สัมภาษณ์ พวงสร้อย อักษรสว่าง เรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่ นคร-สวรรค์

สัมภาษณ์ พวงสร้อย อักษรสว่าง เรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่ นคร-สวรรค์
“เราไม่ได้ต้องการที่จะแบบ... ว้าว มาดูชีวิตฉันว่ามันเศร้าขนาดไหน มันไม่ใช่อย่างงั้น เราแค่ เฮ้ย! นี่คือพาร์ทหนึ่งของชีวิตเรา และอาจจะเป็นคนดูที่ต้องเจออะไรอย่างนี้ก็ได้... เราว่าหนังของเราเป็นเรื่อง เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เลยอะ” นี่คือส่วนหนึ่งที่ โรส พวงสร้อย อักษรสว่าง บอกกับเราระหว่างบทสนทนา เพื่ออธิบายความบริสุทธิ์ใจในการเล่าเรื่องราวการสูญเสียคุณแม่ และถ่ายทอดออกมาเป็น “นคร-สวรรค์” ภาพยนตร์ผสมสารคดี เรื่องแต่งผสมเรื่องจริง กับชีวิตของเด็กสาวที่เพิ่งกลับจากประเทศเยอรมนีเพื่อเผชิญหน้ากับความเศร้า ก่อนหน้านี้พวงสร้อยเคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่หลายงาน แล้วตัดสินใจเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี เคยนำประสบการณ์มาร้อยเรียงเป็นหนังสือ MY BEST FRIEND IS ME กับสำนักพิมพ์ SALMON ก่อนจะพบความสูญเสียที่ทำให้เกิดภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นภาพยนตร์ของทุกคน, บทสัมภาษณ์นี้ก็เช่นกัน สัมภาษณ์ พวงสร้อย อักษรสว่าง เรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่ นคร-สวรรค์ The People: เคยทำทั้งงานเขียนและงานกำกับ คุณสนุกกับงานแบบไหนมากกว่ากัน พวงสร้อย: สนุกทุกงานนะ หมายความว่า ตอนนั้นทำอะไรอยู่ก็สนุกกับสิ่งนั้น แต่เวลาทำงานมันอาจไม่ได้ใช้คำว่า “สนุก” ส่วนตัวทำงานก็คือทำงาน แต่อาจไม่ได้สนุกกับงานนั้น   The People: แล้วคุณใช้เกณฑ์อะไรในการทำงานของตัวเอง ความสนุกเหรอ? พวงสร้อย: ความสุขกับสนุกมันคงเหลื่อม ๆ กันแหละ แต่แค่รู้สึกว่าการทำงานมันไม่ได้สนุก หมายถึงการอยู่ใน process นั้นมันไม่สนุกอะ แต่ละงานมีส่วนที่ enjoy และไม่ enjoy สมมติเวลาทำหนัง ตอนเขียนบทเรา happy ที่ได้เขียน ขณะเดียวกันมันเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ เป็นเรื่องที่ทำงานกับใจเยอะ ตอนเขียนเรื่องแม่มันเป็นความเศร้าที่ไม่สนุกหรอก แต่การเขียนมันได้ระบายบางสิ่งบางอย่างออกมา พอได้เห็นผลลัพธ์ เราก็จะโอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราอาจจะไม่ใช่คนประเภทสนุกไปกับงานอะ เราแบบ... เหมือนใช้คำว่า fulfill มากกว่าคำว่าสนุก   The People: พอทำงานผู้ช่วยผู้กำกับมาสักระยะ ทำไมคุณถึงตัดสินใจเรียนต่อทางภาพยนตร์ที่เยอรมนี พวงสร้อย: ตอนปริญญาตรีเราเรียนฟิล์ม แต่ไม่ได้อยากเป็น filmmaker หรือไม่มีความฝันอยากทำหนังขนาดนั้น เป็นแค่เหตุบังเอิญบางอย่างที่ทำให้ต้องมาเรียน แต่พอมาเรียนปุ๊บ มันเจอวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ คือเราเริ่มต้นจากการเขียนมาก่อน พอวันหนึ่งเกิดเหตุบังเอิญที่ต้องเรียนภาพเคลื่อนไหว มันเหมือนเราจะทำยังไงกับการเอาตัวอักษรมาแปลงเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเราสามารถสื่อสารหรือเล่าเรื่องเป็นภาพเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนังก็ได้ อาจจะเป็นแค่การอัดคลิปวิดีโอ ก่อนเรียนจบ เราทำหนังสั้นได้รับรางวัล มันพาเราไปต่างประเทศครั้งแรกในเชิงเทศกาล แล้วเรารู้สึกว่าได้สถานะเพิ่มมาเป็น “คนทำหนัง” แต่เราก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้กำกับ” นะ ต่อมาเรามีโอกาสเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 36 (พ.ศ. 2555) หนังยาวเรื่องแรกของพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ซึ่งตอนปี 3 เราเคยฝึกงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ แล้วเรารู้สึกว่ามันอาจจะไม่ใช่ทางเรา เราคงไม่ใช่ผู้ช่วยที่ดีขนาดนั้น เรามีก้อนความรู้ประมาณหนึ่งซึ่งพี่เต๋อก็บอกว่าไม่เป็นไร หลังจากนั้นเราก็ทำผู้ช่วยผู้กำกับให้กับอาจารย์ที่คณะนิเทศ แต่กองนั้นเป็นการออกกองใหญ่ครั้งแรก เหมือนเราค่อย ๆ ผ่านด่านไปเรื่อย ๆ แต่มันก็มีความคิดว่าจบ ป.ตรี ควรเรียนต่อ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราอยากไปไหนก็ได้ แต่ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว ที่ไหนก็ได้   The People: ไม่อยากเรียนต่อในประเทศไทย? พวงสร้อย: ไม่ใช่ไม่อยากเรียนต่อในไทย แต่ไม่อยากอยู่ที่ไทย มันเป็นสเต็ปเบสิกของคนชีวิตทั่วไป แต่ประเด็นคือเราไม่มีตังค์ไง จึงไม่ใช่จะได้ทุกอย่างที่ต้องการ เราก็หา free scholarship ว่ามีที่ไหนบ้าง ซึ่งมีสองที่คือฝรั่งเศสกับเยอรมนี เราสมัครทั้งสองที่แล้วได้ทุนเยอรมันโดยไม่ได้มีความรู้มาก่อน เราจึงเข้าเรียนคอร์สภาษาแบบเร็ว ๆ เพื่อให้ผ่านเลเวลแรก นี่ก็เพิ่งกลับไทยมา รวม ๆ ก็ประมาณ 4 ปี   The People: ประสบการณ์ที่เยอรมนีสอนอะไรแก่คุณบ้าง พวงสร้อย: เยอะมาก ดีมาก มันเป็นพาร์ทหนึ่งของช่วงอายุเรา ประมาณ 20 กลางถึง 30 ปี ตอนแรกก็คิดว่า นี่ไงก็ได้มาเรียนเมืองนอกแล้วไง ไม่เห็นจะยากเลย แต่จริง ๆ มันยากนะ ทุกอย่างมันใหม่หมด ภาษาใหม่ คนใหม่ วัฒนธรรมใหม่ แต่การไปเจอคนเยอะ ๆ เจออะไรใหม่ ๆ ในช่วงแรกก็ตื่นเต้น ที่นี่มัน freedom ที่แท้จริง แต่สุดท้ายก็มีพาร์ทที่ต้องดิ้นรนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว ซึ่งรู้สึกว่าเป็นอย่างหลังมากกว่า   The People: ที่เยอรมนี มีวัฒนธรรมอะไรที่คุณรู้สึก surprise ไหม พวงสร้อย: อาจจะไม่ถึงขั้น surprise แต่เรารู้สึกว่า เขาเปิดพื้นที่ให้เราพูด เช่น เขาเปิดให้เราแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน ที่นั่นเราคุยกันด้วย ‘ความคิดของฉัน’ และ ‘ความคิดของเธอ’ ถ้าเราไม่ถูกกัน ก็ลองเอาเหตุผลมาคุยกันสิ แต่ถ้าเราชอบกัน มันก็จะยิ่งว้าว! เธอมีเหตุผลเหมือนกับฉันเลย ที่นั่นมีพื้นที่ให้พูด มีพื้นที่ให้แสดงออก เราไม่เชิง surprise นะ แต่มันเป็นความรู้สึกอิจฉามากกว่า ทุกอย่างมีสองด้าน สมมติเราตัดด้านไม่ดีไปก่อน แต่ด้านดีของเขาคือเขาตอบสนองความต้องการของคนได้ เช่น ฉันอายุ 30 เป็นนักวิทยาศาสตร์ วันหนึ่งฉันท้อง ระหว่างท้องเขาก็จะให้เงินเพื่อที่ฉันจะได้ท้องอย่างมีประสิทธิภาพ ลูกของฉันจะเกิดมาอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ทำงานไม่ไล่ฉันออก เขาจะมีนโยบายตอบสนองคนท้อง ทำให้รู้สึกปลอดภัยว่าเราท้องแต่ก็ยังมีงานในอนาคต แล้ววันหนึ่งฉันอาจไปเจอสิ่งที่ inspire ว่าไม่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ฉันอยากเป็นศิลปิน ซึ่งคนวัยอายุ 30 สามารถสมัครเรียน ป.ตรี ใหม่ได้ ตอนที่เราเรียนก็มีคนอุ้มลูกมาเรียนด้วย เพราะบางคนเขาใช้พื้นที่โรงเรียนเพื่อเป็นการ explore ตัวเอง ฉันสนใจหัวข้อนี้ ฉันอยากทำงานนี้ ฉันก็เลยเข้ามาเรียนวิชานี้ โดยที่ฉันไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเป็นนักเรียน เหมือนเขามีตัวเลือกในชีวิตโดยที่ไม่จำเป็นต้องรวย เราว่าคนไทยมีตัวเลือกแต่ต้องรวยอะ ถึงจะเป็นตัวเลือกที่มีความสุข สัมภาษณ์ พวงสร้อย อักษรสว่าง เรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่ นคร-สวรรค์ The People: กระบวนการสร้างภาพยนตร์ “นคร-สวรรค์” เริ่มตั้งแต่ที่ประเทศเยอรมนีเลยใช่ไหม พวงสร้อย: ตอนที่เรียนอยู่เยอรมันประมาณปี 2016 เราต้องทำหนังจบคล้าย ๆ แบบ final thesis แล้วเราก็มีโปรเจกต์อยากทำเกี่ยวกับเรื่องแม่ เพราะเวลาอยู่ที่นั่น สิ่งที่เชื่อมเรากับแม่คือ Skype หรือรูปถ่ายที่แม่ส่งมาทาง LINE มันเป็นช่วงที่ผู้ใหญ่เริ่มเล่น LINE เริ่มสวัสดีวันจันทร์ เขาไม่รู้ว่าจะส่งไปไหนก็ส่งให้ลูก มันเหมือนเป็นนาฬิกาปลุก สมมติเขาตื่นมา 7 โมงเช้า รูปที่ส่งมาก็จะเป็นรูปโต๊ะตั้งหน้าบ้านรอตักบาตร แล้วแม่ก็จะส่งอย่างนี้มาเรื่อย ๆ เราก็แค่เก็บ ๆ ๆ โดยที่ไม่คิดอะไรทั้งนั้น แต่วันหนึ่งถ้าเขาไม่ได้ส่งมา มันก็จะเอ๊ะ! ทำไมเขาไม่ส่งมา เราก็จะรับรู้ทันทีว่าเขาไปโรงพยาบาล เราเริ่มอยากเก็บสิ่งนี้ไว้ มันก็เลยเป็นที่มาของโปรเจกต์ว่า อยากทำเรื่องบันทึกเกี่ยวกับแม่ มีช่วงหนึ่งเรากลับไทยหลังจากที่ไม่ได้กลับ 2 ปี แม่พาไปเยี่ยมบ้านพ่อในสวนยางที่จังหวัดสงขลา ราก็พกกล้องเล็ก ๆ ไปตัวหนึ่ง ถ่าย ๆ ๆ เก็บไว้โดยยังไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นหนัง ก็แค่การบันทึก พ่อก็มาถามว่าชีวิตที่เยอรมันเป็นยังไง พ่อเคยอยู่เบอร์ลินด้วยนะ ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็มีอีกตั้งหลายสิ่งที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับเขา เราก็เริ่มสนใจเรื่องของพ่อ-แม่ พ่อ-แม่วัยรุ่นเป็นยังไงวะ เราก็เลยแบบหยิบอัลบั้มเก่า ๆ มาดู เห็นรูปแม่วัยรุ่นหน้าเหมือนเราเลยว่ะ แต่งตัวเหมือนเราด้วย มันเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เราก็เลยหยิบเอาความรู้สึกนี้มาลองทำหนัง เป็นไอเดียทำสองสิ่งนี้รวมกัน ก็คือเป็นพาร์ท fiction ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์กับพาร์ท documentary ที่เราเก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับครอบครัว 2017 ประมาณช่วงนี้เลย เรากลับไทยมาทำ pre-production เปิดมือถือเจอข้อความของน้องสาวที่บอกว่า “แม่เข้า ICU นะ” คือแม่ไม่สบายเป็น 10 ปีแล้ว อาการจะขึ้น ๆ ลง ๆ เราเห็นเขาผอมมาก แล้วมันมี sense บางอย่างเป็นสัญญาณ แต่ยังไม่คิดอะไรมาก เราก็มีหน้าที่ของเรา แม่ก็บอกไม่ต้องสนใจ ทำในสิ่งที่คุณอยากทำไปเถอะ แต่คราวนี้อาการหนัก มันก็มีเสียงในหัวเข้ามาเยอะมากว่า เราจะทำต่อเหรอวะ? เรารับไม่ไหว สุดท้ายเราก็เลยเลือกปฏิเสธการทำหนังเพราะว่าทำไม่ไหวจริง ๆ หยุดโปรเจกต์นี้ดีกว่า วันที่ 4 พฤษภาคม คือครบรอบ 2 ปีที่แม่เสีย เราก็จัดงานศพก่อนกลับเยอรมัน พอกลับไปเยอรมันเท่านั้นแหละ มันแบบ เชี่ย... มันแบบเชี่ย! เลยอะ แล้วช่วงที่กลับเป็นช่วงใบไม้ร่วงด้วย โอโห... มันช่างสร้างบรรยากาศโดยไม่ต้องบิลด์อะไรเลย เทอมนั้นเป็นเทอมว่างสำหรับทำโปรเจกต์ ไม่มีวิชาเรียน แล้วเราก็หมดทุน สิ่งที่เราทำก็คือไปทำงานเสิร์ฟ เสิร์ฟรัว ๆ เลย การเสิร์ฟเป็นหนทางเดียวที่เราจะไม่คิดอะไรมาก ใจหนึ่งก็คิดเราไม่ต้องเรียนแล้วเลยไหม กลับบ้านเลยไหม จะมาทนเสิร์ฟอยู่ทำไม แต่อีกใจหนึ่งก็แบบ... โห มาขนาดนี้แล้วนะอีกนิดเดียวเอง ซึ่งอีกนิดเดียวนี่คือต้องบิลด์ตัวเองโคตร ๆ จนแบบน้องวิว (วิมลพร รัชตกนก ผู้ร่วมก่อตั้ง Spacebar) ชวนเราเขียนหนังสือสำหรับ Bangkok Art Book Fair เราก็รับงานมาทำด้วยความรู้สึกว่า ดีกว่าไม่มีอะไรทำ จะได้มีสิ่งใหม่มา distract ความรู้สึกเรา ออกมาเป็นหนังสือ There (เขียนร่วมกับ ใหม่ ศุภรุจกิจ) ถ้าจำไม่ผิดโจทย์คือ Destination เราก็แบ่งกันเขียน ต่างคนต่างเขียน เราก็เขียน ๆ ๆ จนกระทั่งเขียนถึง “นครสวรรค์” เขียนเรื่องการลอยอังคารแม่ที่ปากน้ำโพ มีเรื่องความสัมพันธ์ เขียนแบบมั่ว ๆ บ้าง fiction บ้าง พอเขียนไปสักพักเรารู้สึกถึงพลังอะไรบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ เป็นความรู้สึกที่เราไม่ได้แตะมันมาหลายเดือน เราก็เลยบอกพี่ใหม่ (อโนชา สุวิชากรพงศ์ โปรดิวเซอร์ นคร-สวรรค์) ว่าโรสมีไอเดียสำหรับหนังอีกอัน หนูขอเปลี่ยนเป็นเรื่องนี้นะ มันก็เลยเป็นที่มาของ นคร-สวรรค์ เรื่องนี้   The People: การอยู่เยอรมนีส่งผลอะไรกับภาพยนตร์ไหม พวงสร้อย: ถ้าเราไม่ไป เราจะไม่ได้หนังเรื่องนี้ เหมือนแบบการที่เราไปอยู่ไกล ๆ มันทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะมากเกินไป ถ้าเรายังอยู่บ้านเหมือนเดิม เราก็คงไม่เก็บรูปที่แม่ส่งมาให้ เราก็คงไม่ appreciate ในการโทรหาเขาขนาดนั้น ตอนอยู่กรุงเทพฯ แม่โทรมาถามว่า “จะกลับมาเมื่อไหร่” เรารำคาญมาก แม่จะโทรมาทำไมก็ต้องกลับบ้านอยู่แล้ว แต่พอไปอยู่โน่น บางทีเหงาดันโทรหาแม่ ทั้ง ๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยรู้สึกต้องโทรหาแม่อะ อยู่โน่นแล้วเราอยากจะเล่ามั่ว ๆ ซั่ว ๆ กินข้าว ทำกับข้าวด้วยนะ ถ่ายรูปข้าวไข่เจียวเน่า ๆ ส่งไปให้ มันเหมือนมันแบบ appreciate สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เคย appreciate มาก่อน   The People: ความที่หนังเป็นเรื่องราวส่วนตัวของคุณสูงมาก คุณคิดว่าหนังจะทำงานกับคนดูข้างนอกอย่างไร พวงสร้อย: ตอนแรกเราเครียดเหมือนกัน โมเมนต์หนึ่งเราก็คิดว่า ทำไมเราต้องมาเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนอื่นฟัง แต่สุดท้ายแล้วพอหนังฉาย เราคิดว่าทุกคนเชื่อมโยงได้หมด ทุกคนเคยมีพ่อ-แม่ ทุกคนเคยอาม่าตาย ทุกคนเคยแฟนทิ้ง ทุกคนเคยทะเลาะกับแฟน ทุกคนเคยเศร้า มันมี element บางอย่างที่คนดูอาจไม่ได้ว้าว 100% เพราะทุกชีวิตคงไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ ๆ แต่เราว่าหนังมีบางอย่างที่เชื่อมโยงถึงกันคือ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เราว่าหนังเรามัน เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เลยอะ เพียงแต่ถูกเล่าในการปรุงแต่งแบบใหม่ ซึ่งคนดูก็อาจจะ เฮ้ย! เหมือนกันเลย แม่เราก็ไม่อยู่เหมือนกัน แต่ว่าแม่เรากับแม่เธอก็ไม่ใช่คนเดียวกันนะ เราอาจไม่เข้าใจความรู้สึกถึงกัน 100% หรอก มันไม่มีทาง 100% แต่มันก็เข้าใจแหละว่า การ lost มันเป็นยังไง สัมภาษณ์ พวงสร้อย อักษรสว่าง เรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่ นคร-สวรรค์ The People: ทำไมต้องไปลอยอังคารที่ปากน้ำโพ ความเชื่อนี้มาจากไหน พวงสร้อย: นั่นน่ะสิ แต่คือบ้านเราจะไปลอยที่นี่ ตอนที่ยายเสียก็มาลอยที่ปากน้ำโพ เรือลำนี้ คนขับคนนี้ พอตอนแม่ก็มาลอยที่นี่ เรือลำเดียวกัน คนขับคนเดียวกัน ในเรื่องก็คนขับคนเดียวกัน เรือลำเดียวกัน คือมันอาจจะเป็นความเชื่อ เราไม่รู้ว่าบ้านอื่นเชื่อยังไง แต่บ้านเราต้องปากน้ำโพ เป็นพื้นที่ ปิง วัง ยม น่าน รวมกันพาไปสวรรค์   The People: คุณเชื่อเรื่องโลกหลังความตายไหม พวงสร้อย: ไม่รู้ว่าเชื่อไหมแต่ว่าไม่มีดีกว่า หมายความว่าจบแล้วก็จบเลยเถอะ อย่าเวียนว่ายตายเกิดอีก จบไปเลยดีกว่า ไม่อยากเกิด   The People: สมมติถ้าออกแบบโลกหลังความตายได้ คุณอยากออกแบบมาอย่างไร พวงสร้อย: ยากจัง... ไม่มีดีกว่า เพราะรู้สึกว่าไอ้เหี้ย... โลกตอนนี้ก็เหนื่อยแล้วนะ ต้องไปใช้ชีวิตในโลกหลังความตายอีกเหรอ   The People: หนังมีเรื่องความเชื่อ ความจริง ความลวง โครงสร้างก็มีพาร์ทสารคดี และพาร์ทเรื่องแต่ง คุณต้องการนำเสนอแนวคิดอะไร พวงสร้อย: เราว่าทุกอย่างมันเป็นเรื่องจริงและเรื่องแต่งในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ หรือกระทั่งการมาคุยกันอาจมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง แต่เราคิดว่าความจริงมันมีจริงนะ แต่เมื่อผ่านสื่ออะไรสักอย่างมันจะลดลง เช่น ความจริงจาก 100 พอพูดออกมามันเหลือ 98 อาจจะเหลือ 90 อะไรอย่างงี้ มันมีก้อนความจริงแหละ แต่ว่ามันก็จะโดนลด ถอน บวก เพิ่ม เมื่อมีตัวแปรอื่น ๆ เสมอ สัมภาษณ์ พวงสร้อย อักษรสว่าง เรื่องราว เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่ นคร-สวรรค์ The People: พอนำภาพยนตร์เข้าสู่กระบวนการจัดจำหน่ายที่ประเทศไทย เราจะเห็นการเรียกร้องสนับสนุนบางอย่างจากรัฐบาลหรือภาคเอกชนเสมอ คุณคิดว่า สิ่งที่หนังไทยต้องการการสนับสนุนจริง ๆ มันคืออะไร พวงสร้อย: เราว่าพื้นที่นะ มันพูดยากมากเลย เพราะหนังไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปนึกถึง หมายความว่า ถ้าพูดถึงรัฐบาลปุ๊บ มันจะมี mindset ของคนถึงเรื่องปากท้องก่อน ค่ารถเมล์ก็เพิ่งขึ้นราคา...   The People: เหมือนภาพยนตร์เป็นสิ่งรองกว่าเรื่องปากท้องของคนใช่ไหม พวงสร้อย: เราว่าหนังไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ขณะเดียวกันเรื่องปากท้องก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนอีกเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าตอนนี้เราใช้สายตาอะไรมอง แต่ถ้ามองเผิน ๆ แบบ general ปากท้องกับหนังมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาจะสนับสนุนเรื่องไหนก่อน แต่ในฐานะที่เราเป็นคนทำหนังหรือคนที่อยู่กับวงการภาพยนตร์ ปากท้องเราเท่ากับหนังอะ นึกออกปะ มันเลยเข้าใจได้ง่ายมาก มันก็เหมือนกลุ่มแรงงานที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราควรจะได้รับ หนังสำหรับคนอื่นอาจคือเป็นแค่ความบันเทิง ฉันเสียเงิน 140 ไปดูหนัง แต่ฉันไม่จำเป็นต้องดูหนัง ฉันโหลดเอาก็ได้ แต่เราอยู่ในวงการนี้ ปากท้องเรา ชีวิตของเรา หรือความต้องการความฝันของเรามันอยู่ในก้อนนี้ แต่ไม่มีใคร support ชีวิตเราอะ   The People: สุดท้ายถ้าคนมาดูหรือสนับสนุนหนังเรื่องนี้ เขาจะได้อะไรกลับไป พวงสร้อย: อยากให้เป็นจุดตั้งต้นในการที่คุณจะนึกถึงอะไรบางอย่าง อาจเป็นโมเมนต์คิดถึงแม่ นึกถึงการไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ ไม่จำเป็นต้องไปเรียนต่อต่างประเทศนะ แต่การที่คุณไม่ได้อยู่กับคนที่คุณรัก ไม่ได้อยู่บ้าน หนังเรื่องนี้เหมือนเป็น space ให้คุณนึกถึงสิ่งเหล่านี้ ออกจากโรงมาคุณอาจเป็นคนเดิมแหละ แต่แค่จะใช้เวลานี้นึกถึงสิ่งที่ไม่ได้นึกถึงมานาน หรือรู้สึกกับสิ่งที่หายไปมานาน เราอยากให้คนดูเราเยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ Topic เราคือ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เราอยากให้คนมามีประสบการณ์ร่วมบางอย่าง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์นี้อยู่ อยากเชิญชวนมากกว่า มาก่อนเถอะก็ อยากให้คนดูเยอะที่สุด   เรื่องโดย: จิดาภา กนกศิริมา (The People Junior)