วิศรุต สินพงศพร: 5 ยอดผู้จัดการทีมกับแรงบันดาลใจในเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง”

วิศรุต สินพงศพร: 5 ยอดผู้จัดการทีมกับแรงบันดาลใจในเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง”
“อย่างตอนผมเปิดเพจใหม่ ๆ  ผมก็รักการเขียน ผมเขียนบทความหนึ่งเฉลี่ยแล้วประมาณสัก 10 หน้าเอสี่ที่โพสต์ในทุกวัน สูงสุดที่เคยโพสต์ประมาณ 22 หน้าเอสี่ประมาณโพสต์เดียวนะครับ” หากใครเป็นคอฟุตบอลแล้วติดตามคอนเทนต์ฟุตบอลผ่าน Facebook อาจจะผ่านตากับเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ซึ่งเป็นเพจที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ (และอาจมีการวิเคราะห์เรื่องอื่นแทรกตามแต่วาระ) คาแรคเตอร์ที่เด่นจนคนอ่านจำได้ ถ้าติดตามเพจนี้ เราจะเห็นแต่คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาขนาดยาว แต่ด้วยความที่แอดมินเพจเป็นนักเล่าเรื่อง เลยทำให้เรื่องราวในเพจมีสีสัน อ่านได้ไม่เบื่อกับเรื่องราวนักฟุตบอล ผู้จัดการทีมมากมาย ที่อ่านแล้วได้รับแรงบันดาลใจและปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ดี ทั้งเรื่องราวของ เดวิด เบ็คแฮม, ลีโอเนล เมสซี, โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ไปจนถึงผู้จัดการทีมดังอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, เจอร์เก้น คล็อปป์ จนถึงมูริญโญ ล้วนแล้วแต่ได้รับถูกหยิบมาเล่าเรื่องที่เพจนี้ ทีมงาน The People จึงอยากหยิบประเด็นนี้มาสัมภาษณ์ วิศรุต สินพงศพร แอดมินเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ถึงที่บ้านของเขา หลังจากวิศรุตและภรรยาของเขากล่อมน้องเกวน-ลูกของเขาในวัยที่น่ารักหลับแล้ว แฟมิลีแมนอย่างวิศรุตมีเวลาให้เราสองชั่วโมง ก่อนจะออกไปทำงานข่าวที่เวิร์คพอยท์นิวส์ บทสัมภาษณ์ว่าด้วย 5 ยอดผู้จัดการทีมอันเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ขนาดความยาวประมาณ 12 หน้าเอสี่ จึงเริ่มต้นขึ้น วิศรุต สินพงศพร: 5 ยอดผู้จัดการทีมกับแรงบันดาลใจในเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” The People: คิดอย่างไรกับสไตล์การทำคอนเทนต์ของเราในเพจ “วิเคราะห์” บอลจริงจัง วิศรุต: คือตอนแรก ไม่ว่าจะไปอบรมที่ไหน หรือว่าไปฟังอะไร ใครเขาพูดมา เขาบอกว่ายุคนี้เป็นยุคที่ต้องเร็ว สั้น เข้าใจความในหนึ่งประโยคแรก แล้วก็ต้องปังทันที ถ้าเป็นวิดีโอก็ต้องดึงสายตาใน 3 วินาทีแรก คือมันมีหลักสูตรของมันอยู่แล้วว่าการทำคอนเทนต์ให้ปังควรจะประมาณนี้ แต่ว่าไม่ใช่เรา เราก็เลยลองเขียน ปีแรกที่เขียนมีคนไลก์เพจ 4,000 ไลก์ แล้วคอนเทนต์หนึ่งคนไลก์ประมาณ 70 คน 100 คน เราก็มานั่งถามตัวเองเหมือนกันว่า เฮ้ย...นี่เราใช้พลังงานวันละ 5 ชั่วโมง แต่คนอ่าน 50 คนเนี่ยนะ มันคุ้มค่ากันเหรอ หรือว่าเราจะมาทำแบบเร็ว ๆ สั้น ๆ ดีไหม หรือยังไงดี แต่ว่าพอมาถามใจตัวเองก็คิดว่าไม่ใช่เราจริง ๆ เราชอบที่จะทำแบบนี้ อีกอย่างสั้น ๆ เร็ว ๆ มีคนทำเยอะแล้ว แต่ว่าเรื่องงานเขียน เรามาดูจริง ๆ ในเชิงกีฬาก็ยังไม่มีใครเขียนแบบที่เราเขียน เลยฮึดสู้ต่ออีกสักปีหนึ่ง พอเข้าปีที่ 2 คนเห็นความสม่ำเสมอของเราว่า เฮ้ย...เรายังอยู่ เวลามีเหตุการณ์สำคัญเราจะมาอธิบายเสมอว่ามันคืออะไรกันแน่ ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร คนก็เริ่มไลก์คอนเทนต์เราเรื่อย ๆ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน ตอนนี้ก็ 200,000 กว่าแล้ว คือตอนนี้ไม่สนใจยอดไลก์ เท่าไหร่ก็ได้ ไม่สนใจแล้ว The People: จำคอนเทนต์แรกที่เขียนได้ไหม วิศรุต: เขียนเรื่องลิเวอร์พูลครับ เขียนเรื่องหลังเกมลิเวอร์พูล ลิเวอร์พูลแข่งจบก็ว่าเกมนี้เห็นอะไร 10 ข้อ 20 ข้อว่าลิเวอร์พูลนัดนี้ใช้ตัวผู้เล่นแบบนี้เพื่ออะไร วิเคราะห์เกมทั่วไป The People: แล้วหลังจากนั้นเขียนแนวไหน วิศรุต: ช่วงหลังก็ยังยึดแบบนั้นอยู่ ถ้าหลังเกมลิเวอร์พูลก็ยังมีคอนเทนต์แบบวันแรกอยู่ คือมีกลุ่มคนที่ตามเพจเราทั้งสองแบบ แบบที่ตามหลังเกม อยากจะเก็บประเด็นหลังเกมที่ลิเวอร์พูลเตะ เขาก็จะมาตามเพจเรา แบบที่สองคือสนใจเรื่องอื่น ๆ เรื่องอะไรก็ได้ก็มีเหมือนกัน ก็จะเป็นอันรู้กันว่าถ้าเป็นคืนหลังจากลิเวอร์พูลเตะ เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะอ่านหลังเกมลิเวอร์พูล แต่ถ้าไม่ใช่วันแบบนั้นก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลธรรมดา The People: ทำไมเลือกวิเคราะห์ลิเวอร์พูลหลังเกม เพราะคนพูดถึงเยอะใช่ไหม วิศรุต: ไม่ครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วผมเป็นแฟนลิเวอร์พูลอยู่แล้วอย่างแรก แล้วก็คิดว่าที่สื่อเมืองนอกเขาจะมีวิเคราะห์หลังเกมอย่าง Liverpool Echo สื่อ Daily Mail เขาจะวิเคราะห์หลังเกมของแต่ละแมตช์อยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าที่ไทยยังน้อยอยู่ ยังไม่ค่อยมีคนวิเคราะห์แบบเก็บประเด็นจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งเราคิดว่าเราก็เขียนได้ เราเห็นมา เราเก็บประเด็นมาแล้วก็เอามาแลกเปลี่ยน มาคุยกับลูกเพจ เลยเริ่มเขียน ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นจุดขายของเพจไปเลย The People: 5 นักเตะหรือผู้จัดการทีมที่เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและการทำเพจ? วิศรุต: มีโค้ชอยู่ 5 คนที่เราคิดว่ามีส่วนสำคัญกับแนวคิดและการทำงานของเรา หรือว่าในการทำบล็อก ในการทำเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ซึ่งก็ได้แนวคิดจากผู้จัดการทีมแต่ละคนนี่แหละ แล้วก็มาประยุกต์ใช้กับเพจของตัวเอง คนแรกคือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่คุมทีมมายาวนานมาก จุดเด่นของเฟอร์กี้คือการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองคนเดียว เฟอร์กี้เป็นผู้จัดการทีมแต่ว่ามีพาวเวอร์มากกว่าประธานสโมสรอีก คำพูดของเฟอร์กี้ทุกคนต้องฟัง การจัดการทุกอย่าง การซื้อการขาย การส่งผู้เล่นไปเป็น scout เป็นแมวมอง การตัดสินใจว่าจะต่อสัญญากับนักเตะ หรือไม่ต่อกับนักเตะคนไหน ทุกอย่างจะผ่านเฟอร์กี้หมด เราคิดว่าระบบการทำทีมซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดแบบนี้มีประโยชน์เหมือนกันในการทำเพจของเรา ตอนทำเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ผมจะบอกกับทุกคนเสมอว่าเพจนี้จะมีผมคนเดียวตลอดไปนะครับ จะไม่มีทีมอะไรทั้งสิ้น ผมจะควบคุมทุกอย่าง ผมจะตอบทุกคอมเมนต์ ทุกอินบ็อกซ์ ทุกโพสต์ที่โพสต์ ทุกการดีลกับโฆษณาทั้งหมด จะเป็นผมคนเดียว แนวคิดแบบนี้แหละของเซอร์ อเล็กซ์ ซึ่งเราสามารถมาประยุกต์ใช้ได้ว่าเวลาการควบคุมอะไรสักอย่างด้วยตัวเองคนเดียว มันสามารถคอนโทรลอะไรได้ง่ายกว่า มันมีประโยชน์ในการทำเพจมาก ๆ เพราะเราสามารถกำหนดทิศทางของเพจให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้ ส่วนตัวผมคิดว่าในการทำเพจ มากคนก็มากความ การมีตัวเองคนเดียว คอนโทรลทุกอย่างแบบเซอร์ อเล็กซ์ ก็ง่ายต่อการควบคุมมากกว่า The People: การทำงานประจำร่วมกับทำเพจไปด้วย ทำให้พบกับสิ่งที่มาปะทะความคิดนี้ไหม วิศรุต: ต้องเป็นวิธีคิดอีกแบบ เพราะว่าในองค์กรเราไม่สามารถไปคนเดียวได้ แต่ละองค์กรก็จะมีแนวทางและคอนเซ็ปต์ของตัวเอง เราก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองซึ่งมีเป้าหมายทำให้คอนเซ็ปต์นั้นลุล่วง เราใช้ความสามารถของเราในการทำให้สิ่งที่องค์กรต้องการประสบความสำเร็จ แต่ว่าแน่นอนเราไม่สามารถใช้ความคิดทั้งหมดของเราไปใส่ในองค์กรได้ คือเป็น 2 อย่างที่แตกต่างกันชัดเจน  การทำเพจตัวเองเป็นพื้นที่ของตัวเอง เราสามารถคุมทุกอย่างได้อิสระ แต่พอไปอยู่ในองค์กร ถ้าเกิดคนทำ 2 อย่างพร้อมกันก็จำเป็นต้องปรับตัว ปรับตัวว่าเมื่ออยู่ในองค์กรก็ต้องเป็นแบบหนึ่ง เราต้องเข้าใจธรรมชาติขององค์กรว่าวัฒนธรรมมันมีอยู่แล้ว มีก่อนที่เราจะเข้ามาอีก เราไม่ได้เก่งกล้าสามารถขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง เราต้องทำความเข้าใจ แล้วก็ใช้ส่วนดี ๆ ของเราไปเติมเต็มเขา แต่กับเพจของตัวเอง บล็อกของตัวเองก็อีกกรณีหนึ่ง คนละเรื่องกันเลย คนที่ 2 คิดถึง เจอร์เก้น คล็อปป์ (Jürgen Klopp) เจอร์เก้น คล็อปป์ มีหลาย ๆ ประเด็นที่น่าสนใจ จุดที่ผมชอบที่สุดคือบุคลิกเขาจะดูอารมณ์ดี เฮฮา แต่เขาเป็นคนที่เด็ดขาดมาก ถ้ามีอะไรจะส่งผลเสียต่อทีมเขาจะตัดสินใจเร็วมาก มีเคสหนึ่งที่ผมประทับใจคล็อปป์มากเลยคือเรื่องของ มามาดู ซาโก้ (Mamadou Sakho) ปีแรกของคล็อปป์ที่มาคุม มามาดู ซาโก้ เป็นเซ็นเตอร์แบ็กตัวหลักเลย แล้วก็พาลิเวอร์พูลเข้าชิงยูโรป้าลีก แต่สุดท้ายแพ้เซบียานัดชิง หลายคนคิดว่าซาโก้นี่แหละน่าจะเป็นคีย์แมนของคล็อปป์ในปีต่อ ๆ ไป แต่พอเข้าสู่ซีซั่นต่อไป ปรากฏว่าซาโก้ไม่ได้ถูกส่งเป็นตัวจริงแล้ว และถูกส่งไปเล่นตัวสำรองด้วย มีบางช็อตที่ซาโก้ล้ำเส้นของเจอร์เก้น คล็อปป์ มีการทำเล่นเหมือนกับคล็อปป์เป็นเพื่อน บางทีก็มาซ้อมสาย มาเข้าแคมป์สาย ซึ่งคล็อปป์มองว่าคนคนนี้ฝีเท้าอาจจะดีจริง แต่ว่าอาจจะเป็น toxic ในระยะยาว อาจจะเป็นพิษที่ส่งผลร้ายต่อทีมได้ในระยะยาว ดังนั้นต่อให้มีฝีมือก็จำเป็นต้องตัดทิ้ง ผมชอบในความเด็ดขาดของคล็อปป์ ผมเอามาใช้ในเพจของตัวเอง อุดมคติของผมในการสร้างเพจคืออยากให้เป็นเพจของคนที่ใช้ความคิดมาคุยกันครับ ไม่ต้องเกรียนใส่กัน มีมารยาทซึ่งกันและกัน บางครั้งจะมีความเห็นที่เป็น toxic ความเห็นที่เป็นพิษ แล้วก็เริ่มจะยั่วยุคนอื่น หรือทำให้บรรยากาศโดยรวมของเพจแย่ลง ซึ่งต่อให้เราจะอยากได้ไลก์ของเขาแค่ไหน ก็จำเป็นต้องตัดทิ้งไปเลย  วิศรุต สินพงศพร: 5 ยอดผู้จัดการทีมกับแรงบันดาลใจในเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” คนที่ 3 นี่เป็นคนที่ผมชอบ แต่ว่าอาจไม่ใช่กุนซือที่ big name มากก็คือ โทนี พูลิส (Tony Pulis) เป็นผู้จัดการทีมของทีมระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางเล็กตลอด เพิ่งจะเลิกคุมทีมตอนอายุ 61 ปี เมื่อซีซันที่แล้วคุมมิดเดิลสโบรห์ปีสุดท้าย พูลิสเริ่มคุมทีมตอนปี 1992 จุดเด่นของเขาคือไม่เคยตกงานเลย ไม่ว่าจะออกจากสโมสรไหนก็มีงานตลอด มีงานเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นกุนซือที่ไม่ได้เล่นฟุตบอลสวยงามอะไร  จุดที่ทำให้พูลิสมีงานตลอดก็คือ แนวทางของเขา คาแรคเตอร์ของเขา สไตล์ของเขา เขาเป็นคนเล่นเกมใช้รูปร่างของผู้เล่นที่สูงใหญ่ เล่นเกม ออกทุ่มไกล เตะมุมขลุกขลิก คือทำยังไงก็ได้ให้ชนะ ไม่ต้องเล่นสวยก็ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์คือชนะ ผลลัพธ์คืออยู่รอดในลีกสูงสุดต่อไป ผลลัพธ์คือการได้ 3 แต้มในแต่ละเกม ซึ่งพอมีคาแรคเตอร์ของตัวเองแบบนี้เลยทำให้เขามีงานตลอด คือในตลาดของผู้จัดการทีม มีกุนซือมากมายเลย 200-300 คนที่ต้องการงาน แต่ว่าพูลิส ต่อให้เขาเล่นไม่สวยก็ยังมีงานตลอด ผมเลยคิดว่าในโลกยุคปัจจุบันมันวัดกันที่ความโดดเด่นแล้ว วัดกันที่คาแรคเตอร์ ในการทำเพจแต่ละเพจ ผมคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องดีที่สุด หรือว่าดีอันดับหนึ่ง เพอร์เฟกต์ยิ่งกว่าใคร คุณแค่หาคาแรคเตอร์ของตัวเองให้ได้แค่นั้นเองครับ พอหาจุดเด่นของตัวเองได้ ก็จะมีกลุ่มคนที่พร้อมจะซัพพอร์ตคุณอยู่แล้ว อย่างตอนผมเปิดเพจใหม่ ๆ ผมก็รักการเขียน ผมเขียนบทความหนึ่งเฉลี่ยแล้วประมาณสัก 10 หน้าเอสี่ที่โพสต์ในทุกวัน สูงสุดที่เคยโพสต์ประมาณ 22 หน้าเอสี่ประมาณโพสต์เดียวนะครับ ตอนแรกเราก็ตั้งคำถามว่าเพจเราจะมีคนอ่านหรือเปล่า เพราะว่ายาวขนาดนี้ ในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างมันเร็ว ทุกอย่างต้องภายในรวดเดียว ปั้งเดียวจบ แต่ว่าแนวคิดของพูลิสนั่นแหละ คือจะทำอะไรต้องมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนแล้วเดี๋ยวจะมีคนซัพพอร์ตเอง ผมก็เชื่ออย่างนั้น แล้วก็เขียนมาเรื่อย ๆ ทำแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมา 1 ปี 2 ปี 3 ปี ในที่สุดเราค้นพบว่าประเทศไทยมีคนที่รักการอ่านเหมือนกัน คนที่อยากจะเสพคอนเทนต์ยาว ๆ พอเราทำสม่ำเสมอเรื่อย ๆ คนก็มาติดตามคอนเทนต์ของเรา เราก็ได้ฐานแฟน ๆ ก็เหมือนกับพูลิสที่เขาไม่เคยตกงาน ต้องมีสักสโมสรอยู่แล้วที่ต้องการสไตล์แบบนี้ The People: ชอบตอนที่ โทนี พูลิส คุมทีมอะไรมากที่สุด วิศรุต: ชอบตอนคุมสโต๊กซิตี้กับเวสต์บรอมมิชอัลเบียน  ตอนสโต๊กฯ ที่โทนี พูลิส คุมเป็นทีมที่ป่วนมาก อาร์เซนอลนี่ยากมากกว่าจะชนะสโต๊กฯ ทั้งที่อาร์เซนอลเป็นทีมที่มีความพลิ้วไหวของนักเตะ เทคนิคเยอะ แต่ว่าพอเจอความแข็งแรง ความอึดของนักเตะ เล่นด้วยกำลังก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน มันมีจุดเด่นจุดขายของเขาอยู่ The People: ถ้ายุคนั้นสโต๊กฯ เจอกับบาร์ซ่า ใครจะชนะ วิศรุต: ตอนที่เมสซี (Lionel Messi) เข้าสู่จุดพีคใหม่ ๆ นักข่าวที่อังกฤษบอกว่าถ้าเมสซีมาเล่นที่สโต๊กฯ มาเจอค่ำคืนหนาวเหน็บที่สโต๊กฯ โดนไล่เตะ ไล่หวด เมสซี่ก็คงเล่นไม่ได้เหมือนกัน มีคำเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่ส่วนตัวคิดว่าเมสซีอยู่อังกฤษก็ยิงสโต๊กฯ เละ (หัวเราะ) น่าจะ 3-6 ลูก แต่ว่าเป็นคำเปรียบเทียบกันว่ามันเป็นสไตล์ที่แข็งแรง แล้วก็ต่อให้คนที่เทคนิคดีก็ใช่ว่าจะผ่านไปง่าย ๆ คนที่ 4 ผมชอบ เปป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola) ชอบความที่เขาเป็นคนที่เป็น inventor เปป กวาร์ดิโอลา เป็นเฮดโค้ชที่คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นผู้นำเสมอในการสร้าง tactic ใหม่ ๆ ตอนอยู่บาร์เซโลน่าคิดค้น Tiki-Taka การต่อบอลสั้น ๆ ชิ่งเร็วไปมา หนึ่ง-สอง จนสุดท้ายหลายทีมก็เอาแนวคิด Tiki-Taka ไปใช้ แล้วก็ไปต่อยอดเป็นเทคนิคต่าง ๆ   ตอนอยู่บาเยิร์น มิวนิค คิดค้นสไตล์ชื่อ Inverted Fullback ก็คือเอา ฟิลลิป ลาห์ม (Philipp Lahm) ซึ่งเป็นแบ็กขวา ขยับมาอยู่เป็นกองกลาง ซึ่งในเวลาต่อมาคนก็ใช้เทคนิคนี้เยอะ อย่าง ธีราทร บุญมาทัน เล่นแบ็กซ้าย แล้วก็ขยับมายืนเป็นกองกลาง คือแบ็กซ้ายแบ็กขวา ตั้งแต่กวาร์ดิโอลาคิดค้นสูตร Inverted Fullback ขึ้นมาก็มีส่วนร่วมกับเกมบุกนะครับ สิ่งที่ผมชอบกวาร์ดิโอลาคือเขาเป็นผู้นำเสมอ ในบางสถานการณ์หรือในชีวิตของเรา การเป็นผู้นำแล้วให้คนอื่นตามเป็นเรื่องที่ได้เปรียบกว่า เวลาผมทำเพจ จะมีคนทำคอนเทนต์ 2 รูปแบบ แบบแรกคือเป็นเชิงรับ เวลาเห็นข่าวอะไรปุ๊บก็เสนอไป เวลาต่างประเทศตีข่าวว่ามีประเด็นนี้ ๆ ก็เล่นตามไปเรื่อย ๆ กับอีกคนหนึ่งเป็นผู้นำ คือไม่ต้องอ้างอิงจากข่าว คิดค้นขึ้นมาเลยว่าวันนี้อยากจะเล่นประเด็นไหน สร้างความสด สร้างความใหม่อยู่ตลอด เวลาผมทำเพจก็จะใช้ 2 อันนี้ปนกัน ในบางสถานการณ์ถ้าเราจะเป็นผู้ตาม เราต้องพัฒนาตัวคอนเทนต์ให้เหนือกว่าสื่อไปอีกขั้นหนึ่ง จนทำให้คนมาอ่านของเรา หรือในบางสถานการณ์เราก็จะเป็นเชิงรุก คิดค้นคอนเทนต์ขึ้นมาเลย เป็นประเด็นซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงมาก่อน แล้วให้คนอื่นมาตามเรา การคิดค้นแบบกวาร์ดิโอลานี่แหละผมเอามาใช้ในการทำงานจริง ๆ ว่าเวลาจะปล่อยคอนเทนต์อะไรสักอย่าง ถ้าเราเป็นคนแรก เราเป็นเจ้าแรกของตลาด จะไปได้ไกลเสมอ ไปได้ไกลกว่าการทำงานเชิงรับ คนที่ห้า ราฟาเอล เบนิเตส (Rafael Benítez) ผมชอบราฟาตั้งแต่คุมบาเลนเซียแล้ว ตอนที่เขามาคุมลิเวอร์พูลก็ดีใจ เพราะสิ่งที่โดดเด่นมาก ๆ ของเขาคือเรื่องการใช้ข้อมูล ใช้สถิติ  ราฟาไม่เคยอ้างอะไรเลื่อนลอย เขาเป็นคนที่ทำการบ้านแล้วก็ดูวิดีโอเยอะมาก ๆ แล้วก็จดสถิติ มีทีมงานบันทึกสถิติทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ มีหลาย ๆ ครั้งที่เขาต้องเถียงแนวคิดของเขากับกลุ่มสตาฟด้วยกัน กลุ่มนักเตะหรือผู้บริหาร แต่ราฟาก็ชนะเสมอ เพราะมีข้อมูลซึ่งเก็บบันทึกไว้อย่างละเอียด มีเหตุมีผลในการอธิบายว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนี้ ทำไมเขาถึงเลือกใช้นักเตะกลุ่มนี้ ทำไมเขาอยากได้นักเตะคนนี้ ทุกอย่างมีสถิติ มีตัวเลขยืนยันหมด ผมคิดว่าในยุคปัจจุบัน เวลาโต้เถียงกับใครสักคน เราก็มีความคิดของเรา เขาก็มีความคิดของเขา ซึ่งมันยากที่เขาจะมาเห็นด้วยกับความคิดของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเอาไปอ้างอิงหรือใช้ยันกับเขาได้คือเรื่องข้อมูลและตัวเลข ถ้าเกิดมีสถิติรองรับหรือมีหลักฐานอ้างอิงสักอย่างที่ยืนยันความคิดเรา คำพูดของเราจะมีน้ำหนักมากขึ้น The People: เขียนโพสต์ยาวแทบทุกวัน แล้วยังมีงานประจำอีก มีวิธีบริหารเวลาอย่างไร วิศรุต: ผมคิดว่าถ้าเกิดเราจะทำอะไรสักอย่าง ต้องถามตัวเองก่อนว่าถ้าจะทำอย่างนั้นซ้ำ ๆ 10 ปี จะสามารถทำมันได้หรือเปล่า ตอนผมเริ่มเขียนเพจครั้งแรก ผมเริ่มเขียนเดือนแรกก็ลองเขียนดู เขียนทุกวัน แล้วก็รู้สึกว่าไม่ได้ยากลำบากขนาดนั้น ไม่ได้ทำให้รู้สึกอึดอัด เพราะว่าชอบเขียนอยู่แล้ว แล้วเรามีความคิดต่าง ๆ ในหัว ซึ่งอยากจะเอามาถ่ายทอดในพื้นที่ของเราอยู่แล้ว เลยเขียนมาเรื่อย ๆ พอมีงานประจำที่เริ่มเข้มข้นขึ้น เราอายุมากขึ้น ก็ต้องจัดสรรเวลา ผมต้องวาง schedule เหมือนกัน แต่ละวันผมต้องวางแผนว่าจะทำอะไร อาจจะดูตึงไปหน่อย แต่ผมคิดว่าถ้าคนเราอยากประสบความสำเร็จสักอย่างก็ต้องทุ่มเทแบบนี้แหละ ต้องยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่างออกไป แผนของผมคือตอนเช้าตื่น 6 โมง ก็เล่นกับลูกก่อน ช่วยคุณแม่เขาอาบน้ำลูก 7 โมง เราสตาร์ทเขียนงานแล้ว เขียนงานถึงเที่ยง เฉลี่ยแล้วชิ้นหนึ่งก็ประมาณ 5 ชั่วโมง  พอเขียนเสร็จปุ๊บก็ลงมากินข้าวทำนี่ทำนั่น แล้วออกไปทำงานประจำ เสร็จกลับบ้าน 3-4 ทุ่ม มาเล่นกับลูก นอน นอนเสร็จตื่นเช้ามาก็วนลูปเดิม เขียนงานต่อ ซ้ำแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ วิศรุต สินพงศพร: 5 ยอดผู้จัดการทีมกับแรงบันดาลใจในเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” The People: ถ้าให้ทำแบบนี้อีก 10 ปีไหวไหม วิศรุต: ไหวนะ ไหว มั่นใจมาก เพราะเป็นสิ่งที่เรารักไง เลยคิดว่าสามารถทำได้จริง ๆ  คือพอยิ่งเขียนแล้วรู้สึกว่าคนชอบคอนเทนต์ของเรา คนชอบสิ่งที่เราสื่อสารออกไป เหมือนกับรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มีความหมายกับสังคมจริง ๆ มีบางคนบอกว่าอ่านบทความของเราแล้วมีกำลังใจมากที่จะสู้ต่อ มีคนหนึ่งบอกว่าเขาเคยเกือบฆ่าตัวตาย พออ่านบทความของเราแล้วมันเปลี่ยนแนวคิดของเขาบางอย่าง โห เราอ่านแล้วใจพองเลย เฮ้ย สิ่งที่เราทำอยู่มันมีความหมายอะไรสักอย่าง เลยเขียนมาเรื่อย ๆ แล้วก็คิดว่าจะเขียนต่อไป The People: ในแต่ละวันใช้เวลาอ่านหนังสือเก็บข้อมูลอย่างไรบ้าง วิศรุต: พอลูกหลับ แฟนหลับ ก็จะมีเวลาสั้น ๆ ประมาณสัก 5 ทุ่มถึง ตี 1 ตี 2 เราก็ยังมีเวลาอ่านหนังสือได้อยู่ ยังตามประเด็นได้อยู่ ส่วนเรื่องการหาข่าวในเน็ต เราอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดอยู่แล้ว ก็ได้ตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ได้อ่านหนังสืออยู่ทุกวัน The People: เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งอ่านหนังสือเยอะไหม วิศรุต: เยอะเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือแปลต่างประเทศ ก็ค่อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ หนังสือไทยก็มีบ้าง แต่อ่านในสิ่งที่เราต้องการมากกว่า สมมติวันนี้จะเขียนเรื่องมูรินโญ ก็จะทำข้อมูลเรื่องมูริญโญ จะไปหา source เกี่ยวกับมูรินโญทั้งหมดที่เราควรจะเขียน พอได้ข้อมูลประมาณหนึ่งแล้ว เตรียมไว้พร้อมสำหรับพรุ่งนี้เช้า ผมมี source พร้อมแล้วก็โอเคพอ พรุ่งนี้เช้าค่อยตื่นมาเขียน แต่ว่าจะมีแก๊ปสั้น ๆ สักชั่วโมง 2 ชั่วโมง ก็จะอ่านหนังสือที่ซื้อมา อันนี้คือเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลแล้ว  The People: ติดตามสื่ออื่นอย่างซีรีส์เกี่ยวกับกีฬาไหม วิศรุต: Netflix ก็มี เดี๋ยวนี้จะมีซีรีส์เกี่ยวกับกีฬาเยอะ อย่างเรื่อง “กรีซมันน์” (อองตวน กรีซมันน์: กว่าจะเป็นตำนาน) เล่าประวัติกรีซมันน์ตั้งแต่เด็กจนถึงได้แชมป์โลกฝรั่งเศส ก็ลง Netflix แล้วก็อย่างเรื่อง “ซันเดอร์แลนด์” มีเยอะมาก Netflix เดี๋ยวนี้  ก็ดูเรื่อย ๆ ครับ ยังไงคนเป็นนักข่าวต้องตามสื่ออยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะตัดขาด แล้วก็คิดแต่ของตัวเองคนเดียว เพราะว่าการเสพสื่ออื่น ๆ มาก ๆ ก็ทำให้เราพัฒนาความคิดด้วย ไปดูว่าคนอื่นเขาคิดกันยังไง แนวคิดของเขาเป็นยังไงและเราคิดเหมือนเขาไหม ถ้าเกิดเราหยุดนิ่งอยู่กับแค่ความคิดของตัวเอง มันก็ได้แค่นั้น เราไม่สามารถตามทันความคิดคนอื่นได้ The People: แล้วการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาได้ตามไหม วิศรุต: “ยิงประตูสู่ฝัน” (Our Field of Dreams) ครับ ยิงประตูสู่ฝันนี่เป็นเรื่องของนักเตะในประเทศญี่ปุ่น เล่าตั้งแต่สมัยมัธยมเลย ความฝันของนักเตะในยุคอดีตที่อยากจะพาญี่ปุ่นไปบอลโลก สุดท้ายในการ์ตูนไปได้จริง ๆ ได้ไปบอลโลกจริง ๆ แล้วชีวิตจริงก็ได้ไปบอลโลกเหมือนกัน แล้วก็มีเรื่อง “สแลมดังก์” (Slam Dunk) สแลมดังก์ใคร ๆ ก็ต้องชอบใช่ไหม สุดยอดของการ์ตูนแล้ว การร้อยเรียงเรื่องสมบูรณ์แบบ เป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากเล่นบาสในช่วงเด็ก ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กเล่นกีฬา แล้วการวางพล็อตเรื่องก็ไม่มีใครเหมือน   “อายชีลด์ 21” (Eyeshield21: ไอ้หนูไต้ฝุ่นมะกันบอล) ก็สนุก อายชีลด์ฯ ทำให้คนที่ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอลมาก่อนได้รู้จักมากขึ้น รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้นดีกว่า เข้าใจเรื่องกฎ คือในการ์ตูนมีข้อดีตรงที่ใช้ภาพแล้วมาอธิบายกฎเข้าใจง่าย ๆ อายชีลด์ฯ จะมีสอนเรื่องการบลิตซ์ (Blitz) คือการที่แนวรับรุมใส่ควอร์เตอร์แบ็ก เหมือนกับว่าเขาสอนด้วยลูกเล่นของการ์ตูน ซึ่งพอสอนด้วยลูกเล่นการ์ตูน เด็ก ๆ ก็เข้าใจว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ The People: อ่านกัปตันซึบาสะไหม วิศรุต: ดู ๆ เวอร์เนอะ ซึบาสะก็ดี “เอชทู (H2)” ก็ดี นี่อยู่ในตู้การ์ตูนอยู่เลย คือเอาเรื่องของเบสบอลมาขมวดกับความรัก ไม่น่าเชื่อว่าจะเล่าเรื่องกีฬา แต่ว่าพอมาอยู่ในไลน์ของความรักมันสนุกมาก ตอนเราเขียนงานเราก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันนะว่า ชีวิตของคนเราคนหนึ่ง เราไม่เคยสนใจเรื่องเดียวอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสนใจแต่เรื่องกีฬาอย่างเดียว คนเราผู้ชายปกติก็สนใจเรื่องความรัก เศรษฐกิจ สังคม เรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ เวลาเราเขียนงานเราก็อาจจะมีกีฬาเป็นแกน แต่ก็เอาเรื่องอื่นมามิกซ์กันด้วย เรื่องความรัก เรื่องชีวิต เรื่องความสัมพันธ์อะไรอย่างนี้ เหมือนที่เอชทูเขียนเลย พอเขาเขียนใช้วิธีนี้มันสนุก เราคิดว่างานเขียนของเราก็สามารถสนุกได้เหมือนกัน ถ้าเกิดเราใช้กีฬาเป็นแกน แต่ว่าเราไปแตะเรื่องอื่น เรื่องความรัก เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เอามามิกซ์ ๆ กัน ก็กลายเป็นส่วนผสมที่เฉพาะตัวได้เหมือนกัน The People: ความสนใจด้านกีฬา นอกจากฟุตบอลแล้วมีอะไรอีกบ้าง วิศรุต: มีทุกอย่าง คือชอบทุกกีฬาดีกว่า ดูทุกกีฬา ดูทุกประเภท  อะไรที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ยิ่งจะดูหมด อย่างแชมป์โลกก็ดูทุกเกม แต่ก็มีบางกีฬาเหมือนกันที่เราพยายามแค่ไหนก็ดูไม่เป็น ที่จะอยู่นอกวงกลมคือคริกเก็ต พยายามแล้วแต่สู้ไม่เป็นจริง ๆ (หัวเราะ) ไม่เข้าใจจริง ๆ  คือพอเข้าใจว่าหลักการคล้าย ๆ เบสบอล แต่ก็ยังไม่เก็ต แต่ว่ากีฬาอื่น ๆ ก็คิดว่ามันอยู่ในวงกลมหมดแหละ ชอบหมด ดูได้หมดทุกอย่าง คนกีฬาก็ไม่ได้จำกัดที่กีฬา ดูได้หมดทุกอย่าง The People: คำที่สรุปชีวิตและการทำงานของตัวเองได้ดีที่สุดคืออะไร วิศรุต: ยอมแลกทั้งชีวิตได้เพื่องาน