15 ต.ค. 2565 | 21:02 น.
“คนอื่น ๆ ที่เขาพยายามติดต่อเข้าไป เขาพยายามจะนำเสนอว่ามีธุรกิจใหญ่โตแค่ไหน มีเงินมากแค่ไหน หรือว่าถ้าเกิดเอามา (ในไทย) จะสามารถขยายสาขา หรือเปิดกิจการได้มากแค่ไหน แต่สำหรับผม เราไม่ได้มีอะไรใหญ่โตขนาดนั้น สิ่งที่โชว์เขาไปคือเรื่องของความมุ่งมั่นและความตั้งใจมากกว่า เขาเลยรู้สึกว่า ผมคือพาร์ตเนอร์ที่ใช่”
ประโยคหนึ่งของ เอ - สุรเวช เตลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด ผู้บริหาร Mo-Mo-Paradise เมืองไทย บอกกับเราถึงความมุ่งมั่นก่อนที่จะมาเป็น Mo-Mo-Paradise อย่างทุกวันนี้
Mo-Mo-Paradise ร้านชาบูสุกี้ที่เรียกว่ามีคนยอมต่อแถวยาวเพื่อมาชิมรสชาติแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ ตั้งแต่ที่นำเข้ามาในไทยช่วงแรก ๆ ในปี 2551 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่รู้หรือไม่ว่า เอ - สุรเวช เคยเป็นคนที่ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมการกินชาบูสุกี้ญี่ปุ่นมาก่อน ซึ่งเขาต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่นาน เรื่องราวของผู้บริหาร Mo-Mo-Paradise เมืองไทยเปิดเผยกับ The People อย่างน่าสนใจ
ชอบอาหารญี่ปุ่นแต่ไม่เก็ตวิธีการกินชาบูสุกี้
“ถ้าถามว่าความซึมซับญี่ปุ่น เจนผมยุคผมเราก็เติบโตกับอะไรที่มันเป็นญี่ปุ่นอยู่แล้ว ทั้งหนังสือการ์ตูน ทั้งวิดีโอเกม ทั้งหนังต่าง ๆ ที่มันเป็นญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ถามว่าซึมซับลึกซึ้งในความเป็นญี่ปุ่นจ๋า ๆ ไหม ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าถ้าด้านอาหาร ผมชอบอาหารญี่ปุ่นจริง ๆ”
เอ - สุรเวชเล่าว่า ที่บ้านทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการทำขนมส่งออกไปต่างประเทศ จึงทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปที่ญี่ปุ่นบ่อย ๆ จากคนที่ไม่เคยคิดอยากเปิดร้านหรือทำธุรกิจอะไร วันหนึ่งเขารู้สึกอยากจะท้าทายตัวเอง อยากเริ่มธุรกิจที่เป็นของตัวเอง
“ตอนที่เดินทางไปญี่ปุ่นได้มีโอกาสไปเจอกับร้าน Mo-Mo-Paradise ที่ญี่ปุ่น แล้วก็มีความรู้สึกว่าร้านนี้ดูเป็นร้านที่มีรูปแบบมาตรฐานที่ดี ซึ่งตอนนั้นผมไปญี่ปุ่นผมก็ชอบไปกินชาบูร้านสุกี้ญี่ปุ่นในหลาย ๆ ที่ แต่ส่วนใหญ่เราก็จะเจอแต่ร้านที่เป็นระดับพรีเมี่ยม ระดับไฮเอนด์ แต่ร้าน Mo-Mo-Paradise ผมรู้สึกว่านี่คือร้านที่เขาทำอาหารชาบูและสุกี้ที่มีคุณภาพระดับสูง แต่ราคาจับต้องได้ เน้นจับลูกค้ากลุ่มกลาง ไม่ใช่ระดับพรีเมียมจนเกินไป
“จริง ๆ แล้วร้าน Mo-Mo-Paradise ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่ร้านที่ดังมาก เขาเป็นร้าน Toyko based คือเป็นร้านของคนโตเกียวที่มีประมาณสัก 30 กว่าสาขาตอนนั้นนะครับ
“ด้วยคอนเซ็ปต์ของเขาต่าง ๆ ผมคิดว่ามันน่าจะสามารถนำมาเมืองไทย และทำให้ประสบความสำเร็จได้
“ผมชอบอาหารญี่ปุ่นประเภทอื่น แต่ชาบูสุกี้สไตล์ญี่ปุ่นตอนนั้นผมยังไม่เก็ตวิธีการกินของเขา จนเพื่อนผมพาไปกิน แล้วก็สอนวิธีการกินที่ถูกต้องว่าสุกี้ต้องกินยังไง ชาบูต้องกินยังไง ต้องค่อย ๆ จุ่มเนื้อลงไปทีละชิ้น กินทีละคำนะ แล้วก็ต้องจิ้มน้ำจิ้มอะไรบ้าง ถ้าสุกี้ต้องจิ้มไข่ดิบ ถ้าชาบูก็ต้องจิ้มน้ำจิ้ม 2 ชนิดที่แตกต่างกัน แล้วไม่เอาลงไปแช่ในหม้อให้มันนานจนเกินไป แต่ค่อย ๆ ประณีต ค่อย ๆ ลวกทีละคำ
“ตอนนั้นทำให้ผมเริ่มเก็ต เริ่มเข้าใจว่าอ๋อวิธีการกินสไตล์ญี่ปุ่นมันแตกต่างกัน ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเกิดผมชอบแบบนี้ ผมสามารถนำมาให้คนไทยเข้าใจได้ถึงวิธีการกินที่ถูกต้อง คนไทยก็น่าจะชอบชาบูสุกี้สไตล์ญี่ปุ่นไปกับผม”
ใช้กฎชนะใจด้วยความมุ่งมั่น
เอ - สุรเวชยอมรับว่า ณ ตอนนั้นที่พยายามติดต่อและโน้มน้าวเจ้าของ Mo-Mo-Paradise ที่ญี่ปุ่น มีหลายคนที่พยายามติดต่อเช่นเดียวกัน แต่ที่เขากลายเป็นคนที่ใช่ เป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ใช่ เพราะว่าเขาค่อนข้างมุ่งมั่นและแสดงวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าอยากนำแบรนด์นี้มาไทยเพราะว่าอะไร
โดยมีประโยคเด็ดที่เขาพูดกับเจ้าของ Mo-Mo-Paradise ว่า “ผมอยากจะเอาชาบูสุกี้สไตล์ญี่ปุ่นแท้ ๆ มาเปิดที่เมืองไทย โดยที่ผมจะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรให้เป็นสไตล์ไทยเลย แต่ผมจะนำความเป็นญี่ปุ่นของเขามาสื่อสารกับคนไทยให้ได้รู้ และให้ได้ชอบเหมือนที่ผมชอบ เพื่อจะทำให้ร้านนี้เป็นร้านที่คนไทยชอบเหมือนกับที่ผมชอบ
“สำหรับผมตอนนั้นคือเราไม่ได้มีอะไรใหญ่โตขนาดนั้น เรามีความมุ่งมั่นเป็นหลัก ผมอาจจะมีธุรกิจที่บ้านซึ่งเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่ธุรกิจที่มันใหญ่โตมหาศาล แต่สิ่งที่โชว์เขาไปคือเรื่องของความมุ่งมั่นและความตั้งใจมากกว่า
“ผมคิดว่าเขาคงเชื่อมั่นว่า ถ้าผมมีความมุ่งมั่นอย่างนี้จริง ผมก็น่าจะทำแบรนด์เขาที่เมืองไทยได้เป็นอย่างดี และดูแลแบรนด์ที่เขารัก แบรนด์ที่เขาตั้งใจสร้างมาที่ญี่ปุ่น ให้ผมนำมาเปิดที่เมืองไทยได้เป็นอย่างดี”
คนแรกในไทยที่เสนอการกินสุกียากี้น้ำดำคู่กับไข่ดิบ
พอนึกถึงการกินไข่ดิบ หากย้อนไปเมื่อ 14 ปีก่อนเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่น่าจะยังไม่คุ้นเคยกับการกินแบบนี้ โดยเฉพาะการกินไข่ดิบกับสุกียากี้น้ำดำ
ซึ่ง เอ - สุรเวชกล้าพูดว่าเป็นคนแรกในไทยที่เสนอวัฒนธรรมการกินแบบนี้ ให้คนไทยรู้จักกับการกินสไตล์ญี่ปุ่นแท้ ๆ ว่าเป็นอย่างไร
“ตอนนั้นเรียกได้ว่าตลาดชาบูสุกี้ในเมืองไทยที่เป็นแบบสไตล์ญี่ปุ่นแท้ ๆ มีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย คือจะมีแค่บางร้านที่เป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่เมืองไทยทำขึ้นมาเอง
“ผมกล้าพูดได้เลยว่า ผมเป็นคนแรกที่พยายามผลักดันให้มีการกินสุกียากี้น้ำดำคู่กับไข่ดิบ เพราะว่าตอนนั้นตามร้านอาหารญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย หรือร้านชาบูสุกี้สไตล์ญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย ถ้าเขาเสิร์ฟคนญี่ปุ่นเขาจะให้กินกับไข่ดิบ แต่ถ้าเขาเสิร์ฟคนไทย เขาจะเอาไข่ลงไปผัดในหม้อเพื่อทำให้มันสุกก่อน”
สำหรับ Mo-Mo-Paradise เอ - สุรเวชบอกว่า “ตอนนั้นที่นำมาเปิดในไทยได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างโอเคตั้งแต่ครั้งแรกเลย แต่อาจจะยังไม่ดีเท่าในปัจจุบัน อาจจะยังไม่มีคนมาต่อคิวเยอะเท่าตอนนี้
“มีลูกค้าแวะเวียนมาหาเราสม่ำเสมอ มีการต่อคิวบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ลูกค้ามีการบอกปากต่อปาก ชักชวนเพื่อนฝูงมากินเรื่อย ๆ ซึ่งต้องบอกว่าผมไม่เคยเน้นการตลาดเลย ผมพยายามตั้งใจทำร้านให้ดีที่สุด แล้วก็นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกต้อง นำอาหารที่ดีที่สุด ทั้งรสชาติ คุณภาพ การบริการต่าง ๆ นำส่งให้ถึงลูกค้าให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
“คนอาจจะรู้จักผมไม่เยอะ เพราะเราไม่เคยทำการตลาด เพื่อจะประกาศให้คนรู้ว่าเราอยู่ตรงนี้นะ แต่ว่าเราจะให้คนเขาค่อย ๆ ทยอยเข้ามาหาเราเอง เพราะผมเชื่อในเรื่องของการเติบโตอย่างแข็งแรงโดยค่อยเป็นค่อยไปและยั่งยืนมากกว่าครับตอนนั้น
“ในช่วงแรกจะมีปัญหามากเหมือนกันที่ลูกค้าจะไม่ทราบว่า ชาบูคืออะไร สุกี้คืออะไร สไตล์ญี่ปุ่นนะครับ เขาก็จะบอกว่าชาบูคือน้ำดำ สุกี้คือน้ำใส เพราะสิ่งที่เรารับทราบกันมาแต่ไหนแต่ไร ก็คือสุกี้มันต้องเป็นน้ำใส ๆ คำว่าชาบูมาทีหลัง เขาเลยคิดว่าชาบูเป็นน้ำสีดำ ซึ่งตอนหลังบางคนก็เลยไปประยุกต์เรียกว่าชาบูน้ำดำ แต่จริง ๆ ถ้าเป็นสไตล์ญี่ปุ่นแท้ ๆ ชาบูมันต้องน้ำใส สุกียากี้ต้องเป็นน้ำสีดำ แล้วก็เป็นน้ำขลุกขลิก กินคู่กับไข่ ตอนนี้ผมว่าลูกค้าส่วนใหญ่เขาก็จะเข้าใจภาพนี้”
ทำอาหารอร่อยไม่ได้แปลว่าเปิดร้านได้
ปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่อยากเป็นนักธุรกิจ อยากเปิดร้าน แต่สำหรับ เอ - สุรเวช นี่คือสิ่งที่เขาฝากเกี่ยวกับคนที่มีความฝันอยากประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ
“การเริ่มทำธุรกิจอะไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะการเริ่มทำธุรกิจร้านอาหารอย่างเดียวนะครับ เราต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง แล้วก็ต้องเข้าใจมันจริง ๆ และลงมือกับมัน อย่างเช่น ถ้ายกตัวอย่างในการทำร้านอาหาร หลาย ๆ คนจะชอบเข้าใจผิด บางคนบอกว่าฉันทำอาหารอร่อย ฉันก็จะเปิดร้านอาหารได้ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ การทำร้านอาหารมันมีหลายอย่างมาก ร้านอาหาร 1 ร้าน ผมว่ามันเหมือนกับการบริหาร 1 องค์กรเล็ก ๆ เลย ถ้าคนที่เป็นเจ้าของจะทำร้านอาหารร้านหนึ่ง เขาต้องเป็นทั้งผู้จัดการร้าน เขาต้องเป็นทั้ง HR เป็นทั้งจัดซื้อ เป็นทั้งคนควบคุมสต็อก คือต้องทำทุกอย่าง รวมถึงการให้บริการ การรับลูกค้า เขาต้องทำได้หมด เขาต้องเข้าใจหมดทุกอย่าง"
“ดังนั้น การทำร้านอาหารไม่ใช่บอกทำอาหารอร่อยแล้วจะเปิดร้านอาหารได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นมักจะตกม้าตาย แล้วก็ทำร้านอาหารไม่สำเร็จ แล้ววันหนึ่งก็จะกลับมาถามว่าทำไมฉันทำอาหารอร่อย แต่เปิดร้านอาหารไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วมันมีหลายองค์ประกอบมาก”
ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน