สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ

สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ
ใจโกะ - วีรญา ยามันสะบีดีน เป็นชายข้ามเพศ, เป็นคนที่ถูกรังแกจากเพื่อนวัยเด็ก, เป็นคนที่สนใจประเด็นสงคราม และ วีรญา ยามันสะบีดีน เป็นศิลปิน จากคนที่โดนรังแกในวัยเด็ก ทำให้ใจโกะสนใจประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก่อนต่อยอดมาถึงประเด็นสงครามที่เขาเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ใจโกะค้นพบว่าสงครามเกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลากหลาย แต่ไม่ว่าสงครามจะเกิดขึ้นเพราะอะไร สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน สิ่งเหล่านี้กลั่นออกมาเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความรุนแรงของสงครามที่ปัจจุบันยังคงมีอยู่ โดยผลงานล่าสุดพูดถึง “ความหวัง” ในสงคราม 3 รูปแบบ ซึ่งสามารถรับชมได้ที่ 333Gallery River City Bangkok ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ถึง 28 เมษายน 2562 The People มีโอกาสได้นั่งคุยกับใจโกะถึงแนวความคิดผลงาน ชีวิตส่วนตัว และความรุนแรงต่าง ๆ กลายเป็นบทสัมภาษณ์ที่คุณจะได้อ่านต่อจากบรรทัดนี้ สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ The People: คุณเริ่มต้นสนใจศิลปะตั้งแต่ตอนไหน วีรญา: เป็นความชอบตั้งแต่เด็กครับ แค่รู้สึกว่าอยากวาดรูป แต่ไม่ได้เป็นคนวาดเก่ง วาดงู ๆ ปลา ๆ เช่น วาดเล่นตามสมุด หนังสือเรียน ไม่ได้จริงจัง เริ่มต้นหัดวาดเล่นตามตัวการ์ตูนที่ชอบอย่าง การ์ฟิลด์ เพราะน่ารักดี ผมเริ่มวาดจริงตอนเข้ามัธยมฯ 4 เพราะตอนนั้นต้องเลือกสายต่อมัธยมฯ ปลาย ผมแอบไปสมัครสายศิลปกรรม หนีแม่ไปเรียนด้วย ทำให้ช่วงนั้นมีปัญหากับที่บ้านนิดหน่อย   The People: พอครอบครัวรู้ว่าเราหนีไปเรียนสายศิลปะ บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง วีรญา: ครอบครัวไม่เห็นด้วยครับ เพราะเขามองว่าการเรียนศิลปะเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน จบแล้วจะทำงานอะไร เพราะทางบ้านเป็นข้าราชการกันหมด เขาจะมองว่าไม่มีอนาคต ผมคิดว่าเพราะเขาเป็นห่วงนั่นแหละ แต่ความเป็นเด็กผมก็จะดื้อ รั้น ค่อนข้างขบถกับที่บ้าน สุดท้ายก็บอกไปว่า “จะสอบติดศิลปากรให้ได้ คอยดูนะ” เพราะเราเลือกทางนี้แล้ว   The People: คุณใช้เวลานานแค่ไหน กว่าครอบครัวจะยอมรับการเลือกเดินสายศิลปะ วีรญา: โห จนผมสอบติดนั่นแหละครับ เพราะผมหาที่เรียนเอง หาที่ติวเอง ทำเองทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนตรงนี้เลย เพราะผู้ใหญ่สมัยก่อนไม่เข้าใจว่าเรียนศิลปะแล้วจะไปทำอะไร สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ The People: คุณค้นหาแนวทางทางศิลปะของตัวเองอย่างไร วีรญา: เริ่มแรกผมไม่เคยเพนต์สีน้ำมันมาก่อนเลย ช่วงเข้าปี 3 ผมตัดสินใจเลือกเอกเพ้นท์ พอเข้าเอกต้องเสนอหัวข้องาน ผมเริ่มทำอะไรที่ใกล้ตัว ก็เลยนึกถึงช่วงวัยเด็กของผม คือวัยเด็กของผมไม่มีเพื่อนแถวบ้าน จะโดนเด็กแถวบ้านแกล้ง แบบไล่รุมกระทืบ ถีบตกบันได ปั่นจักรยานไล่เอาประทัดขว้าง เรารู้สึกว่าทุกข์มาก หนักมาก แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก ผมก็หยิบเรื่องตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจก่อน แยกแยะความรุนแรงว่ามาจากอะไรได้บ้าง เช่น ความรุนแรงมาจากการ์ตูนเหมือนกันนะ เพราะการ์ตูนที่เราดูมันมีความรุนแรงซ่อนอยู่ แต่ดูไม่รุนแรงเพราะการ์ตูนบางเรื่องไม่มีเลือด ซอฟท์ หรือตัวละครไม่ตายจริง และพัฒนาจากตรงนั้นมาเป็นเรื่องสงครามในประเทศก่อน เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ นำภาพประวัติศาสตร์มาอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มสีกับทำคอนทราสต์ ผมตั้งใจพูดถึงความบริสุทธิ์ของเด็กในสงคราม ต่อมาพัฒนาขยายให้กว้างขึ้นไปอีกว่า ณ ปัจจุบันมีสงครามอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็เลยศึกษาเรื่องสงครามโลก พัฒนามาเรื่อย ๆ จนรู้ว่า ปัจจุบันยังมีสงครามอยู่ เช่น สงครามกลางเมือง ผมคิดว่าสงครามมันไม่มีวันจบ และยังมีหลายประเด็นอีกว่า ทำไมสงครามจึงเกิดขึ้น บวกกับความชอบการ์ตูน ก็มาศึกษาประวัติการ์ตูนเพื่อใช้เชิงสัญลักษณ์ในงานของเรา   The People: เห็นอะไรในสงคราม ถึงอยากเล่าเรื่องออกมาผ่านศิลปะ วีรญา: สงครามมีประเด็นให้คิดเยอะ แต่หลัก ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบทุนนิยม ศาสนา เชื้อชาติ ผลขัดแย้งทางการเมือง หรือการแบ่งแยกดินแดน ผลสุดท้ายคือประชาชนเป็นคนได้รับผลกระทบ คนใหญ่คนโตเขาก็แค่คนสั่งการ คนที่สูญเสียจริง ๆ ส่วนใหญ่คือประชาชน เช่น เด็กหรือผู้หญิง สงครามจึงสร้างความหดหู่ ทำให้คนใช้ชีวิตเอาตัวรอดไปวัน ๆ วิถีชีวิตแต่ละวันก็เปลี่ยนไป สงครามส่งผลหลาย ๆ อย่างมากครับ ผมเลยสนใจตรงนี้   The People: รวมถึงชีวิตวัยเด็กของคุณที่ถูกรังแกด้วยใช่ไหม ทำไมคุณสนใจประเด็นความรุนแรง วีรญา: ใช่ครับ เพราะความรุนแรงกับเด็กมันฝังใจนะ ขนาดผมเองโดนความรุนแรงกับเด็กด้วยกันเองยังรู้สึกว่าฝังใจเลยครับ เวลาเด็กโดนแกล้งเขาทุกข์จริง ๆ นะครับ บางทีผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเด็กทะเลาะบ้างล่ะ ไม่รุนแรงบ้างล่ะ แต่เวลาลับสายตาพ่อแม่ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าลูกของคุณโดนรังแกแบบไหนบ้าง ผมคิดว่าผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญกับเด็ก และควรจะรับฟังมากขึ้น คุยกับเขา อยากให้ฟังเหตุผลก่อน ถามว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร เพราะบางอย่างเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเด็ก   The People: เรามักเห็นแต่โทษของสงคราม หากให้มองอย่างโลกสวย สงครามให้อะไรดี ๆ กับเราบ้าง วีรญา: สงครามทำให้เราแข็งแกร่ง ทำให้มีความหวัง บางครั้งอาจเป็นความหวังที่ไม่สมหวังก็ได้ แต่ความหวังทำให้เราสู้ต่อไป สงครามยังทำให้ผมเห็นการใช้ชีวิตด้วยครับ เหมือนงานชุดนี้ที่ผมทำเรื่อง “ความหวัง” เหมือนกัน มนุษย์ควรจะมีความหวัง เพราะความหวังทำให้เราก้าวผ่านอุปสรรค ไม่ว่าอุปสรรคจะเล็กหรือใหญ่ ขอแค่มีความหวัง มันจะเป็นแรงผลักดันให้เราใช้ชีวิตต่อไป ผมมองว่า ความหวังมี 3 รูปแบบ คือความหวังจากตัวเราเอง ความหวังจากคนอื่นที่มอบให้เรา และความหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ [caption id="attachment_4792" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ (ซ้าย) Second Hope, others และ (ขวา) First Hope, oneself[/caption] The People: อธิบายคร่าว ๆ ให้ฟังหน่อยว่างานเซ็ตนี้คืออะไร วีรญา: เซ็ตนี้ผมทำ 3 ชิ้นครับ ชิ้นแรก First Hope, oneself ความหวังจากตัวเองที่ต้องลงมือทำ เป็นภาพเด็กแปะโปสเตอร์ รณรงค์ไม่ให้ทำสงครามในซีเรีย ซึ่งกำแพงมีแต่โปสเตอร์เกี่ยวกับสงคราม ผมมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของตำรวจมิกกี้ เมาส์ ที่อาจจะมาดีก็ได้ หรือไม่ดีก็ได้ ทหารหรือตำรวจเป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งแต่วัยเด็กมักมองว่าเป็นฝั่งดี แต่พอโตมาเราเห็นหลาย ๆ ด้าน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงความคิดเรา ชิ้นที่สอง Second Hope, others ความหวังจากคนอื่นที่เขามอบให้เรา ผมทำเป็นภาพซานต้าเพราะวันคริสมาสต์เป็นเทศกาลที่อบอุ่น แต่ไม่ว่าเทศกาลไหน ไม่ว่าเด็กจะดีหรือไม่ เด็กในสงครามก็ไม่มีโอกาสได้ของขวัญ จึงทำเป็นภาพซานต้า มิกกี้ เมาส์ กำลังเช็ครายชื่อรางวัลเด็ก ให้คนดูมองคิดต่อเองว่าเขาอาจจะสมหวังหรือไม่สมหวังก็ได้ ชิ้นที่สาม Last Hope, the one above ความหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความหวังสุดท้าย เพราะมนุษย์ไม่ได้เข้มแข็งถึงขั้นอยู่ได้โดยไม่พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความที่มนุษย์มีความอ่อนแอ อารมณ์อ่อนไหวง่าย พอถึงจุดสิ้นหวังจริง ๆ เราจะหันไปพึ่งความหวังจากสิ่งอื่นแทน เช่น ความหวังจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามแต่ละศาสนา แต่ก่อนผมคิดว่าประเทศซีเรียเป็นประเทศอิสลามอย่างเดียว แต่ไปเจอข้อมูลว่าเขานับถือศาสนาคริสต์ด้วย ฉะนั้นไม่ใช่แค่ศาสนาอิสลามที่โดนผลกระทบสงคราม ศาสนาอื่นก็โดนเหมือนกัน ผลกระทบสงครามจึงไม่ได้แบ่งแยกว่าเราจะเป็นชาติไหน วัยไหน เพศไหน ศาสนาใด ทุกคนได้รับผลกระทบจากสงครามเหมือนกันหมด   The People: สังเกตว่าจุดร่วมอย่างหนึ่งของ 3 ภาพคือ มิกกี้ เมาส์ วีรญา: มิกกี้ เมาส์ เป็นตัวการ์ตูนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมาก เป็นการ์ตูนที่มี power สูงมาก เด็ก ๆ ทุกคนต้องรู้จัก ผมจึงพูดถึงประเทศมหาอำนาจและมีพลังมาก แต่มาในรูปแบบของการ์ตูน ซึ่งเดาไม่ได้ว่าเขาจะดีหรือไม่ดีซะทีเดียว ผมศึกษา มิกกี้ เมาส์ จนเห็นด้านมืดของเขา มีบางตอนที่ มิกกี้ เมาส์ เคยคิดฆ่าตัวตาย ทำให้เห็นว่าทุกอย่างมีด้านมืดและด้านสว่างเหมือนกัน ผมจึงเอามาเป็นสัญลักษณ์ในภาพครับ สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ The People: คุณเป็นชายข้ามเพศ ตอนนั้นคุณบอกที่บ้านอย่างไรว่า “ไม่อยากเป็นผู้หญิง” แล้ว วีรญา: ไม่ได้บอกครับ ตั้งแต่เด็กเราไม่รู้ว่าทอมคืออะไร แต่เรารู้ว่าเราเป็นแบบนี้ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเพศอะไร ผมแค่ชอบเตะบอล ต่อยมวย คนอื่นจะมองว่าเป็นทอมหรือเปล่า แต่ผมไม่ชอบเลย พอเริ่มโตคุณแม่ก็บอกว่า ให้เปลี่ยนตัวเองได้ไหม ตอนนั้นเข้ามัธยมฯ 1 ก็เปลี่ยนตัวเองเพื่อเขานะ แต่ผมไปอยู่โรงเรียนหญิงล้วนก็ยิ่งไปกันใหญ่ เปลี่ยนไม่ได้ (หัวเราะ) ที่บ้านจึงรับไม่ได้ เขามองว่าการเป็นเพศที่สามจะไม่มีอนาคต ผมเข้าใจนะเพราะในยุคของเขายังไม่มีอะไรแบบนี้ แต่ตอนเด็ก ๆ ผมก็มองว่ามันไม่มีอนาคตได้อย่างไร ผมก็ยังเรียนหนังสือ เราไม่มีอนาคตตรงไหน คำว่า “อนาคต” ในความหมายของเขาคือการเติบโตมาทำงาน แต่งงาน มีครอบครัว มันเป็นอนาคตแบบที่สังคมไทยตีกรอบไว้ พอเข้ามหาวิทยาลัยผมก็ทำให้เขาเห็นว่า เราทำได้ ไม่เกเร ไม่ทำความเดือนร้อน ไม่เป็นภาระใคร พิสูจน์ตัวเองในทางเลือกของเรา ครอบครัวก็โอเคขึ้น วันที่ผมเรียนจบก็เดินไปบอกแม่ว่า ผมจะแปลงเพศนะ ผมจะเทคฮอร์โมนนะ เขาก็โอเค มันปลดความรู้สึกให้เราคุยกับครอบครัวได้อย่างสบายใจ เพราะเขารู้แล้วว่าเราต้องการเป็นอะไร พอโตขึ้นมาเรารับรู้ว่า เราต่อสู้กับคนข้างนอกต่างหาก คนภายนอกทำให้ครอบครัวเข้ามากดดันเราอีกที ครั้งหนึ่งผมส่งแม่ไปทำงาน เย็นวันนั้นแม่โทรศัพท์กลับมาบอกว่า คนที่บริษัทถามว่าเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นทอม แม่ก็ตอบว่าเลี้ยงให้กินข้าวกินปลาเหมือนชาวบ้านทั่วไป ผมเข้าใจว่าแม่ไม่รู้จะตอบอะไร มันคือแรงจากคนนอกทั้งนั้น พอเราได้คุยกับคนในครอบครัว เราชัดเจนในตัวเอง ทำหน้าที่ของเราให้มันดี เขาก็จะฟังและเข้าใจเรา เปิดรับ และเปิดใจกับเรามากขึ้นครับ เพราะครอบครัวแค่เป็นห่วงเราเท่านั้นเอง เขากลัวว่าวันหนึ่งถ้าครอบครัวไม่อยู่แล้ว เราจะอยู่ในสังคมได้ไหม พอที่บ้านรับได้ ผมก็โอเค   The People: ณ ตอนนี้ เพศที่สามกับสังคมเป็นอย่างไรบ้างในความคิดของคุณ วีรญา: เปลี่ยนไปครับ ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ที่ผ่านมาก็เปลี่ยนมากขึ้นแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน วัยไหน เด็ก ผู้หญิง หรือผู้ชาย ความสามารถไม่ได้วัดกันด้วยอายุและเพศแล้ว เดี๋ยวนี้มันเปิดกว้างมากขึ้นครับ   The People: ที่บอกว่าผู้ใหญ่มอง “อนาคต” คือการทำงาน แต่งงาน มีครอบครัว แล้วสำหรับคุณวางอนาคตตัวเองอย่างไรบ้าง วีรญา: ตอนนี้ผมอยากทำงานศิลปะตรงนี้ให้เต็มที่ก่อน สิ่งที่ผมมองไว้คือการดูแลครอบครัว คนที่บ้าน ผมมีความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลพ่อแม่ น้องสาว และคนรอบข้างที่เรารัก ถ้าวันนี้เราทำดีสุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อนาคตจะดีตาม ส่วนทางศิลปะผมยังอยู่ในขั้นพัฒนาครับ ผมไม่ใช่คนเก่ง กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมต้องพยายามหนักมาก มีคนเก่งในวงการศิลปะเยอะมากครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมทำได้ดีคืออดทนเก่ง อดทนที่จะทำให้ได้ดีกว่านี้   The People: อะไรทำให้ศิลปินสักคนโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางศิลปินมากมาย วีรญา: เป็นตัวของตัวเองครับ เราอยากทำอะไร คิดอะไรอยู่ ก็ทำออกมาให้เป็นเรื่องปกติ   The People: สำหรับคุณแล้ว ศิลปะคืออะไร วีรญา: ศิลปะคือความรัก ทำในสิ่งที่รัก คนอาจมองศิลปะแตกต่างกัน แต่ผมมองว่าศิลปะคืออะไรก็ได้ที่เราอยากจะทำ อะไรก็ได้ที่เราสร้างสรรค์ออกมา อาจจะเป็นงานที่คนอื่นไม่เข้าใจก็ได้ แต่มันเป็นงานศิลปะของเรา อยู่ที่แต่ละคนตีความ สัมภาษณ์ วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินชายข้ามเพศ ผู้เปลี่ยนสงครามเป็นความหวัง 3 รูปแบบ