09 ก.พ. 2562 | 17:42 น.
ภัทรวิทย์ จันทร์ไทย หรือ “เชฟปาร์ค” ถือเป็นเชฟรุ่นใหม่มากฝีมือ ซึ่งนอกจากการทำอาหารของเขาจะยอดเยี่ยมแล้วนั้น แนวคิดในการทำอาหารของเขาแอบมีเอกลักษณ์อยู่ไม่น้อย แม้จะไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากนักหรือมีดาวมิชลินติดตัว แต่ฝีไม้ลายมือของชายคนนี้ไม่เบาเลยทีเดียว ในอดีตเชฟรายนี้เคยเป็นถึงตัวแทนเชฟทีมชาติไทยไปแข่งในต่างประเทศ และเคยถูกเชิญให้ไปทำอาหารถวายดาไลลามะที่อินเดีย! แม้ปัจจุบันเชฟปาร์คจะผันตัวมาเป็น Private Chef ให้นักการเมืองดังรายหนึ่ง แต่ความทะเยอทะยานในวิชาชีพของเขาไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด The People นั่งคุยกับเชฟคนนี้ในหลากหลายประเด็น รวมถึงประเด็นในอดีตที่ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยชอบทดลองทำบราวนีกัญชาด้วยตัวเอง เรื่องนี้จะจริงแท้อย่างไรติดตามได้ในบทสัมภาษณ์นี้ The People : มาเป็นเชฟได้อย่างไร เชฟปาร์ค : ผมต้องบอกเลยว่าผมทำกับข้าวไม่เป็นเลยครับตั้งแต่เด็ก บ้านผมเนี่ย...เข้าครัวไม่ได้ครับ แม่จะรักความสะอาดมากแล้วก็จะไม่ให้ทำครัว ถ้าเข้ามาในครัวคือมานั่งกินข้าวอย่างเดียว แล้วแม่ก็จะไม่ให้ยุ่งวุ่นวายเพราะมันก็อันตราย แล้วตอนเด็กผมก็ซนด้วย เลยไม่เคยเข้าครัวเลยจนม.4 ม.5 อายุประมาณ 16-17 แม่ไม่อยู่เลยต้องเริ่มทำกับข้าวกินเองบ้าง ก็ลองหัดจาก YouTube ไป แล้วเมื่อก่อนผมเล่นบาสฯ แล้วก็มีพี่ที่สนามบาสฯ คนหนึ่งเขาเป็นเชฟ ผมก็เลยไปถามสูตรถามอะไรเขา แต่เขาก็เหมือนพูดกับผมไม่ดีครับ คือพูดกับผมว่า "เออ จริงๆ แล้ว มึงโง่ว่ะ อย่างมึงกูว่าทำไม่ได้หรอก ไม่ต้องทำหรอกไปซื้อเขากินง่ายกว่าเยอะ" ผมก็เลยแค่รู้สึกว่าเออ วันหนึ่งกูจะทำให้ได้ แล้วกูจะเก่งกว่ามึงให้ได้ ผมก็เลยตัดสินใจมาทางสายทำอาหาร บวกกับตอนเด็กผมขี้เกียจเรียนหนังสือ คือผมเรียนเก่งนะ ไม่ได้ชมตัวเอง แต่ผมแค่รู้สึกว่าผมชอบเรียนวิชาที่ชอบ ผมก็เลยเลือกอะไรที่มันจะต้องเรียนแล้วไม่ต้องไปนั่งเรียนเยอะ คือทำๆ กลับบ้าน คงดูสนุกดี ผมก็เลยเลือกมาเรียนด้านทำอาหาร The People : ได้ยินมาว่าเมื่อก่อนเป็นเด็กเกเร เชฟปาร์ค : เกเรครับ ตอนมัธยมนี่เราเป็นวัยรุ่นเลือดร้อนครับ แต่แม่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียน ก็ตามสไตล์ลูกครูครับ ก็จะไม่มีใครได้ดิบได้ดีเท่าไหร่ จะมีแบบดีไปเลยแล้วก็แบบเลวไปเลยครับ ส่วนผมจะอยู่ในโหมดไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ ก็คือเกเร ขุดรั้วกำแพงมุดออกไปเล่นเกม โดดเรียน ไม่ไปเรียน ไว้ผมยาว ก็จะเป็นแฟชั่นตลอดเวลา ต่อยตีนี่คือเป็นเรื่องปกติครับ ถ้าพูดตามตรง ถ้าแม่ผมไม่เป็นครูผมก็คงโดนไล่ออกจากโรงเรียนไปแล้ว The People : อะไรคือจุดเปลี่ยน เชฟปาร์ค : พอวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเบื่อ คือเด็กเนี่ยมันจะซ่าได้เพราะมีเพื่อน ส่วนหนึ่งคือถ้าเฮโลกันไปทำสิ่งไม่ดีเนี่ยมันจะสนุก ถ้าวันหนึ่งให้เราทำสิ่งไม่ดีคนเดียวมันจะกลัวครับ แล้ววันหนึ่งที่ต้องแยกกับเพื่อนแล้ว เราอยู่ตัวคนเดียวแล้ว เรารู้สึกว่าจะไปทำเรื่องแบบนั้นก็ไม่สนุกแล้ว ในเมื่อมาเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว (วิทยาลัยดุสิตธานี) เราเลือกเองครับว่าอยากมาเรียนอันนี้ ก็เลยลองตั้งใจเรียนดูแล้วกัน แล้วเรารู้สึกว่าเราชอบด้วย The People : เส้นทางการเป็นเชฟหลังเรียนจบเป็นอย่างไรบ้าง เชฟปาร์ค : เริ่มต้นตั้งแต่สมัยปี 3 ครับ ปี 3 ผมก็เริ่มแข่งขันทำอาหาร เริ่มแข่ง แข่งชนะมั่งแพ้มั่ง แรกๆ ก็แพ้ครับ แล้วก็เริ่มชนะบ้างจนมีทีมชาติ เขาติดต่อมาก็เป็นเชฟจตุพร (จึงมีสุข) เชฟปุ๊ เขาก็เหมือนชวนให้ไปลองเข้าทีมชาติดูไหม ไปฝึกฝน ก็เลยมีโอกาสเข้าไปอยู่ในทีมชาติครับ The People : Private Chef ต่างกับงานก่อนหน้านี้อย่างไร เชฟปาร์ค : ต่างกันเยอะครับในการทำงาน ถ้าร้านอาหารเราก็จะขายเมนูนี้ประมาณ 3 เดือน 5 เดือนหรือว่าปีหนึ่ง แต่พอเป็น Private Chef เมนูมันต้องเปลี่ยนทุกวันครับ อย่างแกงเขียวหวานวันนี้อร่อยมาก พรุ่งนี้กินอีกไหม แน่นอนก็ไม่ เท่ากับว่าเหมือนทุกวันเราต้องคิดเมนูใหม่ตลอด The People : เคยเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ได้รางวัลจนหมดไฟบ้างไหม เชฟปาร์ค : จริงๆ ผมพูดแบบไม่ต้อง Act art คือผมเฉยๆ กับการได้รางวัลอะไรอยู่แล้ว เพราะว่าส่วนหนึ่งผมเป็นคนที่เคยได้รางวัลอะไรมาเยอะแยะแล้ว สุดท้ายเหรียญรางวัลมันคือเอาไว้แขวนบ้านให้ฝุ่นมันเกาะครับ เอาแขวนไว้ให้คนเดินมาถามว่าเฮ้ย มึงไปทำอะไรมึงถึงได้เหรียญอันนี้ ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นแค่หัวโขนอันหนึ่งที่เราเอามาใส่ คืออย่างน้อยๆ ผมไม่ได้คิดว่าเป็นมิชลินแล้วมันจะหาเงินได้มากได้น้อย ผมทำเพราะว่าผมมีความสุข ถ้ามันจะได้ก็ได้ ผมไม่ได้ซีเรียส The People : ก่อนหน้านี้ทำอาหารสไตล์ไหน เชฟปาร์ค : เมื่อก่อนผมทำอาหารฝรั่งครับ เพราะมีความคิดว่าทำอาหารฝรั่งมันเท่กว่า คือง่ายๆ เลยครับ พอทำอาหารฝรั่งมันดูเท่จังเลย เชฟเชิฟมันสัก มันแบบผมมันเรียบ มันหน้าหล่อเหลือเกิน พอตัดภาพมาครัวไทยเมื่อสมัยผมเรียน คือเป็นป้ายืนตำพริกแกงครับ ดูแบบ...ไม่เซ็กซี่ ก็เลยเริ่มจากทำอาหารฝรั่ง บวกกับเวลาเราไปแข่งต่างประเทศก็เป็นฐานของอาหารฝรั่งเป็นหลัก พอวันหนึ่งเราได้มาออกเดินทางไปหมู่บ้านปกาเกอะญอเพื่อไปทำอาหารเลี้ยงพวกเขา เราก็เข้าไปเดินป่า แล้วไอ้ความรู้ที่ผมมีตอนเรียนเนี่ย 6 ปี เรียน 4 ปี ทำงานมา 2 ปีมันใช้ไม่ได้เลยเมื่อเราอยู่ในป่า เราไม่มีเนยเราจะทำกับข้าวยังไง เขาตำพริกแกงกัน เราก็ได้แต่มองเพราะเราทำไม่เป็นครับ คือเรียนมาจำไม่ได้แล้ว เราไม่เคยใช้เลย ผมเลยรู้สึกว่าแล้วจริงๆ แล้ว ทำไมเราต้องหา (เห็ด) ทรัฟเฟิลที่ดี นำเข้ามาแพงด้วย มองในแง่ธุรกิจถ้าเราเปิดร้านอาหาร ผักชี 5 บาทนี่คือวันหนึ่งก็อยู่แล้วนะครับจริงๆ ตอนนี้ก็เลยทำอาหาร...จะเรียกว่าไทยซะทีเดียวก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าถ้าไทยจริงๆ ก็ต้องมีคำว่าดั้งเดิมอีก อะไรอีก ซึ่งผมมองว่าดั้งเดิมมันไม่มีจริง เพราะว่ากะเพราบ้านพี่กับกะเพราบ้านผมก็ทำไม่เหมือนกัน กะเพราบ้านพี่ใส่ซีอิ๊วดำ กะเพราบ้านผมไม่ใส่ซีอิ๊วดำยังงี้ แล้วผมก็บอกว่าเฮ้ย บ้านผมน่ะแท้ พี่ก็บอกอ้าว บ้านพี่ก็แท้ ก็มานั่งเถียงกันว่ามันแท้หรือไม่แท้ สุดท้ายแล้วผมก็บอกว่าผมทำผัดกะเพราแบบของผม ผมก็เลยไม่รู้จะเรียกมันว่าอาหารไทยได้หรือเปล่า เพราะเป็นอาหารที่อาจจะไม่ดั้งเดิม แต่เป็นรสชาติไทยแล้วก็อร่อยพอแล้ว แค่นั้นครับ The People : มีเมนูในจินตนาการที่อยากทำที่สุดในโลกไหม เชฟปาร์ค : มีครับ ผมเคยคิดว่าผมอยากทำกับข้าวที่มันเป็นของแพงที่สุดในโลก แต่เอามาทำให้มันโง่ที่สุดในโลกครับ คือสมมติว่าถั่วลันเตาที่ดีที่สุดอยู่แอฟริกาใช่ไหมครับ ผมแค่อยากเอามาทำถั่วลันเตาน้ำมันหอย แค่แบบถั่วลันเตากิโลฯ ละ 4,000 เอามาผัดน้ำมันหอยโง่ๆ แล้วก็วางไว้ อันนี้คือถั่วลันเตาที่อร่อยที่สุดในโลกครับ คือผมเป็นคนกวนตีนครับ แล้วผมแค่มีความรู้สึกว่าก็แล้วมันอร่อยไหม ก็คงอร่อยแหละในเมื่อมันผัดน้ำมันหอย ไม่มีอะไรไม่อร่อยครับบนโลกใบนี้ คืออะไรที่เอามาผัดน้ำมันหอย ผมก็มองว่าขี้หมูขี้หมาคือมันกินได้ทุกอย่าง ผมแค่อยากทำอะไรอย่างงี้ เพราะว่าไอ้สิ่งที่พิเรนทร์ผมก็เคยทำมาหมดแล้ว หมกสมองหมู แกงลูกตาวัว ลาบควายดิบ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้พิเรนทร์หรอกครับ เพราะว่าคนพื้นถิ่นเขาก็กินกัน คือเขากินกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่แค่เราไม่กิน เราเลยเอาตัวเราไปตัดสินว่ามันพิเรนทร์ The People : เห็นว่าเคยทำบราวนีกัญชาด้วย เชฟปาร์ค : ใช่ครับ จริงๆ มันเริ่มมาจากผมเคยดูฝรั่งเขาทำครับแล้วก็แบบผมเลยรู้สึกอยากลอง เพราะว่าผมก็มีความกวนตีนสูง ผมก็เลยอยากลองครับ ก็เลยลองทำขึ้นมาแล้วก็ลองกินเองก่อนครับ พอกินเองแล้วรู้สึกเฮ้ย มันเมาจริงเว้ย มันแบบมันทำได้จริง มันทำได้จริง เออ ของมันดีจริงๆ ก็เริ่มเอาไปให้เพื่อนชิม เพื่อนก็อยากลองครับ The People : เคยทำอาหารถวายท่านดาไลลามะด้วย เชฟปาร์ค : อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด เพราะว่าในวัยเรา เอ้า พูดตามตรงเลยวัยเราก็ไม่ได้ฝักใฝ่ธรรมะสักเท่าไหร่ นึกออกไหมครับ คือต้องเป็นคนที่โตหน่อย เราจิตใจอยากสงบแล้วก็พึ่งพาธรรมะ ตอนนี้จิตใจเรายังไม่ได้สงบขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ทางอินเดียแล้วก็ทางผู้ใหญ่บ้านเราเขาเห็น เขาก็เลยเหมือนเชิญเราไปทำอาหารถวายที่อินเดียครับ เป็นเมนูยำเต้าเจี้ยวกับเต้าหู้อินเดีย The People : หาไอเดียในการทำอาหารอย่างไร เชฟปาร์ค : ส่วนใหญ่จริงๆ ผมชอบไปคุยกับชาวบ้านกับแม่ค้าครับ คือผมว่าความรู้หาง่ายมากครับ ไปเดินตลาดคลองเตยนะครับ ไม่รู้ผักอะไรก็หยิบขึ้นมา คนขายส่วนใหญ่ตอบได้หมดครับว่าเอาไปทำอะไรกิน ป้า ไอ้ใบนี้เขาไปทำอะไรกิน อ๋อ อันนี้เอาไปจิ้มน้ำพริกลูก เอาไปนู่นไปนี่ เราก็จะรู้แล้ว เขาเรียกว่าใบอะไรครับ เราก็ชิม เราก็อ๋อ สุดท้ายแล้วเราก็มาแตกยอดเอง เพราะเรามีความรู้เรื่องการทำอาหาร เราก็มาคิดเองว่าเฮ้ย จริงๆ มันไม่ต้องทำน้ำพริกก็ได้นะ เอามาทำอย่างอื่นก็ได้ The People : เป็นคนชอบพวกหนัง การ์ตูน ทำอาหารไหม หรือมีอะไรที่ชอบดูเป็นพิเศษบ้าง เชฟปาร์ค : ถ้าฝรั่งก็ชอบดู ส่วนใหญ่ผมจะไปชอบพวกเชฟฝั่งนอร์ดิก (ภูมิภาคยุโรปเหนือ) ที่ทำอาหารนอร์ดิกเพราะว่า อาหารญี่ปุ่น อาหารนอร์ดิกพ่อผมชอบเพราะว่าเขาเอาวัตถุดิบมาเล่น แล้วทำให้มันเจ๋งได้ คือผมมองว่าเหมือนถ้าเราเอาวัตถุดิบบ้านเรา แล้วเราโม้ได้เท่าอาหารญี่ปุ่น ผมว่ายังไงอาหารไทยมันก็เกิดครับ อาหารญี่ปุ่นจริงๆ มันไม่ได้ทำอะไรเลยครับ แต่ปลาต้องมาจากเมืองนี้นะ ข้าวดีที่สุดต้องมาจากเมืองนี้นะ นมเนี่ยต้องฮอกไกโด ประเทศเราไม่มีครับ ประเทศเราคือผักชี เออ จบ ถูกไหมครับ The People : ความสุขที่ค้นพบจากการทำอาหาร เชฟปาร์ค : สิ่งที่เราได้มากกว่าทำให้คนกินแล้วมีความสุข หนึ่งคือเราได้สมาธิที่โตขึ้น สองคือส่วนหนึ่งที่ผมทำอาหารไทยเพราะว่าผมอยากเอาไอเดียญี่ปุ่นมาอยู่ในอาหารไทย ผมแค่มองว่าเราบ่นกันทุกวันว่าอยากให้ประเทศชาติมันพัฒนา มันก็ไม่ได้ขึ้นกับการเลือกตั้งซะทีเดียว ทุกคนทำอาชีพที่ต่างกัน ถ้าทุกคนตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งนะครับ ผมว่ามันทำให้ประเทศชาติดีขึ้นได้เพราะมันคือคนหมู่มาก ถูกไหมครับ The People : อาหารไทยมีเสน่ห์สู้ต่างประเทศได้ไหม เชฟปาร์ค : จริงๆ ผมว่าสู้ได้เพราะว่าอาหารเราครบรสครับ ถ้าในมุมผม ผมว่าใน 1 คำที่เรากินมันมีเปรี้ยว เค็ม หวาน อะไรอย่างงี้ มันครบรสมากกว่าอาหารฝรั่ง ฝรั่งจะเป็นอาหารที่มีรสชาติมิติเดียวครับ แบบมันๆ เค็มๆ แต่อาหารไทยจะครบรสมากกว่า ผมก็เลยมองว่าถ้าคนจะชอบกินก็คงชอบกินเพราะว่าครบรส เรียกภาษาบ้านๆ ว่ามันแซบกว่า The People : บอกอะไรถึงน้องๆ ที่อยากเป็นเชฟหน่อย เชฟปาร์ค : ถ้าจะบอกน้องๆ ที่อยากเป็นเชฟ ผมก็อยากให้ตั้งใจครับ การเป็นเชฟไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝน เราทำเป็นแค่ 5 เราอย่าคิดว่าเราทำเป็น 10 เพราะว่าคนที่เก่งกว่าเรามีอยู่เต็มไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือเราก็ต้องฝึกฝนตัวเองให้เกิดความชำนาญเพราะเชฟเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญ The People : เมนูที่ชอบที่สุด เชฟปาร์ค : ผมเหรอครับ ส้มตำครับ