สัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร สำรวจโลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์

สัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร สำรวจโลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์
“นักวิจารณ์ภาพยนตร์” คงเป็นอาชีพที่น้อยคนจะรู้จัก หรือแม้กระทั่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสามารถประกอบทำงานเป็นอาชีพได้ เห็นได้จากในประเทศไทยมีนักวิจารณ์เพียงไม่กี่คนที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้จากการเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ไม่ต่างจาก ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร แม้ทั้งสองเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ได้รับการนับถือในเมืองไทย มีผลงานวิจารณ์ภาพยนตร์เผยแพร่ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์มากมาย ขณะเดียวกันพวกเขายังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือทำงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ น่าเสียดายที่พวกเขากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “อาชีพนักวิจารณ์ภาพยนตร์กำลังจะสูญพันธุ์” The People จึงชวนพวกเขาคุยถึงโลกแห่งการวิจารณ์ภาพยนตร์ ความสำคัญของบทบาทนักวิจารณ์ โลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ และความหวังใหม่บนโลกออนไลน์ที่จะเปลี่ยนวงการวิจารณ์ภาพยนตร์ไปจากเดิม [caption id="attachment_10440" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร สำรวจโลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร[/caption]   The People: จำงานวิจารณ์ภาพยนตร์ชิ้นแรกตัวเองได้ไหม ประวิทย์: จำได้ จำได้แม่นเลย จำเวลาที่ออกได้ด้วย คือเดือนธันวาคม ปี 2528 ในนิตยสาร Starpics แต่ก่อนหน้านั้นแปลบทความลงในหนังสือหนังเล่มหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักเลยบนโลกนี้ชื่อว่า “เซลลูลอยด์” ผมก็เหมือนกับทุกคนแหละ เป็นคนที่ชอบดูหนัง เริ่มต้นด้วยการดูหนัง แต่ในยุคนั้นไม่มีที่ให้เขียนระบาย ทำได้แค่เขียนในไดอารีส่วนตัว พอถึงปี 3 ช่วงหนึ่งมีทุนกิจกรรมทำบอร์ดเกี่ยวกับการวิจารณ์หนังในคณะ เขาก็ให้ค่ากระดาษ ค่ากาว เราก็เขียนบทวิจารณ์หนังไปติดบอร์ดหน้าห้องน้ำ และอาจารย์แดง กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ก็ไปเห็น เขาเลยชวนมาเขียนลง Starpics ไกรวุฒิ: ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 เทอม 2 มีการจัดฉายหนังนักศึกษา เราไม่ได้ทำหนัง แต่ว่าตอนนั้นเป็นยุคหนังสือทำมือ เราก็ทำหนังสือทำมือแบบบ้าน ๆ เลย ซีร็อกซ์แล้วเย็บเป็นหนังสือทำมือเล่มบาง ๆ 25 หน้า เหมือนเป็นนิตยสารหนังเล่มเล็ก ๆ ทำขายในงาน ขายนะ ไม่ได้แจก ในนั้นมีทั้งที่แปล งานเขียนวิจารณ์ แต่ไม่ได้ทำคนเดียวนะ ทำร่วมกับเพื่อนอีกคน พอเรียนจบ พอดีกับ Bioscope นิตยสารหนังเล่มเล็ก ๆ ของคุณสุภาพ หริมเทพาธิป และ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ที่กำลังอยากขยายหนังสือเป็นเล่มใหญ่ มันเป็นจังหวะเดียวกับหนังสือทำมือของเรา ทำให้หนังสือเราไปผ่านตาเขา เขาเห็นว่าเราทำสกู๊ปได้ เขาให้โอกาสเรามาก ๆ เพราะว่าตอนนั้นเราแค่เด็กจบใหม่ ไม่มีอะไรเลย อยู่ดี ๆ เขาให้เราไปอยู่ในทีม ทำให้เราได้เริ่มเขียนงาน เขียนบทความ เขียนวิจารณ์หนัง เขียนงานแปลผสมกัน   The People: เสน่ห์ของงานวิจารณ์คืออะไร ประวิทย์: ธรรมชาติของมนุษย์ เวลาดูหนังสักเรื่องหนึ่งแล้วมันไม่ได้อยากอยู่เฉย ๆ หรอก เราจะอยากพูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับหนังที่ได้ดู นั่นเป็นจุดเริ่มต้น อาจฟังดูเศร้านิดหนึ่งนะ เพราะคนที่เป็นนักดูหนังจะเริ่มต้นด้วยการที่ตอนเด็กไม่ค่อยมีเพื่อนนัก จริง ๆ เราเป็นคนมีเพื่อน แต่ในพาร์ทหนึ่งทุกคนจะมีช่วงเวลาส่วนตัว เวลาเราไปดูหนังมา เพื่อนเราเป็นพวกเตะบอล ไม่มาคุยกับเรา เราไม่ได้แชร์กับใคร มันก็จะคุยแต่เรื่องฟุตบอล เราจึงหาคนคุยไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือเขียน เพราะฉะนั้นเสน่ห์ของมันคือการปลดปล่อยช่วงเวลาที่เราได้ดู ตอนแรกไม่ใช่การวิจารณ์ด้วยซ้ำ มันคือการทบทวนสิ่งที่เราได้เจอ หนังมีช่วงเวลาที่ดี เราก็อยากจะเขียนถึงมัน นั่นคือจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นพอได้อ่านงานวิจารณ์ของคนอื่น ของอาจารย์แดง, นักเขียน Starpics หรือนักวิจารณ์อื่น ๆ เช่น สนานจิตต์ บางสะพาน , ฐิติ นันทวงศ์ ฯลฯ งานเขาเหมือนทำให้เราเห็นโลกที่กว้างขึ้นของภาพยนตร์ ทำให้เราพูดถึงมุมต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทำความเข้าใจได้มากขึ้นทีละน้อย ทำให้เราได้เห็นว่าภาพยนตร์ไม่ใช่แค่ความบันเทิง ภาพยนตร์เป็นภาพสะท้อนของสังคม เป็นคุณค่าความบันเทิง เป็น message ของคนทำ เป็นคุณค่า เป็นความหมาย เป็นเครื่องปลอบประโลมเรา เป็นที่หลบภัยของเรา ที่พาเราหนีไปจากโลกความเป็นจริง ภาพยนตร์เป็นหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน   The People: ที่ว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องปลอบประโลม เป็นหลุมหลบภัยคืออะไร ประวิทย์: คนส่วนใหญ่โดนล่อลวงไปในโลกของหนัง ส่วนหนึ่งคือต้องการพาตัวเองหนีไปจากโลกความเป็นจริง ไปยังโลกของจินตนาการ โลกของความเพ้อฝัน โลกของแฟนตาซี ไม่งั้นหนังแฟนตาซีจะทำเงินได้มหาศาลยังไง สังเกตว่า 10 อันดับหนังทำเงินของโลกส่วนใหญ่เป็นหนังแฟนตาซีนะ เป็นหนังหนีความจริงแทบทั้งสิ้น เราคิดว่าส่วนใหญ่ใช้ภาพยนตร์ในฟังก์ชันนี้หมด แต่จากนั้นเราจะต่อยอดไปอย่างไร บางคนรู้สึกพึงพอใจเป็นยากล่อมประสาท ใช้มันไปเรื่อย ๆ ต้องการที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ บางคนก็รู้สึกว่ามันไม่พอ แต่เราคงโชคดีแหละ เราอ่าน Starpics อ่านหนังสือหนัง เราอ่าน Screen เป็นหนังสือหนังที่ฮาร์ดคอมาก ขายบทวิจารณ์ ขายหนังที่มันฮาร์ดคอหน่อย มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับภาพยนตร์ จากเป็นที่หนีไปจากโลกความเป็นจริง กลายมาเป็นกิจกรรมทางปัญญา มันเป็นศิลปะ เป็นอะไรที่เราชื่นชมมันได้ ดื่มด่ำมันได้ ไกรวุฒิ: การดูหนังเป็นส่วนหนึ่งของ formative years (วัยพัฒนา) ของมนุษย์ เป็นช่วงที่เราทำความเข้าใจกับตัวเองว่าเราเป็นใคร เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจที่คนดูหนังหรือคนบ้าหนังมักจะเป็นช่วงวัยรุ่น โอเคเด็ก ๆ ก็มีดูหนังนะ แต่ว่าช่วงที่เริ่มติดจริง ๆ มักจะเป็นช่วงวัยรุ่น คนดูหนังรู้ตัวอยู่แล้วว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หนังเรื่องไหนเป็นเรื่องโปรดของเรา ชอบดาราคนนี้เพราะอะไร ชอบผู้กำกับคนนี้เพราะอะไร มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจตัวเราเอง แง่หนึ่งมันก็คล้ายกับการชอบเพลง มันค่อย ๆ ประกอบความเป็นตัวเราขึ้นมาเป็นจิตวิญญาณ เราดูหนังเพื่อรู้จักตัวเราเอง พอไปถึงจุดหนึ่ง เราอาจไม่ได้ดูเพื่อประกอบสร้างแล้วไง เราดูเพื่ออย่างอื่นแล้ว ผ่านไปสักจุดหนึ่งเราจะเริ่มรู้ว่า หนังมันเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ ในวัฒนธรรม สังคม และมิติอื่นมากขึ้น   The People: ฉะนั้นเป็นเรื่องของเวลาที่ทำให้คนเห็นอะไรมากขึ้นใช่ไหม ไกรวุฒิ: ใช่ แต่ก็ไม่ทุกคนนะ เราเห็นตัวเองมาในทางนี้แล้ว ถ้าจะให้เราดูหนังแล้วเขียนเหมือนตอนวัยรุ่นก็ไม่ได้แล้ว เพราะเราก็เติบโตแล้ว พอเติบโตเราจะมองเห็นหนังในเลนส์ที่เปลี่ยนไป สำหรับผมเสน่ห์ของการวิจารณ์ภาพยนตร์ในช่วงแรก ๆ คงเป็นความรู้สึกที่อยากบอกคนอื่นว่าเราค้นพบอะไร โดยเฉพาะการค้นเจอโดยที่ไม่ได้ถูกพูดถึงกันสักเท่าไร เราจะรู้สึกว่าอยากเล่าให้ผู้อื่นฟัง อันนี้คือเสน่ห์พื้นฐานเลย ซึ่งทุกวันนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอหนังที่ผลักเราให้มีแรงขับอันนี้ออกมา มันก็ยังเป็นเสน่ห์อยู่เหมือนเดิม   The People: การวิจารณ์หนังมีการอบรม เวิร์กช็อป รวมถึงมีวิชาสอนในมหาวิทยาลัยด้วย การวิจารณ์หนังเป็นสิ่งที่สอนกันได้ด้วยเหรอ ไกรวุฒิ: ตัวอย่างการเวิร์กช็อปการวิจารณ์ภาพยนตร์ CRITICS’ CIRCLE โดย Purin Pictures สิ่งที่เราทำไม่ใช่การสอนแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เธอต้องทำอะไร แต่การอบรมครั้งนี้เรามีเวลาแค่ 4 วัน เราไม่สามารถสอนใครเขียนหนังสือได้ภายใน 4 วันได้หรอก เราจึงเลือกทุกคนที่มีพื้นฐานการเขียนกันมาประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เราจะมาคุยกัน ลองมาเกลาบางอย่างมากกว่ารวมถึงการให้ feedback ในฐานะของคนเคยทำงานด้านนี้มา สิ่งนี้มันไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะโดยปกติคนเขียนงานออกไปก็จะมีคนอ่านงานนั้น ๆ แต่จะไม่ได้มาตอบกลับว่าคุณเขียนงานดี-ไม่ดี เขาจะไปคุยกันถึงเรื่องเนื้อหาของหนังนั้น ๆ แต่การอบรมที่เราจัดคือลองให้เขาไปเลือกดูหนัง เขียน แล้วเราก็ feedback กับเขาตัว ๆ ในฐานะที่เราทำงานวิจารณ์มาแล้ว เราคิดอย่างไรกับงานนี้ จุดแข็งคืออะไร จุดที่เขาสามารถพัฒนาต่อคืออะไร จะเป็นแบบนี้มากกว่าการสอนหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ประวิทย์: การอบรมนี้มีสองครั้ง มันไม่มีทางทำให้คนเปลี่ยนแปลงได้ภายในสองครั้ง แต่สิ่งที่ทำตอนนี้คือแชร์ ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากแชร์ประสบการณ์ที่เราทำงาน ให้คำแนะนำหลาย ๆ อย่างที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ สิ่งที่เราบอกไปหรือให้ข้อมูลไป ถ้ามันใช้การได้ก็ดี สำหรับเรามันพิสูจน์แล้วว่ามันใช้การได้ ส่วน feedback ไม่เคยมีใครทำจริง ๆ เพราะมันเหนื่อยมาก ด้วยการนำงานแต่ละคนมานั่งอ่านก็เรื่องหนึ่ง การมานั่งตรวจวินิจฉัย สมมติฐานของแต่ละคนอีก การมานั่ง feedback ให้คำแนะนำของแต่ละคนอีก เราก็ไม่แน่ใจว่าคำแนะนำมันถูกต้องหรือเปล่า สไตล์ใครก็สไตล์มัน ในสมัยที่ผมเริ่มเขียนวิจารณ์หนัง ตัวเองก็มีปัญหาว่าเราจะทำอย่างไร ไปทางไหนดี ไม่มีแบบอย่างเท่าไร ยิ่งสมัยเริ่มใหม่ ๆ มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่มี Facebook มีอินเทอร์เน็ต มีสื่อต่าง ๆ ให้เราอ่านงานวิจารณ์ ให้เราเห็นตัวเลือกที่จะเขียนถึงหนังเรื่องหนึ่งได้ เช่น หนัง Spider-Man เข้า เราสามารถเข้าไปใน imdb ดูผลงานของการวิจารณ์แต่ละคนเต็มไปหมด เราสามารถอ่านแต่ละคน เห็นว่าคนนี้พูดเรื่องนั้น-เรื่องนี้ได้ สมัยก่อนมันไม่มีอะไรแบบนี้ มันไม่มีแบบอย่างเท่าไร ตอนนั้นเราก็ดำน้ำพอสมควร ต้องอาศัยคนที่เราอ่านงานเขาซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่คน กลายเป็นว่าเราต้องอยู่ในร่างเงาของเขา เลือกเอาสิ จะเป็นร่างอาจารย์แดง พี่เตี้ย (สนานจิตต์ บางสพาน) มีไม่กี่คนเท่านั้นเอง รู้สึกว่าทางไปมันน้อยมาก ถึงแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลือกเยอะขึ้น แต่ถ้าเขามีใครสักคนมาคอยตบแต่งให้ทางที่เขาเดินมีความชัดเจนมากขึ้น บางทีมันก็น่าจะมีประโยชน์   The People: แล้วการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยล่ะ? ไกรวุฒิ: วิชาการวิจารณ์ภาพยนตร์จะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์มากกว่าการวิจารณ์ วิเคราะห์กับวิจารณ์มันจะไม่เหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่าในมหาวิทยาลัยจะเป็นเรื่องของการสอนการศึกษาหนัง การวิเคราะห์หนัง การหาความหมายของหนัง ถามว่ามันสอนกันได้ไหม คิดว่ามันสอนกันได้ เพราะว่าหนังก็เป็นศาสตร์ที่มีมาตั้ง 120 ปีแล้ว หนังเป็นประวัติศาสตร์ เป็นองค์ความรู้ มีสถานะทางศิลปะ มีหลักการพื้นฐานบางอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปครูในมหาวิทยาลัยเขาก็จะสอนสิ่งนี้กัน ไม่ค่อยสอนการวิจารณ์หนังหรอก เพราะว่าการวิจารณ์หนังเป็นการลงลึกไปถึงบุคลิกของแต่ละคนด้วย การผลิตเสียงของแต่ละคน คนนี้จะมีความเห็นอย่างนี้ ซึ่งการวิจารณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบริบทส่วนตัวของแต่ละคนของผู้เขียนมากกว่า ให้นักเรียนไปวิจารณ์กันเองมากกว่า ส่วนใหญ่ในห้องเรียนจะสอนแค่การศึกษา คุณจะวิจารณ์ จะประเมินค่าอย่างไรเป็นเรื่องที่คุณต้องไปพัฒนากันเอง ประวิทย์: เวลาสอนวิจารณ์ภาพยนตร์ สิ่งหนึ่งที่ผมพูดตลอดคือเราจะสอนการวิเคราะห์ภาพยนตร์ เพราะมันมีหลักการเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องการวิจารณ์หนัง ผมจะสอนให้คุณแสดงความคิดเห็นไม่ได้ เพราะความคิดเห็นเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เรายกระดับรสนิยมเขาได้ สิ่งนี้จะส่งผลต่อทัศนคติ มุมมองต่อภาพยนตร์ ซึ่งถ้าคุณดูแต่หนังเมโลดรามาอย่างเดียว บางทีคุณต้องเปลี่ยนไปเสพอย่างอื่นให้รสนิยมของคุณกว้างขึ้น มันอาจจะส่งผลต่องานของคุณ การตกแต่งมุมมองทัศนะจะทำให้ mindset คุณเปลี่ยน วิธีคิดเปลี่ยน การแสดงความคิดเห็นของคุณจะไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ การสอนวิจารณ์หนังในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมเรื่องเครื่องมือในการวิจัย วิเคราะห์ หรือประเมินคุณค่า เตรียมแว่นที่ใช้ในการมองหนังในเชิงอะไรต่อมิอะไร เช่น ศิลปะภาพยนตร์ เพศสภาพ การเมือง ฯลฯ เมื่อคุณวิเคราะห์ได้ละเอียดถี่ถ้วน รอบด้านและลงลึกแล้ว มันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลแล้ว   The People: นักวิจารณ์ควรมีสายตาอย่างไรเป็นพิเศษ ประวิทย์: คุณสมบัติอันหนึ่งที่เรามักจะบอกผู้เขียนวิจารณ์หนังคือการเป็นคนช่างสังเกต ความละเอียด ไวต่อความรู้สึก ความสามารถที่จะมองเห็นลักษณะทางศิลปกรรม ความแม่นยำตรงนี้จะช่วยมากในการทำความเข้าใจงานศิลปะ มันไม่ใช่การดูแล้วหลงไปกับมายาของมัน ทำไมหนังทำให้เราคล้อยตามไปเชิงอารมณ์ ไม่ใช่ว่าดูจบแล้วบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาทำให้เราคล้อยตามหรือรู้สึกฮึกเหิมเป็นผลมาจากอะไร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในตอนที่เราดูหนัง เพราะถ้ามีเครื่องมือที่ดี เราจะสามารถกลับมาทบทวนได้ว่าที่รู้สึกกับหนังมันเกิดมาจากอะไร จากกลไกอะไรบ้าง การชอบสังเกต ความละเอียด การทบทวน มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเห็นมุมมองที่แหลมคมมากขึ้น คือสายตานักวิจารณ์ การเป็นคนช่างสังเกตมีประโยชน์ เราใช้คำว่า sensitive [caption id="attachment_10443" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร สำรวจโลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ไกรวุฒิ จุลพงศธร[/caption]   The People: เวลาชมภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง นักวิจารณ์จะรู้สึกสนุกกับหนังแบบไหน ไกรวุฒิ: โดยพื้นฐานการดูหนังก็สนุกเหมือนกับคนดูทั่วไปรู้สึกนั่นแหละ มันไม่ใช่ว่าพอเราจะวิจารณ์หนัง การดูหนังจะไม่สนุกอีกแล้ว คงไม่ใช่ แต่มันก็จะมีเลเวลความสนุกในฐานะคนรักหนังมาก ๆ เป็นความสนุกในฐานะแฟนหนัง เช่น เราเห็นหนังเรื่องนี้ทำสิ่งนี้ หรือหนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบนี้อยู่ แล้วเราเคยเห็นว่าองค์ประกอบนี้เคยปรากฏขึ้นอยู่งานก่อน ๆ ของเขา มันก็จะเป็นความช่างสังเกตผสมกับความรักหนังส่วนตัว มันอาจจะทำให้ดูหนังสนุกมากขึ้น อาจทำให้สายตาเราไม่ได้เหมือนกับสายตาของคนดูทั่วไป ประวิทย์: ถ้าเป็นนักวิจารณ์หนังแล้วดูหนังไม่สนุก ผมว่านักวิจารณ์มีปัญหาแล้ว ถ้าคุณดูแล้วเริ่มรู้สึกว่าเป็นภาระ มันหน้าที่การงาน มันมีโอกาสที่จะทำให้การ appreciate คุณค่าต่าง ๆ ลดลง คำถามที่ว่า “พอเป็นนักวิจารณ์แล้วจะดูหนังเหมือนกับคนดูทั่วไปไหม” เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกถามอยู่เรื่อย ๆ ก็อยากจะบอกว่าเราเป็นคนดูคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าเลเวลของการดูเรามากขึ้น เราอาจจะจุกจิกมากขึ้น เจ้ากี้เจ้าการมากขึ้น เริ่มแยกแยะ เริ่มชอบอะไรได้น้อย สิ่งนี้เป็นไปได้ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้น ส่วนตัวเราก็ยังสนุกกับการดูหนังนะ ในกรณีดูหนังที่มันย่ำแย่จริง ๆ มันก็ไม่ได้จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความย่ำแย่ อย่างที่บอก พอเรามีแว่นหรือมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น มันก็ทำให้เราสามารถจะเอนจอยในด้านต่าง ๆ ได้เหมือนกัน   The People: ถ้าเจอหนังที่มันแย่มากจริง ๆ คุณจะสนุกกับหนังอย่างไร ประวิทย์: ความน่าสมเพชของมันก็เป็นความน่าสนุกอย่างหนึ่ง (หัวเราะ) ไกรวุฒิ: หนังที่แย่ในสายตาของหลาย ๆ คน มันอาจจะเป็นหนังที่แซ่บสำหรับบางคนก็ได้... อย่างเรา (หัวเราะ) สิ้นปีเวลาจัด top ten หนังต่าง ๆ จอห์น วอเทอร์ส (John Waters - นักทำหนังคัลต์ เป็นศิลปิน ทำงานศิลปะ และเป็นนักเขียน) จะเป็นคนเลือกหนังได้แซ่บมาก จะเลือกหนังและตามด้วยประโยค 2 – 3 ประโยค เหมือนเป็นมุมมองการมองโลกของเขา ทำให้เห็นหนังหลาย ๆ เรื่องในมุมที่คนอื่นไม่ได้มอง จอห์นทำให้เราเห็นความสนุก คุณค่า หรือความไร้เดียงสาบางอย่าง ประวิทย์: จอห์น วอเทอร์ส ทำให้รู้ว่างานวิจารณ์ไม่ได้ผูกขาดว่าทุกคนจะต้องเห็นพ้องกันหมดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดี ไม่จำเป็น คนอย่างจอห์นหรือว่าใครก็ตามที่หยิบยกหนังที่คน 99 เปอร์เซ็นต์ด่าจะทำให้เห็นว่าอะไรคือคุณค่าของมัน เราพลาดมุมมองอะไรไป ในขณะที่เขามองเห็น ผมว่าสนุกออก ส่วนตัวพูดบ่อย ๆ ว่าเป็นกิจกรรมทางปัญญา เราไม่ได้ประเมินหนังที่ชอบ-ไม่ชอบอย่างเดียว ความสนุกมันเกิดจากหนังที่แม้ว่าจะมีคุณภาพย่ำแย่มาก แต่ทัศนคติ มุมมองมันสิ การตีแผ่อะไรบางอย่าง การบันทึกอะไรบางอย่างในช่วงเวลานั้น ก็เป็นสิ่งที่เราเอนจอยกับหนังได้   The People: ถ้าจะต้องวิจารณ์หนังของคนรู้จัก เช่น เพื่อนหรือลูกศิษย์ แต่ว่ามันเป็นหนังที่แย่จริง ๆ คุณจะมีวิธีการวิจารณ์อย่างไร ประวิทย์: เราชอบประโยคหนึ่งของอาจารย์เจตนา นาควัชระ (อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร) คือ ไม่ว่าคุณจะวิจารณ์อะไร ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เราต้องวิจารณ์ให้เขายืนอยู่บนเวทีได้ เพราะฉะนั้นถ้าคนทำรู้ว่าเราพูดอะไรไปบนความปรารถนาดี ไม่ได้ต้องการจะเหยียบย่ำจบธรณีไป และหวังว่าจะเห็นงานชิ้นต่อไปในทิศทางที่ดีขึ้น เขาน่าจะไม่ใจแคบต่อต้านวิธีของเรา และเราก็เขียนงานด้วยวิธีนี้เสมอเพื่อให้เขาอยู่บนเวทีนี้ต่อไปได้ ไกรวุฒิ: สำหรับเรา การวิจารณ์ที่โบยตีหนังได้ดีที่สุดคือไม่พูดถึงมันเลย อันนั้นคือไม่มีตัวตนเลย แบบว่าเกลียดจริง ไม่มีพื้นที่ไม่มีความเห็นใด ๆ ให้ ประวิทย์: บางทียิ่งด่าก็ยิ่งอยากไปดู [caption id="attachment_10442" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร สำรวจโลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ประวิทย์ แต่งอักษร[/caption]   The People: นักวิจารณ์มักมีคำครหาว่า “วิจารณ์คนอื่นเก่ง ทำไมไม่ทำหนังเองเลยล่ะ” คุณเคยโดนตั้งคำถามแบบนี้บ้างไหม ไกรวุฒิ: โดนบ่อย แต่เราเลือกที่จะไม่ตอบคำถามนี้ คนอ่านน่าจะเข้าใจว่ามัน make sense หรือไม่ ประวิทย์: ถ้าจะให้มองแตกต่าง ที่มาของทัศนะคติ “ทำเองสิ” ในแง่หนึ่งคือนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยยกตัวเองใหญ่กว่าหนัง พยายามจะสั่งสอน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นท่าทีเรียกแขกด้วยการโอ้อวด สุดท้ายแล้วมันเป็นที่มาของการหมั่นไส้ มันเลยเป็นที่มาของประโยค “ปากดีนัก มึงก็มาทำเอง” ส่วนตัวมองการวิจารณ์ก็คือการแสดงความคิดเห็น เวลาสอนการวิจารณ์ เราจะบอกว่าการวิจารณ์มันเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ เป็นกระบวนการสื่อสารของภาพยนตร์ การโอ้อวดยกตนข่มท่านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย สุดท้ายถ้าเราจะฝากอะไร คงเป็นเรื่องของ humility (ความนอบน้อม) เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ทั้งการทำหนังรวมถึงการวิจารณ์ ความถ่อมตัวเป็นเรื่องสำคัญ​ การเขียนวิจารณ์หนังเป็นการเขียนว่าเรามีความคิดเห็นอะไรต่อสิ่งนั้น ไม่ได้เป็นการโชว์ภูมิ ไม่ใช่การอวดรู้ ไกรวุฒิ: การวิจารณ์หนังไม่ได้เป็นเรื่องของการตีพิมพ์บทความสองบทความแล้วจะเป็นนักวิจารณ์หนังระดับอาชีพได้ มันเป็นเรื่องของระยะเวลาที่จะพิสูจน์เองว่าพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร เราเชื่อของเรื่องระยะเวลา เพราะฉะนั้นเวลาที่วัดว่าเราชอบนักวิจารณ์หนังคนไหน มันไม่ใช่แค่บทความเดียว แต่เป็นเรื่องของลักษณะน้ำเสียง ความแหลมคม มันมีระยะเวลาเข้ามาข้องเกี่ยว   The People: ในฐานะอาจารย์ นักศึกษารุ่นใหม่ ๆ อยากเป็นนักวิจารณ์กันไหม ไกรวุฒิ: เดี๋ยวนี้คนทำเพจหนังง่ายมาก และทำเพจหนังกันเยอะมาก สำหรับเรามันเป็นเรื่องที่ดีมากเลยนะ เพราะทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองแล้วสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา ครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่า การเป็นนักวิจารณ์หนังกำลังจะสูญพันธ์ุไปแล้ว แต่ว่าตอนนี้มันไม่ได้สูญพันธ์ุหรอก มันมีมากมายกว่าสมัยก่อนมาก แต่ “อาชีพนักวิจารณ์หนัง” อาจจะสูญพันธ์ุ หมายความว่าการเขียนบทวิจารณ์แล้วได้รับค่าตอบแทน หรือการได้รับค่าตอบแทนในระดับที่สามารถดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีในโลกทุนนิยมมันค่อย ๆ หายไป อาจมีคนที่ทำอย่างนั้นได้ไม่ถึง 5 คนในประเทศ ขนาดสมัยที่เราเริ่มทำงานอาจมีนักวิจารณ์หนังเป็นอาชีพจริง ๆ สัก 30 คนเอง ประวิทย์: เท่าที่เจอนักศึกษาที่สอนอยู่ 90-99 เปอร์เซ็นต์อยากทำหนัง อยากเป็นผู้กำกับหนังมากกว่า แล้วการวิจารณ์หนังกลายเป็นถูกบังคับให้เรียน ทำให้เราเจอนักเรียนที่มาเรียนเพียงเพราะให้มันผ่านไป แต่ก็จะมีคนที่เป็นทั้งคนทำหนังและเขียนวิจารณ์หนัง เขาจะมีความกระตือรือร้น เราก็มีความหวังว่าเขาจะช่วยพัฒนาให้การวิจารณ์หนังนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น ก็จะมีคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในทุกที่ที่สอน ไม่ได้สิ้นหวังเกินไป ในแง่อาชีพผมเห็นด้วยว่าเพจหนังเป็นเรื่องที่ดี ทุกวันนี้คือเยอะมาก เพราะเมื่อก่อนการวิจารณ์มันถูกผูกขาด สื่อสมัยก่อนไม่กว้างขวางเท่าทุกวันนี้ การวิจารณ์มันอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ เสียงนักวิจารณ์ดังมาก เวลาเขียนวิจารณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์จะมีผลกับคนดูหนังมากพอสมควร ซึ่งการผูกขาดไม่ดีหรอก เพราะคนอื่นจะไม่มีช่องทางแสดงออก ปัจจุบันพอคนวิจารณ์กันมากขึ้น ทำให้เกิดความคึกคักในวงการการวิจารณ์ ปัจจุบันนี้เด็กรุ่นใหม่ทุกคนสามารถจะเขียนอะไรบางอย่างได้ มันเป็นโลกคนละใบกับสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง พูดตรง ๆ อิจฉาเด็กสมัยนี้มาก มีสนามให้เลือกเล่นเยอะมาก แล้วก็เพจหนังอะไรต่อมิอะไรที่พร้อมเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ เรายังไม่ได้มองถึงเรื่องรายได้นะครับ พูดในเรื่องเสียงใหม่ ๆ คำพูดใหม่ ๆ ทัศนะคติที่แตกต่างไปก่อน มันก็เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ปัญหาในความคิดเห็นของเรามันกว้างมาก มันเลยมีการแข่งกันในเรื่องของการวิจารณ์ แทนที่จะทำให้เราแตกฉานในหนังเรื่องนั้น ๆ กลายเป็นการแข่งกันใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่า   The People: แสดงว่า Facebook Fanpage ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็นับว่าเป็นนักวิจารณ์ได้? ประวิทย์: นับ รีวิวก็เป็นการวิจารณ์ เป็นการแนะนำหนัง การแสดงปฏิกิริยา ความรู้สึกของเขา ถ้านับสิ่งนั้นเป็นชนชั้นของนักวิจารณ์เราว่าไม่ใช่ รีวิวก็คือการวิจารณ์ เพียงแต่ว่าปัญหาของเพจคือการทำหน้าที่เป็นคู่มือผู้บริโภค ทำหน้าที่ในการแนะนำอะไรควรดูอะไรไม่ควรดู แต่มันควรพาการวิจารณ์ไปไกลกว่านั้น นอกจากบอกว่าสัปดาห์นี้หนังเข้า แล้วคุณควรจะดูหรือไม่ควรจะดู สุดท้ายคุณควรจะพาคนดูออกจากพื้นที่นั้นบ้าง คุณควรจะพาคนดูไปสู่คุณค่าทางสังคม ไกรวุฒิ: อย่างที่พูดไปตอนต้นว่าการดูหนังเป็นศาสตร์ที่มีมา 120 ปีแล้ว มันมีอะไรหลากหลายมากกว่าการเป็นคู่มือผู้บริโภค การเป็นคู่มือผู้บริโภคไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือสิ่งที่ต้อยต่ำนะ แต่นักวิจารณ์ที่เขียนดี ๆ ในเมืองนอกจะเป็นนักวิจารณ์ที่แบบว่า พออ่านแล้วอยากวิ่งไปซื้อตั๋วหนัง มันเป็นอย่างนั้นไปพร้อม ๆ กับการแสดงความคิดเห็นที่มันนุ่มลึก คัดกรอง ที่มันเลือกใช้ถ้อยคำภาษาที่รัดกุม สละสลวย   The People: คิดว่าการวิจารณ์ในโลกออนไลน์ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม ประวิทย์: จำเป็น ขอพูดประโยคของ โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) ว่าการวิจารณ์มันสำคัญเพราะว่าภาพยนตร์มันสำคัญ ภาพยนตร์สำคัญเพราะว่ามันเป็นการแสดงทัศนะคติของการทำหนัง สะท้อนสังคม การวิจารณ์ทำให้สิ่งเหล่านี้มันปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นความหมายที่ชัดเจนมากขึ้น คนดูก็เป็นนักวิจารณ์ด้วย แล้วคนดูก็ควรใช้ประโยชน์จากนักวิจารณ์ด้วย ในแง่เพื่อให้เขามีบทสนทนาเกี่ยวกับหนัง ถ้าเราดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วไม่มีการพูดคุย ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน วัฒนธรรมทางศิลปะก็จะไม่เกิด ไม่งอกงาม ฉะนั้นการวิจารณ์มันแยกไม่ออกจากการสร้างภาพยนตร์เลย ไกรวุฒิ: เรานึกถึงคำพูดหนึ่งที่ใช้บ่อยมาก คือคำพูดของ เบลา บาลาซส์ (Bela Balazs) เป็นนักทฤษฎีหนังคนแรก ๆ ของโลก เขาน่าจะเขียนประโยคนี้ตอนปี 1919-1920 ราว ๆ นี้ เหมือนประโยคทำนายอนาคตไว้ว่า ในอนาคตใครก็ตามที่จะเขียนถึงประวัติศาสตร์ของประเทศประเทศหนึ่ง ควรจะมีบทหนึ่งเขียนถึงหนังด้วย เพราะหนังมันสะท้อนจิตใจของสังคม ๆ นั้น ตอนที่เขาเขียนบทความนี้ยังแทบจะไม่มีการเขียนวิจารณ์หนังเลย แต่เขาเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ของการเขียนวิจารณ์หนังว่าสำคัญขนาดไหน ประวิทย์: ฉะนั้นการวิจารณ์ที่มันเยอะขึ้นเราว่าจำเป็น เราไม่ควรปล่อยงานวิจารณ์ไปอยู่ในมือของ somebody, คนที่มีชื่อเสียงหรือคนที่ถูกยอมรับเป็น opinion leader อย่างเดียว จนทำให้การแสดงความคิดเห็นของคนอื่นไม่สำคัญ สังคมการวิจารณ์ที่ดีคือทุกคนมีการแสดงความคิดเห็น เราก็พูดอุดมคติไปหน่อย แต่ว่ามันก็ควรจะทุกคนมีเสียงของตัวเองและสามารถจะแสดงมันออกมาได้ ไกรวุฒิ: ในสังคมไทยถ้าพูดถึงวัฒนธรรมมันจะมีการชี้ถูกชี้ผิด เอาเป็นเอาตาย ขาว ดำ หนังเรื่องดี-ไม่ดี สิ่งที่มันตลกคือหลัง ๆ คนจะไปอินกับ Rotten Tomatoes (เว็บไซต์รีวิวภาพยนตร์โดยให้คะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์) กันอย่างจริงจังมาก ขณะที่เราว่าความงามของหนังไม่ได้อยู่ที่หนังเรื่องนี้ได้คะแนนเท่าไหร่ และสังเกตได้ว่า มันน้อยมาก ๆ ที่คะแนนจะไปอยู่ 100% หรือ 0% เพราะหนังเรื่องเดียวกันจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบเสมอ และเมื่อไรก็ตามที่ได้ 100%หรือ 0% มันจะมีคำถามบางอย่างว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า   The People: คิดไหมว่าวันหนึ่งเราจะเติบโตกลายเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ไกรวุฒิ: เราไม่ได้คิด ความจริงการมาสัมภาษณ์วันนี้เราก็รู้สึกกระดากตัวเองนิดหนึ่ง เพราะช่วงหลังเราไม่ค่อยเขียนวิจารณ์เท่าไหร่ ไม่ได้เขียนประจำที่ไหน นาน ๆ เขียนครั้งหนึ่ง เพราะว่าในช่วงหลังพื้นที่เขียนกำลังสูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ หมายความว่าการเป็นนักวิจารณ์หนังอาชีพและในแง่ของการทำนิตยสารหนัง มันเป็นช่วงเวลาที่แคบลงเรื่อย ๆ ตอนนั้นเรารู้ตัวว่าต้องเปลี่ยนสายหรือเพิ่มฟังก์ชันของเรา จุดนี้เราต้องขอบคุณอาจารย์แดง เพราะตั้งแต่ทำงานวิจารณ์ใหม่ ๆ อาจารย์แดงก็ชวนให้เราไปสอนหนังสือ เราก็สอนในฐานะคนที่รู้เรื่องหนัง ตอนนี้ก็รู้สึกถึงความมั่นคงมากขึ้นจากการทำงานวิชาการด้านหนังมากกว่าเป็นนักวิจารณ์หนัง ประวิทย์: เราเป็นไดโนเสาร์ที่กำลังสูญพันธุ์ ถ้าพูดในเชิงรายได้ เราก็ไม่ได้อยู่ได้ด้วยงานวิจารณ์ เราอยู่ได้เพราะไม่มีข้อผูกมัดทางเศรษฐกิจเหมือนกับคนอื่น เราเขียนวิจารณ์หนังมา 33 ปี ถ้าให้เราไปทำอย่างอื่นคงทำไม่ได้แล้ว ทำไม่เป็น และเราก็ไม่มีทางอย่างอื่นที่จะทำด้วย เราถือว่าโชคดี ถ้ามันต้องหยุดตรงนี้เราก็ไม่เสียใจ ไม่รู้สึกว่าต้องไปเปลี่ยนเป็นอะไร ก็มาไกลกว่าจะไปเริ่มขายครีมหรืออะไร (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าอะไรพาเรามาถึงทุกวันนี้ แต่ก็ขอบคุณสิ่งนั้นที่ทำให้เราเขียนหนังสือมาได้อย่างต่อเนื่อง เราก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด นิตยสารหนังเจ๊งคามือเรามาหลายเล่มมาก และก็จริงว่าเราอยู่ไม่ได้ด้วยการวิจารณ์อย่างเดียว ต้องขอบคุณอาจารย์แดงที่ชวนเรามาสอนหนังสือ ช่วยเราในแง่เศรษฐกิจอีกระดับหนึ่ง มันทำให้เราไม่หยุดนิ่ง ทำให้เราต้องหาอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 30 ปีกับปัจจุบันไม่ได้เขียนด้วยกรอบการคิดเดิม ๆ ก็อยู่มาได้ด้วยความงง ๆ   The People: ถ้าสังคมไม่มีการวิจารณ์เลยอาจารย์คิดว่าจะเป็นอย่างไร ประวิทย์: ก็เป็นเหมือนสังคมตอนนี้ครับ การวิจารณ์เป็นสิ่งสะท้อนของสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ไม่มีการวิจารณ์เป็นสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย   [caption id="attachment_10439" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ ประวิทย์ แต่งอักษร และ ไกรวุฒิ จุลพงศธร สำรวจโลกใกล้สูญพันธุ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ไกรวุฒิ จุลพงศธร[/caption]   ภาพโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior) ร่วมสัมภาษณ์: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย ขอบคุณ Purin Pictures และ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) สำหรับสถานที่ถ่ายภาพและสัมภาษณ์