ดรสะรณ โกวิทวณิชชา : ขอบฟ้าใหม่ของเทศกาลและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

ดรสะรณ โกวิทวณิชชา : ขอบฟ้าใหม่ของเทศกาลและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

บทสัมภาษณ์ ‘ดรสะรณ โกวิทวณิชชา’ ผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok คนปัจจุบันกับมุมมองต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และ World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 16 ที่มาพร้อมกับธีม New Horizons

ภาพยนตร์คือสื่อที่มีพลังในการพาเราท่องไปยังโลกใบใหม่ เปิดมุมมองที่เราอาจไม่เคยนึกถึง และสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง สิ่งนี้ถือเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์ที่ทำให้มันเติบโตและได้รับความนิยมทั่วทั้งโลกตลอดมา แต่โอกาสที่เราจะได้สัมผัสกับภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วทุกมุมโลกนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ‘เทศกาลภาพยนตร์’ จึงกลายเป็นศูนย์รวมสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนอย่างเรา ๆ ได้ชมภาพยนตร์จากมุมอื่นของโลกใบนี้

ในปีนี้ ‘World Film Festival of Bangkok’ เทศกาลภาพยนตร์ที่ได้มัดรวมภาพยนตร์ที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก ครั้งที่ 16 ก็ได้กำลังจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี ระหว่างวันที่ 7 - 17 พ.ย.นี้ ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับธีม ‘New Horizons’ หรือ ‘ขอบฟ้าใหม่’ ซึ่งสัญญาว่าจะพาผู้ชมไปสำรวจโลกของภาพยนตร์ที่กว้างไกลกว่าที่เคย แต่อะไรคือแรงบันดาลใจเบื้องหลังเทศกาลนี้? และทำไมมันถึงมีความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทย?

ดรสะรณ โกวิทวณิชชา : ขอบฟ้าใหม่ของเทศกาลและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

เพื่อไขข้อสงสัยเหล่านี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ดรสะรณ โกวิทวณิชชา’ ผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok คนปัจจุบัน ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังการคัดสรรภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วโลกมาให้ผู้ชมชาวไทยได้สัมผัส ในบทสัมภาษณ์นี้ ดรสะรณ จะพาเราไปสำรวจโลกของภาพยนตร์ผ่านสามมุมมองหลัก: ภาพยนตร์ในความทรงจำ, สถานการณ์ปัจจุบันของวงการหนังไทย และบทบาทสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

ภาพยนตร์และความทรงจำ

The People : ในฐานะ Festival Director ที่มีหน้าที่ในการคัดสรรภาพยนตร์มากมายทั่วทั้งโลกมานำแสดงก็แปลว่าต้องดูภาพยนตร์เยอะมาก ๆ หากย้อนไปในความทรงจำ พอจะจำได้ไหมว่าเป็นหนังเรื่องไหนที่ทำให้เรารู้สึกหลงใหลในการดูภาพยนตร์?

ดรสะรณ : ยากนะ เพราะว่าจริง ๆ เป็นคนที่ดูหนังทุกอย่าง ดูตั้งแต่หนังอนิเมชั่น ดูหนังคนแสดง เลยพูดยากว่ามันคือเรื่องอะไร  ถ้าย้อนกลับไป สมัยก่อนเนี่ยมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีโรหนังอาร์ทเฮาส์ สมัยก่อนไม่มี เพราะฉะนั้นหมายความว่า เมื่อย้อนไปประมาณสักแบบ 30 ปีที่แล้ว หรือแม้กระทั่ง 20 กว่าปีที่แล้วเนี่ย เราต้องดูหนังจากวิดีโอ ซึ่งมีทั้งวีดีโอที่เป็นวิดีโอลิขสิทธิ์รวมไปถึงวิดีโอผี

ในเวลานั้น ปกติก็เป็นคนดูหนังทั่วไปคือดูตั้งแต่หนังที่มาจากวีดีโอลิขสิทธิ์ ซึ่งมาจากศูนย์เช่าวีดีโอที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้นเพราะว่าในโรงภาพยนตร์ตอนนั้นเนี่ยมันค่อนข้างที่จะจํากัด เรามีหนังไม่กี่แบบที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ จะมีแค่หนังไทย หนังฮ่องกง หนังฮอลลีวูด มันจะมีตัวเลือกแค่นี้ 

แต่จําได้ว่ามันจะมีจุดนึงที่เรารู้สึกว่าเออเราอ่านหนังสือหนังแล้วเราเห็นว่ามันมีหนังที่แตกต่างออกไปเพราะฉะนั้นเป็นจุดที่เราเริ่มหาดู เราคิดว่าถ้าเริ่มจริงจริงนึกถึงตอนนั้นเนี่ยจําได้เลยว่าเคยไปหาวิดีโอเรื่อง Seven Samurai (1954) ซึ่งเป็นหนังที่ทุกวันนี้อาจจะรู้สึกว่า มันก็มีช่องทางดู แต่ว่าถ้ามองย้อนไปในเวลานั้นน่ะ มันไม่มีให้ดูทั่วไป มันจะมีแค่เป็น ตามร้านเช่าเลเซอร์ดิสก์

 

The People: : ประทับอะไรใน Seven Samurai?

ดรสะรณ : มันเป็นหนังที่ดูแล้วสนุก ตื่นเต้น ไปทั้งเรื่อง มองย้อนไปในเวลานั้น เรารู้สึกว่าดูแล้วไม่เบื่อเลย อันนี้พูดถึงความรู้สึกที่ดูในตอนนั้นนะ อย่างตอนนี้เราแก่ลงแล้ว ถ้าเรากลับไปดูเราจะรู้สึกกับมันอีกแบบหนึ่ง 

 

The People : คุณมีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ยกให้เป็น All-Time Favorite บ้างไหม?

ดรสะรณ : จริง ๆ ไม่เลือกนะ ปกติจะไม่ใช่คนที่เลือกเพราะว่าเวลาดูเยอะ เราจะเลือกไม่ได้ หนังเรื่องหนึ่งเราอาจจะชอบในวันนี้ แต่ในอนาคตเราอาจจะไม่ชอบก็ได้  คือความคิดเรามันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราเลยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าเป็น  All-Time Favorite มีแค่หนังที่ดูแล้วรู้สึกว่าชอบในช่วงเวลานั้น ๆ เพราะว่าหนังมันมีเยอะมันมีหลากหลาย ไม่ได้รู้สึกว่าอยากไปเปรียบเทียบมันเท่าไหร่ ว่าเราชอบอันไหนมาก-น้อยกว่ากัน

 

The People : ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มุมมองเวลาดูหนังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

ดรสะรณ : ย้อนกลับไปตอนเด็ก ๆ เราจะคิดอีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้มีวุฒิภาวะหรือมีประสบการณ์ชีวิตมากขนาดนั้น แต่พอมาตอนนี้ เราคิดว่าเราเห็นอะไรมามากขึ้น แล้วบางอย่างที่เราเคยไม่เข้าใจ มาวันนี้ มันอาจจะเกิดสิ่งที่ประสบกับตัวเองหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทำให้เราเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น

 

วงการภาพยนตร์ไทย

The People : ตอนนี้มองว่าภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

ดรสะรณ : หนังไทยมันจะเป็นวัฎจักร มันจะมีขึ้นมีลง ตอนนี้เราคิดว่ามันกลับสู่ในจุดที่ดีขึ้น  จากจุดที่อย่างช่วงโควิดหรือว่าช่วงที่รู้สึกว่าคนไปดูหนังสตรีมมิ่ง แต่ว่าอย่างปีนี้ เราเห็นว่าอ่ะมันมีหนังอย่างหลานม่า วิมานหนาม ซึ่งก็ทําโดยผู้กํากับที่เป็นคนรุ่นใหม่ เรารู้สึกว่า มันได้เห็นว่าที่จริงมันคือวัฏจักรอย่างหนึ่ง

 

The People : ช่วงขาขึ้นที่เราเห็นสะท้อนจุดแข็งอะไรในภาพยนตร์ไทยบ้าง?

ดรสะรณ : เทียบกับในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกันนะ เราคิดว่าเมืองไทยยังมีเรื่องราวและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่จะให้เล่าออกมาได้มาก เรามีวัตถุดิบอยู่ และเราว่าคนทําหนังเราก็มีอยู่ เราคิดว่าเมืองไทยมีความพร้อมในจุดนี้อยู่   ซึ่งมันก็น่าจะเป็นจุดที่พอมันถูกที่ถูกจังหวะ มันก็ตามมันก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี

 

The People : แล้วพอมันถึงขาขึ้นอย่างนี้แล้ว คำถามคือจะทำอย่างไรให้มันขึ้นอย่างยั่งยืนแบบนี้ต่อไป?

ดรสะรณ : มันต้องมีความต่อเนื่อง หมายความว่าปัญหาของวงการหนังไทยที่เห็นมาเลยคือมันขึ้นแล้วบางทีมันก็จะลง เช่นบางทีมันลงเพราะบางทีอาจจะเพราะทําในสิ่งซ้ํา ๆ เดิม ๆ เหมือนทํา อันนี้ดังแล้วก็ทําแบบนี้ เหมือนเซฟตัวเองมากไป มันก็เลยมีหลายเหตุผล 

นอกจากนั้นก็ควรมีระบบการสนับสนุน ช่วยผลักดัน เพราะว่าธุรกิจหนังมันเป็นธุรกิจมีความเสี่ยงอยู่แล้วเราคิดว่ามันควรจะมีการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะคนที่ทําหนังที่เป็นเป็นรุ่นใหม่ ๆ เพราะเขาก็ต้องเติบโตต่อไป ทุกวันนี้เด็กเรียนหนังเยอะ เขาจะมีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถที่เขามี

สมมติเรามองอย่างเกาหลีใต้ เราจะเห็นภาพตรงเขาก็มีกันอัดฉีดค่อนข้างจะเยอะ มองย้อนไปสมัย 20 กว่าปีก่อน ประมาณปี 1999 หนังเกาหลีเป็นของแปลกนะ หาดูยาก บางทีคนไม่รู้ด้วยซ้ําว่ามีหนังเกาหลี เราคิดว่าการเข้ามาสนับสนุนของภาครัฐซึ่งมันต้องสนับสนุนอย่างถูกวิธีด้วย รวมถึงภาคเอกชนก็ต้องรู้วิธีที่จะทําอย่างถูกวิธีด้วย เมื่อมันรวมกันในสองด้าน มันก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

มองย้อนไปเวลาเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น วันนี้กลายเป็นว่าหนังและซีรีส์เกาหลีเป็นของปกติไปแล้ว

 

The People : หนังไทยจะไปออกสการ์ได้ไหม?

ดรสะรณ : ตอบเป็นสองแบบนะครับ คือหนึ่ง เราไม่ได้ถึงขั้นว่ามองว่าออสการ์เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถ้าถามว่ามันสําคัญไหม มันก็สําคัญ เพราะว่าออสการ์ก็คือรางวัลรางวัลหนังของหนังอเมริกัน มันไม่ใช่รางวัลหนังนานาชาติ แต่การที่หนังต่างประเทศได้รับรางวัลออสการ์หมายถึงหนังเรื่องนั้นได้รับการยอมรับจากอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหนังที่สําคัญมาก ปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้  

ถามว่าทําได้ไหมมันก็ต้องอยู่ที่ตัวหนัง ว่าพร้อมที่จะไปถึงตรงนั้นหรือเปล่า แล้วก็สองก็คืออยู่ที่สิ่งแวดล้อมที่จะผลักดันให้ไปถึงนั้นได้หรือเปล่ามันมีสองอย่าง

 

ขอบฟ้าใหม่ของเทศกาลภาพยนตร์

The People : คุณมองว่าเทศกาลภาพยนตร์มีความสำคัญอย่างไรต่อภาพยนตร์ของประเทศนั้น ๆ?

 

เทศกาลภาพยนตร์เป็นเหมือนกลไกหนึ่ง

มากกว่าการเอาหนังมาฉาย

 

ดรสะรณ : เทศกาลภาพยนตร์เป็นเหมือนกลไกหนึ่งที่มากกว่าการเอาหนังมาฉายมันเป็นมันเป็นกลไกที่มีส่วนเป็นกลไกนึงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย เป็นกลไกที่อยู่ระหว่างศิลปะภาพยนตร์กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์

หมายความว่าตัวของมันเองอาจจะไม่ใช่แค่การฉายเฉย ๆ เพราะมันก็ทําให้คนได้เห็นอะไรที่มันแตกต่างออกไป เพราะว่าคอนเทนต์ในโลกมันก็มีเยอะแยะ เทศกาลภาพยนตร์จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่คอนเทนต์เหล่านั้นมาตั้งให้เห็นว่ามันมีอะไรแบนี้เกิดขึ้นบนโลก

 

The People : นำอะไรที่แปลกใหม่มานำเสนอให้กับผู้คน?

ดรสะรณ : เราไม่เรียกว่าแปลกใหม่นะ สําหรับมุมมองมุมที่เราทํา เราคิดว่าเราฉายหนังที่ดี แม้ว่านิยามของคําว่าดีมันก็จะแตกต่างกันออกไป การมีเทศกาลอาจจะเลือกฉายสักเรื่องมันก็อาจจะมีเหตุผลอย่างอื่นด้วยก็ได้ แต่ว่าเราคิดว่าเราพยายามฉายหนังที่ดีให้คนได้เห็น

แต่ว่าเทศกาลภาพยนตร์ยังมีหน้าที่อย่างอื่นอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่นหน้าที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งอันนั้นก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของมัน  เช่นบางเทศกาลจะจัดกิจกรรมอย่างอื่นด้วยก็ได้ บางแห่งให้ทุนทําหนังด้วยก็ได้ เทศกาลภาพยนตร์บางแห่งจัดเวิร์คช็อปอบรมคนทําหนังก็ทําได้ หลายอย่างในร่มเงาเดียวกันซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งหมดก็คือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์

 

มันคืออุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

นั่นคือหน้าที่ของเทศกาลภาพยนตร์

 

The People : อะไรคือเกณฑ์ในการคัดเลือกภาพยนนตร์มาฉาย?

ดรสะรณ : อย่างน้อยที่สุดเราต้องชอบมัน อย่างน้อยเราต้องเห็นอะไรบางอย่าง เราถึงเลือก คือไม่ใช่แบบว่าฉายอะไรก็ได้

 

The People : แล้วสำหรับงาน World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 16 ที่กำลังจะกลับมาในช่วงปลายปีนี้ มีอะไรพิเศษบ้าง?

ดรสะรณ : ในครั้งนี้เรากลับมากับธีม ‘New Horizons’ หรือ ‘ขอบฟ้าใหม่’ เราคิดว่าอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่เราพยายามสื่อถึงการก้าวไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่จะทําต่อไปในอนาคต

 

The People : คาดหวังอะไรจากงานนี้บ้าง?

ดรสะรณ : เราคิดว่าอย่างน้อยก็ให้คนได้เห็นว่ามันมีหนังอย่างนี้อยู่ในวงการภาพยนตร์โลก ซึ่งหลายเรื่องเราคิดว่ามันก็เป็นหนังที่ไม่ได้เข้าฉายในไทยเลยก็ได้ มันจะทำให้คนได้เห็นหนังหลาย ๆ แบบ

เราคิดว่าความพิเศษเราพยายามเสนอสิ่งที่มันเชื่อมโยงกับโลกทุกวันนี้ มันมีหลายอย่างเกิดขึ้นในหลายหลายมุมโลกในหลายหลายมุมของโลก เราคิดว่าเออมันมี หนังที่มาฉายก็จะสะท้อนถึงสถาการณ์เหล่านั้น

 

The People : อะไรคือความท้าทายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เฝ้ารอเราอยู่ข้างหน้า?

ดรสะรณ : คืออุปสรรคมันก็มีมาสักระยะแล้ว คนยังมองว่าสตรีมมิ่งจะแทนที่การชมภาพยนตร์ดั้งเดิมรึเปล่า แต่เราคิดว่าอาจจะยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะภาพยนตร์เราเชื่อว่ามันมันก็ยังมีอะไรบางอย่าง มันยังมีเสน่ห์ในตัวของมัน ในการที่เราไปชมภาพยนตร์ในโรง บางอย่างถึงเราชมที่บ้านมันก็อาจจะรู้สึกไม่เหมือนกับเราชมที่โรงภาพยนตร์

 

การชมภาพยนตร์ในโรง มันทั้งภาพและเสียง

มันเป็นประสบการณ์ซึ่งอาจจะ

ไม่เหมือนกับว่าเราเปิดดูหนังจากแล็ปท็อปที่บ้าน

 

The People : ในอนาคตเวลาเราคิดถึงการสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง เราต้องคิดเผื่อการส่งออกด้วยไหม?

ดรสะรณ : เราต้องคิดว่าทำให้ดีก่อน เพราะว่าการส่งออกมันต้องส่งของดีออกไป ไม่ใช่ว่าส่งอะไรก็ได้ ถ้าเราคิดว่าเราทำเพื่อส่งออก ถ้าเราขายของ เราบอกว่าเออเราอยากส่งออก แต่ของเราไม่ดีอ่ะ เขาก็คงไม่ซื้อหรือเปล่า 

เพราะเราเชื่อว่าความดีบางอย่างมันเป็นเรื่อง universal คนดูแล้วมันจะรู้สึกได้ว่ามันดี อย่างน้อยคนดูเขาต้องรู้สึกว่าคนทำตั้งใจทำ เพราะว่าคนดูรู้นะ แล้วจากนั้นมันอาจจะอยู่ที่ว่าเราจะผลักดันคอนเทนต์นี้อย่างไร เพราะเรามีของดี มันเหมือนมันเหมือนขายของ เรามีของดี แต่ถ้าเราขายไม่เป็น

มันก็คงขายไม่ออกเหมือนกัน มันต้องมีทั้งสองอย่าง มันเป็นสองสิ่งที่ต้องทำ