'มาร์ช จุฑาวุฒิ' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

'มาร์ช จุฑาวุฒิ' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

เมื่อความรู้สึกสำคัญที่สุด บทสนทนาของ 'มาร์ช จุฑาวุฒิ' เกี่ยวกับเส้นทางการแสดงจากวันแรก จนถึงวันที่เติบโต และชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

KEY

POINTS

  • มาร์ช จุฑาวุฒิ เป็นนักแสดงที่แจ้งเกิดจาก ‘ภู’ ในซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่นซีซันแรก
  • แต่จริง ๆ แล้ว เขาเริ่มต้นจากเด็กที่หลงรักฟุตบอล และกลัวการแคสติ้ง แต่สุดท้ายกลับค้นพบความสนุกจากการแสดง
  • มาร์ชมี ‘แม่’ เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต ถึงวันนี้แม่จะไม่อยู่ แต่ความทรงจำและแนวคิดของแม่ก็ยังคงอยู่กับเขาเสมอมา

“ความรู้สึกเรามันจริงสุดละ ถ้ามันเกิดขึ้นมา ต้องดูแล อย่ามองข้ามมัน”

คือ สิ่งที่มาร์ชได้รับจากการใช้ชีวิตในวงการบันเทิงของ ‘มาร์ช’ จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล นักแสดงที่มีผลงานทั้งจอแก้วและจอเงิน

มาร์ชเริ่มเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่ชั้นมัธยมจนมาถึงวันนี้ วันที่เขาอายุเข้าเลข 3 ผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้งวันที่เขาได้สัมผัสการแสดงครั้งแรก ความฝันการเป็นนักแสดง จนถึงการสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิต

และการเผชิญกับความจริงชีวิตก็สอนเขาว่า ความรู้สึกของเรามันจริงที่สุด และต้องดูแลให้ดี

นี่คือบทสนทนาของ The People กับ มาร์ช จุฑาวุฒิ เกี่ยวกับชีวิตที่อายการแคสติ้ง จนก้าวมาเป็นนักแสดงมากความสามารถ และบทเรียนของเขาในวันที่แม่ไม่อยู่ 

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: ตอนเด็ก มาร์ชสนใจและสนุกกับเรื่องอะไรบ้าง 

มาร์ช: ผมเป็นเด็กที่ซน ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ รู้สึกว่ามันไม่สนุกเลย อย่างอื่นสนุกกว่า สิ่งที่อินมาตลอดตั้งแต่จำความได้คือ ฟุตบอล ดูมาตั้งแต่ช่วงอนุบาล 3 แล้วก็เริ่มหลงรักกีฬานี้ หลงรักลูกฟุตบอล ทุกอย่างจะผูกพันกับฟุตบอลตลอด ทั้งการเตะบอล ดูบอล เชียร์ฟุตบอล 

The People: แล้วเรื่องอื่น ๆ นอกจากฟุตบอลล่ะ

มาร์ช: การ์ตูน เราอินกับการที่เราสวมบทบาทเป็นตัวละครในการ์ตูน หลังจากที่ดูจบแล้ว เช่น สมมติตอนนั้นดู Tamiya ที่มันเป็นรถบังคับ แล้วก็อยากให้ป่าป๊า หม่าม้าซื้อ Tamiya ให้ แล้วฝึกพูดไดอะล็อกตาม เล่นตาม

The People: แสดงว่าชอบแสดง ตั้งแต่เด็ก?

มาร์ช: ไม่รู้ว่ามันคือการแสดงหรือเปล่า แต่ว่าเราสนุกกับอะไรแบบนั้น ที่เราได้จินตนาการว่าเราเป็นเหมือนพระเอก หรือตัวเอกในการ์ตูน

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: แล้วครอบครัวซัพพอร์ตเรื่องเล่นมากน้อยแค่ไหน?

มาร์ช: จริง ๆ คนที่จะค่อนข้างใกล้ชิดผมคือ หม่าม้า แต่เขาจะไม่ค่อยสนับสนุนอย่างอื่นนอกจากการเรียน คือหมายถึงว่า โอ๊ย อย่าเล่นเกมให้มันมากเลย อย่าดูบอลให้มากเลย เหมือนอยากให้เรียนหนังสือไว้ก่อน แต่ว่าเราจะไม่เหมือนพี่ชาย พี่ชายจะค่อนข้างตั้งใจเรียน แล้วก็เชื่อฟังคำสั่งหม่าม้า แต่ว่าผมจะติดเล่น ไม่ค่อยฟังหม่าม้าเท่าไหร่ 

แล้วผมก็รับรู้มาตั้งแต่เด็กตลอดว่าหม่าม้าจะเป็นห่วงผมมากกว่าพี่ชาย อาจเป็นเพราะความชอบ หรือสิ่งที่เราสนใจไม่ค่อยเกี่ยวกับการเรียนเท่าไหร่ แล้วเราก็จะไปโฟกัสตอนอาทิตย์สุดท้ายที่เวลามันบีบ ก็จะไปอ่านหนังสือ ทวนตำรา แล้วมันก็ผ่านไปได้ทุกครั้ง 

The People: จากเด็กที่ชอบฟุตบอลมาก ๆ มาจับงานแสดงได้อย่างไร 

มาร์ช: ตอน ม.3 เริ่มมีโมเดลลิ่งมาติดต่อ แล้วก็เริ่มแคสต์งาน แต่จุดเปลี่ยน คือ ตอนได้งานโฆษณาชิ้นแรก ประมาณม.4 ม.5 เราได้เงินก้อนหนึ่งมา ครึ่งหนึ่งเราแบ่งให้หม่าม้า อีกครึ่งหนึ่งเราได้เอาไปใช้ในแบบที่ต้องการ จำได้ว่าตอนนั้นอยากได้สตั๊ด รองเท้าเตะฟุตบอล ในมุมเด็กคนหนึ่ง มันเป็นแรงผลักดัน งานตรงนี้มันก็สนุกดี แล้วก็มีรายได้เข้ามาด้วย เอาไปซื้ออะไรที่เราต้องการได้ด้วย

The People: แต่ว่าการแคสต์งานแรก ๆ มันก็ไม่ได้ง่าย?

มาร์ช: ไม่ง่ายเลย กว่าจะได้โฆษณาชิ้นนั้น น่าจะประมาณตัวที่ 30 ขึ้นแน่นอน เต็มไปด้วยคราบน้ำตา แล้วก็การร้องไห้ ไม่ใช่ร้องไห้ผิดหวังว่าไม่ได้นะ ไม่อยากไป เพราะไปแต่ละที มันเขินอะ แล้วเราก็ไม่ได้มีพื้นฐานการแสดง แล้วยิ่งพอเป็นโฆษณา แอคติ้งมันจะยากกว่าปกติ คือมันต้องแบบ เห๊อะ เล่นใหญ่ แบบหู้ว อร่อยจังเลย มันเป็นอะไรที่เราไม่ได้ถนัด แล้วก็ฝังใจตั้งแต่ตอนเด็กแล้วด้วย

ลืมไปว่า แคสติ้งครั้งแรกในชีวิต คือ แฟนฉัน ตอนป.4 จนถึง ม.4 เราไม่เคยแคสต์อีกเลย เพราะฝังใจกับการแคสติ้งแฟนฉันมาก เราเขิน เราเป็นเด็กผู้ชาย เรียนชายล้วนมา แล้วไปแคสต์แต่ละทีก็ไม่ได้ เจอคนที่เขาเล่นดีกว่ามาก ๆ เลย บางทีเขาก็จับไปแคสต์พร้อมเด็กคนอื่น 3 คน เราสู้เขาไม่ได้ รู้สึกเหมือนเป็นหางแถว ไม่รู้ว่าหม่าม้าจะพาเรามาทำไม

The People: คิดว่าเหตุผลที่หม่าม้าพาเราไปแคสต์คืออะไร 

มาร์ช: นั่นน่ะสิ ผมแปลกใจเหมือนกัน คือปกติ หม่าม้าเขาจะให้โฟกัสเรื่องการเรียนมากเลย แต่ผมไม่รู้ว่า หม่าม้าเห็นอะไรในตัวผม แล้วก็เชื่อด้วยว่า เราจะไปทางนี้ได้  มันก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเหมือนกัน ถ้าไม่มีหม่าม้า ผมอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนี้ก็ได้ 

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: พอแคสต์งานโฆษณาได้แล้ว งานแสดงเข้ามาในชีวิตได้อย่างไร

มาร์ช: พอได้โฆษณาชิ้นแรกไม่นานก็ขึ้นม.6 เพราะหม่าม้าปลูกฝังเรามาตั้งแต่เด็กว่าการสอบเข้ามหาลัยฯ เป็นโค้งที่สำคัญมาก เป็นช่วงสำคัญของชีวิตมาก แล้วพอ ม.6 เราเปลี่ยนจริง ๆ นะ ผมก็ไม่เคยคิดว่าผมจะตั้งใจเรื่องการเรียนได้เท่าตอนช่วงม.6 แล้วนะ แล้วก็บอกกับหม่าม้าว่า งั้นพวกงานแคสติ้งอะไร เราหยุดหมดเลยนะ เราขอไม่เอาเลย แล้วก็มาโฟกัสกับการแอดมิชชันก่อน

จำได้เลยว่า พอสอบโอเน็ตวันสุดท้ายเสร็จ วันรุ่งขึ้นก็ไปแคสต์หนังของพี่มะเดี่ยวเลย แล้วการแคสต์ในวันนั้น ทำให้ได้เล่นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตเลย มันเป็น timing ที่แบบอะไรจะพอดีขนาดนั้น  ตอนถ่ายหนังที่เชียงใหม่ก็ยังลุ้นผลแอดมิชชันที่กองถ่ายอยู่เลย

The People:  การทำงานในศาสตร์ภาพยนตร์ สำหรับมาร์ชแตกต่างจากโฆษณาอย่างไร 

มาร์ช: ต้องให้เครดิตพี่มะเดี่ยวเลยครับ เขารู้ว่าเราใหม่มาก เขาก็จับผมไปซ้อมกับบท ซ้อมจนตัวละครมันอยู่ในร่างกายเรา จำได้เลยว่าพอไปกองถ่ายที่เชียงใหม่ ผมไม่ตื่นเต้นเลย ผมไม่ต้องถือบทสักแผ่นเดียว เพราะทุกอย่างมันอยู่ในร่างกาย ในความคิด ในกระดูกสันหลัง ในหัวใจ เราเป็นตัวละครหมดแล้ว ก็ผ่านไปได้ 

ต้องบอกว่าพี่มะเดี่ยวเป็นอาจารย์ด้านการแสดงคนแรกของผม อยากจะขอบคุณที่เชื่อในตัวผม แล้วก็ให้โอกาสผม กับการที่เด็กคนนึงที่ไม่เคยทำงานในวงการภาพยนตร์เลยแล้วเขาก็ต้องรักภาพยนตร์เรื่อง Home มาก ๆ แล้วเขาเชื่อในตัวเรา หยิบยื่นบทนั้นให้กับเรา บท ‘เน’ ก็อยากขอบคุณมาก ๆ ที่ให้โอกาส แล้วพี่ก็เป็นหนึ่งในคนที่ทำให้ผมรักการแสดงมาถึงทุกวันนี้

The People: การแสดงฝั่งภาพยนตร์ผ่านไป งานชิ้นต่อไป ก็คือ ‘ซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’ มันมีความเหมือนหรือต่างกับเรื่อง Home อย่างไร

มาร์ช: ฮอร์โมนมันมีความใกล้ตัวเรา เรื่องราวต่าง ๆ ที่มันถูกหยิบยกไป มันเกิดจากว่าการที่ทีมเขียนบทมานั่งคุยกับพวกเราทุก ๆ คนเลย รเอาเรื่องคนนู้นมาใส่ตัวละครนี้ สับกันไปมา ทำให้เรารู้สึกเหมือนผูกพันกับตัวละคร ตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่ก่อนที่มันเป็นตัวหนังสือเลย  ถ้าให้เทียบกันที่แตกต่างสุด ฮอร์โมนมันเหมือน Team Player เหมือนทีมฟุตบอลทีมหนึ่งที่ทุกคนเชื่อใจกันมาก ไว้ใจกันมาก ซัพพอร์ตกัน ผิดหวัง ก็ผิดหวังด้วยกัน โดนด่า ก็โดนด่าด้วยกัน มันผูกพันกัน แล้วเราไปเป็นทีมอะ คนหนึ่งล้ม เราไม่มีทางปล่อย เราจะดึงเขาขึ้นมา แล้วเราจะไม่มีใครวิ่งนำใคร เราจะไปวิ่งไปด้วยกัน 

เหมือนเข้าค่ายปิดเทอมฤดูร้อน จำได้ มันจะมีกิจกรรมเวิร์คช็อปอันหนึ่ง สมมติตอนนั้นฮอร์โมนมี 10 กว่าคน เขาให้แต่ละคนสุ่มไพ่มาคนละใบ ให้ยืนเรียง ห้ามพูด ได้แต่มองตากัน ห้ามพูด ห้ามส่งภาษามือ แล้วให้เปิดไพ่ออกมา แต่เขาขอให้เรียงจากน้อยไปมาก แล้วรู้ปะ 10 กว่าใบนั้นอะมันเรียงถูกต้องหมดเลย ตอนนั้นเราขนลุกไปหมดเลย โห นี่พูดแล้วแบบคิดถึงวันนั้นเลย มันซิงค์มาถึงจุดที่ มันแค่ไม่ต้องคุยกัน เรามองตากัน รู้ เข้าใจกันหมดเลย

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People:  มองกลับไป ฮอร์โมน มอบอะไรให้กับคุณบ้าง

มาร์ช: หลายอย่างมากเลย ทั้งการทำงานเป็นทีม ความผิดหวัง ความสมหวัง เรียนรู้อารมณ์ แล้วก็ ผมว่าตัวละคร ภู เป็นตัวละครหนึ่งที่ให้อะไรกับชีวิตและเส้นทางการแสดงของผม เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นจุดใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตผมด้วย

The People:  คิดว่าวันนี้ ‘ภู’ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

มาร์ช: เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขนะ เขาก็จะมีความสุขมาก ๆ กับสังคมทุกวันนี้ เพราะสังคมทุกวันนี้มันเปิดรับกับความคิดเขา กับสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น แล้วผมก็เชื่อว่าเขาจะมีความสุขมาก กับ ณ วันนั้น ตอนฮอร์โมนฉาย สังคมประเทศเรายังไม่ได้เปิดรับเรื่องความคิดที่ภูเป็นมากเท่าทุกวันนี้  จำได้เลยเขาพูดกับแม่ว่า เขาเป็นไส้เดือนเหรอ แสดงว่า ใจเขามันบอบช้ำ กับที่เขารู้สึกว่าเขาแปลกแยกออกมาจากสังคม แต่ผมว่าวันนี้เขาจะแฮปปี้

The People: พอฮอร์โมนจบลง คุณมีมุมมองต่อเส้นทางชีวิตของตัวเองอย่างไร

มาร์ช: ตอนเด็ก ๆ ผมเคยคิดว่าผมอยากเป็นนักฟุตบอลมาก เพราะว่าผมรักในกีฬาฟุตบอลมาก แล้วถ้าวันหนึ่งมันเป็นอาชีพ คือมันต้องมีรายได้ให้เราได้ด้วย แต่ว่าวันนั้นด้วยความสามารถเรา ด้วยวงการฟุตบอลเรา มันอาจจะไม่เพียงพอในการที่ผู้ใหญ่เขาจะเชื่อว่าเราสามารถเอาสิ่งนี้เป็นอาชีพได้ ความฝันนั้นของเราก็หายไป แต่โชคดีที่เราได้มารู้จักการแสดง แล้วก็รักการแสดง แล้วมันก็สร้างรายได้ เรามองว่ามันคืออาชีพของเราได้แล้ว

เราก็รู้สึกว่าเราต้องจริงจังกับเรื่องนี้ ศึกษา ตั้งใจ และพยายามกับสิ่งนี้มากขึ้น จากนั้นเราก็เปลี่ยนความคิด เราจะเล่น ๆ เหมือนฮอร์โมนไม่ได้แล้ว ฮอร์โมนมันยังเป็นฟีลแบบเป็นเพื่อน ๆ วิ่งเล่นในโรงเรียนอยู่ แต่หลังจากนั้น เรามองว่าเราต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราจะไม่ใช่เด็กที่ให้ใครมาโอ๋ในโรงเรียนแล้ว เราได้ทำงานกับคนหลากหลายมากขึ้น หลังจากนั้นเราก็จริงจังแล้วก็เต็มที่ในทุก ๆ วัน มาก ๆ 

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: สำหรับมาร์ช วันนี้การแสดงคืออะไร เป็นพื้นที่ฮีลใจไหม หรือมันคือสิ่งที่เราอยากจะทำให้สำเร็จ

มาร์ช: ผมไม่ได้มองว่ามันสำเร็จหรือไม่สำเร็จไหม แต่ผมแค่สนุกกับการที่จะได้เป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้ มันเป็นเพราะว่าตัวละครมันคือมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนมันก็มีความนึกคิด มีการเติบโตที่แตกต่างกัน แล้วทุกครั้งที่เราได้เป็นตัวละคร เราจะได้เรียนรู้ระบบความคิดของอีกคนคนหนึ่ง ว่าเขาเติบโตมายังไง เขาใช้ชีวิตมายังไง แล้วเหตุการณ์นี้ เขาจะแสดงออกออกมายังไง ซึ่งแต่ละตัวละครมันจะแตกต่างจากตัวมาร์ช

ซึ่งกลายเป็นว่าผมเข้าใจมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ผมไม่รู้ว่ามันมีคณะอะไร อย่างมนุษยวิทยาเพื่อที่จะเรียนรู้ความเข้าใจการเป็นมนุษย์ ผมว่านักแสดงมันก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ในการที่เราจะเข้าใจมนุษย์คนอื่นมากขึ้น 

The People: อย่างที่มาร์ชบอกตอนแรกว่ามาร์ชค่อนข้างที่จะสนิทกับคุณแม่ แต่วันนี้ที่เขาจากไปแล้ว คุณแม่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนการใช้ชีวิตของคุณมากแค่ไหน 

มาร์ช: จริง ๆ ตั้งแต่เด็ก หม่าม้าเป็นแรงผลักดันหลัก ๆ ในชีวิตผมทุกเรื่อง เขาจะคอยซัพพอร์ตผม เชียร์ผมอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ สอบแข่งคณิตศาสตร์ แข่งกีฬา แข่งวิ่ง หรือการทำงาน จนมาถึงทุกวันนี้ ต่อให้เขาไม่อยู่แล้ว ผมก็เชื่อว่าเขารอดู รอเชียร์ความสำเร็จผมอยู่

The People: คิดว่าตอนนี้ คุณแม่เขาหวังให้เราเป็นอย่างไร

มาร์ช: เขาอยากให้ผมสำเร็จ อยากให้ผมสุขภาพดี ได้อยู่กับคนรอบข้างที่ดี  ผมมานั่งคิดไม่นานนี้ว่า หม่ามเาเขาจะเป็นคนคอนสกรีนคนรอบข้าง  เขาจะโทร.ไปคุย ทำความรู้จักคนนู้นคนนี้ โดยที่ผมไม่รู้ตัว เขาคงอยากให้เรามีคนรอบข้างที่มีกัลยาณมิตร

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: เหมือนชีวิตของคุณจะขับเคลื่อนด้วยแรงซัพพอร์ตจากคนรอบข้างด้วย การมีคนรอบข้างที่ดี มันดีอย่างไร 

มาร์ช: ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอดนะ แต่สิ่งที่มันเป็นบทเรียนมาก ๆ เลย ผมจำได้ว่า เวลาเราเจอเรื่องผิดหวังแรง ๆ ในชีวิต อย่างตอนหม่าม้าผมเสีย มันเป็นการสูญเสียที่ยากที่จะรับมือที่สุดในชีวิตแล้ว แต่ถ้าไม่มีคนรอบข้างที่ดี คอยพยุงผมขึ้นมา ผมอาจจะลุก แล้ววันนี้ยังไม่ลุกเลยก็ได้ ผมโชคดีมาก ๆ เลย คือถ้าไม่มีพวกเขานี่ ผมกลับมาไม่ได้แบบนี้

มันมีเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่เด็ก ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราจะต้องจัดงานศพ ทำไมเราจะต้องมานั่งดูศพ มันเศร้า เรามาเคารพเขา มันก็ควรจะแปปเดียว ทำไมมันต้องจัด 5 วัน 7 วัน ส่วนหนึ่งคือจัดให้เพื่อเป็นเกียรติแล้วก็อาลัยกับคนที่เสียไป แต่ผมว่าอีกส่วนหนึ่ง คือ เขาจัดมาให้สำหรับคนที่ยังอยู่ เขาต้องการกำลังใจ แล้วพลังที่เขามาร่วมงาน อาจจะคนละเล็กคนละน้อย แต่พอมันมารวมกัน มันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก 

ตอนผมจัดงานหม่าม้า วันแรกผมแย่มากเลย ตอนเคลื่อนย้ายศพไปที่วัด แต่พองานวันที่ 1 ผ่านไป วันที่ 2 คนมาหลายร้อย มันส่งพลังมาให้เรา โห สุดท้ายมันแข็งแรงขึ้นจริง ๆ นะ อยากจะขอบคุณพวกเขาทุก ๆ คนเลยที่เสียสละเวลามาเจอผมวันนั้น

The People:  มักมีคำพูดว่า ‘คนที่เขาเสียไป ไม่รู้หรอก แต่ความรู้สึกกับความทรงจำมันยังอยู่กับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ ’ คุณมีความเห็นกับคำพูดนี้อย่างไร  

มาร์ช: ผมเชื่อมาก ๆ เลย ผมคิดว่ามันเป็นบทเรียนสุดท้ายที่หม่าม้าเขาฝากไว้กับผม คือหม่าม้า เขาเป็นคนพลังบวกมาก คิดดีกับคนอื่น ตอนเขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขายังไปโรงพยาบาลจัดการให้เพื่อนพี่ชายผมผ่าตัดหัวใจ ทั้งที่เขาก็รู้ว่าร่างกายไม่ได้แข็งแรงมาก คือเขาใช้ชีวิตด้วยความหวังดี แล้วก็ให้คนอื่นเสมอ

แล้วพอวันที่เขาไม่อยู่ ความดีที่เขาทำมันยังอยู่ อยู่จริง ๆ นะ ทุกวันนี้ผ่านไป 3-4 ปี ยังมีคนมาพูด มาแชร์ให้ผมฟังว่าหม่าม้าเคยทำอะไรให้เขา หม่าม้าแม่งเท่มากเลยว่ะ แล้วก็.. เราอยากจะเป็นแบบคนคนนี้

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: นอกจากการมีคนรอบข้างที่ดี คุณก็ใช้ชีวิตด้วยการตั้งเป้าหมาย อยากรู้ว่าเป้าหมายเล็กและใหญ่ในวันนี้ของคุณคืออะไร 

มาร์ช: เป้าหมายเล็กก่อน ทุกวันนี้ผมทำออฟฟิศเป็นโปรดักชันชื่อ ‘มีนาคม’ ซึ่งก็มีน้อง ๆ ในออฟฟิศประมาณเกือบ 10 ชีวิต เราก็เห็นว่ามีนาคม มี potential เราก็อยากจะเห็นน้อง ๆ กลุ่มนี้ที่เติบโตมากับเราเติบโตไปพร้อมองค์กร เขาก็คงอยากมีการเติบโตในเส้นทางของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราต้องแบกรับองค์กรของเราให้ไปข้างหน้าได้ในแบบที่โตทันเขา

The People: ส่วนเป้าหมายใหญ่?

มาร์ช: เป้าหมายใหญ่ในชีวิตเหรอ หลัง ๆ ชอบมีคนถามอันนี้นะ แต่ไม่รู้เรียกว่าใหญ่สำหรับคนอื่นไหม แต่สำหรับผม เรามีชีวิตที่ลงตัว มีความสุข ทุกวันนี้ผมแฮปปี้นะ ทั้งงาน ทั้งเพื่อน ๆ ทั้งการใช้ชีวิต ทุก ๆ อย่าง ทุกวันนี้มันลงตัวอยู่แล้ว ผมแค่ก็อยากมีสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แล้วก็อาจจะมีครอบครัวที่อบอุ่นในอนาคต

The People: ชีวิตที่ลงตัวเป็นอย่างไร 

มาร์ช: เราใช้ชีวิตด้วยความสนุก สนุกกับการทำงาน แล้ววันนี้เรานัดกับเพื่อน ก็สนุกกับเพื่อน วันนี้เรามีตารางไปออกกำลังกาย เราก็สนุกกับมัน ไม่ไปอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเยอะเกิน ผมเคยอยู่กับเรื่องงานเยอะเกิน งานเราก็ดีจริงนะ มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ แต่เรื่องอื่นมันหายไป ให้เวลาเพื่อนน้อยไป ให้เวลาครอบครัวน้อยไป สุขภาพเราก็ไม่ค่อยได้ดูแล ทุกวันนี้มันเหมือนกำลังกลมกล่อม ก็อยากให้มีสิ่งนี้ต่อไป

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: คุณมีวิธีสร้างบาลานซ์เรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างไร 

มาร์ช: ไม่ได้ถึงขั้นจัดตารางนะครับ ที่ผ่านมา พอมีความรู้สึกของตัวเองแบบนี้ขึ้นมาในใจเรา เรามองข้ามมันไป เห้ย ทำงานก่อนดิ เราจริงจังกับงานก่อนดิ  แต่เดี๋ยวนี้พอมีอะไรแว้บขึ้นมา ผมเชื่อในความรู้สึกที่อยากทำของผมมาก มันเรียกว่าสัญชาตญาณเหรอ วันนี้อยากทำงานตรงนี้ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเลย ผมไม่เคยมองข้าม ต้องหาสล็อตไปออกกำลังกาย เพื่อนกลุ่มนี้เราไม่ค่อยได้เจอเลยเนอะ เราต้องหาสล็อตไปเจอหน่อย

เหมือนไม่ทิ้งความรู้สึกตัวเอง เพราะความรู้สึกเรามันจริงสุดละ ถ้ามันเกิดขึ้นมา ต้องดูแล อย่ามองข้ามมัน

The People: คุณเคยบอกว่า วันนี้อยากลองไปแคสต์งาน โดยไม่ต้องคิดว่าเป็น ‘มาร์ช จุฑาวุฒิ’ แต่เป็นนักแสดงคนหนึ่ง แนวคิดนี้มันเกิดขึ้นมาตอนไหน

มาร์ช: ผมเชื่อว่า ผู้กำกับหรือทีมที่เป็นโปรดักชัน เขาก็อยากได้คนที่มันตรงตามคาแร็กเตอร์ของตัวละครมากที่สุด บางทีเราทำงานมาพักหนึ่ง คนก็รู้จักว่าผมเป็นมาร์ช จุฑาวุฒิ บางทีก็จะไม่ได้ติดต่อให้ไปแคสต์ เพราะเกรงใจ หรือกลัวเรารู้สึกไม่ comfort ถ้าต้องไปแคสต์ แต่ผมจะบอกว่าผมยินดีมาก ๆ แล้วก็อยากไปแคสต์ เพราะเราก็อยากเป็นตัวละครที่ตรงกับภาพในหัวของผู้กำกับมากที่สุด 

The People: ไม่กลัวการแคสต์แล้ว? 

มาร์ช: ไม่กลัวแล้ว เหมือนมุมมองเราเปลี่ยนไป เข้าใจการทำงานมากขึ้นว่า จริง ๆ แล้วการแคสติ้งมันมีไว้เพื่ออะไร เพื่อให้ผู้กำกับเห็นภาพว่า คนคนนี้เป็นตัวละครในแบบที่เขาต้องการได้ไหม อีกแบบหนึ่งมันก็คือโอกาสของฝั่งนักแสดงที่จะได้ลอง ได้ลองเป็นตัวละครตัวนี้ ได้ไปโชว์หน้ากล้อง เหมือน win-win ทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนให้โอกาสนักแสดง แล้วก็ให้โอกาสผู้กำกับก่อนที่เขาจะเลือกด้วย

The People: คุณคิดว่าการแสดงมอบบทเรียนอะไรให้กับคุณบ้าง 

มาร์ช: ถ้ามองเป็นเรื่องการทำงาน มันก็เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เหมือนเราต้องเคารพกัน งานเรื่องหนึ่งมันจะสำเร็จออกมาได้ มันไม่ได้มีแค่นักแสดงอย่างเดียว นักแสดงเป็นแค่เบื้องหน้า เบื้องหลัง ทีมมันมีอะไรที่สำคัญมากกว่านั้นเยอะ ตากล้อง ทีมงาน ทีมไฟ ทีมพร็อบ ทุกอย่างมันสำคัญหมด ซึ่งเราต้องรับผิดชอบหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพราะแต่ละคนเขาก็จะพยายามรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด แล้วเราทำผลงานศิลปะชิ้นนี้ด้วยกัน 

\'มาร์ช จุฑาวุฒิ\' บทเรียนดูแลหัวใจ ในวันที่ชีวิตสอนให้ไม่มองข้ามความรู้สึกตัวเอง

The People: ความสุขของมาร์ช จุฑาวุฒิวันนี้คืออะไร

มาร์ช: ความสุขของผมทุกวันนี้ เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันไม่ได้แบบว่า  ฉันเพิ่งซื้อรถใหม่มา ฉันพึ่งได้นาฬิกาเรือนนี้มา ไม่ใช่ มันลงตัว แล้วทุกวันนี้มันกำลังดีอยู่นะ ผมไม่รู้ว่าความกำลังดีนี้จะอยู่กับผมได้นานแค่ไหน แต่ว่าผมกำลังแฮปปี้กับมันอยู่ แล้วถ้าวันหนึ่งมันมีเรื่องที่สะดุดไป ตกร่องไป ผมก็จะรู้สึกว่าเป็นความสนุกอีกแบบหนึ่งอยู่ดี ก็ดูให้เราได้แก้ปัญหาดี แล้วผมก็เชื่อว่า การแก้ปัญหานี้มันจะให้อะไรเราสักอย่างแน่นอน

เด็ก ๆ เราจะเป็นคนที่รู้สึกว่า พอมีปัญหาเราจะเริ่มวิ่งหนีละ เหมือนป่ะป๊าเดินมาด่าเรื่องนี้ เราวิ่งหนีเลย นั่นคือการแก้ปัญหาของเรา แต่สุดท้าย พอเราได้ทำงาน โตขึ้นมามากขึ้น เรารู้สึกว่า มีปัญหา มันคือเรื่องที่ถูกต้องเลยนะ เพราะปัญหามันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ปัญหามันเกิดขึ้นมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ แล้วก็ไม่ให้เกิดปัญหานั้นอีก

รู้สึกว่ามีปัญหาคือดี อย่างน้อข้อบกพร่องมันแสดงออกมาแล้ว เรารู้วิธีไปอุดมัน อย่างน้อยน้ำไม่รั่วหมดถัง 

The People: พูดถึงเรื่องหนัง ‘เทอม 3’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด เป็นหนังที่กำลังเล่าเรื่องอะไร 

มาร์ช: มันเป็นเรื่องราว เรื่องเล่า ที่มันเป็นตำนานในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น  คนไทยแทบจะทุกคนแหละเคยได้ยินเรื่องเล่านี้มาใน 3 มหาวิทยาลัยที่เราเลือกมา เรียบเรียงเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘เทอม 3’ เชื่อว่าคนดู เข้าไปดู แล้วจะรู้แหละว่า อ๋อ จากมหาวิทยาลัยนี้ เอามาร้อยเรียงกันใน 3 รสชาติ ผ่าน 4 ผู้กำกับครับ

The People: ตัวละครในเรื่องเหมือนหรือต่างจากคุณอย่างไรบ้าง

มาร์ช: ในเรื่องผมชื่อวาฬ มันมีความคล้ายในแง่ว่า ‘วาฬ’ เป็นคนที่คิดอะไรก็อยากจะพูดออกมา แล้วผมก็เป็นคนที่เชื่อแบบนั้นว่า คิดอะไรแล้วต้องพูด เราต้องแสดงออก ไม่งั้นคนอื่นเขาเดาใจเราไม่ได้เลย คือบางทีในการทำงาน เราคิดอะไรอยู่ แต่เราไม่พูดออกมา เพื่อนร่วมงานไม่รู้จริง ๆ นะครับ หรือมีน้อง ๆ ในออฟฟิศผม ผมก็พยายามบอกเขาตลอดว่ามีอะไรก็ต้องพูด ไม่งั้นเราไม่รู้ ซึ่งวาฬเป็นอย่างนั้น เป็นข้อดีของเขาที่เรารู้สึกว่าเรามีอะไรเหมือนเขา แต่ว่ามันก็จะมีความแตกต่างอยู่ วาฬจะมีความเอเนอร์จี้แบบ เป็นเด็กปี 1 มีความโผงผางกว่า คิดอะไรก็แสดงออกมาเลย

The People: ไฮไลท์สำคัญของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

มาร์ช: อยากอุบไว้ก่อน แต่ว่า (หัวเราะ) ตัวละครผม ชื่อ ‘วาฬ’  สิ่งที่วาฬไปเจอ  คือ เขาไปเจอศาลที่ล่องหน คือผีที่เรามองไม่เห็น แต่เราอยากเจอเขานะ เพื่อที่จะได้แก้ไขอะไรบางอย่าง มันก็กลายเป็นแบบเหมือนกลับเรื่องกันอะ แล้วเรื่องราวที่มันสนุกคือ ในพาร์ทผม ผมเรียนคณะศิลปกรรม แล้วมันจัดคืนฮาโลวีน แล้วทุกคนก็แต่งตัวเป็นธีมงาน แต่งตัวผีมาร่วมงานฮาโลวีน แต่เราดันเจอผีในคืนฮาโลวีนที่ทุกคนแต่งตัวเป็นผี เราเลยแยกไม่ออกว่าใครเป็นผี ใครเป็นคน

The People: อยากให้ฝากถึงภาพยนตร์ ‘เทอม 3’

มาร์ช: ครับก็ ยังไงฝากด้วยนะครับ ภาพยนตร์ เทอม 3 ครับ เป็นตำนานสยองขวัญเกี่ยวกับเรื่องเล่าในมหาวิทยาลัย ที่เราเอามาเรียบเรียงกัน แล้วพอจากเรื่องเล่ามันกลายมาเป็นภาพยนตร์ มันมีความน่ากลัว มีความหลอน แล้วก็จะให้คนดูได้ซึมซับ 3 เรื่อง 3 รสชาติ ยังไงก็อยากให้ไปพิสูจน์กันครับ

ภาพ: พิชญุตม์ คชารักษ์