คิว วงฟลัวร์ กับ ชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ ชายผู้พิสูจน์ว่าปริญญาไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ

คิว วงฟลัวร์ กับ ชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ ชายผู้พิสูจน์ว่าปริญญาไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ
       หลายคนอาจจะรู้จัก “คิว” สุวีระ บุญรอด ในฐานะฟรอนต์แมนแห่งวงร็อกยุคต้น 00s อย่าง ฟลัวร์ (Flure) และยังเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกของวง บีไฟว์ (B5) วงที่รวมเหล่านักร้องเสียงดีประจำค่าย เบเกอรี่มิวสิก ด้วยเสียงร้องที่มีพลังและแฝงไปด้วยความสวยงามของไลน์ กลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของ คิว ที่ทำให้ชื่อของเขาถูกจดจำเป็นวงกว้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงดังของเขาในอดีตไม่ว่าจะเป็น “กันและกัน”, “ฤดูที่ฉันเหงา”, “เรื่องเดียว” หรือ “ปล่อยไปตามหัวใจ” ปัจจุบันก็ยังคงเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีชที่แฝงไปด้วยพลังของคิว ย้อนกลับไปในสมัยที่ คิว ยังเป็นเด็ก เขาโตมาในครอบครัวที่เข้มงวดพอสมควร แถมยังเป็นครอบครัวที่ถูกจับจ้องตลอดเวลาในฐานะครอบครัวของรองนางงามจักรวาล คิว ก็เหมือนกับเด็กทั่วไปทั้งชอบเล่นเกม ชอบดูการ์ตูน แต่ใครล่ะจะไม่ชอบจริงไหม ? คิว ค้นพบความสุขที่สุดของตัวเองในโลกของจินตนาการ เขาถึงขั้นโยนการศึกษาทิ้ง โยนทุกโอกาสทิ้ง เพื่อหันมาใช้จินตนาการขับเคลื่อนชีวิตของตัวเองแทน และแน่นอนมันกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล วันนี้เราได้มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับชายคนนี้ ในหลากหลายประเด็น คำถามที่ทุกคนอยากรู้ที่สุดก็คือ ทำไมเด็กที่มีความพร้อมในชีวิตขนาดนั้นถึงโยนความสำเร็จขั้นพื้นฐานทิ้งเพื่อแลกกับอิสระในจินตนาการของตัวเอง วันนี้ คิว จะตอบข้อสงสัยเหล่านั้นให้เราฟัง The People : ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร สุวีระ : สภาพแวดล้อมค่อนข้างถือว่าดีมากเลย แต่ว่าเราอาจจะเป็นเด็กที่...ดูชอบการ์ตูนมาก เล่นเกมมาก แบบมากๆ เพราะว่าเราได้มีโอกาสได้เครื่องเกมก่อนคนอื่น ๆ ได้มีตั้งแต่เครื่องที่เป็น Game & Watch (เกมกด) เล็ก ๆ เครื่อง Atari ลามมาจนถึง Family Computer (Famicom) คือเรารู้สึกว่าเฮ้ย ตรงนั้นเป็นโลกที่เราอยู่แล้วเราสนุก ได้ดูการ์ตูน ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน  แต่พอถึงเวลาเรียน สิ่งที่เป็นปัญหาแรกคือเรื่องของคณิตศาสตร์ คำถามง่ายๆ เช่น คุณป้าออกไปซื้อลองกอง หรือกลับมาอะไรอย่างนี้ จนถึงทุกวันนี้เรายังต้องนับนิ้วอยู่เลย เรื่องเลขนี่เราไม่เอาเลย ก็คือรู้สึกว่าเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งและก็ไม่ได้อยากที่จะเก่ง รู้แต่ว่าพ่อแม่ก็ต้องให้เราต้องไปสอบเข้าโรงเรียน แต่ในหัวเราคือเรามีความสุขกับโลกในจินตนาการที่เราวาดการ์ตูนออกมาบ้าง หรืออยู่ในการ์ตูนหรือคิดคาแรคเตอร์ตัวละครสไตล์เด็ก ๆ ยุคนั้น เพราะมันไม่มีโซเชียล ไม่มีอะไร มันมีแต่สิ่งที่อยู่ข้างในเรา ได้เล่นของเล่น ได้ต่อเลโก้ ทำอะไรอย่างนี้รู้สึกว่าตรงนั้นเป็นโลกที่เรามีความสุข แล้วอีกอย่างการ์ตูนของวอลต์ดิสนีย์ หรือการ์ตูนในสมัยที่เราดู มันมีเรื่องของเพลงที่มันประกอบอยู่ในนั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วเรารู้สึกว่าเวลาเราเล่นของเล่น เราจะชอบเปิดเพลงให้มันเหมือนเป็นซาวด์แทร็กขณะที่เราเล่นของเล่นอยู่ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่านั่นคือของเล่น เรารู้สึกว่ามันมีชีวิตอยู่จริง ๆ แล้วเราก็ได้อยู่ตรงนั้นจริง ๆ  เรารู้สึกว่าโลกตรงนี้เป็นโลกที่ทำให้เรามีความสุขมากกว่าการไปโรงเรียน The People : ทำไมถึงแอนตี้การเรียน สุวีระ : มันแอนตี้ในใจ คือเราก็ทำทุกอย่างไปแบบ เราพยายามแล้วนะ เราพยายามจะอ่านแล้ว เราพยายามจะจำแล้ว เรื่องความจำเนี่ย โอเค เรามีไอ้ตรงวิชาที่มันเกี่ยวกับการจำ จำเท่านั้น จำโดยไม่ต้องหาเหตุผลว่าคนที่นี้ไปรบทำไม คนนี้ไปอะไร โอเค จำ แต่ไม่เคยคิดวิเคราะห์ว่าเหตุใดเขาถึง...อะไรอย่างนี้ แต่พอมาเจอคณิตศาสตร์ จบ...ศูนย์ และมันคือเราไม่เอาเลย ยังไงก็ไม่เอา โอเค ท่องสูตรคูณได้ แต่เราต่อยอดมันไม่ได้ว่ามันไปทำอะไร หารบ้าบอคอแตกอะไรพวกนั้น คือจนถึงทุกวันนี้เราก็ไม่เอาเลย ขอบคุณโลกนี้ที่มีเครื่องคิดเลข ง่าย ๆ ซ้ำชั้น ตอนนั้นผมก็ซ้ำชั้น คือมันไม่ได้ผิดที่โรงเรียน ไม่ได้ผิดที่การศึกษา ระบบการศึกษา สำหรับผมในความรู้สึกตอนนั้นนะ มันผิดที่เรา หัวใจเราข้างในมัน เราบล็อกมัน เราก็ต้องโตขึ้นแล้วใช่ไหม โตขึ้นแล้วก็จับพลัดจับผลูเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่พออยู่แป๊บหนึ่งเราก็เดินออกจากมหาวิทยาลัยไปถึงถนนใหญ่เลย โคตรไกลเลยที่ ม.รังสิต ตอนนั้นก็โอเค ได้เรียนฟิล์มแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่า...มันก็ยังไม่ใช่ที่ของเรา อย่างที่บอกเรามีความสุขกับการวาดรูป ร้องเพลง เล่นกับเพื่อนอะไรมากกว่าอยู่ดี แล้วก็หาเหตุผลไม่เจอว่าเอ๊ะ ฉันจะเรียนไปเพื่ออะไร ความคิด ณ ตอนนั้นนะ แล้วจะเรียนไปทำไม ทำไปก็ไม่สนุก ทำไปแล้วก็...เหมือนเรามีชีวิตอยู่เพื่อ goal ของชีวิต คือโอเคปริญญาหรือจบการศึกษา ใบประกาศนียบัตร เฮ้ย อันนั้นมันไม่ใช่ goal สูงสุดของชีวิตเราแน่ ถ้าเกิดว่าวันหนึ่งเราวาดการ์ตูน หรือเราทำเกมขึ้นมา หรือเรามีวงดนตรีมีอะไรแล้วมันสำเร็จ ทำให้คนเห็นว่าอย่างน้อยมันดำรงชีพได้ มันมีตัวตนในแบบที่มันทำได้ดี  ผมมองว่าตรงนั้นมันคือปริญญาสำหรับใจเราตอนนั้น คิว วงฟลัวร์ กับ ชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ ชายผู้พิสูจน์ว่าปริญญาไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ The People : รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจในตอนนั้นไหม สุวีระ : ไม่มีแล้ว ขอบคุณทุกสิ่งด้วยซ้ำว่าที่มันเกิดอย่างนี้ขึ้น ถามว่าถ้าเราตั้งใจเรียนจนเรียนเก่งก็จริง แต่เราก็ไม่ได้แตกฉานกับมันในชีวิตจริง ถ้าหลังจากนั้นเรามามีอาชีพ เราก็อาจจะเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ก็ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เข้างานประจำ กลับบ้านดูซีรีส์ ด่าคนในเฟซบุ๊ก ตื่นมาทำงานด่าเจ้านาย ไม่มัน  แต่ว่าชีวิตเราก็คงเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเลือกที่จะตั้งใจเรียนและฝืนมันไป แต่เราก็รู้สึกดีแล้ว ที่เราถอยตัวเองออกมาและเลือกทางในแบบที่เราเลือก The People : รับมือกับโลกที่วัดความสำเร็จด้วยปริญญาได้อย่างไร สุวีระ : เราดีลอะไรมันไม่เป็นหรอกเพราะเราเพิ่ง 6-7 ขวบ 8 ขวบ  สิ่งเดียวที่เราทำให้เรามีความสุขที่สุดก็กลับไปเรื่องเดิมก็คือเกม ของเล่น การเล่นกับเพื่อน ขี่จักรยาน วาดการ์ตูน หลัก ๆ คือจะเป็นเรื่องวาดการ์ตูนกับเล่นของเล่นเสียส่วนใหญ่ นั่นน่ะคือที่ที่เราหลีกหนีจากไอ้พวกเรื่องเรียนห่วย เรื่องโดนเพื่อนแกล้ง เรื่องโดนล้อ มันก็จะทำให้มีกลุ่มเพื่อนที่บ้าบอคอแตกเหมือนกัน วาดการ์ตูนล้อเลียนครูบาอาจารย์ เอาไปเป็นตัวโกงในเรื่อง แล้วพวกเราเป็นพระเอกไปรบ นั่นน่ะมันก็คือพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าสนุก แล้วก็ได้หนีจากความจริง The People : ติสท์ตั้งแต่เด็ก สุวีระ : มันไม่ได้เรียกว่าติสท์หรอก แต่ว่ามันไปโดยธรรมชาติของเรานะ มันรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ มันเกี่ยวการเพ้อฝัน การคิด  แล้วยิ่งมาเจอโลกของดนตรี มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเราจะสร้างอะไรมันขึ้นมาก็ได้ เราอาจจะเอาเพลงของโมเดิร์นด็อกในยุคนั้นมาเล่น ช่วงแรกทุกคนก็ต้องแกะให้เหมือน ทำอะไรให้เหมือน แต่เมื่อเราเริ่มอยู่ในห้องซ้อมกับเพื่อนที่เราสนิท เราก็ตีความมันใหม่ เล่นมันไปในแบบของเรา ผิดเพี้ยน พัง ผมรู้สึกว่ามันสนุกแล้วก็เป็นอย่างนั้นเรื่อย ๆ มาจนมันเข้าเนื้อกลายเป็นสิ่งที่เราชอบและทำมันได้ดีที่สุด ณ ตอนนี้ The People : เคยคิดไหมว่าถ้าตอนนั้นไม่เจอดนตรี ตอนนี้จะทำอาชีพอะไร สุวีระ : เราก็คงอยู่ในวิชาเลือกอาจจะเป็นทหารช่าง อาจจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ เดาไม่ออก ที่มันจะใช้ร่างกาย ใช้แรงงาน แต่ไม่ได้ใช้จิตวิญญาณหรือปัญญาอะไรในการทำ สำหรับผมนะ ผมก็คงมีชีวิตแบบนั้น แต่ว่าเราโชคดีที่...เอาวะเราเลือกมันแล้ว The People : แสดงว่าดนตรีคือจุดเปลี่ยนในชีวิต สุวีระ : จุดเปลี่ยนสำคัญเลย The People : เรียนรู้ที่จะเป็นนักร้องได้อย่างไร สุวีระ : ส่วนใหญ่มาจากการฟัง ชีวิตช่วงนั้นคือการฟังเพลง มันกลับไปที่ความรู้สึกเดียวกับตอนที่เราเด็ก ๆ ตอนเราเล่นของเล่น การที่เราดึงตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น คราวนี้มันเป็นในโลกของเสียงเพลง  ถ้ายุคที่เปลี่ยนชีวิตก็คือยุคที่ฟังเบเกอรี่มิวสิก (Bakery Music) คือฟังพี่บอย (โกสิยพงษ์) โจอี้ บอย ฟังโมเดิร์นด็อก ฟังอะไรแล้วเราก็รักไปเลย เหมือนค้นพบว่านี่คือค่ายเพลงไทยที่มันถูกจริตเรา มันมีทุกอย่าง มีทุกแนว แล้วมันไม่เหมือนใครในท้องตลาดในช่วงนั้นเลย ก็เลยชอบ แล้วด้วยความที่เบเกอรี่ฯ มีหลายแนว เพลงป๊อบ เพลงร็อก เพลงอะไรทุกอย่าง มันเลยซึมๆๆๆ เข้ามา เคยเป็นเด็กที่พยายามทำเสียงเหมือนพี่นภ (พรชำนิ) เหมือนพี่น้อย (วงพรู) อยากทำตัว แต่งตัว ใส่หมวกแก๊ปแบบพี่นภอะไร เราก็เป็นเด็กคนหนึ่ง แต่ก็นั่นแหละผมว่าตรงนั้น เบเกอรี่มิวสิกคือครูบาอาจารย์ทางดนตรีที่สำคัญของผม คิว วงฟลัวร์ กับ ชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ ชายผู้พิสูจน์ว่าปริญญาไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ        มันแน่นอนว่าจากเด็กที่เคยฟังแล้วชื่นชม  มันตัดภาพมาอีกทีคือเราได้อยู่บนเวทีเดียวกับเขา เราได้พูดคุย ได้รู้จัก ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเขาด้วยซ้ำ อย่างพี่สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์ - ผู้ร่วมก่อตั้งเบเกอรี่มิวสิก) อย่างนี้ใครจะคิดว่าเขามาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงเราและตัวเราที่อยู่ในวงนั้น เพราะก่อนหน้าเขาทำทั้งโมเดิร์นด็อก พี่ริค วชิรปิลันธิ์ พี่น้อย วงพรู  ซึ่งทุกวงที่เขา produce เนี่ย มันโคตรเท่เลย แล้วใครจะไปคิดว่าเฮ้ยเด็ก 18 ปี 5 คน มันได้มีโอกาสอยู่ตรงนั้น สำหรับเราแล้วมันโคตรยิ่งใหญ่และโคตรเท่เลย แค่บนแผ่นเรามีตราเบเกอรี่ฯ เล็ก ๆ อยู่ข้าง ๆ นั้น มัน...สุดแล้วสำหรับผม มันไม่มีอะไรกว่านี้ ไม่ต้องอธิบายเลย  โอเค ออกชุดแรกมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นที่รู้จัก ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง  แต่พอวันเวลาผ่านไปกลับไปฟัง เออ...มันดิบดี มันก็เล่าเรื่องตัวเราตอน 18-19 ได้อย่างถูกต้องแล้ว เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะรอด แต่วันที่ขึ้นอันดับ 1 หรือวันที่วิทยุเพิ่งเปิด นั่งไปในรถเอิร์ธ (มือกลองวงฟลัวร์) บนทางด่วนอย่างนี้  เปิดคลื่นหนึ่ง เพลงเราขึ้นเฮ้... เปิดไปอีกคลื่น เฮ้ย เพลงเราอีกเฮ้… เปิด เฮ้… คือเป็นวันที่แบบบ้าบอคอแตกกันอยู่ในรถเหมือนเด็กที่แบบ... แล้วมันยิ่งใหญ่มากสำหรับเรายุคนั้น เดี๋ยวนี้มันก็คงเป็นยอดวิว เป็นอะไร แต่ยุคนั้นคือไม่มีวิว มีแค่ฟังในวิทยุกับชาร์จ MTV หรืออะไรที่มันมีอยู่แค่นั้น  อินเทอร์เน็ตอะไรก็ไม่มี มีแค่บล็อกหรืออะไรผมก็ไม่รู้เรียกว่าอะไร ก็เลยรู้สึกว่าเรามาไกลมากแล้ว เรามาถึงจุดที่แบบเฮ้ย คนฟังชอบ คนฟังรู้จัก เราจับทางได้แล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องร็อกแหกปากนี่หว่า แล้วเราก็เพิ่งมารู้จักวง Queen เราก็ยังคิดว่า เขาก็ไม่เห็นต้องเป็นร็อกที่แบบว้ากๆๆ อะไรนี่  เมโลดี้เขาก็คือโคตรออร์เคสตรามิวสิกคัลด้วยซ้ำไป ก็เลยรู้สึกว่าเออ เราชอบคนนี้ เราชอบ Freddie (Freddie Mercury) The People : เวลาขึ้นโชว์เราคิดอะไร สุวีระ : เราไม่เคยดีไซน์มาก่อน ส่วนตัวเราไม่เคยวางแผนว่าเดี๋ยวกูจะไปยืนตรงนั้น แล้วเฮกับคนอย่างนี้  ยืนบนแท่นนั้นแล้วก็ทำท่าทำทางอะไร ไม่เคยดีไซน์ ด้วยความที่ว่าเล่นกันมา 15-16 ปี เพลงก็เพลงเดิม ๆ แต่เราจะทำยังไงให้ทุกครั้งเพลงเดิมมันไม่เหมือนเดิม ก็กลับไปทำเวทมนตร์ของการเล่นของเล่นในวัยเด็กมาใช้ สร้างเรื่องขึ้นมาหรือสร้างสิ่งที่มัน happening ตรงหน้า คนตีกันอยู่ เหตุการณ์บ้านเมืองหรือความรู้สึกอะไรตรงนั้น คือเป็นคนชอบมีความสุขกับการ improvise ผมถึงไม่ทำอะไรซ้ำ ไม่ร้องเมโลดี้เดิม บิดมันบ้าง ดังตรงนี้บ้าง เบาตรงนี้บ้าง หรืออะไรกับมัน ให้มันรู้สึกว่าสนุก  เพลงเพลงเดียวมันสามารถตีความหรือสร้างอะไรใหม่ ๆ ได้ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุดสำหรับผม จริงอยู่มันไม่สำเร็จทุกครั้งหรอก บางวันเราก็เบื่อเรื่องนี้ ทะเลาะกับแฟน เรื่องที่มนุษย์เจอในแต่ละวัน แต่การจะมาเป็นนักร้อง เป็นศิลปิน เรื่องที่โคตรยากคือ the show must go on คุณต้องออกมาแล้วแบบพร้อม ซึ่งมันโคตรยาก  นั่นแหละคือสิ่งที่ยากกว่าว่าเราจะปรับอารมณ์เรายังไง หรือทำยังไงให้ พร้อม The People : ข้อดีของสตรีมมิ่ง ที่มาพร้อมจุดจบของซีดี สุวีระ : มันก็ต้องอยู่ไปตามยุคสมัย เหมือนยุคผมสิ่งที่เป็น MP3 มานี่เราออกไปต่อต้าน ออกไปด่ามัน  ทำไงได้มันเป็นเรื่องธรรมดา ก็โลกมันเป็นอย่างนั้น แต่ถามว่าถ้ามีสิ่งพวกนี้เกิดขึ้น คนที่เป็นศิลปินหรือเป็นนักดนตรีจริง ๆ มึงจะเลิกทำเหรอ มึงจะเลิกร้องเพลงไหม มึงจะเลิกเล่นดนตรีเหรอ ถามจริง ต่อให้มันจะได้ไปยืนอยู่ข้างถนนหรือจะมีพื้นที่ทุกที่ในโลก มึงได้เล่นดนตรี มึงร้องเพลงได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่คิดว่ามันเป็นอุปสรรคเนี่ย แสดงว่าคุณไม่ได้แคร์ศิลปะเบอร์หนึ่ง คุณแคร์เรื่องเงิน คุณแคร์ยอดวิว คุณแคร์ชื่อเสียงมาก่อนความชอบส่วนตัวแล้ว ถูกเปล่า คือถ้าคนเราชอบเนี่ยอยู่ที่ไหนอยากจะร้อง อยากจะแต่ง อยากจะเล่น อยากจะเขียน อยากอะไร มันทำได้หมดแล้วก็ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร โอเค นอกจากดึกดื่นตี 4 ไปตะโกนอยู่กลางถนน ไปเล่นมันก็ไม่ใช่เรื่อง แต่หมายถึงว่าในเรื่องของการคิดและสร้างสรรค์ คุณจะไปแคร์กับสิ่งเหล่านี้ทำไม คิดในแง่ดีว่ามันทำให้วิญญาณเราไปถึงคนฟังได้ง่ายขึ้น ใกล้ชิดกว่าด้วยซ้ำ ถามว่าทุกวันนี้ศิลปินเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยการขายซีดี ซีดีคืออะไรเด็กยังไม่รู้เลย         คิว วงฟลัวร์ กับ ชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ ชายผู้พิสูจน์ว่าปริญญาไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ        แล้วอยู่ได้เพราะอะไร ยอดวิวเยอะ ยอดวิวเยอะก็ต้องประกาศลง ติดต่อขายงานตรงนี้ อ้าว คนโทรมา เฮ้ ไปเล่นโชว์ แล้วก็ลงตารางว่าตารางงานเดือนนี้ไปที่ไหน  มันคือการเล่นสด แล้วการเล่นสดนี่มันไม่ใช่ว่าถ้ายูไปเล่นแล้วก็แบบโอเค เพลงดัง แต่คุณเล่นแล้วมันไม่มีความรู้สึก เป็นหุ่นยนต์ เล่นไป เอนเตอร์เทนคนทำอะไรซ้ำๆ สักวันมันก็หายไป บางทีบางวงยอดวิวเยอะมาก ดังมาก ทั้งประเทศจัดคอนเสิร์ตคนดูแค่นี้  เพราะอะไร เพราะว่ายูไม่มีความเป็นตัวตน ความขลัง ความเวทมนตร์บางอย่าง อันนี้เป็นสิ่งที่หายากในความคิดผม แล้วก็ถ้ามีตรงนี้คุณไม่ต้องกลัวเลยโลกมันจะเปลี่ยนยังไง จะมีสตรีมมิ่ง อีกหน่อยจะเป็นแบบ AR (Augmented Reality - เทคโนโลยีที่นำจำลองภาพเสมือน 3 มิติ) ขึ้นมาพรึ่บ เป็นตัวผมยืนอยู่ตรงนี้เลย คุณก็ต้องยอมรับกับอนาคตที่มันจะเกิดขึ้น แต่ถ้าคนที่เป็นแฟนคลับจริงๆ ยังไงเขาก็ติดตามคุณในช่องทางไหน ไปดูสด ไปดูอะไร มันโอเคอยู่แล้ว  แต่สำคัญก็ต้องกลับมาที่ตัวศิลปินเอง ก็ต้องยอมรับมัน ก็โลกมันเป็นอย่างนี้ ก็คนทุกวันนี้มันก็...เราก็เป็นเด็กที่เคยซื้อแผ่นก๊อป แผ่นปลอม แผ่นเกมปลอมด้วยซ้ำ เราก็เคยทำ เราก็เคยเป็นเด็กที่โกงเขามาเหมือนกัน แล้วถ้าวันหนึ่งเขาจะมาโกงเราบ้าง เขาจะไม่ซื้อเรา มันสิทธิ์ของเขา เรื่องธรรมดา The People : วงฟลัวร์หายไปพักหนึ่งแล้ว คิดว่าจะกลับมาทำเพลงใหม่อีกทีเมื่อไร สุวีระ : หาย ทุกวันนี้ก็ยังหายอยู่ มันหลาย ๆ ปัจจัยแหละซึ่งไม่รู้ว่ามันตามสังขารด้วยมั้ง พออายุเยอะขึ้นคนเราบ้างก็แต่งงาน บ้างก็หย่าไปแล้ว บ้างก็เพิ่งแต่งงาน บ้างทำงานดีไซน์ บ้างก็ไปเป็นโปรดิวเซอร์  เป็นอะไรที่มันเหมือนก็แยกย้ายกันไป แล้วก็ไม่ได้มีโอกาสกลับมา บางทีก็ทะเลาะกัน งอนหายกันไปเป็นปีหรืออะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องจุ๋มจิ๋มในวงที่เล่าไปคนคงด่าแบบโอ้โห ไอ้ควายเอ้ย แก่ขนาดนี้แล้วไม่รู้จักโตสักที แต่เรายังเป็นอย่างนั้นอยู่ เรายังมีความแบบทะเลาะกันให้ตายยังไง แต่ไม่เคยเปลี่ยนสมาชิกวง ไม่เคยลาออก  ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ ยืนกันบนเวที 5 คนได้ มันอยู่กันเป็นเพื่อนขาดกันไม่ได้ไปแล้ว  แต่ถามว่าอยากทำชุดใหม่ไหม ก็มีทำเอาไว้เป็น demo แต่ยังรู้สึกว่าอย่างที่บอกแหละไอ้ปัญหาจุ๋มจิ๋มงี่เง่าเนี่ย มันเลยทำให้ไม่ได้ออกมาสักที ออกมาก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยดี ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ก็ยัง ไม่ใช่ว่ายอดวิวไม่เยอะ หรือว่าเพลงไม่โดนนะ มันยังไม่ดี ก็เลยขอเวลาอีกไปเรื่อย ๆ สักพักหนึ่ง The People : ตอนเกิดอุบัติเหตุ ได้เรียนรู้อะไรจากเสี้ยววินาทีชีวิตตอนนั้นบ้าง สุวีระ : มันก็ทำให้เห็นว่าอุบัติเหตุมันเกิดได้ตลอดเวลา วันนั้นเราก็มีสติอะไรครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่าง คนอาจจะคิดว่าแหม เมามันละสิ มันไม่ใช่ ปกติทุกอย่าง แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าอุบัติเหตุ มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถรู้ตัวได้  ปึ้ง...โอเค รอด มีชีวิตอยู่ กลับมาร้องเพลงได้เหมือนเดิม ร่างกายแข็งแรง เพิ่มเติมมามีแผลเป็นตรงนี้นิดเดียว เฮ้ย เราโชคดีแล้ว เราจะอยู่กันไปยังไงให้มันปลอดภัย The People : เพลงอะไรที่บอกเล่าชีวิตของวงฟลัวร์ได้ดีที่สุด สุวีระ : แต่ละเพลงมันก็บอกหลาย ๆ อย่างอยู่นะ ถ้าให้เลือกขอเลือกเพลงชื่อว่า 'วัย’ อยู่ในชุด Tales ชุดที่สาม มันเป็นชุดที่เรายังไม่มีเฟซบุ๊ก ยังไม่มีอะไรกันเลย หรือเพิ่งมีแต่คนยังไม่ได้เล่นอะไร มันเป็นความคำนึงถึงไอ้สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น ช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับเพื่อน วาดการ์ตูนด้วยกัน เที่ยวเล่นแล้วเราต้องจากกัน เรามีให้เบอร์โทรกับโทรศัพท์บ้านในหนังสือรุ่น เหมือนเพลงพี่ป้าง (นครินทร์ กิ่งศักดิ์) นั่นน่ะมันเป๊ะเลย ความรู้สึกนั้น แล้วเราก็ไม่คิดว่าจะได้เจอกันอีกผ่านวันเวลาไป เราก็เลยเอาความรู้สึกนั้นมาเขียนเป็นเพลงๆ นี้ว่าทำไมโตขึ้นแล้วชีวิตมันไม่ง่ายเลยเนอะ คือแบบอยากกลับไปให้เหมือนวันนั้น ก็เลยรู้สึกว่าจนถึงทุกวันนี้เรายังมีความรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ดี ๆ การได้กลับไปเล่นเกมเก่า ๆ กับเพื่อน ได้นั่งสังสรรค์คุยกันเรื่องแก่ ๆ มันคือพื้นที่ที่เรานึกแล้วมันก็มีความสุข แล้วความสุขนั้นมันก็มาเติมพลังให้เราเดินหน้าต่อไป The People : ฤดูไหนที่ทำให้ฉันเหงา สุวีระ : ส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยเหงานะ เพราะว่าเราเวลาดูหนัง เราก็ชอบดูคนเดียว แต่มันก็ต้องมีโมเมนต์ที่รู้สึกแบบอ้างว้าง คิดถึงเพื่อน คิดถึงอยากออกไปซิ่ง อยากออกไปร้องเพลง อยากอะไร เอาเป็นว่ามันเหงาทุกฤดูแหละ มากน้อยมันก็ขึ้นอยู่กับวาระ บางทีฝนมันก็ไม่ได้แรงทั้งวัน บางวันมันอาจจะตกแป๊บเดียว บางวันมันอาจจะตกนาน ตกตลอด 2 วัน น้ำท่วม มันก็เหมือนกับธรรมชาติแหละ เดาอะไรไม่ได้ คิว วงฟลัวร์ กับ ชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ ชายผู้พิสูจน์ว่าปริญญาไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ The People : อะไรคือเป้าหมายต่อไปในชีวิต สุวีระ : ก็อยากร้องเพลง แล้วทำเพลงที่ดี แล้วเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ เป็นรสนิยมที่เราชอบจริง ๆ ที่จะทำ อยากอัดดนตรีสด อยากให้ดนตรีเรามีวงออเคสตร้าบ้าง เครื่องดนตรีสด ๆ ทุกชิ้นมาอัดพร้อมกัน หรืออยากมีโอกาสได้เล่นละครเวทีบ้างอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อฝึกฝน เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราก็ชอบ แต่ว่ามันใหม่มากสำหรับเรา แล้วโอกาสที่จะทำมันน้อย  ถ้าเทียบกับการร้องเพลงชั่วโมงบินแล้วเรา 16-17 ปี ใจก็คือยังอยากร้อง เล่น แสดงภาพ และเป็นครู  อันนี้มาใหม่ตอนแก่ รู้สึกว่าอยากเป็นครู แต่เป็นครูที่เราคงไม่เปิดสถาบันอะไรจริงจังเก็บตังค์ ไม่ใช่สอนแค่เทคนิคทางร้อง แต่อยากจะสอนมุมมองชีวิตเขา อยากส่งต่อประสบการณ์ที่เรามีให้กับเด็ก ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดอยากคิดขึ้นมาทำในวัยนี้ The People : ฝากอะไรถึงเด็กรุ่นต่อไปที่อยากเป็นศิลปิน สุวีระ : ทำต่อไป ถ้าคุณเลือกแล้วแสดงว่าคุณก็ต้องรักมันจริง ๆ รักให้เหมือนกับเวลาที่คุณตกหลุมรักผู้หญิงสักคน ทำทุกอย่างจะเอาให้ได้ ยังไงก็ได้มึงต้องเป็นแฟนกู มึงต้องอะไร นั่นน่ะมันคือความรู้สึกเดียวกันกับที่เราได้อยู่กับสิ่งที่เรารักแล้วมันอยู่ใกล้ๆ เรา เหมือนพร้อมที่จะกอดมันได้ตลอด ฝันก็ฝันถึง ตื่นมาก็นึกถึง อยากทำ อยากเล่น อยากร้อง อยากเขียน  ถ้าคุณเจอตรงนั้น มันไม่ไปไหนจากคุณหรอก แต่ว่า สิ่งที่จะทำให้มันอยู่กับคุณไปแบบมีมลทิน คือเมื่อไรที่คุณคิดถึงเรื่องเกียรติยศ ลาภยศ เงินทองอะไร เป็นสิ่งนำก่อน คุณก็จะไม่มีทางได้เงินเยอะหรอก ในความคิดผมนะ ฉะนั้น ถ้าเรามีความสุขแล้วเราทำมันยังไง เราก็เลิกทำมันไม่ได้  โอเค เงินมันมา มันอาจจะไม่ได้เยอะ แต่มันสะสมให้เราได้ซื้อเครื่องใหม่ ซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ในการที่จะทำ  มันมีแต่โคตรมัน ๆ ก็เรื่อย ๆ แล้วเดี๋ยวเรื่องเงินทองชื่อเสียงมันจะมา โดยที่ก็ไม่รู้ว่าต้องการกันแค่ไหนนะ  แต่กลับมาแค่ว่าจงอย่าลืมว่าเราเป็นนักร้อง เป็นศิลปิน เราคือผู้ให้ รู้จักให้ก่อน ให้ความสุขเขาก่อน แล้วเดี๋ยวมันจะได้กลับมาเอง ไม่ว่ามันจะเป็นเงินหรืออะไร แต่คุณจะได้มากกว่าสิ่งที่เงินซื้อ The People : ชีวิตของคิว วงฟลัวร์ คือชีวิตที่ปล่อยไปตามหัวใจ สุวีระ : ได้ เพราะว่าก็ยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้