25 พ.ค. 2562 | 12:44 น.
ดู๋-สัญญา คุณากร หลายคนรู้จักกันดีในฐานะพิธีกรเบอร์ต้น ๆ ของการทีวี กับภาพลักษณ์ของผู้ชายอารมณ์ดี มองโลกแง่มุม มีแง่มุมแหลมคมน่าสนใจ แต่อีกมุมหนึ่งเขาคือ perfectionist คนทำงานหนักที่อยากให้งานออกมาดี ระดับที่ว่า การทำรายการสัมภาษณ์ใครสักคนหนึ่ง จะลงมาเช็คข้อมูลในเชิงลึก เช็คข้อมูลเองอย่างละเอียด จนไม่น่าแปลกใจว่าในวันที่วงการโทรทัศน์กำลังถูก Disrupt อย่างหนัก แต่รายการ “เจาะใจ” ที่อยู่คู่จอทีวีไทยมากกว่า 20 ปี ก็ยังต่อสู้ยืนหยัดที่จะเป็นรายการคุณภาพคู่จอทีวีอยู่ นอกจากงานทีวีแล้ว พื้นที่ที่ผลักดันให้สัญญา คุณากรเป็นที่รู้จักของทุกคน จุดเริ่มต้นมาจากการเล่นละคอนคณะ 'ถาปัด จุฬาฯ ที่สร้างสีสันในวงการละคอนมาหลายสิบปี ล่าสุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดละคอนเสิร์ต ครบเด็กสร้างบ้าน ตอน Anti-Aging ต่างวัยใจเดียว ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยที่สัญญา คุณากร ได้กลับมาเล่นละคอนเวทีอีกครั้งในรอบ 14 ปี (รอบที่แล้วเป็นละคอนเวที ครบเด็กสร้างบ้าน ภาคที่ 1) อะไรคือมนตร์เสน่ห์ของละคอน 'ถาปัด จุฬาฯ? ความทรงจำที่มีต่อ 'ถาปัด จุฬาฯ เป็นแบบไหน? วิธีคิดแบบ 'ถาปัด มีอิทธิพลต่อการทำงานอย่างไร? และควรทำงานหนักแบบไหนในโลกสื่อทีวียุคนี้? นี่คือบทสนทนาระหว่างสัญญา คุณากรกับ The People The People: เล่าถึงความทรงจำสมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สัญญา: โห เยอะ คือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วตอนผมยังอยู่คณะนี้ เกือบ 30 ปีแล้วสิ 30 ปีแล้ว เป็นคณะที่จำนวนคนน้อย คือในรุ่นหนึ่ง รุ่นผมมีประมาณสัก 90 คน ไม่น่าจะเกิน 100 คน ทั้งชั้นปีเลยนะ 3 ภาควิชา แต่เป็นคณะที่มีกิจกรรมเยอะ กิจกรรมของคณะ หมายถึงว่ากิจกรรมการเรียนก็เยอะ ต้องทำโปรเจกต์ ต้องเรียนทั้งวิชาการ ทำโปรเจกต์ส่งอาจารย์ แล้วก็กิจกรรมที่มันไม่ใช่เรื่องการเรียนก็เยอะ เรามีค่ายแล้ว เรามีกีฬารักบี้ ซึ่งเกิดมาก็ไม่เคยเล่น ก็มาเล่นที่นี่เพราะมันเป็นเหมือนประเพณีที่พี่ ๆ เขาก็จะกลับมาสอนทุกเย็น เหมือนคุณครูประจำเลย แต่เป็นรุ่นพี่ที่จบไปแล้วก็มาสอน คราวนี้ความที่แต่ละชั้นปีมันมีคนน้อย สมมติโรงเรียนสมัยผมเรียนมัธยม โรงเรียนมันใหญ่ คนเยอะ อย่างสวนกุหลาบอย่างนี้ ชมรมนี้ ๆ ดุริยางค์ วิทยาศาสตร์ อังกฤษ คนที่อยู่ชมรมก็จะไม่ซ้ำ แต่ของเรา จำนวนคนชั้นปีน้อย พอมาอยู่ 'ถาปัด ก็คือไอ้คนเล่นรักบี้ก็พวกนี้แหละ ไอ้คนทำละคอนก็พวกนี้แหละ ไอ้คนไปค่ายก็พวกนี้แหละ ไอ้คนที่ต้องเรียนหนังสือก็พวกนี้แหละ มันก็เลยสนิทกันมาก มันก็เลยเห็นเพื่อนในหลายมิติ แล้วสมมติคุณมีชั้นปีละ 100 คน ทั้งคณะเลยมี 500 คนเอง มันก็เลยสนิทง่ายกับชั้นปีที่สูงกว่าเรา ชั้นปีที่เด็กกว่าเรา เพราะว่ากิจกรรมมันก็จะต้องทำร่วมกับชั้นปีอื่น ละคอนก็ทำ หลายชั้นปีมาร่วมกันทำ รักบี้ก็เล่น ปี 1 สู้ปี 2 ปี 2 สู้ปี 3 ปี 3 สู้ปี 1 อะไรอย่างนี้ ค่ายก็ไปกันทุกชั้นปีก็เลยเป็นคณะที่เพื่อนค่อนข้างสนิทและก็จะรู้อุปนิสัยใจคอ คนนี้เป็นยังไง คนนั้นเป็นยังไง เก่งยังไง ถนัดอันไหน อะไรอย่างนี้ครับ ก็จะสนิทกันมาก นั่นคือสิ่งที่เราจำได้ แล้วก็ 'ถาปัดต้องใช้เวลาเรียนถ้าปกติ 5 ปี ก็จะอยู่ด้วยกันมากกว่าคณะอื่น ๆ หนึ่งปี น้อยกว่าหมอปีหนึ่ง ก็เลยสนิทกันดี แม้จบไปแล้ว แต่ผมเมื่อจบไปแล้ว ผมทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ประมาณ 8 ปี หลังจากนั้นผมก็ทำโทรทัศน์เต็มตัวก็เลยอาจจะได้สังคม ได้เจอกับเพื่อน ส่วนใหญ่เพื่อนผมก็จะทำงานเป็นสถาปนิกทั้งหมด มีทั้งเป็นเจ้าของบริษัท มีทั้งเป็นนักออกแบบให้กับบริษัทต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ ก็จะได้เจอน้อยหน่อย แต่ว่าหลังจากมีโลกโซเชียล เราก็มีโอกาสติดต่อกันง่ายขึ้น รวมชั้นปีอะไรได้ง่ายขึ้น แล้วมันก็จะต่อกันได้ง่ายเพราะเรารู้จักมิติของเพื่อนแต่ละคนเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นคณะขนาดเล็กที่อบอุ่น แต่จุดอ่อนของคณะ 'ถาปัดในยุคนั้นก็คือกิจกรรมกับคณะอื่น เราจะมีน้อยกว่า สมมติงานของจุฬาฯ ของสนจ. (สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) อะไรอย่างนี้ เราจะมีโอกาสไปร่วมได้น้อยกว่า บางคนก็เรียกว่าเป็นคณะเหมือนคณะปิดด้วยซ้ำไป แล้วจุดอ่อนอีกก็คือแข่งกีฬากับคณะอื่น เราก็มักจะแพ้เพราะจำนวนคนเราน้อย นักกีฬาก็มีตัวเลือกน้อยอะไรอย่างนี้ครับ แต่ก็จะสนุก ก็จะมีบรรยากาศ มีทิศทางที่เป็นสไตล์ของตัวเอง ก็เลยมันถึงเกิดเป็นลูกทุ่ง 'ถาปัด เกิดเป็นละคอน 'ถาปัด เกิดเป็นอะไรอย่างนี้เพราะมันเกิดสไตล์ในกลุ่มย่อยที่สนิท พอมันสนิทมันก็กล้าแสดงออก มันก็จะมีฟอร์มน้อย มันก็จะสนุกกันเยอะ มันก็จะเกิดเป็นสไตล์ของคณะ 'ถาปัดซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนผมเข้า แล้วก็น่าจะอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ The People: สมัยเรียนคุณทำอะไรบ้าง สัญญา: ละคอนเวที โดยประเพณีที่มันมีมา ละคอน 'ถาปัดเป็นละคอนที่มีสไตล์ของตัวเอง คือมันจะไม่เป็นละคอนที่มีรูปแบบวิชาการถูกต้องตามหลักการใด ๆ มันเหมือนกับอยากจะทำอะไร เราก็จะลองทำกันดู บางรอบก็เล่นไม่เหมือนกันด้วย เวลาเล่นหลายรอบ พอผมเข้ามาปี 1 ผมก็ไปเป็นตัวประกอบ ไปตอกฉาก ไปช่วยขายบัตร คือมันก็แล้วแต่ว่าเราจะร่วมได้แค่ไหน ที่คณะนี้จะไม่มีแบบว่าใครอยากทำอะไรแล้วไม่ได้ทำ ไม่ค่อยมี คุณอยากจะทำอะไรล่ะ อยากร่วมเล่นก็มาเล่น คือคนตอกอัฒจันทร์กับคนเล่นอาจจะเป็นคนเดียวกัน พอปี 2 เราก็มีความรู้มากขึ้น ก็ได้บทบาทดีขึ้น บังเอิญผมได้เป็นตัว main ในตอนขึ้นปี 2 เรื่อง “สามทหารเสือ” (2527) พอปี 3 เราก็จะมีวิชาแก่กล้า เราก็จะเป็นผู้ผลิตละคอน ส่วนมากชั้นปี 3 จะเป็นปีหัวหอกในการทำละคอนของแต่ละปี เพราะว่าพอ 4 กับ 5 คุณต้องเรียนหนัก แล้วปี 5 นี่ยิ่งลำบากคุณต้องทำธีสิสเพื่อจบอะไรอย่างนี้ ผมก็ทำทุกปีจนกระทั่งปี 4 ปีก็ยังเล่น ปี 5 ไม่แน่ใจ ปี 5 น่าจะไม่ได้เล่น พอจบแล้วก็ยังกลับมาเล่นอยู่ ก็เล่นอยู่ประมาณ 4-5 เรื่องครับ ก็เล่นเยอะ แต่ตอนปีผมทำ ผมร่วมเขียนบท ผมกำกับ ผมแสดง The People: เอกลักษณ์ของละคอน 'ถาปัด สัญญา: ต้องย้อนกลับไป 30 ปีขึ้น 30 40 50 สมัยก่อนวิธีแสดงแบบซูโม่สำอาง (รายการเพชฌฆาตความเครียด) สมัยนั้นผมไม่แน่ใจคณะตลกมีมาบ้างแล้วมั้ง น่าจะมีบ้างแล้ว แต่มันก็เป็นแบบคุณต้องไปอยู่ในบาร์ ในสถานเริงรมย์อะไรอย่างนี้ คาเฟ่อะไรอย่างนี้ แต่อันนี้มันเป็นกิจกรรมของนิสิต แล้วมันก็เล่นแบบไม่ลามก ไม่หยาบโลน แต่ตลกเหมือนซูโม่สำอางถ้าคุณนึกออก เพราะนั่นคือกลไกที่อยู่ในยุคนั้นมันไม่มี ในยุคนั้นคุณจะมีละคอนอักษรฯ คุณจะมีละคอนนิเทศฯ แต่เขาเป็นละคอนที่อยู่ในรูปแบบของวิชาการ ถูกต้องตามหลักการของแวดวงละคอน ที่มีหลักการ มีศาสตร์ของมัน แต่อันนี้มันเป็นละคอนที่เหมือนความสนุกสนาน แล้วยังไม่มีใครทำ มันก็เลยเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่กลายเป็นเอกลักษณ์ว่าปิดเทอมใครว่าง โดยเฉพาะชาวจุฬาฯ ทั้งหลาย คณะอื่น ๆ เขาก็จะรู้ว่าเฮ้ย ปิดเทอมเราได้ดูละคอน ' ถาปัดนะ เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของผู้คนในกรุงเทพฯ รถก็ไม่ติด ไปไหนมาไหนก็ง่ายอะไร ๆ อย่างนี้ เขาก็จะดูกัน ส่วนมากก็จะขายบัตรได้ดี ขายบัตรหมด เต็ม อะไรอย่างนี้ครับ The People: ประสบการณ์สุดยอดจากการทำละคอนที่อยากเล่าให้ฟัง สัญญา: (หัวเราะ) ผมว่ามันก็ดีทุกเรื่องนะ แต่ถ้าตอนที่ผมทำชั้นปี 3 ปีผมทำละคอนเรื่อง “The Godfather” (2528) ตัวเอก Michael Corleone นึกออกใช่ไหมฮะ ยุคนั้นมันก็ไม่ค่อยมีการเอาเรื่องอมตะมา satire (เสียดสี) ก็มี 'ถาปัดนี่แหละ ' ถาปัดทำสามก๊ก (2519-2520) ทำโชกุน (2525) ทำอะไร ผมทำ The Godfather มันเหมือนเป็นการล้อเลียนเรื่องที่เรารู้จักอยู่แล้ว มันคลาสสิกอยู่แล้ว บุคลิกตัวละคอนเรารู้เกือบหมด พี่คนโต Sonny เป็นยังไง Fredo เป็นยังไง Michael เป็นยังไง พ่อเป็นยังไงอะไรอย่างนี้ แล้วมันก็ถูกล้อเลียนไปกับสังคมในยุคนั้นว่ามันเป็นยังไง สำหรับผม ผมว่าดีทุกเรื่องนะครับ แล้วก็เพราะมันดี มันจึงเกิดวิธีการเล่นแบบนี้มากขึ้น ในปัจจุบันนี้ในโทรทัศน์ก็มีแบบนี้เต็มเลย มีแบบสนุกสนานเฮฮา มีละคอนแบบนี้ คณะละคอนอาชีพต่อมาก็เริ่มทำละคอนแบบนี้ มีละคอนที่เป็นการล้อเลียน เป็นการ satire สังคม เป็นการฉีกออกจากรูปแบบละคอนแบบเต็มรูป แบบคลาสสิก แบบดรามา แบบอะไรอย่างนี้ ก็มี ถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้ความที่โลกมันเปลี่ยนไป โอกาสที่จะมีของที่เป็น unique มันจะยากเพราะว่าใคร ๆ ก็ทำกันเยอะแยะไปหมดแล้ว The People: ละคอน ' ถาปัดให้อะไรกับเราบ้าง สัญญา: มันดันผม(หัวเราะ) ตอนเราทุกคนเข้าไปทำละคอน ' ถาปัด เราทำเพราะเรารู้สึกสนุก เป้าหมายเดียว สนุก ปิดเทอมไม่ได้มีภารกิจ ไม่ได้มีตังค์ไปเที่ยวไหนก็ทำกิจกรรมเพราะมันสนุก โอเค ถ้าสำหรับผม หลังจากที่สนุกไปหลายเรื่อง เราก็จะเข้าใจการแสดงมากขึ้นบ้าง วิธีนำเสนอของละคอนมากขึ้นบ้าง และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้ก็คือมีคนมาเห็นและชวนผมไปเล่นละคอนโทรทัศน์ เป็นรุ่นพี่คณะอักษรฯ ซะด้วย เขาก็มาดูละคอน ' ถาปัดแล้วเขาชวน ตอนนั้นผมเรียนจบแล้ว เขาก็ชวนไปเล่นละคอนโทรทัศน์ ก็ไปลองดู ก็ไม่ได้เล่นดีอะไรหรอก ก็ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนมีงานเกี่ยวกับโทรทัศน์จนทุกวันนี้ ถ้าบอกว่าดันอะไรก็น่าจะอันนี้แหละ The People: วิธีคิดแบบสถาปัตย์มีส่วนช่วยในการทำงานโทรทัศน์ไหม สัญญา: มีครับ ทุกงานครับ คณะสถาปัตย์เป็นคณะที่จำเป็นจะต้องใช้ 2 สิ่งเพื่อให้ได้อาคารบ้านเรือนทุกชนิดที่ตอบสนองผู้ใช้ อาคารพาณิชย์ โรงแรม โรงพยาบาล สนามบิน บ้านพักอาศัย ตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน หลักล้าน หลักหลายร้อยล้าน มันต้องมี 2 อย่างที่ต้องอยู่ในนั้นแน่ ๆ หนึ่งคือวิชาการทางวิทยาศาสตร์ มันต้องแข็งแรงมั่นคง คุ้มครอง รับกับสิ่งแวดล้อม มันต้องอยู่ได้ อันนี้เป็นกลศาสตร์ เป็นวิศวกรรมศาสตร์ มันต้องอยู่ในนั้นถูกไหม สถาปนิกต้องรู้เรื่องเหล่านี้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สองก็คือมันต้องตอบสนองด้านความรู้สึก มันต้องมีศิลปะ มันต้องสวย เดินเข้าไปในศาล เราต้องรู้สึกถึงความยุติธรรม ความมั่นคง เราต้องเข้าไปในที่ต่าง ๆ ด้วยความรู้สึก เราไม่ใช่สัตว์ที่ไม่มีความรู้สึก ซึ่งจริง ๆ แล้วมูลค่าของความรู้สึกของมนุษย์แพงกว่าหลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้น ผมถูกสอนให้ทำ 2 อย่างนี้กับทุกสิ่ง กับรายการโทรทัศน์ กับละคอน กับทุกอย่าง ฝั่งวิทยาศาสตร์เราจะวิเคราะห์ว่าปัญหาคืออะไรแล้วเราแก้ด้วยวิธีอะไร เราวิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วเราก็เข้าไปสู่การแก้ปัญหามันแบบเป็นวิทยาศาสตร์ แบบไม่เอา ego ไม่เอา...เชื่อกูเหอะ กูว่าดีมันต้องดีอะไรอย่างนี้ จริง ๆ มันต้องมีเหตุผลของมันว่าถ้าดี ดีเพราะอะไร ถ้าไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร ในขณะเดียวกัน ไอ้ศิลปะที่ว่าก็คือความเป็นสุนทรียะของมันมีอยู่ในนั้นหรือไม่ หรือคุณทำเพื่อเรียกสปอนเซอร์ เรตติ้ง หรืออะไรก็ตามแต่ด้วยความอุจาด ด้วยความมักง่าย ด้วยความเห็นแก่ตัวโดยไม่เห็นแก่อนาคตของสังคมว่าเขาควรจะเสพสิ่งแบบนี้หรือเปล่า เหล่านี้มันก็อยู่ในวิชาชีพสถาปนิกมา แล้วมันถูกเอาไปใช้ในทุกงานได้เพื่อให้ได้งานที่ดี The People: เด็ก 'ถาปัด ทำอะไรวงการโทรทัศน์บ้าง สัญญา: เอาที่ผมรู้จักกับพี่ตู้ (จรัสพงษ์ สุรัสวดี) แกก็ทำตั้งแต่คณะปั้นจั่นสำอาง ทำซูโม่สำอางขึ้นมา ผมว่ามันก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง ถัดมาก็...จริงๆ มีพี่โย ทั้ง 2 โย โยใหญ่ (ญาณี ตราโมท) โญเล็ก (ภิญโญ รู้ธรรม) ที่อยู่ในวงการทีวี พี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) อันนี้ Workpoint ใช่ไหมฮะ พี่ดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) แต่งเพลง ถัดมาก็รุ่นพี่ตั้ว-ศรัณยู (วงษ์กระจ่าง) จริง ๆ อาจจะมีเยอะกว่านี้ แต่ว่าอันนี้เอาชื่อที่ท่านน่าจะรู้จัก ผมว่าคนเหล่านี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวงการบันเทิง คงไม่ถึงขนาดเป็นผู้สร้างวงการบันเทิงอะไร เพราะจริง ๆ สมมติคณะสถาปัตย์ที่เข้าไปเกี่ยวกับวงการบันเทิง 10 คน แต่บุคลากรในวงการบันเทิงแสนคน คณะเราคงไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพล มันจะ overclaim ว่าโอ้โห คณะสถาปัตย์ได้ผลิตคนไปสร้างวงการบันเทิง เราไม่ได้สร้างมากเท่าไหร่ เราก็เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง พี่ ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้เขาก็เข้าไปเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง แต่ว่ามันอาจจะเป็นฟันเฟืองที่คุณมองเห็น คุณก็เลยอ๋อ คนนี้ ' ถาปัด แต่นับจริงๆ ผมว่านิเทศฯ เยอะกว่า อักษรฯ เยอะกว่า อะไรที่เป็นสายตรงน่าจะเยอะกว่านะ ผมคิดว่าอย่างนั้นนะครับ The People: 20 ปีก่อน คุณเคยเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาให้เครื่องดื่มชูกำลังเจ้าหนึ่ง คุณพูดว่า “เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็นไม่ใช่ผม” ตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่ไหม สัญญา: ใช่ครับ เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็นไม่ใช่ผม เพราะผมอาจจะไม่เข้าเลยก็ได้ (หัวเราะ) คืออย่างนี้ที่ผมบอกคือไอ้คำว่าเข้า 9 เลิก 5 มันคือ routine ถูกไหม มันเป็นตาราง ผมไม่ได้ทำงานแบบเป็นตารางแบบนั้นมานานแล้ว เดิมๆ ผมมีบริษัท ตอนนี้ผมไม่ได้มีบริษัท ผมเป็นฟรีแลนซ์ แล้วผมเป็นฟรีแลนซ์รายการ ถ้าถามว่าเดี๋ยวนี้ ตอนนี้นะ ผมไม่ได้ทำเป็น routine ผมมีตารางคิวของผมล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน มันก็จะวางงาน 2 เดือนข้างหน้าไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น The People: อะไรที่ทำให้คุณมาถึงจุดนี้ในการทำงานทีวี สัญญา: ผมมีความเชื่อมาโดยตลอดว่ามีพิธีกรที่เก่งกว่าผมเยอะมากในประเทศนี้ เขาอาจจะขายกางเกงอยู่ที่จตุจักร เขาอาจจะเป็นพิธีกรอีเวนต์อยู่ที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โป เขาอาจจะเป็นคุณครูอยู่ เขาอาจจะอะไรก็ได้ บังเอิญผมได้โอกาสนี้ในการไปออดิชันเพื่อเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์เมื่อหลายปีก่อน มนุษย์มี 2 อย่างที่ถ้ามันผนวกกันได้เราจะไปต่อได้เสมอ หนึ่งคือเราดันได้โอกาส บางคนเก่งกว่านี้แต่ไม่เจอโอกาสนี้ ก็ยังไม่ครบ 2 องค์ประกอบถูกไหมครับ ผมบังเอิญเจอประกอบที่หนึ่งคือมีคนชวนว่า เฮ้ย มาลองไหม องค์ประกอบที่หนึ่ง และมันจะ complete เมื่อให้ไปต่อได้คือองค์ประกอบที่สองว่าเมื่อคุณมีโอกาสเข้าไปลอง คุณมีความพร้อมขนาดไหน และคุณมีความฮึกเหิมขนาดไหนในการเข้ากระทำสิ่งเหล่านั้น และคุณมีการทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มันควรจะได้จริงหรือไม่ ถ้าคุณมี 2 อย่างนี้ คุณมีความฮึกเหิม คุณมีความพร้อม คุณตั้งใจ คุณหาข้อมูล คุณทำทุกอย่างให้มีศักยภาพพอที่จะทำสิ่งนั้น เมื่อหนึ่งมา สองพร้อมแล้ว มันจะไปต่อได้ ไม่รู้เป็นคำตอบเปล่า อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีวันนี้ก็ได้ครับ The People: รายการ “เจาะใจ” มีวิธีบริหารจัดการอย่างไรท่ามกลางกระแส disrupt ของสื่อโทรทัศน์ สัญญา: กรณีของทีวี ผมเชื่อว่าทุกคนรู้สถานการณ์หมดถูกไหมครับ เราเข้าใจหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วตอนนี้มันกำลังเป็นยังไงอยู่ เพราะ พวกเราอดทนครับ เราลดค่าใช้จ่าย เราพยายามหาหนทางที่จะหาสปอนเซอร์เพิ่ม หาแบบนู้นแบบนี้เพื่อมาทำให้มันไปต่อได้ หมายถึงผู้จัดคือเจเอสแอล (บริษัท เจเอสแอลโกลบอลมีเดีย จำกัด) ผู้เข้ากระทำคือผมและทีมงานของเจาะใจ คำตอบสั้น ๆ เลย พวกเราทนครับและเราพยายามครับ The People: ทราบมาว่า รายการ “เจาะใจ” ทำการบ้านเรื่องงานสัมภาษณ์หนักมาก อย่างไรบ้าง สัญญา: ใช่ครับ ผมทำอย่างนั้นมา 20 กว่าปีแล้ว สมมติผมอยากสัมภาษณ์คุณ ขั้นที่หนึ่ง ทีมงานจะหาเรื่องราวทั้งหมดที่จะหาจากคุณได้โดยยังไม่เจอคุณ แล้วทำไมต้องเป็นคุณ คุณกำลังจะให้ประเด็นอะไรกับเรา เมื่อรู้จักคุณมากที่สุดแล้ว สรุปแล้วเฮ้ย เอาวะ เรื่องของคุณดีเว้ย ทีมงานจะไปหา ไปคุยกับคุณไปสัมภาษณ์ในประเด็นที่เราเตรียมไว้ว่าน่าจะไปประเด็นนี้ แต่ถ้าเจออะไรเพิ่ม เราก็อาจจะแก้จาก สมมติเราจะทำประเด็น ก. แต่คุณมีเรื่อง ข. ที่ดีกว่า ก. เราก็อาจจะมาตกลงภายหลังได้ว่าจะเปลี่ยนเป็นเรื่อง ข. เป็นเรื่องใหญ่ เสร็จแล้วทีมงานก็จะถอดเทปสิ่งที่คุยกับก๊อปเป็นเปเปอร์ให้ผม ผมก็จะเอาเปเปอร์นี้ไปอ่านทำการบ้าน แล้วก็มาคุยกับทีมงาน เสร็จแล้วประชุมกันแล้วเราก็มาถ่าย เชิญคุณมาออกรายการ The People: แบบนี้ถือว่าเป็นงานหนักไหม สัญญา: ก็แล้วแต่วิธีการครับ สมมติคุณเป็นร้านอาหารแล้วร้านคุณบอกว่าผมจะเอาพริก เอากระเทียม เอาหอมแดง ผมตำเพื่อให้เกิดพริกแกงแบบนี้ แล้วร้านข้าง ๆ บอกว่าเฮ้ย คุณยังมานั่งตำทำไมเล่า คุณซื้อพริกแกงมาเลย เสร็จ ได้รสเหมือนกันเลย เกือบเหมือน แต่ร้านนี้อยากทำแบบนี้เพราะร้านนี้ยังเชื่อว่าระหว่างทางของการทำแบบนี้ เราอาจจะได้อะไรที่ดีกว่าเดิมได้ตลอด สิ่งเหล่านี้เมื่อเชิญคุณมาแล้ว มาคุยกันก่อนถ่าย ก็ยังเปลี่ยนได้อีก หรือคุยกันเสร็จแล้ว ตอนเข้าถ่ายทำ ผมเป็นพิธีกร ผมเปลี่ยนได้อีกระหว่างทำ นั่นแหละวิธีของผม The People: แล้วกระบวนการนี้ทำให้ได้งานคุณภาพตามเป้าตลอด 20 กว่าปีเลยไหม สัญญา: ก็โอเค แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกงานจะได้อย่างที่ใจเราอยากได้หรอกครับ บางงานก็ไม่ได้ บางงานเราก็มีแบนตัวเองด้วยนะฮะ ถ่ายแล้วก็ไม่เอาก็มี มีครับ มีอยู่แล้ว มันไม่ได้ดั่งใจทุกงานหรอกครับ ลองคูณดูดิ สมมติปีหนึ่ง 52 สัปดาห์ 52 ตอน 20 ปีก็… 1,040 นี่ 20 ปี เราประมาณ 26 ปี แปลว่าเราทำรายการมาประมาณเกือบ 2,000 ตอน ไม่ได้ดั่งใจทุกตอนแน่นอน The People: แต่ภาพรวมก็ถือว่าน่าพอใจ? สัญญา: ภาพรวมโอเคไหม ผมก็หวังว่าผู้ชมคงจะคิดว่าโอเค คือมันจะมีคำถามว่าถ้ามันไม่โอเค แล้วทำไมไม่ทำให้มันโอเคล่ะ ถูกไหม สมมติมาถามว่าคุณทำสิ่งนี้ทำโอเคไหม ผมว่ามันก็ไม่โอเค ไม่โอเคแล้วออกอากาศทำไม เราก็ทำให้มันโอเคสิ ผมก็ว่ามันก็โอเคทุกอันที่ผมทำนะ เท่าที่ผมทำได้ ณ มิตินั้น ณ เวลานั้น ณ สภาพนั้น The People: กลับมาที่เรื่องละคอนเวที เหมือนว่าคุณกลับมาเล่นละคอนเวทีอีกครั้งในรอบ 14 ปี สัญญา: อัปเดตที่สุดตอนที่นั่งอยู่ตรงนี้เลย(สถานที่สัมภาษณ์) เรานั่งอยู่ที่ชั้น 11 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะมีคอนเสิร์ตบวกกับละคอน พอมารวมกันมาเลยเป็นละคอนเสิร์ต ชื่อว่า “ครบเด็กสร้างบ้าน” ก็เป็นการรวมเอาศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า ของ 'ถาปัด ใครมีโอกาสจัดสรรเวลาได้ก็มาช่วยกันคิดบท ช่วยกันร้องเพลง ช่วยกันเล่นละคอนด้วยสไตล์แบบที่เราเคยทำ ก็หวังว่ามันจะมีรสชาติแบบหนึ่งที่เป็นรสชาติเฉพาะตัวแบบสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่ก็ยังมีแฟนของเราหลาย ๆ คนก็ยังชอบอยู่ จนทุกวันนี้หลายคนดูตั้งแต่เป็นเด็กจนเป็นพ่อเป็นแม่ มีลูก ลูกโตแล้วลูกก็มาดูก็มี ก็ 26 พฤษภาคมนี้นะครับ มีแค่ 2 รอบนะครับ วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตฯ ต้องซื้อบัตรก่อนนะครับ ก่อนจะมาดู The People: แล้วบรรยากาศซ้อมยังเหมือนตอนสมัยเรียน 'ถาปัดไหม สัญญา: ใกล้เคียง แน่นอนมันไม่เหมือนเดิมหรอก มันก็เปลี่ยนไปนิดหน่อย แต่มันก็ใกล้เคียง ก็ยังมีอะไรคล้าย ๆ เดิม มันก็ยังเป็นบรรยากาศนี้เหมือนตอนเราทำโปรเจกต์ จนจะส่งแล้วยังแก้ เฮ้ย มันไม่ดีเว้ย ไม่พอใจเว้ย มันก็ยังเป็นแบบนี้ มนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ เราก็ยังติดนิสัยนี้อยู่ เราก็ยังจะแบบ...เฮ้ย ตรงนี้มันต้องไอ้นี่ว่ะ ไอ้นี่มันต้องไอ้นั่น เราอาจจะต้องแก้จนถึงวันที่ 26 เลยก็ได้ นี่เป็นสไตล์ของเรา (หัวเราะ) พูดถึงการชมละคอนแล้ว สังเกตไหมครับชีวิตพวกเราที่อยู่ในโลกสมัยนี้ เราเสียความสามารถบางอย่างไปเยอะมาก เช่น ความสามารถในการไปอยู่ในที่ ๆ มีคนอื่น ๆ เยอะ ๆ แล้วสามารถมีความสุขพร้อมกัน เช่น ดูหนัง ดูละคอน เข้าสังคม เพราะเราอยู่กับหน้าจอแล้วเราก็ผ่านทางสิ่งเหล่านี้ แล้วเราก็ลืมบรรยากาศของความสนุกร่วมกัน ฝรั่งมีละคอนเวทีเป็นละคอนเพลง มีมาเป็นร้อย ๆ ปีจนทุกวันนี้เขาก็ยังมีอยู่ ของเรา ไม่อยากออกจากบ้าน รถติด เดี๋ยวเสิร์ชเอา เดี๋ยวอะไรก็เสิร์ชเอา คือมันไม่เหมือนกันแน่ ๆ ต้องถามท่านผู้ชมว่าคุณดูอะไรที่มันเป็นการแสดงสดครั้งสุดท้าย ไม่นับคอนเสิร์ต คอนเสิร์ตด้วยก็ได้ เพราะบางคนก็ไม่ไปแล้ว เดี๋ยวเสิร์ชเอา หนักกว่านั้น เฮ้ย แกไปใช่เปล่า เดี๋ยวไลฟ์มาให้ดูด้วยนะ อ้าว ไอ้เจ้าของงานซวยเลยอะไรอย่างนี้ครับ ผมว่ามันเป็นวิถีของมนุษย์ที่ไปอยู่ด้วยกัน เห็นพร้อม ๆ กัน แล้วรู้สึกร่วมกัน พอทำแบบนี้กับทุก ๆ กิจกรรม มันถึงเป็นชาติ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แล้วบอกเป็นชาติเดียวกัน ไม่ใช่ ไปนะครับ ไปทั้งชาติเลยนะครับ (หัวเราะ)