04 ก.พ. 2566 | 14:00 น.
‘ไม่อร่อยให้ต่อยเพนกวินนนน’
ไม่รู้ว่าเพนกวินหน้าร้าน Penguin Eat Shabu จะเคยโดนต่อยบ้างหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ต่อ - ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งร้านนี้ เคยถูกความผิดพลาดกระแทกหน้าจนล้มไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนหลายคนอาจไม่เชื่อว่านักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย และดูดีมีความรู้อย่างเขา ก็เคยล้มเหลวมาแล้วด้วยหรือ
และนี่คือเรื่องราวความไม่ยอมแพ้ของ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี นักธุรกิจรุ่นใหม่เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ที่ถูกความผิดพลาดต่อยจนล้มไปนับครั้งไม่ถ้วน แต่ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ทุกครั้ง
เรียนไม่เก่งต้องรู้จักการใช้ชีวิต
ใบปริญญา 3 ใบ ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ่วงปริญญาโทด้านสาขาวิชาการจัดการทรัพยากรอาคาร จากรั้วศรีปทุม และปริญญาโทด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จาก University of Glasgow ในสหราชอาณาจักร อาจทำให้หลายคนคิดว่าผู้ชายที่ชื่อ ต่อ - ธนพงศ์ เป็นคนขยัน ตั้งใจเล่าเรียนมาตั้งแต่เด็ก
แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะเขาเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ไม่ค่อยตั้งใจเรียน จนดูเหมือนไม่เอาไหนในสายตาผู้ใหญ่หลายคน
หนึ่งในนั้นคือคุณพ่อของเขา ที่อาจเห็นว่าเขาเป็นเด็กที่ไม่สนใจการเรียนจึงได้สอนวิชาทำมาหากินให้กับเขา ด้วยการหอบหิ้วเขาและพี่ชายฝาแฝดติดตามตัวเวลาไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พวกเขาต่างได้ซึมซับวิธีการทำธุรกิจจากของจริงตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้นมาแบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการวางตัวเข้าสังคม การแต่งตัวที่เหมาะสม การเข้าประชุม ไปจนถึงวิธีการเจรจาธุรกิจกับลูกค้าต่างประเทศ
ที่สำคัญที่สุดคือการที่คุณพ่อได้สอนหลักสูตรการเอาตัวรอดในแบบของคนเรียนไม่เก่งว่า ต้องรู้จักหาเครือข่ายพันธมิตรที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือ เพราะในชีวิตจริง ความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่การเรียนหนังสือเก่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“เราเป็นคนไม่ค่อยเอาไหน ไม่ตั้งใจเรียน เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่คุณพ่อไม่เคยบอกให้เราตั้งใจเรียน เขาแค่อยากให้เราไม่เป็นภาระสังคม เขาเลยสอนว่าถ้าเรียนไม่เก่งต้องรู้จักการใช้ชีวิตการเอาตัวรอด เพราะคนที่จะประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การเรียนเพียงอย่างเดียว”
นั่นช่วยให้เด็กที่เรียนไม่เก่งคนหนึ่งซึ่งบางคนอาจมองว่าไม่มีอนาคตที่สวยงาม กลับมามีกำลังใจฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง เพราะความเชื่อที่ว่าเส้นทางข้างหน้าต้องมีที่ทางเหมาะสมรอพวกเขาอยู่
การล้มยิ่งทำให้เราแข็งแกร่ง
ในการ์ตูนดราก้อนบอล ชาวไซย่าจะมีสกิลพิเศษที่เมื่อฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บสาหัสจะเก่งขึ้นทุกครั้ง ในชีวิตจริงก็ไม่ต่างกัน เพราะการประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายแล้วถ้าหากตัดสินใจลุกขึ้นยืนหยัดขึ้นมาได้ ก็ยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ
เหมือนวิกฤตครั้งสำคัญที่ผู้ชายคนนี้ได้ประสบเมื่อคุณพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวไม่สามารถทำงานต่อได้ จนพวกเขาต้องเข้ามารับหน้าที่หลักในการดูแลครอบครัววงศ์ชินศรี จากเด็กที่เคยไม่ตั้งใจเรียน เปลี่ยนมาเป็นขยันอ่านหนังสือมากกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่าตัว และเป็นจุดเปลี่ยนที่เขาตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหาร
แน่นอนว่าจะขยันมากแค่ไหน พวกเขาก็ยังเป็นเพียงหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารที่เรียกว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนของใครหลายคน แต่ด้วยทักษะการเอาตัวรอดที่มีติดตัวมาตั้งแต่เด็กเป็นทุนเดิม ตีบวกกับความขยันที่มีมากกว่าคนอื่นเป็น 2 เท่า ไม่ว่าจะเป็นการไปลงพื้นที่สำรวจตลาดและศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง ทั้งการไปเฝ้านับจำนวนคนหน้าร้านเพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และการตระเวนชิมร้านบุฟเฟ่ต์อื่น ๆ ทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันหลายอาทิตย์จนน้ำหนักขึ้น ช่วยให้ร้าน Penguin Eat Shabu สาขาแรกที่เปิดในปี 2014 กลายเป็นร้านชาบูชื่อดังที่เป็นกระแสในโลกโซเชียลฯ แทบจะทันทีที่เปิดร้าน
“สมัยมัธยมเราชอบธุรกิจ ไม่ค่อยได้อ่านการ์ตูนเลย อ่านแต่นิตยสารการตลาดพวก Marketeer, BrandAge ถึงกับสมัครสมาชิกรายเดือนเอาไว้ พอได้มาเปิดร้านเอง เราเลยเอาความรู้พวกนี้มาใช้ ส่วนหนึ่งเพราะอยากพิสูจน์สิ่งที่เชื่อในเรื่องการทำ branding ด้วยว่าการที่เรากล้าสร้างความต่าง จะมีคนที่ยอมจ่ายให้กับความต่างนั้นหรือเปล่า”
ด้วยการเป็นนักออกแบบที่ถูกสอนในเรื่องการสร้างความแตกต่างแล้วหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ เขาเลยทำให้ Penguin Eat Shabu มีชื่อร้านที่แตกต่าง โลโก้ที่สะดุดตาจดจำง่าย มีเมนูที่อร่อยโดนใจ ที่สำคัญที่สุดเขาได้ออกแบบภายในร้าน ด้วยการวางตำแหน่งไฟในจุดต่าง ๆ เพื่อให้ทุกมุมสามารถถ่ายรูปออกมาได้สวยที่สุด ทำให้ลูกค้าที่เข้ามากินชาบูนอกจากอิ่มอร่อยแล้วยังมีคอนเทนต์สวย ๆ ติดมือกลับไปอีกด้วย
“เราเป็นร้านแรก ๆ ที่ทำการตลาดและตั้งใจออกแบบร้านอาหารที่มีมุมสวย ๆ สำหรับถ่ายรูป เพื่อให้คนมากินอาหารแล้วได้ภาพสวย ๆ ไปแชร์ในออนไลน์ เป็น UGC (User-generated Content) จากลูกค้าเองที่ตอบโจทย์การสื่อสารออนไลน์ในตอนนั้น ช่วยให้ร้านเราเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว”
ช่วงนั้น Penguin Eat Shabu ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำการขยายสาขาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีคนเข้าคิวรอใช้บริการกันยาวเหยียด สิ่งที่ทุกคนอาจไม่รู้ก็คือ ภายใต้ภาพลักษณ์ที่สวยงามของธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อ - ธนพงศ์ต้องต่อสู้กับความผิดพลาดที่เหมือนเป็นการรับน้องใหม่ของธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำเลเปิดร้านผิดพลาดจนสูญเงินไปก้อนใหญ่ การถูกโกงเงินอีกหลายล้านบาท ไปจนถึงการต้องปิดร้านบางสาขาตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดให้บริการเลย
“เราล้มมาเยอะมาก ลงทุนผิด เลือกทำเลเจ๊งก็หลายครั้ง โดนโกงไปหลายสิบล้านก็เคย แต่เราไม่ได้บอกใคร เพราะเป็นความผิดพลาดที่มาจากปัจจัยภายในตัวเราเองที่ไม่รอบคอบ เราเคยลงทุนผิดพลาดจนต้องกู้นอกระบบเสียดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อเอาเงินมาทำร้านจนไม่เหลือเงินแม้แต่บาทเดียวก็ผ่านมาแล้ว”
แต่สุดท้ายเขาได้ใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม จนสามารถเติบโตขยายสาขาเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถูกต่อยจนล้มกระแทกอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้หมัดที่หนักหน่วงไม่ได้มาจากความผิดพลาด หากเป็นความสำเร็จต่างหากที่กระแทกหน้าเขาอย่างจัง
ผลเสียของความสำเร็จ
การเกิดในตระกูลคนจีนที่ญาติพี่น้องและคนรอบข้างทำธุรกิจส่วนตัวกันหมด ทำให้ความคิดเรื่องการเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานประจำไม่เคยอยู่ในหัวของเขาเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนั่นทำให้เขามุ่งมั่นตั้งใจกับธุรกิจที่ทำอย่าง Penguin Eat Shabu จากการเข้าไปดูแลร้านตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงร้านปิด จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว แลกมากับการได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยสาขารวมกว่า 10 สาขา และสาขาที่เตรียมพร้อมจะเปิดเพิ่มในอนาคตอีกเป็นจำนวนมาก
หลังจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดที่อู่ฮั่น ประเทศจีนในช่วงปลายปี 2019 ผลกระทบก็เริ่มขยายวงกว้างมาถึงประเทศไทย โดยธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจแรก ๆ ต่อจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างจัง
ช่วงก่อนโควิด-19 Penguin Eat Shabu ได้ขยายธุรกิจโดยไม่มีการวางแผนกระจายความเสี่ยง พอธนาคารที่ตกลงว่าจะให้สินเชื่อกลับยกเลิกกะทันหันเพราะวิกฤตที่กำลังก่อตัว ทำให้ธุรกิจของเขาที่กำลังไปได้ดีขาดกระแสเงินสดในทันที
“เราอายุน้อย พอความสำเร็จมาเร็ว นอกเหนือจากรายได้ที่เข้ามาแล้ว ยังมีอีโก้และความทะนงตัวว่าเราเก่ง ทำให้ปิดหูปิดตาไม่ฟังคนอื่น ถ้ากลับไปได้จะไปสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองได้เรียนรู้เติบโตสร้างรากฐานให้มั่นคงมากยิ่งกว่านี้”
จากจำนวน 10 สาขา ถูกปิดจนเหลือเพียง 6 สาขา แทบจะในทันทีเหมือนธุรกิจร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้เขาเครียดจนเกือบจะเป็นซึมเศร้า เพราะต้องแบกรับภาระหนี้สินไปจนถึงชะตากรรมของพนักงานในร้านอีกกว่าร้อยชีวิตที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ในช่วงวิกฤตสำคัญนี่เองที่เป็นเครื่องพิสูจน์คนจากความไม่ยอมแพ้ กล้าที่จะฮึดสู้กับความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าจนลุกขึ้นได้อีกครั้ง เหมือนกับที่ ต่อ - ธนพงศ์ไม่ได้มองปัญหาหนักที่อยู่ตรงหน้าเป็นอุปสรรค แต่เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สามารถช่วยให้ทุกคนสามารถรอดไปได้
“เราคิดแคมเปญจาก inside out ถอดหมวกการเป็นเจ้าของธุรกิจ มาใส่หมวกของการเป็นลูกค้า แล้วลองไปดูว่าสินค้าและบริการที่เราขายไป สร้าง pain point หรือปัญหาอะไรกับลูกค้าบ้าง แล้วเราจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร มันอาจได้บริการใหม่ ๆ แต่ต้องดูต้นทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ในมือด้วย ในตอนนั้นเราไม่มีเงินเลยไปหาพันธมิตรที่น่าจะไปกับธุรกิจเราได้ จนเกิดเป็นแคมเปญชาบูแถมหม้อ เป็นกลยุทธ์ collaboration ที่ไม่แค่ช่วยให้เรารอด แต่เป็นการกินแบ่งที่ช่วยให้ทุกคนรอดมาได้”
จากผู้ประกอบการสู่อาจารย์สอนทำร้านอาหาร
หลังผ่านประสบการณ์การล้มลุกคลุกคลานในธุรกิจร้านอาหารมาอย่างโชกโชน เขาได้เห็นภาพใหญ่มากขึ้นว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการร้านอาหารมากกว่า 500,000 ราย มีโรงเรียนสอนทำอาหารมากมาย และหนังสือทำอาหารเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ทำไมไม่มีหนังสือสอนทำร้านอาหารเลย
เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu เลยคิดใหญ่อยากแบ่งปันความรู้ในการทำร้านอาหารให้กับผู้เริ่มต้น เพราะเขามองว่าการทำร้านอาหารร้านหนึ่งให้ประสบความสำเร็จนั้นจะใช้ความรู้เพียงศาสตร์เดียวไม่ได้ ต้องเป็นสหศาสตร์ ทั้งการจัดการ การบริหาร การออกแบบ ไปจนถึงการทำการตลาด ซึ่งเมื่อไม่มีคนสอนวิธีการทำร้านอาหารเหล่านี้ ร้านเล็ก ๆ ที่มีทุนน้อยก็รอดยาก ส่วนร้านใหญ่ ๆ ที่มีทีมงานพร้อมก็จะยิ่งโตขึ้นไปเรื่อย ๆ พอคนตัวเล็กแย่ลง ความห่างระหว่างชนชั้นก็ถ่างออกไปเรื่อย ๆ เขาเลยรวมตัวกับเพื่อน ๆ ที่มีความรู้ในแต่ละด้าน มาแชร์ประสบการณ์ผ่านหนังสือ และคอร์สอบรมให้ความรู้จำนวนมาก
“แต่ก่อนเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่แล้วด้วย เคยได้สอนมาบ้าง ตอนที่เปิดร้านแรก ๆ เรารู้สึกว่าทำไมไม่มีใครมาแชร์เรื่องแบบนี้ เลยเริ่มทำเพจเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แล้วเริ่มเขียนหนังสือ โดยคิดว่าถ้าเราทำได้ปีละ 1 เล่ม 10 ปี ก็จะมีหนังสือทำร้านอาหารไว้ให้ได้อ่านเป็น 10 เล่ม
“จุดที่ทำให้เรารักในการทำสิ่งนี้ มาจากวันหนึ่งที่เราไปแชร์กับโครงการหนึ่ง มีคนยกมือแล้วพูดกับเราว่า คุณต่อไม่เข้าใจหรอก เพราะชีวิตคุณต่อไม่เคยล้ม เราเลยเล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วที่บ้านเราเองก็เคยล้ม พอทำธุรกิจของเราเองก็เคยมีปัญหาหนัก แต่ว่าทุกคนก็ต้องสู้ต่อ เพราะลูกค้าไม่สนใจหรอกว่าคุณจะล้ม เขาแค่สนใจว่าสินค้าที่ได้รับมันคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือเปล่า”
ผ่านไปอาทิตย์กว่า คนที่ยกมือคนนั้นได้ติดต่อกลับมาว่า รู้สึกขอบคุณสิ่งที่เขาได้พูดในวันนั้นมาก เพราะตอนนั้นเธอกำลังตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย จากปัญหาธุรกิจที่ติดลบและปัญหาทะเลาะกับสามี พอได้ฟังเรื่องราวความไม่ยอมแพ้ของเขาก็เลยรู้สึกมีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป
“เขาบอกว่าไม่กี่ชั่วโมงที่เราเสียเวลาไปนั้นสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้ เลยอยากให้เราทำสิ่งนี้ต่อไป เพราะอาจมีคนที่เป็นเหมือนกับเขา เราก็เลยรู้สึกว่าที่ผ่านมาเราไม่รู้ว่าตัวเราเองมีคุณค่ากับใครเลย เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่สร้างภาระให้กับพ่อแม่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เรากลับมีคุณค่าช่วยชีวิตคนอื่นได้ มีอีกหลายคนที่กลับมาขอบคุณว่าธุรกิจของเขาไปได้เพราะเรา มันทำให้เราดีใจที่ได้เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ”
หลายคนอาจไม่รู้ว่านอกจากเพจ Penguin Eat Shabu - เพนกวินกินชาบู และ Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ แล้ว ต่อ - ธนพงศ์ยังเปิดเพจ ‘โคตรเฟล’ เพจที่เอาประสบการณ์ความล้มเหลวของผู้คนที่มีชี่อเสียงทั้งในเรื่องธุรกิจและชีวิตจริง มาให้ได้เรียนรู้ผ่านความล้มเหลว ที่ตอนนี้ทำมาได้ไม่ถึงปี มีผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งแสนราย
ความไม่ยอมแพ้ในแบบเพนกวิน
“ปรัชญาการไม่ยอมแพ้ ส่วนหนึ่งมาจากคุณพ่อด้วย เพราะเราเห็นคุณพ่อสู้มาตลอดตั้งแต่เราจำความได้ เวลาเขาเจอปัญหาแย่ ๆ เจอคนใกล้ตัวทำอะไรแย่ ๆ ในชีวิต เขาไม่เคยโกรธแค้นใคร แต่เอาเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน แล้วพยายามทำสิ่งที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด”
ผู้ก่อตั้งเพจ ‘โคตรเฟล’ เปรียบเทียบว่าการไม่ยอมแพ้ ก็เหมือนกับการปั่นจักรยานที่เชื่อว่าทุกคนกว่าจะปั่นจักรยานเป็น ต้องผ่านการล้มมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง เข่ากระแทกพื้นไม่รู้กี่หน แต่ถ้าล้มแล้วกลัวเจ็บไม่กล้าลองปั่นอีกก็จะไม่มีโอกาสปั่นจักรยานสองล้อเป็นไปตลอดกาล
“การปั่นจักรยานถ้าไม่กลัวเจ็บ ล้มแล้วปัดฝุ่นลุกขึ้นมาสู้ต่อ ล้มกี่ครั้งก็ไม่เป็นไร ปัดฝุ่นลืมอดีต ลืมความเจ็บปวด เรียนรู้ความผิดพลาด สุดท้ายก็จะปั่นเป็นไปตลอดชีวิต การทำธุรกิจก็เหมือนกัน พอมี mindset การทำธุรกิจที่ถูกต้อง ธุรกิจหนึ่งเจ๊งไป ก็มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมาแทน เหมือนโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตแต่ก็มาพร้อมโอกาส ถ้าเรามีวิธีคิด มีวิสัยทัศน์ที่ดี อาจทำให้เกิดธุรกิจใหม่ก็ได้”
นักธุรกิจรุ่นใหม่ให้ข้อคิดว่าสิ่งสำคัญที่ช่วยการไม่ยอมแพ้ พยายามลุกขึ้นแม้จะล้มสักกี่ครั้ง ประสบความสำเร็จก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา ต้องรู้ว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิต แล้วควรเอาเวลาส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ตรงไหนของชีวิต หากไม่เข้าใจเรื่องตรงนี้ แทนที่จะเอาเวลาไปทุ่มเทให้กับความพยายาม ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่จำเป็น
“เวลาเป็นสิ่งเดียวที่เราซื้อไม่ได้ ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่จัดการเวลาไม่เหมือนกัน ทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน นอกเหนือจากการใช้เวลาอย่างถูกต้องแล้ว เราต้องใช้เวลาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีด้วย ไม่ใช่ดีแต่กับเราเองอย่างเดียว แต่ต้องดีต่อคนรอบข้าง ดีต่อพนักงาน ดีต่อลูกค้า ดีต่อสังคมชุมชน และดีต่อโลกด้วย เพราะการใช้เวลาเพื่อส่งผลกระทบเชิงบวก เขาอาจจะช่วยเราสร้างบางอย่างที่ช่วยลดเวลาได้ในอนาคต เหมือนกับการลงทุนแบบหนึ่ง”
ความเข้มข้นของเรื่องราวความไม่ยอมแพ้ที่แม้จะถูกต่อยกระแทกจนล้มลงหลายต่อหลายครั้ง แต่ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ทุกครั้งของ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้ง Penguin Eat Shabu น่าจะเข้มข้นยิ่งกว่าน้ำซุปร้อน ๆ ในหม้อชาบู เพราะว่าต้องใช้เวลาในการเคี่ยวกรำประสบการณ์ยาวนานหลายปี จนสุดท้ายออกมาเป็นบทเรียนที่ช่วยเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่รับรู้ได้ลุกขึ้นใหม่ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้