‘ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์’ หลงใหลการสร้างแบรนด์และ ‘ชิ้นโบว์แดง’ ธุรกิจใหม่ร้านหมูกระทะ

‘ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์’ หลงใหลการสร้างแบรนด์และ ‘ชิ้นโบว์แดง’ ธุรกิจใหม่ร้านหมูกระทะ

ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอาหารและไอศครีมทั้งหมดที่มีในมือ คงต้องยกให้กับ 'ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์' ผู้ก่อตั้งบริษัท Iberry Group, ทองสมิทธ์ สยาม และ เดอะ แพลทเทอส์ มหานคร กับธุรกิจใหม่ล่าสุดประจำปี 2023 'ชิ้นโบว์แดง' ร้านหมูกระทะสไตล์ใหม่ในแบบของเธอ

  • ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของแบรนด์อาหารและขนมในเครือกว่า 3 บริษัทใหญ่ ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากในอุตสาหกรรมอาหาร
  • 'ชิ้นโบว์แดง' (Chin Bo Dang) ธุรกิจหมูกระทะแบบใหม่ เปิดตัวอีก 2 เดือนข้างหน้า กับการเล่าเรื่องหมูกระทะในแบบของ ปลา - อัจฉรา

 

นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอาหารและไอศกรีม ‘ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Iberry Group, ทองสมิทธ์ สยาม, เดอะ แพลทเทอส์ มหานคร มักเป็นคนที่อยู่ในลายชื่อที่คนไทยนึกถึงเสมอ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เพราะคุ้นเคยกับร้านอาหารที่ ปลา – อัจฉรา ก่อตั้งสร้างขึ้นมาจนสามารถจินตนาการรสชาติที่คนกรุงเทพฯ ชอบได้เลย

อย่างล่าสุดที่ ปลา โพสต์บนโซเชียลมีเดียทั้งบน Facebook และ Instagram เกี่ยวกับ ‘ชิ้นโบว์แดง’ (Chin Bo Dang) ธุรกิจหมูกระทะแบบใหม่ที่ยกระดับเพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมการกินของคนไทยให้กว้างไกลมากกว่านี้ ซึ่ง ปลา บอกว่า เป็นแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดของปี 2023 เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้หมูกระทะมีความสวยงามขึ้น ประณีตขึ้น และมีคุณภาพสูงขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ ร้านชิ้นโบว์แดง จะเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า เอมควอเทียร์ (ชั้น 6) อีก 2 เดือนข้างหน้า เราก็จะเห็นแล้วว่า การเล่าเรื่องใหม่เกี่ยวกับ ‘หมูกระทะ’ ในสไตล์ของเธอจะเป็นอย่างไร

ปลา พูดย้ำกับ The people ว่า “เราเข้าใจคนกรุงเทพฯ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเราทำอาหารให้กับคนกรุงเทพฯ มานานมาก เรารู้ว่าคนกรุงเทพฯ ทานรสชาติประมาณไหน” เชื่อได้เลยว่า ชิ้นโบว์แดงของปลา ธุรกิจน้องใหม่นี้ก็น่าจะเดินตามรอยธุรกิจรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในตลาดไทยอยู่ก่อนแล้วแน่นอน

อาหาร - ขนมคือ passion สู่ธุรกิจ

ปลา เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นแรก ๆ ที่เธอเริ่มทำธุรกิจ เหตุผลที่หันมาสนใจการทำธุรกิจไอศครีมและอาหารเพราะว่าส่วนตัวเป็นคนชอบทำอาหารและทำขนมอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วเธอไม่เคยคิดถึงการเป็นนักธุรกิจที่ใหญ่โต แต่กลับกลายเป็นว่า ความชอบเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่คอยจุดประกายไฟ passion ของเธอมาโดยตลอด จนเราเห็นธุรกิจของเธองอกเงยออกดอกออกผลประสบความสำเร็จมากขนาดนี้

“เราไปต่างประเทศก็ไปเห็นร้านไอศกรีมที่นู่นจะเป็นไอศกรีมแบบเจลาโต้ที่ขายหลากหลายแบบ เลยรู้สึกเป็น inspired ว่าเราน่าจะเอาผลไม้ไทย ๆ มาทำไอศกรีม ก็เลยได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งนั้นแล้วก็กลับมาทำร้าน iberry ค่ะ” ซึ่งร้านไอศกรีม iberry ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดให้บริการทั้งยังเป็นเจ้าแรกในไทยที่เอาผลไม้ไทยมาทำเป็นไอศกรีมแบบ Sorbet

จากนั้นเธอก็ขยายความฝันด้วยการเปิดร้านอาหารร้านแรกขึ้นก็คือ “กับข้าวกับปลา” เธอพูดว่า “แบรนด์กับข้าวกับปลา เป็นแบรนด์ที่โตมากับเรา ลองผิดลองถูก

ทำเมนูนู้นเมนูนี้ พยายามปรับเปลี่ยนเป็นอาหารฝรั่งครึ่งหนึ่ง ไทยครึ่งหนึ่งจนสุดท้ายก็หาตัวเองเจอ เจอลายเซ็นของเราจริง ๆ”

‘ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์’ หลงใหลการสร้างแบรนด์และ ‘ชิ้นโบว์แดง’ ธุรกิจใหม่ร้านหมูกระทะ

ยิ่งเวลาผ่านนานไปประสบการณ์ที่สะสมแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ การเรียนรู้และเข้าใจในกระบวนความคิดที่ตกตะกอนมากขึ้น ช่วยให้ ปลา มีความชัดเจนในเรื่องเมนูอาหาร, แม่นยำมากขึ้นในการทำแบรนด์ดิ้งซึ่งเธอได้ตัดสินใจต่อยอดแตกไลน์ธุรกิจออกมาหลังจากนั้น

อย่างในบริษัท Iberry Group ก็มีอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่ ปลาดีไซน์และแตกไลน์ธุรกิจอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น กับข้าวกับปลา, รสนิยม, โรงสีโภชนา, เจริญแกง, เบิร์นบุษบา, ฟ้า ปลา ทาน, ข้าวต้มกุ๊ยโรงสี, รวมมิตร เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีบริษัทอื่นที่ ปลา – อัจฉรา สร้างขึ้นมาด้วยมือของเธอก็คือ ทองสมิทธ์ สยาม และ เดอะ แพลทเทอส์ มหานคร ที่จะมีแบรนด์อาหารที่หลากหลาย เช่น ร้านอันเกิม-อันก๋า อาหารเวียดนาม, ร้าน FRAN'S เป็นต้น

 

ธุรกิจอาหารคือความครีเอท 100%

สำหรับ ปลา เธอมองว่าการทำธุรกิจอาหารมันมีหลากหลายรูปแบบแต่ต้องมีครีเอทีฟเป็นเรื่องสำคัญมาก

“บางคนไม่ต้องการความครีเอทบางคนชอบที่จะซื้อแบรนด์มาจากเมืองนอกแล้วก็มาปั๊ม แต่ธุรกิจสำหรับปลาเราไม่ชอบซื้อแบรนด์คนอื่นมา ปลาชอบที่จะคิด ชอบมีอิสระในการใช้ความคิดและสร้างสรรค์เพราะฉะนั้นความครีเอทีฟมีความสำคัญมาก มันทำให้เราทั้ง 3 บริษัทมายืนอยู่ได้ถึงจุดนี้”

“ส่วนเรื่องของความสร้างสรรค์มันไม่ใช่แค่สร้างสรรค์อาหาร แต่เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ตั้งแต่การทำแบรนด์ดิ้ง, ชื่อร้าน, อิมเมจทุกอย่างที่มันถูกห่อเอาไว้ ดังนั้น สิ่งที่คนเห็นและนึกถึง มันก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ 100 เปอร์เซ็นต์”

หรือแม้แต่ ‘การตั้งชื่อ’ ซึ่งธุรกิจอของเธอเรียกว่านอกจากจะประสบความสำเร็จในเรื่องรสชาติแล้ว ชื่อเรียกของร้านต่าง ๆ ยังติดหู และสร้างการรับรู้ได้เร็วด้วย

ในมุมของ ปลา เธอมองว่า “เรื่องชื่อมันเป็นเรื่องของ common sense ปลาเป็นคนที่ชอบเลือกชื่อที่มันติดหูจำได้ แล้วก็อาจจะ relate กับตัวเอง เธอพยายามที่จะคิดชื่อต่าง ๆ ออกมาให้ดูเป็นตัวเองมากที่สุด”

‘ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์’ หลงใหลการสร้างแบรนด์และ ‘ชิ้นโบว์แดง’ ธุรกิจใหม่ร้านหมูกระทะ

“เราอยากจะให้แบรนด์ของเราเป็น top of mind ในแต่ละ category หมายความว่าหากลูกค้านึกถึงก๋วยเตี๋ยวเรือก็อยากให้นึกถึงทองสมิทธ์ ข้าวต้มกุ๊ยก็อยากจะให้นึกถึงโรงสีโภชนา หรือ สตรีทฟู้ดก็คือรสนิยมอะไรอย่างนี้ ปลาคิดว่าอาหารไทยมันมีความหลากหลายมาก ๆ ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาทุกอย่างมาอยู่ในร้านเดียวกัน หรืออยู่ในธุรกิจกับข้าวกับปลาทั้งหมด เป็นต้น”

“เราจะยืนหยัดอยู่ในยุทธจักรของการทำธุรกิจอาหาร อยากให้ลูกค้านึกถึงเราในรายประเภท มากกว่าที่จะมีอะไรก็ใส่เข้าไปอยู่ในแบรนด์เดียว อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมเราถึงได้ขยันแตกแบรนด์ออกมาเรื่อย ๆ ค่ะ”

ก่อนหน้านี้ เราอาจเห็นร้านอันเกิม-อันก๋า อาหารเวียดนามของ ปลา มาแล้ว แต่ในภาพรวมอาหารเวียดนามอาจไม่ได้ติดเป็น top of mind เมนูอาหารที่คนไทยนิยมมากนัก แต่เหตุผลที่ ปลา ตัดสินใจหยิบอาหารเวียดนามมาเล่นกับตลาดไทยเพราะว่า เธอรู้สึกว่าอาหารเวียดนามมีเสน่ห์และสามารถปรับรสชาติเพื่อถูกปากคนไทยได้ โดยที่ยังไม่เสียรสาติเดิม ๆ ของต้นฉบับไป

“สมมติยกนิ้วขึ้นมา 10 นิ้วว่าจะกินอะไร ทุกคนคงไม่พูดหรอกว่าเวียดนามอันดับ 1 ทุกคนก็ต้องบอกว่าญี่ปุ่น ไทย เกาหลี อิตาเลียน แต่ด้วยความที่ว่าเราเป็นคนชอบทานอาหารเวียดนาม เราก็รู้สึกว่าเราเคยมีประสบการณ์ในการเดินทางไปทานอาหารเวียดนามทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์นะ แล้วยังไม่มีใครได้ทำอะไรแบบนี้ เลยอยากที่จะลองนำเสนอ ถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ว่าเราก็อยากลอง”

‘ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์’ หลงใหลการสร้างแบรนด์และ ‘ชิ้นโบว์แดง’ ธุรกิจใหม่ร้านหมูกระทะ

ส่วนเรื่องของมาตรฐานรสชาติอาหารในมุมมองของปลา เธอบอกกับเราว่า “เรื่องของการรักษามาตรฐานอาหาร การทำธุรกิจอาหารมันไม่ได้เป็นการทำมาจากเครื่องจักร จากโรงงาน มันก็คือการใช้คน เป็นศาสตร์ของศิลปะในการทำอาหาร เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็มันต้องถูกชั่งตวงวัด แล้วก็มีกระบวนการการเทรนนิ่งพนักงานอย่างชัดเจน”

“เราจะต้องมีการจูนรสชาติที่ตกลงกันก่อนว่าพี่ปลาต้องการรสชาติแบบนี้นะ ถ้าไม่ใช่แบบนี้ก็ต้องไปปรับปรุงใหม่ ต้องมีการทำความเข้าใจ แล้วก็ปรับความคิดทัศนคติ เพื่อให้พวกเขาสามารถจะเอาสิ่งนี้ไปถ่ายทอดต่อให้กับหน้าสาขาได้"