สัมภาษณ์ ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับเอ็มวีที่ตีเพลงออกมาเป็นภาพ กับ virtual concert จริง ๆ ที่ไม่หลอกคนดู

สัมภาษณ์ ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับเอ็มวีที่ตีเพลงออกมาเป็นภาพ กับ virtual concert จริง ๆ ที่ไม่หลอกคนดู
       ต้น-ยศศิริ ใบศรี หรือที่หลายคนรู้จักเขาในชื่อ ‘หัวกลม’ ถือเป็นผู้กำกับแห่งยุคคนหนึ่งในวงการเอ็มวีไทย ด้วยเทคนิคสมัยใหม่รวมถึงการตีความเรื่องราวออกมาในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ชื่อของ ต้น-ยศศิริ กลายเป็นที่โจษจันอย่างมากในหมู่ผู้สร้างสรรค์งานด้าน visual art ถ้าพูดถึงผลงานเด่นของ ต้น-ยศศิริ แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาที่เขาคว่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงไทย ชายคนนี้มีผลงานเอ็มวีมากมายที่ผ่านกระบวนการทางความคิดในสมองของเขา จนออกมาเป็นผลงานที่โดดเด่นและแฝงไปด้วยอะไรใหม่ ๆ ซึ่งคำว่าใหม่ในที่นี้เป็นเรื่องของการเล่าเรื่องที่แตกต่าง โดยอาศัยเทคนิคด้าน visual art สมัยใหม่ การทำเอ็มวีที่ถ่ายทอดเรื่องด้วยเทคนิค long take ในโทนของความเศร้า หมองหม่นของเพลง ‘เจ็บจนไม่เข้าใจ’ (ปอย PORTRAIT) การใช้กล้อง VR พาคนดูไปพบประสบการณ์การชมเอ็มวีเพลง ‘วิชาตัวเบา’ แบบ 360 องศา การใช้เทคนิควาดทีละเฟรมจนทำให้เพลง ‘Hailstorm’ กลายเป็นภาพสะท้อนของคำว่าคาวบอยไทย ในรูปแบบของ ฮิวโก้-จุลจักร รวมถึงเอ็มวีที่เขาถ่ายทอดความไซไฟของวง Slot Machine จนออกมาเป็นเอ็มวีเพลง ‘จันทร์เจ้า’ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผลงานที่การันตีความสำเร็จของชายคนนี้ได้เป็นอย่างดี The People มีโอกาสสนทนากับ ต้น-ยศศิริ ในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะการทำ virtual live concert  หรือการจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริงรูปแบบใหม่สุด ๆ ให้วง Slot Machine ภายใต้ชื่อ “10 ปีจันทร์เจ้า Virtual Live From The Moon” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้  The People: ตอนเด็ก ๆ เคยคิดเรื่องการทำ visual art หรือเอ็มวีไหม และจุดเริ่มต้นของคุณในเส้นทางสายนี้เป็นมาอย่างไร ยศศิริ: ผมโตมากับบ้านที่ตาเป็นศิลปินแห่งชาติถ่ายภาพ ตั้งแต่จำได้ตาถ่ายแบบอยู่ที่บ้านหลายครั้ง แล้วน้าก็เป็นช่างภาพแฟชั่นสมัยนั้น แต่ว่าน้าทิ้งไปแล้วไปทำบริษัทอิงค์เจ็ทมาจนปัจจุบัน คือผมซึมซับศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แล้วแม่ก็ผลักดันให้วาดรูปประกวดตั้งแต่ประถม แต่ว่ามาชัดเจนเอาเมื่อตอนมหาวิทยาลัยว่าเราชอบปกซีดี เราชอบ art direction ของศิลปิน มันสนุกดี แต่ละแนวมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน สนใจตรงนั้น ผมตั้งเป้าหมายชีวิตสั้นมาก แค่อยากทำปกซีดี ความฝันผมแค่นั้นเลย แต่ช่วงมหาวิทยาลัยก็ทำเว็บไซต์นะ เรียนรู้หัดทำเว็บไซต์ แล้วก็มีงานทำเว็บไซต์อยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1 แล้วก็ปี 2 ผมประกวด virtual concert ตอนนั้นน่าจะเป็น Johnnie Walker เขาบอกว่าผู้เข้ารอบ 2-3 คนสุดท้ายจะได้มาฝึกงานกับ DuckUnit ยุคนั้น DuckUnit มีพี่วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ เป็นหัวหน้าอยู่ ก็เริ่มเข้าสู่โลก virtual concert ตั้งแต่ตอนนั้น ฝึกการทำ animation motion graphic กลายเป็นว่าจากความฝันแค่อยากทำแค่ปกซีดี กลายเป็น เฮ้ย อยากทำมิวสิกวิดีโอสนุกดี ซึ่งมันก็ได้ทำแค่ตอน virtual concert ไม่กี่ครั้งสมัยมหาวิทยาลัย แล้วก็เป็นฟรีแลนซ์ทำ motion graphic display ของ Chaps อยู่ 2 ปี ก็เหมือนได้ฝึกฝีมือไปกลาย ๆ เรื่อย ๆ  สัมภาษณ์ ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับเอ็มวีที่ตีเพลงออกมาเป็นภาพ กับ virtual concert จริง ๆ ที่ไม่หลอกคนดู The People: เอ็มวีตัวแรกเริ่มต้นจากตรงไหน ยศศิริ: ช่วงเรียนจบก็เป็นฟรีแลนซ์ทำ motion graphic สักพักหนึ่งน่าจะสัก 2 ปี ก็ได้มาทำเอ็มวีจริง ๆ ตัวแรกเป็นของ Talkless ศิลปินค่าย SO::ON Dry Flower  ครั้งนั้นได้เชิญไปแสดงงาน...จำชื่องานไม่ได้เหมือนกัน มันก็เลยต่อยอดนะ ได้ทำ Slot Machine ครั้งแรก เอ็มวีครั้งแรกของผมที่ได้เงินหลังจากวง Talkless อันนี้ Slot Machine เพลง ‘เหนือกาลเวลา’ ได้ทำเองครั้งแรกและประสบความสำเร็จ หมายความว่าค่ายชอบ ทำจากความอยากทำอย่างเดียวเลย แล้วก็ทิ้งไปปีหนึ่งเพราะไปเรียนต่อ กลับมาก็ได้ทำ Slot Machine ตอนนั้นช่วงปลายของอัลบั้ม GREY ทำ 3-4 เพลงสุดท้าย ทำ ‘ฤดู’ ทำเพลง  ‘เวิ้งว้าง’ มันเป็นไฟลต์บังคับให้ผมเข้าสู่โลกมิวสิกวิดีโอโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะผมมาจากกราฟิก มาจาก motion graphic มาจาก virtual concert ซึ่งโอเค virtual concert ก็ให้ผมฝึกเรื่องกิจกรรมเข้าจังหวะ เรื่องตัดต่อ ทำอะไรที่โฟกัสจังหวะมากกว่า ซึ่งในยุคสัก 10 ปีที่แล้วยังเป็นยุคที่เอ็มวีบ้านเราส่วนใหญ่เน้นเล่าเรื่อง ถ้าเราพูดอย่างปฏิเสธไม่ได้ พวกเอ็มวีของค่ายใหญ่เน้นเล่าเรื่องเป็นหลักเลย ผมอยู่ ๆ เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ได้เป็นคนในวงการโฆษณาหรือโปรดักชันเลย อยู่ ๆ ก็ทำเอ็มวีที่ใส่เทคนิค เพราะผมโตมากับเทคนิคอะไรใหม่ ๆ ปลั๊กอินใหม่ ๆ ฟังก์ชันใหม่ ๆ มันโตมาแบบนั้น The People: ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ คือการได้มีโอกาสทำงานกับ Believe Records ช่วงปี 2010 ก่อนจะต่อยอดความฝันมาเรื่อย ๆ ยศศิริ: ช่วงนั้นผมก็ทำควบคู่ไปกับ Believe Records หมดเลย ตอนนั้นเอ็มวีแรก ๆ ของ 25Hours, สิงโต นำโชค, แสตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข), Singular, Slot Machine, Musketeers ผมทำทั้งนั้นเลย Believe เรียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2010 ผมทำเกือบหมดทุกตัวเลย ทำยาว ๆ ถึงนู่นปลาย 2011 ที่ได้ฝึกฝีมือบ้า ๆ บอ ๆ ของผมไปเรื่อยนะ มันมาได้รางวัลทำให้ชีวิตไปถึงการทำมิวสิกวิดีโอที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตอน Channel [V] 2011 ได้กำกับภาพยอดเยี่ยมของ Slot Machine จริง ๆ ตัวนั้นมันเข้าชิงหลายสาขา ทั้งด้านกำกับ ทั้ง visual ทั้งตัดต่อ ฯลฯ แต่ผมได้รางวัลถ่ายมิวสิกวิดีโอ มันก็พายาวมาจนถึงได้ทำวงค่ายใหญ่ ๆ บ้าง กลายเป็นอยู่ ๆ ผมก็มีความรู้เรื่องโปรดักชันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไฟเรียกว่าอะไรก็กระดึ๊บ ๆ มาจนเปิดบริษัททำจริงจังไปเลย แต่มันเริ่มมาจาก 2-3 คน และค่อย ๆ กระดึ๊บ ๆ มาจนวันนี้มันก็หลักสิบคนแล้ว  มันพาผมทำมิวสิกวิดีโอรู้ตัวอีกทีก็น่าจะ 200 ตัวแล้ว 10 ปีต่อมา ในช่วงพีคหลังจากที่ได้รางวัล Slot Machine เดือนหนึ่งนี่ประมาณ 5-6 ตัวทุกเดือน ทำจนผมจำไม่ได้แล้วผมทำอะไรลงไปบ้าง ขุดทุกเทคนิค ขุดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นวิธีการนำเสนอของผม ถ้าไปโฟกัสเรื่องเทคนิคการนำเสนอและ visual ใหม่ ๆ ที่ในไทยไม่เอามาใช้กัน ทุกเทคโนโลยีนั้นไม่ว่าจะกล้อง VR ผมก็เป็นคนแรก ๆ ที่ทำ GoPro มาใหม่ ๆ ผมก็เอามาเล่นก่อนเลย เอามาทำเอ็มวี Scrubb กล้อง VR ออกมาใหม่ผมก็เอามาเล่นคนแรกกับเอ็มวีพี่ตูน (Bodyslam) มีโดรนผมก็เอาโดรนมาแรก ๆ เอาเล่นกับเอ็มวี ทำให้ของ LOVEiS ก็เลยกลายเป็นภาพชัดของผมว่า ถ้าคุณอยากทำงานแนวเทคนิค ให้ลองมาดูถึงไอ้ต้น หัวกลม ดูสิมันช่วยได้ ทำแบบนี้ได้ แล้ว animation ผมก็ทำ เพราะอันนี้คือสิ่งที่เอ็มวีหลาย ๆ คนเขาไม่ค่อยทำกันเท่าไหร่ในช่วงที่ผ่านมา นั่นแหละครับ รู้ตัวอีกทีน่าจะประมาณปี 2015 ตอนนั้นผมมีดอกที่ 2 ก็ตอนฮิวโก้ (จุลจักร จักรพงษ์) เพลง ‘Hailstorm’ เป็นมิวสิกวิดีโอ frame by frame เป็นสีน้ำ ก็ได้รับการยอมรับจาก VIMEO ให้เป็น Staff Pick (ขวัญใจทีมงาน) คนนอกสนใจเพราะว่าคนไทยไม่ค่อยได้กัน มันเลยพาผมมาไกล ได้ทำการโฆษณาจริง ๆ เป็นเรื่องเป็นราว สายเทคนิคอย่างพวกเอเจนซี่ เขาก็จะนึกถึงหัวกลมเวลามีงาน animation งานที่ไม่ใช่แค่โปรดักชันอย่างเดียว ผมเปิดโรงเรียนสอนกราฟิกในปี 2015 เพราะผมมาเจอว่าสิ่งที่ผมและเพื่อน ๆ รอบตัวเป็นกันอยู่ มหาวิทยาลัยไม่มีสอนหลายวิชา งั้นเราเปิดเองดีกว่า เพราะช่วงนั้นผมไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยรังสิตอยู่ 2 ปี แล้วก็รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยก็แค่บอกว่าคอร์สนี้ขอแค่ให้นักเรียนขีด ๆ เขียน ๆ ที่เหลือดูแลตัวเอง ผมเลยรู้สึกว่างั้นทำเองแล้วกัน ข้ามไปถึงอันนั้น ถ้ามันง่ายขนาดนี้งั้นทำเองแล้วกัน ได้ 2 เด้งเลย คือผมได้สร้างคน และได้ให้ความรู้คนที่เขาไม่มีโอกาสได้รู้ในสิ่งที่คนอาชีพผมทำโปรดักชัน ทำกราฟิก ทำมิวสิกวิดีโอ ทำ visual อะไรพวกนี้ มันกลายเป็นโรงเรียนก็เข้าปีที่ 5 แล้ว ก็ยังได้รับการยอมรับที่ดีอยู่ เป็นพื้นที่ที่คนเขามาเรียนต่อยอด หรือเสริมความรู้ที่ตัวเองไม่มี หรือหาไม่เจอในออนไลน์ สัมภาษณ์ ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับเอ็มวีที่ตีเพลงออกมาเป็นภาพ กับ virtual concert จริง ๆ ที่ไม่หลอกคนดู The People: การปรับตัวและสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอใหม่ท่ามกลางยุคโควิด-19? ยศศิริ: มาถึงปีนี้ก็ฟอร์มทีมขึ้นมากับเรียนรู้วิชาใหม่ ๆ สกิลใหม่ ๆ จากพี่ต้นใหญ่ (เรืองฤทธิ์ สันติสุข) DuckUnit ชื่อโกฟิช (ไลฟ์) เพื่อรองรับโควิด-19 ว่า เฮ้ย โควิด-19 แม่งคนทำอีเวนต์ก็จัดไม่ได้ ศิลปินก็ว่างไม่มีงานทำ ไม่มีงานให้ไปร้องกัน ในช่วงมีนาคม-เมษายน ก็เลยมีโกฟิชขึ้นมาอีกอันหนึ่ง โกฟิชก็ชัดเจนกับพี่ต้นใหญ่แล้วว่าเราอยากทำ virtual concert วันที่อีเวนต์จริงกลับมามันยังคงอยู่ เพราะเราพยายามทำสิ่งที่อีเวนต์จริง คอนเสิร์ตจริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็เป็นคอนเซปต์อย่างที่ทำกับแสตมป์ขึ้นมา ก็คืองั้นเอาคอนเซปต์รายการข่าว green screen มันหมด แล้วอยากจะเปลี่ยนฉากเมื่อไหร่ก็เปลี่ยน ทำอะไรก็ทำที่คอนเสิร์ตจริงทำไม่ได้ เพราะรู้อยู่แล้วคอนเสิร์ตจริงยังไงมันก็ดีกว่าอยู่แล้ว งั้นเอาภาพนำแล้วกัน ซึ่งก็โอเค ครั้งนั้นก็ได้รับการตอบรับที่ดีนะ ขายตั๋วหมด 1,000 ใบภายใน 15 นาที แฟนคลับได้เข้ามาดูครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ก็ไม่ได้มีข้อผิดพลาดอะไรที่เลวร้ายมาก พอทำแสตมป์เสร็จ ผมก็โทรไปหาค่าย BEC-Tero ทำ Slot Machine บ้างไหม เพราะผมโตมากับ Slot Machine ผมปฏิเสธไม่ได้เลย ผมมีวันนี้หลาย ๆ อย่างเพราะการได้ทำงานมิวสิกวิดีโอให้ Slot Machine เพราะนั่นคือจุดพลุดอกแรกหลังจากที่ผมได้รางวัล Channel [V] คนเข้ามา งานเข้ามาจากตัวนั้นเยอะมาก แล้ว Slot Machine เป็นศิลปินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาเป็นวงไทยร็อกไม่กี่วงที่มีรูปแบบของเขาชัดมาก เขาเป็นไทยร็อกที่มีความไซไฟตลอดเวลา เพราะเขาเชื่อมนุษย์ต่างดาว คือไม่ว่าจะทำ visual อะไรยังไงก็มีเอกลักษณ์อยู่แล้ว ด้วยตัวเขาก็มีเอกลักษณ์มาก The People: เอกลักษณ์ของศิลปินทำให้ง่ายต่อการทำงาน? ยศศิริ: มันไม่เรียกว่าง่าย มันเรียกว่าสนุกครับ มันเรียกว่าสนุก เพราะว่าคิดอะไรที่มีโจทย์ที่ชัดมาก อย่างวงค่ายใหญ่ ๆ แน่นอนเขามีครีเอทีฟที่วางไดเรกชันให้ นั่นก็ง่ายอีกแบบหนึ่ง เขาก็คิดมาให้แล้วว่าต้องทิศทางนี้นะ แต่พอมาเจอศิลปินที่ไม่ได้แมส แต่อินดี้ มีความอิสระเสรีสูงกว่า ก็ได้ทำสิ่งที่เราไม่ต้องกังวลภาพใหญ่ว่าเขาจะชอบไม่ชอบ แล้วยิ่งผมโตมาจากเอ็มวีอินดี้ด้วย โตมาจากความอิสระสูงที่ไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมาก เออ ทำไปเหอะ ให้มันอยู่ในงบ หรืออะไรก็ได้ที่แปลกหูแปลกตาแล้วก็ดึงดูดให้คนสนใจ อย่างที่บอกตอนแรกว่าเอ็มวีไทยเป็นแบบสายเล่าเรื่องมามากเหลือเกิน มากพอแล้ว คือขอทางเลือกอื่นให้คนดูบ้างเถอะ ซึ่งโอเค มันได้รับการยอมรับหลายตัว มาถึงวันนี้ที่ 10 ปีต่อมาจาก ‘จันทร์เจ้า’ 10 ปีที่แล้วมาวันนี้ก็มารวมกันอีกครั้ง ซึ่งจริง ๆ ผมกับพี่ต้นใหญ่ไม่ได้ไปไหนเลยก็อยู่ด้วยกันมาตลอด แกก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน BEAR อยู่แล้ว คือผมโตมาจาก DuckUnit ตั้งแต่ปี 2 จนวันนี้มันก็ 15-16 ปีแล้ว  จริง ๆ ในมุมผมกับพี่ต้นไม่ได้ตื่นเต้นกับการทำงานให้ Slot Machine เพราะว่าอยู่กับมันมาตลอด พี่ต้นก็มีโอกาสจัดให้ Slot Machine อยู่เรื่อย ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งใหม่มันท้าทายในมุมของรูปแบบการนำเสนอว่ามันใหม่จริง ๆ เราค่อนข้างมั่นใจในการพูดคำนี้เลย เพราะว่าเราเอาเทคนิคใหม่ที่ฝรั่งเขาเพิ่งจะเริ่มได้ไม่นาน แล้วก็รูปแบบการนำเสนอ เราอยากจะทำลายความเชื่อของออนไลน์คอนเสิร์ตที่ผ่านมาทั้งหมดว่า มันมีความขี้โกงเยอะแหละ บางทีก็มีการบันทึกไว้แล้ว แล้วก็มาทำให้เนียน สุดท้ายก็ไม่เนียนนู่นนี่นั่น แล้วบางทีก็พยายามใช้เทคนิคใหม่ แต่ก็ไม่ได้ใช้เทคนิคนั้นจริง ๆ The People: ขยายความของคำว่า virtual concert ในแบบคุณได้ไหม ยศศิริ: เราตั้งโกฟิชขึ้นมากับพี่ต้นใหญ่ เพราะเราอยากจะให้คนเห็นประสบการณ์ใหม่ในการดูคอนเสิร์ต เพราะว่าคอนเสิร์ตจริง ๆ ปกติเราคาดหวังให้คนที่ชอบศิลปินเหมือนกันเยอะ ๆ ได้ฟังเสียงดี ๆ แสงสีเสียงดี ๆ แต่ว่าพอเป็นออนไลน์คอนเสิร์ตแล้วมันจะอยู่ใน quality ของหูฟังหรือสปีกเกอร์คอมพิวเตอร์ เราก็เลยมองว่ามันเหมือนดู Netflix ตอนหนึ่ง เราอย่าไปเรียกว่าเราดูคอนเสิร์ตเถอะ เพราะฉะนั้น อย่างตอนแสตมป์ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดี แสตมป์บอกว่า เราอยากจัด playlist b-side เพื่อฮาร์ดคอร์แฟนได้ฟังจริง ๆ เพราะว่าสิ่งนี้ปกติคอนเสิร์ตทั่วไปไม่เกิดขึ้นแน่ ๆ แล้วความเกร็งก็น้อยลง เพราะว่าด้วยความที่อยากจะให้มันสด การที่ภาพหลุดเห็น green screen หรืออะไร อันนี้คือความชัดเจน ความตั้งใจ ที่อยากให้คนดูรู้ว่าเราสดจริง ๆ เราไม่ได้ไปบันทึกแล้วเอามาเปิดเพลย์ในวันที่ถ่ายทอดสด อีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญก็คือ เราอยากแสดงสถานที่ที่คอนเสิร์ตจริงจัดขึ้นไม่ได้ เช่น เล่นคอนเสิร์ตในป่า ผมยกตัวอย่างว่า ศิลปินคนหนึ่งไปร้องเพลงบนยอดเขาหรือในป่าดงดิบ ซึ่งชีวิตจริงเราจะเอาคนเข้าไปในนั้นได้ยังไง ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่น่าจะมาแทนคอนเสิร์ตปกติได้แน่ แล้วเรามาปวดหัวเรื่องนั้นกันว่า เฮ้ย นำเสนอแบบไหนดีที่มันแตกต่างออกไปเลย ตัดเรื่องลำโพงทิ้ง ในมุมของแสตมป์ก็บอกการทำคอนเสิร์ตออนไลน์ก็เหมือนจัดรายการแหละ มันมิกซ์เสียงอีกแบบหนึ่งก็ง่ายขึ้นหน่อย อิสระกว่าเยอะ อย่างของแสตมป์มีจุดอ่อนอยู่อันหนึ่ง ที่พอ green screen กล้องต้องล็อก กล้องนิ่ง ทุกอย่างต้องนิ่งหมดเลย ผมต้องดีไซน์หมดเลยว่าเพลงนี้จะมีแค่ 4 มุมนี้เท่านั้น render แบ็กกราวด์ 4 มุมนี้เท่านั้น กล้องขยับปุ๊บภาพเละแน่ ๆ แต่ครั้งนี้ green screen เหมือนเดิม แต่กล้องอิสระแล้วแบ็กกราวด์ตามหมดแล้ว นั่นแปลว่าผมสร้างโลก Slot Machine ได้สนุกกว่าเดิม ไม่ต้องมาล็อก จะทำฉากเลื่อนไปเรื่อย ๆ มุดเข้าไปในป่า มุดเข้าไปในหัวใครทำได้หมดเลย อันนี้คือความสนุกของมัน แล้วมีเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้กับ Slot Machine เรียกว่า nDisplay ของ Unreal Engine LED กับ green screen กล้องไปทางไหน perspective ติดตามหมดเลย อันนี้คือสิ่งที่ยังไม่มีคนเอามาใช้ ไม่ว่าจะงานอีเวนต์หรืองานคอนเสิร์ต เพราะว่าถ้า LED เฉย ๆ เปิด ข้างหลังขยับไป บางทีมันเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้มันติดตามหมดเลย เลยทำให้ออนไลน์คอนเสิร์ตครั้งนี้สำคัญกว่าครั้งอื่น ๆ และที่อื่น ๆ ก็คือคนที่ดูในจอจะเหมือนว่าศิลปินอยู่ในนั้นจริง ๆ แล้ว และไลน์กล้องก็มีมิติมากขึ้น เพราะว่าก็มีดอลลี่ มีจิ๊บ มีเครนอัป เครนดาวน์ เหมือนที่รายการถ่ายมิวสิกวิดีโอหรือเล่นไลฟ์สดเขามีกันแล้ว โปรดักชันก็ดูแอดวานซ์ขึ้น The People: แฟน ๆ จะได้รับอะไรจากการชมคอนเสิร์ตของ Slot Machine ครั้งนี้ ยศศิริ: ประสบการณ์ใหม่ เรียกง่าย ๆ ก็คือเหมือนดูมิวสิกวิดีโอเล่นสดแล้วกัน เราจะคุยกันตลอดว่า ถ้าถ่ายทอดสดแล้วรูปแบบเหมือนเดิม คือมีเวที มีลำโพง มีไฟ ไปดูจริงเหอะ รอโควิด-19 หมดแล้วไปดูเหอะ แล้วขนาดแค่นั้นยังหลอกตัวเองด้วยการไม่ถ่ายสดเลย นั่นแหละครับอันนี้คือสิ่งที่ผมพยายามบอกทีมกับลูกค้าเสมอว่า ช่วยรักษาจรรยาบรรณหน่อยดีกว่า อย่ามีไอเดียที่ถ่ายไว้ก่อนเถอะ ถ้าศิลปินไม่มั่นใจอย่าทำ ขอร้องเลย มีเดียนี้มันจะพังเร็วขึ้นแทนที่มันจะมาดี คนที่จัดไปผมไม่อยากจะเอาเรื่องใคร แต่มันเกิดขึ้นจริง ๆ คือถ่ายไว้แล้ว แล้วไปหลอกตังค์คนจ่ายเงินมาทำไมกันวะ นิสัยไม่ดี คือถ้าทำในความเป็นจริงอย่าโกหกตัวเองเรื่องมันง่ายมาก แค่นั้นเลย คือถ้าอะไรเกินตัวก็อย่าเพิ่งทำถ้าไม่พร้อม สัมภาษณ์ ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับเอ็มวีที่ตีเพลงออกมาเป็นภาพ กับ virtual concert จริง ๆ ที่ไม่หลอกคนดู The People: นั่นคือสิ่งที่เราเห็นในช่วงโควิด-19? ยศศิริ: แล้วเป็นอย่างนั้นอยู่ “เฮ้ย พี่ไม่ได้สดจริง พี่โกหก” บางทีประชุมก็จับได้ พี่ต้นก็ตัวเปิดเลย เฮ้ย ปลอมหนิ แล้วอีกฝ่ายก็บอก ครับ เหยียบไว้นะอย่าบอกใคร  คือผมมองว่าถ้าเราไม่พร้อมเราอย่าทำได้ไหม มันเป็นผลเสียถึงภาพรวม คือมีคนจับได้ เฮ้ย ถ่ายไว้แล้วนี่หว่า เพราะว่าตอนตัดมาคุยกับคนทางบ้านมันคนละชุด ชุดคนละอัน ออกเหมือนไม่ออก เฮ้ย โกหกเพื่ออะไร ผมเสียดายไง ผมเสียดายสิ่งที่มันน่าจะเรียกว่า new normal ที่สมบูรณ์แบบได้ แต่กลายเป็นว่าทำเสียกันแล้ว The People: งานนี้คือการตั้งบรรทัดฐานการทำ virtual concert? ยศศิริ: ใช่ ก็มีคนทักมาว่าแสตมป์บันทึกไว้ก่อนแล้วหรือเปล่า ผมก็บอกแล้วแต่ ถ้าพี่ทำไม่ได้พี่อย่าหาเรื่องคนอื่นเขาสิ ในนั้นมีคนพูดออกอากาศสดด้วยนะ แต่ผมไม่ได้อยู่ฟัง พี่ต้นใหญ่เขาดู ดูแล้วหัวร้อนตายเลยว่ะ โอเคไม่ดู ไม่รู้ทำยังไง อย่าไปหาเรื่องคนอื่นเขาแล้วกัน เพราะผมพูดตรง ๆ ว่ามันใหม่จริง แล้วหลังจากจบแสตมป์ไปก็มีลูกค้าทัก แล้วผมต้อง educate เขาเยอะว่าข้อจำกัดเป็นอย่างไร และทำยังไงได้บ้าง แล้วคำว่า virtual concert ที่ถูกต้องคืออะไร ลืมอดีตไปให้หมด ลืมรูปแบบว่าจะต้องมาแล้วจะมีไฟไปให้หมด เรากำลังถ่ายมิวสิกวิดีโออยู่ แต่สดและมีคนดูจริง ผมกำชับกับทีมแล้วว่า ห้ามมีความคิดถ่ายทอดไว้แล้ว บันทึกแล้วมาเพลย์เด็ดขาดเลย ผมขอร้อง ผมต้องทำอันนั้นให้ได้ เพราะว่าไม่อยากให้มันเสียอย่างที่ผมบอก มันก็สดได้จริง ๆ แหละ คือห่วยขนาดบางที่ก็ขึ้นภาพคนเยอะ ๆ แต่บันทึกไว้แล้วแล้วเบิ้ล ทำทำไม เราจะหลอกกันทำไม ความเสียหายมันเป็นภาพรวม มันไม่ได้แค่คนคนเดียว มันเป็นหมดทั้งวงการ น่าเสียดาย The People: virtual concert ที่ดีควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ยศศิริ: ไม่ใช่แค่ virtual concert มิวสิกวิดีโอ virtual concert อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับศิลปิน ต้องเคารพศิลปิน หมายความว่าเราต้องเป็นคนอยู่เบื้องหลังจริง ๆ เราต้องเคารพเพลง หมายความว่าโครงสร้างเพลง ถามศิลปินเขาก่อนว่าเขาเน้นช่วงไหน ช่วงไหนเขาหวง ช่วงไหนเขาตั้งใจคิดมาทั้งชีวิต ไม่ใช่ว่าเราทำแต่เล่าเรื่องผ่านลายเซ็นร่วมกับคนใดคนหนึ่ง แล้วผลออกมาถ้าเอาเพลงอื่นไปเปิดกับภาพนี้แล้วความหมายเหมือนกัน นั่นแปลว่าอันนั้นไม่ได้ทำเพื่อเพลง ทำเพื่อตัวเอง  ผมเป็นคนโชคดี ผมถูกฝึกมาตอนอยู่ Believe Records พี่ฟั่น (โกมล บุญเพียรผล) กับ พี่บอล (ต่อพงศ์ จันทบุบผา) ก็จะ เฮ้ย ต้น แม่งเขาตีกลองเพื่อส่งเพลง มึงก็ต้องหกล้มหรือตัดภาพให้สัมพันธ์กับเพลงหน่อย ถ้าเราไปโฟกัสแต่การเล่าเรื่องแล้วคนเขาจะดูเนื้อเรื่องหรือเขาฟังเพลง ให้เขาฟังเพลงสิ นี่เราทำเพลงให้เขา เราไม่ได้เอาเพลงเขามาซัพพอร์ตเรา เราต้องทำภาพซัพพอร์ตเพลง มึงช่วยสัมพันธ์กับเพลงเขาหน่อย บีตกลอง มู้ดเพลงเอาหน่อย อย่าเอาแต่ใจตัวเอง ผมก็ยืนยันทำแบบนี้มาตลอด โอเค หลัง ๆ เคารพสปอนเซอร์ด้วย แล้วเอามาเบลนด์กันให้ได้ The People: การทำงานร่วมกับ Slot Machine ครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ยศศิริ: อย่างที่กล่าวไปคือเขาเป็นวงร็อกที่มีไดเรกชันของตัวเองชัดมาก เนื่องด้วยความชอบส่วนตัวเขาก็ชัด คือเขาเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวจริง เขาเป็นวงร็อกแล้วเขาก็ทำดนตรีในความชอบของเขา ไม่ได้ยึดว่าภาพรวมคนชอบอะไร ไม่ได้ทำเอาใจคนส่วนมากเท่าไหร่ เอาชนะตัวเองซะมากกว่า ผมโตมากับ Slot Machine เกือบจะได้ทำตั้งแต่เพลง ‘ผ่าน’ แล้ว แต่ได้ทำจริงตอนอัลบั้ม GREY ก็เห็นพัฒนาการของเขา อย่างที่บอก ความชอบมันชัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น วงที่มีความชัดแบบนี้แล้วไม่เปลี่ยนเลยมันหายากครับ แล้วครั้งที่ 2 3 4 5 6 มาทำ ไม่ต้องอธิบายมากแล้ว มาแล้วก็รู้แล้วว่า โอเค เราจะดำเนินอย่างไรกันต่อในเพลงนี้ งานนี้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าความชอบแบบนี้ เซ็ตแบบนี้ ยังไงก็คุยกันรู้เรื่องอยู่แล้ว เหมือนตอนผมทำฮิวโก้ ฮิวโก้เขาชัดมาตลอดว่าเป็นไทยคาวบอย แกก็จะชัดเรื่องโทนสี เรื่องภาพลักษณ์ของเขา คือศิลปินอินดี้จะมีความสนุกตรงนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกวงนะ ซึ่งเราก็เห็นจากความสำเร็จของแต่ละวงเองว่าอินดี้ที่ดัง ดังเพราะตัวเขาเอง ดังเพราะความชัดเจนของเขาเอง คนทำงานง่าย มันจะไม่งง The People: แฟน ๆ จะได้รับอรรถรสแบบไหนกับการชมคอนเสิร์ต Slot Machine ครั้งนี้ ยศศิริ: ก็จะได้เห็น Slot Machine ในโลก Slot Machine จริง ๆ สักทีหนึ่ง โอเคผมอยู่กับ Slot Machine มาตั้งแต่อัลบั้มแรก ๆ คืออัลบั้มนี้ Slot Machine ดูแลเองค่อนข้างเยอะกว่าที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเรื่องของเพลง ภาพครั้งนี้ศิลปินตัดสินเองโดยตรงมากขึ้น ที่บอกว่าได้ดู Slot Machine ในโลก Slot Machine เพราะว่าเรากำลังเข้าไปในความคิดของวงอย่างมากเลย ทุกเพลงเลย คือถ้าเล่าให้ฟังแบบสปอยล์ก็คือ เข้าไปในตาที่สามของ Slot Machine เพราะอัลบั้มนี้เราจะเห็นสัญลักษณ์ใหม่ที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นตาที่สาม เราเข้าไปในโลกตาที่สาม ได้เห็นความเชื่อทั้งหมดของเขาว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาเชื่ออะไรอยู่ แล้วแต่ละเพลงมันตีความจากตัวเขาเองหมดเลย และผมทำภาพซัพพอร์ต ตอนจัดไลฟ์คอนเสิร์ต ยานแม่ Mother Ship อันนี้ไปลึกกว่านั้นแล้ว อันนั้นยังเป็นภาพกว้าง อันนี้เราเข้าไปข้างในคือหลายเพลง มันซับซ้อนมากในความคิดของเขา คือ visual ครั้งนี้มันทำให้คนเข้าใจมากขึ้น รูปแบบการนำเสนอใหม่ อันนี้พูดตรง ๆ เลยว่าใหม่จริง ๆ ยังไม่มีใครทำเลย The People: ถ้านึกถึงต้น-ยศศิริ แน่นอนว่าเรื่องเทคนิครวมถึงภาพรวมของเอ็มวีที่ดูทันสมัย น่าจะเป็นสิ่งที่คนพูดถึงคุณมาก ส่วนตัวมองเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านเร็วมาก ๆ ในปัจจุบันอย่างไร ยศศิริ: ยุคผมไม่ได้มี YouTube เยอะขนาดนี้ มันหาดูซ้ำลำบาก เลยทำให้ผมจำความชอบของผมแบบชัดเจนล่ะมั้ง ในยุคนี้ผมมองว่ามันหาเสิร์ชง่ายเกินไป ความคิดมันเปลี่ยนเร็ว ไม่ชัดเจนเหมือนคนรุ่นเก่า เหมือนว่าความชอบคนรุ่นใหม่อาจจะแป๊บเดียวเบื่อแล้ว คำว่า 1 ปีของคนรุ่นใหม่อาจจะนานจังเลย แต่ของผมเพิ่งทดลองเทคนิคได้กว่าจะเป็นก็ครึ่งปีแล้วนะ ขอใช้กับมันต่ออีกหน่อยได้ไหมวะ ไม่เรียกว่ามันเบื่อหรอก ก็เรียกว่าผมโตมากับ virtual concert ตั้งแต่ตอนปี 2 แล้วผมชื่นชอบมิวสิกวิดีโออยู่แล้ว ฟังเพลงที่คนเขาแนะนำแปลก ๆ อยู่แล้ว คือมีความชอบในการฟังเพลงทางเลือก ที่ไม่ใช่ mainstream อยู่แล้ว ก็เลยสนใจเรื่องที่ผิดหูผิดตามาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ สัมภาษณ์ ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับเอ็มวีที่ตีเพลงออกมาเป็นภาพ กับ virtual concert จริง ๆ ที่ไม่หลอกคนดู  The People: เรียกว่างานเทคนิคมีผลต่อชีวิตมาก? ยศศิริ: ผมคิดว่าผมเป็นผู้กำกับสายเทคนิค ค่อนข้างชัดเจนมาตลอด เพราะว่าถ้าย้อนกลับไปประวัติผม ผมไม่ได้โตมากับเล่าเรื่อง ไม่ได้โตมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อะไรเลย ผมเล่าเรื่องไม่เป็น ผมรู้แค่ว่าผมตีเพลงออกมาเป็นภาพได้ดีในรูปแบบของผม ซึ่งย้อนกลับไปในความชัดเจนของศิลปินแต่ละคน อย่างพี่ฮิวโก้ที่แกชัดมากว่าแกเป็นคาวบอย แต่แกคาวบอยไทย แค่นี้ในมุมคนทำงานกราฟิกที่เวลาได้โจทย์งานออกแบบโลโก้หรือสร้างแบรนด์ ก็เพียงพอมากในการทำงานแล้วว่าต้องทำภาพยังไงให้แตกต่าง และแน่นอนก็ต้องทำการบ้านรอบตัวว่า วงร็อกทั้งหมดในบ้านเรามีตรงไหนเขายังไม่เล่นกัน หรืออินดี้ทั้งวงการมีอันไหนเขายังไม่เล่นกัน ก็เรียกได้ว่าผมเป็นผู้กำกับสายเทคนิคที่พยายามเอา art direction ในแบบวิธีคิดแบบกราฟิกและเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มี มาผสมกันนำเสนอเพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ ซึ่งมันเหมาะสมกับอินดี้  mainstream ลงทุนทีมงานกันมากมายคงอาจจะไม่เหมาะทุกครั้ง ซึ่งก็เห็นตัวอย่างชัดมากอย่างเพลง ‘จันทร์เจ้า’ ของฮิวโก้ หรืออย่างพี่ตูน Bodyslam เพลง ‘วิชาตัวเบา’ มันชัดมากในตัวทีมงานผมและผมว่าเราเอาเทคนิคมาเป็นตัวชูโรงอยู่บ่อยครั้ง แล้วก็โอเค ไม่ได้สำเร็จทุกครั้งหรอก แต่ถ้ามันสำเร็จก็เป็นที่พูดถึง และเป็นตัวคลาสสิกยาว ๆ ไปอย่างเช่นที่ผ่านมา The People: ผสานความเป็นตัวเอง งานศิลปะ และการตลาดอย่างไรให้กลมกลืน ยศศิริ: แรก ๆ ผมก็เกเรแหละ งานที่มี tie in ก็ไม่ทำ แรก ๆ ความเป็นศิลปินสูงและไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก เพราะว่าผมก็ตัวคนเดียว แรก ๆ ก็ทำงานคนเดียว ทำคนเดียวทุกอย่าง คิด ถ่าย ตัดต่อ CG จบงาน ขายงาน จ่ายตังค์คนเดียวมาตลอด รู้ตัวอีกทีก็ 2-3 ปีต่อมา เริ่มรู้จักคำว่าเปิดบริษัทนั่นแหละ แต่เปิดบริษัทก็เปิดแบบไม่ได้จริงจัง แค่มีพนักงานประจำที่ช่วยผมเป็นเรื่องเป็นราว การเบลนด์เข้ากับมาร์เก็ตติ้งเพิ่งจะหลายปีมาก ๆ ต่อมา อย่างยุค 3-4 ปีที่ผ่านมา มิวสิกวิดีโอก็ไม่ได้เฟื่องฟู กลายเป็นว่า tie in สินค้าเป็นเรื่องปกติ ก็มองเป็นความสนุกหรือฟังก์ชันที่เพิ่มมาในการทำงานแล้วกัน อย่างที่ผมทำกับสแตมป์ อยู่ ๆ ก็ต้องมีโปรดักต์เข้ามา 2 ช็อต เราเอาไงวะกู ก็ต้องทำ ก็สนุกกับมันให้ได้  อย่างเคยทำให้ Room39 เพลงแรกเลยเพลง ‘หน่วง’ แม่งมีโปรดักต์ ลูกค้ามานั่งตรวจเลย ต้องมีครบ 5 ช็อตนะ แล้วทุกคนคนละกล้องนะ โจทย์นี้ได้มาตอนแรกไง โอเค เราก็วางมาร์กเลย ตรงนี้ต้องคนนี้ ๆ ก็เอาจนได้แหละ ก็อยู่กับมันจนได้ แรก ๆ ก็ไม่โอเค ยี้มาตลอด ยี้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วที่ยังไม่ทำเอ็มวี ทำไมเอ็มวีอันนี้ต้องอยู่ ๆ ร้องเพลงแวะกินน้ำ มันทำอะไรกัน เพราะในความเป็นจริงค่ายเพลงเขาก็มี tie in สินค้าหมด กลายเป็นว่าวันนี้ได้สปอนเซอร์มาเป็นความโชคดี ทำเพลงไม่ต้องออกตังค์ บางทีก็มีบอก ต้น มีตังค์ให้เท่านี้ แต่ต้อง tie in สินค้านี้ทั้งเพลงนะเอาไหม ทำก็ได้ครับ ถ้าว่ากันตรง ๆ พอผมทำบริษัท ผมต้องรันทีมงาน ผมต้องหาเงินเข้าออฟฟิศหาอะไร มองดูแล้วฝึกฝีมือในออฟฟิศเขาบ้าง ลองทำดูบ้าง ท้าทายตัวเองดี มึงจะอินดี้ไปถึงไหน มึงก็โต ๆ แต่งงานมีลูกแล้ว อยู่กับความเป็นจริงดูบ้าง แต่ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าจนถึงวันนี้ก็จะตอบตัวเองเสมอว่า ทำมิวสิกวิดีโอเป็นงานที่สนุกที่สุด ไม่เครียดที่สุด ถ้าโฆษณาซีเรียสเลย เอเจนซี่ก็เครียด ลูกค้าก็เครียด เอ็มวีผมมาในจุดที่มันอิสระ ศิลปินปล่อย 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ปล่อย ต่อให้ทำค่ายใหญ่ก็ปล่อย อย่างทำพี่ตูน เพลง ‘วิชาตัวเบา’ พี่ตูนก็บอกว่าผมแค่อยากบินได้ แค่นั้นเลยที่เหลือก็ลุยเลย ก็เป็นอย่างนั้นจริง แล้วผมก็หาเรื่องท้าทายตัวเองตลอดงาน ตอนนั้นก็ VR ครั้งแรก ตัวกล้องเองในไทยยังไม่มีขายเลย ต้องให้ที่ออฟฟิศบินไปซื้อที่สิงคโปร์ให้ แล้วก็เรียนรู้กล้องวันเดียว วันรุ่งขึ้นถ่ายเลย วัดดวงกันเลยตลอด คือใช้ชีวิตเสี่ยง ๆ นิดหน่อย  ตอนแสตมป์ก็วัดดวงออกเงินกันเองก่อนเลย ผมกับพี่ต้นใหญ่แบบเจ๊งก็เจ๊ง รอดก็รอด อะไรอย่างนั้น วัดดวง เพราะว่าตอนนี้มันกลายเป็นยุคที่ใครไวก่อนได้เปรียบ เปิดก่อนได้เปรียบ เร่งอัปเกรดอย่าอยู่กับรูทีนเดิม ๆ มันไม่พอแล้ววันนี้ เพราะโลกเร็วมาก ไวมาก ผมเห็นหลายอย่างจากคำตอบนี้ จากการเปิดโรงเรียนนี่แหละ คือมันก็มีคนที่เป็นแต่ภาพนิ่งอย่างเดียว แล้วก็เริ่มรู้สึกตัว มันเริ่มไม่มีงานแล้วนะ หนังสือก็ตายไปหมดแล้ว ก็มีเยอะนะที่บริษัททำภาพนิ่ง ทำหนังสือ ส่งคนมาเรียนตัดต่อ มาเรียนทำ motion graphic ก็ยังเห็นว่าบริษัทเขาปรับตัวพัฒนาตัวเองกัน ถ้าไปเจอคนแบบศิลปินอย่างเดียว ไม่สนใจมาร์เก็ตติ้งเลย ถ้าไม่รวยอยู่แล้วผมว่ารอดยากมาก ๆ ในวันนี้ เพราะผมก็บอกกับทีมว่า ถ้าผมไม่ทะลึ่งสร้างโกฟิชขึ้นมาวันนี้บริษัทก็คงปิดแล้วแหละ เพราะว่างานโฆษณาทุกอย่างก็ชะลอตัวกันหมด แล้วเราจะอยู่กันยังไงในเมื่อออฟฟิศผมตั้ง 25 คนตอนนี้ มีโกฟิชขึ้นมาก็โอเค เรามีงานคอนเสิร์ตรันกันต่อ มันไม่ได้มีแค่งานคอนเสิร์ต เพราะเราเปิดประกาศโกฟิชว่าเราไม่ได้ทำ virtual concert เราทำออนไลน์อีเวนต์ ก็มีอีเวนต์ปกติขึ้นมาที่เห็นจากแสตมป์เป็นตัวตั้งขาย เฮ้ย มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอวะ เปิดหูเปิดตาเขา ก็พามาถึงจนมีวันนี้ Slot Machine ก็เป็นอีกครั้งที่ท้าทายในรูปแบบเทคนิค และรูปแบบการนำเสนอ ปล. “10 ปีจันทร์เจ้า” Virtual Live From The Moon” ของ Slot Machine เป็นหนึ่งในซีรีส์คอนเสิร์ต ภายใต้ชื่อ SoundBox Online สามารถรับชมผ่านช่องทางโมบายแอปพลิเคชั่นของ JOOX ในวันที่ 18 ก.ค. นี้