สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน

สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน

ต้มเบียร์ กับ บล็อกเชน เหมือนกันอย่างไร? คำตอบคือ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเครื่องมือของชายผู้หนึ่งที่จะใช้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลกนี้อย่างช้าๆ

สิ่งเชื่อมโยงเครื่องดื่มมึนเมาที่อยู่คู่โลกมานานกว่า 13,000 ปี กับ เทคโนโลยีสุดล้ำที่เพิ่งคิดค้นมาเพียง 10 ปี อย่าง ต้มเบียร์ กับ บล็อกเชน คือ ทั้งคู่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปฎิวัติของผู้ชายที่ชื่อ “วิชิต ซ้ายเกล้า” บทบาทดอกเตอร์, นักเรียนนอก, อาจารย์, รั้วของชาติ, วิศวกร, สตาร์ทอัพ, อดีตนักวิ่งมาราธอน, นักปฎิวัติ และ นักต้มเบียร์ รวมถึงดีกรีนำหน้าชื่อของชายคนนี้ อาจเป็นหนึ่งเครื่องพิสูจน์ความเชื่อในเรื่องความหลากหลายของเขา ชายผู้ที่เชื่อในการกระทำ มากกว่าใช้แพชชันแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิต ชายผู้ที่ไม่ได้ต้มเบียร์เพราะอยากเมา และไม่ได้อยากมีเงินสกุลดิจิทัลของตัวเองเพียงเพื่ออยากรวย ชายที่พูดคำว่า “ไร้สาระ” บ่อยครั้งพอๆ กับการยกแก้วเบียร์เย็นๆ ที่เขาทำมันเองกับมือขึ้นจิบ อะไรอยู่เบื้องหลังหม้อต้มความคิดของ “วิชิต ซ้ายเกล้า” ชายผู้ที่เริ่มต้นเปลี่ยนประเทศช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์วันละหม้อ เป็นคำถามที่นำทางให้ทีมงาน The People บุกไปถึงเต่าบาร์ หนึ่งในฐานที่มั่นนอกเกาะของเขา เพื่อพูดคุยอย่างเป็นกันเอง พร้อมเครื่องดื่มในมือ จนเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์ขนาดความยาว 3 ไพนต์ ต่อไปนี้ สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : ทำไมต้มเบียร์ถึงเป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติโลก วิชิต : ผมพูดมาตลอดว่าการต้มเบียร์เพื่อเปลี่ยนประเทศ เมื่อไหร่เราสามารถควบคุมความเมาของตัวเองได้ ประเทศก็จะเปลี่ยนได้ แล้วเราจะทำได้อย่างไร ถามว่าในชีวิตเราสร้างคุณค่าไปแล้วกี่ครั้งบ้าง ผมเชื่อว่าถ้าต้มเบียร์ด้วยตัวเองได้ เราจะเกิดคำถามตามมาว่า มีอะไรอีกที่เราสามารถทำเองได้ เพราะทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง การที่เราแบ่งงานให้กับใครสักคนอย่าลืมว่างานนั้นกลายเป็นอำนาจของคนอื่นไปแล้ว เรารู้ดีว่าอำนาจมันไม่ดี ยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งแย่มาก ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ไม่มีอำนาจมากเกินไป ก็คือให้แต่ละคนดูแล ช่วยเหลือ พึ่งพาตัวเอง ถ้าเป็นแบบนี้ผมเชื่อว่าประเทศเราก็เปลี่ยนได้แล้ว เผลอๆ โลกอาจจะเปลี่ยนเพราะเหตุนี้ด้วย The People : เหมือน “มหาตมะ คานธี” ทอผ้า ทำเกลือเองหรือเปล่า วิชิต : ถ้าอ่านหนังสือของคานธี ในนั้นจะบอกว่า “Small is Beautiful” หรือ “ยิ่งเล็กยิ่งสวย” เป็นหนึ่งในสัจธรรมที่ผมเชื่อ เพราะว่าสิ่งที่เล็กบ่งบอกได้ถึงสีสัน ความสวย ส่วนความหลากหลายก็จะบ่งชี้ถึงความยั่งยืน ถ้าเกิดอะไรก็ตามที่มีความหลากหลาย ลมยังเปลี่ยนทิศได้ พอลมเปลี่ยนทิศก็นำพาเอาสิ่งหนึ่งเข้ามาแทน ถ้าทุกอย่างมีสิ่งที่เหมือนกันมันสมบูรณ์ก็จริง แต่ก็เปราะบางมาก ชีวิตผมจะอุทิศตนให้กับความหลากหลาย เวลาผมไปพูดที่ไหนผมจะเริ่มต้นง่ายๆ ว่า “I Believe in..” ฉันเชื่อใน... ที่เหลือคุณต้องไปเติมข้อความเอาเอง เช่น I Believe in Diversity คือถ้าเกิดพี่ชิตตายตอนนี้ ก็ฝากเขียนคำนี้ไว้ข้างโลงศพด้วย สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : Diversity คือมีทั้งคนเข้มแข็งที่อยู่รอดและอ่อนแอที่แพ้ไปด้วย วิชิต : ใช่ อันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกฎ Natural Selection ของ Charles Darwin ถ้าเราเข้มแข็ง เราก็อยู่รอด แต่ถ้ามีคนอ่อนแอก็ต้องล้มหายตายจากไป อะไรที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบมีปัญหา แต่ถ้าเราเดินควบคู่กันระหว่างธรรมะกับธรรมชาติ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราอยู่บนโลกใบนี้ได้ The People : สังคมเราพร้อมยอมรับความหลากหลายหรือยัง วิชิต : ผมว่ามีความหลากหลายอยู่บ้าง แต่เหมือนกับว่าระบบปฏิบัติการเดียวที่โลกรันกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าเราจะเรียกว่า Capitalism หรืออะไรก็ตาม ถ้าเราดูไทม์ไลน์ ความเอนเอียงจะวิ่งเข้าสู่อำนาจที่เป็นกระจุก จนกระจายออกไป ในช่วงศตวรรษที่ 21 ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า โลกกำลังจะเปลี่ยน Paradigm กำลังจะยกตัวอย่างรุนแรงชนิดที่การเปลี่ยนแปลงใน 50 ปีที่ผ่านมายังเทียบไม่ได้ ถามว่ากังวล ผมไม่กังวลเลย แต่รู้สึกตื่นเต้นมาก ถ้าเป็นผมก็จะให้ดูเรื่องง่ายๆ หลายๆ เรื่อง เช่น โทรทัศน์ในสมัยก่อนเรามีช่องอยู่ไม่กี่ช่อง จู่ๆ ก็มี Digital TV เกิดขึ้นเต็มไปหมด หรือไล่ย้อนกลับไปในสมัยที่โซเวียตแตกว่าทำไมต้องแตก และต้องเกิด Arab Spring หรือที่เราบอกว่าการสร้างเขื่อนเป็นผลดี แต่เวลาฝนตกแล้วเกิดน้ำท่วมตลอด รัฐบาลต้องบอกให้ขุดบ่อเก็บน้ำ คิดดูว่าขนาดบ่อเก็บน้ำเรายังต้องสร้างขึ้นมาเองเลย มื่อก่อนเราเคยคิดว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้เราสามารถจัดการน้ำได้ น้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม สุดท้ายก็เกิดจากการออกแบบที่ผิดธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติจริงๆ ก็คือการกระจายอำนาจ เวลาที่เราเจออะไรที่ใหญ่เกินไป คุณต้องสงสัยทันทีว่ามันผิดธรรมชาติ หรือเวลาเจอวัดใหญ่ๆ ก็ถือว่าผิดกฎธรรมชาติ อย่างวัดก็ควรจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เล็กๆ อยู่ตามหมู่บ้าน ไม่ควรจะเป็นวัดที่ใหญ่โตเกินเหตุ สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : เราพร้อมดูแลตัวเองหรือยัง วิชิต : ผมว่ายัง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งนี้ต้องเป็นการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมอง ให้รับรู้ถึงคุณค่าในตัวมนุษย์ที่มากมาย แต่เพราะว่าเราไม่ได้รับโอกาสและได้รับอนุญาตให้ทำ เผลอๆ 50 ปีที่ผ่านมาระบบนี้ถูกใช้ไปไม่ถึงแสนคน ทั้งๆ ที่ประชากรในประเทศมีตั้ง 60 กว่าล้านคน ปัญหาที่มีคืออะไร ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการแข่งขันฟุตบอล AFF Suzuki Cup เรามีตั้ง 60 ล้านคน ทำไมเราต้องมาลุ้นผลกับประเทศที่มีคนเพียง 5 ล้านคนด้วย แสดงว่าศักยภาพและการจัดการมนุษย์ในตัวเราเริ่มมีปัญหาแล้ว หมายความว่ากระบวนการคัดเลือกคนห่วยแตกมาก แต่ว่าถ้าเราเข้าใจในสิ่งนี้ เราก็ยังมีความหวังว่าจะทำได้ดีกว่านี้ The People : ประเทศไทยดูแลเรื่องความเมากันเองได้หรือยัง วิชิต : ผมว่าทุกอย่างมีทั้งให้คุณและให้โทษ เวลาเขาออกกฎหมายมาก็จะสันนิษฐานไปก่อนว่ามนุษย์ไม่ยอมดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นกฎสมัยเก่า แต่จะเห็นว่ามีเรื่องในอดีตหลายเรื่องที่เราสามารถทำในปัจจุบันได้ ผมเลยเชื่อว่าทุกอย่างไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ แสดงว่าถ้าเบียร์ดีแต่กินแล้วเมาก็แปลว่าไม่ดีแล้ว หรือบางอย่างทำน้อยไปก็ไม่ดี ทำมากไปก็ไม่ดี ก็จะมีจุดของมันอยู่ แต่เนื่องจากเราออกกฎหมายเพื่อนำไปใช้กับคน 60-70 ล้านคนก็ไม่ถูกต้อง จะมีเพียงแค่คนบางกลุ่มที่โอเคกับกฎเหล่านี้ The People : แสดงว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงประเทศเราไปช้าๆ วิชิต : ต้องเปลี่ยนแปลงช้าๆ ผมบอกกับทุกคนเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง ผมคิดว่าเราพยายามกันมานานมากถึง 40-50 ปี ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล ปฏิวัติรัฐประหารหรืออะไรก็ตาม ซึ่งผมว่าไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร แสดงว่าเราก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน ถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ไหม คำตอบคือมี และก็อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิของเราด้วย คือวัด ในบ้านเรามีวัดตั้ง 60,000 กว่าวัด ไม่เห็นมีใครมาคอยสั่งการไหมว่าวัดควรจะต้องบูรณะหรือสร้างใหม่เลย ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการขนทราย ทอดผ้าป่า ทอดกฐินไปเรื่อยๆ และเขาก็มีอยู่กันตั้ง 60,000 กว่ายูนิต แสดงว่าองค์กรนี้ทำออกมาได้ดีเลยเกิดการลอกเลียนแบบขึ้น ผมคิดว่าอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เกิดขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องไปยึดอำนาจรัฐบาลหรือไปสร้างพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผมไม่เชื่อว่าการกระทำแบบนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราทำได้แค่เปลี่ยนแปลงในระดับเล็กๆ ซึ่งเราต้องถอดออกมาเป็นสัญญาจนเกิดการทำตามได้ ถ้าเป็นแบบนี้ผมว่าไม่เสี่ยง ผมไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใครมากมาย แค่ต้มเบียร์ให้คนกินก็พอแล้ว คนเราเกิดมาไม่จำเป็นที่จะต้องอุทิศตนให้กับโลก แค่ทำให้ดูตามแบบของเราเอง ถ้าออกมาดีก็จะมีคนทำตามเอง สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : ทำสตาร์ทอัพมา เชื่อคำว่า “Fail Fast, Learn Faster” ไหม วิชิต : ไม่ครับ ผมเชื่อในเรื่องของ Affordable Risk กับ Small Things หมายความว่าเราต้องผลิตทั้งใหญ่และเล็ก ผมมักจะเรียกว่าเป็นการก้มหน้าฝัน คือการฝันถึงอะไรที่ยิ่งใหญ่แต่เราทำในสิ่งที่เล็กเพื่อทำให้เกิดการเลียนแบบ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่เล็ก ทีนี้การฝันใหญ่และทำอะไรเล็กๆ ก็มีหลักการอยู่ อย่างการทำอะไรเล็กๆ ก็เพื่อทำให้เราพอมีกินมีใช้ เวลาคนเราฝันอะไรก็ตามเรามักจะทำตามฝันไปเลย โดยที่ไม่ได้มีการแบ่งเป็นขั้นเล็กๆ ก่อน ซึ่งจะทำให้ไม่มีความอดทนและไม่มีความรู้ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา สุดท้ายก็จะล้มเหลวในการทำธุรกิจกันหมด The People : ความฝันในการกระจายอำนาจคือเรื่องอะไร วิชิต : ผมก็ไม่รู้ว่าจะแบ่งอำนาจจากอะไร แต่ถ้าโลกแบ่งอำนาจลงมาได้บ้างก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เรื่องเบียร์ของเรา เราเริ่มจากศูนย์ เพราะว่าประชากร 60 ล้านคนดื่มเบียร์กันแค่ 2-3 ยี่ห้อ แต่วันนี้เรามีแบรนด์เบียร์ 60-70 แบรนด์ รวม Homebrew อีกเป็นพันแบรนด์ แสดงว่าเราได้ผลตอบรับแง่บวกกลับมาแล้ว จากที่เราไม่มีตัวเลือก ตอนนี้กลายเป็นว่าเรามีตัวเลือกมากมาย ซึ่งก็จะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย หรืออย่างสตาร์ทอัพที่ผมทำ จากที่เคยมีอยู่หลากหลาย ก็จะค่อยๆ ตายจากไปเรื่อยๆ ซึ่งผมก็ทำมาจากสเปกตรัมนั้นด้วย ตอนนี้ชีวิตมีรันอยู่สองอย่าง เรื่องหนึ่งคือทำให้จุดที่เป็นศูนย์กลายเป็นความหลากหลาย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือสตาร์ทอัพในส่วนของ Logistic อยู่ก็คือ eBay ซึ่งเราจะทำเป็น Marketplace เรามีผู้ขนส่งอยู่ประมาณ 30,000-40,000 ราย แต่ละคนก็จะมีรถอยู่ประมาณ 10-15 คัน ซึ่งคนเหล่านี้ถูกแยกส่วนภายใต้การผลิต ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะมีคนมาช้อปปิ้ง และนำคนเหล่านี้ไปเป็นขี้ข้า สุดท้ายจะมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่คิดเรื่องค่าขนส่งหรืออะไรทำนองนี้ จะเป็นแค่ทาสขับรถส่งของอย่างเดียว ผมก็เลยทำเรื่องไอทีเพื่อทำให้เขาดำรงตัวตนของตัวเองอยู่ได้ เพราะมันถูกเปลี่ยนอยู่แล้ว แต่มันกำลังจะถูกฆ่าอยู่ตลอดเวลา บางทีคนเรามองไม่ออกว่าเราคิดอะไรอยู่ ทำๆ ไปดีกว่าไม่ต้องไปคิดมาก ว่างเมื่อไหร่ค่อยตกผลึกออกมา พอคิดอย่างนี้ก็รู้เลยว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างความหลากหลาย สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : Roadmap ต้มเบียร์ที่วางไว้ปี 2020 ไปถึงไหนแล้ว วิชิต : ถึงแม้ว่ากฎหมายจะยังไม่ให้เราสามารถออกแบบเบียร์ของเราได้อย่างอิสระ แต่ก็สามารถดำเนินมาได้ถึง 6 ปี โดยดำเนินมาตามคอนเซปต์บันได 3 ขั้น ขั้นที่หนึ่งก็คือ ศูนย์การเรียนรู้การทำเบียร์ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่มากมายในประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยบางส่วนก็มีหลักสูตรนี้ด้วย เพื่อให้คนจินตนาการว่าทำไมเราถึงต้มเบียร์เองไม่ได้ ได้เข้ามาทดลองและรับข้อผิดพลาดต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสเต็ปที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราเคยคิดว่าการจะผลิตเบียร์ออกมากินเองเป็นเรื่องที่ยากและห่างไกลจากตัวเรามาก พอตอนนี้เราก็ทำให้เห็นว่าการทำเบียร์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด มีแค่หม้อก๋วยเตี๋ยว 2 ใบ ถังน้ำแข็ง 1 ใบก็สามารถต้มเบียร์กินเองได้ เป็นการทำให้เข้าใจในเรื่องนี้ง่ายขึ้น บันไดขั้นที่สอง เรามีโรงเบียร์ถูกกฎหมายก็คือ “โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์” จากที่ต้องทำเบียร์กันใต้ดิน กว่าจะได้ใบอนุญาตมาก็ยากเหมือนกัน แทนที่จะเปลี่ยนจากการทำคนเดียวมาเป็นการทำเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้คนมานำเสนอโปรเจคท์ของตัวเอง ถ้ามีเสียงยอมรับครบ 300 เสียงก็สามารถมาต้มเบียร์ของตัวเองที่โรงเบียร์นี้ได้ ซึ่งเบียร์เหล่านี้ก็ได้ให้บริการอยู่ที่ร้าน “มิตรบาร์” ตรงอนุสาวรีย์ชัยฯ โดยมาจากไอเดียที่เราสามารถดึงคนที่ทำใต้ดินขึ้นมาทำได้ ผมว่าเหมือนเวที The Voice เพื่อค้นหาเทพของนักต้มเบียร์ไทย ถ้าเราต้มเบียร์เถื่อน 20 ลิตร ต้มที่มิตรสัมพันธ์ 2,000 ลิตร เราไม่ได้ออกอัลบั้มเพลงถึงจะต้มกันถี่ขนาดนี้ ขั้นที่สามก็คือขั้นของการโฆษณา เราไปต้มกันโรงเบียร์ Stone Head ที่กัมพูชา และเราก็จะสามารถทำเบียร์สด เบียร์ขวดไปขายที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นวิวัฒนาการของวงการคราฟต์เบียร์ไทย บางคนเรียนไปแค่ครั้งเดียวก็ออกไปทำเบียร์เลย ทำไปได้ 3 พันลิตรหรือหมื่นลิตร สุดท้ายก็จะล้มเหลว คุณยังไม่ได้ไปสเต็ปของการสถาปนาแบรนด์และสร้างฐานแฟนคลับเลย สเต็ปสองจะเป็นการทำ Brand Springboard เพื่อทำให้คนได้รู้จักกับแบรนด์นี้ ถ้าเรายังไม่มีสาวกและไปทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์เลยก็อาจจะล้มเหลวได้เหมือนกับหลายๆ แบรนด์ในตอนนี้ ถึงแม้ว่าวงการคราฟต์เบียร์จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมาย แต่ก็สามารถสร้างสรรค์และทำตามบันไดสามขั้นที่เราสร้างได้ The People : นอกจากเบียร์แล้วยังกระจายอำนาจในเรื่องอื่นด้วยไหม วิชิต : ถ้าเราไปที่เกาะเกร็ด นอกจากเบียร์แล้ว ยังจะเจอตู้ ATM Bitcoin ซึ่งบางคนที่ไม่รู้จักก็อาจจะงง บางคนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีหรือมี Blockchain เป็นของตัวเองแล้วก็อาจจะคุ้นเคยกันดี ผมจะบอกกับทุกคนเสมอว่า การต้มเบียร์กินกับการทำ Blockchain เป็นเรื่องเดียวกัน ตรงที่มีรูปแบบของการกระจายอำนาจและการให้อำนาจเหมือนกัน ซึ่งเบียร์ของเราทำกันมาแล้ว ถ้าเราอ่านหนังสือก็จะรู้ว่า จุดสุดท้ายจริงๆ ของทุกอย่างไม่ว่าเป็นเรื่องสังคมหรือโมเดลทางเศรษฐกิจก็คือเงิน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นมาของเงิน เนื่องจากปัจจุบันเงินยังเวิร์คอยู่ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่เราไม่มีเงินแล้ว เราก็อยากจะรู้ว่าทำไมเงินถึงไม่เวิร์ค ครูประถมหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เคยสอนความเป็นมาของเงินเลย ทั้งๆ ที่เงินเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุดก่อนที่เราจะมีภาษาเขียนอีก มนุษย์มีความรู้เรื่องเงินมาตั้งแต่เป็นโลหะ เปลือกหอย จนมาเป็นกระดาษ พลาสติกที่เขาเรียกว่า Debt Money จนตอนนี้เงินกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นดิจิทัล ฉะนั้นเราต้องเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะว่าเงินเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่ซึ่งเรากำลังจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นครั้งที่ 5 และเรากำลังจะเปลี่ยนในช่วง 10-15 ปีที่จะถึงนี้ ถ้าไม่ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ก็คงจะบ้าไปแล้ว ผมก็ตื่นเต้นมาก ถ้าคุยเรื่องเบียร์กับผมสามารถคุยกันได้ยาวตั้ง 8 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเรื่อง Bitcoin หรือ Blockchain นี่คุยกันได้สามวันสามคืนเลย (หัวเราะ) เพราะว่าทุกอย่างบนโลกกำลังจะเปลี่ยน ผมได้เคยพูดไว้ตั้งแต่ ชิตทอล์ค 1 เมื่อปี 2012 จนมาถึง ชิตทอล์ค 4 ที่ผ่านมา พี่น้องในวงการคราฟต์เบียร์หลายคนก็งงว่าผมพูดอะไร แต่วันนี้ก็คงพอจะเข้าใจบ้าง The People : ตอนนั้นพี่ชิตเคยมี Bitcoin อยู่ 3 เหรียญกว่าตอนนี้เป็นยังบ้าง วิชิต : ลดลงครับ ผมบอกทุกคนว่าถ้าใครสามารถทนฟังเรื่อง Bitcoin / Blockchain ได้ มาเอาไปเลยคนละ 3 ดอลลาร์ พอมานั่งดูยอดเงินใน Wallet ตัวเองก็พบว่าตอนนี้แจกไป 2 แสนกว่าบาทแล้ว เพราะมูลค่าเพิ่มขึ้นไป 10 กว่าเท่าจากมูลค่าเดิม ซึ่งหลายคนก็ถามว่าเราจะหา Bitcoin มาได้อย่างไร เราสามารถหาได้ 3 ทาง คือ หนึ่งนำเงินที่เรามีอยู่ไปซื้อมา สองเข้าขุดด้วยการเข้าไปตรวจสอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหน้าที่ของสถาบันที่จะทำให้ดำรงความน่าเชื่อถือได้ แต่ปัจจุบันนี้ได้ถูกกระจายอำนาจไปยังกลุ่มเล็กๆ แล้ว อย่างสุดท้ายคือการทำงานเพื่อมัน อย่างที่ต้มเบียร์ เราก็มีป้ายขึ้นว่า “Accept Bitcoin” คุณทำงานของคุณไปและก็รับ Bitcoin มา ซึ่ง Bitcoin ของผมส่วนใหญ่ก็มาจากการต้มเบียร์ สมัยก่อนที่บอกว่าสามารถใช้ Bitcoin ซื้อเบียร์ได้ ทุกคนดีใจมาก แต่ตอนนี้บางคนก็มานั่งร้องไห้กับผม แล้วก็บอกว่า เบียร์พี่แพงมากเลย แก้วละตั้งสามพัน” เพราะว่าราคาขึ้นจาก 8 พันมาเป็น 2 แสนกว่าบาท (หัวเราะ) สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : คอนเซปต์ของ Chitcoin เริ่มมาจากอะไร วิชิต : เริ่มต้นมาจากที่ผมต้องการสอนทุกคนเกี่ยวกับความเป็นมาของเงิน ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบ ผมก็เคยบอกไปแล้วว่า ถ้าคนไทยรู้เรื่องที่มาและความสำคัญของเงิน การปฏิวัติประเทศจะเกิดขึ้นก่อนพรุ่งนี้เช้าเลย เงินคืออะไรก็ได้เพราะไม่มีค่าในตัว เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เก็บพลังงานและมูลค่าที่เราสร้างเอาไว้เท่านั้น ได้แก่ การไปสอนหนังสือ ขับรถส่งของ เขียนโปรแกรมหรืออะไรก็ตาม ซึ่งเรานำไปเก็บเอาไว้ในเครื่องมือที่เราเรียกว่า Money ทีนี้พอเรารู้ว่าเงินเป็นอะไรก็ได้ จากเป็นโลหะ เปลือกหอยจนมาเป็นกระดาษ แล้วทำไมเงินจะเป็นดิจิทัลไม่ได้ หลายคนมุ่งแต่จะผลิตเหรียญเป็นของตัวเอง โดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร คนจะไม่มีทางรวยได้ถ้าเราไม่สร้างมูลค่าให้กับเงิน ในปัจจุบัน มุมมองของผมต่อการคราฟต์เบียร์และ Cryptocurrency ก็เหมือนผมมีจินตนาการในการสร้างสะพานขึ้นมา โดยเริ่มจากการสร้างตอม่อขึ้นมาก่อน ตอม่อฝั่งซ้ายจะเป็นเรื่องของมูลค่า คือการทำเบียร์เพื่อสร้างมูลค่าให้กับมัน อีกฝั่งหนึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับเก็บมูลค่า ซึ่งถ้าทั้งสองสิ่งสามารถเชื่อมต่อกันได้ คุณจะรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ในปัจจุบันเบียร์ได้กลายเป็น Lab Economic ของผมไปแล้ว ต่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัย เขาไม่เคยสร้างเศรษฐกิจเป็นของตัวเองขึ้นมาเลย แต่ผมมีเศรษฐกิจเป็นของตัวเองเพราะว่าผมมีโรงเบียร์เป็นของตัวเอง ผมมีคนทำเบียร์เพราะเรามีคนสอนทำ ผมทำโลจิสติกส์มา 15 ปี ผมจะรู้ว่าเราควรเดินหน้าและกระจายสินค้าของเราอย่างไร ผมมีเครือข่ายของบาร์ต่างๆ ซึ่งตั้งแต่คนทำยันผู้บริโภค นี่คือเศรษฐกิจของผมที่ไม่ต้องพึ่งพาใครเลย มูลค่าจะสร้างทั้งระบบขึ้นมาเอง เราก็แค่นำ Token เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้มูลค่าสูงขึ้นได้ เพราะว่าเราสามารถวางวิธีการให้กับ Token ของเราได้ เราสามารถหา Value Distribution ของแต่ละกลุ่มได้ คอนเซปต์ของการมี Chitcoin คือเราต้องการจะเป็น Digital Access ที่สามารถหา Value Distribution ได้ เมื่อเดือนก่อนผมได้มีไอเดียบางอย่างที่จะทำให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้ ซึ่งพอรู้ผมก็ตื่นเต้นมากเลย แต่บ้านเรามี Maker เกิดขึ้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Farmer Producer Driver หรืออะไรต่างๆ สุดท้ายมูลค่าทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากคนเหล่านั้น แต่ Maker และ Consumer บ้านเราก็จนเสียเหลือเกิน ทำให้มูลค่านั้นหายไป กลายเป็นว่าคนรวยกระจุกรวมกันแต่คนจนกระจายตัวออกจากกัน แล้วระบบผิดพลาดตรงไหน พอผมมานั่งไล่ทั้งหมดก็เลยรู้ว่าเราผลิต Market Point มากเกินไป คอนเซปต์มันคือซื้อในราคาต่ำแต่ขายในราคาสูง ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าอะไรให้เลย มูลค่าเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่เราสร้างผลิตภัณฑ์จากดินฟ้าอากาศและมันสมองของเราเท่านั้น เวลาเราซื้อขายกันก็จะเกิดการตีค่า ยิ่งเรามีหลายจุดมากก็จะส่งผลให้ราคาในตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย ผู้ผลิตก็จะไม่ได้อะไรกลับมาเลย คอนเซปต์ที่วางไว้คือต้องการเห็นโมเดลเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่สามารถกำจัด Market Point ได้มากที่สุด ซึ่งมีแค่จุดเดียวคือผู้บริโภค เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นเงิน เพราะทั้งผลิตภัณฑ์และเงินต่างก็มีมูลค่าในตัวเอง และสามารถแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้ เป็น Value in Motion ที่เปลี่ยนรูปแบบจากเงินกลับเข้าสู่วงจรผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ้าเรายังไม่แก้ด้วยระบบปฏิบัติการใหม่ ต่อให้เราแก้เรื่องราคายางพารา ราคาข้าวกันมานานแค่ไหน สุดท้ายชาวนาก็ยังจนเหมือนเดิม เวลาผมพูดถึง Value Contribution คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าต้องจ้างแอดมินมาดูแลกันเยอะๆ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเรามี Blockchain ที่ฝรั่งบอกว่าเป็นเครื่องบันทึกความจริงและความเชื่อมั่นแล้ว ส่วนผมก็เรียกว่าเป็นสมุดบันทึกกรรม ตั้งแต่รู้ว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นทำให้โลกของผมสว่างขึ้นมาเลย เพื่อให้ทุกคนกลับมาเชื่ออีกครั้งว่าสวรรค์ยังมีตา The People : ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่พี่ต้มเบียร์ออกมาไม่ดี และตอนนั้นเกิดล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำเบียร์ไป จะเป็นอย่างไร วิชิต : ผมคงไม่นั่งอยู่ฝั่งนี้ แต่จะอยู่ฝั่งโน้นแทน เป็นแค่ผู้บริโภคที่ดื่มเบียร์ดีหรือเบียร์ไม่ดีก็ได้ คงไม่มีโอกาสได้เดินทางไปหลายๆ ที่ ไม่เจอใครต่อใครหลายๆ คน แล้วก็คงไม่ได้เจอพวกคุณ เพราะว่าชีวิตของผมแค่นี้ก็มีโบนัสมากมายแล้ว ผมมักจะบอกว่า คนเราฟลุคกันได้แค่ครั้งเดียว ซึ่งเราเองฟลุคโดยไม่ได้ตั้งใจ บวกกับการคราฟต์เบียร์ที่มาแบบได้จังหวะพอดีอีกด้วย ก็เคยคิดว่าทำไมต้องเป็นเรา ผมก็รู้สึกยินดีต่อโมเมนต์ที่เข้ามาในตอนนั้น ซึ่งเกิดขึ้นสุ่มๆ หมดเลย และจากประสบการณ์ตรงที่ผมผ่านมา ผมจะบอกกับทุกคนว่า บางทีอย่าไปวางแผนชีวิตมากนัก ทำไปก่อน คนเราไม่ได้ฉลาดหรืออัจฉริยะจากการมองไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวหรอก อย่าไปคิดมาก แต่ต้องลองมองย้อนกลับไปดูว่าเราได้ตกผลึกอะไรออกมาบ้าง บางทีอาจจะมีเพชรเม็ดเล็กๆ ที่ส่องประกายแสงออกมาอยู่ก็ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากเจอประสบการณ์นี้ ผมก็จะบอกตลอด อย่างสื่อต่างๆ ที่มาหาผม ก็จะพาดหัวให้ผมเลยว่า นี่คือตัวอย่างของผู้ชายที่เดินตามความหลงใหลในความฝัน ซึ่งจริงๆ แล้วความคิดนี้ไร้สาระมาก เคยรู้มาก่อนไหมว่า Action First, Passion Later ทำอะไรก็ได้แล้วถ้าได้ผลตอบรับกลับมาดีก็ทำต่อไป คนก็เข้ามาสรรเสริญมากมาย แต่ก็ต้องรู้ตัวว่าเรากลวงแค่ไหน เราก็ต้องศึกษาอย่างต่อเนื่องและก็ได้ผลตอบรับดีกลับมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเราตกหลุมรักกับสิ่งนั้นเข้าแล้ว ผมไม่เคยคิดว่าเบียร์อร่อยเลย แต่มาวันนี้ผมบอกว่าเบียร์อร่อยมาก เพราะเราผลิตความหลงใหลออกไป หลังจากที่เราทำในสิ่งที่เราไม่ได้คิดมาก่อน ถ้ามีบทเรียนก็อยากจะบอกน้องๆ ทุกคนว่า Take Action กันไว้ ถ้าไม่ใช่ก็ทิ้งไป ต้องมีสักทางหนึ่งที่ทำให้เรามีคุณค่าได้ บางทีพอเราขยายแล้วก็อาจจะตกหลุมรักกับสิ่งนั้นไปเลยก็ได้ สัมภาษณ์ “วิชิต ซ้ายเกล้า” นักปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างช้าๆ ด้วยการต้มเบียร์ และบล็อกเชน The People : เคยมีผลตอบรับที่เฟลบ้างไหม วิชิต : ถ้าระหว่างทางก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมาก เวลาผมไม่ได้รู้สึกเฟลก็อาจจะคิดบ้างว่า หรือความฝันของเรายังไม่ใหญ่พอ บางทีคนเราเวลามายืนบนเนินนี้ได้แล้วก็มักจะมองหาเนินที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เหมือนกับที่ผมจินตนาการอยู่ตอนนี้ กว่าผมจะมายืนบนเนินนี้ได้ ผมก็เคยยืนบนเนินอื่นๆ มาหลายเนินแล้ว ฉะนั้นผมก็ยังมีความฝันและจินตนาการที่ยิ่งใหญ่อยู่ บางทีเรายังไม่ได้บอกตอนนี้ แต่ว่าเป็นฝันที่สุดยอดมาก ไม่มีใครเคยถามเลยว่าผมใช้อะไรเป็นแรงขับเคลื่อน สิ่งที่คนเราชอบฝันมีอยู่สองเรื่อง อย่างแรกคือการเดินทางที่ยิ่งใหญ่จะใช้เวลายาวนาน ถ้าเราไม่มีความฝันยิ่งใหญ่ก็จะทำให้เราขาดแรงขับในการที่จะไปให้ถึง เพราะทุกการเดินทางกว่าจะถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี อย่างที่ Ten Years Rules เขาบอกว่า ไม่มีใครจะเป็น Master ได้ในเวลาไม่ถึง 10 ปี แม้ว่าจะผ่าน 10 ปีมาแล้วก็ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นได้ วิธีที่จะทำให้เราก้าวผ่าน 10 ปีนี้ไปได้ก็คือความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา อีกอย่างหนึ่งคือ เราทุกคนมีคนสองคนอยู่เสมอ คือตัวเรากับคนที่คอยขัดขวางความฝันของเรา ชอบเปรียบเทียบเทียบเรากับคนอื่นและมองว่าเรื่องที่เราทำไร้สาระ ฉะนั้นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเราจะเป็นการเดินทางที่ยาวนานและมีเสียงนกเสียงกามารบกวนเราอยู่ตลอด The People : ตอนนี้เลี้ยงตัวเองด้วยการต้มเบียร์อย่างเดียวได้หรือยัง วิชิต : ไม่ได้ครับ และผมก็ไม่อยากคิดแบบนั้นด้วย เพราะถ้าคิดแบบนั้นจะทำให้ระบบความคิดและความปลอดภัยของผมหายไป หมายความว่าผมกำลังจำกัดสโคปเพื่อเลี้ยงตัวเอง ถ้าผมมีระบบความปลอดภัยมาจากแหล่งอื่น ที่เหลือก็จะเป็นการสำรวจและค้นหาความเป็นไปได้ทั้งหมด ฉะนั้นผมจะต้องไม่อยู่ในมุมที่ทำเบียร์เพื่อเลี้ยงตัวเอง ต้องไปหาความปลอดภัยมาจากที่อื่นๆ ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าผมทุ่มหมดหน้าตัก เพราะว่าต่อให้ล้มเหลวผมก็ยังอยู่ได้