สัมภาษณ์ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์: เปียโน ดนตรี โรแมนติก กับชีวิตใหม่ที่ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ

สัมภาษณ์ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์: เปียโน ดนตรี โรแมนติก กับชีวิตใหม่ที่ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ

       เปียโนหลังใหญ่ และน้ำเสียงนุ่ม ๆ รวมทั้งเมโลดี้หวาน ๆ ในเพลง ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ที่เราจำได้ ไม่ว่าจะเป็นความสดใสในเพลงมั้งความโรแมนติกในเพลง รักเธอหรือเพลงใหม่ชวนฝันอย่างยิ้มก็พอหรือเขตห้ามหวงก็ล้วนสะท้อนตัวตนของ โต๋ ถึงความอารมณ์ดี ขี้เล่น รวมถึงความเก่งในทางดนตรีที่ได้รับการยอมรับของศิลปินคนนี้

The People มีโอกาสพูดคุยกับเขาก่อนคอนเสิร์ตใหญ่ “Tor Saksit Today Live @ Impact Arena” วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม เพื่อถามไถ่ถึงความเป็นไปตลอด 10 กว่าปีของการทำงานสายดนตรีตั้งแต่เป็นนักเปียโนเบื้องหลัง เดินตามฝันจนได้เป็นนักร้องนักดนตรีที่มีเปียโนเป็นเพื่อนคู่ใจ สู่วันที่ท้อ วันที่เกือบยอมแพ้ แต่ก็ลุกขึ้นมาได้ จนถึงวันที่ชายคนนี้ก้าวออกจากกรอบที่ตัวเองเคยสร้างไว้และยิ้มรับโอกาสใหม่ๆเพื่อให้โอกาสตัวเองได้มีความสุขกับเสียงเพลงอย่างเต็มที่อีกครั้ง

The People: ความประทับใจจากการเล่นดนตรีเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนอายุ 3 ขวบเลยไหม

โต๋: ผมเกิดมาในครอบครัวนักดนตรี พ่อผมเป็นหัวหน้าวงคอมโบแกรนด์เอ็กซ์ แน่นอนว่าเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยดนตรี มีกีตาร์อยู่ที่บ้านเต็มไปหมด พออายุ 3 ขวบ คุณพ่อก็เริ่มให้ผมมานั่งที่ตักและสอนเล่นเปียโน แต่เอาจริง ๆ ผมจำไม่ได้ว่าตอนนั้นเริ่มชอบเลยหรือเปล่า เพราะเด็กมาก จำได้แค่ว่าคุณพ่อสอนดนตรี ผมมารู้ตอนโตว่าคุณพ่ออยากให้เล่นเปียโน เนื่องจากเปียโนเป็นพื้นฐานของเครื่องดนตรีทุกชนิดและครอบคลุมทฤษฏีดนตรีทุกชนิด ถ้าเราเล่นเปียโนได้เราจะไปเล่นเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ง่าย และสาเหตุที่คุณพ่อให้เรียนดนตรี ไม่ได้อยากให้เป็นศิลปินแต่อยากให้มีดนตรีในชีวิต ไม่ต้องเล่นเก่งก็ได้ แค่อยากให้มีดนตรีในชีวิต คุณพ่อเลยเริ่มสอน นั่นคือสัมผัสแรกของตัวเองกับดนตรี จนเราอายุประมาณ 6 – 7 ขวบคุณแม่เล่าให้ฟังว่าเราชอบนั่งดูวิดีโอเทปของคุณพ่อ และเราโตมากับการเอาไม้กวาดมาทำเป็นกีตาร์ เอากีตาร์คุณพ่อมาเล่นทั้ง ๆ ที่เล่นไม่เป็น และเวลาคุณครูถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กคนอื่นมักจะตอบว่าพยาบาล หมอ แต่ผมตอบว่านักดนตรี ครอบครัวมีผลต่อผมมาก มันอาจจะเรื่องของยีนและสิ่งแวดล้อม ผมว่าทั้งคู่ และผมก็รู้ตัวว่าอยากเป็นนักดนตรี

The People: แปลว่ารู้ตัวเร็วมาก

โต๋: ผมว่าผมโชคดีมาก ยิ่งเราค้นพบว่าอยากเป็นอะไรเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ มันเหมือนมีจุดมุ่งหมายปักธงไว้ และใช้เวลาทุกวันของเราไปที่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ผมว่าผมโชคดีตรงนี้ชัดเจนเลยว่าเราจะเป็นตรงนี้ เราอยากมีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง เราก็ฝันไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มเอากีตาร์คุณพ่อมาเล่นทั้ง ๆ ที่เล่นไม่เป็น แต่งเพลงเองก็ตั้งแต่เด็ก ๆ มันคือความโชคดีของผม

The People : อีกหนึ่งความโชคดีคือตอนนั้นได้เจอ บอย โกสิยพงษ์ ด้วยใช่ไหม

โต๋: ก่อนหน้านี้ผมโตมากับความฝันเรื่อย ๆ จนอายุ 11 ปี คุณพ่อถามว่าชอบใช่ไหม ผมก็ตอบว่าชอบจริงจัง จากนั้นได้เริ่มเรียนเปียโนคลาสสิคัลแบบจริงจัง มีไปสอบเทียบอะไรแบบนี้ เริ่มแต่งเพลงไปเรื่อย ๆ เริ่มฝันว่าอยากมีเพลงของตัวเอง เริ่มอยากออกเทป ก่อนได้เจอพี่บอย ก็ได้รับเรียกจากค่ายเพลงใหญ่ ๆ เขารู้จักกับคุณพ่อ ก็บอกว่าให้ลูกลองเข้ามาลองสิ แต่คุณพ่อก็ยังไม่อยากให้ไป เอาจริง ๆ คุณพ่อไม่เคยอยากให้เป็นศิลปินเลย ทุกคนชอบคิดว่าเป็นคนผลักดันเข้าวงการ แต่พ่อเคยบอกว่าถ้าเลือกได้ไม่อยากให้เข้าด้วยซ้ำ ให้ไปทำอย่างอื่น เพราะว่าเข้ามาแล้วมันเป็นชีวิตของเราไปเลย มันไม่ใช่แค่มาเล่นดนตรีแล้วกลับบ้าน แต่หมายถึงคนเข้ามาอยู่ในชีวิตของเราเลย คุณพ่อพูดกับเราตั้งแต่สมัยโทรศัพท์ยังไม่มีกล้อง พ่อบอกเลยว่าจะมีกล้องตามเราไปทุกที่ ไปไหนทำอะไรก็จะมีคนตามไปถ่ายรูป จนถึงทุกวันนี้ที่โทรศัพท์สามารถถ่ายรูปได้คือมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ แต่เราอยากเป็นไง เลยไปที่ค่ายเพื่อไปเทสต์เสียง แต่หลาย ๆ ค่ายเขาไม่เห็นด้วยที่เราอยากแต่งเพลงเล่นเปียโนและร้องไปด้วย เพราะเขารู้สึกว่าช่วงนั้นบอยแบนด์กำลังฮิต เป็นอย่างนี้ไม่เวิร์คหรอก เราเลยไม่เอาดีกว่า จนไปเจอพี่บอยตอนอายุ 18 ปี เราเล่นดนตรีอยู่ที่โบสถ์ พี่บอยชวนไปทำงานเบื้องหลังก่อน ผมมั่นใจเลยว่าถ้าตอนนั้นพี่บอยชวนไปออกเทปเลย คุณพ่อจะไม่ให้ พอผมเข้าปี 1 เลิกเรียนผมไปห้องอัด

The People: ตอนนั้นคุณพ่อห้ามที่เราอยากเป็นนักดนตรีไหม

โต๋: ไม่ห้ามครับ เพราะตอนนั้นเราไปทำงานห้องอัด ไปช่วยเล่นดนตรี ไปช่วยแต่งเพลง มียุคหนึ่งที่เพลงละครพี่บอยมีเปียโนเยอะ ๆ เลย อย่างเพลง ‘สักวันหนึ่ง’เพลงประกอบภาพยนตร์นีโม่ หรือจะเป็น ‘เพลงรัก’ ที่ผมเรียบเรียง นั่นคือยุคที่เรียบเรียงในห้องอัดและตื่นเช้าไปเรียน จนถึงวันที่พี่บอยชวนผมไปเล่นคอนเสิร์ต นั่นคือจุดเปลี่ยน

สัมภาษณ์ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์: เปียโน ดนตรี โรแมนติก กับชีวิตใหม่ที่ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ

The People: ตอนนั้นเรามีภาพเป็นนักดนตรีมากกว่า แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณมาอยู่ข้างหน้า

โต๋: มันคือเพลง ‘รักเธอ’ ก่อนหน้านี้เราเข้ามาในวงการสายนักดนตรีมากเลย เราขึ้นคอนเสิร์ตพี่บอย เล่นเปียโน กลายเป็นออกอัลบั้มกับเพื่อน ๆ ชื่อ B5 เป็นอัลบั้มเพลงบรรเลงด้วย และออกคอนเสิร์ตใหญ่ในฐานะนักเปียโน ตอนนั้นยังไม่มีเพลงร้องเลย จนขยับมาถึงปี 2007 ผมเริ่มอยากทำอัลบั้มของตัวเอง อัลบั้มที่อยากร้องไปด้วยเล่นไปด้วย ซึ่งมันกลายเป็นอัลบั้มแรกของเรา เพลงที่เราแต่งตอนอายุ 12 มาอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วย ตอนนั้นคือฝันเราเป็นจริงแล้ว พอออกอัลบั้มปี 2007 ในใจเราต้องการแค่จะบอกว่าเราแต่งเองร้องเองเล่นเปียโนด้วย พอเพลง ‘รักเธอ’ ออกมาดัง มุมหนึ่งก็ดีใจ อีกมุมหนึ่งก็กังวลใจมาก แบบ...ตายแล้วนี่ต้องไปอยู่ข้างหน้าแล้ว เราไม่เคยไปอยู่ข้างหน้า เราพูดไม่เก่ง เราเป็นนักดนตรีเล่นเปียโน ให้เรามายืนสัมภาษณ์เอนเตอร์เทนให้มันสนุก ผมคิดว่าทำไม่ได้หรอก ไม่เคยทำ อย่ามายุ่งกับฉัน อยู่กับเปียโนคือที่ที่ปลอดภัยเป็นเซฟโซน ในมุมหนึ่งเราต้องมาพัฒนาการร้องให้แข็งแรง ต้องร้องหลาย ๆ เพลง แต่ก็โอเคต้องพัฒนาตัวเองอย่างเต็มตัว หลังจากนั้นเราก็มาอยู่ข้างหน้าอย่างเต็มตัว

The People: การที่เราทำเพลงให้คนอื่นกับการที่เรามาทำเพลงให้ตัวเองต่างกันอย่างไรบ้าง

โต๋: มันต่างกัน มันเหมือนกับการที่เราเป็นช่างตัดสูท การตัดสูทให้ตัวเองกับให้คนอื่นมันต่างกัน เพราะร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน ข้อดีของการทำเพลงตัวเองคือเรารู้จักตัวเอง เรารู้ว่าเราอยากทำเพลงแบบไหนคือทำอะไรก็ได้ ข้อดีในการทำเพลงให้กับคนอื่นคือเราได้ลองทำอะไรใหม่ มันก็เหมือนกับการตัดสูทสีเหลืองไม่เข้ากับเรา แต่อีกคนเขาใส่ขึ้น เราก็สามารถตัดให้เขา ข้อสรุปคือเราได้แต่งเพลงที่เราร้องเอง ไม่ได้สามารถทำเพลงแบบอื่น ๆ ข้อควรระวังคือเวลาทำเพลงให้ตัวเองมักเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่เสมอ นั่นเป็นสาเหตุที่หลัง ๆ ผมจะเปิดทำงานร่วมกับคนอื่นอยู่เสมอกับศิลปินหรือโปรดิวเซอร์ชาวต่างชาติมากขึ้น ผมรู้สึกว่ามันต้องมีรสชาติอื่น ๆ บ้าง มันก็เหมือนกับคนทำอาหารทานเองที่บ้านรสชาติเดิม ๆ ทุกวัน เรารู้สึกว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนบ้าง

The People: จากที่เราทำงานคนเดียวมาตลอด จนได้ร่วมงานกับคนอื่นมากขึ้นในอัลบั้มล่าสุด ทำให้คุณชอบการทำงานแบบไหนมากกว่ากันในตอนนี้

โต๋: ตอนนี้ผมชอบการทำงานกับคนอื่นมาก โดยเฉพาะงานความคิดสร้างสรรค์ การแต่งเพลงมันเป็นเรื่องรอง สิ่งหลัก ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความรู้สึก มันต้องสร้างความรู้สึกให้มันมา คนแต่งเพลงจะรู้ว่าเราไม่ได้วิ่งหาเพลง เพลงมันจะวิ่งหาเรา คุณไม่ใช่จะแต่งเพลงออกมา มันอาจจะได้มีทฤษฎีอยู่ในหัว แต่ถ้าคุณสร้างความรู้สึกที่มันใช่ เพลงจะวิ่งมาหาคุณเอง ผมเคยอ่านหลังบ้านของศิลปินท่านหนึ่งของต่างประเทศ จำไม่ได้ว่าใคร เขาพูดว่า “We don’t write good song, a good song find us. We create the vibes.” มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ พอเราทำงานกับคนอื่น อย่างช่วงหลัง ๆ มา ผมแต่งเพลงกับหลาย ๆ คน เพลงล่าสุดของผม ‘เขตห้ามหวง’ ผมแต่งกับแทน Lipta แต่งกับพี่โป (โป โปษยะนุกูล) ข้าว Fellow fellow เรานัดเจอกันเหมือนมานั่งเจอกัน คุยเล่นกันเกือบสองชั่วโมงกว่าจะแต่งเพลง แบบวันนี้เป็นไง ทำอะไรบ้าง แล้วอยู่ดี ๆ เพลงมันก็วิ่งหาเรา

มันไม่ใช่การทำงาน มันคือการมาเจอเพื่อน ช่วงหลังเลยชอบตรงนี้มากกว่า ต่างจากยุคของผมในช่วงแรก ๆ ตอนแรกผมทำเองหมดเลย ซึ่งตอนนั้นก็ชอบที่มันเป็นแบบนั้น ตอนนี้ไม่เอาละ เหงา เหนื่อยเกินไป พอเราอยู่ข้างหน้าด้วย ร้อง สัมภาษณ์ กลับบ้านแต่งเพลงอีก ผมรู้สึกว่ามันทำได้แต่มันกินเวลาชีวิตช่วงแรกผมไปมาก ตั้งแต่ผมเข้าวงการมาปี 2003 จนถึงปี 2013 ก่อนมาทำอัลบั้มชุดใหม่ ผมไม่เคยออกไปเที่ยวเลย ไม่ได้ออกไปเจอเพื่อน นั่งเล่นกับเพื่อน ดูหนัง ผมไม่เคยเลย เพราะว่าผมอยู่เบื้องหน้า กลับบ้านผมก็ต้องทำงาน ผมแต่งเพลง ผม rearrange เองอัดเองทุกอย่าง แน่นอนเป็นความไฟแรงและความรู้สึกอะไรบางอย่างว่าเราต้องทำให้ได้ แต่ตั้งแต่ผมปล่อยมันไปตอนกลับมาทำอัลบั้มใหม่ ผมแบบให้คนอื่นช่วยเราทำ เราได้รสชาติและมุมมองที่มันแตกต่าง และสิ่งที่สำคัญที่สุดเรามีเวลามาใช้ชีวิตของเรา เรามีเวลาที่จะไปดูหนัง มีเวลาไปเตะบอล ไปเที่ยว ไปดูคอนเสิร์ต ไปเดินเล่น ซึ่งมันสำคัญเลย คุณคงไม่สามารถอยู่ในห้องอัดทั้งวัน เป็นไปไม่ได้ ศิลปินก็คือคนเราต้องการจะใช้ชีวิตคุณบอกว่าเราแต่งเพลงเพื่อที่จะให้แรงบันดาลใจคน ในมุมกลับกันเราต้องการแรงบันดาลใจด้วย จะให้เราอยู่แต่ห้องอัดจะไปได้แรงบันดาลใจจากไหน เราต้องออกไปใช้ชีวิตด้วยการทำงานกับคน มันสนุกที่สุดเลยเจอใครและเราทำงานด้วย มันซึมซับ มันตื่นเต้น

The People: ทัศนคติที่เปลี่ยนไปมันคือช่วงที่คุณหายจากวงการไปใช่ไหม

โต๋: ใช่ครับ มันจะมีช่วงคล้าย ๆ dark age ของผมอยู่ช่วงหนึ่ง คือผมหายไปเลย ก่อนหน้านี้เราทำงานมาตลอด ผมออกอัลบั้มแทบจะทุกปี หัวปีของอัลบั้มร้อง ปลายปีออกอัลบั้มบรรเลง เล่นคอนเสิร์ตใหญ่แทบจะทุกปี จนปี 2011 – 2012 ที่ผมไปไต้หวัน ผมรู้สึกว่าคำว่าหมดไฟมีจริง วันที่ผมเบื่อไม่อยากแต่งเพลงแล้ว ไม่อยากเดินเข้าห้องอัด ไม่อยากเล่นเปียโน แต่งไม่ได้เลย เลิก หยุด มันมีจริง บางทีเราต้องก้าวถอยหลังไปสักก้าวก่อนที่เราจะเดินไปข้างหน้า เรากลับมาประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่าเราเป็นอะไร

The People: เคยเบื่อเพลง เบื่อดนตรีไหม

โต๋: ไม่เคยครับ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกที่เบื่อหมดเลย แต่งเพลงไม่ได้ รู้สึกว่าช่วงนั้นมันมีบางอย่างเปลี่ยนไป มันอธิบายไม่ถูก เราเลยขอหยุดไปเลย หาเวลาไตร่ตรอง คิด และตั้งหลักใหม่ สิ่งที่เราคิดได้คือการเปลี่ยนแปลงข้อคิดตัวเอง พอเราเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเอง ชีวิตตัวเอง มันเลยกลับมาอีกครั้งด้วย อย่างแรกเลยสาเหตุที่เราอยากทำอะไรเองทั้งหมดเพราะว่าเราต้องการให้งานออกมาดีที่สุด ประสบความสำเร็จ เราจึงมีความสุข เราต้องการให้มันได้อย่างที่เราคิด พอกลับมาใหม่ผมเปลี่ยนใหม่ ชีวิตเรามันไม่มีอะไรที่ตามแผนทุกอย่างอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าเราไม่ควรเอาความสุขเราไปแขวนกับการประสบความสำเร็จของงาน สุดท้ายแล้วเราเอาความสุขมาตั้งก่อนแทนที่จะต้องรอให้งานออกมาดี เราถึงจะมีความสุข คือมีความสุขก่อนและงานจะออกมาดีเอง

ผมขึ้นเวทีผมไม่ตื่นเต้นแล้ว เมื่อก่อนจะตื่นเต้นรู้สึกว่าต้องทำให้มันดี คือมาถึงแล้วเอนจอยก่อนเลย อะไรก็ได้เรามีความสุขก่อนเลย อย่างที่สอง เราเปิดมุมมองการทำงานให้เห็นมุมมองอื่น ๆ ในชีวิตที่แบบไม่ได้มีแค่งาน เราเป็นศิลปินก็จริง แต่พอเข้าบ้านเราไม่ได้เป็นศิลปิน แบบเราก็เป็นลูก เป็นพี่ เราก็มีหน้าที่อื่น ๆ ในชีวิต พอผมกลับมาคราวนี้ ทำไมชีวิตมันสนุก มันสบายได้ขนาดนี้ ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ตลอดเวลาก็ได้ ตรงนี้ผมกลับมา ผมสบายขึ้น กล้าที่จะออกจากเซฟโซนตัวเองมากขึ้น มันเลยเป็นที่มาของแนวเพลงที่เปลี่ยนไป เพราะทำงานกับคนอื่นมากขึ้น และคุณเห็นผมในรายการ เกมโชว์ เรียลลิตี้โชว์ต่าง ๆ ที่เรามองว่า 10 ปีก่อนคุณจะไม่มีทางเห็นผมเลย เพราะว่าผมไม่ไป เป็นที่มาของการที่คุณได้เห็นผมอยู่ในละคร เมื่อก่อนนักข่าวถามผมว่ามีละครไหม ผมจะตอบเลยว่าไม่ครับ ผมเป็นนักดนตรี คุณจะไม่คิดเลยว่าผมจะมาโผล่ในละคร พอกลับมาอีกครั้งก็เอนจอยครับอะไรก็ได้ 

สัมภาษณ์ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์: เปียโน ดนตรี โรแมนติก กับชีวิตใหม่ที่ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ

The People: ความสุขและนิยามความสุขของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

โต๋: ความสุขของผมคือการเห็นค่าของทุก ๆ สิ่งในชีวิต บางทีคนเราลืมไปว่าทุก ๆ อย่างในชีวิตมันมีค่าหมดเลย บางทีเราสบายทุกวันจนเราลืม ตอนช่วงที่เราหายไปเป็นช่วงที่ผมเคยคิดว่า เวลาของการเป็นนักร้องเบื้องหน้าของเราน่าจะใกล้หมดแล้ว ถึงเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว ไปทำเบื้องหลังเถอะ ผมเคยเล่นอิมแพค อารีน่า ปี 2009 ผมไม่เคยคิดว่าผมจะได้กลับมาเล่นอีก ก็คงหมดแล้ว พอเราหลังชนฝาจริง ๆ เราจะพบบางอย่างที่เป็นความท้าทายว่าเราอยากได้สิ่งนั้นจริงหรือเปล่า มันต้องดิ้นให้หลุดให้ได้ พอหลุดออกมาจะค้นพบพลังอะไรบางอย่าง สิ่งที่ผมค้นพบคือคุณค่าของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ คือความสุข คุณค่าของความเป็นศิลปินเหมือน ๆ กับเราออกไปเล่นคอนเสิร์ตสนุกสนาน ไม่มีใครรู้ว่าจะได้เล่นอีกเมื่อไร หรือเวลาเราเจอคุณพ่อคุณแม่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อไร การที่มีความสุขอยู่ทุก ๆ โมเมนต์นั่นคือความสุข ผมมีความสุขอยู่ทุก ๆ วัน เราทำงานมีความสุขทุก ๆ วัน ครั้งนี้กลับมาเล่นคอนเสิร์ตอิมแพคอีก กลายเป็นแบบมีแต่ความดีใจ วันหนึ่งใครจะคิดว่าจะได้มาเล่น เราไม่มีอะไรจะเสีย  “nothing to lose” นี่คือความสุขล้วน ๆ เลย

The People: การที่คุณเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์คนหนึ่ง พอถึงจุดสะดุดมันทำให้คุณคิดมากด้วยหรือเปล่า

โต๋: ผมว่าทุกคนก็มีขึ้นและลงในชีวิต มีช่วงเวลาที่หาตัวเอง ผมก็มี มันเป็นช่วงที่เรารู้สึกเหมือนกับเราวิ่งขึ้นเขา ทุก ๆ คนก็บอกเราว่าบนเขาคือความสำเร็จและมันสวยงามมาก เราก็เคยขึ้นมาตั้งแต่ต้น พอวันหนึ่งเราขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของภูเขา เราแบบไม่เห็นมีอะไรเลย ทุกคนวิ่งมาเหรอ เราได้เจอเด็ก ๆ ที่พยายามวิ่งขึ้น เราเข้าใจเลย เพราะเราก็เคยเป็นอย่างนั้น แต่เราแค่จะบอกเขาขึ้นไปไม่มีอะไรมาก ขึ้นไปแล้วก็ต้องลง ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่ตรงนี้หรือตรงไหน มันขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถมีความสุขกับทุกโมเมนต์ได้หรือเปล่า ไม่ว่าจะตอนเดินขึ้น อยู่บนนั้น หรือตอนเดินลง คุณคิดแง่บวกกับตัวเองได้หรือเปล่า อดทนหน่อย เดี๋ยวก็มีลูกใหม่ให้ขึ้น การที่เรามีความสุขทุกโมเมนต์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรเราก็มีความสุข เอาความสุขเป็นที่ตั้ง

The People: ตอนนี้ทัศนคติเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ?

โต๋: คือผมมองว่าเราซ้อมให้ดีที่สุดเลย พอก่อนเล่นเราทิ้งทุกอย่าง ขึ้นไปมันสดเลย เมื่อก่อนอะไรพลาดผมจะเครียดมาก นิดหน่อยเอง แต่ magic moment บางอย่างมันเกิดขึ้น เพลงมันสดมาก มันเกิดขึ้น ณ ตรงนั้น ถ้าเราไปฟิกซ์มันมาก บางทีมันแข็ง นั่นคือเสน่ห์ของการแสดงสด ผมเลยแบบมาดูคอนเสิร์ตเถอะ ถ้าคุณดูผมจากเอ็มวี ทีวี ฟังจาก streaming ก็จะอีกแบบหนึ่ง คุณไม่มีทางรู้จักศิลปินจริง ๆ ถ้าคุณไม่ได้มานั่งมองกันจริง ๆ  มาดูว่าเล่นสดเป็นอย่างไร ความรู้สึกโดยรวมมันไม่เหมือนกันระหว่างคอนเสิร์ตกับการนั่งดูเอ็มวีหรือรายการอยู่บ้าน

The People: ถ้าตอน 3 ขวบไม่ได้เล่นดนตรี มีสิ่งอื่นที่อยากทำไหม

โต๋: ผมคิดไม่ออกเลย ถ้าชีวิตไม่มีดนตรีจะทำอะไร เพราะว่าตั้งแต่จำความได้ ไม่มี before after เราอยู่ตรงนี้ตลอด คำถามนี้ตอบยาก มันไม่เหมือนกับการผ่าตัดแบบก่อนผ่าหรือหลังผ่า เท่าที่จำความได้มันเป็นอย่างนี้มาแล้ว ถ้าชีวิตไม่มีดนตรีก็ไม่รู้จะทำอะไร มันเป็นชีวิตเราไปแล้ว ไม่รู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมัน หรือมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา เหมือนกับผสมกันจนมันแยกไม่ออก อันนี้คิดไม่ออกจริง ๆ

The People: สำหรับคุณ “เปียโนคืออะไร

โต๋: สำหรับผมเครื่องดนตรีทุกอย่างโดยเฉพาะเปียโน มันเหมือนพู่กัน ศัพท์ภาษาอังกฤษมันมีเสน่ห์อย่างหนึ่ง เราเรียก music instruments และเวลาเราใช้พู่กันหรือทำงานวิทยาศาสตร์ใด ๆ เขาก็ใช้คำว่า instrument เหมือนกัน เพราะมันคืออุปกรณ์ มันจะเป็นสีอะไร ทำนองอย่างไร กลิ่นแบบไหน มันอยู่ที่คนวาดหมดเลย มันแค่เป็น instrument มันอยู่ที่ user ว่าจะใช้ทำอะไร เสน่ห์ของดนตรีหรือเปียโน คือเพลงเดียวกันให้คนเดินไปที่เปียโนก็เล่นไม่เหมือนกัน คุณฟังเพลงเพลงหนึ่ง เพลงอาจจะยาว 3 นาทีหรือ 5 นาที คนคนหนึ่งเล่นมาไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนเขาเล่นมาจากความรู้สึก ประสบการณ์ ความเข้าใจในชีวิต การเล่นเพลงอกหัก คนนี้อาจจะเจ็บมาก เจ็บน้อย คนนี้อาจจะอินกว่า และผมว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เปียโนหลังนั้นเป็นแค่ instrument วาดมันมาให้คุณฟังเฉย ๆ จริง ๆ แล้วดนตรีมันคือตัวคนเล่าออกมาว่าในชีวิตเป็นอย่างไร

The People: คุณมักจะมีแต่เพลงโรแมนติก คิดว่าตัวเองเป็นคนโรแมนติกไหม

โต๋: ผมว่าความโรแมนติกของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าโรแมนติกในมุมเต็มไปด้วยการเซอร์ไพรส์หรือของขวัญ มันไม่ใช่เลย ผมเป็นคนติดดินมาก ๆ เวลาไม่ทำงานผมชอบอยู่เงียบ ๆ ไปกินก๋วยเตี๋ยว ไปกินส้มตำ ใช้ชีวิตปกติ ในขณะเดียวกันผมชอบคนที่รู้จักกันในฐานะที่เราเป็นเพื่อนกัน เวลาอยู่ด้วยกันไม่มีคำว่าเราเป็นศิลปิน เธอเป็นผู้ประกาศ ไม่มี เราคือวัยรุ่นสองคนอยากไปไหนก็ไป อยากไปดูหนังก็ไป มันคือความธรรมดา สำหรับผมความธรรมดานี่แหละคือความโรแมนติกโดยไม่มีว่าฉันคือใครหรือเธอต้องทำให้ฉันแบบนี้ มันคือความง่าย ๆ ถ้าในมุมนี้คือใช่ แต่ผมไม่ใช่คนที่วันเกิดต้องเซอร์ไพรส์ เรื่องนั้นผมแย่มาก ผมทำไม่เป็น

The People: เพลงไหนที่แต่งมาแล้วเป็นตัวเราในวันนี้มากที่สุด

โต๋: เพลงที่ผมชอบที่สุดคือเพลงที่ผมภูมิใจที่สุด ผมจะฟังในวันที่ผมแย่ มันเป็นเพลงที่ไม่ได้ปล่อยเป็นซิงเกิ้ล แต่เอามาเปิดในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลายทีวีหลายช่องนำมาใช้เยอะ ชื่อเพลงว่าสักวันแล้วมันก็ผ่านไปผมแต่งทำนองเพลงนี้ตั้งใจให้มันไทย ๆ ผมตั้งใจพูดถึงว่าทุกสิ่งมันต้องผ่านไป จะทุกข์จะสุขขนาดไหน มันจะผ่านไป เพลงนี้ไม่ได้แสดงถึงตัวผมเพียงคนเดียว เพราะชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง ก็เหมือนมีคอนเสิร์ต เล่นดีมากแค่ไหน จะมีคนกรี๊ดมากแค่ไหน เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เช้า เดี๋ยวคนเขาก็กลับบ้านกัน หรือวันนี้เล่นไม่ค่อยดีเลย พรุ่งนี้ก็เช้า ทุกอย่างก็จะผ่านไปหมด ผมรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ทำให้ผมผ่านช่วงแย่ ๆ มาหลายครั้ง เพลงนี้พี่บอยเป็นคนเขียนเนื้อ

สัมภาษณ์ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์: เปียโน ดนตรี โรแมนติก กับชีวิตใหม่ที่ปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ

The People: ในฐานะที่คุณเล่นเปียโนและเป็นคน perfect pitch (ศัพท์ทางดนตรีที่พูดถึงคนที่ได้ยินเสียงต่าง จะสามารถบอกได้ทันทีว่า เสียงนั้นคือตัวอะไร) ในอนาคตเราจะได้เห็นคุณพยายามทำเสียงเพี้ยน บ้างไหม

โต๋: คำถามนี้แปลก ไม่เคยเจอ การเป็น perfect pitch จะมีข้อดีหรือความลำบากของมันอยู่ เพื่อนเคยพูดถึงวงดนตรีแบบ ambient music ที่แบบจะเป็นอีกขั้นหนึ่ง แบบพวกคล้ายดนตรี avant garde หน่อย ซึ่งเพื่อนผมก็ถามผมอยู่บ้างว่าทำไมไม่ลองไปทำอะไรแบบนั้นดูบ้าง ให้มันหลุดไปอีกโลกหนึ่ง ผมว่าช่วงหนึ่งชีวิตก็จะพาไป ตอนนี้ผมอยู่ในสายเพลงป๊อป วันหนึ่งเราก็อยากทำอะไรที่เป็นแบบนั้น ผมมีความฝันไม่กี่อย่าง เราอยากอยู่วงการนี้ไปนาน ๆ แน่นอนว่าตอนอายุเยอะแล้วเพลงเราก็คงไม่เหมือนตอนนี้ สิ่งที่ผมชอบ ผมอยากทำเพลงบรรเลง อยากบรรเลงเปียโนหรือทำเพลงที่มันแปลกออกไป อีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบคือผมชอบ แฮร์รี่ คอนนิก จูเนียส์ และ ไมเคิล บูเบลย์ มาก ๆ ผมอยากทำอย่างนั้นเหมือนกันแต่เป็นเพลงไทยหมดเลย ฝันอยากเล่นดนตรีบรรเลงกับออร์เคสตร้า เล่นที่สนามหลวง แต่ตอนนี้เราสวมหมวกเพลงป๊อปอยู่เราก็เอนจอยช่วงนี้ไปก่อน ในอนาคตอาจจะได้เห็น เป็นความคิดที่ดี แปลกดี

The People: สำหรับคุณ ตอนนี้มีความสุขที่สุดหรือเปล่า

โต๋: ใช่ ผมรู้สึกผมมีความสุขกับชีวิตตัวเองแบบนี้ที่สุด หลาย ๆ อย่างมันต้องผ่านไปได้ มันต้องเข้าใจ เมื่อก่อนเราเป็นแบบนี้ ไม่แน่หรอกอนาคตผมอาจจะกลับมามองตัวเองแล้วแบบ นั่นน่าจะดีกว่านี้ นี่น่าจะดีกว่านั่น แต่มันคือการเดินทางของชีวิตไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าทำอะไรให้ความสุขเป็นที่ตั้งก่อน ทำโมเมนต์ตรงนี้ให้ดี ถ้าคุณเห็นค่ามัน ชีวิตของคุณจะมีความสุขขึ้น

The People: ฝากคอนเสิร์ตใหญ่หน่อย ทำไมถึงแตกต่างจากทุกครั้ง

โต๋: ครั้งนี้ผมตั้งชื่อเองเลย คือ “Tor Saksit Today Live @ Impact Arena” จะมีขึ้นวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2019 เหตุผลที่ตั้งชื่อนี้ ผมไม่เล่นคอนเสิร์ตใหญ่มา 10 ปีแล้ว ผมเคยผ่านช่วงที่คิดว่าคงไม่ได้มาเล่นคอนเสิร์ตใหญ่อีกแล้ว แต่วันนี้เราได้กลับมาอีกครั้ง ได้เป็นศิลปินอีกครั้ง Today คือบางทีเรารู้จักใครมานานจนลืม หรือเราจำแต่ภาพแรกและไม่ได้ตามแล้ว เราอาจลืม เหมือนเราเจอหลานพอเจออีกทีโตแล้ว ยังนึกว่าอยู่ ป.6 อยู่เลย เราโตเขาก็โตด้วย แต่เราไม่ได้อัพเดตกัน คำว่า Today คือเรารู้สึกว่าเราพร้อมมากที่จะได้กลับมาเล่นคอนเสิร์ตครั้งนี้ เราผ่านอะไรมา เราติดอาวุธครบมือ รู้สึกว่าดูกันเถอะ เราพร้อมมาก อยากเล่นมาก ความหมายที่สองของเราคือการที่เราเห็นค่าสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิต มันทำให้โมเมนต์ที่เกิดขึ้นมันมีความสุข ถ้าไม่เล่นวันนี้จะได้เล่นอีกทีวันไหน ไม่เจอกันวันนี้จะได้เจอกันอีกทีวันไหน ช่วงเวลานี้มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เราไม่ใช่แค่ให้แฟนเพลงมาเจอเรา เราอยากเจอแฟนเพลงเราด้วย บางคนตามเราตั้งแต่เรียนมัธยม ตอนนี้อุ้มลูกแล้ว ไม่ค่อยได้ตามเราแล้ว ก็มีหน้าที่การงาน พอพูดว่า Today คือการได้มารวมตัวกันอีกครั้ง มาเจอกันอีกครั้ง ได้เล่นเพลงที่แบบเพลงนี้อยู่ในชุดรักเธอ 12 ปีกว่า ๆ ยังไม่เคยได้เล่นเลย ผมว่ามันเป็นความผูกพันกับแฟนเพลง และได้บอกว่า โต๋ ศักดิ์สิทธ์ ในปี 2019 เป็นอย่างไร ผมว่ามันคือความสนุกของคอนเสิร์ตนี้ ตื่นเต้นแบบไม่ได้กลัว แต่ตื่นเต้นแบบอยากเล่นมาก มีความสุขมาก มีความสุขก่อนเล่น สมัยก่อนคือต้องเล่นให้มันดี แต่ตอนนี้คือมีความสุขก่อนเลย เดี๋ยวมันดีเอง 

  ร่วมสัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ