อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน

       ครอสฟิต (CrossFit) เป็นการออกกำลังกายที่รวมหลายอย่างเข้าด้วยกันเช่น คาร์ดิโอ, ยกน้ำหนัก, ยิมนาสติก, เวทเทรนนิ่ง เป็นต้น เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นการออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและร่างกายแล้ว กีฬาชนิดนี้ยังต้องอาศัยความคล่องตัวอีกด้วย

แม้กีฬาชนิดนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ถือเป็นกีฬาที่มีคนหันมาสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี และถ้าให้พูดถึงนักกีฬาที่เป็นที่รู้จักในวงการนี้ แน่นอนชื่อของ จ๋า-อุรชา ตีระวานิชสันติ์ น่าจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่ถูกหยิบมาพูด

จ๋า-อุรชา หรือเจ้าของฉายา “หญิงเหล็ก” คือนักกีฬาครอสฟิตดีกรีตัวแทนประเทศไทย ที่ได้ไปแข่งรายการครอสฟิตชิงแชมป์โลกปี 2018 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นรายการที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีชาวเอเชีย 1-2 รายเท่านั้นที่ได้เข้าไปแข่งในรายการนี้

แน่นอนถ้าเกิดไม่มีอะไรผิดพลาด นี่จะเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยของเราได้มีโอกาสสร้างชื่อในเวทีระดับโลก แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซ้อน ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นสามเดือน จ๋าได้รับอุบัติเหตุข้อเท้าหักจากการฝึกซ้อม และทำให้เธอต้องถอนตัวจากการแข่งขันที่เป็นเหมือนความฝันของเธอมาตลอด

แน่นอนว่าแม้เหมือนฝันจะสลาย แต่เธอไม่คิดที่จะย่ำอยู่กับที่ เธอหันมาตั้งหน้าตั้งตาซ้อมอีกครั้งในขณะที่ขายังเข้าเฝือก The People ได้พูดคุยกับเธอหลากหลายประเด็น ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกีฬาครอสฟิตที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเธอแบบที่เรียกได้ว่าฮาร์ดคอร์สุด ๆ

 

The People: เริ่มต้นชอบกีฬาตอนไหน

อุรชา: ตอนเด็ก ๆ เป็นคนไม่ชอบเล่นกีฬาเลย และไม่มีความคิดที่จะชอบเล่นกีฬา เพราะว่าเด็ก ๆ เป็นเด็กเรียน เลิกเรียนที่โรงเรียนก็ไปเรียนพิเศษ ชีวิตวนเวียนอยู่แค่นี้ คือไปเรียน เรียนพิเศษกลับบ้าน ไม่เคยเล่นกีฬาใด ๆ ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นเด็กเนิร์ดคนหนึ่ง เพราะที่บ้านก็ค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องนั้น คือต้องเรียนดี ต้องตั้งใจเรียน ต้องขยันเรียน เน้นเรื่องเรียนเป็นหลัก 

The People: แล้วช่วงเวลาไหนของชีวิตที่ทำให้เราหันมาเริ่มชอบกีฬา

อุรชา: เริ่มจาก 7-8 ปีที่แล้วอยากจะผอม รู้สึกว่าตัวเองอ้วนแล้วกินเยอะ เมื่อก่อนเป็นคนที่เหมือนเป็นโรคจิต กินอะไรก็รู้สึกผิด รู้สึกว่ากินเยอะ กินเสร็จก็ชั่งน้ำหนักทั้งวันทั้งคืน นอนก็ชั่งน้ำหนัก ชีวิตยึดติดกับเลขบนตาชั่งมาก ก็เลยเริ่มเข้าฟิตเนสธรรมดา ตอนนั้นเล่นอะไรไม่เป็นเลย กินเสร็จก็เดินลู่วันละ 3 ชั่วโมง ก็เลยผอมมาก ๆ แต่ว่าผอมแบบมีพุง จนได้ไปเจอกีฬาครอสฟิตก็เลยเริ่มเล่น

ต้องบอกว่าตอนแรกเล่นเพื่อเป้าหมายเดียวคืออยากผอม อยากกินอะไรก็ได้เพื่อผอม แล้วพอมาเจอกีฬาชนิดนี้มันก็เปลี่ยน mindset เราว่าถ้าเรามีกล้ามเนื้อ เราก็จะเบิร์นได้เยอะขึ้น คิดว่าถ้าเบิร์นได้มากขึ้นก็กินได้เยอะขึ้น เลยเล่นกีฬาที่มีกล้ามเนื้อ เริ่มจากยกเวทนี่แหละ เล่นตามเขาไป ยังจำได้เลยว่าตอนเข้าคลาสครอสฟิตครั้งแรกมันสนุก ไม่จำเจ แล้วก็ได้เห็นผู้หญิงเหมือนกันเขากระโดดเชือกได้ push up ได้ วิดพื้นได้ ดึงข้อได้ เราก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องผอมก็ได้ แต่เราทำอะไรได้มากกว่านั้น

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน

The People: จากเล่นแบบสมัครเล่น แล้วมาเริ่มเล่นจริงจังได้อย่างไร

อุรชา: เมื่อ 6 ปีที่แล้วตอนเริ่มเล่นครอสฟิตครั้งแรก มันยังไม่ค่อยแพร่หลาย ในกรุงเทพฯ มีแค่ 2-3 ยิม เราก็เริ่มเล่นจากในคลาสก่อน แล้วทีนี้เขาก็เริ่มชวนกันว่าบินไปแข่งที่สิงคโปร์กันไหม เราก็เลยลองดู เป็นอะไรที่แปลกใหม่ดี เลยเป็นจุดเปลี่ยนว่าเราต้องพยายามทำให้ได้เพื่อจะไปแข่ง เราก็เลยต้องเริ่มขยัน เริ่มฝึกซ้อม เพื่อให้สามารถผ่าน standard ตรงนั้นไปได้ เป็นจุดเริ่มที่จ๋าเริ่มเข้ามาอยู่ในวงการครอสฟิตมากขึ้น

The People: ย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่น จากที่เคยเป็นเด็กเรียนแล้วต้องมาเปลี่ยนตัวเองไปเพราะกีฬา เรารับมือกับทางบ้านอย่างไร

อุรชา: ตอนแรก ๆ ที่เริ่มเล่นครอสฟิต ต้องบอกว่าจ๋าดรอปเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วย เป็น gap year หนึ่งปี คือหยุดเรียนแล้วก็ลาออกจากที่เรียนที่แรก ตอนนั้นที่บ้านไม่เห็นด้วย แต่เรารู้สึกว่าไม่เอ็นจอยกับชีวิต คือสอบเข้าไปได้ แข่งขันเข้าไปได้ในจุดที่คนอื่นอยากเข้าไป เมื่อก่อนเคยเรียนหมอจุฬาฯ จนอยู่ปี 3 เทอม 1 ตื่นมาทุกวันรู้สึกจะร้องไห้ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากเจอหน้าใคร อยากอยู่บ้าน มันรู้สึกไม่โอเค แต่ก็ตื่นไปเรียนทุกวันเพราะไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะไปไหน ชีวิตก็แค่ไปเรียนและกลับบ้าน จนกระทั่งมาเจอกีฬาครอสฟิต เราเริ่มรู้สึกเสพติด รู้สึกชอบ และมันทำให้ชีวิตมีจุดมุ่งหมาย ก็เลยย้อนกลับมาถามตัวเองว่าที่ทำทำอะไรอยู่ แล้วเรียนจบจะอย่างไรต่อ จะไม่มีความสุขไปตลอดชีวิตเลยไหม

จ๋าก็เลยหยุดมา 1 ปีเพื่อทบทวนตัวเอง แล้วพอรู้สึกว่าคงไม่ใช่แล้วแหละก็เลยลาออก แล้วค่อยไปบอกพ่อแม่ พอรู้ที่บ้านก็ว่าและโกรธเรามาก ทะเลาะกันอยู่เป็นปี จนกระทั่งเล่นครอสฟิตไปเรื่อย ๆ และเริ่มมีงานสอนด้วย มีรายได้จากการสอน เริ่มไปแข่ง เริ่มมีรายได้จากชื่อเสียง ก็เลยพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเราทำอะไรได้จากกีฬาแบบนี้ อาชีพแบบนี้ แล้วค่อยกลับไปเรียนต่อ ก็เพิ่งเรียนจบไปเมื่อเทอมที่แล้ว

The People: นิยามของครอสฟิตในมุมของตัวเอง? 

อุรชา: ครอสฟิตเป็นกีฬาที่สู้กับตัวเอง คนอื่นอาจจะคิดว่าต้องแข่งกับคนอื่น แข่งกับเพื่อน แข่งกับ leader board แข่งกับคนในคลาส แต่สำหรับจ๋าคิดว่าไม่ใช่ มันเป็นกีฬาที่แข่งกับตัวเองล้วน ๆ เลย เพราะว่าคนอื่นไม่สามารถมา force ให้ทำนู่นทำนี่ได้ มีแค่ตัวเราเองที่จะลากร่างกายขึ้นมาฝึกซ้อม ขึ้นมา push ตัวเองให้ไกลกว่าเดิม

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน

The People: นอกจากจะต้องใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายแล้ว ความคล่องตัวคือหัวใจของกีฬาชนิดนี้เช่นกัน?

อุรชา: มันเป็นกีฬาที่ค่อนข้างรวมหลาย ๆ อย่าง เวลาคนเสิร์ชคำว่าครอสฟิตในกูเกิล จะมองเห็นแค่ว่าเขาแข่งจริงจัง เห็นแบบ competitive เห็นเวลาเขาตัวใหญ่ ยกหนัก แต่จริง ๆ มันไม่ได้มีอย่างนั้นอย่างเดียว ถึงเขาจะตัวใหญ่ก็ต้องวิ่งเร็วด้วย ต้องแบกน้ำหนักตัวเอง ปืนขึ้นไปบนเชือก บนลิง โหนตัวเอง ทำให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นครอสฟิตจะค่อนข้าง well-rounded มากกว่าที่จะไป specific ที่ต้องยกหนักอย่างเดียว

ครอสฟิตใช้ทั้ง physically และ mentally ด้วย ไม่ใช่แค่ร่างกายที่จะแข็งแกร่งอย่างเดียว มันอยู่ในหัวเราด้วย ถ้าเราไม่อยากจะยอมแพ้ ไม่อยากจะ give up มันไม่ใช่แค่เราสู้กับคนอื่น เราต้องสู้กับตัวเองด้วย เราอยากจะทำได้ดีขึ้น เร็วกว่าเดิม เร็วกว่าเมื่อวาน ดีกว่าเมื่อวาน

The People: พูดถึงด้านจิตใจ เรามีความอยากจะพิสูจน์ตัวเองในกีฬานี้ขนาดไหน

อุรชา: มาก ๆ เลย มากที่สุดก็คืออยากจะพิสูจน์ว่าเราทำอะไรได้มากกว่าที่ตัวเราคิด เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ทุกอย่างคือตามกระแส เทรนด์อยากผอมก็ผอมด้วย อยากจะอย่างนู้นอย่างนี้ตามคนอื่น จนกระทั่งเจอครอสฟิต มันทำให้รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนคนอื่น เราเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเมื่อวานได้ พอคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดความท้าทายในการเล่นกีฬานี้และเกิดความท้าทายในตัวเองด้วย

The People: มีท้อบ้างไหม

อุรชา: จริง ๆ ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบซ้อมมาก เหมือนกับว่าชีวิตตื่นมาก็ดูแล้วว่าต้องซ้อมอะไร โฟกัสมากกับการซ้อม คลั่งไคล้ในการซ้อมมาก ๆ แต่ก็มามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากที่จ๋ารู้ว่าจะได้ไปแข่งที่อเมริกา ซึ่งมันเป็นความปรารถนาของนักกีฬาครอสฟิตทุกคนที่จะได้ไปแข่งรายการนี้ และเราก็ได้ไป แต่ว่ามาเกิดอุบัติเหตุ ตกลงมาจากบาร์ข้อเท้าหัก ตอนแรกก็รู้สึกว่ายังทำใจไม่ได้ คิดว่ายังไงก็จะไป คิดว่าสภาพไหนก็จะไป จนกระทั่งคุยกับหมอ คนรอบ ๆ ข้างบอกว่าไม่คุ้มถ้าไปแบบนี้ เราไปก็ทำอะไรไม่ได้ ไปยืนดูเขาเหรอ หรือว่าจะทำให้แย่ลงกว่าเดิม แล้วอาการบาดเจ็บก็จะไม่หายไปตลอดแบบนี้เหรอ ก็เลยกลับมาคิดว่าควรถอยก่อนดีไหม ค่อยไปคราวหน้า เอาให้ตัวเองหายก่อน อันนี้ก็ยากเหมือนกัน เป็นจุดที่ยากที่สุดในชีวิตตั้งแต่เล่นครอสฟิตมาเลยก็ว่าได้

The People: เป้าหมายของเราในการเล่นครอสฟิตคืออะไร ต้องคว้าแชมป์ตลอดไหม

อุรชา: จริง ๆ ที่คิดทุกวัน เวลาซ้อมทุกวันคือทำให้ดีกว่าเมื่อวาน ทำให้ดีกว่าอาทิตย์ที่แล้ว ทำให้ดีกว่าเดือนก่อน เป็น mindset ของตัวเรา

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน

The People: ในวงการครอสฟิต มีผู้หญิงเยอะไหม

อุรชา: ในเมืองไทย เพศหญิงยังเล่นไม่ค่อยเยอะเมื่อเทียบกับผู้ชาย แต่ถ้ามองทั่วโลกสัดส่วนผู้หญิงกับผู้ชายพอ ๆ กัน 

The People: คิดว่ามันมีผลมาจากการที่ผู้หญิงไม่อยากมีกล้ามไหม ส่วนตัวเรามองความคิดนั้นอย่างไร 

อุรชา: เกี่ยวเยอะมากเลย เมืองไทยเทรนด์ผู้หญิงเข้าฟิตเนสในบ้านเรายังเป็นความสวยงาม ผู้หญิงยังชอบความสวยความผอม ไม่ชอบมีกล้ามมาก หรือผู้ชายก็อยากกล้ามใหญ่หุ่นดี คือไม่ได้อยากกล้ามใหญ่แบบเพาะกายแต่อยากมีกล้าม หุ่นดีอะไรอย่างนี้ ทำให้คนที่มาเล่นครอสฟิตแรก ๆ เกิดความสงสัยเหมือนกันว่าใช่แนวที่อยากเล่นหรือเปล่า แต่ถ้ามองเวลาที่เราไปแข่งเมืองนอกเทรนด์เขาไม่เหมือนเรา คนเขาอยากจะแข็งแรง ทำให้สัดส่วนการเล่นของเมืองไทยกับเมืองนอกไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเมื่อก่อนเคยเป็นแบบนั้นที่อยากจะผอม คิดว่าผอมแล้วดี แต่ว่าพอเจอสิ่งที่ชอบ สิ่งนั้นก็เป็นเรื่องเล็กไป ไม่ได้สนใจแล้วตอนนี้

The People: เป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคน?

อุรชา: ใช่ คิดว่าเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนด้วย สภาพแวดล้อมก็เกี่ยวเหมือนกัน ถ้าอยู่กับคนรอบข้างแบบ เออ...เขานิยมผอมสวย มันอาจจะทำให้ perception ของความสวยเป็นแบบหนึ่ง จริง ๆ ความสวยมันแล้วแต่คนมอง ไม่มีคำนิยามอะไรบอกว่าอันนี้คือสวย อันนี้คือดี อันนี้คือไม่ดี มันอยู่ที่เราแฮปปี้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอก

The People: คิดอย่างไรกับที่ผู้ชายชอบแฟนผอม ตัวเล็ก

อุรชา: คิดว่าไร้สาระมาก ผู้ชายพวกนี้ไร้สาระมาก ถ้าเกิดว่าเป็นแฟนกันแล้วมาบอกว่าเธอต้องผอมแล้วจะสวยมาก ไม่ได้เรื่องเลย เราเป็นผู้ชาย เราต้องสนับสนุนให้เขาแฮปปี้ในสิ่งที่ตัวเองเป็น ถ้าเกิดเขาจะกินแล้วอ้วนแล้วเขาแฮปปี้ แต่ถ้าเขา healthy มีสุขภาพที่ดีก็ควรจะสนับสนุนเขา แต่ไม่ใช่กินอ้วนเป็นเบาหวานแบบนี้ไม่ถูก

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน

The People: แล้วผู้หญิงอย่างเรา สามารถแข็งแรงได้เท่าผู้ชายไหม

อุรชา: ได้ เวลาแข่งมีผู้หญิงหลายคนที่หน้าตาสวย ตัวใหญ่ และกล้ามเขาก็ลีน ก็ยกได้เท่ากับผู้ชายเลย มีแบบนี้เยอะ ซึ่งเราคิดว่าคนเหล่านี้เก่งมาก ทำได้ขนาดนั้น

The People: นิยามของคำว่าแข็งแกร่งของผู้หญิงอยู่ที่ภายนอกหรือภายใน 

อุรชา: ถ้าไม่นับแค่ physically ยกของได้หนัก ก็คืออยู่ที่จิตใจเรา อยู่ที่ mindset เราอ่อนไหวไปตามกระแสไหม ใครมาพูดอะไรก็คิดเล็กคิดน้อย หรือว่าอยู่ที่ตัวเองแฮปปี้กับสิ่งที่ทำ เราตั้งใจจะทำอะไรแล้วไปให้สุด อันนี้คือความแข็งแกร่งมากกว่า

The People: มีอะไรที่จะแนะนำผู้หญิงที่จะมาเล่นกีฬานี้ไหม

อุรชา: สาว ๆ ถ้าอยากมาเล่นครอสฟิตให้มาลองก่อน อย่าเพิ่งไปกูเกิลแล้วเห็นครอสฟิต เฮ้ย! เล่นแล้วตัวใหญ่ น่ากลัว อย่าเพิ่งไปตัดสินตั้งแต่ยังไม่เคยลอง ให้ลองมาเล่นดูก่อน จริง ๆ เล่นครอสฟิตไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่ ต้องเป็นแบบนี้ เป็นแบบจ๋า หรือเป็นแบบคนอื่น การซ้อมการกินมันมีผลกับร่างกายหมด ไม่ใช่มาเล่นคลาสชั่วโมงเดียว 2-3 วันต่ออาทิตย์ แล้วมันจะเปลี่ยนร่างกายเราขนาดนั้น ให้มาลองก่อน

The People: เคยมองย้อนกลับไปแล้วกีฬาชนิดนี้ให้อะไรกับเราบ้าง 

อุรชา: ครอสฟิตเป็นทุกอย่างเลย ครอสฟิตเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิต เรียกว่าแบบนี้ได้เลยดีกว่า

The People: สำหรับคนที่สนใจสามารถติดตามได้ทางช่องทางไหนบ้าง

อุรชา: ติดตามอินสตาแกรมเราได้ แชร์อินสตาแกรมกับแฟนที่เป็นโค้ชเหมือนกัน iamgapjarr เข้าไปดูได้ 

อุรชา ตีระวานิชสันติ์ นักครอสฟิตตัวแทนประเทศไทย อดีตนิสิตแพทย์ที่ทิ้งมีด มายกเหล็กเพื่อฝัน