09 ต.ค. 2563 | 21:10 น.
การระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ประเทศไทยแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาด ‘โดยตรง’ ค่อนข้างน้อย เนื่องจากความตื่นตัวในการป้องกันตัวเองของประชาชนทำให้อัตราการระบาดและอัตราผู้เสียชีวิตมีตัวเลขค่อนข้างต่ำ แต่ ‘ผลข้างเคียง’ ของโควิด-19 สร้างผลกระทบที่ร้ายแรงกับประเทศไทยยิ่งกว่าผลโดยตรง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แม้อัตราการระบาดในประเทศต่ำ แต่ถ้าการระบาดในต่างประเทศยังสูง การเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่นเดียวกัน ภายใต้ภาวะเช่นนี้ อัตราการบริโภคและความต้องการสินค้านำเข้าของประเทศต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงไปด้วย หลังการระบาดมานานเกือบครบ 1 ปี ความหวังว่าประชากรส่วนมากจะเกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ในเร็ววันคงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อตัวเลขการระบาดรอบสองในบางประเทศของยุโรปมีตัวเลขที่สูงยิ่งกว่ารอบแรก (ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้มีความเสี่ยงเข้าตรวจหาเชื้อมากกว่ารอบแรก) สิ่งที่เป็นความหวังว่าโลกจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วที่สุดก็คือ ‘วัคซีน’ หลายประเทศเดินหน้าการพัฒนาวัคซีนไปไกล บางประเทศเร่งให้มีการนำวัคซีนมาใช้โดยเร็ว เช่น รัสเซีย ที่ให้การรับรองวัคซีนตัวใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม (ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากองค์การอนามัยโลก กรณีลัดขั้นตอนการทดลองขั้นสุดท้ายเพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผล - The New York Times) ในประเทศไทยก็มีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนดูแลโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยทีมวิจัยของจุฬาฯ เผยว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย น่าจะสามารถทำการทดลองในคนได้ภายในปลายปีนี้ (2020) และมีความมั่นใจว่า แม้เชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่สูง แต่วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาก็ยัง ‘เอาอยู่’ (จากพื้นฐานข้อมูลในปัจจุบัน) และเขาก็เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อคนไทย เพราะความหวังว่าจะได้ใช้วัคซีนจากต่างประเทศน่าจะเป็นเรื่องยาก ไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้ขึ้นใช้เอง รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้