คุยกับปอย ตรีชฎา แบบไม่สปอยล์ ชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ กับความหลงใหลในมิวเซียม

คุยกับปอย ตรีชฎา แบบไม่สปอยล์ ชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ กับความหลงใหลในมิวเซียม
“ปอยรู้ตัวเองว่าปอยไม่ได้เป็นคนที่เพอร์เฟกต์ 100% แล้วปอยก็รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันทำให้เรามีความยึดติดกับมัน” ประโยคนี้ที่ปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์ บอกกับพวกเรา-The People ทำให้เรารู้สึกว่า เธอกำลังข้ามผ่านตัวตนของเธอที่หลายคนมองจากภายนอก หลายคนมองว่า เธอสวย เธอเก่ง เธอโด่งดัง เธอโกอินเตอร์ไปทำงานกับซูเปอร์สตาร์ระดับเอเชียที่จีน ที่ฮ่องกง... แต่ทั้งหมดทั้งมวล ตลอดการสัมภาษณ์ เธอพยายามย้ำเสมอว่า เมื่อถอดหมวกออกทั้งหมด เธอก็คือคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไอดอลของเธอคือคนขายบะหมี่ร้านประจำที่เธอชอบทานสมัยเด็ก, บทสนทนาที่ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ของเธออาจจะพบที่คนขับอูเบอร์ที่ฮ่องกง หรือความหลงใหลในศิลปวัฒนธรรม ทำให้เวลาเธอเดินทางไปต่างประเทศ สถานที่แรกที่เธอจะไปก็คือ มิวเซียม… บทสนทนากับปอยดังต่อไปนี้ ทำให้เราได้สังเกตเห็นส่วนหนึ่งในการเติบโตและการตกผลึกทางความคิดของเธอ บนเส้นทางบันเทิงที่ทำงานอยู่สิบกว่าปีที่ผ่านมา คุยกับปอย ตรีชฎา แบบไม่สปอยล์ ชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ กับความหลงใหลในมิวเซียม The People: จากที่อ่านสัมภาษณ์ในหลายสื่อ ช่วง 10 ปีนี้ คุณดูโตขึ้นเยอะมาก ตรีชฎา: จริงเหรอ The People: ในแง่คิดต่าง ๆ ตรีชฎา: จริง ๆ แล้วปอยก็ไม่ได้รู้สึกว่าปอยสูงขึ้นหรือเปล่านะคะ แต่ว่าคือปอยก็พยายามปรับตัวกับสถานการณ์ในทุก ๆ โอกาสที่เราเผชิญบางโอกาสปอยก็ยังเป็นคนที่สนุกสนานเหมือนเดิมก็ได้ หรือในบางโอกาสเราก็สามารถที่จะปรับตัวในการให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ก็ได้ วันนี้ role model ปอยมันเปลี่ยนไปแล้วปอยก็เชื่อว่าในอนาคต role model ปอยก็ต้องเปลี่ยนไปอยู่ดี จริงๆ แล้วปอยรู้สึกว่าใครก็สามารถที่จะเป็นตัวอย่างให้เราได้อย่างดีแม้แต่กระทั่งคนที่กระทำความผิดก็เป็น role model ให้เราได้ว่าเราจะต้องไม่เดินแบบนั้น เราเห็นแล้วว่าผลของการกระทำของคนที่ทำความผิด จุดจบเป็นยังไงเขาก็เป็น role model ให้เราได้ หลาย ๆ ครั้งเวลาปอยนั่งอูเบอร์ที่ฮ่องกง ปอยจะชอบคุยกับคนขับอูเบอร์ตลอดเวลาคือปอยจะไม่ปล่อยให้มันเป็น dead air เลย ปอยจะต้องยิงคำถามเยอะมาก background เขาเป็นยังไง แล้วก็ทำไมมาขับอูเบอร์ แล้วคิดยังไงบ้างรู้สึกยังไงกับต่าง ๆ คือทุกคำตอบปอยไม่ได้คาดหวังว่าจะให้เขาตอบแบบไหนแต่ทุก ๆ คำตอบที่เขาตอบปอย มันทำให้เราได้มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ว่าความหลากหลายของคน เป็นยังไงบ้าง ปอยจะชอบมากในการคุยกับใครก็ได้เรื่อยๆ อย่างนี้ รู้สึกว่ามันคือนาทีทองของเรา The People: คุณอยากให้คนอื่นจดจำภาพ role model ของคุณแบบไหนบ้าง ตรีชฎา: ไม่มั่นใจเลยค่ะว่าอยากให้คนจดจำปอยในแบบไหน คือ ปอยเป็นคนที่ทำอะไรเกินเบอร์ให้คนจดจำว่าปอยเป็นคนที่มีเลือดนักสู้อยู่เสมอคือเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้กับอะไรค่ะ แล้วก็เป็นคนที่ชอบในเรื่องของการที่การท้าทายในสิ่งที่คนมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ ปอยจะชอบก้าว ลองก้าวเข้าไปล้ำเส้นเรื่องนี้อยู่เสมอเหมือนอะไรที่บอกว่ามีพรมแดน ปอยก็จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องเหล่านั้นว่ามันจะมีพรมแดนขีดจำกัดอะไร ถ้าสมมติว่าคนจะจดจำปอย ปอยก็อยากให้คนจดจำในฐานะของคนคนหนึ่งที่มีเลือดนักสู้เพื่ออุดมการณ์ของตัวเองโดยที่ไม่ยอมให้สิ่งที่มันเป็นกิเลสหรือว่าอะไรก็ตามก็แล้วแต่มาขัดขวางความฝันของตัวเองได้ค่ะ The People: ไอดอล 5 คนที่เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตของคุณคือใครบ้าง ตรีชฎา: ไอดอล 5 คนเหรอคะ (นิ่งคิด) ป้ารัตน์ค่ะ คนขายบะหมี่อยู่ที่โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อตอนที่ปอยอายุประมาณ 6-7 ขวบค่ะ ป้ารัตน์เป็นคนที่มีน้ำใจมากๆ ก็คือเวลาปอยจะขอหมูเพิ่มลูกชิ้นเพิ่มเนี่ยป้ารัตน์จะไม่คิดตังเพิ่ม แล้วก็ใครที่มาขอป้ารัตน์เนี่ยป้ารัตน์ก็จะให้เยอะตลอดเวลา สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาท ปอยรู้สึกว่าป้ารัตน์เป็นหนึ่งในไอดอลมาก ๆ คนที่ 2 ก็คือน้าวาดเจ้าของร้านอาหารลูกหลานอยู่ตรงซอยแถว ๆ ห้างอิเกียบางนาค่ะ น้าวาดเป็นผู้หญิงที่มาจากจังหวัดน่านนะคะ แล้วก็มาเปิดร้านอาหารเหนือ น้าวาดเป็นคนที่รวยน้ำใจมากๆ เวลาทุกครั้งที่ปอยไปทานอาหาร หรือใครๆ ที่เขาลำบาก เขาก็จะชอบเลี้ยงเสมอเวลาทุก น้าวาดไม่ได้สนใจว่าน้าวาดจะเลี้ยงคนที่มีฐานะมากกว่าเขาหรือจนกว่าเขา เขาอยากที่อยากจะให้เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร แล้วก็หลาย ๆ ครั้งที่ปอยได้เจอน้าวาด ปอยรู้สึกว่านี่คือคนรวยที่แท้จริง คือเหมือนกับรวยจากข้างใน คนที่ 3 คนที่เป็นไอดอลของปอย ปอยชอบ คนที่เป็นแนวทางให้ปอยใช้ชีวิต หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ หรือคุณครูโต คุณครูโตเป็นคุณครูที่ใช้ชีวิตแบบสมถะแต่มีของนะคะ คุณครูก็จะสอนปอยเสมอว่าจริงๆ ชีวิตพวกเราเนี่ยมันคือเหมือนกับ nothingness ก็คือไม่มีตัวตนและก็หลายๆ อย่างที่ครูโตสอนก็คือ การฝึกซ้อมกับปัจจุบัน practice at the moment นั่นที่ครูโตสอนปอยแล้วปอยก็รู้สึกดีมากค่ะ ครูโตใช้ชีวิตให้ปอยเห็นแล้วว่า เรียบง่ายแต่โฟกัสแล้วก็รู้จักตัวเอง ครูโตบอกว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องเก่งอย่างอื่นเลย เมื่อเรารู้จักตัวเองเราก็จะสามารถต่อยอดในสิ่งที่เรารู้จักตัวตนของเราได้ คนที่ 4 ยากจังมีหลายคน (นิ่งคิดอยู่นาน) คนที่ 4 คนที่ปอยคิดว่าเป็น role model ในเรื่องอุดมการในการยึดถืออุดมการณ์ในตัวเองนั่นก็คือ Martin Luther King จะเป็นท่านที่มีความเชื่อในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียม ตอนที่เขา speech ที่ชื่อว่า Have a Dream ปอยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าปอยเองก็ใช้ความฝันในการขับเคลื่อนชีวิตตัวเองเหมือนกัน ปอยรู้สึกว่า speech หรือ สุนทรพจน์ของ Martin Luther King เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เป็น the greatest Luther King จริง ๆ คนที่ 5 role model คนสุดท้าย นั่นก็คือคุณ อุทัย ดวงเดือน เป็นทหารฮีโร่ที่ยอมแลกชีวิตในการรักษาผืนป่าและก็ทรัพยากรทางธรรมชาติ รู้จักไหม คุณอุทัย ดวงเดือนเป็นฮีโร่ที่ยอมตายเพื่อรักษาป่า แล้วเหมือนกับเขามีความรู้สึกที่รักอันบริสุทธิ์สำหรับทรัพยากรทางธรรมชาติ ปอยเนี่ยเป็นคนที่เพิ่งรักต้นไม้ไม่กี่ปีเองค่ะ น่าจะประมาณ 5-6 ปีเท่านั้นเอง เมื่อก่อนปอยก็ไม่ได้เป็นคนที่รักป่าอะไรมากมายก็เป็นคนที่ชอบความศิวิไลซ์ตึกรามบ้านช่องแต่พอมาช่วงชีวิตหนึ่งเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วปอยได้มีโอกาสได้ไปเดินป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ไปได้เห็นต้นยางนาอายุ 100 กว่าปีซึ่งเราไม่เคยเห็นกันแน่นอน เวลาที่เราดูหนังเรื่อง Jurassic Park หรือว่า The Lost World มันเป็นแบบนั้นคือมันเป็นแบบต้นไม้ที่สูงเท่ากับตึก ปอยประมาณ 10 กว่าชั้น 20 ปอยรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่อนุรักษ์ไว้มันสูญหายแน่นอน The People: เหมือนว่าชีวิตคุณ ต้องก้าวผ่านขีดจำกัดหลายๆ อย่าง ตรีชฎา: สิ่งที่ปอยเคยผ่าน อย่างเช่นเรื่องเรียนค่ะ คือปอยในสมัยตอนช่วงวัยเด็ก จะเป็นคนที่เข้าใจว่าตัวเองเรียนไม่ค่อยเก่งจนกระทั่งพอมาวันที่เราเริ่มเติบโตขึ้น เราก็ลองพยายามขยันมากขึ้นก็สามารถที่จะเรียนได้ดีเลยนะคะอันนี้คือเรื่องแรก เรื่องที่ 2 ก็คือตอนที่เราจะต้องเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวตั้งแต่เด็กๆ เราไม่กลัวกับสิ่งที่เราจะต้องเจอคนในการพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายๆ เวลาเราไปเจอใคร เราอาจจะไม่รู้สึกว่าเขาเหมือนเราหรือว่าเขาคิดเหมือนเรา แต่ท้ายที่สุดเราก็ได้เป็นเพื่อนกัน ได้รู้จักกันไว้ หลาย ๆ ครั้งที่ปอยได้มีโอกาสได้คุยกับคนปอยเลยเข้าใจถึงพฤติกรรมของคนที่หลากหลาย จึงทำให้เราเหมือนกับเป็นคนที่ไม่ได้กำหนดหรือว่าคาดหวังว่าคนคนนี้จะต้องเป็นแบบนี้ มันจึงทำให้เรา flexible มันมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลามันมีการพูดคุย คุยกับปอย ตรีชฎา แบบไม่สปอยล์ ชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ กับความหลงใหลในมิวเซียม The People: สิ่งที่เรียนรู้ จากการอยู่ในวงการบันเทิงมา 10 กว่าปี ตรีชฎา: คือการปรับตัวในทุกๆ ด้านแล้วก็ในการทำงานกับคนหลากหลาย การที่กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือว่าเป็นที่รู้จักของคนมันทำให้เราได้ผ่านประสบการณ์ที่ทั้งดีแล้วก็ทั้งไม่ดีกับตัวเอง ไม่ดีคือบางครั้งในอดีตมันทำให้รู้สึกว่าเรายึดติดในความเป็นตัวตนของตัวเองเพราะตอนนั้นเราก็รู้สึกว่ามัน suffer ตัวเองข้างในมันทุกข์ข้างใน แล้วเราก็รู้สึกว่ามันโชคดีเหลือเกินคือในการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือทำงานในวงการบันเทิง คือถ้าหากว่าเราใช้เวทีตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยที่ไม่ยึดติดกับตัวตนของเราเนี่ยมันจะทำให้เราเป็นอิสระจากความคิดหรือกับความหลงในความเป็นตัวเอง การที่เราได้ทำงานในวงการบันเทิงมันก็ฝึกทักษะและหลายๆ อย่างในชีวิตของปอย เช่นเรื่องของการแสดงการพูดบุคลิกภาพ คือหลายๆ อย่างก็เป็นประโยชน์มากๆ รวมถึงหลายๆ สิ่งที่มันเป็นอุปสรรคในระหว่างการทำงานมันก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เป็นคนที่อดทนมากขึ้นหรือหลายๆ อย่างที่เราเคยทำผิดพลาดมาเราก็ record ไว้ ว่าเราจะไม่ทำผิดอีก บางครั้ง ครั้งที่ 2 อาจจะทำผิดอีกรอบแต่ว่าต้อง record ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จะได้ไม่ผิดพลาดอีก The People: จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าได้ “ปลดล็อค” ตัวตนของตัวเอง ตรีชฎา: มีค่ะ มันจะเป็นช่วงที่หลาย ๆ ครั้งบ่อย ๆ ที่มันจะเป็นช่วงที่คนชื่นชมปอยคือไปที่ไหนคนก็จะบอกว่าปอยเป็นคนที่มีความคิดดีจังเลย ปอยดูเป็นคนดีเหลือเกินทั้งที่ความเป็นจริงแล้วปอยแบบปอยรู้ตัวเองว่าปอยไม่ได้เป็นคนที่เพอร์เฟกต์ 100% แล้วปอยก็รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันทำให้เรามีความยึดติดกับมัน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สบายตัวมีความกดดันอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่ปอยรู้สึกแบบนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่าการยึดถือว่าเรามีตัวตนเหมือนเป็นดารามันทำให้เราไม่มีความสุขเลยเพราะมันทำให้เราต้องระแวงอยู่กับเรื่องของเลเวลความดังของตัวเองว่ามันจะไปได้อีกนานไหม หรือว่าการที่มีคนชื่นชอบชื่นชมเราเนี่ย จะชมเราอีกนานไหมมันจะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นแล้วจะทำให้เราไม่กล้าที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่มันขัดใจคนไปเลย เพราะว่านั่นคือเรายึดติดในคำชม ยึดติดในความมีชื่อเสียงแล้ว ยึดติดในความเป็นตัวของตัวเอง พอปอยมีความรู้สึกเศร้าในแบบนี้ มันทำให้ปอยพยายามหาหนทาง ปอยก็เลยรู้สึกว่าเราจะต้องกลับมาทำทุกอย่างให้มันเท่าเทียมคือไม่มีใครเหนือกว่าใครในโลกนี้ ทุกคนเท่าเทียมกัน ปอยเองก็เลยรู้สึกว่าปอยเองก็จะต้องพยายามกลับมาเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็ฝึกเรื่องนี้ ให้ได้อย่างจริงจังและที่เริ่มจากการที่ไม่คาดหวังกับคำชมอะไรมากมายเราก็เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นเป็นธรรมชาติมากขึ้นในทุกๆ อย่างค่ะ The People: คุณทำงานสลับกันไปมาระหว่างที่ไทย จีน ฮ่องกง การทำงานต่างกันอย่างไรบ้าง ตรีชฎา: การทำงานของไทยมีเสน่ห์มากเพราะว่าคนไทยเป็นคนที่มีความประนีประนอมสูงมากแล้วก็มีความหยวนๆ อยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นสิ่งที่ฝรั่งจะรู้สึก ว้าว น่ารักจังเลยคนไทยน่ารักมากแล้วก็ที่กองถ่ายเนี่ย เราจะมีความอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหารการกิน เราจะมีการเสิร์ฟตลอดเวลา ทั้งอาหารว่างอาหารหลักนี่คือสิ่งที่ดีในเมืองไทย แล้วก็ประเทศไทยเราแรงงานต่างๆ ไม่ได้สูงมากแต่ประสิทธิภาพค่อนข้างดีจริงๆ ฝรั่งก็ชอบมาก คนไทยเป็นคนที่มีจิตใจในการช่วยเหลือซึ่งฝรั่งอาจจะไม่มีมากเท่า สมมติทีมงานในคนไทยที่เขาเจอ เขาจะรู้สึกว่า เป็นคนที่มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แล้วก็อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเสน่ห์มากแล้วก็งานบริการของประเทศไทย เป็นอะไรที่ 5 ดาวอยู่แล้วค่ะ เรามีการบริการที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของเซอร์วิสของ แล้วก็การทำงานของไทยมีอย่างหนึ่งที่แปลกก็คือมีการแบ่งชนชั้นค่อนข้างเยอะคือมีการแบ่งชนชั้นหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การศึกษา ตระกูล ความรวย หน้าตา นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นบ้าง แต่ที่ต่างประเทศ ไม่มีคำว่าหยวนๆ เลย ไม่มีคำว่าประนีประนอมเลยทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งอาจจะเกิดความเครียดได้กับทีมงาน อันที่สองคือการบริการของต่างประเทศเนี่ยไม่ได้ 5 ดาว เหมือนบ้านเราอาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์นะคะเราจะต้องหากินเอาเองแล้วก็ค่าครองชีพของต่างประเทศค่อนข้างสูงนะคะแต่ข้อดีของต่างประเทศก็คือไม่ค่อยมีการแบ่งชนชั้นเท่าไหร่อาจจะมีเหมือนกันแต่ว่าเพียงแต่อาจจะไม่ชัด แล้วก็ที่ต่างประเทศก็จะมีความเป็นมืออาชีพในการทำในแต่ละสิ่ง สมมติว่าเป็นมืออาชีพในเรื่องของการเสิร์ฟน้ำนั่นคือมืออาชีพมีรางวัลนี้ด้วยเขาเรียกว่ารางวัลสวัสดิการ ล่าสุด Golden Horse (รางวัลด้านภาพยนตร์) ที่ฮ่องกงก็เพิ่งมอบรางวัลให้กับคุณป้าท่านหนึ่งไปซึ่งเคยเสิร์ฟน้ำให้ปอยในกองถ่ายด้วย การทำงานที่ต่างประเทศเนี่ยส่วนใหญ่จะมีการ rehearsal ก็คือ การซ้อมเสมือนจริงอย่างเช่น ก่อนที่เขาจะก่อสร้างอะไร เขาจะต้องมีการซ้อมในโมเดลเล็กๆ ทั้งหมด คำนวณการผิดพลาดอะไรเอาไว้ แต่สุดท้ายพอเวลาทำจริงความผิดพลาดจะน้อยหรือว่าในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เนี่ยค่ะมันจะมีการ pre shoot ก่อนก็คือการซ้อมถ่ายเหมือนจริงก่อนทุกอย่าง เขาจะหาแคสติ้งเลยนะคะ คนที่มีรูปร่าง ผม ผิว ความสูง หุ่นเหมือนปอยเอาไว้เลย 1 คนเพื่อที่จะลองแสง หาแคสติ้งหาหุ่นคนที่หน้าคล้ายพี่กู่ เทียนเล่อ 1 คน แล้วเขาก็จะลองแสงทั้งหมด การทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะเขาได้แก้ไขไปหมดแล้วในวันที่ pre shoot  คุยกับปอย ตรีชฎา แบบไม่สปอยล์ ชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ กับความหลงใหลในมิวเซียม The People: หลักคิดที่ทำให้เราอยู่ได้ในวงการนี้อย่างมืออาชีพ ตรีชฎา: คือปอยรู้สึกว่าในแต่ละช่วงเวลาชีวิตของคนนะคะ มันก็จะมีเขาเรียกว่ามีความฝันหรือว่ามีเป้าหมายในชีวิตแตกต่างกันไปตามจังหวะแล้วก็ช่วงชีวิตเวลา อย่างช่วงเวลาหนึ่งของปอยก็มีเป้าหมายในเรื่องของการทำงานในวงการบันเทิง เวลาที่ปอยมีเป้าหมายอะไร ปอยจะชอบคิดเสมอว่า จะต้องทำให้มันให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ปอยจะชอบมองไกล ไกลกว่าศักยภาพตัวเองซะด้วยซ้ำ คือมองไกลไว้ก่อน ถ้าบอกว่าอาชีพนักแสดงมองไกล ปอยเชื่อว่านักแสดงหลายๆ คนถ้าบอกว่ามองไกลที่สุดคือฮอลลีวูดคงไม่บอกว่าดาวอังคาร ไปถึงฮอลลีวูดใช่ไหมคะ นั่นคือสิ่งที่ถ้าเป็นปอย ปอยจะมองไกลอย่างนั้นไปก่อน ในวันนี้เส้นทางที่ปอยดำเนินมา มันก็เป็นเส้นทางระหว่างทางที่จะไปถึงวงการระดับโลก นั่นก็คือปอยก็ได้ไปในเอเชีย ปอยมีความรู้สึกว่าปอยตั้งเป้าไว้แล้วก็เชื่อแล้วก็ทำมันฝึกฝนมัน เมื่อไหร่ที่เราเชื่อและเรามีเป้าหมายคุณภาพชีวิตเราจะเปลี่ยนทันที จังหวะชีวิตเราจะเปลี่ยนทันทีเหมือนเรารู้แล้วว่าเราจะต้องเดินทางไปเส้นทางนี้เส้นทางอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเราจะไม่เสียเวลาไปแล้ว เพราะเรามี map ที่จะต้องไปตรงนั้นแล้ว The People: เหมือนว่าตอนนี้คุณเริ่มสนใจ ตกหลุมรัก heritage culture ที่มาคืออะไร ตรีชฎา: มีที่มาค่ะ ปอยทำงานในต่างประเทศก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างประเทศหลายที่ เราจะชอบไป Museum ก่อน ตอนแรกๆ ก็แค่ไปเพราะว่ามันไม่มีที่ไปก็ไป Museum พอเราเริ่มไป Museum แต่ละ ก็รู้สึกว่าเราที่ต่อไปก็จะต้องไป Museum เป็นที่แรก ก็เริ่มในเมืองจีนก่อนต้องไปทุกเมือง ไปที่ปักกิ่ง ไปที่เซียงไฮ้ ซีอานนะคะไปหลาย ๆ เมืองแล้วก็ไป Museum ที่ปีนัง ไปที่ฝรั่งเศส ไปที่ The Met (The Metropolitan Museum of Art) ที่นิวยอร์ก แล้วก็ไปที่อังกฤษ ก็ไปทุกที่ แล้วกลายเป็นทุกครั้งที่เราได้ไป เรารู้สึกเรามีความสุขเหลือเกิน คือเราจะเป็นคนดูทุกอย่างละเอียด เวลาเราดูทุกอย่างเนี่ยเราจะอินเข้าไปถึงในเรื่องของสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้า มันเกิดจากคนที่รังสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเขาใช้กรรมวิธีที่ซับซ้อนแล้วก็เทคโนโลยีปัจจุบันก็เลียนแบบไม่ได้ มันเหมือนกับเป็นสิ่งที่มันย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว แล้วเวลาที่ปอยได้เห็นสิ่งที่อะไรก็แล้วแต่สิ่งหนึ่งที่มีคนตั้งใจทำมัน แสดงว่าคนคนนั้นอุทิศจิตวิญญาณทั้งหมดไปอยู่ในล้อมรอบสิ่งเหล่านี้ เวลาที่เราได้ดูรายละเอียดทุกๆ อย่างเรารู้สึกคือความเขาเรียกว่าความปราณีตกับจิตวิญญาณของเขายังอยู่ในศิลปะชิ้นนั้น คือ heritage มันมีทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ที่ เราชอบเหลือเกิน เรารู้สึกว่าสิ่งเรานี้มันเกิดจากคนตั้งใจแล้วใส่ใจทำมันแล้วละเอียดมากๆ แล้วก็จะชอบสิ่งนี้มาก ตอนแรกๆ ปอยชอบแค่ Museum ก่อนแล้วจากนั้นก็เริ่มมาชอบในเรื่องของประวัติศาสตร์ในเรื่องของ story ที่ต้องอ่านขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนก็เริ่มชอบตั้งแต่ประวัติศาสตร์รัสเซียก่อนอย่างพระเจ้านิโคลัสที่ 2 ตั้งแต่ the greatest แคทเธอรีน ปอยจะชอบมาแล้วก็จะฟังเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ของรัสเซียเนี่ยตั้งแต่สหภาพโซเวียตขึ้นไปจนถึงอะไรก็แล้วแต่ อิทธิพลมาจากที่ไหนบ้างเราจะรู้สึก ว้าว เราชอบมาก จนกระทั่งเราก็ไปศึกษาของประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์อเมริกา ตอนแรกเราก็เริ่มศึกษาจากภายนอกก่อนเพราะว่าเราทำงานอยู่ต่างประเทศใช่ไหมคะ จนช่วงหนึ่งเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว ปอยก็บอกทุกๆ ครั้งที่ปอยกลับมาเมืองไทยปอยก็ไม่รีรอค่ะ เราเที่ยว Museum ที่ต่างประเทศหมดแล้วใช่ไหมคะ เราก็เลยเริ่มไป Museum ที่ไทย เริ่มไปทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก่อน ไปพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ แล้วก็เริ่มเข้าไปในพระบรมมหาราชวังแล้วเราก็จะเห็น sequence ในอินเตอร์เน็ตเราดูได้ แล้วพอเราเริ่มอ่านพวกนี้เราจะเริ่มเข้าใจประวัติขึ้นไป แต่สิ่งที่มันแตกต่างกับสิ่งที่ปอยสนใจประวัติต่างชาตินั่นก็คือเวลาที่เราพยายามศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรามันคือรากเหง้าของเรา มันคือความภาคภูมิใจของเราในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อารยธรรมนี้ ทุกๆ ครั้งที่ปอยได้ศึกษาและได้ลึกซึ้งลงไปลึกลงไปเรื่อย ๆ ปอยรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูกในหลายๆ เรื่องปอยรู้สึกภูมิใจในรายละเอียดที่บรรพบุรุษของเราได้ทำเอาไว้ในการสื่อสารผ่านการศิลปะสื่อสารผ่านงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ทุกๆ ครั้งที่เราก้าวไปศึกษา เราได้รู้จักกับคนเพิ่มเรื่อย ๆ อย่างเช่นปอยได้รู้จักกับหม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ ไปรู้จักกับพี่ปูเจ้าของโรงแรมพระยาพาลาซโซ่ คุณปูนะคะ ปอยได้รู้จักกับคุณครูอาจารย์ยุ้ยนะคะ เป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วก็อาจารย์เต้ยที่บูรณะพระราชวังมฤคทายวัน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้คือคนที่ปอยได้ไปร่วมกับพูดจาพูดคุยและไปฝากตัว สิ่งที่ปอยได้ฟัง แล้วปอยก็สามารถฟังได้ทั้งวันแล้วก็กลับมาหาความรู้ต่ออีกแล้วก็พอเราได้อินไปเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั่นก็คือในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะนำมาสู่รายได้หลักของประเทศ และไม่ใช่แค่นั้นปอยรู้สึกว่าวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมความสามัคคีของคนในชาติได้อย่างแท้จริง เมื่อไหร่ที่เรามีรากเหง้าแล้วถ้าเรารู้ว่าเรามีรากเหง้าเดียวกัน เราจะไม่ค่อยทิ้งกันมันจะทำให้เรารู้สึกว่าเราทุกๆ คนคือเป็นพ่อแม่พี่น้องเป็นครอบครัวเรา แล้วปอยรู้สึกว่าเมื่อไหร่ที่สังคมใดสังคมหนึ่งมีความสามัคคี สังคมนั้นก็จะสามารถรอดพ้นทุกข์ภัยได้เลยไม่ว่าจะเป็นภัยสงคราม ภัยเศรษฐกิจหรือว่าความไม่มั่นคงความขัดแย้งค่ะ คุยกับปอย ตรีชฎา แบบไม่สปอยล์ ชีวิตที่ไม่เพอร์เฟกต์ กับความหลงใหลในมิวเซียม The People: เห็นพูดถึงไปต่างประเทศบ่อยคิดว่าไปชอปปิงซะอีก ตรีชฎา: ในอดีต ถูกต้องไม่เถียงเลย   The People: ชอปปิงช่วยบำบัดไหม ตรีชฎา: ตอนนี้รู้สึกว่าการชอปปิงไม่บำบัดเลย ถ้าปอยชอปปิงปอยจะรู้สึกทุกข์ใจมากแบบใช้เงินเกินตัวอีกแล้วอะไรอย่างนี้ไม่ได้รู้สึกดีในการใช้เงินเลย คือปอยรู้สึกว่าปอยไม่มีความสุขในการที่ปอยจะใช้เงินเยอะ ๆ ซะด้วยซ้ำถึงแม้ว่าในวันนี้ปอยมีศักยภาพทางการเงินมากกว่าในวัยเด็กก็ตามในวัยที่ชอปปิงโดยที่ไม่คิดอะไร แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นชอปปิงนิดหน่อยก็คิดเยอะแล้ว อุ๊ย แพงอะไรอย่างนี้ มันเป็นมานานแล้วหลายปีแล้วสี่ปีขึ้น คนที่เป็นคนใกล้ตัวใกล้ชิดปอยจะรู้เลยค่ะว่าสิ่งที่ปอยเป็นเนี่ยเป็นจริงๆ เป็นโดยธรรมชาติเลยค่ะ The People: ถ้าสมมติว่าให้คุณปอยขึ้นเวทีประกวดนางงามจับซองคำถามขึ้นมาแล้วก็ต้องตอบให้คำถามกับคำตอบนั้นน่ะเป็นยังไงบ้าง ตรีชฎา: ปอยรับรองเลยนะคะ ถ้าปอยได้ประกวดปอยต้องชนะแน่นอน มันไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก เราอาจจะสู้เขาไม่ได้ แต่ปอยจะทำการบ้านหนักมากพอจะรู้ว่าพอจะสำรวจแล้วก็วิเคราะห์ก่อนว่าอะไรที่เขามองและใครที่เป็นคนสำคัญในการเลือกปอย ปอยจะศึกษาทางจิตวิทยาว่าเขาชอบยังไง จะต้องสื่อสารยังไง เราอาจจะต้องเปลี่ยนทุกอย่างเลยเพื่อที่เป้าหมายเราที่จะสวมมงกุฏใช่ไหมคะ จะต้องทำทุกอย่าง สกิลทุกอย่างทักษะทุกอย่างก็ต้องทำนะคะ โอเค กลับมาเรื่องปอยตอบคำถาม สมมติว่าถ้า ถามเรื่องนี้ว่าอะไรที่คุณคิดว่าคุณเหมาะที่จะได้ตำแหน่งนี้ ปอยจะตอบเหมือนที่ตอบเมื่อกี้ ฉันได้ที่หนึ่งแน่นอน ฉันเหมาะสมจะได้ที่หนึ่ง เพราะว่าฉันจะทำทุกอย่างตามคุณสมบัติที่คุณกำหนดไว้แล้ว ฉันก็จะแตกออกมาอีกเป็นรายละเอียดแต่ละข้อออกมาอีก 10 ข้อฉะนั้นถ้าคุณได้ฉันไปคุ้มแน่นอน ปอยจะตอบแบบนี้ค่ะ The People: ถ้าได้มีโอกาสได้เป็นทูตทำอะไรสักอย่าง อยากจะเป็นทูตด้านไหน ตรีชฎา: คำถามนางงามมากเลย ถ้าปอยจะต้องเป็นทูต เป็น ambassador ปอยก็อยากเป็นทูตในเรื่องของการต่างประเทศค่ะ ปอยอยากสร้างแบรนด์ประเทศ ปอยเชื่อว่า ประเทศเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดภาพลักษณ์ในสายตาของชาวโลก ทำไมปอยถึงรู้สึกว่าการเป็นทูตเป็นเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าปัจจุบัน เราเริ่มเห็นแล้วว่าประเทศที่มีการวางแผนในเรื่องของการบริหารการจัดการประเทศ เขาจะไม่ลืมในการให้ความสำคัญสิ่งเหล่านี้เลย แม้แต่ผู้นำประเทศเองก็ตามเขาจะต้องมีการคิดมีการนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองสู่สายตาชาวโลกเหมือนกัน ปอยอยากให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมากๆ ในสายตาของชาวโลก เพราะว่าปอยเองทำงานในวงการของภาพยนตร์ของต่างประเทศ ปอยรู้ว่าหลายๆ ครั้งที่เขาเข้ามาในประเทศไทย ความเข้าใจของเขายังผิดอยู่เยอะเขายังชอบนำเสนอบ้านเราในชีวิตกลางคืนเป็นมาเฟีย มีการยิงกันมีการคอร์รัปชัน สังเกตไหมคะ เคยดูหนัง Hangover ใช่ไหมคะ เขาก็นำเสนออะไรแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงปอยรู้สึกว่าปอยอยากสร้าง แบรนด์ประเทศให้ทันสมัยและมีรสนิยมแล้วก็มีความถูกต้องแล้วก็มีความเป็นมืออาชีพ นี่คือสิ่งที่ปอยอยากจะทำแล้วก็มีความชัดเจนและอัตลักษณ์ของประเทศเราให้ได้แต่แบบ Global International