สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

       Armchair วงอินดี้ป๊อปแห่งยุคอินดี้เฟื่องฟู เป็นการรวมตัวของ 4 หนุ่ม โย่ง-อนุสรณ์ มณีเทศ, อ้วน-อธิษว์ ศรสงคราม, ผึ้ง-จตุตถพงศ์ รุมาคม และ จ้อ-พีระพล ลีละเศรษฐกุล ย้อนกลับไปหลายปีก่อนอัลบั้มแรกของพวกเขา Pastel Mood ถูกปล่อยออกมาท่ามกลางตลาดที่มีดนตรีร็อกเป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่ตอนนั้น แต่ผลงานที่มีดนตรีแนวบอสซาโนว่าที่ลงตัวกับดนตรีเรโทรป๊อปร่วมสมัย ทำให้เพลงอย่างอบเชยหรืออยากกลับไปหากลายเป็นสุ้มเสียงที่ทำให้แฟนเพลงช่วงนั้นคุ้นชิน

ต่อมา Armchair ถูกจารึกในสารบบดนตรีอินดี้ไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงานอย่างเพลงรึเปล่า’, ‘รักแท้’, ‘วันที่ฉันป่วยแต่ท่ามกลางกราฟของวงที่กำลังขึ้นสูง อัลบั้ม Tender ชุดที่สี่ของวง กลับกลายเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของอ้วน มือคีย์บอร์ดของวงที่ไปศึกษาต่อด้านถ่ายภาพที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี หลังพักวงไปร่วมห้าปี สมาชิกทั้งสามที่เหลือกลับมารวมตัวกันทำเพลงอีกครั้ง ภายใต้ต้นสังกัดใหม่ และมีเพลงใหม่อย่างคุณเก็บความลับได้ไหมผลงานที่โย่ง นักร้องนำเผยว่ามันคือตัวสะท้อนเส้นทางดนตรีที่ผ่านมาของ Armchair      

นอกจากงานเพลงหรือความสนใจรอบด้านของเขาแล้ว ตัวโย่งเองยังถือเป็นทาสแมวตัวยง หลังล่าสุดมีชาวเน็ตแห่กันแชร์คลิปวิดีโอที่นักร้องหนุ่ม จอดรถข้างทางแล้วลงไปช่วยลูกแมวสีส้มที่หลงอยู่ตรงเกาะกลางถนน ซึ่งต่อมาเขาตั้งชื่อเจ้าแมวตัวนี้ว่าส้มหยุด

ปัจจุบัน โย่ง ที่กำลังซุ่มทำเพลงใหม่ในฐานะศิลปินเดี่ยวได้มานั่งคุยกับ The People เราจึงถามเขาในหลากหลายประเด็น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือการพูดถึงจุดเริ่มต้นของ Armchair ภายใต้แนวคิดของการนำดนตรีบอสซาโนว่ามารวมกับดนตรีป๊อป พวกเขาคิดอะไรอยู่ในตอนนั้น? รวมถึงเรื่องราวความรักที่หลายคนอิจฉา และการเป็นพ่อบ้าน นักโปโล หรือเชฟในเวลาเดียวกันของผู้ชายคนนี้

The People: จากเพลงลูกกรุงสู่การเป็นนักร้องนำ Armchair

อนุสรณ์: จริง ๆ แล้วชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เวลาร้องเพลงก็จะรู้สึกว่าเสียงตัวเองมันเข้ากับสิ่งที่ตัวเองทำ ตอนเด็ก ๆ พ่อชอบร้องเพลงลูกกรุงให้ฟัง แล้วผมรู้สึกว่าเพราะดี เลยเริ่มจากการเลียนแบบก่อน แต่ไม่ได้จริงจังอะไร เพราะว่าไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นนักดนตรีหรือนักร้องอยู่ในหัวเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งมาเรียนที่ลาดกระบังฯ (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง) เข้าปีหนึ่ง ก็เจอกับพี่ผึ้ง มือกีตาร์ แล้วก็อ้วน นี่ก็เป็นเพื่อนตั้งแต่สวนกุหลาบ อ้วนเป็นนักดนตรี เป็นคนเป่าฟลุตอยู่แล้ว ก็เลยอยากทำอะไรที่สนุก ๆ กันดูในงานคณะ

มันเริ่มมาจากความห้าวก่อน คือเราชอบร้องเพลง ตอนสวนกุหลาบก็เล่นกับเพื่อนมีวงปกติ เป็นวงร็อก เคยประกวดชนะ ได้รางวัลมาบ้าง พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็รู้สึกว่าเราอยากจะแสดงออกในสิ่งที่เรามี ย้อนกลับไปตอนจุดเริ่มต้นในงานรับน้อง พี่ผึ้งเล่นกีตาร์กับวงอื่นอยู่ ตอนนั้นผมน่าจะเมา เลยขึ้นไปแย่งไมค์จากเขามาร้อง เขาไม่กระทืบผมก็บุญแล้ว เขาคงเห็นอะไรบางอย่างในไอ้หนุ่มคนนี้ เลยชวนมาเล่นดนตรีกัน ไม่ได้ไปเล่นดนตรีตามร้านอาหาร แต่ตั้งใจว่าจะทำเพลงออกมาเลย ตอนนั้นดนตรีที่ชอบเลยคือ อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม กับจาว กิลแบร์โต ที่เป็นบอสซาโนว่า ตอนแรกก็ไม่ชอบเพราะเราโตมากับการฟังเพลงร็อก จริง ๆ เมื่อก่อนชอบเพลงเพื่อชีวิต เพลงที่สื่อสารแบบตรงไปตรงมา แต่ว่าต้องมานั่งฟังเพลงบอสซาโนว่าที่มันมีคีย์ มีทักษะในการเล่าเรื่องซับซ้อนขึ้น แล้วก็ความนุ่มนวลบางอย่างที่เราได้สัมผัส ตอนแรกไม่เชิงว่าไม่ชอบ แต่รู้สึกมันอาจจะไม่เหมาะกับเรา แต่พอได้ไปร้อง พอได้ไปคุยกัน ได้ไปทำความเข้าใจกับมัน ก็เริ่มรู้สึกว่าจริง ๆ เสียงเราเหมาะกับเพลงแบบนี้ เลยเริ่มอิน เลยกลายมาเป็น Armchair ชุดแรก

สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

The People: หาส่วนผสมที่ลงตัวของบอสซาโนว่าและป๊อปได้อย่างไร

อนุสรณ์: แรกเริ่มเดิมทีเราไม่ได้รู้อะไรเลย มันสดมาก ๆ เราคิดแค่ว่าเราจะต้องทำเพลงนี้เพื่ออะไร นอกจากจะเอาไว้ฟังและรู้สึกดี หริอมีเพลงอย่างที่ศิลปินที่เราชอบมี คิดแค่นั้นเลย ไม่ได้รู้สึกว่าทำเพลงแบบนี้แล้วจะนิยมเป็นวงกว้าง คนจะชอบ หรือจะทำให้มีงาน หรือมีเงินเลี้ยงชีพได้ ไม่ได้คิดไกลถึงตรงนั้นมากไปกว่ากลับไปเล่นงานคณะแล้วสาวกรี๊ดแค่นั้นพอ มันก็เลยไม่ได้ถกเถียงกันมากกว่าว่าเพลงควรจะไปในทิศทางไหน เลยออกมาเป็น 4 คนแบบเพียวๆมากๆ

มันคือการนำพื้นฐานของแต่ละคนมารวมกัน อย่างพี่จ้อ มือเบสชอบแจ๊ส ชอบบลูส์ พี่ผึ้งก็เป็นแบบ สแปนิช ฟลามิงโก เป็นบอสซาโนว่า อ้วนนี่ก็ชอบสายกิลแบร์โต สายบอสซาโนว่าอยู่แล้ว ส่วนผมชอบการเล่าเรื่องของบอสซาโนว่า ชอบความคมคาย ความจิ๊กโก๋บางอย่างในรูปแบบของเขา เลยออกมาเป็นแบบนั้น โชคดีมากที่คนชอบ ตอนนั้นมันอาจจะฟังดูใหม่ อย่างเพลงอบเชยออกมาซิงเกิลแรก เราไม่ได้คาดหวังเลย เพราะมันไม่ใช่ภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียนด้วยซ้ำ อย่างเจ้าอบเชย โอ้ เจ้าเอย ไม่เคยได้หมองหม่นมันดูเข้าใจยาก เราแค่อยากทำแบบนี้ ครั้งแรกที่ได้ยินเพลงนี้ที่สยามสแควร์ วันนั้นรู้สึกว่าเราไปขายซีดี ขายเทป ได้ยินแล้วรู้สึกดี

The People: รู้สึกอย่างไรที่ Armchair ถูกยกเป็นผู้บุกเบิกวงการเพลงอินดี้ไทย

อนุสรณ์: มองย้อนกลับไปรู้สึกดีมากทุกครั้งที่ตอนนั้นได้ลงมือทำ ไม่ได้รู้สึกว่าผิดพลาดอะไรเลย เป็นความทรงจำที่ดีมาก ๆ เลย ณ ตอนนั้น เราไม่ได้รู้หรอกว่าอีกสิบปี ยี่สิบปีเราจะกลับมาพูดถึงมันอีก ตอนนั้นเราก็แค่ทำในสิ่งที่เรารู้สึกเท่านั้นเอง เรามาพร้อมกันกับ Fat Radio ที่เป็นหัวหอกของสื่ออินดี้ยุคนั้นเลย จนตอนหลังมันกลายเป็นแมส จนไม่อินดี้อีกต่อไป อินดี้เป็นสไตล์ ไม่ได้เป็นวิธีการทำงาน ทุกวงมีค่ายเพลง ถึงจะสเกลเล็กหรือสเกลใหญ่ แต่ทุกคนก็มีค่าย ค่ายใหญ่ ๆ ก็เริ่มมาแตะตลาดนี้บ้าง ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ งาน Fat radio ทุกคนก็มากันเยอะมาก

ช่วงนั้นทุกคนก็จะแต่งตัวแบบ Armchair เสื้อยืด กางเกงยีนส์เดฟ ๆ  เสื้อแบบผ้าบาง ๆ แล้วก็ตัดทรงพี่โย่งกับพี่อ้วน เราเคยมีคอนเสิร์ตแล้วเอาทุกคนมายืนถ่ายรูปบนเวทีวันนั้นน่ารักมากเลย ก็เป็นความทรงจำที่ดีมากจริง ๆ เพราะว่าเราได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวตนเราจริง ๆ reference เราไม่ได้เยอะมาก การเข้าถึงโซเชียลมีเดียน้อยมาก แต่ก็สามารถทำให้คนรู้จักเราเยอะมากขนาดนั้นด้วยการเดินสาย ด้วยการพูดปากต่อปาก หรือว่าอะไรก็ตาม มันรู้สึกดีมาก ๆ เป็นความทรงจำที่ดีมาก

The People: จุดเปลี่ยนสำคัญและความพยายามจะกลับมาของ Armchair?

อนุสรณ์: ก่อนหน้าที่อ้วนจะเดินทาง เราทำอัลบั้มชุดที่สามคือ ‘Spring’ ในนั้นมีเพลงรักแท้’, ‘ไปด้วยกันหรือเปล่า’, ‘พรุ่งนี้ที่เป็นเพลงที่หลาย ๆ คนรู้จัก ตอนนั้นกำลังพีคมาก เดือนหนึ่งไม่ได้หยุดเลยจริง ๆ จนต้องกินยา ต้องใช้สเตียรอยด์ที่ช่วยรักษาอาการ ที่ช่วยประคองไปได้ แล้ววันหนึ่งอ้วนก็บอกว่า เนี่ย กูต้องไปแล้ว ไปไหนวะ อ๋อ ไปเรียนเยอรมัน จริง ๆ เราก็รู้แหละ ช่วงขอทุนก็อยู่ในขั้นตอนด้วยกัน ทำ portfolio ส่ง ก็อยู่ใกล้กันตลอด พอเวลามาถึงก็ใจหาย มันมาคู่กับความรู้สึกที่เรียกว่าเป็น routine กับการทำงานของ Armchair มาก ๆ มันไม่ใช่เมื่อก่อนที่เราต้องไปเล่นที่นี่สุดสัปดาห์นี้ ต้องไปเจอคนนู้นคนนี้ เราทำการบ้าน เราซ้อม แต่กลายเป็นว่า เราเล่นทุกวัน ๆ  ลิสต์เดิม ๆ ก็มีภาวะที่คิดอยู่ในหัวถึงการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน พร้อมกับการเดินทางเข้ามาของการบอกลาของอ้วน มีหลาย ๆ ความรู้สึกปนเปกันไป ถามว่าเสียดายไหมตอนนั้น ก็ไม่เสียดาย โอเค หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าการเป็นวงดนตรีเป็นการผูกมัดทางจิตวิญญาณอะไรบางอย่าง แต่สำหรับผมมันคือครอบครัวที่ทุกคนเคารพการตัดสินใจของกันและกัน อ้วนอาจจะเลือกไปในช่วงที่ Armchair ป๊อปที่สุดก็โอเคไม่ได้มีปัญหาผมกับเพื่อนเลยคิดอยากจะพักบ้างคิดว่าจะทำอย่างอื่นบ้างวินาทีที่ไปส่งอ้วนที่สนามบินก็มีความคิดว่ากูจะทำอะไรวะ

สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

       จริง ๆ ผมเรียนฟิล์มมาตั้งใจจะเป็นผู้กำกับแต่ว่าลืมไปหมดแล้วว่าตัวเองตั้งใจจะเป็นผู้กำกับ ภาพในหัวคือกูจับไมค์ทุกวันเลยร้องเพลงทุกวันเจอคนจับมือคนทุกวันแล้วจะทำอะไรต่อดีวะนึกไม่ออกจริง ๆ งั้นก็พักผ่อนละกันพักวิญญาณอยู่กับตัวเองบ้าง ตั้งใจว่าจะอยู่กับตัวเองอยู่กับแฟนอยู่กับบ้านอยู่กับแมวตกตะกอนอ่านหนังสือที่ตัวเองซื้อมาเป็นตั้ง ๆ อยู่กับบ้านสักพักหนึ่งไปเรื่อย ๆ

พอภาวะที่อยู่กับตัวเองเยอะเกินไป ไม่ได้แชร์ความคิดกับคนอื่น เลยรู้สึกว่าเริ่มดำขึ้น หม่นขึ้น ภาวะแบบนี้ไม่ดีเลย คิดถึงการร้องเพลง คิดถึงการเจอผู้คน คิดถึงวง คิดถึงดนตรี เลยบอกพี่ ๆ ในวงว่า เอาอย่างนี้ไหม ทำเพลงอีกรอบดีกว่า เพราะว่าแต่ละคนเขาก็เหมือนกับหลอกตัวเองว่าไปทำอย่างอื่นเพื่อที่จะเฮ้ย เบื่อดนตรีแล้วล่ะ ทัวร์กันทุกวันเบื่อแล้ว จริง ๆ ข้างในเราคือชอบมัน เพราะคือชีวิตเรา คือความรัก เหมือนเวลาคุณอยู่กับแฟน คุณทะเลาะกัน คุณก็จะบอกว่าเบื่อคนนี้แล้ว แต่ลึก ๆ แล้วคุณขาดเขาไม่ได้  Armchair ทุกคนช่วงนั้นเป็นแบบนั้น ปฏิเสธตัวตนตัวเองไปพักใหญ่ ๆ จนไม่ไหว กลับมาทำเพลงดีกว่า ก็เลยมาทำเพลงคุณเก็บความลับได้ไหมซึ่งมันเซอร์ไพรส์มากเลยนะครับ เพราะว่าท่อนคุณเก็บความลับได้ไหมพี่จ้อ (มือเบส) เป็นคนเรียบเรียง แล้วมันเหมือนมีการเดินทางของ  Armchair ตั้งแต่ชุดแรกมาผสมกันจนกลายเป็นเพลงนี้ ซึ่งห่างจากน้ำหนักเพลงล่าสุดหลังจากที่อ้วนไปเกือบห้าปี ก็เป็นเวลานานพอสมควร แล้ววันแรกที่ปล่อย ความรู้สึกเดิม ๆ ก็กลับมาอีก กลับมาทัวร์ เพียงแต่ว่าพอไม่มีอ้วน ไม่มีคีย์บอร์ด เราก็ไม่ชินแค่นั้นเอง

The People: ช่วงที่หายไปจากวงการเพลง คุณได้แรงบันดาลใจเยอะขึ้นโดยเฉพาะการฝึกทำอาหาร?

อนุสรณ์: พูดถึงอาหาร เพลงใหม่ของผมชื่อลูกชิ้นหลายคนอาจจะสงสัยว่าลูกชิ้นคืออะไร จริง ๆ มันคือ symbolic บางอย่างของการผิดหวังในความรัก เหมือนเราชอบอะไรที่สุด ก็จะเก็บไว้ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างโดยที่ไม่รู้ เราก็กินอย่างอื่นก่อน เก็บไว้กินทีหลัง สุดท้ายก็อาจจะโดนคนอื่นแย่งไป มันก็จะทำให้เราผิดหวัง เลยเอาจุดนี้มาเป็นชื่อ ส่วนเรื่องทำไมถึงไปเรียนทำอาหาร หรืออินเรื่องอาหาร คือผมชอบเรื่องรายละเอียดมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่มีรายละเอียด มีโลกของมัน มีอะไรที่ต้องค้นคว้าหาความรู้ อะไรที่มีประวัติศาสตร์ อะไรที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเองได้ ผมจะอินมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง ประวัติศาสตร์ศิลป์ยุโรป เรื่องอาหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอ่านมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้สัมผัส ก่อนหน้านี้ผมทำอาหารไทย อาหารเอเชียกับคุณแม่ของคุณก้อย (วลัยลักษณ์ มุสิกโปฎก) เขาเป็นคนสอนผม ผมรู้สึกว่าไม่ได้มีแค่รสชาติที่อร่อย มันมีมากกว่านั้น เป็น combination เป็นการผสมผสานที่ผ่านการคิดมานานมากแล้วโดยคนที่กินเข้าไปไม่รู้เลยว่ามันเจ๋งขนาดนี้

ผมเริ่มสนใจวัตถุดิบสมุนไพร เครื่องปรุง เครื่องเทศ และทุก ๆ อย่างที่มันมีที่มา มีประวัติศาสตร์ อย่าง อบเชย กานพลู แซฟฟรอน หรือพริกแกง กระทั่งพริกเกลือ มันยาวนานมาก พอปรุงสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นผลงานศิลปะที่เรากินได้ เราเสกมันได้โดยเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต แล้วผมเป็นคนที่ชอบลงลึก รู้สึกว่าแค่นี้ไม่พอ วิธีการทำอาหารแบบนี้มันต้องครูพักลักจำ อย่ากระนั้นเลย ไปเรียนเลยดีกว่า เลยตัดสินใจไปเรียนอะคาเดมี ไปเรียนที่ Le Cordon Bleu ตั้งใจไปเรียนอาหารฝรั่งเศสโดยเฉพาะ เพราะมีคนเคยบอกว่า Asian flavor คือรสชาติอาหารที่ดีที่สุด แต่เทคนิคที่ดีที่สุดคือเทคนิคแบบฝรั่งเศส  ผมเลยลองไปดู แล้วค้นพบว่ามันคือพื้นฐานของการทำอาหารเกือบทั้งโลก คือการใช้เกลือ ไขมัน กรด ความร้อน แล้วก็เวลา อย่างเหมาะสม ซึ่งมันคือการจัดระเบียบให้ชีวิตอีกด้านหนึ่ง ผมเป็นคนที่ชอบอะไรจริง ๆ จะลงลึกไปจนปลายทาง แล้วเราจะตัดสินใจได้เองว่าชอบหรือไม่ ก็ค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่แค่ชอบอาหาร แต่รักมันมาก ๆ เลย

สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

The People: ระดับความยากของอาหารที่ดี?

อนุสรณ์: รสชาติคืออันดับหนึ่ง อาหารยังไงก็ต้องอร่อยใช่ไหม แล้วก็ความใส่ใจในวัตถุดิบ การเคารพวัตถุดิบ ไม่ใช่แค่ซื้อปลามาแล้วเอาแค่บางส่วน เสร็จแล้วโยนทุกอย่างทิ้ง แนวทางของฝรั่งเศสไม่ได้สอนแบบนั้น เขาสอนให้เราใช้ตั้งแต่หัวยันหางให้ได้ประโยชน์ที่สุด ผมคิดว่าเป็นการเคารพธรรมชาติในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ความแตกต่างคือประสบการณ์ ความใส่ใจในรายละเอียด สมมติผมจะทำ Coq Au Vin (ไก่อบไวน์) ซึ่งเป็นเมนูคลาสสิกของฝรั่งเศสร้านอาหารหลาย ๆ ร้านเขาแค่ทำตามสูตรไม่มีความอูมามิไม่มีความอดทนที่จะรอกรดกลูตามิกออกมาจากไก่ หมายถึงคุณต้องผัดให้ได้สีต้องทำผักให้นิ่มจนน้ำมันออกมาต้องใส่บรั่นดีในเวลาที่เหมาะสม ใส่ไวน์แล้วคอยชิมคอยเปิดปิดฝา

ความใส่ใจมันชนะทุกอย่างครับ แล้วมันก็เจ๋งตรงที่ ถ้าแค่คุณใส่ใจอาหาร คุณก็จะอร่อยขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ขนมก็เหมือนกันครับ หรือการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แค่คุณทำให้ช้าลงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ อาหารคุณจะดีขึ้นห้าสิบเปอร์เซ็นต์

The People: ความหลงใหลในกีฬาโปโลเกิดขึ้นตอนไหน

อนุสรณ์: ผมคิดว่าส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอะไรวินเทจมากชอบอะไรที่มีประวัติศาสตร์ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมีวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดและแข็งแรงผมจะชอบมากโปโลก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่มีเหตุผลที่ทำให้ผมชอบได้คือหนึ่งเลยมันมีม้าผมขี่ม้าตั้งแต่เด็กๆรู้สึกว่าม้าเป็นสัตว์ที่สวยงามมีพลังขี้ระแวงน่ารักและก็เกรี้ยวกราดได้กล้ามเนื้อสวยงามเมื่อก่อนเวลาเรียนศิลปะจะเรียนอนาโตมีหรือเรียนกล้ามเนื้อที่มันชัดเจนเราต้องวาดม้าเพราะว่าม้ามีกล้ามเนื้อที่สวยและชัดต่อให้อ้วนก็ยังมีกล้ามเนื้อเลยหลงใหลในม้าตั้งแต่เด็ก

ทีนี้ถ้าเป็นกีฬาขี่ม้าคนเดียวมันไม่สนุก เลยหากีฬาที่เล่นเป็นทีมได้ ก็เจออย่างเดียวเลยคือโปโล โปโลไม่ใช่แค่กีฬาวินเทจ มัน antique มาก เพราะเป็นกีฬาแรกที่ใช้ซ้อมรบ ก็เริ่มไปฝึก ไปเรียน ไปหัด ด้วยความที่ชอบเป็นทุนเดิมก็ไม่ท้อ เพราะหนึ่งมันยากมาก มือซ้ายคุณต้องคุมสัตว์ตัวหนึ่งที่หนักเป็นตันด้วยความแข็งแกร่ง ไม่ใช่ว่าต้องฟาดด้วยความเร็ว มันมีเทคนิค มีศาสตร์ของมันอยู่ ยิ่งแรงก็ยิ่งช้าหรือเบา แต่ถ้านุ่มนวลก็จะคอนโทรลง่าย ซึ่งมันเป็นหยินหยางมากเลย ซ้ายดำขวาขาว มันยากมากจริง ๆ แล้วยิ่งต้องไปอยู่กับทีม ซึ่งกลยุทธ์ต่าง ๆ เยอะมาก เป็นเรื่องรายละเอียดอีกแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็เลยชอบรายละเอียด culture ก็ต้องใส่กางเกงสีขาว เสื้อคอปก เวลาจบเกมส์ก็มีปาร์ตี้กัน รายละเอียด culture ของเขาเยอะมาก

สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

The People: มีวิธีจัดการเวลาอย่างไร

อนุสรณ์: มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่า overload เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะมีช่วงเฟล อันนี้ก็ไม่ดี อันนู้นก็ไม่โดน เลยเลือกโฟกัสสิ่งที่ชอบจริง ๆ ให้เหลืออยู่แค่ 3-4 อย่างในชีวิตแค่นั้นเลยคือร้องเพลงเป็นนักแสดงเชฟแล้วก็เป็นนักกีฬาผมว่าสี่อย่างนี้มันบาลานซ์กันได้โอเคแล้ว

การเป็นนักร้องคือชีวิต คือวิญญาณ แต่การเป็นนักแสดงคือคอนเนคชั่น คือการรู้จักที่จะเป็นคนอื่นเพื่อจะได้รู้จักชีวิต ส่วนการเป็นเชฟคือการถ่อมตัวให้รู้ว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่แค่ไหน เรานำสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเลี้ยงชีวิตโดยไม่สูญเปล่าอย่างไร แล้วก็เป็นการจัดระเบียบให้ชีวิต อธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ อาหารจานหนึ่งที่มีความซับซ้อนต้องมี component สี่อย่าง เช่น โปรตีน แป้ง ผัก ซอส หรือแม้กระทั่งตัวพูเร มีเวลาแค่ชั่วโมงเดียวคุณต้องทำอาหารหกจาน ไม่มีทางที่คุณจะจัดการได้ดี ถ้าคุณไม่คิดวางแผนมาก่อน มันสามารถเอามาใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ส่วนความเป็นนักกีฬาคือสปิริต คือการยอม คือการอดทน ลดทอนอีโก้ที่มีอยู่ในชีวิต เพราะถ้าคุณใช้อีโก้ คุณหน้ามืดตามัว คุณจะไม่มีทางเห็นเส้นทางไปสู่ชัยชนะแน่นอน ซึ่งผมคิดว่าขอบาลานซ์แค่สี่อย่างในชีวิต หาเวลาอยู่กับมัน ขึ้นอยู่กับโอกาสหรือเวลาจะอำนวย

The People: โย่ง Armchair กับความรักที่แตกปลาย

อนุสรณ์: จริง ๆ ต้องขอบคุณคุณก้อยที่ทำให้ผมเป็นแบบนี้ เพราะว่าผมเชื่อว่าธรรมชาติของผู้ชายหรือธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเป็น monogamy เหมือนนกเงือกหรือม้าน้ำเราเกิดมาเพื่อขยายพันธุ์แน่นอนว่ายีนตัวนี้ยังอยู่มีหลาย ๆ อย่างที่เป็นวัฒนธรรมร่วมที่ทำให้เรารู้สึกว่าการทำแบบนี้มันจะดี ที่ผมชอบที่สุดคือหนึ่งการรักเดียวใจเดียว เพราะมันคือการมุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองเลือกแล้วก็คือการให้เกียรติคนที่รักเดียวใจเดียวกับเราเหมือนกัน

สัญชาตญาณผู้ชายอาจจะเจ้าชู้หรืออะไรก็ตาม แต่ในสังคมปัจจุบันผมมองว่ามันเป็นแค่ความสุขที่ชั่ววูบมาก ๆ  ถ้าคุณมีความรักที่ดีอยู่แล้วมีครอบครัวมีคนคอยปลอบเวลาคุณเศร้าหรือมีคนเข้าใจคุณเวลาที่ทั้งโลกหันหลังใส่ แล้วถ้าคุณเอาความสุขตรงนี้ไปแลกกับความสุขปลอม ๆ แบบชั่ววูบมันไม่คุ้มเลยจริง ๆ แล้วถ้าคุณไม่มีสิ่งที่เรียกว่าบ้านจริง ๆ หรือคนที่พร้อมจะซัพพอร์ตคุณในทุก ๆ เวลาจะหานางงามหรือนางแบบอีกหมื่นกว่าคนก็ถมไม่เต็มหรอก

ผมเลยรู้สึกว่าทุกวันนี้ก็เข้าใจอารมณ์ตัวเอง เข้าใจความอยาก ความต้องการของตัวเองอย่างดี เอามาชั่งน้ำหนักกับผู้หญิงคนเดียวที่เลือก คนเดียวที่อยู่กับเรามาตลอด ตั้งแต่ตอนที่เราไม่มีอะไรเลย วันที่เราไม่รู้จะไปทางไหน มันเหมือนกับชีวิตคนคนหนึ่ง เหมือนกับเรือใบที่อยู่ในน้ำ แล้วก็จะมีน้ำวนตลอดเวลา จุดมุ่งหมายคือเราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้หลีกน้ำวน ไม่ให้จมลงไปกับมัน ผู้หญิงที่ดีก็คือหางเสือ คือลม คือทุกอย่างที่จะพาเราไป คิดเป็นรูปธรรมก็คือถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็พังไปด้วย

The People: รักถึงขั้นยอมตายได้?

อนุสรณ์: คือจริง ๆ มันอาจจะเป็นอะไรที่ idealistic มาก ๆ แต่ว่าก่อนหน้านี้ผมไม่ได้รู้สึกขนาดนั้น แค่คำตอบมันมาพร้อมคำถามว่า คุณสามารถเสียสละให้คนที่คุณรักได้มากแค่ไหน มันคือคำตอบของผม ไม่ได้บอกว่าผมตายแทนคุณได้ แค่เป็นจุดที่ผมต้องตอบว่ามากแค่ไหนที่คุณเสียสละชีวิตให้ เพราะหนึ่งคือ ผมเป็นคนที่ไม่ได้แคร์เรื่องความปลอดภัยของตัวเองมากเท่าไหร่ คือใช้ชีวิตสุดมากคนหนึ่งเหมือนกัน แต่พอมีคนรัก มีแฟน มีครอบครัว กลายเป็นคน paranoid เรื่องความปลอดภัย เรื่องสุขภาพ เพราะแค่จินตนาการว่าวันหนึ่งที่เขาต้องสูญเสียเราไปแล้วอยู่คนเดียว คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ผมเลยรู้สึกกลัวตาย กลัวที่จะต้องเสียเขาไป หรือกลัวที่เขาจะต้องเสียเราไป ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมหวงแหนที่สุดในชีวิต พอมีคนถามมาว่าคุณสามารถเสียสละให้คนที่คุณรักได้มากแค่ไหน ผมก็เลยนึกถึงสิ่งที่ผมหวงแหนที่สุดคือชีวิตของผมที่จะอยู่เพื่อเขา ถ้าต้องเพื่อคุณผมก็ทำได้

The People: หลายคนให้คำนิยามคุณว่าเป็นพ่อบ้านดีเด่น?

อนุสรณ์: ผมว่าจริง ๆ แค่แซวเล่น ๆ แหละ ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนเจอใครที่แฮปปี้ คุยกันได้ทุกเรื่อง แฟนในนิยามของผมคือคนที่พร้อมจะนินทาโลกทั้งใบไปด้วยกัน คือคนที่เป็นหลังบ้าน หน้าบ้าน ในบ้าน เป็นทุกอย่าง มันก็เลยมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่กับเขา แล้วก็เป็นมากกว่าเพื่อนคนหนึ่ง คือเพื่อนมันยังมีบางอย่างที่แตะกันไม่ถึง แต่อย่างแฟนพอได้แตะความเป็นเพื่อนด้วยกันในสถานะแฟน ชีวิตเราความสัมพันธ์กับคนอื่นก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าการแชร์กันได้ทุกเรื่อง การพูดคุยกัน เลยเป็นอาการที่วันไหนไม่ได้เจอกัน ไม่มีใครได้แชร์ก็เหงาเหมือนกัน หลาย ๆ คนอาจจะเห็นผมกับก้อยตัวติดตลอดเวลา การติดกัน การหลงใหลในการพูดคุยกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าอีกเรื่องหนึ่งที่เราเคยคุยกันว่าเวลาของมนุษย์มีน้อยมาก ถ้าสามารถอยู่ด้วยกันได้มากที่สุดหรือนานที่สุดได้เท่าไหร่ก็จงทำเถอะ เพราะเรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง เรื่องเงินมันเป็นเรื่องรอง การได้ทำนู่นนี่นั่นเป็นเรื่องรองถ้าเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน

สัมภาษณ์ โย่ง กับจุดเริ่มต้นของ Armchair จนในวันที่เป็นทั้งเชฟ นักโปโล และทาสแมว

The People: แฟนเพลงจะได้ฟังผลงานจากโย่งในฐานะศิลปินเดี่ยวตอนไหน

อนุสรณ์: ทุกคนจะออกเป็นซิงเกิล แต่ผมชอบทำงานเป็น old school ชอบทำงานเป็นอัลบั้ม หลายคนที่เป็นแฟนเพลงอาจจะรู้สึกพี่โย่งออกเพลงเดี๋ยวก็หายไปอีก บอกให้อุ่นใจได้เลยว่าจะทำเป็นอัลบั้มแน่นอน ถึงแม้จะออกเป็นซิงเกิลก็ตาม เรามีแพลนชัดเจน อันนี้ต้องขอบคุณค่าย ME Record มากที่ทำให้ผมอยากมีค่ายจริง ๆ เพราะว่าก่อนหน้านี้ผมเป็นคนชอบทำงานอิสระ ตั้งใจอยากทำเองแหละ แต่ว่าพอมีที่ปรึกษา มีทีมงานที่ดี ก็รู้เลยว่าอย่างที่บอกมีลมกับหางเสือ ก็จะเห็นทิศทางเราจะเป็นแบบไหน แล้วก็เพลงที่ 3-4 จะมีความพิเศษ คือเดี๋ยวเราจะได้เห็นคนที่จะมา featuring แบบเฉียบขาดมาก ติดตามกันต่อไปนะครับ โปรเจกต์โย่ง Armchair”