ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว?

ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว?

'25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว?

‘ผมได้ทำในสิ่งที่ผมฝันแล้ว ถึงตอนนี้ผมสามารถพอได้แล้ว’ โรงหนังวิสต้ากาดสวนแก้ว (ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้วชั้น 4) เพิ่งครบรอบ 25 ปีไปเมื่อไม่นาน ทำให้มันเป็นโรงหนังที่เก่าแก่ที่สุดของเชียงใหม่ที่ยังเปิดทำการอยู่ (และเป็นโรงหนังไม่กี่แห่งของไทยในปัจจุบันที่อยู่นอกเหนือเครือใหญ่อย่าง Major กับ SF) ถึงแม้ปัจจุบันโรงหนังแห่งนี้จะถูกลืมเลือนและได้รับการพูดถึงน้อยลง เนื่องจากในเชียงใหม่มีโรงหนังหลายแห่งเปิดขึ้นใหม่ แต่วิสต้าก็ยังมีกลุ่มลูกค้าประจำและยังคงเป็นโรงหนังในความทรงจำใครหลายคนอยู่ ผู้อยู่เบื้องหลังโรงหนังแห่งนี้คือ ธวัทชัย โรจนะโชติกุล หรือ 'เสี่ยทอมมี่' ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์แล้ว เขายังเป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง เช่น ราชาชูรส, โรงงานเซรามิค, โรงแรมวิสต้า, คุ้มแก้วขันโตก ฯลฯ และเคยเป็นผู้สร้างหนังไทยหลายเรื่อง ด้วยความรักหนังของเขานี่เองที่ผลักดันให้วิสต้าเดินทางมาได้ไกลถึงขนาดนี้ บ่ายวันหนึ่ง เสี่ยทอมมี่ได้แบ่งเวลาจากงานที่รัดตัวมาพูดคุยกับ The People (โดยมีอาจารย์แบงค์ - ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ แฟนพันธุ์แท้โรงหนังวิสต้าอีกคนหนึ่งร่วมพูดคุยด้วย) โดยหัวข้อสนทนาเกี่ยวข้องกับความทรงจำตลอด 25 ปีที่ผ่านมาในการทำโรงหนังวิสต้า รวมถึงอนาคตของโรงหนังแห่งนี้ที่หลายคนสงสัย ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? 1.จุดเริ่มต้นจากการเป็นคนทำหนัง ก่อนหน้าที่จะมาทำโรงหนัง เสี่ยทอมมี่เคยมีบทบาทเป็นผู้สร้างหนังมาก่อนในนาม บริษัท ที เค อาร์ กรุ๊ป จำกัด ดำเนินงานในปี 1988 – 1992 มีผลงานหนังทั้งหมด 7 เรื่อง ได้แก่ เราสอง (1988), ผลุบโผล่ (1989), 3 กบาล (1990), ก้อนหินในดินทราย (1990), เดี๋ยวเล็ก เดี๋ยวใหญ่ (1991), กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (1991), ตามล่า แต่หาไม่เจอ (1992) โดยหนังที่สร้างชื่อให้อย่างมากได้แก่ กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน ซึ่งเป็นหนังฟิล์มนัวร์ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการหนังไทยตอนนั้น เสี่ยทอมมี่ยังมีเครดิตเป็นผู้เขียนเค้าโครงเรื่องในนามปากกาว่า ‘กรธวัช’ ในหนังอย่าง ก้อนหินในดินทราย, ตามล่า แต่หาไม่เจอ นอกนั้นเขายังเคยดำรงนายกสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยมาแล้ว 2 สมัย The People: จากคนในครอบครัวนักธุรกิจ คุณเข้าสู่บทบาทโปรดิวเซอร์หนังได้อย่างไร ธวัทชัย: สมัยก่อนนั้นผมเป็นคนบ้ารถ ตอนหนุ่ม ๆ ซื้อรถเยอะก็เลยซื้อที่ดินแถวศรีนครินทร์เพื่อทำโรงจอดรถ เลยได้รู้จักกับคุณหนู - สรวงสุดา ชลลัมพี (ผู้จัดละครช่องสาม) ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นผู้กำกับหนัง เขามาขอถ่ายหนังที่โรงรถเราก็เลยได้คุยกันว่าผมฝันอยากทำโรงหนังและสนใจเรื่องการทำหนัง คุณหนูก็เลยชักชวนให้มาทำด้วยกัน คุณหนูเขาเป็นหลานของคุณฉลอง ภักดีวิจิตร และทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัยมาแล้วหลายเรื่อง เขาเลยสนิทกับโรงหนังเครือ Apex หนังของเขาทุกเรื่องก็จะได้ฉายในเครือนั้น ซึ่งสมัยนั้นหนังไทยเรื่องไหนได้ฉายในเครือ Apex อย่างเช่นสยามจะถือว่าสุดยอดมาก เวลาขายสายหนังใคร ๆ ก็ซื้อหมด ซึ่งสมัยนั้นการทำหนังขึ้นกับสายหนังเป็นหลัก ถ้าสายหนังสนใจซื้อก็ได้เงินเพื่อมาทำหนัง หนังเรื่องแรกที่ผมทำก็คือ ‘เราสอง’ คุณหนูเป็นผู้กำกับ เราไปถ่ายถึงอังกฤษก็ไปใช้ชีวิตที่นั่นเลย ผมที่เมื่อก่อนงานการยังไม่เยอะก็ตามเขาไปดูว่าทำงานกันอย่างไร ทำให้ได้เรียนรู้ถึงการถ่ายทำและหลาย ๆ อย่าง ก็เลยซึมซับอันนี้มา หนังเรื่องต่อมาที่เราทำก็คือ ผลุบโผล่ ของนิรันดร์ ธรรมปรีชา ซึ่งเป็นผู้กำกับที่ช่วยผมมาตลอด มีซูโม่กิ๊ก กับชุดาภา จันทเขตต์ แสดงนำ คอนเซปต์ของหนังก็เหมือนกับทวิภพ นั่นคือ พระเอกกับนางเอกไปเจอกันที่กระจก หนังดังมาก ทำเงินให้ทางเราอย่างมโหฬารเลยก็ว่าได้ จากนั้นผมก็ทำหนังมาเรื่อย ๆ ซึ่งญาติ ๆ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำสิ่งนี้มากนัก ส่วน ‘กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน’ ผู้กำกับคือมานพ อุดมเดช เราคุยกันว่าอยากทำหนังฟิล์มนัวร์ที่ตัวละครทุกตัวมีมุมมืด ไม่ใช่เป็นคนดีทั้งหมด หนังอ้างอิงมาจาก The Postman Always Rings Twice (1981) ที่แจ๊ค นิโคลสัน เล่น โดยเรื่องนี้เราได้สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย, อังคณา ทิมดี มาเล่น เราไปถ่ายทำกันที่ปั๊มน้ำมันบริเวณทองผาภูมิ กินถ่ายหลับนอนก็แถวนู้นหมด ตอนนั้นหนังใช้เงินไป 5 ล้านซึ่งถือว่าเยอะนะ หนังถ่ายแบบซาวนด์ออนฟิล์ม โดยเราพยายามวางระบบจัดการที่ดี ดาราทุกคนมีประกันชีวิตมีสวัสดิการทุกอย่าง ส่วนเงินก็จ่ายครบถ้วนตามเวลา The People: เห็นว่าหนังไม่ค่อยทำเงินตอนฉาย แต่ได้รับเสียงชื่นชมเยอะ และได้รับการพูดถึงอย่างมากในภายหลัง? ธวัทชัย: โชคดีที่หนังมันโดนใจผู้ชมจำนวนมาก แล้วคุณมานพนี่แกก็รู้จักพวกคนเยอะ โดยเฉพาะคนที่ชื่อว่าโทนี่ เรย์นส์ - นักวิจารณ์หนังของอังกฤษซึ่งเขาชอบหนังเรื่องนี้มาก หนังก็เลยมีโอกาสได้ฉายหลาย ๆ งาน เช่น งานประกวดภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก ที่ไต้หวัน, ได้ฉายในพิพิธภัณฑ์โกลเด้นเกทที่อเมริกา, ได้ฉายที่แคนาดา ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? หนังได้รางวัลในไทยเยอะพอสมควร แต่พอดีว่าปีนั้นมีหนังอีกเรื่องหนึ่งอย่างวิถีคนกล้า ของยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งฟอร์มใหญ่ โปรดักชั่นเขาสูงมาก เราก็สู้เขาไม่ได้หรอก โดนตีตกไปเยอะ ก็เลยทำให้กะโหลกฯ มันไม่มีกระแสเท่าไหร่ แล้วมันก็ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คเหมือนตอนนี้ ถ้ายุคนั้นมันมีโซเชียลเน็ตเวิร์คหนังก็คงไปได้ไกลกว่านี้ ก็ภูมิใจนะที่หนังยังได้รับการพูดถึงอยู่ ล่าสุดหนังเรื่องนี้มีอยู่ใน iflix รวมถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ผมทำด้วย มีคนเหมาซื้อไปหมดในราคาไม่แพงเท่าไร ซึ่งจริง ๆ เขาไม่ต้องมาซื้อเราก็ได้เพราะมันไม่มีลิขสิทธ์แล้ว The People: ทำไมหลังจากกะโหลกฯ ถึงเลิกสร้างหนังไปล่ะครับ ธวัทชัย: ไม่ได้เป็นเพราะเจ๊งนะ กะโหลกฯ นี่ขาดทุนอยู่เพราะเราลงทุนเยอะ แต่เรื่องอื่น ๆ โดยรวมแล้วเราได้เงินเยอะพอสมควรทั้งจากการฉายโรงที่ Apex และจากสายหนังด้วย แต่สาเหตุมาจากการอิ่มตัว เพราะเรารู้สึกว่าได้ทำอะไรมาหลายอย่างแล้ว ซึ่งตอนทำกะโหลกฯ นี่เราได้เห็นอะไรเยอะมาก ก็เลยคิดว่าถึงเวลาพอดีกว่า ที่จริงตอนนั้นเรามีเพชรเม็ดงามแต่ก็ไม่ได้สานต่อ นั่นคือ ต้อม ยุทธเลิศ ผู้กำกับมือปืน/โลก/พระ/จัน ตอนที่เราเจอ เขายังเด็กอยู่ก็เห็นเดินไปเดินมาที่แล็บนั่นแหละ สุดท้ายแล้วเขาก็ได้มาทำหนังจนดัง   2.สู่การเป็นเจ้าของโรงหนัง จากนั้นเสี่ยทอมมี่ก็ได้หันมาบุกเบิกโรงหนังวิสต้าในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในยุคนั้นโรงหนังใหญ่ ๆ สแตนด์อโลนแบบดั้งเดิมค่อย ๆ ปิดตัวไป ในขณะที่โรงหนังมัลติเพล็กซ์ในห้างกับโรงหนังแบบมินิเธียเตอร์เริ่มได้รับความนิยม โรงหนังวิสต้าแห่งแรกเริ่มที่เจริญเมือง แล้วมีการขยายสาขาไปที่เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว, เชียงอินทร์พลาซ่า, เซ็นทรัลแอร์พอร์ต, 12 ห้วยแก้ว, มหานคร, โชตนา, แสงตะวัน (ก่อนจะปิดไปบางสาขา) ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? ในปี 2539 เครือวิสต้าสามารถควบคุมโรงหนังทุกโรงที่มีในเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ รวม 9 โรง (ไม่เคยเกิดลักษณะของการผูกขาดเช่นนี้มาก่อน) ได้แก่ กาดสวนแก้ว 4 โรง, สิบสองห้วยแก้ว 2 โรง, เจริญเมือง 2 โรง และ ทิพย์เนตร 1 โรง The People: คุณฝันอยากเป็นเจ้าของโรงหนังมานานหรือยัง ธวัทชัย: ฝันมานานแล้ว ที่บ้านผมโชคดีหน่อย เพราะว่าแม่ผมเป็นคนชอบดูหนัง เขาก็พาผมไปดูหนังเรื่อย ๆ ตั้งแต่เด็ก ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งมันก็ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นตรงที่มันหยุดทุกวันพุธกับอาทิตย์ ซึ่งวันพุธก็สบายเลย ได้ไปดูหนัง มันก็เพาะเชื้อความเป็นคนรักการดูหนังของผมขึ้นมา จากนั้นมันก็ก่อเกิดความอยากเป็นเจ้าของโรง ซึ่งแรงบันดาลใจของผมก็คือหนังอิตาลีเรื่อง Cinema Paradiso (1988) ดูเสร็จแล้วเราก็อยากมีโรงหนังของเราเอง อยากจะดูลูกค้าเราว่าเป็นอย่างไรบ้างเวลาดูหนัง อาจจะหัวเราะ ร้องไห้ โรแมนติก The People: ทำโรงหนังมากี่ปีแล้วครับ ธวัทชัย: ที่กาดสวนแก้วนี่ครบ 25 ปี แต่ที่จริงเริ่มทำโรงหนังตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ก็เป็น 27 ปีแล้ว โรงหนังแห่งแรกที่เปิดคือวิสต้าเจริญเมือง มีสองโรง ในวันที่ 31 มีนาคม 2534 ต่อมาก็เปิดที่แอร์พอร์ต, เชียงอินทร์, ทิพย์เนตร, มหานคร, สุวรรณา, แสงตะวัน มันเยอะมากครับ เพราะสมัยนั้นใคร ๆ ก็มาหาวิสต้าเพราะอยากให้ไปทำโรงหนัง แม้แต่จังหวัดอื่น ๆ อย่างพะเยา, แพร่, น่าน, เชียงราย ก็มีคนติดต่อให้ไปทำแต่เราไม่ได้ไป The People: แล้วทำไมถึงตั้งชื่อโรงว่าวิสต้าครับ ธวัทชัย: ผมเคยไปโรงแรมหนึ่งที่ยุโรป มันมี executive club แบบหรู ๆ หน่อยชื่อว่าวิสต้า ตอนนั้นไม่รู้จะตั้งชื่ออะไร ก็เลยใช้ชื่อนี้ ภายหลังมารู้ว่ามันเป็นภาษาสเปนแปลว่าสวรรค์ ก็เลยนำมาตั้งเป็นสโลแกนว่า ‘วิสต้า สวรรค์ของคนรักหนัง’ The People: ทำไมคุณถึงเลือกมาทำโรงหนังที่เชียงใหม่ทั้งที่ไม่ได้มีพื้นเพอยู่ที่นี่ ธวัทชัย: ตอนนั้นที่ผมทำหนังเรื่อง ‘เราสอง’ ซึ่งเราต้องขายสายหนังเอง ทำให้ผมได้รู้จักกับกำนันนั้ม นครปฐม (วีรศักดิ์ จุลนิพิฐวงษ์ – เจ้าพ่อในแวดวงโรงหนังภูธรและร้านเช่าวิดีโอของเชียงใหม่) พอเราเลิกทำหนังแล้ว แกก็ชวนมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจอาบอบนวดที่เชียงใหม่ ก็เลยขึ้นมาเชียงใหม่บ่อย แต่ตอนหลังอาบอบนวดเกิดไฟไหม้ก็เลยเลิกทำ ตอนนั้นคุยไปคุยมาก็ได้รู้ว่ากำลังมีโครงการก่อสร้างห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว ซึ่งคนที่มาดูแลด้านบันเทิงให้กับห้างนี้ก็คือเพิ่มพล เชยอรุณ (ผู้กำกับหนังชื่อดัง) เขาที่สนิทกับผมเพราะอยู่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์เหมือนกันก็มากระซิบกับผมว่าอยากเอาไหม ที่จริงก่อนหน้านี้ผมเคยไปเสนอตัวเองทำโรงหนังที่เดอะมอลล์ท่าพระ แต่เขาปฏิเสธเพราะทางเราไม่เคยทำโรงหนังมาก่อน ไม่เคยมีพื้นฐานด้านนี้ เดี๋ยวไปทำเจ๊งก็จะซวยอีก จนมาได้โอกาสทำที่กาดสวนแก้ว ซึ่งที่จริงเรามีแผนสร้างโรงหนังที่นี่เป็นที่แรก แต่กว่าที่กาดสวนแก้วจะลงหลักปักฐานได้ก็กินเวลา 3 – 4 ปี ระหว่างนั้นเจ้าของที่ที่เจริญเมืองเขาเสนอมาว่าสนใจที่เอาไปทำโรงหนังไหม ก็เลยได้ไปทำ ก็เลยเป็นที่มาของวิสต้าแห่งแรกที่เจริญเมือง เราเปิดด้วยหนัง Backdraft เกี่ยวกับนักผจญเพลิงซึ่งเป็นหนังที่ไฟสวยที่สุด น่าเสียดายที่มันเป็นทำเลที่ไม่ดีเท่าไร ทั้ง ๆ ที่แค่ข้ามสะพานแม่น้ำปิงไปแค่นั้นเอง ก็เหมือนจากกรุงเทพข้ามไปฝั่งธนฯ ที่กาดสวนแก้วมี 4 โรง แต่เขาบอกว่าให้ได้แค่โรงเดียว ผมก็เลยบอกว่าจริง ๆ แล้วคงไม่ได้หรอก มันควรจะเอาได้ทั้งหมด เพราะมันจะได้ควบคุมดูแลได้ แต่เขาบอกว่านโยบายของห้างเขาไม่ให้ ดังนั้นผมเลยได้หนึ่งโรง ที่เหลือก็เป็นโรงของกำนัน, โรงของเครือนนทนันท์และโรงของห้างกาดสวนแก้วเองอย่างละโรง จนภายหลังผมก็ได้ทำครบทั้ง 4 โรงและมีการสร้างเพิ่มอีก 3 โรงจนเป็น 7 โรง ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? นอกจากนั้นเราเคยไปเปิดโรงหนังแบบมินิเธียเตอร์ที่เชียงอินทร์ แต่มันไม่เวิร์คเพราะว่าพื้นที่มันเล็กและที่นั่งก็บังกันด้วย แม้แต่โรงของเราที่เซ็นทรัลแอร์พอร์ตก็ไม่ค่อยเวิร์คเพราะเล็ก ทำอะไรเพิ่มเติมก็ไม่ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องออก แต่สำหรับที่แอร์พอร์ตนี่เขาเชิญออกเพราะเมเจอร์จะมา จากนั้นก็มีที่สิบสองห้วยแก้ว ซึ่งเราหมายมั่นไว้ว่าจะเน้นฉายหนังฟอร์มใหญ่เสียงซาวนด์แทร็คโรงหนังอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับกาดสวนแก้ว ผมเลยทำการตลาดด้วยการทำเป็นรอยเท้าคนระหว่างสองโรงให้คนเดินตาม ซึ่งผมได้ไอเดียมาจากที่สิงคโปร์ ลูกค้าที่สิบสองห้วยแก้วก็จะต่างจากกาดสวนแก้วตรงที่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติและค่อนข้างไฮคลาสกว่า ผมตั้งใจทำให้เป็นโรงที่คุณภาพดีและใหญ่ ทางเดินห่าง เท้าคุณไม่ชนเก้าอี้ เช่นเดียวกับกาดสวนแก้วโรง 5 – 7 ที่เราสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งเราตั้งใจให้มีขนาดใหญ่ ต่างจากโรง 1 - 4 ที่มีอยู่เดิมซึ่งค่อนข้างแคบ ถ้าคนดูเยอะ ๆ นี่จะลำบาก หัวเข่าติด The People: วิสต้าถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบโรงหนังในเชียงใหม่หลายอย่างเลยใช่ไหม ธวัทชัย: ใช่ จุดอ่อนของโรงหนังเชียงใหม่ตอนนั้นโดยเฉพาะโรงของกำนันก็คือ มันเก่า แอร์ก็ไม่ค่อยดี เวลานั่งกินลูกชิ้นอยู่ดี ๆ มีหนูแมลงสาบกระโดดใส่ก็มี เราก็เลยไปทำโรงหนังเจริญเมืองของเราให้ดูดีทันสมัยขึ้น ส่วนเรื่องรอบฉาย เรามีรอบเหมือนกรุงเทพฯ คือ เที่ยง บ่าย ทุ่ม แต่ได้มีการเพิ่มรอบห้าโมงเพิ่มเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมามันไม่เวิร์คและไม่มีใครเคยทำได้ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่คนเขากำลังกลับบ้านกินข้าว เรายังได้ฉายหนังของสตูดิโอเมเจอร์อย่าง Fox/Warner และ UIP เพราะสายเหนือของกำนันนั้มเขาไม่เอา ทำให้เมื่อก่อนหนังพวกนี้ไม่มีโรงฉายลง พอเราบอกว่าเรายินดีจะฉายหนังของพวกคุณเขาก็ดีใจใหญ่ ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่เชียงใหม่มีข้อยกเว้น สามารถเอาหนังเข้าฉายได้เลยโดยไม่ต้องผ่านสายหนัง ทำให้เราสามารถแบ่งรายได้ครึ่ง ๆ กับเจ้าของหนังได้เลย ด้วยเหตุนี้เลยทำให้โรงหนังของเราสามารถเกิดขึ้นมาได้ เพราะไม่เช่นนั้นถ้าถูกสายหนังบีบขึ้นมา โรงหนังเราก็จะไม่มีหนังมาฉายเลย ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? นอกจากนั้นเรายังเป็นผู้บุกเบิกเอาหนังฝรั่งรวมถึงหนังซาวนด์แทร็คมาฉายแบบเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนการฉายหนังซาวนด์แทร็คมันมีค่าใช้จ่ายสูง ฟิล์มหนังก๊อปปี้นึงเป็นแสน แต่คุณเฮนรี่ ทราน แห่ง Fox/Warner ก็ใจดีมากให้มาฉาย ก็ถือเป็นมิตรภาพที่ดีครับ จุดเปลี่ยนอีกอย่างก็คือการเอาระบบเสียง DTS มาติดในโรง ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำ เรื่องแรกที่เราฉายก็คือ True Lies (1994) มีคนมาดูเยอะเลย เสียงเฮลิคอปเตอร์หรือเสียงปืนยิงกันมันกระหึ่มมาก” ณัฐกร: แล้วมีฉายแบบรอบตีหนึ่งตีสองด้วยไหม ธวัทชัย: ไม่ครับ ที่วิสต้าเองไม่ค่อยได้คิดถึงว่าจะเอารอบดึก ๆ เพราะผมคิดว่าคนเชียงใหม่มีพฤติกรรมไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ เราเคยฉายรอบมิดไนท์นะแต่นานมากแล้ว ณัฐกร: สมัยยุคกำนันอย่างโรงหนังฟ้าธานี ผมเข้าใจว่าถ้าเปิดหนังใหม่จะเป็นมิดไนท์นะครับ ธวัทชัย: จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่โรงหนังของกำนันหรอก ในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน เช่นหนังจีนเนี่ย ทุกคนต้องดูมิดไนท์ ผมยังต้องไปยืนเฝ้ารอซื้อตั๋วแถวเยาวราชหลังมิดไนท์เลย เพราะทุกคนก็อยากดู แต่ในเชียงใหม่นี่เราดูแล้วมันไม่เวิร์ค แถวโรงหนังมันค่อนข้างอันตรายด้วย กลัวจะมีคนมาจี้ The People: มีเรื่องไหนที่ฮิตระเบิดในระดับที่ฉายแล้วคนเต็มวิสต้าทุกรอบไหม ธวัทชัย: Jurassic Park (1993) ซึ่งระเบิดถล่มทลายมาก ๆ ฉายที่ไหนก็เต็มหมดทุกที่ ต้องมีเก้าอี้เสริม คิดดูสิสมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์เราใช้แค่มือเขียนแล้วก็มีตรายางที่ใช้ปั๊มวันที่หรือปั๊มรอบ ซึ่งเราต้องไปเปลี่ยนตรายางหลายสิบอัน เพราะปั๊มจนไม่รู้จะปั๊มยังไง แล้วสมัยก่อนมีการวิ่งฟิล์ม เพราะฟิล์มก๊อปปี้นึงราคาเป็นแสน เขาจะให้เราเยอะ ๆ ได้ไง สมัยก่อนลูกน้องผมรวยกันหมดเพราะต้องขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งฟิล์มไปฉายตามโรงต่าง ๆ จนมีเงินซื้อมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวกันได้ ซึ่งสมัยนี้ไม่ต้องวิ่งแล้วเพราะเป็นระบบดิจิทัล ขอแค่เอาข้อมูลมา แล้วคุณจะฉายกี่โรงก็ว่าไป อย่าง Titanic (1997) ก็มีคนดูเยอะมาก ซึ่งสิ่งที่ประทับใจที่สุดในชีวิตผมก็คือ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เสด็จมาทอดพระเนตรหนังเรื่อง Titanic เป็นการส่วนพระองค์ที่โรงวิสต้า 12 ห้วยแก้ว ซึ่งท่านก็เหมาโรงแล้วก็เซ็นเช็คให้ด้วย รู้สึกเป็นเกียรติมากเพราะช่วงก่อนหน้านั้นท่านไม่เคยเสด็จฯ โรงหนังที่ไหนยกเว้นที่นี่ หลังจากนั้นเราก็เอาเก้าอี้ที่ท่านนั่งตอนนั้นมาไว้ที่โรงแรมแล้วขึ้นป้ายไว้ว่าเป็นเก้าอี้ที่ราชินีประทับ ณัฐกร: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ยังแอบมาดู Titanic ที่วิสต้าด้วยใช่ไหมครับ เพราะตอนนั้นเขามาถ่ายทำหนังเรื่อง The Beach ในไทย ธวัทชัย: ใช่ ๆ ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? 3.สวรรค์ของคนรักหนัง เสี่ยทอมมี่เป็นเจ้าของโรงหนังที่ให้ความเป็นกันเองกับคนดูอย่างมาก เช่น เขียนจดหมายพูดคุยกับคนดูทุกสัปดาห์โดยนำไปติดที่หน้าโรงหนัง, ทำชมรมคนรักหนัง (วิสต้าซีนคลับ) โดยนำหนังดีๆ หาชมได้ยากมาฉายให้ดูฟรีๆ และมีการพูดคุย/ทานอาหารร่วมกัน/ลุ้นของรางวัล หลังหนังจบ นอกจากนั้นวิสต้ายังเคยนำหนังนอกกระแสมาฉาย เช่น ในช่วงปี 2010 มีการดีลกับ House เพื่อฉายหนังทางเลือก (เช่น Norwegian Wood, Mary and Max, ไตรภาค The Girl with the Dragon Tattoo ฉบับสวีเดน), ในช่วงปี 2016 มีการนำหนังนอกกระแสของ M Pictures มาฉาย (เช่น Café Society, The Handmaiden) อาจเป็นเพราะผู้ชมไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ตอนนี้วิสต้าจึงยุติการฉายหนังนอกกระแสไป ณัฐกร: ผมทันวิสต้าซีนคลับยุคแรกที่เสี่ยไปจัดที่คุ้มแก้วขันโตก ยุคนั้นจะเปิดแผ่นเลเซอร์ดิสก์ ฉายหนังในแบบที่ผมไม่มีโอกาสได้ดูที่อื่น พอมายุคหลังที่เริ่มมีการเก็บค่าสมาชิกก็จะฉายหนังแบบบล็อกบัสเตอร์ พอโรงเมเจอร์มาแล้ว ก็จะเปลี่ยนจากฉายแบบโรงเล็ก ๆ มาฉายโรงใหญ่หน่อย แล้วจะมีการแจกของให้ผู้ชมหนังฉายจบ เช่น ของที่ระลึกจากเมืองนอก, สแตนดี้จากหนัง ฯลฯ เพื่อดึงดูดคนให้มาดู ซึ่งรวมถึงคนที่ไม่ได้เป็นคอหนังทางเลือกแต่มาเพราะอยากได้รางวัลด้วย ธวัทชัย: ใช่ สมัยก่อนเรามีการทำกลุ่มวิสต้าซีนคลับโดยฉายหนังดี ๆ ที่มันไม่มีลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ซึ่งผมจะซื้อแผ่นมาจากเมืองนอก เช่น หนังชุด Blue/White /Red, The Usual Suspects, The Godfather, No Man’s Land ฯลฯ แต่ตอนหลังทำไม่ได้แล้วเพราะลิขสิทธิ์มันครอบคลุมเยอะ ณัฐกร: จำได้ว่าเมื่อก่อนมีเทศกาลหนังอียู (European Union Film Festival) ที่นี่ด้วย? ธวัทชัย: เทศกาลหนังอียูที่เชียงใหม่จัดครั้งแรกที่นี่เหมือนจะเมื่อ 20 ปีที่แล้วนะ สมัยก่อนเราเอามาฉายทุกปีและดูฟรีด้วย ฉายกันเป็นวันเลยนะ คนก็มาดูกันเยอะมาก แต่ในช่วงหลังผู้จัดเขาก็เปลี่ยนไปติดต่อกับ SF ซึ่งเราก็ไม่ว่าอะไร เพราะเราก็ไม่ได้หวังรวยอยู่แล้ว เพราะมันรวยกับตรงนี้ไม่ได้อยู่แล้ว มีช่วงหนึ่งที่วิสต้าได้เอาหนังทางเลือกของสหมงคลฟิล์มซึ่งเคยฉายที่ House มาฉายที่นี่ด้วย เราเคยฉายหนังอาร์ตของสหมงคลฟิล์มเยอะ ซึ่งเขาก็คิดแบบเหมาประมาณว่าโปรแกรมนี้ราคาเท่าไรยังไงแล้วเราก็เอามาฉาย แต่ตอนนั้นผลตอบรับไม่ค่อยดีเพราะมันยังไม่มีโซเชียลเน็ทเวิร์ค เขาถือว่าเอามาแล้วมันไม่คุ้มเพราะคนดูมีนิดเดียว ก็อย่างว่านะ ถ้ากลับมาทำอีกก็อาจจะทำได้ เพราะว่าตอนนี้มีโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว The People: หัวใจของการทำโรงหนังที่ทำให้อยู่มายาวนานสำหรับคุณคิดว่ามีอะไรบ้าง ธวัทชัย: สำหรับผม ผมคิดว่าเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรักและถนัดอยู่แล้ว ทุกอย่างที่เกิดมากับวิสต้า 20 กว่าปีนี้คืออะไร มันเกิดมาจากการตลาดและการขาย ทั้งการจัดฉายหนังทางเลือก, จัดหนังรอบพิเศษ ซึ่งทุกคนก็แฮปปี้กันหมด มีการจัดกิจกรรม มีการทำบุญ แจกทุนการศึกษา แจกมอเตอร์ไซค์ให้ตำรวจแต่ละโรงพัก เอกลักษณ์อีกอย่างที่หลายคนจำได้อย่าง ‘วิสต้าวาไรตี้’ ตอนนั้นเราไม่ค่อยได้มีสื่อในการสื่อสารกัน ก็จะมีแค่วิสต้าวาไรตี้ ที่จะมีบทความใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องหนังหรือเรื่องอื่น ๆ แปะไว้ตรงหน้าโรงทุกวันศุกร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นผมเขียนเอง ไม่ได้จ้างใครเขียน ซึ่งใครที่มาดูหนังก็จะต้องมาอ่าน ผมมาดูหนังทุกอาทิตย์อยู่แล้ว มาถึงเห็นคนยืนอ่านซึ่งก็เป็นเด็ก ๆ ซะส่วนมากก็มีความสุข มันเป็นความกันเองที่หาจากโรงอื่นไม่ได้ ผมเขียนมาหลายสิบปีแล้วแต่ท้ายที่สุดก็ต้องเลิก ยอมแพ้โลกโซเชียล   4.ความเป็นไปของวิสต้าในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อโรงหนังเครือใหญ่อย่างเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เข้ามาเปิดสาขานอกกรุงเทพฯ แห่งแรกที่เซ็นทรัลแอร์พอร์ตด้วยจำนวนโรง 7 โรง เปิดฉายวันแรกในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544 ด้วยหนังเรื่อง ‘แม่เบี้ย’ ในช่วงเดียวกันวิสต้ากาดสวนแก้วก็ได้มีการสร้างโรงเพิ่มอีก 3 โรงรวมเป็น 7 โรง (กลายเป็น 7 ต่อ 7) ปลาย พ.ศ. 2550 เสี่ยทอมมี่ตัดสินใจ "ปิด" โรงหนังนอกศูนย์การค้าทั้งหมด จนวิสต้าเหลือเพียงสาขากาดสวนแก้วเท่านั้น ในช่วง พ.ศ. 2556 เชียงใหม่ได้มีโรงหนังแห่งใหม่เปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ SF พรอมเมนาดา, SF เมญ่า, Major เซ็นทรัลเฟสติวัล ทำให้ตอนนี้เชียงใหม่มีโรงหนังทั้งหมด 5 แห่ง รวม 42 จอ ส่งผลให้คนดูหนังเริ่มเปลี่ยนใจจากวิสต้าไปยังโรงอื่นที่ใหม่กว่า The People: พอโรงหนังเครือใหญ่เข้ามาตีตลาดเชียงใหม่ สถานการณ์ของวิสต้าเป็นอย่างไรบ้าง ธวัทชัย: ตอนที่เมเจอร์แอร์พอร์ตมาเปิดใหม่ ๆ ก็ยังโอเคอยู่ครับ แต่พอมาเต็มตัวอย่างในช่วงหลังเนี่ยเราเดือดร้อน ซึ่งตอนนี้วิสต้าไม่ต้องจ่ายค่าเช่า มีแต่จ่ายค่าส่วนกลางค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 2-3 แสน แต่รายได้ก็ยังไปไม่ไหว ทุกวันนี้พูดตรง ๆ แบบไม่อายนะ ทำโรงหนังเราไม่ได้กำไร แต่ก็ไม่ได้ขาดทุนมากมายขนาดนั้น ขาดทุนประมาณปีละ 3-4 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักลบกับผลกำไรในบริษัทของเราที่มีอยู่ 21 กิจการ เราถือว่ายอมได้ ช่วงที่โรงหนังดิจิตัลกำลังมาช่วง พ.ศ. 2555-2556 เราลงทุนกับเครื่องฉายดิจิตัลไป 21 ล้าน เงินสดด้วยนะ ซึ่งไม่ทำก็ไม่ได้เพราะมันไม่มีแผ่นฟิล์มให้ฉายแล้ว ถามว่า 21 ล้านเนี่ยได้คืนไหม ไม่ได้หรอก แต่ที่ทำเพราะว่าหนึ่ง - ใจรักการทำโรงหนัง แล้วก็สอง – ผมต้องดูแลพวกลูกน้องของผมอีก ซึ่งเราได้มีการลดคนและลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้เรายังพอเอาตัวรอดได้ในช่วงเวลาที่คนดูน้อยลง The People: ตอนนี้ลูกค้าหลักที่มาดูหนังที่วิสต้าเป็นใคร ธวัทชัย: ข้อนี้ผมรู้เพราะผมมักจะนั่งอยู่ที่สตาร์บัคส์ ใครเดินเข้าออกผมเห็นหมด ลูกค้าหลักของผมคือไทใหญ่ เพราะช่วงนี้ที่นี่เน้นฉายหนังพากย์ไทย แถมไม่ต้องต่อแถวซื้อตั๋ว อยากนั่งตรงไหนก็นั่งตามสบาย ราคาก็เป็นมิตร ผมยังตรึงราคาตั๋วไว้ที่วันธรรมดา 90 บาท เสาร์อาทิตย์ 110 บาทเหมือนเดิม บรรยากาศโรงหนังของเราไม่ได้หรูหราอะไร ลูกค้าของเราส่วนใหญ่มาเพื่อเน้นดูหนังอย่างเดียว ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ผมมองว่าคนไทใหญ่เขามีความรู้สึกส่วนตัวของเขาเองว่าไม่ควรไปเซ็นทรัลเฟสติวัล หรือเมญ่า เพราะการแต่งตัวไม่เหมือนกัน ที่อื่นต้องแต่งแบบแฟชั่นสวยหล่อ แต่ที่กาดสวนแก้วมันสบาย ๆ แต่งตัวยังไงมาก็ได้ ผมมองว่าข้อดีของวิสต้าอยู่ที่หนังยืนโรงนานกว่าที่อื่นคืออย่างน้อย 2 สัปดาห์ แถมรอบฉายในแต่ละสัปดาห์ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ชีวิตของหนังมันสั้นมาก ถ้ารายได้ไม่ดีโรงเขาก็ถอด อาทิตย์ต่อมารอบก็หายไปแล้ว คนก็เลยต้องรีบไปดูตอนที่หนังเข้าฉายวันแรก ๆ แต่ที่วิสต้าเนี่ย หนังก็จะอยู่นานหน่อย ซึ่งเมื่อก่อนผมเป็นคนวางโปรแกรม แต่ตอนนี้ผมไม่ได้วางเองแล้ว The People: มีคนเสนอว่าอยากให้วิสต้าปรับเปลี่ยนโรงหนังให้ดูใหม่และทันสมัยขึ้น? ธวัทชัย: ผมมีแผนจะทำนะ ก่อนที่จะติดระบบดิจิตัล ผมให้สถาปนิกมาดูเพราะต้องการให้โรงมันกว้างขึ้น แต่ติดที่โครงสร้างต่าง ๆ มันทำไม่ได้ ไม่ก็ต้องรื้อมาหมดเลย สุดท้ายสถาปนิกเขาก็บอกว่า เสี่ยเอาเงินไปทำระบบดิจิตัลเถอะ อย่าเพิ่งเปลี่ยนโครงสร้างเลย เพราะถ้าไม่ทำดิจิตลเสี่ยซวยแน่ ๆ ไม่มีหนังฉาย เราก็เลยเทเงินไปที่การทำระบบดิจิทัลแทน The People: คุณมองอนาคตของวิสต้าว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ธวัทชัย: สัญญาของวิสต้ากับกาดสวนแก้วมันหมดตั้งแต่เมื่อธันวาคม พ.ศ.2561 แล้ว ซึ่งทางห้างยังไม่ทำการต่อสัญญาเพราะเขามีแผนการที่จะดึงโรงหนังเครือใหญ่เข้ามา แต่มุมมองของผมคือถ้าโรงหนังเครือใหญ่เข้ามาทำแล้วมันไม่ใช่เรื่องหมูสำหรับเขาเลย เพราะมันต้องเริ่มใหม่ ทุบทิ้งให้หมดแล้วมาสร้างใหม่ ตอนนี้วิสต้าก็ยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าห้างจะให้ออก ถ้าถึงเวลานั้นก็จบ ขายทุกอย่างหมด เลิกทำ เพราะไม่อยากสู้แล้ว ผมอายุ 65 ปีแล้ว ทำโรงหนังมา 27 ปี มันอิ่มตัวแล้วและไม่อยากเป็นหนี้ตอนแก่ แต่ถ้าถามว่าถ้าจบแล้วมีความสุขไหม ก็มี เพราะผมได้ทำในสิ่งที่ผมฝันแล้ว ผมอยากเป็นเจ้าของโรงหนังผมก็ได้เป็น ซึ่งผมโชคดีกว่าใครหลายคนที่ทำความฝันให้เป็นจริงได้ ถึงตอนนี้ผมสามารถพอได้แล้ว สมัยก่อนผมชอบมาทำอะไรรู้ไหม ผมก็มายืนหน้าโรงหนังของผม มาดูคนเดินออกมาหลังหนังจบ ตาแดง ร้องไห้สะอึกสะอื้น พอได้เห็นอารมณ์ของคนดูผมก็แฮปปี้ มันคือความสุขของผมในการทำโรงหนัง The People: ที่ผ่านมามีคนเข้ามาทักหรือบอกคุณไหมว่า วิสต้าเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของเขาหรือเปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย ธวัทชัย: มีเยอะครับ อย่างพวกสมาชิกวิสต้าซีนคลับ ก็เหมือนเป็นญาติกัน แบบเขาเนี่ย (ชี้ไปที่อาจารย์แบงค์-ณัฐกร) รู้จักกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทุกวันนี้ถ้าเจอกันก็ทักทายกัน หรืออย่างยุทธเลิศ เจอกันก็ยกมือไหว้ผม หรือมะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ก็เคยเอาหนังธีสิสสมัยเรียนของเขาเรื่อง ‘ลี้’ มาฉายที่วิสต้ากาดสวนแก้ว ซึ่งผมให้ฉายฟรี ถือเป็นความภูมิใจที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และให้เขาได้มีโอกาส หลังจากนี้วิสต้าก็คงเป็นตำนาน บางคนอาจจำได้หรือจำไม่ได้ แต่ ก็คงยังมีการเอ่ยชื่อเราในข่าวอยู่บ้าง ธวัทชัย โรจนะโชติกุล '25 ปีสวรรค์ของคนรักหนัง'วิสต้า เชียงใหม่ ไปต่อหรือพอแล้ว? 5.มุมมองของเสี่ยทอมมี่ในเรื่องต่าง ๆ The People: คุณมองหนังไทยทุกวันนี้อย่างไร ธวัทชัย: หนังไทยทุกวันนี้นิ่งสนิท หนังไทยดี ๆ เกิดยากเพราะมันตัน ตรงไหนก็โดนชนไปไหนต่อไม่ได้ ถามว่าทำไม เพราะมันมีกฎว่า ผู้ร้ายต้องไม่เป็นตำรวจ, คนทำผิดต้องถูกจับหรือถูกลงโทษในตอนท้าย, ห้ามนำเสนอเรื่องเซ็กส์เปิดเผย ฯลฯ อย่างหนังเรื่องกะโหลกฯ เองก็เถอะ ตอนท้ายพระเอกก็ต้องถูกตำรวจจับเพราะเป็นผู้ร้าย แถมทุกวันนี้ผู้กำกับก็ทำงานแบบเป็น freelance ไม่มีเงินเดือน ในเมื่อคุณไม่มีรายได้ประจำแล้วคุณจะไปคิดทำอะไรล่ะ ท้องคุณหิวอะ ก็จะทำงานแบบสะโหลสะเหล ผู้กำกับที่เมืองนอกเขามีเงินเดือนนะ ทำให้ได้มีเวลาคิดอีกหลาย ๆ เรื่อง แต่ที่จริงฮอลลีวูดตอนนี้เขาก็จุกเหมือนกัน มีแต่คนทำหนังรีเมคแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร แถมหนังสมัยนี้ก็เทียบกับสมัยก่อนไม่ได้เลย ในเรื่องคุณภาพหรืออารมณ์ความรู้สึก หนังเก่า ๆ มันทำให้เราร้องไห้ได้ง่ายมาก The People: ในช่วงปีสองปีนี้มีหนังเรื่องไหนที่คุณชอบมาก ๆ บ้าง ธวัทชัย: ไม่มีเลย ไม่ได้ร้องไห้เลยสักเรื่อง เมื่อก่อนนี้มีร้องไห้อยู่หลายเรื่องเหมือนกัน ผมว่าหนังสมัยนี้มันยังไม่ถึง อย่าง Aquaman มันก็ดี เนื้อหาดีแต่ก็ยังไม่สุดเท่าไหร่ ผมมองว่าหนังสมัยนี้มันฉาบฉวย แล้วมันทำให้คุณจำอะไรไม่ค่อยได้ เมื่อก่อนผมนั่งอัดวิดีโอฉากเด็ด ๆ ในหนัง แล้วเอาไปฉายเป็นตัวอย่างหน้าโรง สมัยก่อนหนังมันมีจุดให้จดจำเยอะ แต่สมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้น เราจำอะไรไม่ได้เลย The People: แล้วได้ดูหนังสตรีมมิ่งบ้างไหม ธวัทชัย: อย่าง Netflix, iflix เมื่อก่อนก็ดูอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเวลา ช่วงนี้ก่อนนอนก็จะดูวาไรตี้พวกทำกับข้าว หรือรายการร้องเพลง The Mask Singer, I Can See Your Voice อะไรพวกนี้ ซึ่งการดู Netflix ที่บ้านผมว่ายังไม่ประทับใจเท่ากับการดูหนังในโรง The People: คุณมีเวลาดูหนังในโรงมากน้อยแค่ไหน ธวัทชัย: ก็ดูสัปดาห์ละ 1-2 เรื่องเป็นอย่างมาก ผมก็บินมาดูที่วิสต้านี่แหละ ส่วนมากไม่ค่อยได้ดูที่กรุงเทพฯ หรอก แต่ก่อนผมมาเชียงใหม่ทุกวันศุกร์เสาร์อาทิตย์ แต่หลัง ๆ งานผมเยอะก็อยู่ได้แค่เสาร์อาทิตย์ อย่างวันนี้ถ้าสัมภาษณ์เสร็จผมก็จะหาเวลาไปดูหนังสักเรื่องแล้วก็ไปดูบอลต่อที่โรงแรม แต่ถ้าเป็นวันอื่นที่อยากดูหนังจริง ๆ ก็จะดูควบสองเรื่องได้ The People: คุณมองอนาคตของโรงหนังว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ธวัทชัย: ในอนาคต ต่อไปหนังจะไม่ได้ฉายด้วยเครื่อง projector จอหนังจะกลายเป็นจอ LCD เพียงแต่ทุกวันนี้มันยังผลิตจอขนาดใหญ่เท่าที่เราดูตอนนี้ไม่ได้ แต่เทคโนโลยีญี่ปุ่นเขาก็ก้าวหน้ามาก ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะทำลวก ๆ เพราะถ้าเขาจะทำออกมาก็คือทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องใช้เวลา ผมมองว่าเครื่องฉายจะหมดไป ค่ายหนังไม่ต้องส่งฮาร์ดดิสก์มา มันสามารถยิงตรงข้อมูลมาจากกรุงเทพ, อังกฤษ, อเมริกา ได้เลย ซึ่งมันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงอะไร อนาคตอันใกล้ก็จะเป็นแบบนั้น The People: คิดยังไงครับที่มีคนวิเคราะห์ไว้ว่าในอนาคต คนจะดูหนังใน Netflix มากขึ้น การดูหนังในโรงจะตายในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ธวัทชัย: ไม่นานถึงขนาด 30 -40 ปีหรอก เร็วกว่านั้น พูดตรง ๆ คือธุรกิจทุกวันนี้แค่ค่าตั๋วหนังไม่มีกำไรหรอก กำไรของโรงหนังเครือใหญ่ ๆ มันมาจากขนม น้ำ ป็อปคอร์น แต่วิสต้าไม่ได้เน้นขายของกินเล่นพวกนี้นะ ผมเน้นทำโรงหนังอย่างเดียว ดังนั้นจุดหนึ่งโรงหนังเขาก็ทำหลาย ๆ อย่างที่ทำให้โรงหนังไม่ใช่แค่การดูหนัง แต่เป็นการไปพบปะสังสรรค์กัน ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้มันสูง คุณไปโรงหนังเครือใหญ่ ๆ ดูหนังทีก็ใช้เงินเยอะ อย่างค่าตั๋วเสาร์อาทิตย์ 190 นี่ถือว่าน้อยนะ ปกติต้องมีเงินคนละ 200-300 ขึ้นไป ... "ทุกวันนี้คุณรู้สึกไหมว่าเขาพยายามลดราคาตั๋วหนังลงเพราะคนสู้ราคาไม่ไหวกัน เขาพยายามไปจับมือกับค่ายมือถือ บัตรเครดิต หรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นส่วนลด เพราะพวกเขารู้ตัวเรื่องนี้ อย่างตอนนั้นที่โรงหนังเครือใหญ่ลดราคาลง ลูกน้องผมก็ชวนบอกว่าให้ลดราคาตามเขาดูบ้าง ส่วนแบ่งก็ให้บริษัทหนังก็เท่าเดิม แต่ไปเก็บเงินเอากับป็อปคอร์นหรือชาเขียวขวดละ 50 บาทแทน ผมเลยบอกลูกน้องผมว่าไม่ต้องตามเขาหรอก เอาเท่านี้แหละ ผมเลยยืนราคานี้มาตลอด”   อ้างอิงข้อมูล – ณัฐกร วิทิตานนท์, “โฮงหนัง” เมืองเจียงใหม่, ใน สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์, เรื่องเล่าจาวเจียงใหม่ เล่ม 2, (เชียงใหม่: มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่, 2559), 1-17.   เรื่อง/ภาพ: บดินทร์ เทพรัตน์ ร่วมสัมภาษณ์: ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์