สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง

สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง
“The Cave นางนอน” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงสุดระทึกเกี่ยวกับภารกิจช่วย 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ผลงานการกำกับโดย ทอม วอลเลอร์ ที่ต้องการเล่าเรื่องราวผ่านความเสียสละและความมุ่งมั่นของอาสาสมัครทุกคน โดยอาสาสมัครตัวจริงได้รับเกียรติมาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำที่ถ้ำหลวงของจริง ทีมงานจึงเลือกถ่ายทำที่ถ้ำน้ำเขาศิวะ จังหวัดสระแก้ว และสร้างถ้ำใหม่จากสระว่ายน้ำร้างแห่งหนึ่งแทน โดยนักออกแบบงานสร้าง พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง ชายผู้เนรมิตถ้ำหลวงในหนังให้สมจริงที่สุด นักออกแบบงานสร้างคู่ใจที่เคยร่วมงานกับทอมมาแล้วใน ศพไม่เงียบ (2554) และ เพชฌฆาต (2557) The People จึงชวนเขาคุยถึงหน้าที่ของนักออกแบบงานสร้าง วิธีการสร้างถ้ำในภาพยนตร์ และประสบการณ์ทำงานที่เปลี่ยนความคิดของเขาต่อเหตุการณ์นี้ [caption id="attachment_14422" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง[/caption]   The People: จำวันแรกที่เริ่มเหตุการณ์ถ้ำหลวงได้ไหม พงศ์นรินทร์: ผมไม่มีทีวีอยู่บ้านมา 20-30 ปีแล้วฮะ (หัวเราะ) จึงไม่ค่อยได้เสพข่าวอะไรมากมาย แต่ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ ทุกวันที่ออกไปกินข้าวนอกบ้านจะได้ยินชาวบ้านคุยกัน วันแรกก็ยังคิดว่าเป็นข่าวปกติที่เด็กหายในถ้ำ ไม่ได้คิดอะไร พอล่วงเข้าไปวันที่ 2-3 ข่าวก็เริ่มใหญ่ขึ้น เราก็เริ่มสนใจ ในใจลึก ๆ ถึงขั้นคิดว่านานขนาดนั้นคงไม่รอดแล้ว แต่วันหนึ่งกำลังนั่งดูฟุตบอลโลกอยู่ดี ๆ คนก็เฮดังลั่นว่าเจอเด็กแล้ว เราก็แบบ... โอ้โห เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ก็ประทับใจที่ได้ยินแบบนั้น   The People: ผู้กำกับ ทอม วอลเลอร์ ติดต่อมาว่าเขาอยากทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนไหน พงศ์นรินทร์: ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเดือนกันยายน ปี 2561 หลังจากเหตุการณ์นั้นสัก 2-3 เดือน พอดีคุณทอมกลับบ้านที่ไอร์แลนด์ แล้วอยู่ดี ๆ ก็บอกว่า “ผมสนใจอยากจะทำหนังเรื่องนี้” ผมก็ถามว่าคุณทำจริงเหรอ รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง เขาก็บอกว่ารู้จักกับนักดำน้ำ จิม วาร์นี (Jim Warny) เพราะเจอกันที่บ้านไอร์แลนด์ ผมก็เริ่มน่าสนใจละ เพราะเขารู้ข้อมูลจริง ๆ ไม่ใช่แค่อยากจะทำ    The People: โจทย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร พงศ์นรินทร์: คุณทอมอยากเสนอเรื่องราวที่ไม่ใช่เรื่องกระแสหลัก ไม่ใช่เรื่องที่เรารับรู้อยู่แล้วจากหนังสือพิมพ์ เพราะนี่เป็นข่าวที่ทุกคนติดตาม รู้กระบวนการทุกอย่างหมดแล้ว แต่เขาสนใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ เช่น เรื่องอาสาสมัครที่เข้าถ้ำ หรือกระบวนการช่วยเหลือภายในถ้ำ เราก็เลยมาคุยกันแล้วเขาก็บอกว่า “ผมไม่อยากทำเป็น mainstream อยากให้มันดูสมจริงมาก ๆ เป็น documentary style” แล้วเราก็ได้คุยกับผู้กำกับภาพ เวด มุลเลอร์ (Wade Muller) ว่าเราจะพยายามทำให้สมจริงที่สุด เพราะวิธีการเดินกล้องของเวดโดยปกติจะใช้ขาตั้ง ดอลลี หรือเครน แต่เรื่องนี้แทบจะไม่มีอะไรอย่างนั้นเลยครับ เป็น handheld เพียบเลย [caption id="attachment_14410" align="alignnone" width="1536"] สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง[/caption]   The People: คุณเริ่มหาข้อมูลสำหรับสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไรบ้าง พงศ์นรินทร์: เริ่มจากน้องคนหนึ่งในทีมเป็นคนขับรถของทีมอาร์ตฯ แล้วน้องคนนี้เป็นอาสาสมัครของกู้ภัยที่ไปถ้ำหลวงด้วย ผมก็เลยไปคุยกับเขา แล้วข้อมูลก็ค่อย ๆ ออกมา เขาก็แนะนำอาสาสมัครคนอื่นต่อ จากหนึ่งไปสอง ไปสาม ไปจนเป็นสิบ ๆ ทำให้รู้ว่าข้อมูลที่ได้จากคนแรกก็มีบางอย่างที่ผิดพลาดเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์นี้มีคนเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะมาก บางคนเข้าไปนิดเดียว เห็นแค่ปลายเหตุ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงยากตรงที่เราต้องมาคัดกรองข้อมูลว่าข้อมูลไหนที่น่านำมาใช้ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าหนังถูกต้องหมด 100% แต่เราใช้ข้อมูลที่มีคนยืนยันมากที่สุด ผมคิดว่าเราถูกต้องมากกว่า 90% เลยครับ ผิดเพี้ยนน้อยมาก เพราะเราหาข้อมูลกันหนักมากจริง ๆ     The People: หน้าที่ของนักออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งคืออะไร พงศ์นรินทร์: Production Design หรือภาษาไทยเรียกว่า การออกแบบงานสร้าง คือสิ่งที่เราเห็นในหนังทั้งหมด เราต้องออกแบบว่าหนังจะมีรูปลักษณ์หน้าตาเป็นยังไง คุมคอนเซปต์ว่าอยากให้เห็นเป็นยังไง ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ การทำหนังมาเฟีย เราจะทำอย่างไรให้บ่งบอกว่าพระเอกคนนี้เป็นมาเฟีย ต้องอยู่บ้านยังไง นักออกแบบงานสร้างก็จะออกแบบบ้านว่าให้มีหน้าตาใหญ่โตประมาณไหน สไตล์ของบ้านเป็นยังไง นั่งรถอะไร ซึ่งสไตล์ของมันจะเป็นอย่างที่ผู้กำกับอยากจะนำเสนอ จึงต้องมีการคุยกันเยอะระหว่างนักออกแบบงานสร้างกับผู้กำกับแล้วก็ช่างภาพ  งานของเราคือต้องพยายามให้โอกาสผู้กำกับและช่างภาพได้เลือกวิธีในการถ่ายทำด้วย เช่น เราออกแบบบ้านที่มีประตูปกติ แต่การถ่ายทำจริงในห้องแคบ ๆ เราต้องสร้างห้องที่ผนังเปิดออกได้ให้กล้องเคลื่อนที่ เป็นต้น    The People: ทราบมาว่าถ้ำในหนัง คือการถ่ายทำในถ้ำจริง ๆ และถ้ำที่สร้างขึ้นมาใหม่ด้วย? พงศ์นรินทร์: การถ่ายทำในถ้ำจริงเพื่อให้ได้ความสมจริง ส่วนถ้ำที่เซ็ตขึ้นยังไงก็ไม่เหมือนจริง 100% หรอก (หัวเราะ) แต่เราก็สร้างให้ใกล้เคียงมากที่สุด  การถ่ายทำในถ้ำจริง ๆ ต้องใช้เวลานาน และลำบากในการถ่ายทำมาก เราเดินทางเข้าไปในถ้ำซึ่งมีน้ำจริง ๆ ที่ถ้ำน้ำเขาศิวะ จังหวัดสระแก้ว การเดินทางเข้าไปในถ้ำกว่าจะแบกกล้อง กว่าจะนำคนเข้าไป กว่าจะขนไฟอุปกรณ์ทั้งหลายเข้าไปมันลำบากมาก แถมถ่าย ๆ อยู่แบตฯ หมด ต้องเดินทางออกไปเปลี่ยนแบตฯ ก้อนใหม่ ฉะนั้นทีมงานต้องอยู่ในน้ำ หนาวกันอยู่เป็นชั่วโมง แต่เราก็พยายามทำงานให้ดีที่สุด [caption id="attachment_14413" align="alignnone" width="1536"] สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง The Cave นางนอน[/caption]   The People: ทำไมถึงเลือกถ้ำน้ำเขาศิวะในการถ่ายทำ แทนถ้ำหลวงของจริง พงศ์นรินทร์: แน่นอนเรื่องความปลอดภัยในการถ่ายทำ และผมก็เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่อยากให้ใครเข้าไปถ่ายในนั้นจริง ๆ เพราะอันตรายมาก คุมไม่ได้ ด้วยความใหญ่และความซับซ้อนของถ้ำ แต่แปลนของถ้ำน้ำเขาศิวะมันง่ายมาก เข้าไปตรง ๆ เลย ไม่ซับซ้อน มีทางเข้าออกชัดเจน การหลงเข้าไปในนั้นเป็นไปได้ยาก    The People: แล้วถ้ำที่สร้างขึ้นมาใหม่ คุณทำอย่างไรให้เหมือนสถานที่จริงที่สุด พงศ์นรินทร์: ขั้นแรกเลย ปกติเวลาทำพื้นผิวพวกนี้ หลายครั้งผมจะเลือกใช้การฉีดโฟมแล้วก็ทำสี แต่ว่าในงานนี้ผมบอกกับคุณทอมว่า ถ้าอยากให้สมจริง ผมจะใช้ปูนซีเมนต์ทำ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ค่อยมีใครอยากจะใช้ปูนซีเมนต์ทำ เพราะเวลาถ่ายทำเราต้องเผื่อพื้นที่สำหรับตากล้อง แถมผมยังแอบซ่อนพวกหินเล็กหินน้อยไว้ใต้น้ำอีกด้วย เพราะว่าจะได้ให้นักแสดงสะดุด (หัวเราะ) แผลเต็มขาตากล้องกันหมดทุกคนครับ ทั้งหมดเพื่อให้ได้ความรู้สึกจริง จะไม่รู้สึกว่าแกล้งเจ็บ เพราะเขาเจ็บจริง เขาชนหินจริง ๆ  ก่อนสร้างถ้ำ ผมได้ไปคุยกับอาสาสมัครหลาย ๆ คน ผมขอบคุณพวกเขามาก ๆ โดยเฉพาะคุณต่อ-นพดล อุปคำ ทีมกู้ภัยจากเชียงใหม่ ซึ่งให้ข้อมูลที่มีประโยชน์หลายอย่างเลยครับ   ผมสเก็ตช์ภาพถ้ำคร่าว ๆ แต่สุดท้ายผมเลือกสเก็ตช์ด้วยดินน้ำมันเป็นสามมิติ แถมเราต้องทำงานแข่งกับเวลามากเลยครับ เพราะในเมืองไทยไม่มีสตูดิโอมีน้ำขนาดใหญ่ เรามีแต่ขนาดเล็กมาก ใช้สำหรับถ่ายโฆษณาอะไรพวกนี้ ซึ่งถ้าเป็นเมืองนอกจะมีแหล่งน้ำอยู่ในสตูดิโอ เช่น สตูดิโอที่ใช้ถ่าย Pirates of the Caribbean พอเราคุยกันว่าจะหาวิธีที่ประหยัดเงิน ก็เลยหาสระว่ายน้ำร้าง ซึ่งสามารถทำเลอะเทอะได้ ก็เลยสร้างถ้ำขึ้นมาในสระว่ายน้ำนั้น   The People: ได้ไปสำรวจถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ของจริงไหม พงศ์นรินทร์: ไปครับ แต่เขาให้ไปได้แค่ปากถ้ำ เพราะว่าข้างล่างน้ำยังเยอะอยู่ แถมเจ้าหน้าที่บอกว่ามีน้ำเยอะกว่าตอนที่เด็กอยู่ข้างในด้วยซ้ำ ทำให้เราได้เห็นความอันตรายของมันจริง ๆ   The People: คิดอยากเข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริงไหม พงศ์นรินทร์: อยากแน่นอนครับ ปกติหนังหลาย ๆ เรื่องเขาจะเอาเครื่องสแกนเข้าไปสแกนข้างในด้วยซ้ำ เพื่อถอดแบบมาสร้างถ้ำ นั่นคือกระบวนการทำหนังที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับงาน Production Design ผมคิดว่าการที่เราจะดึงคนดูให้เชื่อในหนังของเราเป็นเรื่องจริง เราต้องทำให้เขารู้สึกเหมือนจริง เพราะถ้าเขาไม่เชื่อ เขาก็จะไม่อินกับหนังเราเลย [caption id="attachment_14419" align="alignnone" width="1536"] สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง ทอม วอลเลอร์ และ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง[/caption]   The People: แสดงว่าศาสตร์ของการออกแบบงานสร้างคือการทำให้คนเชื่อในภาพที่เห็น? พงศ์นรินทร์: ใช่ครับ แล้วก็มีเรื่องของความสวยงาม ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะสวยแบบวิจิตรอลังการอย่างเดียว ถ้าต้องทำให้ฉากขยะแขยง เราก็ต้องทำให้ดูน่าขยะแขยงแบบมีความสวยด้วย ไม่รู้จะอธิบายยังไง (หัวเราะ) คือภาษาหนังบอกเล่าได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแสง สี สไตล์ของเสื้อผ้า หรือว่าฉากต่าง ๆ เพราะบางทีบทสนทนามันแค่การสื่อสารระหว่างตัวละคร แต่บรรยากาศรอบ ๆ เป็นสิ่งที่เราจะต้องสื่อสารออกมาให้ได้สมจริง เป็นภาษาที่ต้องสื่อสารให้คนดูเชื่อ   The People: กลัวเจอกระแสดรามาหลังจากหนังเรื่องนี้ฉายไหม พงศ์นรินทร์: แน่นอน มันมีอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่เราแค่ทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด แล้วผมก็เชื่อว่าเหตุการณ์อย่างนี้มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นแง่บวกมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อผมได้ลงมาสัมผัส ได้เจอผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ บางครั้งผมเข่าอ่อนเลยเวลาได้ฟังเรื่องของเขา เราไม่อยากเชื่อเลยว่าจะมีคนที่คิดดีขนาดนี้อยู่บนโลกใบนี้ มีหลายคนที่เขาเข้าไปช่วยเหลือ เราไม่อยากเชื่อเลยว่าเขาจะทิ้งภาระหน้าที่อะไรต่าง ๆ แล้วไปโดยไม่ได้หวังเงินทอง ไม่ได้หวังชื่อเสียง จังหวะนั้นเขาคิดแค่ว่าอยากช่วยเด็กกลุ่มนี้ออกมา แค่นั้นเอง เขาไม่ได้คิดถึงความยากลำบากหรือความเหนื่อยอะไรเลย หลายคนที่ผมไปสัมภาษณ์ เขากลับยกย่องสรรเสริญคนอื่นต่อ ๆ กัน แล้วมันก็สร้างกำลังใจในการทำความดีครับ    The People: อะไรคือหัวใจสำคัญที่ “The Cave นางนอน” ต้องการจะเล่า พงศ์นรินทร์: คือการช่วยเหลือคนอื่นโดยที่ไม่คิดถึงตัวเอง ผมชอบที่ท่านอดีตผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กล่าวครับ ท่านเคยไปพูดตอนรับรางวัลที่นิวยอร์กว่า หวังว่าเหตุการณ์นี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยู่เพื่อคนอื่น ใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น ผมว่ามันเป็นประเด็นที่ผู้กำกับอยากจะพูดตรงนี้ [caption id="attachment_14425" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง นักออกแบบงานสร้างผู้เนรมิตถ้ำหลวงใน The Cave นางนอน ให้สมจริง พงศ์นรินทร์ จงห่อกลาง[/caption]