07 ธ.ค. 2561 | 16:34 น.
“สิงสู่” เป็นผลงานภาพยนตร์ผีเรื่องที่ 4 ในรอบ 20 ปีของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เขียนบท “นางนาก”, กำกับ “เปนชู้กับผี”, “รุ่นพี่” และ “สิงสู่”) กับเรื่องราวพิธีกรรมปริศนาที่บังเอิญปลุกวิญญาณร้ายขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจ ไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ที่ไหน และไม่รู้ว่ามันกำลังจะสิงใคร กลายเป็นไอเดียแปลกใหม่ที่ตลอดทั้งเรื่องจะไม่เห็นผีเป็นตัวๆ แต่จัดเต็มความน่ากลัวของการถูก “ผีสิง” ผ่านการแสดงอย่างเดียว วันนี้เราเลยถือโอกาสชวน ชาญชนะ หอมทรัพย์ หนึ่งในทีมเขียนบทหนังผีเรื่อง “สยามสแควร์” มาชวนผู้กำกับวิศิษฏ์คุยถึงหนังผีไทยๆ กัน พร้อมข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่า คนไทยถูก “หลอก” ให้กลัวผี! The People: ทำไมหนังผีมันกลายเป็นหนังที่คุณกลับมาทำบ่อยที่สุด วิศิษฏ์: เราเป็นคนชอบดูหนังผี แล้วชอบพวกประเด็นเกี่ยวกับผี-วิญญาณอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสาเหตุที่ทำให้กลับมาทำบ่อยเพราะนอกจากเป็นคอนเทนท์ที่ค่ายหนังเค้าค่อนข้างสนใจ มีตลาดรองรับ ส่วนตัวยังมองว่าหนังผีมันเป็นที่ปล่อยของที่น่าสนใจ มันท้าทายที่ว่าตอนนี้คนทำหนังผีทั่วโลกทำกันจนปรุไปหมด แล้วเราจะหาคอนเทนท์อะไรใหม่ๆ แง่มุมไหนที่ยังสดใหม่มาเล่าได้มากกว่า หนังผีไทยเนี่ย มันก็จะมีแต่ผีที่เป็นตัวๆ ออกมาแหกอก ควักไส้ นั่นเป็นความน่ากลัวของหนังผีในอดีต แต่ปัจจุบันเริ่มมีความลึก-ซับซ้อนขึ้นตามโลกและการตีความของคนทำหนัง ปัจจุบันหนังบางเรื่องเราไม่เห็นผีเลย แต่ทั้งเรื่องน่ากลัวมากก็มี The People: คุณมองว่า “ความเป็นผี” เองก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยใช่ไหม แล้ว “สิงสู่” กำลังพูดถึง “ความเป็นผี” แบบไหนอยู่ วิศิษฏ์: ใน “สิงสู่” เราจับประเด็นเรื่อง “คนทรงเจ้าเข้าผี” ซึ่งจริงๆ เป็นประเด็นที่มีอยู่ในสังคมไทยมานาน เพียงแต่ว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมา ส่วนตัวสนใจว่ามันน่าจะเกิดจากความไม่มั่นคงในจิตใจของเราหรือเปล่า มีความรู้สึกกลัวความไม่แน่นอนของโลก เลยต้องไปพึ่งพิงกับเทพหรืออำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อช่วยให้เราอุ่นใจขึ้น เราเห็นบ่อยจนเอะใจ มันเกิดอะไรขึ้นในสังคม ก็เลยเอาประเด็นนี้มาทำ The People: เหมือนคุณกำลังจะบอกว่า คนเราไม่มั่นคงเสียจนต้องการหาอะไรบางอย่างมายึดเหนี่ยวตัวเอง แม้กระทั่งถึงขั้นผีสางแบบในเรื่อง “สิงสู่” วิศิษฏ์: จริงๆ ประเด็นในหนัง มันเป็นเรื่องของความกลัว ในหนังเราจะมีคอนเซปต์ว่า ผีสามารถได้กลิ่นของความกลัว พอมันรู้ว่าคนไหนกลัว มันจะจู่โจมทันที ความกลัวเปิดช่องให้มันเข้าไปได้ แล้วความกลัวนี้มาจากไหน มันก็มาจากความไม่รู้ ความไม่รู้ทำให้เรากลัวเหมือนกับความมืด เรากลัวเพราะว่าเราไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน เราก็เลยกลัวความมืด แต่พอสว่างเราก็จะไม่กลัว เพราะเราเห็นหมดว่าอะไรเป็นอะไร The People: “สิงสู่” ดูเหมือนจงใจเอาเรื่องความเชื่อของไทย แต่ทำให้มีสไตล์แบบหนังฝรั่งอยู่ ชวนให้นึกถึงหนังผียุคก่อนอย่าง The Exorcist (1973) หรือ Rosemary's Baby (1968) ซึ่งมันค่อนข้างใหม่มากสำหรับบ้านเรา วิศิษฏ์: เป็นเจตนาของผมที่จะทดลองอะไรบางอย่าง หนังผีไทยแท้ๆ ก็มีพวกคนเล่นของไปแล้ว เราก็เลยอยากทดลองให้มันเป็นสากลขึ้น เช่น เราจะไม่ใช้ลัทธิที่มีอยู่จริง แต่ใช้สัญลักษณ์ (Symbolic) เปรียบเทียบศาสตร์ด้านมืดแทน ให้ตัวละครใส่ชุดดำหมด ตรงข้ามกับเวลาปฏิบัติธรรมที่จะนุ่งขาวกันโดยสิ้นเชิง หรือคำว่าไสยศาสตร์ด้านมืด เราใช้อีกคำคือ “ปรจิตวิทยา” ควบคู่ไปด้วย อีกส่วนหนึ่งเราก็อยากคารวะหนังที่เราดูมาตอนเด็กอย่าง The Exorcist The People: “ปรจิตวิทยา” (Parapsychology) คืออะไร วิศิษฏ์: เป็นศาสตร์เมืองนอกที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบาย มันไม่ใช่ไสยศาสตร์แบบบ้านเรานะ มันมีการวิเคราะห์หาทางพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์เป๊ะ เช่น เชิญผีก็ไม่ได้แปลว่าผีจะมาทุกครั้ง เขาเลยไม่รับเป็นวิทยาศาสตร์แท้ ปรจิตวิทยานี้บางครั้งก็เรียกว่าวิทยาศาสตร์เทียม คือใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายเรื่องเหนือธรรมชาติ อย่างการเอาการถ่ายภาพเคอร์เลียน (Kirlian photography) มาใช้เพื่อถ่ายภาพวิญญาณให้ได้ เป็นต้น The People: จากเขียนบท “นางนาก” ถึงหนังผีที่กำกับเองตั้งแต่ “เปนชู้กับผี” “รุ่นพี่” “สิงสู่” รวมๆ ผ่านมาเกือบ 20 ปี คุณมองว่าหนังผีไทยโดยรวมยังพัฒนาต่อไปได้อีกแค่ไหน วิศิษฏ์: ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนใจมาก เพราะหนังผีอยู่คู่สังคมไทยมานาน ไม่เคยหายไป เราอาจจะยังไม่มีจุดเปลี่ยนเป็นหนังผียุคใหม่แบบญี่ปุ่น ที่ The Ring (1998) ทำให้คนฮือฮากัน แล้วยังสร้างฐานคนดูกลุ่มใหม่ขึ้นมาด้วย แต่มันน่าสนใจตรงในความซ้ำซากของเรานั้น เราจะหาแง่มุมอย่างไรที่สดใหม่ได้ มันเลยเป็นช่วงการทดลองของเราด้วย The People: คุณว่าอะไรที่รั้งไม่ให้หนังไทยไปสู่จุดนั้นได้ วิศิษฏ์: ผมเข้าใจนะครับว่าทุกครั้งที่หนังผีออกมา คนดูก็จะรู้สึก “หนังผีอีกแล้ว” แต่ในความเป็นจริง เราไม่เคยตัดขาดมันได้นะครับ เหมือนที่ผมรู้สึกว่าหนังไทยหลายประเภท น่าเอามาทำไปสู่จักรวาลใหม่ๆ อย่าง “หนังจักรๆ วงศ์ๆ” ผมเล็งไว้นานแล้วแต่ยังไม่มีใครยอมให้ทำ ทั้งที่มันอยู่คู่สังคมไทยมาตลอด จนทุกวันนี้ก็ยังมีคนดูอยู่ คนรุ่นใหม่อาจมองว่า น่าเบื่อ คล้ายลิเก หรือจริงๆ เพราะยังไม่มีคนทำมันให้ดูดีแบบแฟรนไชน์ The Lord of The Ring มากกว่า มีบางอย่างที่ฝังอยู่ในรากของเรา ต่อให้แต่งตัวเป็นฝรั่งเราก็ยังไหว้ศาลพระภูมิอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าคนไทยมียานอวกาศเป็นของตัวเอง จะต้องมีพวกเครื่องรางของขลังอยู่แน่ๆ มันเป็นแก่นความเชื่อที่เราสลัดไม่หลุด ขึ้นอยู่ที่ว่าเรายอมรับหรือปฏิเสธมัน หรือจะเอามาพัฒนาให้มันต่อยอดได้ ตอนนี้เรายังอยากทำให้เป็น Identity ของหนังไทยที่ทั้งโลกตะลึงฮือฮา มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำให้ได้สักวันหนึ่ง The People: แต่ที่พูดมาคือสิ่งที่คุณทำมาตลอดตั้งแต่ “ฟ้าทะลายโจร” จนถึง “สิงสู่” ไม่ใช่เหรอ คือการทำหนังไทยอิงสไตล์เก่าแล้วนำไปสู่ตลาดนอกได้ วิศิษฏ์: เราเรียนทางด้านศิลปะก็เลยสนใจพวกงานเก่าๆ เป็นความชอบส่วนตัว แต่ว่าเมื่อก่อนไม่ได้อินอะไร ก็บ้าหนังฝรั่ง แล้วก็ค่อนข้างดูถูกหนังบ้านเราเหมือนทุกคน พอตอนหลังเริ่มทำงานโฆษณามากๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า ทำไมต้องไปก๊อปของนอกตลอดเวลา ถ่ายหนังไทยทำไมต้องทำให้ดูเหมือนฉากหนังฝรั่ง ทำไมเราต้องทำอย่างนั้นตลอด มันก็เป็นการเลียนแบบนั่นแหละ ญี่ปุ่นก็เกิดจากการเลียนแบบ หนังญี่ปุ่นหรือรถญี่ปุ่นก็โดนดูถูกว่าเป็นของก๊อปปี้ เขาก็เลียนแบบมาจนเริ่มรู้ว้าต้องทำยังไงต่อ เขาก็เริ่มไปพัฒนางานหนังเก่าๆ จนพามันมาสู่สากล เราก็เลยคิดว่าหนังไทยเราทำได้ไหม ทำไอ้สิ่งที่เรียกว่า “พื้นบ้าน” เริ่มมองเห็นความงามในความเชย จนรู้สึกว่าถ้าเราเอาวิชาที่เรียนไปต่อยอดทำให้ทันสมัยขึ้นล่ะ มันจะไปได้ไหม สิ่งที่เราทำคือเป็นการทดลองนะครับ ไม่ได้บอกว่าเป็นความสำเร็จ ถึงทุกวันนี้จริงๆ ก็ยังไม่สำเร็จหรอก แต่อยากจะให้มีคนคิดแบบเราเยอะๆ ช่วยกันทำให้มันเกิดเป็นขบวนวัฒนธรรมที่แข็งแรง The People: ตกลงหนังไทยแท้มีจริงไหม รู้สึกอย่างไรเวลาคนพูดกันว่า “หนังไทยแท้จะนึกถึงหนังวิศิษฏ์” วิศิษฏ์: ความเป็นหนังไทย ถ้าเรียกว่า “ไทยแท้” มันไม่มีหรอกครับ คือหนังเองก็เป็นของนอกแล้วล่ะ ที่เรียกว่า “หนัง” เพราะสมัยก่อนหนังตะลุงเราเอาแผ่นหนังมาเจาะฉลุเชิด แล้วฉายแสงเกิดเป็นภาพขึ้นบนจอ เคลื่อนไหวได้จากการเชิด พอมี “ภาพยนตร์” เข้ามา เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวก็เลยเรียกว่า “หนัง” เหมือนกัน สำหรับเรามองความเป็นไทยคือสิ่งที่รับใช้เราดีกว่า สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกต่อติด เหมือนที่รู้สึกกับอาหารไทย กินแล้วคิดถึงบ้าน มีครั้งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าความเป็นไทยสำคัญ คือตอนเอา “ฟ้าทะลายโจร” ไปฉายที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ซึ่งไกลมาก เมืองเป็นหิมะหมดเลย แล้วไปเจอคนไทยเป็นครอบครัวเดินทางจากลอส แอนเจลิส เพื่อมาดูหนังเรา มันคือความรู้สึกนั้นที่อธิบายไม่ถูก เป็นความรู้สึกว่าโหยหาอะไรอย่างนี้ ที่จริงเราก็มีอีกหลายแนวที่อยากทดลองทำไปเรื่อยๆ มีคนเคยบอกไม่ชอบหนังของผมยุคหลัง ๆ นะ “ทำไมไม่ทำแบบฟ้าทลายโจรอีก” ผมก็คิดว่าเราทำไปแล้ว เรายังมีเรื่องอื่นอีกร้อยล้านโปรเจกต์ที่สนใจอยากทำ คือชีวิตมันสั้น จะมานั่งทำหนังซ้ำๆ ทำไม ผมไม่ทำ ส่วนตัวแล้วอยากทำอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่ยึดติดกับทุกอย่างนะครับ เช่น อยากทำหนังไซไฟแต่ก็ยังไม่มีใครให้ทำ ตอนนี้ขาดอย่างเดียวก็คือหนังร้อยล้าน ยังทำไม่ได้ นับรายได้ 6 เรื่องรวมกันยังไม่ถึง 100 ล้านเลย (หัวเราะ) The People: แล้ว “สิงสู่” จะยังพูดเรื่อง “คนน่ากลัวกว่าผี” อย่างที่คุณมักพูดในหนังผีเรื่องก่อนๆ หรือเปล่า วิศิษฏ์: มันมีฉากหนึ่งที่ตัวละครถูกถามว่า “ไม่กลัวผีหรอ” เขาก็ตอบว่า “กลัว กลัวสิ ผีน่ากลัว แต่ว่าที่น่ากลัวกว่าผีก็คือคน” จริงๆ ทุกอย่างถูกคนสร้างขึ้นมาทั้งนั้นแหละครับ เราไม่รู้ว่าในความเป็นจริงมันมีสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า แต่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งมาสรุปให้ว่า “มี” แล้วคุณต้องเชื่อ ถ้าไม่เชื่อคุณจะประสบอะไรบางอย่าง คนก็เลยกลัวประโยค “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คือไม่ต้องตรวจสอบอะไร เชื่อไปเลย เป็นวาทกรรมที่ไว้ใช้คุมทุกอย่าง มึงเชื่อกูนะว่ากูเป็นคนดี ไม่ต้องตรวจสอบกู นั่นคือวิธีเล่นกับความกลัวของคน The People: เวลาพูดเรื่อง “คนใช้ความกลัวผีเพื่อข่มขู่ปกครองคนด้วยกันเอง” เอาจริงประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผีเยอะที่สุดในโลกหรือเปล่า เหมือนเราสร้างความกลัวจนมีผีกันทุกยุคทุกสมัย วิศิษฏ์: (หัวเราะ) ก็ไม่แน่ใจว่าไทยมีเยอะที่สุดในโลกหรือเปล่า ญี่ปุ่นก็เยอะนะ แต่พูดแบบนี้ดีกว่า ว่าคนไทย “เชื่อง่าย” คือบอกอะไรคนก็พร้อมที่จะเชื่อ ถ้าใครกล้าจริงลองบอกว่าเป็นร่างทรงอะไรขึ้นมา เดี๋ยวก็มีคนมาเชื่อเอง นี่คือสังคมเรา คือเชื่อไว้ก่อนไม่เสียหายอะไร คนฉลาดก็จะหลอกให้เชื่อ ผมไม่ได้ประณามเขานะ ผมรู้สึกว่าเจ๋งว่ะ คิดได้ไง คุณเคยดูมายากลที่ไปหลอกคนตามสนามหลวงไหม? อับดุลที่เอาผ้าคลุมโชว์ตัดหัวเพื่อขายเครื่องรางของขลัง มันหันไปทางวัดพระแก้วยกมือสาบานเลยว่า “ถ้าไม่จริงให้ตายในสามวันเจ็ดวัน” มันสาบานแบบนี้เลย ทั้งที่ดูก็รู้ว่ามันหลอก แต่มันกล้าสาบานไง ผมยังไม่กล้าเลย (หัวเราะ) นี่คือคนที่เอาความเชื่อมาหลอกคนอื่นต่อ คนที่กล้าหาญสุด ฉลาด รู้ว่ามนุษย์พร้อมจะเชื่อสิ่งเหล่านี้โดยไม่ตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องการเมือง ก็มีคนประเภทนี้เหมือนกัน ใช้วิธีนี้เหมือนกัน แล้วก็ได้ผล ทุกวันนี้ก็ยังได้ผลอยู่ ที่บอกว่า “กูเป็นคนดี มึงเชื่อกูซะ” แล้วไม่ต้องตรวจสอบอะไร จะมีบ้านกี่หลังก็ได้ จะมีนาฬิกากี่เรือนก็ได้ เป็นคนดีเข้าใจไหม ถ้าอยากตรวจสอบแสดงว่าคุณเป็นคนชั่ว คุณเกลียดประเทศ แต่มันก็ยังมีคนงมงายเชื่อนะ เชื่อแบบไม่ต้องคิดอะไรเลย แค่บอกคนก็เชื่อ เชื่อแล้วไม่ได้เก็บไว้คนเดียวด้วยนะ ยังแพร่กระจายไปถึงญาติพี่น้องคนอื่นอีก เหมือนทริกที่เล่นกับจิตวิทยาของความกลัว The People: เอาจริงความเป็นคนทรงที่ “สิงสู่” พูดถึง อาจจะไม่ใช่แค่คนทรงเจ้าทรงผี แต่มันหมายถึงคนทรงความเชื่อ การเมือง หรือความดีต่างๆ ที่ทำให้คนเหล่านี้มีที่ยืนขึ้นมา ไม่แน่ใจว่าคือความหมายเดียวกับคนทรงของคุณไหม วิศิษฏ์: ใช่เลย ที่เราเห็นอยู่ทุกวันคือร่างทรงทั้งนั้น เขาเอาอะไรมาบอกว่า “กูมีอำนาจเหนือพวกมึง” คือเขาเป็นร่างทรงอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นจงเชื่อ ทุกคนต้องเชื่อ แล้วไม่ต้องตั้งคำถาม ใครตั้งเมื่อไหร่คือหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนที่เป็นร่างทรงไม่ต้องทำอะไรเลยก็จะมีพวกลูกศิษย์ลูกหาออกมาปกป้อง เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าคนพวกนี้เป็นคนฉลาดแล้วก็กล้า พวกเขาไม่หมดไปง่ายๆ แน่ เพราะมันมีคนอื่นที่พร้อมจะเชื่อ The People: แต่ตามสูตรหนังผี สุดท้ายผีก็ต้องโดนปราบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง แล้วถ้าเราจะสู้กับความเชื่อ - คนทรงเหล่านี้ในสังคมไทย เราจะใช้อะไรมาปราบ วิศิษฏ์: นั่นเป็นเรื่องในหนังที่ใช้ปลอบใจคนดูนะ ว่าวันหนึ่งความดีจะชนะความชั่ว แต่มันไม่มีอยู่จริง เดี๋ยวไปดูเรื่องนี้จบแล้วจะได้คำตอบบางอย่าง อย่างที่ผมบอกว่า เขาเล่นกับความกลัว เพราะฉะนั้นเขาจะเล่นไปได้เรื่อยๆ เพราะยังไงมนุษย์ก็มีความกลัว หากจับจุดได้ก็จะอยู่เป็นมหาอมตะนิรันดรกาล ถ้าแสงสว่างส่องมาถึงส่วนที่มืด เราก็จะไม่กลัวความมืด แต่เรายังอยู่ในกะลาที่ยังไม่มีรู มันก็เลยไม่มีแสงอะไรส่องลงมา เราจึงต้องต้องอยู่มืดๆ กันต่อไป หนำซ้ำบางคนยังแฮปปี้ว่าในความมืดนี่มันสุขสบายสงบ เราก็เสร็จมัน เสร็จพวกที่เอากะลาครอบเราอยู่ เรื่อง: ชาญชนะ หอมทรัพย์