“เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day

“เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day
“หัวใจก็เหมือนใบชา ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ จึงจะมองเห็นความงามที่อยู่ข้างใน” นี่คือคำโปรโมทของภาพยนตร์ Every Day a Good Day (2018) หรือชื่อไทย “หัวใจ ใบชา ความรัก” ว่าด้วยเรื่องราวของ “โนริโกะ” นักศึกษาสาวปี 3 และลูกพี่ลูกน้องของเธอ “มิจิโกะ” ได้เรียนรู้พิธีชงชากับ “อาจารย์ทาเคดะ” ก่อนที่การชงชาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะในยามทุกข์ หรือสุข นับเป็นเรื่องราวการค้นหาอิสรภาพ ผ่านกลิ่นหอมและไออุ่นจากชา คนญี่ปุ่นปัจจุบันอาจลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว ผมอยากจะให้คนกลับมานึกถึงธรรมชาติมากขึ้นผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้” นี่คือคำพูดของโปรดิวเซอร์ โทโมมิ โยชิมูระ (Tomomi Yoshimura) ที่กล่าวกับเราครั้งมาเยือนไทย ถึงเหตุผลที่เขาเลือกสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ The People จึงถือโอกาสชวนเขาคุยถึงการทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ เสน่ห์พิธีการชงชา รวมไปถึงวงการไอดอลในประเทศญี่ปุ่น   [caption id="attachment_9973" align="alignnone" width="1200"] “เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day โทโมมิ โยชิมูระ[/caption]   The People: ทำไมคุณถึงสนใจทำงานสายภาพยนตร์ โยชิมูระ: สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนสายการผลิต แต่เพื่อนรอบตัวอยากเป็นผู้กำกับเยอะมาก ส่วนใหญ่เพื่อน ๆ ที่อยากเป็นผู้กำกับจะเพี้ยนหน่อย มีความคิดแปลก ๆ ผมก็เลยรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากพวกเขา หัวไม่เพี้ยนเท่าพวกเขา เลยคิดว่าตัวเองเป็นโปรดิวเซอร์ดีกว่า จะได้ช่วยสนับสนุนงานของเพื่อนนั้น ๆ ได้ สมัยเรียนผมไม่ได้ตั้งใจเรียนเท่าไหร่หรอกครับ ชอบเล่นกีฬา เล่นรักบี้ แต่ชอบชมภาพยนตร์ ก็เลยสนใจทำหนังสั้นของตัวเองออกมา   The People: ส่วนตัวคุณชอบหนังแบบไหน โยชิมูระ: ผมชอบหนังของผู้กำกับ จิม จาร์มุช (Jim Jarmusch) หรืออย่าง ลาร์ส ฟอน เทียร์ (Lars Von Trier) ครับ   The People: บทบาทของโปรดิวเซอร์มีหน้าที่อะไรบ้าง โยชิมูระ: ทุกอย่างครับ (หัวเราะ) เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบเลย ตั้งแต่เลือกหนังมาทำ คุยบทกับผู้กำกับ แบ่งตัวนักแสดง จัดคิวทุกอย่าง กระทั่งถึงออกจัดจำหน่าย   The People: คุณเคยร่วมงานกับผู้กำกับ เท็ตสึชิ โอโมริ (Tatsushi Ohmori) มาแล้ว ทำไมถึงกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง โยชิมูระ: ผู้กำกับ เท็ตสึชิ โอโมริ มีผลงานมามากมาย แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์แอ็กชันใช้แรงใช้กำลังต่อสู้ ฉะนั้นพอเปิดตัวออกมาว่าคุณโอโมริจะทำหนังเกี่ยวกับการชงชาจึงกลายเป็นเรื่องตกใจสำหรับวงการหนังญี่ปุ่น ผมเป็นเพื่อนที่รู้จักคุณโอโมริมานานแล้วก็รับรู้ว่าโอโมริไม่ได้โหดร้าย ดุ หรือดิบเถื่อนอะไรเลย ในสายตาของเขามีความอ่อนโยนซ่อนอยู่ ผมก็เลยเอาต้นฉบับนิยายไปให้เขาอ่านแล้วบอกว่า ถ้าสนใจก็มาทำหนังเรื่องนี้ด้วยกัน พอเขาได้อ่านก็ประทับใจมาก และตกลงทำด้วยกัน [caption id="attachment_9974" align="alignnone" width="1200"] “เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day โทโมมิ โยชิมูระ[/caption]   The People: Every Day A Good Day พูดถึงการชงชาเป็นหลัก คุณคิดว่าเสน่ห์ของการชงชาคืออะไร โยชิมูระ: เสน่ห์ของการชงชาญี่ปุ่นอยู่ที่การต้องใช้เวลา เพราะในยุคปัจจุบันทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนใช้ชีวิตเร่งรีบ อยากได้อะไรก็ต้องได้เลย รอกันมาได้ ในขณะที่การชงชาต้องเวลาเป็นชั่วโมง ต้องศึกษา ต้องทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้จริงหรือกระทั่งเชี่ยวชาญ นั่นเลยทำให้คนหยุดคิด พิจารณาตัวเอง และรู้จักตัวเองมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือทำให้คนเราใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เพราะการชงชามีการโยงถึงฤดูกาลของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคร่าว ๆ ได้ 4 ฤดูกาล แต่สามารถแบ่งรายละเอียดย่อยได้มากกว่านั้นอีก ซึ่งจะทำให้คนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น   The People: ในหนังเราจะเห็นผู้สูงอายุเป็นอาจารย์ชงชาเป็นหลัก ปัจจุบันยังมีวัยรุ่นสนใจการชงชาอย่างจริงจังไหม โยชิมูระ: การศึกษาในโรงเรียนญี่ปุ่นก็มีการสอนชงชานะครับ อาจเป็นวิชาเลือกหรือวิชาก็ว่าไป แต่พอหนุ่มสาวได้ลองเรียนแล้วจบไป เขาอาจไม่ได้เรียนต่อเนื่องเท่านั้นเอง   The People: ทำไมเราเห็นแต่ผู้หญิงเป็นอาจารย์ชงชา ไม่ค่อยเป็นผู้ชายเลย? โยชิมูระ: ได้ครับ เพราะต้นกำเนิดของการชงชาจริง ๆ แล้วเป็นงานอดิเรกของพวกซามูไร เวลาเขาไปรบราฆ่าฟันเสร็จก็กลับมานั่งชงชาสงบจิตสงบใจ มานั่งดื่มผ่อนคลาย แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็กลายเป็นงานอดิเรกของผู้หญิง เหตุผลที่ซามูไรสมัยก่อนชอบชงชาเพราะเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ในห้องชงชาจะมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นโชกุน ทหาร ชาวบ้าน หรือพ่อค้า พอมาอยู่ในห้องชงชาทุกคนละทิ้งทุกอย่างออกหมดเลย แล้วสมัยก่อนประตูเข้าห้องชงชาจะเล็กมาก ขนาดเท่าตัวบุคคล ต้องลอดเข้าไป ซึ่งการลอดเข้าไปเราต้องเอาทุกอย่างออกรวมไปถึงดาบ ซึ่งเหมือนเอายศทิ้งไว้หน้าประตู พอเข้าไปก็นั่งล้อมวงกัน วนขนม วนน้ำชาดื่มกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายและกลับสู่สามัญ [caption id="attachment_9976" align="alignnone" width="1536"] “เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day ทาเบะ มิคาโกะ (Tabe Mikako), คุโรกิ ฮารุ (Kuroki Haru) และ กิกิ คิริน (Kiki Kirin)[/caption]   The People: หนังได้นักแสดงฝีมือดีมาหลายคน ทำไมคุณถึงเลือกนักแสดงเหล่านี้มาแสดง โยชิมูระ: คนแรกเลยที่ชักชวนมาแสดงก็คือคุณ กิกิ คิริน (Kiki Kirin) บทบาทเป็นอาจารย์ ใช้เวลาในการทาบทามถึง 3 เดือนกว่าจะใจอ่อนมาเล่นให้ ถัดจากคุณคิรินก็เป็นคุณ คุโรกิ ฮารุ (Kuroki Haru) และคุณ ทาเบะ มิคาโกะ (Tabe Mikako) ซึ่งเป็นสองนักแสดงหญิงดาวรุ่งที่กำลังจะเป็นตัวท็อปของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นต่อจากนี้ ผมอยากให้นักแสดงรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ได้มาเจอกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ผมทำได้สำเร็จแล้ว โดยคุณคิรินกับคุณคุโรกะจะเจอกันในรูปแบบอาจารย์กับลูกศิษย์ ส่วนคุณคุโรกิกับคุณทาเบะพบกันในบทบาทลูกพี่ลูกน้อง ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะทุกคนมีชื่อเสียงกันหมดเลย เราถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ปลายปี 2017 ซึ่งตอนนั้นคุณคิรินยังแข็งแรงดีอยู่ครับ ช่วงเดือนกรกฏาคมเดือน 2018 ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะออกฉาย ก็มีการจัดรอบพิเศษซึ่งคุณคิรินได้มาร่วมด้วยกันนับเป็นการออกสื่อครั้งสุดท้ายของเธอ   The People: นอกจากนี้ หนังยังมีไอดอล มิซุกิ ยามาชิตะ (Mizuki Yamashita) จาก Nogizaka46 รุ่น 3 มาร่วมแสดงด้วย ทำไมคุณถึงเลือกเธอมาร่วมแสดง โยชิมูระ: ผมทราบว่าคุณมิซุกิมีงานอดิเรกเป็นการชงชาอยู่แล้ว (เธอเป็นรองประธานชมรมชงชาสมัยมัธยมฯ) ผมจึงอยากสนับสนุนนักแสดงรุ่นใหม่หรือคนที่จะเป็นดาวรุ่งในวงการบันเทิงญี่ปุ่น มีโอกาสได้ร่วมงานกับคุณกิกิ คิริน ก็เลยชวนให้มาเล่นด้วยครับ [caption id="attachment_9977" align="alignnone" width="1536"] “เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day มิซุกิ ยามาชิตะ (Mizuki Yamashita) จาก Nogizaka46 รุ่น 3[/caption]   The People: ที่ประเทศญี่ปุ่นวงการไอดอลบูมมาก อยากทราบว่าวงการไอดอลมีส่วนสนับสนุนวงการบันเทิงญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง โยชิมูระ: วงการบันเทิงเป็นวงการกว้าง ๆ ซึ่งจะแบ่งประเภทเป็นภาพยนตร์ ละคร นางแบบ ไอดอล ฯลฯ คนที่อยู่ประเภทหนึ่ง  ๆ อาจอยู่ในสังกัดเดียวกันหรือค่ายเดียวกัน ซึ่งค่ายนั้น ๆ ก็จะมีหน้าที่ส่งเสริมให้คนในสังกัดตัวเองแสดงความสามารถให้ได้มากที่สุด โดยไม่จำกัดว่าจะต้องทำงานอะไรอย่างเดียวเท่านั้น มันจึงมีกรณีที่ไอดอลมาเล่นหนัง นักร้องมาเล่นละคร คนเล่นละครไปร้องเพลง สลับกันไปเรื่อย ๆ และไม่ยึดติดกับบทบาทใดบทบาทหนึ่งในสังคม   The People: การทำหนังเรื่องนี้ให้อะไรกับคุณบ้าง โยชิมูระ: (นิ่งคิด) ก่อนอื่นขอเท้าความหลังก่อนมาทำเรื่องนี้ก่อน ผมได้คุยกับผู้กำกับว่า ในการทำหนังเรื่องนี้มีเป้าหมายอยู่ 2 อย่างที่จะทำให้สำเร็จก็คือ หนึ่งคือเวลาอยู่ในห้องชา อยากให้คนดูรู้ว่าเราอยู่ในห้องเพื่ออะไร อยากให้รู้สึกถึงความเป็นห้องมากที่สุดแม้จะเป็นการดูหนังก็ตาม ดังนั้นผมจะพยายามถ่ายทอดออกมาให้ได้ดีที่สุด เพราะห้องชาญี่ปุ่นจะละเอียดมาก แบ่งตามฤดูกาลได้ถึง 24 แบบ ต้องสื่อออกมาให้ได้ชัดที่สุดจากพร็อบต่าง ๆ ถ้วยชา ฉากด้านหลัง หรือแสงต่าง ๆ ส่วนอย่างที่สองคือความตั้งใจไม่ให้มีดรามาหนักเวอร์ ๆ ในหนังเรื่องนี้ จะไม่ให้มีความรักหวานซึ่ง โศกนาฏกรรมรุนแรงที่สร้างความเศร้าจากอุบัติเหตุ จะให้เป็นหนังที่เรียบ ๆ ต้องทำออกมาให้ได้ แต่ขายได้ด้วย และสุดท้ายก็ขายได้จริง ๆ นี่คือจึงเป็นสองความท้าทายที่เขาและเป็นผู้กำกับทำได้สำเร็จ ซึ่งรู้สึกดีใจมากเลย และมันจะมีผลต่อภาพยนตร์เรื่องต่อไปของเราด้วย จะว่าไปแล้ว Every Day a Good Day นับเป็นภาพยนตร์อินดี้ ฉายตามอาร์ทเฮ้าท์ต่าง ๆ ด้วยความเป็นหนังที่พูดถึงการชงชา ก็จะเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม ผมจึงอยากให้หนังได้รับความนิยมแบบปากต่อปาก ไม่ได้โปรโมทอะไรมากมาย   The People: วงการหนังญี่ปุ่นมีปัญหาคนดูหนังอินดี้น้อยกว่าหนังบล็อกบัสเตอร์ไหม โยชิมูระ: มันไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นหรอกครับ ที่หนังบล็อกบัสเตอร์จะฮิตกว่าหนังอินดี้ ในญี่ปุ่นปี ๆ หนึ่งก็ผลิตออกมาเยอะมากเลยกว่า 600 กว่าเรื่อง ก็จะมีหนังหลากหลายประเภทมาก ๆ (หันไปมองตารางหนัง) ทำไมโรงหนังไทยมี Spider-man เยอะจังเลย เกือบทั้งโรง ควรเปลี่ยนอย่างอื่นมาแทรกบ้างนะ   The People: ที่ญี่ปุ่นไม่มีกรณีแบบนี้เหรอ โยชิมูระ: (ตอบทันที) ไม่ครับ เขาจะแบ่งสัดส่วนกัน อาจจะเป็นที่เดียวในโลกที่หนังบล็อกบัสเตอร์ เช่น Avenger ไม่ได้ฮิตมากขนาดนั้น   The People: ทราบไหมว่าภาพยนตร์ญี่ปุ่นค่อนข้างได้รับความนิยมในประเทศไทย โยชิมูระ: จริงเหรอครับ คนส่วนใหญ่ดูหนังกันเพราะอะไร ดาราหรือตัวหนัง? (The People: คนส่วนใหญ่จะรู้จักดาราก่อน แล้วค่อยตามดูผลงานกระมัง?)   The People: หนังมีการอ้างอิงหนังเก่าคลาสสิก La Strada (1954) ของ เฟเดรีโก เฟลลีนี (Federico Fellini) ด้วย? โยชิมูระ: La Strada จะพูดถึงสิ่งที่รู้ทันทีกับสิ่งที่ไม่รู้ทันที ต้องใช้เวลาถึงจะเข้าใจ ผมเคยดู La Strada มาตั้งแต่เด็กนานมากแล้ว ซึ่งตอนนั้นดูก็ไม่เข้าใจหรอก พอโตมาถึงเข้าใจว่ามันพูดถึงอะไร ก็เลยเอามาอ้างอิงในหนัง ซึ่งเหมือนกับหนังเรื่องนี้เช่นกัน   The People: คำถามสุดท้าย คุณชอบดื่มชาไหม โยชิมูระ: ชอบสิครับ (ยิ้ม) [caption id="attachment_9975" align="alignnone" width="1200"] “เราอาจหลงลืมการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติไปแล้ว” สัมภาษณ์ โทโมมิ โยชิมูระ โปรดิวเซอร์ Every Day a Good Day โทโมมิ โยชิมูระ[/caption]   ภาพโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior) ร่วมสัมภาษณ์: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย