สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: รับมือชีวิตใหม่กับโควิด-19 ประวัติศาสตร์ย่อหนึ่งร้อยปีโรคระบาด

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: รับมือชีวิตใหม่กับโควิด-19 ประวัติศาสตร์ย่อหนึ่งร้อยปีโรคระบาด

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับประเด็นคำถามที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ย่อ 100 ปีของโรคระบาดจากไข้หวัดสเปนสู่โควิด-19

"ผมคิดว่าทางออกที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยนะครับ เราต้องการภาวะผู้นำที่เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ อย่างจริงจัง ต้องการเห็นผู้นำได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ในทุก ๆ มิติ ทั้งมิติสุขภาพ มิติทางด้านเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม โดยที่ไม่ไปตีความอะไรที่ทำให้มองปัญหาต่าง ๆ แยกส่วนหรือผิดเพี้ยนไปได้ ถ้ามีภาวะผู้นำอย่างนี้ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ฉับพลัน" ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีหลายประเด็นที่คนในสังคม ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก มีวาระที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันเพื่อรับมือกับ new normal ของชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ บทสัมภาษณ์ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับประเด็นคำถามที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ย่อ 100 ปีของโรคระบาดจากไข้หวัดสเปนสู่โควิด-19, นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ป้องกันโควิด-19 อย่างเช่น face shield ไปจนถึงการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป ที่เรา "ต้องเตรียมพร้อม" เพื่อให้คนทุกชนชั้นในสังคมผ่านพ้นไปด้วยกัน   The People: เทียบกับวิกฤตที่ผ่านมา โควิด-19 อยู่ในส่วนไหนของประวัติศาสตร์โลก สุรพงษ์: ถ้าใช้คำที่เคยมีการใช้กันบ่อย ๆ ผมว่าเป็น Mother of all fears มารดาความน่ากลัวทั้งปวง คือถ้าพูดในแง่ของโรคก็ต้องถือว่าเป็นโรคที่รุนแรง ถ้าหากในช่วงนี้ของประวัติศาสตร์ ถ้าเรามีขีดความสามารถหรือมีปัญหาคล้าย ๆ กับสมัยเมื่อ 102 ปีที่แล้ว ยุค ค.ศ.1918 ซึ่งตอนนั้นมีสงครามโลกด้วย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคยังไม่มากเท่ากับทุกวันนี้ ไม่แน่อาจจะระบาดหนักถึงกับตอนสมัยโน้นที่มีผู้ป่วย 500 ล้านคน เสียชีวิต 50 ล้านคน ในแง่ของเชิงโรคระบาด โควิด-19 ระบาดได้เร็ว ขณะเดียวกันเองเป็นการระบาดโดยที่คนแพร่เชื้อยังไม่มีอาการด้วยซ้ำไป อันนี้เป็นอันที่แตกต่างจากตัวเชื้อโรคอื่น ๆ เชื้อโรคอื่น ๆ ที่หากรุนแรงทำให้เสียชีวิตมาก ส่วนใหญ่จะระบาดได้ช้ากว่าอย่างเช่น MERS ซึ่งเสียชีวิตประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ระบาดได้ยากมาก ดังนั้นตัวโควิด-19 ทั้งระบาดได้เร็ว ระบาดตอนช่วงที่ไม่มีอาการ ขณะเดียวกันยังสามารถทำให้อัตราตายสูง ในวันนี้คร่าว ๆ ผมว่ามันอยู่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปแล้ว อาจจะไปสูงกว่านั้นด้วยซ้ำไป อันนั้นคืออันแรก   อันที่สอง พอมีปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในยุคโลกาภิวัตน์ สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของโลก คือยุค Great Depression (ค.ศ. 1929) ตอนนั้น ความเป็นโลกาภิวัตน์ยังไม่เยอะมากเท่ากับทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ที่จะเดินทางได้สะดวกมาก ชั่วระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถจะข้ามทวีปได้ เรื่องการพึ่งพาเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศอย่างมาก ตรงนี้พอเกิดปัญหาโควิด-19 ขึ้นมาปุ๊บ มันทำให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก เรื่องท่องเที่ยว ฉะนั้นประเทศไหนที่พึ่งพาธุรกิจระหว่างประเทศมาก ประเทศนั้นก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ณ วันนี้ผมคิดว่าอะไรที่เราเคยเจอมาก่อนหน้านี้ ณ วันนี้เราจะเจอหนักกว่าที่เคยเจอมาแล้ว   The People: ความรุนแรงของโควิด-19 เมื่อเทียบกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต? สุรพงษ์: คือถ้าเปรียบเทียบกับ HIV HIV เป็นการติดต่อที่เมื่อก่อนที่จะค้นพบก็อาจจะมึนงงว่าติดต่อได้ยังไง แต่พอตอนหลังพบว่าเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือทางเลือด ฉะนั้นการป้องกันก็ไม่ยากแล้ว เช่น ถ้าทางเพศสัมพันธ์เราก็เน้นเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย ทางเลือดอย่างเช่น เรื่องการให้เลือดหรือการฉีดยาเสพติดเข้าเส้นก็สามารถจะรณรงค์ว่า ถ้าหากจะมีการฉีด ก็จะต้องเปลี่ยนเข็มใหม่ ฉะนั้นการป้องกัน HIV วันนี้ผมว่าเราทำได้ดีพอสมควร แล้วรวมทั้ง HIV เองก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเสียชีวิตทันที มันจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จนกระทั่งทำให้ร่างกายของคนที่ติดเชื้อ HIV มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แล้วถึงจะมีโรคแทรกซ้อนตามมา ถ้าเปรียบเทียบกับ MERS แล้ว MERS นี่รุนแรง อัตราการตาย 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าอัตราการแพร่เชื้อยากมาก เคยมีเคสที่เป็นกรณีศึกษาคือว่า คนที่เป็น MERS เดินทางขึ้นไปบนเครื่องบิน ในลำนั้นมีคนอยู่ประมาณ 200 กว่าคน ปรากฏว่าไม่มีใครติดเลยสักคนหนึ่ง จากกรณีของการที่มีผู้ติดเชื้อ MERS ขึ้นไปในเครื่องบิน นั่นแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อเนี่ยยาก ถ้าเปรียบเทียบกับ SARS ก็แบบเดียวกัน คือ SARS มีอัตราตายประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การติดเชื้อน้อยกว่าโควิด-19 เพราะว่าตอนช่วงที่เราเจอ SARS เมื่อปี 2003 คือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเองก็ระมัดระวัง มีการศึกษาติดตามผู้ที่เป็นผู้ป่วย SARS ผู้ป่วย SARS ขึ้นเครื่องบินเหมือนกัน ปรากฏว่าเราติดตามไป 14 วัน คนที่นั่งข้าง ๆ ผู้ป่วย SARS ไม่ติดเชื้อ นั่นคือว่าการติดเชื้อก็ยากกว่าโควิด-19 งั้นถ้าถามว่า ณ วันนี้เขาบอกว่าตัวโรคโควิด-19 เป็น SARS-CoV-2 ก็คือเป็นรุ่นที่ 2 ถ้าเทียบเป็นหนังก็คือเหมือน The Empire Strikes Back (Star Wars: Episode V, 1980) คือว่าแพ้ในรอบนั้นเมื่อปี 2003 มาครั้งนี้เขามาใหม่ เขาเก่งขึ้น เขาแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลงมากเท่าไหร่นัก สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: รับมือชีวิตใหม่กับโควิด-19 ประวัติศาสตร์ย่อหนึ่งร้อยปีโรคระบาด The People: แล้วถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปน? สุรพงษ์: คือถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปน (Spanish flu) ไข้หวัดสเปนมีผู้ติดเชื้อประมาณ 500 ล้านคน เสียชีวิต 50 ล้านคน แต่ตอนนั้นมันมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ไปทำให้การติดเชื้อรุนแรง เช่นว่า ตอนนั้นมีสงครามโลก มีการส่งคนจากประเทศต่าง ๆ เข้าไปในสมรภูมิ เพราะฉะนั้นถ้ามีการระบาดของเชื้อมันก็จะระบาดกันในแคมป์ทหารได้ง่ายขึ้น แล้วก็โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนไข้หวัดสเปนเกิดขึ้นในปี 1918 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสงครามโลกครั้งที่ 1 การที่มีคนติดเชื้อประมาณ 500 ล้านคน เสียชีวิต 50 ล้านคน มันเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ปัจจัยแรกคือพอมีสงครามโลกเลยมีการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก อย่างเช่น จากประเทศหนึ่งไปประเทศหนึ่ง จากทวีปอเมริกาไปทวีปยุโรป พอมีการเคลื่อนย้ายคน พอมีการติดเชื้อในค่ายทหาร มันจึงนำมาสู่การระบาดข้ามประเทศได้  ประการที่สอง พอเป็นช่วงสงครามโลก พวกโรงงานต่าง ๆ ที่จะต้องมีการผลิต ทั้งผลิตพวกอุปกรณ์ทำสงครามอย่างนี้เป็นต้นก็หยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่วันนี้เราบอกว่า ให้มี physical distancing ให้หยุดทำงานนู่นนี่นั่น แต่ตอนช่วงสงครามโลกเขาไม่หยุดกันก็เลยเกิดการแพร่เชื้อได้ ปัจจัยที่สามคือ พอมีสงครามโลก มันก็เป็นเรื่องของความลับของข้อมูล ไม่พยายามเปิดเผยว่ามีการระบาดของโรคในท้องที่นั้น ๆ ในประเทศนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบั่นทอนขวัญกำลังใจ ฉะนั้นข้อมูลข่าวสารมันไม่แพร่ไป คือถ้าเปรียบเทียบ ณ วันนี้ ถ้าหากเราเจอสถานการณ์แบบนั้น เช่น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ปกปิดกันไว้ หรือประเภทยังต้องมีการรวมกลุ่มทำงานกันตลอดเวลาเพื่อที่จะรับมือกับสงคราม วันนี้เราอาจจะมีคนป่วยมากกว่านั้น ไม่ใช่ 3 ล้านคนอย่างทุกวันนี้ อาจจะไปไกลเร็วมาก ปัจจัยของไข้หวัดสเปนเองก็เป็นตัวที่รุนแรง เพราะว่ามันเพิ่งเกิดใหม่ในช่วงเมื่อ 102 ปีที่แล้ว แต่ว่ามันมีปัจจัยอื่น ๆ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้มาก  ถ้ามองวันนี้ ผมคิดว่าโควิด-19 เองมีความรุนแรงไหม มี แพร่กระจายได้เร็วไหม เป็น แต่ว่าในแง่ของการรับมือ พอเราอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร การแบ่งปันข้อมูลกัน เกิดที่จีนปุ๊บ ประเทศอื่น ๆ รู้แล้วว่ามันเป็นโคโรน่าไวรัส อะไรที่เกิดที่จีน ที่จีนก็ทำ social distancing ทำมาตรการต่าง ๆ ทุกคนก็เรียนรู้แล้วก็แบ่งปัน แต่ว่าบางประเทศเตรียมการได้ดี บางประเทศประมาท ก็เลยเจอเหตุการณ์อย่างที่เราเห็นในอิตาลี ในสเปน แล้วก็ในอเมริกา   The People: สาธารณสุขไทยทำได้ดีแค่ไหนกับการรับมือโควิด-19 สุรพงษ์: ผมคิดว่าเราเคยรับมือกับ SARS กับไข้หวัดนก กับไข้หวัด 2009 มาแล้ว เพราะฉะนั้นเราผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นมามากพอสมควร รวมทั้งนักระบาดวิทยาเรา ผมคิดว่าเป็นนักระบาดที่เก่ง การที่บอกว่าประเทศไทยมีความสามารถทางด้านระบบสาธารณสุขอันดับ 6 ของโลก ไม่ใช่มาเล่น ๆ เป็นการเกิดขึ้นจากการพัฒนาเรื่องระบบการควบคุมโรคกันมา 40 กว่าปี ผมเองยังจำได้ตอนที่เริ่มเป็นแพทย์ใหม่ ๆ แล้วได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เรื่องระบาดวิทยา ความรู้เรื่องระบาดวิทยาและหน่วยงานระบาดวิทยาของประเทศไทยเริ่มต้นมา 40 กว่าปีแล้ว มีการสร้างนักระบาดวิทยาที่เป็นแพทย์ ที่เป็นพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขต่อเนื่องกันมา เพราะงั้นเรามีประสบการณ์ตรงนี้ ปัจจัยที่สองคือ เรื่องปัจจัยของอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เราเริ่มต้นกันมาจนถึงวันนี้ ผมคิดว่าก็ 40 ปีเหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบการควบคุมโรคเข้าไปในชุมชนทำได้อย่างเข้มแข็ง คือถ้าเปรียบเทียบ ผมว่าอันนี้เป็นอาวุธลับของระบบสาธารณสุขไทยซึ่งไม่มีใครมี คือในประเทศอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ก็อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าหลังจากนี้ไป เรื่องระบบอาสาสมัครที่ทำกันในชุมชนจะเป็นเรื่องเด่นสำคัญในการควบคุมโรคที่เรียนรู้จากไทย   The People: ถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายจนเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ควรจะให้เครดิตหน่วยงานไหนบ้าง สุรพงษ์: ผมว่าต้องให้เครดิตทุกระดับอยู่แล้วนะครับ คือในแง่ของโรคระบาด มันมี 3 ขั้นตอนคือ มีการป้องกันโรค มีเรื่องการควบคุมโรค และมีเรื่องของการรักษา คือเรื่องการรักษาโรค เรามีแพทย์ที่เก่งกาจในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล มีการเตรียมความพร้อม ทั้งพวกยา พวกเตียง พวกเครื่องช่วยหายใจ แล้วก็ดูแลผู้ป่วยได้ดี เพราะฉะนั้นตรงนี้ทำให้เราเบาใจได้เปลาะหนึ่งว่า ถ้าหากมีปัญหาของผู้ป่วยมากระดับหนึ่ง เรายังพอสามารถที่จะรับได้ไหว อย่าง ณ วันนี้ที่บอกว่าเรามีเตียงอยู่ประมาณ 15,000 เตียง มีเครื่องช่วยหายใจประมาณ 12,000 เครื่อง ฉะนั้นเราเบาใจได้ว่า ถ้ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเราสามารถดูแลได้แน่ ไม่เกิดปัญหาประเภทว่า ต้องตัดสินใจว่าจะเอาใครไว้ เอาใครปล่อยให้ตายไปเหมือนกับในบางประเทศ เรื่องการควบคุมโรค อย่างที่เรียนไปแล้วว่า เรามีทั้งนักระบาดวิทยา มีทั้ง อสม. ตรงนี้ก็เป็นระบบของการควบคุมโรคที่เฝ้าระวังได้ดี รวมทั้งเรื่องการเทสต์ ตรวจสอบจากน้ำลาย เพื่อที่จะดูว่าใครมีโอกาสติดเชื้อได้บ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะขยายได้ไม่เร็วนัก แต่พอเราตั้งตัวทัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็สามารถ set up แล็บฯ ขึ้นมาได้ตอนนี้ประมาณ 120 แล็บฯ แล้ว ตรวจได้ประมาณ 20,000 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งนี่ก็ถือว่ามีขีดความสามารถ ศักยภาพที่เราเชื่อว่าสบายใจได้ รองรับได้ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดผมว่าอยู่ที่การป้องกันโรค การป้องกันโรคต้องให้เครดิตใคร ต้องให้เครดิตคนทุก ๆ คน คือในบรรดา 3 ขั้นตอน เรื่องป้องกันโรค ควบคุมโรค และการรักษาโรคในเรื่องโรคระบาด สำคัญที่สุดคือการป้องกัน คือถ้าเราตั้งรับ รอรักษา ยังไง ๆ มันก็ต้องเจอคนไข้มาก จนกระทั่งรับมือไม่ไหวสักวันหนึ่ง แต่ถ้ามีคนไข้ประเภทในชุมชนเยอะมาก การควบคุมโรคอาจจะทำได้ลำบากมาก เพราะต้องทุ่มเททรัพยากรมาก ดังนั้นการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก เป็น HIV เป็นมาลาเรีย หรือแม้แต่ประเภทพยาธิปากขอ การป้องกันโรคง่ายสุดก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการใช้เครื่องมือช่วยในการที่จะไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เรา อย่าง HIV เรามีถุงยางอนามัย เวลามีเพศสัมพันธ์ เรื่องไข้เลือดออกเราก็มีเรื่องให้นอนในมุ้ง หรือการหยอดทรายอะเบทเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ฉะนั้นตัวโควิด-19 ถ้าเรารู้ว่ามันเข้าสู่ร่างกายได้แค่ 3 ทางเท่านั้นคือ ตา จมูก ปาก ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเข้า 3 ทางนี้ ถ้าทำได้สำเร็จเราก็ไม่ต้องกลัวเลย ต้องมีวัคซีนไหม มีวัคซีนก็ดี ไม่มีวัคซีนเราสามารถป้องกันได้ ฉะนั้นต้องให้เครดิตว่าคนทุก ๆ คนในสังคมได้ร่วมกัน พอบอกใส่หน้ากากก็ใส่หน้ากากกันทุกคน เราอาจจะโชคดีที่ว่าในสังคมกรุงเทพฯ เพิ่งเจอ PM 2.5 ในช่วงปลายปีถึงต้นปี เราคุ้นเคยกับการใส่หน้ากากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพอมีเตือนว่าให้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโควิด-19 ทุกคนก็รู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเท่าไหร่ เรื่องการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ คือสมัย SARS เราล้างมือกันเป็นระวิง รวมทั้งตอนสมัย SARS เราบอกว่าไม่จับมือกันนะ แล้วเราก็ลืม ๆ กันไป มีอยู่ยุคหนึ่งไม่กี่ปีมานี้ องค์การเภสัชกรรมแจกแอลกอฮอล์เจล แต่ว่าคนรับมาบอกว่าเอามาทำไมเพราะแทบไม่ได้ใช้ นั่นเพราะว่าเราไม่ได้จำว่าสมัย SARS เราเจออะไรบ้าง มาถึงวันนี้การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญ หรือแม้แต่เรื่องกินร้อน ช้อนกลาง นี่ก็เป็นเรื่องที่เราเรียนรู้จากสมัยไข้หวัดนกอย่างนี้เป็นต้น เพราะงั้นเรามีประสบการณ์อย่างนี้แล้วพอบอกว่าทุกคนให้ความร่วมมือ ทุกคนก็ป้องกันได้ ไม่จำเป็นต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าตามหลักการของภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity ถ้าในสังคมหนึ่งสามารถที่จะมีคนที่ป้องกันได้มันก็จะสามารถทำให้เชื้อโรคนั้นไม่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพราะงั้นถ้าเราดูวันนี้มันมีการคาดการณ์ว่าตัวความสามารถในการแพร่กระจายโรคของโควิด-19 ถ้ามีการป้องกันในชุมชน ในสังคมประมาณสัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็เพียงพอแล้ว ทำให้การระบาดไม่รุนแรงได้ มันอาจจะมีประปรายอย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อยู่ในชุมชนนั้น ในสังคมนั้น ใส่หน้ากาก ใส่ face shield  เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เราก็สามารถบอกได้ว่าเราควบคุมการระบาดของโรคได้ดี    The People: เทียบกับหลายประเทศ บ้านเราถือว่าระบาดหนักประมาณไหน สุรพงษ์: อย่างที่เรียนไปแล้วว่า โชคดีที่เราคุ้นเคยกับการใส่หน้ากาก PM 2.5 โชคดีที่วัฒนธรรมของเราไม่ได้เป็นลักษณะเหมือนบางประเทศในยุโรป อย่างเช่นว่า เรายกมือไหว้ เราไม่สัมผัสมือกัน เราไม่โอบกอดกัน เราไม่หอมแก้มกันเมื่อพบหน้า เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้ยากโดยอัตโนมัติ แล้วอีกประการหนึ่งคือ ของเราถ้าไม่มีเหตุที่มีคลัสเตอร์ อย่างเช่น เวทีมวยลุมพินี หรืออย่างผับ หรืออย่างที่มีพิธีกรรมทางศาสนาที่มีคนจำนวนหนึ่งไปรับเชื้อมา ถ้าไม่มีคลัสเตอร์เหล่านั้น ผมว่าวันนี้เราก็จะมีผู้ป่วยประเภทวันหนึ่ง 1 คน 2 คน อย่างนี้มาเรื่อย ๆ แต่เผอิญมันมีคลัสเตอร์เวทีมวยลุมพินี ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม แล้วก็เลยเกิดการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์นั้น ผมคิดว่าต้องให้เครดิตคุณแมทธิว ดีน คือถ้าวันนั้นวันที่ 13 มีนาคม คุณแมทธิว ดีน ไม่พูดออกทางโซเชียลมีเดียว่าตนเองเป็นโควิด-19 ติดเชื้อแล้ว ผมว่าจะยังไม่เกิดความตื่นตัว แต่พอแมทธิว ดีน บอกว่าเขาเป็นโควิด-19 ก็เกิดการสอบทางย้อนกลับไป นักระบาดวิทยาก็เหมือนนักสืบ ก็จะสอบทางย้อนกลับไปว่าเขาไปไหนมาบ้าง ตอนแรกก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่เวทีมวยลุมพินี หรือจะเป็นที่ทำงานของเขาที่เป็นสนามฝึกซ้อมมวยเหมือนกัน แล้วเผอิญมีนายก อบจ. จากฉะเชิงเทรา ออกมาพูดด้วยว่า ตัวเองไปที่เวทีมวยลุมพินีด้วยแล้วตัวเองติดเชื้อ ก็เลยมาบรรจบกันพอดี รู้ว่าเวทีมวยอาจจะเป็นจุดสำคัญที่นำไปสู่การแพร่เชื้อ ดังนั้นก็เลยเกิดการควานหาคนที่ไปเวทีมวยลุมพินีในวันนั้นที่เป็นเซียนมวยต่าง ๆ ซึ่งยังไปเล่นพนันมวยตามเวทีต่าง ๆ ทั่วประเทศเลย ฉะนั้นพอรู้เร็ว ลักษณะของการแพร่ระบาดถึงไม่ได้เกิดขึ้นมาก คือถ้าเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ เกาหลีใต้คล้าย ๆ ประเทศไทยเลย ช่วงแรกก็ประปรายไม่เยอะมาก แต่พอเจอ super spreader ที่บอกว่าเป็นผู้ป่วยรายที่ 31 ที่เป็นผู้หญิงอาวุโสคนหนึ่งไปร่วมในงานพิธีของกลุ่มที่เป็นลัทธิศาสนาแบบหนึ่ง แล้วก็ยังตระเวนไปมา กว่าจะเจอ แพร่เชื้อไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นเกาหลีใต้ถึงขึ้นไปเป็นหมื่น ของเราวันนี้ เราโชคดีที่เราเจอคลัสเตอร์นี้เร็ว แล้วก็ไปควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว ถ้าถามว่าเป็นความสามารถไหม ผมว่าเป็นทั้งเก่งและเฮง คือเราเก่งด้วยแต่เราเฮงด้วย คือเรารู้เร็วในคลัสเตอร์ที่มันเกิดขึ้น พอหลังจากไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ แล้ว หลังจากนั้นเราสามารถจะทำให้การระบาดถึงจุดพีคเร็วมาก จุดพีคของการระบาดครั้งนี้อยู่ที่ประมาณปลายมีนาคม ก่อนที่จะมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินด้วยซ้ำไป หลังจากนั้นก็เริ่มลงมาเรื่อย ๆ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: รับมือชีวิตใหม่กับโควิด-19 ประวัติศาสตร์ย่อหนึ่งร้อยปีโรคระบาด The People: new normal ในการใช้ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร สุรพงษ์: ณ วันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราเหมือนกับไข้หวัดสเปน หรือจะอยู่กับเราเหมือนกับ SARS เพราะมันก็เป็นได้ทั้ง 2 แบบนะครับ คือตัวไข้หวัดสเปน ณ วันเวลาที่มีการหยุดระบาด หลังจากที่มีคลื่นการระบาดแล้ว 3 ลูก ไข้หวัดสเปนมีคลื่นระบาดลูกที่หนึ่ง ลูกที่สอง ลูกที่สาม แล้วก็หยุดระบาดไป ณ วันนั้นวัคซีนก็ยังไม่มี แต่ว่าพอมันหยุดระบาดแล้ว strain (สายพันธุ์) ที่มันอันตรายรุนแรงมันก็หายไปพร้อมกับผู้ป่วยที่เสียชีวิต ก็คือไม่ได้แพร่ต่อ แต่ strain ที่มันอ่อนแอมันก็กลายเป็นโรคประจำถิ่น แล้วก็เป็นอยู่กันประเภททุก ๆ ปีแหละ ก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตทุก ๆ ปีแต่ว่าไม่ได้มาก ไม่ได้แรงเหมือนกับตอนที่มีการระบาดหนัก ๆ อันนี้นั่นคือแบบหนึ่ง ซึ่งถามว่าโควิด-19 ก็อาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ คือว่าสุดท้ายแล้ว strain ที่รุนแรงทำให้คนเสียชีวิตไปก็อาจจะแพร่ระบาดต่อไม่ได้ หรือ strain ที่ประเภทยังไม่แรงมาก ก็กลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป ซึ่งการปรับตัวของเราช่วงแรก ๆ นี้ยังต้องเน้นเรื่องการใส่หน้ากาก ใส่ face shield ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เรื่องการมี physical distancing ไปอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่านานเท่าไหร่  เรื่องการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ก็ดี ผมคิดว่าเรื่องโควิด-19 มันทำให้หลายสิ่งหลายอย่างต้องกลับมาทบทวนใหม่ ผมเชื่อว่า physical distancing ทำไปสักพักหนึ่ง ต่อไปถ้าเราแน่ใจว่าโรคมันไม่มีปัญหา มันควบคุมได้ดี ไม่มีเคสใหม่แล้ว physical distancing อาจจะไม่ใช่เป็นข้อปฏิบัติชนิดที่เข้มงวด ชนิดที่ไม่ทำไม่ได้ อาจจะมีการผ่อนคลายได้บ้างนะครับ แต่สิ่งที่จะตามมาคือความรู้สึกของคนจะไม่เหมือนเดิม ที่แน่ ๆ คืออย่างตอนช่วงที่คน work from home อยู่บ้าน มันก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการทำงาน คนจำนวนหนึ่งที่เขาบอกว่าจะกลายเป็น useless class ก็คือว่าตัวผู้ที่เป็นนายจ้างอาจจะเริ่มรู้สึกว่าจำเป็นไหมที่จะต้องมีคนกลุ่มนี้อยู่ในที่ทำงานของตัวเอง การพยายามที่จะพัฒนาประสิทธิภาพอาจจะเกิดขึ้น ลดจำนวนคนลง เพราะว่าทำให้ต้นทุนต่ำลง และสามารถจะประคองตัวให้อยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจต่อจากนี้ เพราะว่าสิ่งที่ตามมาหลังจากนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องแค่วิถีชีวิต แต่เป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หลายสิ่งหลายอย่างที่มองว่าจะเกิดขึ้นและอาจจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป พอมีโควิด-19 มันทำให้สิ่งที่เรียกว่า disruption มันเกิดขึ้นฉับพลัน หลายสิ่งหลายอย่างที่มันจะรออีกสัก 2-3 ปี อีก 5 ปี มันอาจจะไม่ได้รอขนาดนั้น แล้วมันอาจจะเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน เรื่องของการค้าขายออนไลน์ เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่ามีหลาย ๆ คนที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยซื้อของออนไลน์กันอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมาการซื้อของออนไลน์เป็นกิจกรรมที่มีการทำมากอย่างก้าวกระโดด Amazon เป็นหุ้นตัวที่ all time high แสดงว่าคนมีกิจกรรมอย่างนี้มากขึ้น ประเทศไทยก็คงแบบเดียวกัน เราจะเห็นว่าสิ่งที่ตามมาในแง่ของพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ดี พฤติกรรมการจ้างงานก็ดี มันจะเปลี่ยนไป แล้วก็แน่นอนภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลอย่างรุนแรง มันจะนำไปสู่การปกป้องตัวเอง การกีดกันการค้าระหว่างประเทศ เพราะว่าหลาย ๆ ประเทศจะเริ่มมีความรู้สึกว่า ปล่อยให้โลกาภิวัตน์เดินหน้าต่ออย่างนี้ไม่ได้ คือการไปผลิตในประเทศหนึ่ง ประกอบในประเทศหนึ่ง เสร็จแล้วก็นำเข้ามา พอถึงเวลาเกิดวิกฤตแล้วมันไม่สามารถจะตอบโจทย์ปัญหาในตัวประเทศของตัวเองได้ ดังนั้นในแง่ของ globalization อาจจะถูกมองว่าอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีอีกต่อไป แต่อาจจะไม่ถึงขนาดจะเป็น nationalism รักชาติ แต่อาจจะเป็น regionalism คือมองในแง่ของส่วนภูมิภาคอะไรทำนองนั้น ส่วนประเทศไทยเอง ผมว่าสิ่งที่จะมีผลกระทบสำคัญคือเรื่องเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าประเทศไทยก่อนหน้านี้เราพึ่งพาการส่งออก พึ่งพาการท่องเที่ยว ทำให้ดันจีดีพีให้โต ดันเศรษฐกิจให้โต มาวันนี้เราเห็นชัดว่าการส่งออกอาจจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยั่งยืนอีกเสมอไป การท่องเที่ยวเราอาจจะไม่สามารถพึ่งพาได้เหมือนเดิมแล้ว ต้องมาพึ่งพาตลาดในประเทศ ตลาดในประเทศถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ คนจำนวนมากไม่มีกำลังซื้อ ความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนที่มีกำลังซื้อสูงมีเพียงแค่หยิบมือเดียว คนที่ทั่ว ๆ ไปมีกำลังซื้อน้อยมาก ฉะนั้นตลาดในประเทศไม่มีทางโตถ้าความเหลื่อมล้ำมันเป็นอย่างนี้อยู่ ผมคิดว่านโยบายของรัฐต่อจากนี้ไปก็คงจะต้องเน้นเรื่องการทำให้คนที่อยู่ระดับล่างของสังคมได้มีโอกาสที่จะทำมาหากินได้มากขึ้น มีศักยภาพในการที่จะสร้างรายได้ได้มากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเตรียมการให้ดี เรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะว่าครั้งนี้การที่เราฝ่าฟันเรื่องโควิด-19 มาได้ดีส่วนหนึ่งโดยที่ไม่ลำบากมากนัก ผมว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยสำคัญ คือถ้าหากไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนเป็นโควิด-19 จำนวนไม่น้อยจะไม่สามารถเข้าถึงบริการได้เลย แล้วก็จะนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อได้เร็ว เพราะงั้นพอมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามา ทุกคนสบายใจได้ว่าตัวเองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เข้ามาก็จะได้รับการดูแลที่ดี เพราะงั้นจะมีหลักประกันอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา เรื่องสวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต่อจากนี้ก็คงจะต้องมีการพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง   The People: พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นทางออกในตอนนี้ไหม สุรพงษ์:  คือถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำอะไรที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อทำไม่ได้ หนึ่งคือการเคอร์ฟิว อันที่สองก็คือการควบคุมไม่ให้มีการชุมนุม แล้วก็ไม่ให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันที่สามคือถ้าทำอะไรไปแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถามว่ามันมีผลในการควบคุมโรคไหม มาถึงวันนี้ผมคิดว่าไม่ เพราะการควบคุมโรคต้องอาศัยกระบวนการของนักระบาดวิทยา ของ อสม. แล้ว ณ วันนี้เราก็มีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด ซึ่งดูในทุกจังหวัดอยู่แล้ว และแต่ละจังหวัดเขาก็จะมียุทธวิธีไม่เหมือนกัน เคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 ช่วยไหม ผมเรียนตรง ๆ ว่าไม่ช่วย เพราะว่าระหว่างนั้นคือการแพร่กระจายของไวรัสมันไม่ได้แพร่เฉพาะตอนกลางคืน มันแพร่กลางวันก็ได้ ขณะที่กลางวันเรายังให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ได้ กลางคืนถามว่าถ้ามีกิจกรรมมันจะแพร่เชื้อไวรัสมากกว่ากลางวันไหม ก็ไม่ แล้วไม่ใช่ว่าคนเดินทางไปในช่วงกลางคืนบนถนนและจะไปแพร่ไวรัสต่อ ถ้าเกรงว่าจะมีการสังสรรค์เฮฮากัน ร้านเหล้าก็ปิด ผับก็ปิดแล้ว มันก็ไม่มีใครจะไปสังสรรค์เฮฮาอีกนอกจากที่บ้าน ถ้าถามที่บ้าน อยู่ที่บ้าน ถ้าหากเอาจริง ๆ ว่าเคอร์ฟิวไปจับเขาได้ไหม ไม่ได้นะเพราะเขาอยู่ที่บ้าน เพียงแต่วันนี้ก็ไปทำนอกเคอร์ฟิว ใครไปสังสรรค์กินเหล้าที่บ้านยังโดนจับด้วย คำถามคือว่าอันนี้มันเป็นการที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไหม ไม่ใช่ ถ้าหากคนในบ้านนั้นไม่มีใครเป็นโควิด-19  แล้วก็ระวังตัวอยู่เสมอ ไม่กินเบียร์จากกระป๋องเดียวกัน ไม่ใช้ช้อนกลางเดียวกัน ไม่กินแก้วเดียวกัน ก็ไม่มีทางติดต่อกันอยู่แล้ว ฉะนั้นเคอร์ฟิวไม่ใช่เป็นเหตุจำเป็นที่จะต้องมี ย้อนกลับไปว่า แล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นไหม ผมเรียนตรง ๆ ว่าผมคิดว่าไม่จำเป็น แต่ที่มันจะทำให้เกิดความน่ากลัวก็คือว่า ทำให้คนไม่กล้าที่จะนำเสนอข้อมูลอะไรต่าง ๆ ที่บางทีอาจจะเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำไปในการที่จะทำให้เฝ้าระวังได้ดีขึ้น และรวมทั้งทำให้บางทีอาจจะมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เป็นธรรม เพราะว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจนั้นไว้ว่าไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เป็นต้น  ผมว่ามาวันนี้ผมเห็นข้ออ่อนอีกอย่างหนึ่งของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือว่าพอมันมี ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มันเท่ากับเป็นองค์กรหนึ่งที่เป็นคอขวด หลาย ๆ อย่างควรจะตัดสินใจในระดับจังหวัดได้แล้ว ปรากฏว่าตัดสินใจไม่ได้ ต้องรอ ศบค. ตัดสินใจ อย่างเรื่องการเปิดเมือง เรามีจังหวัดอยู่ 9 จังหวัด ที่ไม่เคยมีผู้ป่วยเลยแม้แต่คนเดียว เรามีอยู่ประมาณ 36 จังหวัด ที่ไม่มีผู้ป่วยมาแล้ว 14 วัน จังหวัดเหล่านี้ถ้าหากตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ กรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด เขาสามารถตัดสินใจได้เลยว่าเขาจะผ่อนคลายได้ยังไง แต่ละจังหวัดไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่มาวันนี้พอมี ศบค. เป็นคอขวด ถ้า ศบค. ไม่สั่งทำอะไรต่อไม่ได้ มันจะเป็นผลเสียมากกว่า ถ้าหากเรามองว่าเรามี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจะรวมศูนย์อำนาจให้การตัดสินใจฉับพลัน ฉับไว แก้ปัญหาได้เร็ว คำถามคือว่าวันนี้การบริหารจัดการฉับพลันไหม มันมองไปข้างหน้าเพื่อที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ ไหม ผมเรียนตรง ๆ ว่าผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น    The People: จากนี้จะมีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ที่จะออกมาช่วยลดการระบาดไหม สุรพงษ์:  ระหว่างที่นั่งดูเรื่องโควิด-19 ไป ก็เกิดมีความรู้สึกว่า เรามัวแต่มาให้ความสนใจกับการรักษาโรค ก็คือเป็นการทำงานเชิงรับ ผมคิดว่าอันนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ทำอย่างไรที่เราจะทำงานเชิงรุก คือไม่ให้มีผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยน้อยที่สุดดีกว่า การควบคุมโรคก็เป็นวิธีหนึ่ง การออกไปตรวจให้ได้มากที่สุด การที่จะ isolate คนที่เป็นผู้ป่วย การที่จะไปหาคนที่สัมผัสผู้ป่วยและไปกักกัน อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่มันก็ใช้พลังงานเยอะ ฉะนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการป้องกันโรค ผมเรียนระบาดวิทยามาผมก็รู้ว่าการป้องกันโรคคือกลไกสำคัญที่สุด แล้วก็คิดย้อนกลับไปว่า เมื่อปี 2527 ตอนนั้นที่เราเจอ HIV ใหม่ ๆ ในประเทศไทย ตอนนั้นเขากลัวกันมากแบบประเภทไม่รู้จะทำยังไงกันดี แล้วควบคุมโรคก็ไม่ได้ ยาแอนตี้ไวรัสก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการแพร่ระบาดก็มาก จนกระทั่งตอนหลังพอรู้ว่ามีการแพร่ระบาดทางเพศสัมพันธ์ เอาไปทำอะไรกัน ไปตรวจผู้หญิงที่เขาให้บริการทางเพศทุกสัปดาห์ มันเหมือนกับที่วันนี้เราออกไปตรวจหาโควิด-19 RT-PCR เราออกไปตรวจเรื่อย ๆ นั่นคือไปตรวจทุกสัปดาห์ ตรวจ ๆ ๆ ถามว่าเชื้อระบาดลดลงไหม ไม่ ก็ยังมีระบาดประปรายอยู่เรื่อย ๆ เพราะว่าไม่มีทางที่จะบอกว่า ไปตรวจเสร็จปั๊บ แล้วหลังจากนั้นเกิดเขารับเชื้อขึ้นมาก่อนที่จะมีการตรวจครั้งต่อไป เขาก็แพร่เชื้อต่อได้อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากสมมติว่า HIV สามารถที่จะป้องกันได้ด้วยถุงยางอนามัยเท่านั้น แล้วผมก็ไปดูเคสว่าคุณหมอวิวัฒน์ โรจนพิทยากร เป็นคนเริ่มต้นทำโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ครั้งแรกที่ราชบุรีแล้วปรากฏว่าจังหวัดราชบุรีคุม HIV ได้เลย แล้วกลายเป็นว่าเป็นเคสที่ไปทำทั้งประเทศ ทำทั้งอาเซียน แล้วกลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลกว่าแค่มีถุงยางอนามัยเท่านั้นคุม HIV ได้ แล้วกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วทำไมตัวกรณีของโควิด-19 เราไม่มีถุงยางอนามัยแบบที่มันเป็นบ้าง ผมว่าบทเรียนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศที่ระบาดหนัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาก็ดี อิตาลี สเปน หรือแม้แต่สิงคโปร์ก็ดี บอกแรก ๆ คือหน้ากากอนามัยให้ใส่สำหรับคนป่วยเท่านั้น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์บอกเลยว่าหน้ากากอนามัยคนไม่ป่วยไม่ต้องใส่ แต่ผมว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดในแคมป์คนงานต่างชาติ จนกระทั่งตอนหลังเขาถึงพลิกมาว่าทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยมันช่วยอะไร ในกรณีของโควิด-19 โควิด-19 มันเข้าทางตา ทางจมูก ทางปาก หน้ากากอนามัยไม่ได้ปิดตา มันป้องกันไม่ให้เรารับเชื้อโควิด-19 ไหม ไม่ แต่มันป้องกันอะไร ป้องกันไม่ให้คนที่เป็นโควิด-19 ถึงมีอาการหรือไม่มีอาการแพร่เชื้อออกไป เพราะงั้นหน้ากากอนามัยเขาบอกให้ใส่ทุกคน ทุกคนที่ใส่จะมีทั้งคนที่เป็นปกติ คนที่ป่วยมีอาการ และคนที่ป่วยไม่มีอาการ เพราะงั้นถ้าทุกคนใส่ การแพร่เชื้อมันก็จะหยุดลง งั้นก็ไม่มีปัญหา แต่ผมกลับมาคิดต่อว่า ถ้าเกิดคนที่เขาป่วย หรือคนที่เขาไม่มีอาการป่วย เขาไม่ใส่หน้ากาก เรามีโอกาสรับเชื้อไหม มี เพราะว่าเรายังมีตา มีหน้าผากอยู่ตรงนี้ เพราะงั้นถ้ามือเราไม่ระมัดระวัง ไปจับตาขยี้ตา ก็จะมีโอกาสที่จะนำเชื้อเข้าไปทางท่อน้ำตาและเข้าสู่ทางเดินหายใจ แล้วมีรายงานวิจัยว่า คนเรามักจะสัมผัสหน้าตัวเองวันหนึ่งประมาณ 90 ครั้งโดยที่ไม่รู้ตัว เดี๋ยวมาขยี้ตา เดี๋ยวก็มานู่นนี่ หรือบางทีมาหยิบของกิน เพราะงั้นก็ใส่หน้ากากช่วงแรก ๆ ศูนย์ควบคุมโรคของอเมริกา CDC ที่บอกว่ามีข้อมูลออกมาอันหนึ่งซึ่งทุกคนฟังแล้วแปลกใจมาก ใส่หน้ากากยิ่งเสี่ยง เพราะใส่หน้ากากแล้วจะขยับนู่นขยับนี่ อยู่ไม่สุข  ฉะนั้นมือของเราที่สกปรกนี่แหละอาจจะเป็นตัวหนึ่ง ที่พอขยับหน้ากากแล้วก็ทำให้เชื้ออยู่ที่ใบหน้าเราได้   งั้นผมก็เลยกลับมาคิดว่า มี face shield สำหรับให้คุณหมอในโรงพยาบาล ช่วงนั้นเริ่มมีการเริ่มทำ face shield ประเภททำกันแบบง่าย ๆ  DIY ส่งให้คุณหมอโรงพยาบาล ผมก็ว่าเอ๊ะ ทำไมเราไม่สามารถจะให้ทุกคนใส่ face shield ได้ เพราะ face shield กลอุบายสำคัญก็คือว่าแน่นอนมันป้องกันตา ป้องกันจมูก ป้องกันปากได้ แต่ว่าต้องออกแบบให้ดี คือไม่ใช่เหมือนกับช่างก่อสร้างที่ปิดเพียงแค่ด้านหน้าเท่านั้น มันควรจะโค้งมาให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันเองกลอุบายคือมันทำให้เราไม่เอามือมาสัมผัสหน้าเรา เพราะมี face shield หลายครั้งเลยพอผมใส่ปุ๊บ พอมือสัมผัสเรารู้แล้ว เฮ้ย มันติดนี่หว่า เราล้างมือก่อน ใช้แอลกอฮอล์เช็ดก่อน เสร็จแล้วค่อยมาขยี้ตา หรือจะเอาอะไรมาเข้าปากอย่างนี้เป็นต้น เพราะงั้นต้องกลับมาดูว่าเราออกแบบ face shield ให้ครอบคลุมให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่แน่นอนจะปิดสนิทเลยก็จะเจอปัญหาเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนกัน แล้วยิ่งถ้าเป็นพลาสติกใสด้วยแล้ว มันจะมีลักษณะที่กั้นเลย เป็นกำแพงใสกั้นทันที เพราะงั้น face shield ที่ออกแบบจะต้องให้มีอากาศเข้าไปได้ แต่ขณะเดียวกันเองต้องทำให้ละอองฝอยไม่สามารถย้อนทางเข้ามาได้ง่าย ๆ  เราไม่จำเป็นที่จะต้องออกแบบ face shield ชนิดที่ปิดจนกระทั่งอากาศเข้าไม่ได้ แต่สามารถจะปิดชนิดที่ทำให้การพ่นละอองฝอยตามหลักของอากาศพลศาสตร์ มันไม่ย้อนทางเข้าไปถึงบริเวณใบหน้า เพราะงั้นจึงเป็นที่มาว่า ผมคิดว่า face shield ที่ผ่านการประกวดสามารถจะป้องกันได้ และจะนำไปสู่การออกแบบให้ใช้ในชีวิตประจำวัน แน่นอนเราไม่ต้องการประเภทที่แบบโอ้โห เหมือนกับหมอหรือพยาบาลที่อยู่ในห้องผ่าตัดที่ดูแล้วเทอะทะ น่าเกรงขาม แต่ว่าสามารถจะทำเป็นแฟชั่นได้ จะคนละสไตล์แบบไหนก็ได้ หลักการคือว่าป้องกันไม่ให้ละอองฝอยมันย้อนทางเข้ามาที่จะมาสัมผัสใบหน้าของเราได้ แล้วก็ป้องกันที่มือสัมผัสใบหน้าโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: รับมือชีวิตใหม่กับโควิด-19 ประวัติศาสตร์ย่อหนึ่งร้อยปีโรคระบาด The People: หลังจากนี้ควรพัฒนาระบบ data ไปในทิศทางไหนเพื่อรับมือกับโควิด-19 หรือโรคระบาดอื่น ๆ ในอนาคต สุรพงษ์:  ผมได้มีโอกาสคุยกับทางท่านผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เริ่มต้นเลยก็คือว่าเราอาจจะต้องทำให้ อสม. ของเรามีเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้น คือ ณ วันนี้ อสม. ยังมีลักษณะการรายงานทาง manual อาจจะมี LINE บ้างให้ใช้กัน ต่อไปนี้ที่จะมีการพัฒนากันก็คือจะมีแอปฯ ที่ อสม. ใช้ แล้วถึงเวลา อสม. สามารถที่จะลงข้อมูลผ่านแอปฯ แล้วก็จะมาประมวลผลกันในระดับประเทศได้เลย ก็จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้การสอบสวนโรค การติดตามผู้ป่วย ทำได้ง่ายขึ้น รวมศูนย์ข้อมูลได้เรียลไทม์  อีกอันหนึ่งที่เขากำลังเตรียมทำอยู่ก็คือว่า อาจจะไม่ได้ใช้เฉพาะแค่โรคติดต่อโควิด-19 นี้เท่านั้น ก็คือการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ข้อมูลจาก Telco บริษัทโทรคมนาคม เพราะว่าอันหนึ่งที่เวลาเราต้องการดูว่า คนที่เป็นผู้ป่วยเคยไปไหนมาบ้าง ไปสัมผัสใครมาบ้างระหว่างที่รับเชื้อแล้ว เพราะงั้นข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือที่เขาได้เคลื่อนย้ายไปตรงนู้นตรงนี้จะเป็นตัวสำคัญ ตรงนั้นก็เป็น mobility data ที่พอถึงเวลาถ้าบอกว่าเราพบคนที่เป็นผู้ป่วย ขอย้อนทางกลับไปว่าสัมผัสใครได้บ้าง หรือว่าเขาเดินทางไปไหนได้บ้าง ฉะนั้นสามารถที่จะแจ้งคนที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น ที่เคยมีข่าวว่าใครที่อยู่บนรถเมล์สายนั้น เวลานั้น วันที่นั้น คือบางทีผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถที่จะย้อนความจำไปได้ทั้งหมด แต่ว่าข้อมูล mobility data จะสามารถบอกได้ นอกจากนั้นกำลังจะทำเป็นดัชนีที่พูดถึงความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ แต่ละพื้นที่ก็จะนำเอาข้อมูล อย่างเช่นว่า ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลของคนที่สัมผัสผู้ป่วย ข้อมูลคนที่กักกันตัว ข้อมูลเกี่ยวกับเตียงที่มีอยู่ในโรงพยาบาลในจังหวัดนั้น อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดนั้น อย่างเช่น เครื่องช่วยหายใจ หรือพอมีโรคอื่นก็จะเป็นอุปกรณ์ตัวอื่น แล้วก็มาคำนวณเป็นดัชนีความเสี่ยงว่าพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงมากเท่าไหร่ ถ้าหากปัจจัยต่าง ๆ บางตัวพุ่งขึ้นมาเร็วมาก อย่างเช่น เจอผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเพิ่มขึ้นมาเร็วมาก ดัชนีความเสี่ยงนั้นก็จะเพิ่มขึ้นเร็ว แล้วก็จะเตือนผู้รับผิดชอบว่าต้องลงไปในพื้นที่นี้แล้วนะ อาจจะต้องลงไปตรวจใหม่หมด ชี้เป้าแล้ว อะไรทำนองนี้เป็นต้น อันสุดท้ายที่เขาได้ทำจากการระบาดครั้งนี้คือว่าเป็น dashboard ที่ให้ผู้ตัดสินใจ อย่างเช่น รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นข้อมูลของประเทศนู้นประเทศนี้ว่า เป็นข้อมูลใส่มาแล้วก็เป็น dashboard ล่าสุดของสิงคโปร์ ลี เซียนลุง เขาก็โพสต์ขึ้นมา เขาทำ dashboard ที่ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ของโควิด-19 ในทุก ๆ มิติ ผู้ป่วยใหม่มีตรวจไปแล้วเท่าไหร่ มีคนกักกันเท่าไหร่ มีคนอยู่โรงพยาบาลเท่าไหร่ คนหายเท่าไหร่อย่างนี้เป็นต้น ข้อมูลนี้ก็จะเป็น dashboard ที่เป็นเรียลไทม์ แล้วก็จะทำให้คนที่มีหน้าที่ตัดสินใจเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยการรายงานเป็นขั้นเป็นตอน ณ ตอนนี้ในแง่การควบคุมโรค ผมว่าสิ่งที่เห็นจากกรณีของโควิด-19 คือได้เห็นการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีที่ใช้กันในวงการอื่น ๆ มาใช้ในวงการสาธารณสุขมากขึ้น และผมว่าอันนี้น่าจะเป็นพื้นฐานที่ดี ที่ทำให้ต่อจากนี้ไปเราจะรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุขได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นมา   The People: ทางออกประเทศไทยสำหรับการรับมือกับโควิด-19 คืออะไร สุรพงษ์:  ผมคิดว่าทางออกที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยนะครับ เราต้องการภาวะผู้นำที่เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ อย่างจริงจัง ต้องการที่จะเห็นผู้นำได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ในทุก ๆ มิติ ทั้งมิติสุขภาพ มิติทางด้านเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม โดยที่ไม่ไปตีความอะไรที่ทำให้มองปัญหาต่าง ๆ แยกส่วนหรือผิดเพี้ยนไปได้ ถ้ามีภาวะผู้นำอย่างนี้ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ฉับพลัน เวลาเราเจอปัญหาต่าง ๆ ที่ฉุกเฉินจริง ๆ ผมว่าเป็นบทเรียนที่ย้ำว่าในทุก ๆ วิกฤต เราก็จะเห็นถึงการจัดการว่ามีปัญหาหรือไม่ ภาวะผู้นำที่เข้มแข็งหรือไม่ ในภาวะปกติเราอาจจะไม่เห็นอะไรชัดหรอก แต่ในภาวะวิกฤตเราจะเห็นชัดที่สุดว่า การจัดการและการนำนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า