ามันก็มี brush แบบ Klimt อยู่ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่เราจะเอาไอ้สิ่งที่มันมีอยู่ในคอมพิวเตอร์ที่มันซัพพอร์ตเราอยู่ เข้ามาประกอบกันแล้วเข้ามาเป็นชิ้นงานที่ซับซ้อนแล้วก็ลงตัว คือบทบาทของเรากับคอมพิวเตอร์มันเปรียบเทียบได้หลายอย่าง ตลอดเวลาที่ทำงาน ผมก็ยังนึกถึงว่าเหมือนกับเราเป็นศิลปิน ในอดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็เถอะที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนเขาจะมีผู้ช่วยและมีทีมงานของเขา เขาก็จะให้ผู้ช่วยอาจจะขึ้นภาพก่อน แล้วตัวศิลปินใหญ่ค่อยมาทำรายละเอียดอีกทีหนึ่ง ก็จะคุมเปรียบเสมือนกับเป็นผู้กำกับ อันนี้ก็คล้ายกัน คือว่าเราโชคดีที่เกิดมาปั๊บได้มีผู้ช่วยมาเป็นทีมเลย ก็คือคอมพิวเตอร์ (หัวเราะ) แล้วเราก็มีบทบาทเป็นผู้กำกับ ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale The People: เหมือนคอมพิวเตอร์พวกนี้มาเป็นผู้ช่วย ปีติ: แล้วมันทรงพลังมาก แต่ว่าเราต้องแหลมคม เราต้องเฉียบคม ตั้งแต่แรกสุดเลยที่เราวางคอนเซปต์ เราวางว่าเราจะทำอะไร เสร็จแล้วก็ให้มันขึ้นมาส่วนหนึ่ง แล้วเราก็ improvise ไปกับมัน มันเป็นการ improvise ตลอดเวลาที่ทำกับมัน    The People: เป็นวิธีคิดเดียวกันกับการทำ Fine Arts ในยุคดั้งเดิมไหม ปีติ: ไม่ ๆ ผมคิดว่าคนทำโปรแกรมอะไรพวกนี้มันทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งผมก็ไม่รู้มันทำยังไงของมันนะ มันก็ต้องชมผมว่าเก่ง คือเขาทำโปรแกรมที่สามารถจะตั้งต้นขึ้นมาในแบบที่พอใช้ได้เลย แล้วเราก็ใช้ความเป็นศิลปินของเราเข้าไปคอนโทรลมันและจัดการกับมัน แต่ตอนต้น ๆ ของมันก็น่าทึ่ง คือก็น่าชื่นชม มันก็มีวิธีขึ้นของมันแปลก ๆ ซึ่งเราเดาทางมันไม่ได้เลย แล้วยิ่งถ้าใช้เครื่องมือของมันหลาย ๆ อันเข้ามาปนกัน มันก็กลายเป็น combination ที่เยอะแยะเต็มไปหมดที่มันยังไม่สิ้นสุด ซึ่งแม้แต่คนออกแบบเองก็ไม่รู้ด้วยว่ามันจะไปได้ถึงไหน มันไม่มีทางรู้เลยว่าไอ้นี่มาผสมกับไอ้นี่แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นมาใหม่อีก  งานผมส่วนใหญ่ ผมจะชอบงานที่มันเป็นกึ่ง Abstract เป็น Minimal ด้วย แล้วเป็น Semiabstract คือมันจะเป็นงานที่เราอยากทำแบบพวกมาสเตอร์ก็จริง แต่ว่าเราก็ไม่อยากไปซ้ำรอยเขา เราอยากจะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นงานของ Klimt อันนี้ Klimt ก็จะเป็นแบบรูปธรรมขึ้นมาเลย เป็นรูป portrait รูปผู้หญิงใส่กระโปรง กระโปรงก็เป็นลายผ้า ไอ้ลวดลายที่เราเห็นจริง ๆ ก็คือลายผ้าส่วนใหญ่ ถึงถ้ามีพวกต้นไม้ใบไม้อะไรบ้าง Klimt เขาก็จะเป็นใบไม้แบบประดิษฐ์ (ปีติหยิบงานศิลปะดิจิทัลสไตล์ Vincent Van Gogh ของเขาขึ้นมา) อันนี้ Van Gogh ก็เหมือนกัน คือ Van Gogh ที่เราเห็นคือการใช้สีเป็นหลัก แต่ว่าถ้าคุณสังเกตดูดี ๆ งานของ Van Gogh  มันคือการใช้ texture หรือลวดลาย หรือ ornament ถ้าคุณสังเกตดี ๆ ในแต่ละภาพของเขา เขาจะมีการแต้มสีที่ต่างกันออกไป บางทีก็เป็นจุด ๆ ๆ ๆ บางทีก็เป็นขีด ๆ ๆ ๆ บางทีก็เป็นเส้นยาว ๆ หลาย ๆ ภาพเราก็จะเห็นว่าใบไม้มันแทบจะกลายเป็นใบไม้ประดิษฐ์ อันนี้คนไม่ค่อยสังเกต เพราะงั้นจริง ๆ แล้วงานของ Van Gogh ในสายตาผมเหมือนกับการรวมเอา ornament หลาย ๆ รูปแบบเข้ามารวมอยู่ด้วยกัน เพียงแต่ว่าอยู่ใน structure ของภาพ โครงภาพ ภาพอย่างเช่นแลนด์สเคปของหมู่บ้าน อันนี้มันก็มีเค้าโครงของหมู่บ้านคร่าว ๆ แต่มันคือที่รวมของ ornament ต่าง ๆ  Klimt ก็เหมือนกัน แต่ทั้งสองคนนี้ก็คือยืนอยู่บนการวาดที่อิงกับรูปธรรมค่อนข้างมาก เขาไม่ไปถึง Abstract ผมอยากจะไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือว่าเป็น Abstract มากขึ้น แต่ไม่เป็น Abstract ไปเลย ยังมีความเป็นรูปธรรมอยู่ เป็นโครงนิด ๆ ผมชอบงานแบบนั้น คือในรูปธรรมจะมีนามธรรม และในนามธรรมก็ยังคงมีรูปธรรมเป็นโครงให้เห็นอยู่ ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale The People: เท่าที่ดูรูปนี้เป็นรูป Klimt ที่ไม่ใช่ portrait (ภาพหน้าคน) ปีติ: ใช่ Klimt ที่เป็นรูปอะไรก็ได้ซึ่งแล้วแต่จะตีความ ผมก็สนุก ถามคนที่ดูหลายคนว่าเขาคิดถึงอะไร คือปกติเขาก็จะถามเราก่อน แต่ว่ามันก็เป็นธรรมเนียมของศิลปิน คือไม่บอกว่าเราคิดถึงอะไร (หัวเราะ) เพราะจริง ๆ ตอนที่เราทำเราก็คิดถึงหลาย ๆ อย่าง เราไม่ได้คิดถึงอย่างเดียว แล้วเวลาให้คนเขาจินตนาการ แต่ละคนเขาก็ต่างกันไปนะ ตอนนี้มีอยู่ 4-5 แบบต่างกันไป บางคนบอกว่าเป็นภาพใหญ่เลย พาโนรามาของภูเขา แม่น้ำ หมู่บ้าน เขาบอกว่าดูแล้วมันสนุกมากเลย มีบางคนจินตนาการไปถึงภาพใต้ทะเล เขาบอกว่าลวดลายที่เห็นคือต้นไม้ดอกไม้ใต้ทะเล ปะการัง บางคนก็จะเป็นจินตนาการถึงแลนด์สเคปบนบกนี่แหละ บนดิน เป็นภาพสวน  บางคนซึ่งผมบอกได้นิด ๆ เป็นส่วนที่ผมมองอยู่ด้วย ผมมองหลายอย่างนะ แต่ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผมมองด้วย คือผมเองอยากให้มันเหมือนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วด้วย (หัวเราะ) ถ้าคุณสังเกตดูดี ๆ คุณจะได้มู้ดอันนี้ มันมีความตะวันออกมาก เหมือนรามเกียรติ์ หนุมาน เหมือนเทวดาที่เหาะแล้วกำลังสู้กันอยู่แบบเต็มไปหมดเลย ซึ่งในแง่นี้ผมก็รู้สึกสนุกมากที่ผมเหมือนกับได้ต่อยอดจิตรกรรมฝาผนังเราไปอีกระดับหนึ่ง มันเป็นมู้ดเดียวกัน แต่มันเป็น Abstract ทั้งหมด  . The People: สนใจไหม ถ้ามีวัดที่เขาอยากจะโชว์ภาพฝาผนังแบบนี้ ? ปีติ: (หัวเราะ) ก็น่าจะสนุกเลยนะ น่าจะทำเป็นปีเลยนะ เป็นงาน Abstract ที่มีมู้ดของศาสนาอยู่ในนั้น หรืออาจจะเป็นในเชิงสมาธิก็ได้ แล้วก็มันมีความร่วมสมัยหรือล้ำสมัยเข้าไปด้วย ผมว่าน่าสนุก   The People: พูดถึงวิธีการทำงาน สตูดิโองานศิลปะ Digital Arts ไม่เปื้อนสีเหมือนงานศิลปะแบบอื่น? ปีติ: (หัวเราะ) คือทำงานที่ไหนก็ได้ ผมชอบตรงนี้แหละ   The People: มีปัญหาขนาดภาพที่ต้องการที่ใช้ไม่ตรงกับไซซ์งานจริงไหม ปีติ: คือเราเซตไซซ์ในคอมพ์ ในโปรแกรมได้ มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละงานว่างานมันเหมาะกับไซซ์ไหนยังไง คือเราก็ต้องพยายามตั้งให้มันละเอียดที่สุด เผื่อว่าอนาคตเราอาจจะขยายใหญ่ แต่บางงานผมก็พลาด บางงานผมก็ไม่ได้เซตให้ใหญ่ เพราะว่ามันกำลังสนุก พอเราเริ่มต้นแล้วมันไปแล้ว มันไปทำทีหลังไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว ก็ต้องเป็นไซซ์เล็กอย่างเดียว เพราะเรายังนึกว่าเทคโนโลยีการขยายในอนาคตมันไม่น่าจะมีขีดจำกัด คือเราคิดอย่างนั้นไง แต่ ณ ตอนนี้มันยังมีขีดจำกัด (หัวเราะ) การขยายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมปวดหัวกับมันมาเยอะเหมือนกัน ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale The People: ผลงานที่ทำมีการทำงานที่มีชื่อต้นว่า neo  กับศิลปินคนไหนบ้าง ปีติ: หลัก ๆ ก็มี Klimt, Van Gogh, Monet, (Pierre-Auguste) Renoir เท่านี้ก่อน เพราะว่าพวกนี้คือสุดยอดศิลปินที่ผมรัก (Pablo) Picasso ก็รักแต่มันยากมาก Picasso ทำมือยังง่ายกว่า ตอนนี้ทำในเครื่องยังยาก ทำได้ แต่ว่ามันต้องอดทนมาก   The People: บรรยากาศวงการ Digital Fine Arts ในเมืองไทย ปีติ: เพิ่งตั้งไข่ครับ แล้วในไทยก็เห็นน้อยมาก คือมันมีได้หลายเทคนิค แต่โดยส่วนใหญ่ ณ นาทีนี้ เท่าที่ผมเห็นเขาก็จะใช้ iPad เป็นหลัก ซึ่งในทัศนะผม ผมไม่ชอบ คือมันช้า มันต้องแต้มทีละแต้ม ๆ ๆ มันมีวิธีอื่นที่เร็วกว่านั้น   The People: การทำงานศิลปะบน iPad เป็นอย่างไรบ้าง ปีติ: เท่าที่เห็นอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ รู้สึกจะแสดงอยู่ด้วยมั้ง วสันต์ สิทธิเขตต์ เขาก็แสดงโดยการที่เขาวาดบน iPad คือมันยังเป็นช่วงเริ่มต้นมาก ๆ งานมันก็จะยังไม่ซับซ้อนเท่าไร ไม่ใช่แค่ศิลปินไทย ศิลปินระดับโลกตอนนี้ที่แสดงอยู่ด้วยที่อังกฤษด้วย David Hockney ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินคนแรก ๆ เลยที่ใช้ iPad ใช้มาหลายปีแล้ว แล้วรู้สึกปีนี้ก็ด้วยโควิด-19 เหมือนกัน เขาได้รับเชิญไปเก็บตัวไปทำงานเป็นปีเลยนะที่นอร์มังดี ที่ฝรั่งเศส เสร็จแล้วผลพวงของช่วงนี้เขาก็เริ่มเอาออกมาแสดง  แล้วงานชุดแรก ๆ ที่ไปแสดงนี่ก็แบบเป็นน้ำจิ้ม คือรวมงานที่ทำจากบน iPad ขนาดของ David Hockney เองไม่ซับซ้อนอะไรเลย เป็นงานที่พื้นมาก ซึ่งบางคนก็ชอบ แต่หลายคนก็ไม่ชอบ หลายคนมีคำวิจารณ์ออกมาที่ดังที่สุดเท่าที่เคยมีมา เท่าที่เคยได้ยินมาตอนนี้ เสียงวิจารณ์ที่บอกไม่ชอบเลยคืองานมันหยาบเกิน งาน David Hockney มันจะคล้าย ๆ กับ Van Gogh เหมือนกัน สีสันมันจะสดใส มันจะเป็นโมเดิร์น ก็คือวาดแลนด์สเคป แล้วก็มี texture กับ ornament ที่ผมว่าปะ ๆ รวม ๆ กัน ซึ่งงานที่ซับซ้อนอย่างนั้นพวกนั้นโอเค แต่พอเขาแสดงงาน iPad ปรากฏว่าวาดต้นไม้ต้นเดียว หรือมีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมออกมาอีกนิดหน่อย คือมันน้อยมาก มันเป็น elementary มาก ๆ เลย ซึ่งคนดูก็ไม่พอใจ เขารู้สึกว่า เฮ้ย! คุณอย่าเอาความเป็นศิลปินใหญ่มา (ทำงานง่าย) แล้วแค่นี้คุณมาโชว์แล้ว แล้วมีปัญหาอย่างหนึ่งด้วยคือเรื่องปัญหาการขยายภาพ เขาทำภาพรู้สึกจะ 1.50 เมตร ก็โดนด่าเหมือนกันว่ามันแตก สองปัจจัยนี้บวกกันเข้าไปคนก็เลยไม่ชอบ   The People: วงการศิลปะเจอ Digital Disruption ไหม ปีติ: ปฏิกิริยาส่วนใหญ่นะ เท่าที่ผมสัมผัสกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ ศิลปินคือค่อนข้างจะดูถูกเทคโนโลยี (หัวเราะ) เหมือนตอนแรกสุดเลย ความรู้สึกที่เราจำได้เลยตอนที่กล้องเป็น manual อยู่ แล้วตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นดิจิทัล โอ้โห! ตอนนั้นแบบตั้งแง่กันเยอะมาก แต่ภายในไม่กี่ปี 2-3 ปีเองมั้ง โอ้โห! ต้องเปลี่ยนเป็นดิจิทัลหมด คือยอมรับมันหมด ผมว่าวงการศิลปะจะไม่เร็วขนาดนั้นหรอก ไม่เร็วขนาดเท่าเรื่องกล้อง เรื่องเพลง   The People: Digital Fine Arts เข้ามาเปลี่ยนอะไรในวงการศิลปะไหม ปีติ: ผมเชื่อว่ามันจะ disrupt เหมือนทุกวงการในที่สุด ดิจิทัลมันสะดวก มันสร้างงานในแบบที่ถ้าเราใช้มือทำมันจะนานมาก บางงานหลายเดือน หรือเป็นปี หรือหลายปี แล้วบางงานคุณอาจจะทำไม่ได้เลย ทั้งชีวิตคุณก็ทำไม่ได้ ต้องเครื่องเท่านั้นที่มันทำ แล้วพอถึงจุดหนึ่งคุณจะเริ่มชินกับ texture ที่มันมีอยู่ในเครื่อง แล้วมันขึ้นอยู่กับคุณว่าคุณจะไป combination มันยังไง มันจะมี texture อีกเต็มไปหมดเลย ซึ่งตรงนั้นมันน่าสนุกที่มันจะค้นพบ texture ใหม่ ๆ ลวดลายใหม่ ๆ  ผมว่างานยุคแรก ๆ เริ่มจากเรายังทำงานที่ละเอียดอ่อนแบบ manual หรือแบบ painting ด้วยมือ ยังไม่ได้ในหลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้น มันก็จะมีสุนทรียะในแบบของมันอีกแบบหนึ่งในขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น งานของ Kusama Yayoi อันนี้มันเป็นงาน Pop Arts แล้วงานจริง ๆ มันอยู่ในคอนเซปต์เดียวกับผมเลย คอนเซปต์อย่างที่ผมบอกคือ มันเหมือนงาน decorative มันเล่นกับแค่ลวดลายเท่านั้นเอง มันเล่นกับลวดลายนี้ แล้วมันก็ทำซ้ำ ๆ เต็มไปหมดเลย มันเล่นกับขนาดด้วย เขาฉลาด เขาเล่นกับหลายอย่าง ขนาด เขาเล่นกับตัวคนของเขาด้วยเหมือนกับ (Andy) Warhol จริง ๆ งานของ Warhol นี่มันมโหฬาร ไม่ใช่เพราะตัวงานเพียว ๆ นะ คือมันเป็นเรื่องมาร์เก็ตติ้ง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวพัน มันเป็นสตอรีตัวเขา แล้วมันก็พ่วงมากับคนที่เขารู้จักเต็มไปหมดเลย จนมาถึง Madonna แล้วพวกนี้ขายงานได้แพง ๆ หมดเลย เพื่อน Madonna (Jean-Michel) Basquiat ตอนไปอยู่หอด้วยกัน แค่เคยกินเหล้าด้วยกัน กลายเป็นศิลปินดังมาก ๆ งานแบบ Street เป็นหลายร้อยล้านมาก เนี่ย มันต้องประกอบกันหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ละคนก็ต่างกันไป ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale The People: รู้สึกกังวลไหมที่มาจับงาน Digital Painting โดยที่ไม่มีพื้นฐานการเรียนศิลปะมาก่อน ปีติ: ก่อนหน้านี้ผมเป็น activist ทางการเมือง สมัยปี 2525 ถึงพฤษภาทมิฬ 2535 พอหลังจากนั้น ตั้งแต่เริ่มตั้งร้าน ซึ่งมันเน้นเรื่อง culture เน้นเรื่องอาหาร เรื่องดนตรี เรื่องการแสดงงานศิลปะ เรื่องการพูดคุย เปรียบเทียบให้เด็กรุ่นใหม่รู้ก็คือมันเหมือนเป็น Clubhouse ยุคแรก ๆ เมื่อก่อนนี้เรามี Midnight Museum คือคุยกันตอนเที่ยงคืนจริง ๆ แล้วผมก็ไม่รู้หลังจากนั้นมันทรงอิทธิพลหรือเปล่านะ แต่ว่าที่เชียงใหม่เขาก็ไปใช้ชื่อ Midnight University แล้วจนทุกวันนี้ก็มี Clubhouse ตอนดึก ๆ (หัวเราะ) มันคล้ายกันมากเลยกับที่เราเคยทำ คราวนี้พอทำไปเรื่อย ๆ แบ็กกราวด์อีกอันหนึ่งของผมก็คือผมเรียนปรัชญามาด้วย ปรัชญาปริญญาโทที่จุฬาฯ เรียน coursework จบ coursework แต่ว่าไม่ได้ส่งวิทยานิพนธ์ แต่ว่าเราใฝ่รู้ในทางนี้อยู่แล้วปรัชญา   The People: ตรงข้ามกับการเรียนปริญญาตรี? ปีติ: ปริญญาตรีนี่ เรียนคณะพาณิชย์ฯ เอกการเงินของธรรมศาสตร์ เรียนรู้เรื่องพวกตลาดหุ้นในยุคแรก ๆ เลย (หัวเราะ) แต่แทบไม่ได้เรียนหรอก คือทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นหลัก (เรียนปรัชญา) ใช่ ทีนี้ก็ shift เลย จากผู้นำนักศึกษาก็ไปสนใจทางด้านปรัชญา เพื่อที่จะมาศึกษาสังคมให้มันลึกซึ้งที่สุดนั่นแหละ แต่โดยความชอบส่วนตัวนี้ คือชอบศิลปะมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่มัธยมฯ ที่ทำคะแนนศิลปะได้ดีมากมาตลอด ถ้าไม่ได้ห่วงใยสังคม หรือว่ามีความชาตินิยมอยู่ในตัวมาก ผมว่าผมคงไปเรียนสถาปัตย์หรือจิตรกรรมไปแล้ว อาจจะเป็นสถาปัตย์มากกว่า หมายถึงโดยส่วนตัวนี่คือชอบสถาปัตย์  ทีนี้พอมาเรียนปรัชญาด้วย แล้วก็มาเปิดร้านที่มันเน้น culture แล้วเราก็มีแสดงงานศิลปะ ทำให้เรารู้จักกับพวกอาจารย์ศิลปะที่ศิลปากรอีกหลายคน แล้วก็คุยกันตั้งวงกันในร้าน คุยไปสักระดับหนึ่งเขาก็รู้สึกว่าเรามีมุมมองหลายอย่างที่มันน่าสนใจ น่าจะไปสอนพิเศษได้ เขาก็ชวนไปสอนที่ ม.กรุงเทพ แล้วผมก็ shift มาสอนพิเศษที่ ม.ศิลปากร ตอนแรก ๆ ก็สอนมัณฑนศิลป์ก่อน แต่ก็สุนทรียศาสตร์นี่แหละ จนตอนในปีท้าย ๆ ก็สอนที่จิตรกรรมก็เป็นปริญญาโท  รวมแล้ว 2 ที่ สอนทั้งหมดก็ประมาณ 14 ปี แล้วก็รู้สึกอิ่มตัว คือประมาณปี 2554 ที่น้ำท่วม ก็อย่างนี้ผมชอบให้มีเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่มากระตุกเรา ปีนั้นมันทำให้เรานั่งคิดเหมือนกันว่ามันน่าจะพอแล้ว เรารู้ว่าเรามีอะไรอยู่ในตัว แต่ไม่ได้ทำออกมาเอง แล้วเราก็ไปสอนคนอื่น แต่เป้าหมายของเราที่เราสอนคนอื่นก็เหมือนเราเป็นโค้ชบอล คือต้องการให้เขาไประดับโลก แข่งจนถึงระดับโลกได้ ดังนั้น ผมไม่ยอมลดมาตรฐานเลย ผมเป็นอาจารย์ที่หลาย ๆ คนในนั้นจำได้ว่าให้เกรดโหดที่สุด มีนักศึกษาที่ F มากที่สุดทุกปีเลยนะ ไม่ใช่ความภูมิใจนะ แต่ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น คือผมไม่ยอมลดมาตรฐานเลย ถ้ารู้สึกว่าจะลดมาตรฐานแล้ว เราเห็นแล้วว่าถ้าคุณผ่านไปแล้วคุณกลายเป็นศิลปินห่วย คุณไปแข่งกับเมืองนอกเขาไม่ได้ ถ้าเรารู้สึกอย่างนั้นเราจะไม่ยอมปล่อยให้เขา เราไม่ทำ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้มาตรฐาน มีเท่านี้ คุณต่างหากที่ต้องถีบตัวเองขึ้นมาให้เกินนี้ให้ได้ คุณถึงจะแข่งกับเขาได้ ผมจะยึดอันนี้  แล้วก็เป็นความภูมิใจนะ คือตอนที่สอนที่ ม.กรุงเทพ เด็กรุ่นแรก ๆ รุ่นนั้นถึงขนาดเชิญผมเป็นคนเปิดงานตอนเขาทำธีสิสตอนจบ ทั้งที่ผมเป็นอาจารย์พิเศษ ผมแทบไม่ได้เข้าไปยุ่งในระบบอะไรของเขาเลย แล้วปีที่สองเขาก็จะเชิญอีก มีข่าวลือ บางคนเข้ามาบอกแล้ว แต่ปรากฏว่าโดนอาจารย์ในนั้นมาคุยเบรก มันมีคลื่นใต้น้ำ มีคนเขม่น ส่วนที่ศิลปากรสอนถึงปี 2554 ที่ศิลปากรเองก็เหมือนกัน ที่ ม.กรุงเทพไม่มาก เพราะยังเป็นกลุ่มเล็ก 10 กว่าคน แต่ที่ศิลปากรคือปริญญาตรีแบบหลายร้อยคน แต่ถ้าตอนปริญญาโทก็ไม่กี่คน 5-6 คนเนี่ยสนุก ถ้าตอนหลายร้อยคนอันนั้นน่ะเยอะ แบบว่าได้มาคุย แต่ไม่เคยมีปัญหากับนักศึกษาเลยนะ ตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่นั่น ไม่เคยมีกระแสใด ๆ เลยนะ ผมก็ภูมิใจนะ คือเขายอมรับโดยดุษณี เขาเข้าใจสิ่งที่ผมทำ ไม่มีกระแสต่อต้านโวยวาย แล้วจนถึงตอนนี้มาเจอลูกศิษย์เก่าที่เคย F เข้ามาไหว้ บอกขอบคุณอาจารย์มากเลย ไม่เคยรู้สึกโกรธอะไรเลย แล้วถ้าไม่ F วันนั้นก็ไม่มีวันนี้ พูดอย่างนี้เลย ทำให้มันถีบตัวเองขึ้นมามากเลย ได้เรียนรู้อะไรที่ไม่อยู่ในกรอบ ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าเรียน ๆ ตามระบบไปอย่างนั้น คือมันต้องตั้งคำถามกับการเรียน หรือว่าคุณภาพของมันอย่างหนัก    The People: มองว่าความเข้าใจด้านสุนทรียศาสตร์เปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม ปีติ: ...ได้ (หัวเราะ) แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปะเพื่อชีวิต คือไม่ต้องเป็นศิลปะเพื่อชีวิตเลย เราต้องมองศิลปะเพื่อชีวิตในความหมายกว้าง คือศิลปะเพื่อศิลปะ มันก็เป็นศิลปะเพื่อชีวิตได้ ผมจะไม่มานั่งเถียงระหว่างสองอย่างนี้นะ ผมว่ามันเป็นความผิดพลาดของยุคสมัยหนึ่งที่เราไปแบ่งขั้วกันเกินไป มันแข็งตัวเกินไป แต่ที่จริงแล้วถ้าเกิดศึกษาดี ๆ จะรู้ อย่างเช่น Picasso คือสายของศิลปะเพื่อชีวิตส่วนใหญ่ จะเป็นฝ่ายซ้ายใช่ไหม แต่ Picasso  เป็นฝ่ายซ้าย เป็นสังคมนิยม คือศิลปินที่ทำงานเพื่อความสวยงามอะไรทั้งหลาย Art for Art’s Sake พวกนี้จำนวนมากเลยนะเป็นสังคมนิยม แต่มันไม่จำเป็นต้องออกมาในตัวงานที่ว่าต้อง ต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมาชีพอะไรอย่างนี้  งานของ Monet เองก็กบฏบ้าง อย่างที่เรารู้คือเขากบฏจากพวก academic จากพวก Realist ทั่วไป ซึ่ง Realist ยุคนั้นส่วนใหญ่ก็รับใช้แนวอนุรักษนิยม แต่พวกนี้ปฏิเสธ บอกคุณต้องออกมาสู่โลก มาสู่ธรรมชาติ คุณต้องออกมาวาดข้างนอก แล้วคุณต้องวาดทิวทัศน์ หรือว่าวาดภาพคนทั่วไป การวาดภาพคนทั่วไปซึ่งอาจจะเป็นคนชั้นกลาง แค่นั้นก็เป็นการกบฏในยุคสมัยนั้น แล้วหลายคนอย่าง Van Gogh ก็มาวาดคนชั้นล่างด้วย ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ พวกนี้เป็นเหมือนยิปซี ก็ใช้ชีวิตกันแบบ (โบฮีเมียน) คือพวกนี้เป็นพวกกบฏอยู่แล้ว กินเหล้าเมายาเละเทะ วาดภาพในคลับบาร์ วาดภาพโสเภณี พวกนี้มันเป็นอยู่แล้วในตัวชีวิต ชีวิตมันเป็นตัวกบฏ มันเป็นตัวตั้งคำถามอยู่แล้ว  เหมือนกันผมทำงาน ทุกวันนี้ผมว่างานผมส่วนใหญ่เน้นความสวยงามนะ (หัวเราะ) ถ้าทางสุนทรียศาสตร์ผมไม่ซับซ้อนเลย สุนทรียศาสตร์ทุกวันนี้เวลาเรียนมันซับซ้อนมาก ต้องไปเรียนปรัชญา พวก Post Modern แบบหัวจะแตก จริง ๆ ไม่จำเป็นเลย คือสุนทรียศาสตร์ทุกวันนี้มันเป็น conceptual มาก พยายามจะเอางาน conceptual เข้ามาเยอะ แล้วก็ตั้งคำถามกับโลกกับสังคมเยอะ แล้วก็ศิลปะนิยามมันไม่ใช่แค่เรื่องความงาม มันไปไกลกว่าเรื่องความงามแล้ว ก็ใช่ถ้าในแง่การสอน เราก็ต้องสอนอะไรอย่างนั้น แต่ว่าโดยพื้นฐานของมันแล้วก็ยังเป็นเรื่องความงาม แล้วผมก็รู้สึกดีที่ติดอยู่บนฐานของอันนี้ กลับมาอยู่ของอะไรที่มันง่าย ๆ simple อยู่บนความงาม  ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale The People: ศิลปะรับใช้อะไร ปีติ: ก็คือรับใช้ตัวเราเอง รับใช้ชีวิต แต่มันต้องถามต่างหากว่าชีวิตคุณแต่ละคน คุณวางเป้าไว้ที่ไหน เป้าหมายของคุณกว้างแคบ ความสุขของคุณเป็นแค่ความสุขในตัวคุณเองเพียว ๆ หรือความสุขของคุณมันหมายถึงความสุขของคนอื่นด้วย หลายคนรวมทั้งผมด้วย ความสุขของผมมันกว้างกว่า ผมคิดว่าถ้าคนอื่นมีความสุข คนทั้งโลกมีความสุข ทำให้โลกยิ้ม มันถึงจะทำให้เรารู้สึกสดชื่น เราอิ่มเอิบจริง ๆ ไม่ใช่เรายิ้มคนเดียว แล้วเราอยู่ท่ามกลางคนที่เศร้าหมอง    The People: มองม็อบคนรุ่นใหม่ในแง่มุมสุนทรียศาสตร์ ปีติ: คือผมก็พยายามติดตามเขานะ เพราะส่วนหนึ่งถึงแม้ผมจะยืนอยู่บนฐานสุนทรียศาสตร์ที่เน้นความงาม แต่ผมก็จะพยายามหาช่องทางอยู่ตลอดเวลาที่จะนำเสนอแง่มุมบางอย่างต่อสังคม แต่ขณะนี้แง่มุมที่ผมถนัดที่จะสื่อตอนนี้มันไปไกลเกินกว่าเรื่องสังคม มันเป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ สุนทรียศาสตร์ของผมมีความงามในงานของผม เช่น อย่างที่ผมบอกมีรูปธรรมในนามธรรม และมีนามธรรมในรูปธรรม มันก็คือการเตือนให้เรานึกถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ชีวิตคนอย่าไปคับแคบ เราต้องมองให้ออกว่าในข้อดีทั้งหลาย สิ่งที่เรารักเราเชื่ออะไรก็ตามมันจะมีข้อเสียอยู่ด้วยเสมอ มันจะมีจุดอ่อนอยู่ด้วย แล้วในสิ่งที่เราคิดว่ามันเลวทั้งหลาย มันก็อาจจะไม่ได้มีเลวแบบ absolute มันก็มีเหตุปัจจัยอื่น มันอาจจะมีความดีบางอย่างอยู่ในนั้นด้วย  ผมว่านี่เป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะมี นี่คือเป็นประเด็นใหญ่ที่ผมเล่น แล้วผมตั้งคำถามกับชีวิตด้วย อันนี้มันไปไกลเกินเรื่องสังคม แค่ที่เราจะมาดัดแปลงสังคมบางส่วน แต่ก็ยังพยายามหาแง่มุมอยู่ตลอดเวลา เพราะอย่างที่เขาออกมาเคลื่อนไหวทุกวันนี้ผมก็อยากให้มีเปลี่ยนแปลง ผมเห็นบ้านเมืองมีปัญหามาก แล้วมันต้องเปลี่ยนแปลง อะไรที่ช่วยได้ก็อยากจะเข้าไปช่วย อย่าเรียกว่าช่วยเลย มันเป็นเรื่องของเราด้วย ไม่ใช่ไปช่วยเขานะ คือเราต้องสู้ด้วย ก็พยายามคิดถึงแง่มุม แต่ตอนนี้คนที่สู้อยู่วงในสุดเขาก็ทำได้ดี ถ้าพูดในแง่ศิลปะนะ เท่าที่ผมเห็นหลายคนสื่อมาได้ชาญฉลาด ได้แหลมคม ได้สนุกสนาน มีมากนะ    The People: หลังจากที่ถอยจากการสอน เริ่มต้นทำ Digital Fine Arts ตอนไหน? ปีติ: พอปี 2554 ตัดสินใจเลิกก็เพราะว่าลึก ๆ แล้วเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถ แล้วมันท้าทาย คือในเมื่อเราเป็นครู เป็นโค้ช จะสอนคนให้ไปแข่งระดับโลกได้ ผมอยากแสดงให้เห็นว่าตัวคุณเอง ถ้าทำงานศิลปะเอง สายตาของเรา ความเฉียบคมของเราก็อยู่ในระดับโลกเหมือนกัน เราน่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เราถึงจะสอนเด็กได้ ผมรู้สึกอย่างนี้ แล้วที่ผ่านมาสิ่งที่ผมทำคือไม่ผิดแน่นอนที่วางมาตรฐานขั้นสูง แล้วก็ให้ F ให้ D กับเด็กจำนวนมาก คือไม่เคยรู้สึกผิดอยู่แล้วแหละนะ แต่ว่าเวลาที่มาทำงานศิลปะ ความรู้สึกเราอยากจะ prove ในเรื่องนี้ ถ้าเราทำงานศิลปะ เราก็อยากให้ลูกศิษย์ทั้งหลายเห็นว่าอาจารย์ของคุณสายตามันเฉียบคมมาก แล้วถ้าทำงานศิลปะเอง มันก็เหมือนสิ่งที่ผมพยายามจะสอนพวกคุณนี่แหละ ก็คือไปสู่ระดับโลกได้    The People: คำว่าระดับโลกที่พยายามจะบอกนักศึกษามันคืออะไร  ปีติ: คุณไม่ต้องลึกซึ้งในเชิงความคิดอะไรเลยก็ได้ คุณทำงานศิลปะบนความงาม บนเทคนิค คือคุณสนุกแต่มันเป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมแค่นี้ก็ได้ แต่ถ้าคุณจะลุ่มลึกกว่านั้น ตัวคุณเอง จิตวิญญาณของคุณ คุณใส่มากับงานศิลปะด้วยมันก็ยิ่งดี แต่โดยพื้นฐานที่สุดแล้วก็คือทำงานที่มันทำให้คนในระดับโลกสั่นสะเทือนได้ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง อาจจะด้วยความงามหรือด้วยอะไรก็ตาม นั่นคือระดับโลก แล้วหมายความว่ารูปธรรมก็อย่างเช่น งานประกวดระดับโลก ถ้าเขาการันตีก็หมายความว่าคุณก็ผ่านเกณฑ์ระดับหนึ่งแล้ว หรืองานของคุณแกลเลอรีระดับโลกยอมรับ ก็ถือว่าผ่านงานระดับหนึ่งเหมือนกัน  อันนี้ไม่ได้แปลว่าเราฝากชีวิตหรือการมองงานศิลปะทั้งหมดไว้กับแกลเลอรีนะ เพราะคนในแกลเลอรีจำนวนมากก็อวด แต่ว่าอย่างน้อยก่อนที่เราจะไปเหนือกว่าตรงนั้น มันก็เป็นขีดขั้น หรือเป็นมาตรฐานหนึ่งที่วัดได้ว่าเราระดับโลกจริงหรือยัง หรือว่าเราแค่อยู่ในวงแคบ ๆ แล้วก็นั่งซื้องานกันเอง อวยกันเอง คืออันนี้มันมีเยอะไง แล้วภาวการณ์ที่เราอยู่ในโลกแคบแล้วเราหลอกกันเอง มันเป็นเรื่องที่เป็นกระแสหลักในโลกศิลปะขณะนี้ เพราะฉะนั้น ไอ้ตรงนี้มันก็เลยสำคัญขึ้นมาที่จะต้องทำให้เห็นว่าเราต้องตั้งคำถามเยอะ ๆ กับค่านิยม หรืองานของศิลปินดัง หรือหลาย ๆ คนที่มีชื่อเสียงขึ้นมา แต่ว่าตัวงานจริง ๆ แล้วมันมีคุณค่าระดับโลกจริงไหม หรือว่ามัน overprice   The People: หลังสอนเสร็จเริ่มต้นทำ Digital Fine Arts ตอนไหน ปีติ: ก็คือหลังจากนั้นพอเลิกสอนปั๊บ ตั้งแต่นั้นมาก็ยังไม่ได้ทำงานอาร์ตทันที กลับมาเคลียร์งาน เคลียร์ชีวิต เคลียร์ร้าน 4-5 ปีที่ไม่ได้ทำ แล้วอยู่ ๆ มันก็หลั่งไหลออกมา คือพอถึงจุดที่เราว่าง เราโล่ง เรามีสมาธิ มันอยากทำงานขึ้นมามันก็ทำ เหมือนกับคราวนี้ก็หลั่งไหลเลย ใช้คำว่าหลั่งไหล  ผมเริ่มจากงานโฟโต้ ผมเริ่มง่าย ๆ ถ่ายภาพก่อน แล้วก็เริ่มโดยบังเอิญด้วย คือมีคนมาลืมกล้องไว้ที่ร้าน (หัวเราะ) ฝรั่งลืมกล้องไว้ กล้อง compact ธรรมดานี่แหละ ตอนนั้นเราไปเที่ยว เราก็เลยถ่ายรูปไปเรื่อย ถ่าย ๆ ๆ พอถ่ายเยอะ ๆ เข้า ตอนนี้คุณก็ต้องมีมุมมองอาร์ตเข้ามา มุมอาร์ตในตัวคุณมันก็จะออกมา คือคุณไม่อยากถ่ายแบบทั่ว ๆ ไปแล้ว ผมก็พยายามถ่ายให้เป็น Fine Arts จุดเริ่มต้นก็คือถ่ายภาพยังไงที่มองแล้วไม่เป็นภาพถ่าย มองแล้วกลายเป็นงาน Fine Arts จุดเริ่มจากตรงนั้น   The People: อะไรคือสุนทรียะของ Digital Fine Arts ปีติ: ผมคิดว่าความซับซ้อนของมัน แล้วก็สไตล์ที่ผมกำลังทำกับคุณ Kusama ทำคือแพตเทิร์นงานคล้าย ๆ มันดู simple เหมือนงานลายผ้า เหมือนงาน decorate แต่ไม่ใช่   The People: ต่อไปศิลปินจะสูญเสียหน้าที่พระเจ้าผู้กำหนดทุกสิ่งให้กับ AI ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ไหม ปีติ: ดูจากพัฒนาการต่าง ๆ ของโปรแกรมที่ผมใช้ตอนนี้กับศิลปะที่ทำโดย AI เพียว ๆ ซึ่งผมก็ตามอยู่ ผมคิดว่าอีกนาน เพราะอย่างที่บอก แม้แต่โปรแกรมที่ผมใช้ไม่กี่โปรแกรมซึ่งมันก็ทรงพลังมากแล้ว เรายังต้องกำกับ ยังต้องการศิลปินที่เก่งมาก ๆ แหลมคมกำกับ มันถึงจะออกมาเป็นงานที่สวย คือใครก็ทำได้นะอย่างลวดลายที่ทำใน Neo Klimt คนอีกเป็นจำนวนมากเลยจะทำก็ทำได้ แต่มันจะไม่สวยเท่า คุณต้องเป็นศิลปินด้วย ก็เหมือนกับทุกคนสร้างหนังได้ แต่คุณจะเป็นผู้กำกับที่ออสการ์หรือเปล่าใช่ไหม    The People: แล้วถ้าวันหนึ่ง AI เป็นผู้กำกับได้  ปีติ: มันไปแน่ มันถึงจุดนั้นแน่ มันอันตรายด้วยก่อนไปถึงจุดนั้น ผมว่ามันทำอย่างอื่นที่ทำให้เราล่มสลายไปก่อนแล้วด้วย มันอันตรายมาก ตอนแรกมีบางคนที่พยายามจะทำให้มันฉลาดจริง ๆ ขึ้นมา น่ากลัวมาก ผมไม่เห็นด้วยเลย   The People: แต่มันเป็นแนวโน้มที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น  ปีติ: นี่ไง ความเป็นมนุษย์คืออะไร ความเป็นมนุษย์คือความที่เราต้องรู้ว่าแค่ไหนพอ เราต้องกำหนดอนาคต หรือกำหนดชะตากรรมของตัวเราเอง นี่คือความเป็นมนุษย์ essence ของความเป็นมนุษย์ในอนาคตคือตัวนี้เลยนะ ไม่งั้นคุณแพ้โรบอตแน่นอน เราต้องรู้จักพอ เราต้องรู้จัก speculate มองการณ์ไกล คาดการณ์ถึงข้างหน้า แล้วรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วหยุดก่อน เราไม่ข้ามเส้นนั้นไป อย่า cross the line นั่นแหละคือความ mature ของมนุษย์ และสำคัญมาก ๆ ในอนาคต ผมพูดเล่น ๆ กับเพื่อน ไม่เล่นด้วย เริ่มจริงขึ้นเรื่อย ๆ คือบางทียุคที่เราอยู่ตอนนี้อาจจะเป็นยุคทองสุดท้ายของมนุษย์ ที่เราอยู่กันทุกวันนี้นี่คือยุคทองของความเป็นมนุษย์แล้วนะ โดยที่เราอาจจะไม่ตระหนัก เลยไปกว่านี้เนี่ยเราจะฉิบหายแล้วนะ นี่คือยุคทองจริง ๆ คือ (71.24) ของความเป็นมนุษย์ของเราทั้งหมดแผ่ออกมา เปล่งประกายออกมาทั้งหมด ถ้าไม่มีสงครามใหญ่ ๆ อีกแล้ว พอแล้ว ปีติ กุลศิโรรัตน์: ศิลปะดิจิทัลวาดโดยเมาส์และหัวใจที่ไปถึง  London Art Biennale The People: คิดอย่างไรกับ NFT (Non-Fungible Token) ปีติ: อย่างที่บอก ผมจะรอดูช่วงงานนิดหนึ่งว่ามีแกลเลอรีไหนที่จะ approach มาหรือเปล่า ถ้าไม่ approach ผมก็จะลอง approach เขา ผมไม่ได้หยิ่งอะไร ก็ไม่แน่มันอาจจะเป็นจังหวะที่ยังไม่ได้ก็ได้ แต่ว่าอย่างน้อยมาตรฐานของงานผมคือถ้าไปเสนอแกลเลอรีไหนก็ตาม อย่างน้อยเขาก็ต้องชายตามองแล้วแหละจากที่ไม่มองเลย   The People: แต่เจ้าของผลงานก็สามารถเข้าไปขาย NFT ได้โดยตรง ปีติ: ใช่ ๆ อันนั้นคืออีกชอยซ์หนึ่ง แต่คราวนี้ผมยังมีความฝันแบบเก่า ๆ อยู่ ผมยังหัวโบราณอยู่ไง ยังรู้สึกว่าเฮ้ย! เราอยากจะก้าวไปสู่จุดนั้นก่อน บางทีคิดเฉย ๆ ด้วยซ้ำ ผมอยากมีภาพสักบางภาพของผมที่โชว์อยู่หน้าร้าน Gagliardi ที่ King’s Road นี่เป็น destination อันหนึ่งของผมนะ ง่าย ๆ อันหนึ่ง แต่มันรู้สึกดี รู้สึกสนุก แค่นี้เอง แต่จริง ๆ ไม่ได้มีความหมาย ไม่ได้สำคัญเลยนะ เพราะว่าการขายงานมันกว้างกว่านั้นเยอะ แต่เราก็ยังติดกับความรู้สึกเก่า ๆ ก็เหมือนกัน อันนี้คือจะรอแกลเลอรีก่อน บางทีเขาอาจจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้ามีเงื่อนไข ผมก็คิดหนักนะ เพราะผมไม่ค่อยชอบเป็นใครอยู่แล้ว ใจผมเองผมอยากจะขายโดยไม่มี commission อยู่แล้ว  ไม่ใช่ง่าย ๆ ที่คุณจะสร้างชื่อด้วยตัวเองแบบนั้นขึ้นมา แล้วผมไม่ได้มองโลกสวยนะ คือผมไม่ค่อยเชื่อในเรื่องความบังเอิญอะไรทั้งหลาย ที่เราได้ข่าวมาปั่นกันว่างานนี้อยู่ ๆ รวยพริบตา ผมว่ามันมีเบื้องหลังเกือบทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มันมีเบื้องหลังอยู่ ผมไม่เชื่อในเรื่องนั้น ยากมาก คุณต้องถูกดันโดยอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะแกลเลอรีที่ push เป้าหมายบางอย่าง คุณจะสังเกตว่างานที่มันทำเงินอะไรพวกนั้นมันเปลี่ยนมือไปแล้ว โดยส่วนใหญ่คือมันเปลี่ยนมือไปก่อนแล้ว ก็เหมือนกับพวกนี้ เดี๋ยวนี้การขายงานศิลปะส่วนใหญ่อะไรพวกนี้ทั้งหมดไม่รับงานมือหนึ่ง รับงานมือสอง    The People: รับงานที่เปลี่ยนมือไปแล้ว? ปีติ: ถูก ซื้อถูก ๆ ไปแล้ว แล้วเวลารวย คนที่รวยไม่ใช่ศิลปิน (หัวเราะ) มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ความเห็นส่วนตัวผมนะ รวมถึงงานของ ผมไม่เชื่อเลยว่ามีอะไรที่มันบริสุทธิ์ อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้มองอะไรที่ซับซ้อน อย่ามองอะไรง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไปทำ Street Arts ใช้เวลาหลายปี โดยที่ไม่มีใครเห็นคุณทำเลย จำไม่ได้เลยว่าคุณคือใคร แล้วในขณะที่จำไม่ได้เลย แต่คุณสามารถจะขายงานในแกลเลอรี หรือในวงประมูลระดับโลกได้ โดยที่คุณบอกว่าไม่เกี่ยวกับคุณ เป็นไปไม่ได้ครับ ไอ้คนที่เอางานของคุณไปประมูลเองนั่นแหละถือว่าเปลี่ยนมือไปแล้วด้วยนะ ยากมากที่เขาจะไม่รู้ว่าคุณคือใคร มันเป็นการสร้างกันทั้งหมดของขบวนการหนึ่ง ไม่รู้นะ หลังจากที่ผมเห็นโลกมาพอสมควร ผมค่อนข้างจะหวาดระแวง ไม่เชื่อ    The People: คาดหวังอะไรกับ London Art Biennale ปีติ: ก็ตอนนี้มันคือใบเบิกทางแล้วละ มันเป็นการ prove เราระดับหนึ่ง แต่ว่าวงการศิลปะมันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้แปลว่าพอมีอันนี้แล้วทุกแกลเลอรีจะวิ่งเข้ามาหา หรือเราประสบความสำเร็จหมด ไม่ใช่ เพราะว่าวงการศิลปะอย่างที่บอกคือมันเป็น commercial มาก สอง-ในวงการนี้อีโก้มันสูงมาก ความอิจฉาริษยามันสูงมาก ๆ มันไม่ง่ายหรอก แต่บทมันจะง่ายมันจะง่ายเลยนะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องกระแส คนมาแบบกระแสนี่โอ้โห! ไปแบบแรงมาก แล้วสังคมส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น คนไทยก็เป็น ระดับโลกก็เป็น คือกระแสก็สำคัญ ไม่ง่าย มันต้องเป็นการลงตัวของ factor หลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันบางที   The People: คิดอย่างไรที่เข้าสู่วงการตอนอายุ 50 กว่าแล้ว  ปีติ: ก็ดีนะ (หัวเราะ) ว่าเราได้ใช้ชีวิตมาคุ้มพอสมควรนะก่อนที่มาถึงจุดนี้ อันที่สองคือรู้สึกว่าก็ดีนะที่มันก็เป็นจุดเด่น (หัวเราะ) แต่ว่าในความเป็นจริง ถ้าเราไปเสิร์ชดูศิลปินระดับโลกจำนวนมากเลย มีทั้งสองปัจจัยนี้ คือหนึ่ง ประสบความสำเร็จตอนที่อายุเยอะแล้วเยอะมาก หรือเพิ่งมาทำงานศิลปะในตอนที่อายุมากก็มีเยอะ แล้วก็อีกจุดหนึ่ง บางศิลปินที่ไม่ได้ผ่าน academy มา ที่ฝึกฝนเองเรียนเอง ก็มีเยอะมากที่ประสบความสำเร็จ ก็ดีฮะ ผมชอบค่านิยมพวกนี้ คือคนต้อง fight เรื่องอายุนี่ไม่ควรจะมาเป็นอุปสรรค แต่จริง ๆ มันมีส่วนนะ คือตอนที่เราทำมันรู้เลยว่างานหลาย ๆ อย่างที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก ๆ ใช้พลังมาก ๆ เราทำได้น้อยลง   The People: เป็นเรื่องพลัง ไม่ใช่วิธีคิด ปีติ: ใช่ ๆ จากเดิมที่เคยคิดว่าจะมาทำตอนเกษียณด้วยซ้ำไป 60 ปีไปแล้ว ดีใจที่ได้ลงมือแต่เนิ่น ๆ ก็ฝากบอกคิดถึงคนอื่นด้วย ถ้าคิดว่าจะไปทำตอน 60 กว่าปี ถ้าทำเล่น ๆ ได้ แต่ถ้าจะทำให้ได้แบบนี้ เป็น professional แล้วประสบความสำเร็จระดับโลก เกือบจะไม่ทันแล้ว เพราะหลาย ๆ งานมันต้องใช้พลังงาน