18 ก.พ. 2562 | 13:42 น.
รู้หรือไม่? เจ้า “สองป๋อง” แคนแคน มีชื่อจริงคือ นายิกา แปลว่า ผู้นำหญิงหรือนายกหญิง และเธอเองก็สนใจอยากเป็นนายกฯ จริงๆ ซะด้วย! ไม่เพียงการเป็นอดีตสมาชิกไอดอล BNK48 ที่ปัจจุบันจบการศึกษาออกมาเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว อีกมุมหนึ่งของเธอคือการสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หล่อหลอมมาจากประสบการณ์วัยเด็กที่ได้ร่วมกิจกรรมค่ายอาสาเป็นประจำ กระทั่งเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความหวังว่า ครั้นจบการศึกษาจะได้ใช้ความรู้มาพัฒนาประเทศในอนาคต แล้วถ้าอนาคต แคน-นายิกา ศรีเนียน ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจริงๆ ละ เธอจะมีนโยบายอะไรท่ามกลางปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ The People: คุณเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน เล่าให้ฟังหน่อย นายิกา: เกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างปล่อยให้เราดูแลตัวเอง ตอนเด็กๆ เขาจะให้อยู่กับคุณปู่และคุณยาย คนละบ้าน ผลัดกันเลี้ยงไปมา เราจะโตมาเหมือนเป็นไข่ในหิน โดยคุณปู่คุณยายมักสอนให้เรียนรู้เรื่องการเข้าสังคม ไปลามาไหว้กับผู้ใหญ่ ทำให้ติดนิสัยนี้มาด้วย พอเริ่มโตถึงวัยมัธยมฯ คุณพ่อคุณแม่ก็จะปล่อยให้มีอิสระมากขึ้น เช่น บอกคุณปู่ว่าจะพาเราไปเที่ยว แต่จริงๆ แล้วปล่อยให้เราไปเที่ยวกับเพื่อนเอง การเป็นลูกคนเดียวทำให้อยากได้อะไรก็ได้ มีของเล่นเกือบครบทุกอย่างเลย สมัยก่อนฮิตอะไรเราได้หมด แต่ต้องเล่นคนเดียวนะ เล่นขายของก็เล่นคนเดียว เล่นเกมเศรษฐีคนเดียว พอโตมาก็รู้สึกว่าโชคดี เพราะเหมือนฝึกตัวเองให้แข็งแกร่งในการอยู่คนเดียว The People: เราได้แง่คิดอะไรจากความอิสระตรงนั้น นายิกา: เหมือนหัดใช้และเรียนรู้ชีวิตจริงๆ ช่วงเวลาที่อยู่กับคุณปู่คุณยายคือยุคเรียนหนังสือ พอมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่คือโรงเรียนข้างนอก เขาช่วยให้เรามีอิสระ ได้เจอคนหลายประเภท ได้ออกไปเที่ยวข้างนอก รวมถึงเวลาอกหัก ยกตัวอย่างเวลาเพื่อนทําให้ผิดหวัง โดนเอาเปรียบ เราจะโทรหาคุณแม่ แล้วคุณแม่ก็จะบอกว่า ปล่อยให้เราเรียนรู้เอง ต้องเจอกับตัวเอง อาจเพราะได้ความอิสระมากทําให้ได้เรียนรู้มาก ในขณะที่เพื่อนบางคนไม่มีอิสระ เขาต้องมาเรียนรู้เอาเองตอนโต ทำให้เขาคิดไม่เหมือนเรา และเราก็มีความคิดเป็นของตัวเองสูง The People: แปลว่าความอิสระทำให้คุณเติบโต นายิกา: ใช่ แต่ก็ไม่ใช่อิสระ 100 เปอร์เซ็นต์ เราอยู่กับสภาพทั้งไข่ในหินและได้รับอิสระเต็มที่ คนอื่นอาจได้อิสระตอนโต แต่เราได้อิสระในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อมากๆ ซึ่งชี้ชะตาแล้วว่าเราจะเป็นคนอย่างไร The People: คุณเริ่มสนใจกิจกรรมอาสาครั้งแรกตอนไหน นายิกา: เกิดขึ้นตอนอายุประมาณ 15 ปี เราต้องไปรอคุณพ่อคุยกับบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีหัวหน้าครอบครัวในชุมชนแออัด ครอบครัวนั้นมีเด็กประถมอายุประมาณ 10 ปี แล้วบรรยากาศตอนนั้นค่อนข้างเครียด เราจึงอาสาพาน้องออกมาเดินข้างนอก และกลายเป็นพี่เลี้ยงเด็กหนึ่งวัน วันนั้นทำให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมของคน ก็เลยรู้สึกอยากทำให้คนอื่นเห็นชีวิตอีกด้านของสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน เราแอบมีความฝันตั้งแต่เด็กอยู่แล้วว่า เข้ามหาวิทยาลัยจะต้องอยู่ชมรมจิตอาสาให้ได้ เป็นความฝันตั้งแต่ประถมฯ เลยด้วยซํ้า โดยเริ่มมาจากการดูละครโทรทัศน์ “น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์” ปัจจุบันภายในปีหนึ่ง เราทํากิจกรรมอาสาประมาณ 1-2 ครั้งต่อปีขึ้นอยู่กับโอกาส อย่างปีนี้เดือนเมษายนก็มีไปออกค่ายช่วยสุนัข ถามว่าเราเคยออกค่ายกี่ครั้งแล้ว ก็นับสิบครั้งแล้วค่ะ เรามีความสุขทุกครั้งนะ การออกค่ายเป็นช่วงเวลาที่เราหนีจากความวุ่นวาย เพราะเราได้โฟกัสกับสิ่งแวดล้อมตรงนั้น ไม่เล่นโทรศัพท์เวลาทำกิจกรรมใดๆ เลย The People: มีไอดอลสายกิจกรรมอาสาที่เป็นแรงบันดาลใจแก่คุณไหม นายิกา: มีอยู่ 2 คน คือ พี่ปู ไปรยา สวนดอกไม้ และพี่ อเล็กซ์ เรนเดล พี่ปู ไปรยา ช่วงนี้กําลังช่วยเหลือคนไร้ถิ่นฐานเป็นของตัวเอง ส่วนพี่อเล็กซ์ เรามีโอกาสได้ไปมีโอกาสพูดคุยกับเขาในงานจิตอาสาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็ได้รู้ว่าปัจจุบันเขาทุ่มให้งานจิตอาสาเต็มตัว มากกว่างานแสดงอีก แถมยังมีธุรจกิจเพื่อสังคมเป็นของตัวเองด้วย สุดยอดมากๆ The People: เด็กทั่วไปมักได้รับการสอนว่าต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียน แล้วการเรียนนอกห้องเรียนสำคัญมากน้อยแค่ไหน นายิกา: จริงๆ สําคัญทั้งคู่กับชีวิตคนหนึ่งเลย ในวัยเด็กเรายังไม่รู้ว่าชอบอะไร บางคนยังหาตัวเองไม่เจอ การไปเรียนหนังสือ ในโรงเรียนเพื่อพลิกหาสิ่งที่เราถนัดที่สุดแล้วนำไปใช้ในอนาคต ส่วนการเรียนรู้นอกห้องเรียนเหมือนได้อยู่ในโลกความเป็นจริง ซึ่งระหว่างที่เรียนสามารถเรียนได้ทั้งสองอย่าง พอจบออกไปเราจะกลายเป็นบุคลากรที่แข็งแกร่งในองค์กร การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเลยสําคัญทั้งคู่ กิจกรรมอาสาต่างๆ หล่อหลอมให้เราเห็นแก่ผู้อื่นเวลาเห็นคนที่เขาขาดแคลน สมมติเจอน้องที่เขาไม่มีรองเท้า ถ้าในกระเป๋ายังมีอีกหลายคู่ เราก็จะถอดรองเท้าให้เขาไปเลย The People: ส่วนตัวคุณสนใจการเมืองอยู่แล้วหรือเปล่า นายิกา: เราเติบโตในบ้านนักการเมืองอยู่แล้วค่ะ ขนาดชื่อ “นายิกา” ยังมีความหมายว่า “นายกฯ หญิง” เลย จริงๆ ไม่อยากเป็นถึงขั้นผู้นําประเทศหรอก แต่อยากมีไอเดียหรือมีส่วนแสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์ตามกระทรวงต่างๆ ได้ The People: ตื่นเต้นไหมที่กำลังจะได้เลือกตั้ง เร็วๆนี้ นายิกา: ตื่นเต้นนะ แต่รู้สึกว่ากําลังกลับไปเริ่มใหม่ ในสมัยยุคที่มีการเลือกตั้งใหม่ๆ เลย เพราะตอนนี้สื่อเองก็อาจมีขอบเขตในการโปรโมทให้ไปเลือกตั้ง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คนเต็มที่กับการเลือกตั้ง บรรยากาศมันไม่เหมือนเดิม ปัจจุบันรู้สึกว่าการโปรโมทการเลือกตั้งยังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ตั้งแต่อายุถึงเกณฑ์เลือกตั้ง เรายังไม่เคยได้เลือกตั้งเลย พอไม่มีบรรยากาศของการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือการหาเสียง มันหายไปนานจนคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ด้วยซํ้าว่า ตอนนี้มีพรรคอะไรอยู่บ้าง หรือว่าพรรคนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร The People: ศิลปินกับการเป็นกระบอกเสียงการเมืองเองก็เปลี่ยนไปใช่ไหม นายิกา: สมัยก่อนตอนเด็กๆ เราเห็นโฆษณาช่วงเลือกตั้งที่ดาราออกมาโปรโมทว่า อย่าลืมเข้าคูหา อย่าลืมไปเลือกตั้ง ซึ่งดาราสามารถทำได้ในการเชิญชวนทุกเข้าไปกากบาทเลือกตั้งเพื่อเลือกสิ่งที่คุณอยากได้ แต่จะไม่บอกว่าคุณควรเลือกพรรคไหน ให้คุณคิดกันเอาเองว่าชอบอะไรก็เลือกสิ่งนั้น The People: ในฐานะนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คุณมองสถานการณ์ PM 2.5 ตอนนี้อย่างไรบ้าง นายิกา: ทําอะไรไม่ได้มาก เพราะช่วงนี้มีการก่อสร้างเกิดขึ้นหลายอย่างที่เขาอนุมัติให้เกิดขึ้นเร็ว ในอนาคตถ้าเปลี่ยนแปลงได้ เราอยากให้มีนักวางแผน เช่น ถ้าจะสร้างรถไฟฟ้า ก็อย่าเพิ่งสร้างอย่างอื่น เพื่อให้ค่าฝุ่นไม่เกินมาตราฐาน ปัจจุบันรู้สึกว่ามันขาดการวางแผน ปล่อยให้ทุกอย่างเกิดขึ้นหมดทีเดียว ทําให้เกิดปัญหานี้ The People: แสดงว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะการขาดการวางแผน นายิกา: ใช่ ขาดการวางแผนที่ดี เขาอาจไม่ได้คาดการณ์หรือคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ เขาอาจคิดหลายด้านแล้ว แต่พลาดไปด้านใดด้านหนึ่ง การมีเรื่องฝุ่นทำให้คนตระหนักได้ว่า จริงๆ แล้วสภาพอากาศบ้านเราไม่ดี และมีปัญหามานานแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีทําให้ข่าวเดินทางเร็วขึ้น คนรับรู้เร็วขึ้น ตัวฝุ่นไม่ได้ทําให้คนสนใจ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คนสนใจสิ่งแวดล้อม ทําให้เรารู้ว่ามีฝุ่นจริงนะ ในอดีตค่าฝุ่นอาจเคยเกินมาก่อน แต่ไม่มีสื่อที่ทำให้รู้ว่ามันน่ากลัวขนาดไหน The People: ในฐานะศิลปินสามารถช่วยทำให้คนตระหนักถึงประเด็นนี้ได้ไหม นายิกา: ได้ระดับหนึ่ง ถึงไม่รู้ว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่พยายามทำให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนที่ติดตามเราลองคิด หรืออาจจะทำตาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย The People: สมมติเป็นนายกฯ จริง หากตัดเรื่องงบประมาณทิ้งไป เราจะใช้ความรู้มาแก้ปัญหานี้อย่างไร นายิกา: อันดับแรก เราจะกลับไปแก้ตรงการปล่อยผ่านให้เกิดสิ่งก่อสร้างเยอะเกินไป ปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องกฎสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอ่อนแอ และยังหละหลวมที่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น The People: แล้วเราจะทำให้กฎสิ่งแวดล้อมแข็งแรงอย่างไร นายิกา: ต้องกลับไปแก้ที่หลายอย่าง หนึ่งต้องกลับไปแก้ที่การศึกษาของคน ปลูกฝังตั้งแต่ประถมเลยว่า ทําแบบนี้จะผิดอะไร จะต้องมีวิชาแยกออกมา เพิ่มวิชาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปซึ่งอาจเป็นผลดีกับประเทศมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องแก้ที่ฐานค่ะ เราอยู่ในรุ่นตรงกลาง อาจเป็นคนรุ่นเราที่จะไปเปลี่ยนแปลงเพื่อคนรุ่นข้างหลังได้ เพราะถ้าคนรุ่นก่อนสร้างปัญหามาระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องเป็นคนรุ่นเรานี่แหละที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แล้วรุ่นถัดไปจะได้รับการปลูกฝัง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขาโตมากับเทคโนโลยีแล้ว ปัญหาคือเราไม่มีคนวางแผน ทั้งๆ ที่อาชีพนักออกแบบหรือนักวางแผนก็เป็นบุคคลสําคัญ ในปัจจุบันมีหลายอาชีพที่ถูกเมิน คนอาจจะคิดว่าการเป็นหมอ การเป็นดาราเป็นอาชีพที่ดีที่สุด แต่เปล่าเลย ยังมีอีกหลายอาชีพที่สําคัญ Co-Writer: Mongkon Supraaumpanwong