07 ส.ค. 2565 | 14:40 น.
การที่ OR หรือบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) ประกาศเข้ามาลงทุนด้วยเงิน 1,105 ล้านบาท ในธุรกิจสะดวกซัก Otteri Wash & Dry ซึ่งมี ‘กวิน นิทัศนจารุกุล’ เป็นผู้ก่อตั้ง นั่นเป็นส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทแห่งนี้ แต่ใครจะรู้บ้างว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เขาเคยล้มเหลวมาตั้งแต่เปิดสาขาแรก
“ตอนเริ่มต้นทำร้านสะดวกซักใหม่ ๆ เราเห็นว่ามันเป็นเทรนด์ที่กำลังเข้ามาในประเทศไทย เราได้เริ่มลุยเลย เปิดมาก็เจ๊งเลยตั้งแต่สาขาแรก เพราะทำทุกอย่างด้วย ego ด้วยความมั่นใจเกินตัว เอ้ย เราเก่ง เราสามารถ โดยไม่ได้ฟังคนอื่น ไม่ทำ market research ไม่ได้รู้จริงๆ ว่าคนที่เขามาซักผ้าหยอดเหรียญเป็นใคร อยากเปิดตรงไหนก็เปิด”
กวิน เล่าถึงช่วงเริ่มต้นของ Otteri Wash & Dry ธุรกิจร้านสะดวกซัก 24 ชม. ซึ่งไม่สวยงามอย่างที่คิด
“พอมันเจอกับความล้มเหลว เราไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะรู้สึกว่ามันต้องไปต่อ ยังไงมันก็ต้องไปต่อ เราล้มนานไม่ได้ เรายังมีคนข้างหลังที่ต้องดูแล คือมันไม่มีเวลามาให้นั่งเสียใจนาน
“สิ่งที่รู้ต่อมาก็คือเรารู้แล้วว่าขาดอะไร นั่นคือขาดความรู้ ก็เลยมาเรียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นโครงการที่เขาจะสอนทำธุรกิจที่เรามีอยู่ ให้กลายเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ แล้ว Otteri Wash & Dry ก็ถือกำเนิดขึ้นจากโปรแกรมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอันนั้น เรามั่นใจเพราะว่าเรามีความรู้แล้ว เรามั่นใจ เพราะว่าเรามี data แล้ว เรามีการทำ research แล้ว เราไม่ได้ไปการคิดไปเอง คราวนี้เราเลยมั่นใจ”
ปัจจุบัน ‘กวิน’ ผู้บริหารหนุ่มในวัย 37 ปีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry ที่ก่อตั้งในปี 2016 โดยใช้ตัวการ์ตูนนากญี่ปุ่นสัญชาติไทยมาเป็นคาแรกเตอร์ อีกทั้งยังสามารถครองใจและแทรกซึมอยู่ตามชุมชนได้อย่างแนบเนียนนั้นก็มีมากกว่า 700 สาขาทั่วประเทศ
เรียกได้ว่าไม่ว่าจะมองไปทางไหนจะต้องเห็นนากญี่ปุ่นตัวนี้ยืนยกแขนประกาศชัยชนะ อยู่ตามมุมหนึ่งมุมใดของชุมชนเป็นแน่
และในปี 2022 เขายังวาดหวังเอาไว้อีกว่าจะต้องขยับลดช่องว่างทางสังคมให้แคบลง โดยการให้คนไทย ‘ทุกคน’ สามารถเข้าถึงเสื้อผ้าสะอาดในราคาประหยัดได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมทั้งคืนเวลาในวันหยุดพักผ่อนให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันกับคนรักได้อย่างเต็มที่
“สิ่งที่เราจะทำก็คือการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี โดยเริ่มต้นจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด อันนี้คือ Ultimate goal ของเรา เราต้องการที่จะทำให้ร้านสะดวกซักที่มีมาตรฐานสากลเข้าถึงได้ในราคาประหยัดแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของทุก ๆ ชุมชน”
ภารกิจคืนเวลาให้กับคนที่รัก
“มันเป็นความเหลื่อมล้ำที่เราเจอ ลูกค้าของเราก็จะเป็นคนกลุ่มหนึ่ง และคนที่จะไม่มีวันเป็นลูกค้าของเราได้เลยก็จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างคนที่ไม่มีปัญหาเรื่อง pain point ของการซักผ้า เช่น คนที่มีรายได้สูง เขาก็จะบอกว่าปัญหาเรื่องการซักผ้าไม่ใช่ปัญหาของเขาเลย เพราะว่าสามารถจ้างคนมาแก้ปัญหาได้
“คนที่เขามีเงินก็สามารถที่จะเอาเงินตรงนั้นไปจ่ายให้คนซักอบรีดเสื้อผ้า แล้วอีก 3 วันเขาก็ไปรับ ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาซัก ไม่ต้องมานั่งเสียเวลารีดเอง ซึ่งคนที่มีเงินหน่อยเขาก็ใช้เงินแก้ปัญหา ส่วนคนที่มีเงินน้อยหน่อย เขาต้องเอาเวลาของเขามาแลกกับความสะอาด”
กวินเห็นปัญหาและเข้าใจความทุกข์ยากของคนที่มีรายได้น้อยเกินกว่าจะว่าจ้างบริการซักรีด มาเพื่อแบ่งเบาความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาตลอดทั้งสัปดาห์ เขาจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการให้ร้านสะดวกซัก Otteri มีราคาที่จับต้องได้ โดยเริ่มต้นที่ 20 บาท มีโปรโมชันลดราคาทุกวันพุธ และเวลา 24.00 – 06.00 น. ของวันธรรมดาให้คนอีกกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใช้บริการได้
นอกจากนี้ เขายังเน้นอีกว่า สิ่งที่เขาตั้งใจและมุ่งมั่นทำมาตั้งแต่ต้นคือการ ‘คืนเวลา’ ให้กับคนที่มาใช้บริการ ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามแต่ใจต้องการ ไม่ต้องง่วนอยู่กับการทำงานบ้านจนหมดวัน
“เวลาคนซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าฝาบน เขาต้องใช้เวลาชั่วโมงนึง ซักแล้วก็ต้องแบกผ้าหนัก ๆ กลับขึ้นไปตากบนห้องที่ระเบียงแคบ ๆ จนไม่รู้มันจะแห้งรึเปล่า ทำให้เขาไม่สามารถที่จะมีชีวิตหรือใช้ชีวิตได้อย่างที่ตัวเองต้องการ
“วันอาทิตย์แทนที่จะเป็นวันที่เขาจะได้พักผ่อน กลับกลายเป็นวันที่เขาต้องมานั่งทำงานบ้าน ซึ่งจริง ๆ สิ่งที่เราขายคือ ‘เวลา’ คุณจะได้เวลาที่เพิ่มขึ้น เพราะคุณไม่ต้องรอให้มันมีแดดเพื่อตากอีกต่อไป ทุกอย่างจะจบภายใน 1 ชั่วโมง คืนเวลา 20 กว่าชั่วโมงกลับไปให้กับคนที่คุณรักกับครอบครัวคุณดีกว่า”ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงเสื้อผ้าสะอาด
กวินบอกกับเราว่าเขาสนใจประเด็นเรื่องคนไร้บ้านมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้อย่างไร จนกระทั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ติดต่อมาว่ามีศูนย์รับดูแลของคนไร้บ้านแถวดินแดงที่กำลังขาดแคลนเครื่องซักผ้า พอจะบริจาคให้ได้ไหม
แน่นอนว่ากวินไม่รอช้ารีบตกปากรับคำว่าจะช่วยอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือสิ่งที่เขาวางไว้เป็นหมุดหมายแรกเริ่มนับแต่ก่อตั้งบริษัท แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำอย่างจริงจัง
“ปรากฏว่าหลังจากบริจาคเครื่องซักผ้าแล้วก็เครื่องอบผ้าไปชุดนึง เราก็รู้สึกว่า เออ แล้วผมทำได้แค่นี้เหรอ ได้แค่บริจาคแค่นั้นเองเหรอ เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม เราอยากทำมากกว่านี้เราต้องไปหาใคร ก็เลย search เบอร์ของมูลนิธิกระจกเงาแล้วก็โทรฯ ไปติดต่อเขา บอกเขาว่าผมมีแนวคิดแบบนี้นะ อยากจะซักผ้าให้กับคนไร้บ้าน เพราะเคยไปบริจาคเครื่องซักผ้าให้กับทาง พม. มา
“อยากจะรู้จัก อยากจะเข้าใจปัญหาของคนไร้บ้าน ทางกระจกเงาก็เลยติดต่อเรามา แล้วก็คุยกัน จากนั้นก็มีโอกาสได้พูดคุยกับเขาว่าคนไรับ้านจริง ๆ แล้วเป็นยังไง เป็นใคร”“ปัญหาของคนไร้บ้านหลัก ๆ เลยคือเรื่องของสาธารณสุข เขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้ อย่างเช่นไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการห้องน้ำสะอาด ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการบริการซักเสื้อผ้าที่ดีได้ ซึ่งตรงนี้มันคือทำให้คุณภาพชีวิตเขาแย่ การที่มีเสื้อผ้าสกปรกใส่ไปเรื่อย ๆ มันคือเรื่องของความไม่สะอาด พอเขาไม่สะอาดเขาก็มีโอกาสที่ป่วย ทันทีที่เขาป่วยเขาก็ไปหาหมอไม่ได้ เพราะว่าบางคนก็ไม่ได้มีบัตรประชาชน หรือว่าบางคนก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ทางภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ได้
“คนทั่วไปหรือพนักงานทั่ว ๆ ไป เราไม่ได้คิดตรงนี้หรอก เพราะว่าเราใส่เสื้อผ้าสะอาดอยู่แล้ว เราอาบน้ำทุกวัน มันอาจจะมีผ้าบางตัว เช่น กางเกงยีนส์ที่เราอาจจะใส่ซ้ำได้หน่อย บางทีใส่ 1 - 2 อาทิตย์อะไรอย่างนี้ แต่เสื้อยืดหรือชุดชั้นในเราจะทนใส่ซ้ำกัน 3 วันไหวไหม มันไม่ได้อยู่แล้ว
“แต่สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ เรื่องที่พื้นฐานที่สุด มันก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึง ซึ่งก็คือกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนไร้บ้าน ที่เขาไม่มีโอกาสแม้แต่กระทั่งจะได้อาบน้ำอย่างสบายใจในทุก ๆ วัน หรือไม่มีโอกาสแม้กระทั่งมีเสื้อผ้าที่สะอาดใส่
“สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราอยากได้ก็คืออยากจะให้มองว่าคนไร้บ้านไม่ได้น่ากลัว เขาก็แค่อยากอยู่ในพื้นที่ ๆ เขาอยากอยู่ อยากได้ในสิ่งที่เขาควรจะต้องได้อย่างการแค่สิทธิพื้นฐานที่จะได้เข้าถึงห้องน้ำสะอาดเท่านั้นเอง”ชูมณี – โครงการที่เชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรีผู้สูงอายุ
หลังจากลงสนามและศึกษาอย่างจริงจัง กวินและทีมงานจึงตัดสินใจจัดตั้งโครงการหนึ่งขึ้นมาภายใต้ชื่อ ‘ชูมณี’ เพื่อแก้ปัญหาที่ทำให้เขาปวดใจ และอยากลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ใครหลายคนอาจมองข้ามอย่างการสวมใส่เสื้อผ้าสะอาดก็ตาม
“จริง ๆ โครงการชูมณีเรียกว่าเป็นโครงการ Laundry Move ดีกว่า ตัวชูมณีถูกสร้างขึ้นมาจากความคิดของทีมงานแล้วก็ผม ที่ว่าจะทำยังไงนะที่เราสามารถที่จะหาเงินได้และช่วยเหลือสังคมไปได้ด้วย ณ เวลานั้น เราก็เลยมามองว่าปัญหาสังคมที่มันเกิดขึ้นคืออะไร
“ประจวบกับตอนนั้นคือช่วงประมาณก่อนโควิด-19 ตอนปี 2019 เราก็เห็นแล้วว่า ปัญหาสังคมตอนนี้ที่มันกำลังจะมาแน่ ๆ เลยคือปัญหาเรื่องของ aging society หรือก็คือปัญหาของผู้สูงอายุ”กวินได้อธิบายเพิ่มเติมว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เขาเห็นและศึกษามา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในตลาดแรงงาน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor) จึงอาจจะขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี
“เขาอาจจะมีแนวความคิดที่ว่า ไม่เป็นไรหรอกฉันมีลูกมีหลานเยอะ เดี๋ยวถึงเวลา ลูกหลานก็เลี้ยง เพราะฉะนั้น ทันทีที่โควิด-19 เข้ามา หรือว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถจะทำงานได้ เขาก็จะเป็นคนกลุ่มแรกที่ตกงาน
“กลายเป็นว่าคน Gen Y, Gen X, Gen Z ต้องเลี้ยงดูคนทั้งหมด 3 generations ก็คือเลี้ยงดูพ่อแม่ตัวเอง เลี้ยงดูตัวเองและคู่ชีวิต แล้วก็เลี้ยงลูก อันนี้มันก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก เพราะว่าภาระมันเยอะเหลือเกิน ทีนี้คนผู้สูงอายุถามว่าเขาเป็นยังไง เราไม่ได้มองว่าผู้สูงอายุเป็นคนที่ไม่สามารถทำงานได้นะ เพียงแต่ว่าเขายังไม่เจองานที่มันเหมาะสำหรับเขามากกว่า ก็เลยออกมาเป็นโครงการชื่อว่า ‘ชูมณี’ ตัวโครงการชูมณี ก็ได้ขยายผลมาเป็นบริษัท เพื่อที่จะทำให้กลายเป็น social enterprise”
กวินยังบอกด้วยรอยยิ้มกว้างว่า ‘ชูมณี’ มาจากนามสกุลเก่าของภรรยาของเขา ซึ่งมีความหมายที่พอเหมาะพอเจาะกับการนำมาใช้เป็นชื่อโครงการเชิดชูผู้สูงอายุ
“เราเปรียบผู้สูงอายุเหมือนดั่งอัญมณีที่ถูกเจียระไนผ่านกาลเวลาประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เขาเจอในชีวิต จนกระทั่งถึงวันที่เขาพร้อมจะเปล่งประกาย แต่ไม่มีใครยกพวกเขาขึ้นมาเชิดชู ซึ่งโครงการชูมณีกำลังจะบอกว่าผู้สูงอายุเขายังมีความสามารถ เขายังรอคอยงานที่เหมาะสมกับเขา เราเลยหยิบยกพวกเขาขึ้นมาเชิดชู แล้วก็ให้เขาได้มีโอกาสทำงาน
“เราไม่ได้คาดหวังความเร็วจากคุณป้าในโครงการ แต่เราคาดหวังความเนี๊ยบ เราคาดหวังความเอาใจใส่ เราคาดหวังสิ่งที่เขาจะส่งต่อให้คนที่เขารับผ้าไปแล้วรู้สึกดีเหมือนมีแม่มาคอยพับผ้าให้”แม้ยังไม่แน่ใจนักว่าอัญมณีที่ถูกเจียระไนภายใต้โครงการชูมณีแห่งนี้ จะส่องประกายงดงามไปอีกนานเพียงใด แต่สิ่งที่กวินแน่ใจคงจะเป็นความอิ่มเอมใจที่เขาได้รับ ผ่านการจัดตั้งโครงการทั้งการช่วยเหลือคนไร้บ้าน และช่วยเพิ่มรายได้ให้เหล่าผู้สูงอายุในโครงการให้มีชีวิตหลังวัยเกษียณที่มั่นคง
เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยไม่มีข้อยกเว้น…
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม