สัมภาษณ์ ศาสวัต บุญศรี: ครูพันธุ์เฮี้ยวกับศิษย์เรียนฟิล์ม เรียนหนังไปทำไม?

สัมภาษณ์ ศาสวัต บุญศรี: ครูพันธุ์เฮี้ยวกับศิษย์เรียนฟิล์ม เรียนหนังไปทำไม?
ทำไมเราต้องเรียนฟิล์ม เรียนสายนี้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือไม่? เรียนฟิล์มจบแล้ว ได้ทำงานตรงสายหรือเปล่า? นักศึกษาที่เรียนฟิล์มเป้าหมายที่สุดแล้วคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หรือไม่? วงการหนังสั้นในบ้านเราเป็นอย่างไร? หนังสั้นนักศึกษานำไปสู่ใบเบิกทางสำหรับการทำงานในแวดวงภาพยนตร์ในอนาคตหรือไม่? คำถามเหล่านี้ในบางลักษณะมันซับซ้อนเกินกว่าที่คนที่เลือกทางเดินนี้จะเดินเข้าไปห้องแนะแนว รับคำแนะนำ แล้วเข้าใจชีวิตแบบสำเร็จรูปเลยทันที แต่อาจจะต้องไปคุยกับคนที่ทำงานในวงการนี้ อาจจะเห็นบางส่วนของคำตอบ... ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร คืออาจารย์สอนเรื่องภาพยนตร์ ที่นักศึกษาที่เรียนฟิล์มมักเรียกเขาว่า “อาจารย์ดอง” ตามชื่อเล่นของเขา เขาเป็นอาจารย์แบบไหน? เฮี้ยวๆ แบบโอนิซึกะ ใน GTO, สอนให้เด็กมีความฝันแบบครูคีติ้ง ในภาพยนตร์ Dead Poet Society หรือนิ่ง ๆ ลึก ๆ แบบอาจารย์อันไซ ใน Slam Dunk เราไม่ทราบ ต้องถามเขาดู แต่ในฐานะที่เป็นทั้งอาจารย์ที่อยู่กับนักศึกษาฟิล์ม และเป็น Cinephile ผู้ติดตามวงการภาพยนตร์ ทั้งภาพยนตร์ฉายในโรงทั่วไป ไปจนถึงวงการหนังสั้นนักศึกษา ในมุมหนึ่งจึงเป็นทั้ง “ครู” ของเด็กฟิล์ม(อย่างน้อยก็ที่ศิลปากร) และ “ผู้สังเกตการณ์” ในวงการภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กัน มานั่งคุยกับ “อาจารย์ดอง” กันดีกว่า สัมภาษณ์ ศาสวัต บุญศรี: ครูพันธุ์เฮี้ยวกับศิษย์เรียนฟิล์ม เรียนหนังไปทำไม? The People: “เกลียดใครให้เขาไปทำหนังไทย” ประโยคนี้มีนัยยะสำคัญกับยุคปัจจุบันไหม ศาสวัต: ผมว่าประโยคนี้มันเป็นประโยคเมื่อบริบทในยุคหนึ่ง มันใช่เลยครับ ยุคที่แบบต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาแล้วอาจจะแบบใช้หนี้ไม่ได้ เพราะมันเหมือนกับเกลียดใครต้องไปค้ำประกันอะไรยังงี้ แต่ในยุคนี้มันอาจจะเป็นอีกรูปแบบการทำงานแบบหนึ่ง ซึ่งมันมีบริษัทอะไรต่างๆ มากมาย แน่นอนว่ามันก็มีทั้งคนที่ success และคนที่เจ็บตัวนะครับ แต่ว่าคนที่ทำหนังเนี่ยมันไม่ได้เกลียดกันแล้วก็ชวนมาทำหนังใน sense แบบนั้นอีกแล้ว The People: แล้วคนทำหนังยุคนี้กับยุคก่อนต่างกันอย่างไร หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น คนยุคก่อนไม่ได้จบตรงสาย แต่เดี๋ยวนี้คนทำหนังจบตรงสายมากขึ้น ศาสวัต: คือผมว่ามัน ถ้าเราไล่ประวัติศาสตร์กัน คือในยุคก่อนหน้านี้ ยุคแบบอาเปี๊ยกโปสเตอร์อะไรพวกนี้ มันไม่มีคณะหรือมันไม่มี film school ที่สอนมา เพราะงั้นคนที่ทำงานสายภาพยนตร์ มันก็คือเกิดจากความรู้ที่มาจากประสบการณ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกองถ่าย เพราะงั้น มันก็จะเป็นอีก sense หนึ่งซึ่งมันต่างจากทุกวันนี้ หรือแม้แต่ในยุคประมาณ 20 ปีที่แล้ว เวลาเราพูดถึงคณะที่ทำหนัง คณะที่สอนการทำหนัง มันก็มีอยู่แค่ไม่กี่คณะเอง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รังสิต คลองหก มีอยู่หยิบมือหนึ่ง แล้วก็คนที่ได้ออกไปทำหนัง จริงๆ มันก็จำกัดกลุ่มอยู่แค่ไม่กี่คนนะครับ ซึ่งมันอาจจะมีปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ทุกวันนี้พอมันมี film school เกิดขึ้น มันมีการ train คนให้เข้าไปทำงาน เราก็จะเห็นผู้กำกับที่จบโรงเรียนภาพยนตร์มากขึ้น ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติเพราะว่าบริบทในแต่ละยุคมันต่างไป The People: จากที่สอนเด็กมา เด็กส่วนใหญ่ทำงานตรงกับสายที่เราสอนพวกเขาไหม ศาสวัต: เอ่อ...ต้องตอบเลยว่าไม่ตรง (หัวเราะ) ใช่ๆ ภาพรวมไม่ตรง เพราะว่า คือถ้าเกิดบอกว่าจบภาพยนตร์ไปแล้วทำแต่ภาพยนตร์อ่ะมันมีอยู่น้อยคนมากที่ได้ทำ เพราะว่าเราต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทุกวันนี้มันซบเซาประมาณหนึ่ง คือกองหนังที่มันเปิดมันไม่ได้เยอะใช่ไหมครับ เพราะงั้น คนทำหนัง เราก็จะสอนเด็กอยู่เสมอว่าอย่าไปคิดแต่ว่าจะทำแต่หนัง เพราะว่าการทำหนังเรื่องหนึ่งเนี่ยมันใช้เงินเยอะ แล้วก็คนในอุตสาหกรรมบ้านเราเนี่ยมันเดาทางยังไม่ค่อยได้ว่าการทำหนังแบบไหนที่มันจะได้ return กลับมา เพราะงั้นพื้นที่ในการทำงานของคุณน่ะมันมีอีกมากมาย อย่างแบบ production โฆษณาก็ต้องการคน แล้วบาง agency บาง production house ก็รับคนปีหนึ่งๆ เยอะ ผมว่าหัวใจสำคัญของมันคือการสื่อสารนะครับ เราสื่อสาร เพียงแต่ว่า โอเค การสื่อสารในภาพยนตร์มันก็มีวิธีการแบ่งของมันอย่างหนึ่ง แบบว่าหลักใหญ่ใจความมันก็ไม่ได้ต่างจากการสื่อสารด้วยสื่ออื่น มันก็คือการทำยังไงให้เราสื่อสาร อาจจะทั้งเข้าใจและต้องการให้ได้คนเข้าใจไปถึงกลุ่มเป้าหมายของเรานะครับ The People: กระบวนการทำหนังมันมีตำแหน่งมากมายงาน เช่น ช่างภาพ คนเขียนบท แล้วเด็กเรียนฟิล์มยังสนใจเป็นแต่ผู้กำกับกันอยู่ไหม ศาสวัต: จริงๆ ตัวอาจารย์ผู้สอนน่ะไม่ได้คิดนะครับ แต่ว่าโดยหลักสูตรแบบรวมๆ ใช้คำว่าเกือบทั้งหมดเลยละกัน ของการสอนในประเทศนี้มันยังเป็นลักษณะแบบนั้นอยู่ ก็คือจริงๆ มันไม่ได้สอนให้เป็นผู้กำกับอย่างเดียวนะครับ เอ่อ ผมยกตัวอย่างยังงี้ละกัน ผมเคยไปญี่ปุ่นไป film school แห่งหนึ่ง ไป workshop กับเขามา เนื่องจากว่าเขาจะมีการแบ่ง คือมันเป็น film school เลย เรียนแต่ภาพยนตร์เลยอย่างเดียว เป็นแบบเอกชนเลย แล้วเขาก็มีการแบ่ง major เป็น 5 majors major กำกับ major บันทึกเสียง major เขียนบท major ถ่ายทำ Cinematography แล้วก็อีกอันหนึ่งเป็น Art direction ห้าเอกเท่าที่ผมเห็นตอนนี้ คือมีแค่ม.กรุงเทพ ม.เดียวที่น่าจะพยายามปรับให้มันเป็นรูปแบบนี้ เพราะว่าถ้าเราตัดเรื่องการออกแบบหลักสูตรแบบประกันคุณภาพอะไรทิ้งไปนะ (หัวเราะ) เอาแบบสกอ.จะเข้าใจหรือเปล่าอะไรอย่างงี้ ในทางหนึ่งในการสอนเจาะอะไรอย่างงี้ฮะ คือตลาดอุตสาหกรรมอาจจะไม่ได้ใหญ่พอที่จะให้คนแบบมี skill expert แบบนี้เข้าไปได้เลยนะครับ เพราะงั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นตอนนี้คือการสอนให้ได้ลองทำทุกอย่างมากกว่า มันก็จะมีวิชาอย่างเช่น วิชาแบบกำกับถ่ายทำ มีการจัดแสง Art Direction บันทึกเสียงอะไรยังงี้ คือมันกว้างๆ ให้ได้ลองรู้ว่าใครถนัดอะไรยังไง แต่ว่าโดย final หลายๆ มหาวิทยาลัยก็จะเลือกให้เด็กทำหนัง อย่างคณะผมน่ะก็จะ base on การเป็นคนดูแล project คนละเรื่องนะฮะ ซึ่งแน่นอนมันก็ต้องทำงานตำแหน่งผู้กำกับ แต่ว่าเราอาจจะมีวิธีคิดที่ไม่ได้คิดว่าเขาจะต้องเป็นผู้กำกับ คือเรามีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งที่ต้องการให้เด็กได้เผชิญปัญหา แล้วได้ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองยังงี้ครับ ซึ่งโมเดลนี้เราจะเห็นผ่านการทำหนังธีสิสในช่วงเวลาที่ผ่านมาเนี่ย ทุกมหาวิทยาลัยก็พยายามอย่างจุฬาฯ เนี่ยก็เริ่มแบบมีหนังธีสิสที่ทำรายคนหรือรายคู่ ก็จะเป็นวิธีคิดคล้ายๆ กันยังงี้ครับ สัมภาษณ์ ศาสวัต บุญศรี: ครูพันธุ์เฮี้ยวกับศิษย์เรียนฟิล์ม เรียนหนังไปทำไม? The People: ไม่ค่อยมีเงินแต่อยากทำหนังสั้น ในสมัยนี้ด้วยเทคโนโลยีที่มีมันช่วยอะไรได้เยอะขนาดไหน ศาสวัต: ไม่ยากครับ ถ้าเราพูดกันแบบหยาบๆ แบบไม่คิดถึงพวกค่า software ค่ากล้องอะไรพวกนี้นะ เอ่อ เอาจริงเราลงทุนน้อยมาก ลงทุนน้อยมากในการทำหนังสักเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนยุคหนึ่งที่เราต้องไถฟิล์ม แล้วก็เอาไปทำ telecine เอามาตัดอะไรยังงี้ฮะ มันยุ่งยาก แต่ว่าทุกวันนี้ต้นทุนในการทำ เราได้เห็นว่าเดี๋ยวนี้พวกเด็กโรงเรียนมัธยม เขาสนับสนุน เพราะว่ามันจะมีเวทีที่เรียกว่าเวทีงานประกวดศิลปหัตถกรรม แล้วเป็นเวทีใหญ่มาก เป็นเวทีประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของการแข่งขันระดับมัธยมแล้ว มันก็จะมีเด็กมัธยมเนี่ยส่งหนังพวกนี้ไปประกวดหรือแม้แต่ในเวทีเทศกาลหนังสั้น เราจะเห็นเด็กมัธยมทำหนังหรือแม้แต่คนที่เป็นแบบ amateur มากเลย เป็นแบบมือสมัครเล่นที่ไม่ได้เรียนภาพยนตร์เลยก็ทำหนัง คือมันอาจจะไม่ได้ craft อาจจะดูไม่ค่อย work เท่าไหร่แต่เราก็จะเห็นหนังแบบนี้เยอะ คือคนก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากที่จะทำ เพราะงั้นเรื่องเงินอาจจะมีผลในการทำหนังให้ดี ทำหนังให้ craft มันก็มีคำพูดกันถ้าอยากให้หนังงาน craft เงินแก้ปัญหาได้ แต่ว่าจุดเริ่มต้นถ้าอยากแค่ทำหนัง เงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญนัก มีกล้อง เอาเพื่อนมาเล่น ถ่ายกันโง่ๆ อะไรยังงี้ เอาจริงมันก็ถูก treat ว่าเป็นหนังเรื่องหนึ่งละ มันอาจจะไม่ใช่หนังที่ดี แต่มันเป็นหนังที่คนทำอยากทำ แต่ถ้าเกิดสมมติเป็น scale ใหญ่ขึ้นมา ยัังไงก็ตามเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ดี แต่มันอาจจะไม่ได้ใช้ลงทุนกับเงินมากนักถ้าเทียบกับ scale หนังสั้นเล็กๆ นะครับ ไม่ได้เป็นแบบ scale ที่แบบส่งไปทำ post อะไรที่แบบมันใหญ่โตยังงั้นอ่ะ อันนั้น scale แบบนั้นก็ยังต้องใช้เงินจำนวนประมาณหนึ่งอยู่ครับ The People: ในฐานะเป็นอาจารย์สอนฟิล์มและอยู่แวดวงนี้มานานมองวงการหนังสั้นตอนนี้เคลื่อนไหวเป็นอย่างไร ศาสวัต: จริงๆ วงการหนังสั้นเนี่ยมันเป็นเหมือน...เมื่อก่อนมันเป็นเหมือนลูกเมียน้อยประมาณหนึ่ง คือเป็นแบบคนรู้ว่ามีแต่ไม่เคยดู จริงๆ ทุกวันนี้มันก็ประมาณนั้น คือคนก็รู้ว่ามีแต่ไม่เคยดูเหมือนกัน แต่ว่าเราก็จะเห็นว่าผู้กำกับจำนวนไม่น้อยก็โตขึ้นมาจากการทำหนังสั้นนะครับ อย่างนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อะไรพวกนี้ก็ผ่านมาจากการทดลองทำหนังเอง หรือแม้แต่ผู้กำกับ big name ต่างๆ อย่างแบบเมษ-ธราธร ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ก็คือโตมาจากการทำหนังสั้นแล้วก็ส่งประกวดในเทศกาลหนังสั้น คราวนี้ทุกวันนี้หนังสั้นต้องถือว่าเติบโตขึ้นมาก ส่วนหนึ่งก็คือมันมีคณะที่เกี่ยวกับภาพยนตร์มากขึ้น อย่างเมื่อก่อนเวลาเรานับคณะภาพยนตร์มีใครสอนอยู่บ้าง ตั้งแต่มีแบบจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ กรุงเทพ ม.รังสิต ราชมงคลกรุงเทพ คลองหก คือมันมีอยู่แค่นี้ แล้วก็ตัวงานมันไม่ถูกเผยแพร่นัก เดี๋ยวนี้มันมีแบบอย่างศิลปากรเกิดขึ้น มันมี มศว เกิดขึ้น มันมีมหาวิทยาลัยราชภัฎต่างๆ ที่มีหลักสูตรภาพยนตร์ เด็กก็ส่งหนังเข้าไป คราวนี้สิ่งหนึ่งที่มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่การรับรู้ของคนก็คือช่วงประมาณ 3-4 ปีนี้มันจะมีการฉายงานที่เป็นงานธีสิสของเด็กนะครับ แล้วก็คนดูเยอะ เมื่อก่อนมีงานฉายก็จะมีแบบคนในคณะดู งานเล็กๆ เงียบๆ ง่อยๆ เดี๋ยวนี้คืองานฉายหนังสั้นกางจอเนี่ยคนทะลักเลย ไม่มีที่นั่ง ม.กรุงเทพจัดทีนี่คนทะลักเลย มันเห็น style บางอย่างซึ่งมันทำให้เห็นว่า เด็กไทยก็มีวิธีคิด ศักยภาพบางอย่างที่ไม่ได้กระจอกเลย เราจะเห็นหลายๆ อย่างที่แบบหนังในโรงอ่ะ...เล่าไม่ได้หรือไม่กล้าที่จะเล่า คำว่าไม่กล้าที่จะเล่ามันจะมีปัจจัยหลายแบบนะครับ อาจจะแบบทำหนังแบบนี้คนไม่ดูหรอก ทำหนังแบบนี้มันเสี่ยงเกินไป แต่เราจะเห็นในพรมแดนหนังสั้นที่มันมีความเป็นอิสระและไม่ถูกจับตามองอยู่ คือในแง่หนึ่งเราก็มองว่าภาพยนตร์มันก็คือกระบอกเสียงเหมือนสื่ออื่นๆ แล้วก็กระบอกเสียงนี้มันก็ช่วยทำให้เด็กมันก็มีความอึดอัด อัดอั้นตันใจบางอย่างอยู่ แล้วในแง่หนึ่งมันก็เป็นการ...แบบพวกนี้หลายๆ คนก็เลือกที่จะส่งไปต่างประเทศ มันก็จะเป็นตัวเผยแพร่ความคิดอะไรบางอย่างได้ The People: กำลังจะบอกว่าสภาพสังคมไทยตอนนี้เอื้อที่จะให้ทำหนังสั้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่างใช่ไหม ศาสวัต: ใช่ๆ คือผมว่าถ้าเราลอง review นะครับ ในยุคหนึ่งเนี่ย สมมติไปดูหนังสั้นประมาณอย่างยุคพวกเราเรียนมหาวิทยาลัยหรือแบบยุคเราเรียนมหาวิทยาลัยจบกันมา 10 ปีที่ผ่านมาเนี่ย มันก็จะมีหนังสั้นแบบวิพากษ์ทุนนิยม นอกจากเป็นหนังสั้นแบบหว่องการ์ไว ความรักอะไรแบบนั้นนะฮะ คือมันก็เป็นหนังสั้นที่วิพากษ์ทุนนิยม เช่นแบบ...นายทุนยังงั้นอะไรยังงี้ อะไรทำนองนั้น คือเราก็จะมีวิพากษ์ทุนนิยมเพราะว่าการเมืองมันเสถียรไงฮะ การเมืองมันไม่มีอะไรน่าพูด และคนก็อาจจะไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก ก็เป็นหนังแบบนั้นไป ซึ่งทุกวันนี้เราจะไม่เจอหนังวิพากษ์ทุนนิยมอีกแล้ว (หัวเราะ) คือเวลาเจอหนังวิพากษ์ทุนนิยมมันจะดูตลกๆ อ่ะ มันจะแบบโอ้โห โลก...นี่มันไม่ใช่ current affair ของประเทศไทยนะเว้ย ซึ่งเอาพูดจริงๆ เราก็ไม่ค่อยเห็นหนังที่มันวิพากษ์ทุนนิยม ประเภทที่แบบเด็กรวยเด็กจนอะไรงี้มาใช้ชีวิตด้วยกัน เราก็จะไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนั้นแล้ว แต่ว่าเราก็จะเห็นเด็กทำหนังเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับสภาพสังคมที่แสดงให้เห็นถึงความอัดอั้นในใจของเขาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน สัมภาษณ์ ศาสวัต บุญศรี: ครูพันธุ์เฮี้ยวกับศิษย์เรียนฟิล์ม เรียนหนังไปทำไม? The People: คิดว่าเราเป็นอาจารย์แบบไหน ศาสวัต: ผมเป็นอาจารย์ที่...เมื่อก่อนผมเป็นอาจารย์ที่กวนตีนนะ (หัวเราะ) ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคิดว่าผมเป็นอาจารย์แบบโอนิซึกะ เอ่อ GTO จับเด็กทำซูเพล็กซ์อะไรยังเงี้ย แต่หลังๆ ผม...อาจจะจริงจังขึ้นมั้งครับ อาจจะแบบอายุอานามมากขึ้นอะไรยังเงี้ย ตอบยากเหมือนกันว่าเป็นครูแบบไหน ไม่ใช่แบบครู Keating แบบในหนัง Dead Poets Society ที่แบบชวนเด็กมีความฝัน คือเคยพยายามนะ แต่ว่าครู Keating โชคดีที่มีเด็ก มีทรัพยากรดี (หัวเราะ) คือไม่ใช่อย่างโค้ชอันไซนะ (จากเรื่อง Slam Dunk) เพราะโค้ชอันไซมันใช้การไม่พูดกดดัน อาจจะแบบถ้าวันโกรธมาก็ระเบิดตู้ม ซึ่งผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมเป็นคนแบบพูดจามึงมาพาโวยตลอด ก็เลยนึกไม่ออกเหมือนกันว่าสมมติเราเป็นใครที่แบบ...นึกไม่ออกเหมือนกันฮะ The People: สื่อโซเชียลมีเดียตอนนี้ช่วยเด็กหรือคนที่อยู่ในวงการนี้ในการขายงานอย่างไร ศาสวัต: อย่างแรกคือผมว่า เราเห็นงานมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องจริงเลยคือมันอยู่ที่แบบ...สมมติคุณแบบคุณมีวินัยในการเปิดงานดูหรือคุณลงทุนในการซื้อ Mubi Netflix หรือ Vimeo plus อะไรพวกนี้ ผมว่ามันเห็นวิธีการทั้งตัวงานและก็วิธีการขาย เอาอย่างสมมติว่าวิดีโอ Apple ออกมาทุกปีเราจะรู้สึกแบบ...คือจริงๆ บางทีเราก็รู้สึกว่ามันไม่เห็นมีอะไรใหม่เลยวะ ฟังก์ชั่นเนี่ย iPhone XS คือ so what อ่ะ แพงด้วย แต่พอดูโฆษณามันแล้วแบบเออว่ะวิธีการคิดหนึ่งนาทีของเขาเนี่ยมันถูกคิดมาแบบมันคิดดี ซึ่งผมว่ามันเปิดจากเดิมยุคหนึ่งคนทำโฆษณาต้องไปซื้อ VDO มาดูใช่ไหมฮะ รวมโฆษณาต่างๆ มันเข้าถึงยากไง แต่ยุคนี้มันเข้าถึงง่ายแล้วผมว่าวิธีการ จริตจะก้านอะไรยังงี้มันก็เพิ่มให้กับคนทำได้ด้วย หรือแม้แต่อย่างเด็กเองเวลาทำอะไรต่างๆ คือคนมันรู้มากขึ้นอ่ะครับ มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ว่าทำงานเพื่อส่งอาจารย์แล้วมันจะพออีกต่อไปแล้ว คืออาจารย์ก็เหมือนแบบว่าเหมือนยกระดับงานขึ้นไปเทียบกับสิ่งที่คนบนโลกตอนนี้ทำอยู่ เพราะงั้นสมมติทำงานของคุณเสร็จไปชิ้นหนึ่งเนี่ย คือในยุคผม เราส่งงานอาจารย์มันอาจจะเก็บในรูปแบบของ data แล้วก็ถูกลืมไปไม่มีใครคิดถึงอีกแล้ว แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ เด็กมันสามารถทำให้เห็นเก็บไว้บนออนไลน์ได้ แต่ว่าในทางหนึ่งผมว่ามันมีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมานะ คืออันนี้เป็นทฤษฎีของผมเองว่ามันทำให้เกิดภาวะโรคซึมเศร้า คือทุกวันนี้ผมเผชิญกับโรคซึมเศร้าของนักศึกษามากขึ้น คือเหมือนอย่างยุคเรา ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่เร็วเนี่ย คือเราอาจจะรู้ว่าเพื่อนคนหนึ่งเก่งผ่านผลสอบ หรือมันมา present งานให้เห็นแล้วมันเออ...ว้าว แต่เราจะไม่เกิดการเปรียบเทียบมากมายขนาดนั้นว่าเออ ทำไมเรา present ไม่ได้อย่างนั้น บางทีเรากลับไป revive ดูไม่ได้อ่ะว่าเพื่อนเรา present ยังไง ทุกวันนี้มันเหมือนแบบพอเราเห็นงานของคนอื่นมากๆ มันจะมีความรู้สึกแบบเออแล้วกูคืออยู่ตรงไหน ทำไมกูกระจอกยังงี้ เปรียบเทียบกับอะไรยังงี้ แล้วมันเกิดขึ้นจริงๆ นะฮะ อย่าง advisee ผมหลายๆ คนก็แบบดูเพื่อนแต่ละคนเขามีงานนู่นมีงานนี่ ซึ่งแน่นอนมันก็ดีแหละ มันก็เห็นมีงงมีงานมีความสามารถ เอาความสามารถมาประชันกัน แต่กลายเป็นว่ามันก็เกิดการเปรียบเทียบกันว่า เราแม่งกระจอก เรานั่นนี่แล้วมันก็เกิดภาวะความเครียด ความกดดัน ความเครียดขึ้น มันไม่มีความสุขเกิดขึ้นอะไรงี้ แล้วก็เหมือนเริ่มหาความหมายในชีวิตไม่ค่อยได้อ่ะครับ มันก็เลยนำมาสู่ภาวะความตึงเครียดในชีวิตหลายๆ อย่าง คือมันเหมือนเราพยายามเป็น someone พอเราเผยแพร่ผลงานของเราไปในโซเชียลมีเดีย ทำไมเราทุกคนอยากได้คำชมว่าโห...มึงทำเจ๋งว่ะ แต่มันเอาคนที่เจ๋งจริงๆ มันก็โอเคอ่ะ แต่พอสมมติเราเผยแพร่งานเราไปแล้วเราไม่เจ๋งจริง คือคนในสังคมไทยเราไม่ถูกเทรนมาเพื่อแบบให้คนมา comment เพื่อแบบเห้ย...จุดอ่อนน้องตรงนี้นะ เราจะถูกแบบถูกสอนให้ cheer up ถูกสอนให้แบบว่าไปดูงานของเขาแล้วแบบเราต้อง เจ๋งว่ะ ดีว่ะ อันนี้ผมว่ามันเป็นการทำร้ายกัน คราวนี้คนจำนวนมากที่แบบอาจจะไม่มีงานอ่ะหรืองานอาจจะไม่ได้ดีมาก หรืองานแบบ...บางทีเขาไม่ได้สนใจทางนี้ด้วยซ้ำ แต่พอเขาดูงานแล้วเขาก็เกิดการเปรียบเทียบเกิดขึ้น คือมันมีเหตุปัจจัยต่างๆ ให้เปรียบเทียบเกิดขึ้นมากนะครับ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันก็เป็นดาบสองคมบางอย่างที่ที่ในยุคๆ หนึ่งเราอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นด้วยว่ามันจะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น The People: มองว่าพวกเทคโนโลยี Streaming หรือ AI จะ disrupt อาชีพของคนทำหนังในอนาคตอย่างไร แล้วนักศึกษาต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ศาสวัต: ผมไม่แน่ใจ คือ AI ก็เล่นโกะชนะมาแล้วเนอะ วันหนึ่ง AI อาจจะ create ภาพอะไรยังงี้ได้ แต่ผมว่าสิ่งสำคัญที่แบบความ creativity มันเป็นกำแพงหนึ่งที่มนุษย์อ่ะ...ผมว่ามัน beyond ไปเรื่อยๆ อ่ะ คือทุกครั้งที่ดูหนังใน Mubi ไม่ว่าจะยุคไหนยังไงก็ตามรู้สึกแบบโอ้ แบบว่าบางทีหนังเก่า สมมติดูหนัง Orson Welles อะไรยังงี้เรายังแบบ...เออเจ๋งว่ะ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า AI จะสามารถพัฒนาศักยภาพ ความ creativity ได้ไหม ถ้าเกิดเราพูดถึงในแง่ของการเรียนนะครับ ก็ต้องยอมรับว่า อย่างทุกวันนี้ เราสามารถเรียนในเชิง film study และก็ film technique อะไรพวกนี้ได้ผ่าน Youtube อย่างการตัดต่อสามารถดู tutorial ใน Youtube ได้เลย สอนวิธีการตัดต่อ วิธีการทำ AI อะไรต่างๆ เนี่ย ทำ AE อะไรพวกนี้ แต่ว่าในแง่ของภาพยนตร์นะครับ มันมีความเป็นศิลป์และศาสตร์อยู่ มันเหมือนมันเป็นงานช่างประมาณหนึ่งที่ต้องฝึกนะฮะ เหมือนเราต่อยมวย เล่นบาส เล่นกีฬา เราไม่ซ้อมอ่ะเราก็ไม่เก่ง เหมือนคนวาดรูป ไม่ฝึก drawing อ่ะ มันก็จะวาดไม่ดีขึ้นสักที ภาพยนตร์ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างเช่น เราจะวัดจัดสงจัดแสง เรารู้ว่าแสงต้องตั้งอย่างงี้ มันเป็นเรื่องของความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ และมันเกิดจากการฝึก สัมภาษณ์ ศาสวัต บุญศรี: ครูพันธุ์เฮี้ยวกับศิษย์เรียนฟิล์ม เรียนหนังไปทำไม? The People: เด็กฟิล์มควรได้รับอะไรหลังเรียนจบคณะนี้แล้ว ศาสวัต: เขาต้องได้ทักษะบางอย่างที่ไปประกอบอาชีพด้านนี้ได้ฮะ คือถ้าคิดแบบตรงๆ เลยนะฮะ ก็ต้องได้ทักษะ ส่วนเรื่องกรอบคิด มันแล้วแต่ว่าคุณเจอกับใครมากกว่า คือผมคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านภาพยนตร์สอนวิธีคิดบางอย่างไม่ต่างกันหรอก เช่นแบบว่า การเข้าไปทำงานกับคนกลุ่มมาก การปรับตัวเข้าสู่วิธีการทำงาน production ซึ่งเราพบว่าเด็กไม่น้อยก็มีประสบการณ์ในการทำงานจริงผ่านการฝึกงาน เพราะทุกวันนี้มันไปฝึกงานกันง่าย ไม่เหมือนยุคหนึ่งที่โอ้โห...ฝึกงานกันทีนี่เป็นเรื่องแบบ...ลุ้นระทึก ทุกวันนี้หลายๆ บริษัทก็เปิดรับเด็กฝึกงานทุกปิดเทอม ทุก summer แต่ผมว่าสิ่งหนึ่ง อันนี้ผมขอพูดตอบในมุมมองของผมคนเดียวแล้วกัน คือในฐานะที่ผมเป็น Cinephile ด้วยแล้วกันคือ ในบทบาทหนึ่งผมก็เป็นคนชอบดูหนังมากคนหนึ่ง แล้วก็ทำเรื่องเกี่ยวกับหนังสั้นไทย ผมรู้สึกว่าสำหรับเด็กที่ผมสอนไป สิ่งหนึ่งที่เขาจะได้รับไปคือเขายอมรับในความหลากหลาย คือหนังบนโลกนี้มันมี ความหลากหลายมากเลยมันไม่ได้มีแต่หนัง Hollywood แล้วก็ไม่จำเป็นด้วยว่าหนังอาร์ตจะต้องดี การที่เรายอมรับในความหลากหลายของภาพยนตร์ การที่เราเห็นในความงดงามของมัน หนังเด็กมัธยมทำง่อยๆ เรื่องหนึ่งแต่มันสนุกมากเลย มันก็มีคุณค่าทางศิลปะที่เราชื่นชอบได้โดยที่เราไม่ต้องไปเขินอายกับมัน แล้วก็สำหรับผม ผมคิดว่าการที่เด็กชอบ การที่เด็กกล้าที่จะเปิดใจยอมรับหนังใหม่ๆ มันเป็นความสำเร็จของผมแล้วล่ะ ส่วนเขาจะชอบหรือไม่ชอบมันก็อีกเรื่องหนึ่ง การที่เด็กเดินไปดูหนังบุญส่ง นาคภู่มาแล้วแบบโอ้...สะเทือนใจจัง สำหรับผมมันก็ success แล้ว