03 ธ.ค. 2564 | 11:59 น.
“โลโก้ภาพยนตร์เป็นเหมือนนามบัตรของภาพยนตร์เรื่องนั้น” ‘พิ้งค์ - ฉัตรชนก วงศ์วัชรา’ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘Chatchanok Wong’ (ฉัตรชนก หว่อง) นักออกแบบชาวไทยผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโลโก้ภาพยนตร์ภาษาไทย อธิบายให้ฟังถึงความสำคัญของโลโก้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นเป็นลำดับต้น ๆ แถมยังมีความสำคัญในการสื่อสารอารมณ์ของเรื่อง และเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้คนดูตัดสินใจ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ ชมภาพยนตร์เหล่านั้น ฉัตรชนกเล่าว่า เดิมทีเธอเป็นนักออกแบบที่ทำงานตั้งแต่การวาดภาพประกอบ ทำกราฟิกดีไซน์ และทำแบรนดิ้งให้กับบริษัทโฆษณาและเอเจนซี แต่เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ชื่อเสียงของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์มากขึ้น หลังจากผลงาน ‘ไทโปกราฟี’ (Typography) หรือการออกแบบตัวอักษรสำหรับโลโก้ภาพยนตร์ของเธอเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน งานของฉัตรชนกคือการเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นให้กลายเป็นโลโก้ภาษาไทย โดยเธอจะใช้วิธีการออกแบบผสมผสานระหว่างงานกราฟิกและตัวอักษร เพื่อให้เกิดความคล้ายเดิมและบ่งบอกถึงอารมณ์ (mood & tone) ของเรื่องให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าใครที่เคยรับชมภาพยนตร์ผ่านบริษัทให้บริการสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ของโลกคงจะเคยผ่านตากับผลงานของเธอมาบ้าง ยกตัวอย่าง โลโก้ภาษาไทยของเรื่อง ‘โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ’ ‘แขนกลคนแปรธาตุ’ ‘เดธโน้ต’ ‘เดอะ วิทเชอร์ นักล่าจอมอสูร’ ‘Sweet & Sour รักหวานอมเปรี้ยว’ ‘โดราเอมอน ตอน โนบิตะสำรวจดินแดนจันทรา’ ‘พริตตี้ การ์เดี้ยน เซเลอร์มูน อีเทอร์นัล เดอะ มูฟวี่’ ‘สตาร์ทอัพ’ และ ‘วัน พันช์ แมน’ The People ชวนพิ้งค์ - ฉัตรชนก วงศ์วัชรา คุยทางไกลจากฮ่องกงถึงเส้นทางการทำงานออกแบบ จนถึงครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบโลโก้ภาพยนตร์ ซึ่งฉัตรชนกได้อธิบายถึงขั้นตอน เทคนิคการออกแบบ และ 3 สิ่งสำคัญที่นักออกแบบยุคสตรีมมิงไม่ควรพลาด รวมไปถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและความเป็นอยู่ในฮ่องกงสำหรับคนที่สนใจออกตามหาโอกาสครั้งใหม่ในชีวิต [caption id="attachment_39584" align="aligncenter" width="984"]