สัมภาษณ์ สตีฟ แกดด์ มือกลองระดับตำนาน กับชีวิตในฐานะกระดูกสันหลังวง ชายที่เอริค แคลปตัน เลือกให้เป็นมือกลองตลอด 30 ปี

สัมภาษณ์ สตีฟ แกดด์ มือกลองระดับตำนาน กับชีวิตในฐานะกระดูกสันหลังวง ชายที่เอริค แคลปตัน เลือกให้เป็นมือกลองตลอด 30 ปี
       สตีฟ แกดด์ (Steve Gadd) มือกลองระดับตำนานของโลก ผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินดัง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอริค แคลปตัน (Eric Clapton), เจมส์ เทย์เลอร์ (James Taylor) หรือ ชิค คอเรีย (Chick Corea) แกดด์ถือเป็นมือกลองต้นแบบของนักดนตรีรุ่นใหม่ทั่วโลก และหากจะเรียกเขาว่าเป็นมือกลอง 1 ใน 5 ของโลก ก็คงไม่เป็นเรื่องเกินจริงแต่อย่างใด มือกลองวัย 75 ปีผู้นี้เคยมาเยือนประเทศไทยหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้ฝากความประทับใจไว้มากมาย ทั้งฝีมือการเล่นที่หาตัวจับยาก รวมไปถึงตัวตนที่เขาแสดงออกในฐานะศิลปินคนหนึ่ง The People เคยสนทนากับเขาเกี่ยวกับเรื่องราวบนเส้นทางสายดนตรีตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นแกดด์มาพร้อมเสื้อผ้าหน้าผมที่ทำให้ผมอึ้งสตันท์ไปสิบวิ ในวันนั้นมือกลองระดับตำนานผู้นี้มาพร้อมชุดสุดแสนธรรมดา เสื้อยืดกางเกงห้าส่วน รองเท้าแตะ และมาพร้อมรอยยิ้ม ซึ่งผมก็อดไม่ได้ที่จะแซวเขาเล็กน้อยว่า “ปกตินี่คือชุดอยู่บ้านของคุณหรือเปล่า” ซึ่งแกดด์ก็ตอบกลับมาพร้อมกับแง่คิดว่า ภาพลักษณ์ของนักดนตรีสมัยนี้เป็นการปรุงแต่งให้ดูดีเข้ากับสังคม คุณเป็นนักดนตรี คุณไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์อะไรขนาดนั้น คุณมีหน้าที่แค่สร้างดนตรีที่ดีก็พอ ตลอดการสัมภาษณ์วันนั้น ผมสัมผัสได้ถึง “ความเป็นนักดนตรีตัวจริง” ของเขา และความใจกว้างของเขาเช่นกัน The People: คุณเริ่มหลงรักการตีกลองตั้งแต่เมื่อไหร่ แกดด์: ผมจำไม่ได้จริง ๆ ว่าไปหลงรักมันได้อย่างไร รู้อีกทีก็ชอบมันซะแล้ว ตอนผมอายุได้ 3 ขวบ ผมอยู่กับแม่ พ่อ และคุณลุง จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากตอนนั้น ลุงของผมตีกลองอยู่ในวงของกองทัพ เขามีกลองชุดสีแดง แค่ครั้งแรกที่ผมได้เห็นมัน ภาพนั้นก็กลายเป็นภาพติดตาผมจนถึงทุกวันนี้ ผมอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงหลงรักมัน แต่ที่รู้คือผมรักมัน The People: ครอบครัวของคุณสนับสนุนคุณเรื่องการเล่นดนตรีอย่างมาก ซึ่งต่างจากผู้ปกครองหลายคนที่มองว่าอาชีพนักดนตรีดูไม่มั่นคงและไม่มีอนาคต คุณมองเรื่องนี้อย่างไร แกดด์: ผมคิดว่าครอบครัวสำคัญมาก การสนับสนุนจากครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับผม ผมโตขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ นั่นคือส่วนสำคัญของชีวิตผม ครอบครัวของผมส่งเสริมผมอย่างมาก คุณย่าผมจับผมไปเรียนกลองด้วยตัวท่านเอง แล้วท่านก็จับผมกับน้องชายไปเรียนเต้นแท็ปแดนซ์ด้วย เมื่อน้องผมอยากเรียนทรัมเป็ต ท่านก็พาน้องผมไปเรียน อีกทั้งตอนที่พ่อแม่ผมต้องทำงานท่านก็เป็นคนพาผมไปเรียนคอร์สเหล่านั้นเอง นอกจากนี้ที่บ้านผมก็ชอบพาผมไปนั่งฟังเพลง ไปคอนเสิร์ต สิ่งเหล่านี้เป็นการปลูกฝังและส่งเสริมคุณโดยตรง และมันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมมีวันนี้เลย ผมคิดว่าพวกท่านไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ดูไม่มีอนาคตหรอก การได้ทำสิ่งที่เราชอบ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด สัมภาษณ์ สตีฟ แกดด์ มือกลองระดับตำนาน กับชีวิตในฐานะกระดูกสันหลังวง ชายที่เอริค แคลปตัน เลือกให้เป็นมือกลองตลอด 30 ปี The People: “แจ๊ส” คือวิชาที่ต้องผ่านการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัย นักดนตรีรุ่นใหม่ที่จบมามักจะมีรูปแบบการเล่นคล้ายกัน เหมือนจบมาพร้อมกับหลักความคิดตามหนังสือเรียน เมื่อถูกนำไปเทียบกับศิลปินในตำนานที่ไม่ได้ศึกษาในระบบอย่าง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ หรือ ไมลส์ เดวิส จะเห็นว่าต่างกันอย่างมาก คุณมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร แกดด์: ทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ มันไม่มีสิ่งใดที่ดีไปกว่ากัน คนที่เรียนจากแพสชันของตัวเอง หรือเรียนอย่างมีรูปแบบ สำหรับคนที่เรียนในระบบการศึกษาคุณเองก็ย่อมเรียนรู้ที่จะหาโครงสร้างอื่น ๆ รูปแบบอื่น ๆ ที่ต่างจากเดิมในการเรียนรู้เพิ่มเติม ดูวิดีโอ ไปดูคอนเสิร์ต หาแรงบันดาลใจ ผมเองไม่ชอบบอกให้ใครมาทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ หรือไปสอนอะไรเขามากมาย ผมมักจะให้แรงบันดาลใจแก่เขามากกว่า The People: คุณเป็นนักดนตรีที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมาหลายทศวรรษ เรียกได้ว่าคุณอยู่ในทุกยุคสมัยของวงการเพลง 50 ปีหลัง การที่สตรีมมิงเข้ามา disrupt วงการเพลง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร แกดด์: ผมมองว่าธุรกิจวงการนี้มันเปลี่ยนไป ผมคิดว่าสตรีมมิงสร้างผลกระทบกับทุกคนในวงการ ตัวนักดนตรี แฟนเพลง คนซื้อแผ่น คนขายแผ่น ตัวผมเองยังอยู่ได้ในวงการนี้ เพราะผมมีคอนเสิร์ตให้เล่น ผมเป็นคนที่ไม่ต้องไปยุ่งกับด้านมิวสิกคอมพิวเตอร์เลย ผมไม่ต้องทำมันด้วยตัวของตัวเอง การที่สตรีมมิงเข้ามามีบทบาทในวงการ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคนฟังนะ แต่ในมุมของนักดนตรีอย่างผม มันกลายเป็นคำถามตัวโต ๆ ที่ว่าเราจะทำเงินด้วยสิ่งนี้ได้จริง ๆ ไหม ที่สุดพวกผมก็ต้องหาวิธีสู้กับมันด้วยวิธีอื่นนั่นแหละ The People: แล้วคุณมองอนาคตในวงการเพลงนี้อย่างไร แกดด์: ตอบยาก ผมจินตนาการไม่ออกจริง ๆ ไม่รู้จริง ๆ แต่สุดท้ายมันก็ยังต้องเป็นดนตรีเหมือนเดิม แต่ตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์ สมัยนี้คนเราแค่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถทำเพลงได้แล้ว ตอนนี้ใคร ๆ ก็เป็นนักดนตรีได้แล้ว นั่นเป็นเรื่องดีเลยนะ และเป็นเรื่องใหญ่ด้วย เพราะเราจะมีนักดนตรีรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณไม่จำเป็นต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัย พวกเขาสามารถสร้างสรรค์มันได้ด้วยหนทางอีกแบบหนึ่งเลย สมมติคนรุ่นผมได้เข้าใกล้พวกเขา มันก็เกิดการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ในทันที ผมเรียนรู้ พวกเขาเรียนรู้ ถ้าคุณอยากเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี คุณต้องเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ สัมภาษณ์ สตีฟ แกดด์ มือกลองระดับตำนาน กับชีวิตในฐานะกระดูกสันหลังวง ชายที่เอริค แคลปตัน เลือกให้เป็นมือกลองตลอด 30 ปี The People: สิ่งสำคัญที่สุดที่มือกลองทุกคนต้องทำ? แกดด์: คุณต้องรักษาจังหวะ รักษาเวลา สนับสนุนคนที่คุณเล่นด้วย คนที่คุณกำลังร่วมงานอยู่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ สนับสนุนเขา The People: ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ที่คุณพูดถึงประสบการณ์ที่เคยบันทึกเสียงให้ Return to Forever ของ ชิค คอเรีย เมื่อปี 1976 ในอัลบั้ม The Leprechaun ผลงานชุดนี้ได้แกรมมี อวอร์ดส ด้วย แต่คุณบอกในบทสัมภาษณ์ว่าคุณไม่เคยซ้อมกันมาก่อนเลยสักครั้งเดียว”? แกดด์: ตอนนั้นผมใช้ทุกอย่างที่เรียนมา ใช้ทุกอย่างที่รู้กับผลงานชิ้นนี้ มันเป็นเรื่องท้าทายมาก ๆ เลยนะ เพราะเพลงของชิคมีความซับซ้อนมาก มีหลายส่วนและหลายรูปแบบที่กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ๆ ซึ่งผมรู้สึกคุ้มค่าอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมกับมัน คำว่าท้าทายอย่างที่ผมบอกก็สามารถตีออกมาได้หลายความหมาย ความท้าทายในตอนนั้นไม่ใช่การที่คุณต้องตีความเพลงเดี๋ยวนั้น แต่มันคือเรื่องของความสดใหม่ การที่ผมได้เรียนออร์เคสตราในรั้วมหาวิทยาลัย มันทำให้ผมรู้จักการเล่นกับเครื่องเป่า เครื่องสาย มันกลายเป็นสิ่งที่ดีมากที่ผมได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นั้น The People: คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ อะไรคือเหตุผลที่ ชิค คอเรีย หรือ เอริค แคลปตัน เลือกคุณไปร่วมงานตลอดหลายปีมานี้ แกดด์: คุณรู้อะไรไหม ผมไม่เคยคิด ไม่เคยตั้งใจไว้ว่าจะให้ตัวเองมีชื่อเสียงหรือโด่งดัง นั่นไม่ใช่เป้าหมายของผมเลย ผมแค่อยากทำและอยู่กับสิ่งที่ผมรัก เป้าหมายของผมคือแค่เลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยดนตรี ด้วยสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดีหรือรักมัน ตอนผมเด็ก ๆ ผมคิดแค่ว่าการได้อยู่กับสิ่งนี้มันก็ดีแล้ว และเมื่ออุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนไป การที่ได้เข้ามาอยู่ในวงการนี้มันทำเงินได้มาก มาก ๆ เลยทีเดียว แม้กระทั่งการเป็นนักดนตรีไซด์แมนกับหลาย ๆ วงเพื่อทัวร์ หรือเพื่อบันทึกเสียงอัลบั้ม ทั้งหมดนี้ทำให้ความเป็นอยู่ของคุณดีได้ มันเลี้ยงคุณได้ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่นอกเหนือสิ่งที่ผมจินตนาการเอาไว้ ตอนแรกผมแค่อยากเลี้ยงตัวเองได้ด้วยมันเท่านั้นเอง  สัมภาษณ์ สตีฟ แกดด์ มือกลองระดับตำนาน กับชีวิตในฐานะกระดูกสันหลังวง ชายที่เอริค แคลปตัน เลือกให้เป็นมือกลองตลอด 30 ปี The People: ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณตลอดอาชีพนักดนตรี? แกดด์: ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีอย่างมากที่ได้ทัวร์กับ ชิค คอเรีย และทุกครั้งที่ผมได้เล่นดนตรีกับเขา มันกลายเป็นประสบการณ์ชั้นเยี่ยมของผม นอกจากนี้การได้เล่นกับ คาลิโต เดล เปอร์โต (Carlitos Del Puerto) ในตำแหน่งเบส, สตีฟ วิลสัน (Steve Wilson) แซกโซโฟน, ไลโอเนล ลูย์เอกี (Lionel Loueke) กีตาร์ และ ลุยซิโต ควินเตโร (Luisito Quintero) เพอร์คัสชั่น นี่คือวงที่ยอดเยี่ยม เหมือนกับวงที่ผมเคยเล่นด้วย ณ ปัจจุบัน ผมรู้สึกเยี่ยมมาก ๆ ที่ผมได้เล่นกับนักดนตรีเหล่านี้ พวกเขาทั้งเป็นคนดี และเป็นนักดนตรีที่ดี สร้างสรรค์งานที่ดี การที่คุณได้เล่นดนตรีร่วมกับคนที่ฟังคุณ มันคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่เกิดขึ้น   สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ Cadenza สำหรับการดูแลความสะดวกในการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ