อภิชาต สถิตนิรามัย: วิพากษ์เศรษฐกิจไทยใน ‘หม้อต้มกบ’

อภิชาต สถิตนิรามัย: วิพากษ์เศรษฐกิจไทยใน ‘หม้อต้มกบ’

บทสัมภาษณ์ ‘รศ. ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย’ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อประเด็นเส้นทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตกับภาวะ ‘หม้อต้มกบ’ ปัญหาที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ ‘หลังแอ่น’ และกับดักที่จะทำให้คนรุ่นก่อน ‘แก่ก่อนรวย’

กลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ทำไมมันถึงเกิดขึ้นล่ะ? ถ้าประเทศคุณมีความหวังที่เจริญรุ่งเรืองได้

คุณจะอยากย้ายประเทศหนีทำไม อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับภาวะต้มกบในปัจจุบัน

 

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ปราศจากความมั่นคง แถมยังเคล้าไปด้วยปัญหาจากภายนอกที่กระหน่ำซ้ำอยู่ไม่พัก ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ หรือค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงไปถึง 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการอ่อนตัวที่สุดในรอบ 16 ปี ผสานกับปัญหาและความขัดแย้งทางด้านสังคมและการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนักที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มตั้งคำถามในเส้นทางข้างหน้าว่าประเทศที่เขาอาศัยอยู่จะพัฒนาไปแบบไหน

วันนี้เราจึงอยากจะพาไปรู้จักกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ประชาชนชาวไทยกำลังจะเผชิญในอนาคตกับ วิกฤตต้มกบ ปัญหาเศรษฐกิจที่ยืนรอคนรุ่นใหม่อยู่ ณ ทางข้างหน้า ที่ดูจะเป็นเส้นทางที่ไม่สวยหรูและสะดวกสบายเท่าไรนัก เพราะมีภาระปัญหามากมายเฝ้ารออยู่ แต่มันยังทันอยู่ไหมที่เราจะหักเลี้ยวไปในทิศทางอื่น หรือว่ามันสายไปแล้วเพราะเรือลำที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ ได้ไหลลงไปอยู่ในกระแสน้ำวนอันไร้ทางหนีเรียบร้อยแล้ว?

 

ต้มกบคือวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเผาเราไปอย่างช้า ๆ ไม่ระเบิดตู้มเหมือนต้มยำกุ้ง

แต่จะเป็นภาวะที่ภาระค่อย ๆ มากขึ้น เหนื่อยขึ้น ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง เหมือนไฟลามทุ่ง

ชีวิตพวกคุณจะยากกว่านี้

 

อภิชาต สถิตนิรามัย: วิพากษ์เศรษฐกิจไทยใน ‘หม้อต้มกบ’

 

บาดแผลจากต้มยำกุ้ง

ก่อนจะแลหน้าแล้วคุยไปถึงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่ประชาชนคนไทยกำลังจะเผชิญในอนาคต เราก็คงต้องเหลียวหลังย้อนมองไปหาวิกฤตที่เคยสร้างบาดแผลให้เศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ที่สุดอย่าง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เสียก่อน เพื่อที่จะเข้าใจบริบทของเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่านขวากหนามครั้งใหญ่มาพร้อมบาดแผลและซากปรักหักพังมากมาย แต่แม้มันจะเป็นการล้มครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็คือบทเรียนสำคัญที่ (อาจ) จะทำให้เราไม่ก้าวพลาดซ้ำเดิมอีก

(อ่านเรื่องราวของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้ที่บทความ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง: ครบรอบ 25 ปี มหาวิกฤตทางการเงินแห่งประเทศไทย’ สามารถเข้าอ่านผ่านลิงก์ได้ที่ใต้คอมเมนต์)

วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งทิ้งซากปรักหักพังไว้ให้กับเศรษฐกิจไทยบ้าง?” คือคำถามแรกที่เราเอ่ยถาม ‘รศ. ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย’ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้บรรยายนักศึกษาในด้านวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง

มันก็มีทั้งร่องรอยเชิงบวก ไม่ใช่มีร่องรอยเชิงลบอย่างเดียว ร่องรอยเชิงลบที่ยังเห็นอยู่แบบไม่เป็นรูปธรรมเท่าไรก็คือว่า หนี้สาธารณะที่เกิดจากกรณีวิกฤตเศรษฐกิจที่พวกเราปัจจุบันยังต้องใช้อยู่ผ่านแบงก์ชาติมันยังจ่ายไม่หมด นอกจากนั้นก็ยังมีซากสิ่งก่อสร้างกรณี Hopewell หรือซากตึกสาธรที่ร้างอยู่ ที่คนไปปีนฆ่าตัวตายบ้าง ก็ยังอยู่ อันนั้นเป็น NPA Asset ที่ไม่ได้ Performance ก็คือเป็นทรัพยากรที่สูญเปล่ามาเฉย ๆ 20 กว่าปี

แต่ถึงจะมีข้อเสียมากมายหลายประการ แต่อาจารย์อภิชาตก็ได้พลิกให้เราเห็นถึงบทเรียนและข้อดีที่ต้มยำกุ้งได้ทิ้งไว้ให้กับภาคสถาบันการเงินไทย

ผู้คนในแวดวงการเงินไทย ตลาดเงิน ตลาดทุนระมัดระวังมากขึ้น แล้วก็มีความมั่นคงสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ผลของการปรับตัวที่รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้สถาบันการเงินของไทย ได้รับความเสียหายน้อยมากจากกรณี Hamburger Crisis เมื่อปี 2007 - 2008 แล้วก็ยังพูดได้จนถึงปัจจุบันว่า สถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคงสูงอยู่ แม้กระทั่งในปัจจุบันที่เผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (External Shocks) จากต่างประเทศในรูป Stagflation

(อ่านเรื่องราวของวิกฤตเศรษฐกิจแบบ Stagflation ได้ที่บทความ ‘Stagflation: เมื่อเศรษฐกิจที่ซบเซามาพร้อมกับเงินเฟ้อ ปัญหาที่ไม่มีประเทศไหนอยากให้เกิดขึ้น (เพราะแก้ยาก)’ สามารถเข้าอ่านผ่านลิงก์ได้ที่ใต้คอมเมนต์)

 

เศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป

 

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมไทย โครงสร้างเศรษฐกิจมันจะเปลี่ยนไป

 

คือคำกล่าวของอาจารย์อภิชาตหลังจากเราเอ่ยถามต่อว่า ‘หลังจากได้รับบทเรียนจากต้มยำกุ้งแล้ว เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหลังจากนั้น?

แรกเริ่มอาจารย์อภิชาตอธิบายว่า ผลที่ตามมาที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการที่อัตราการเจริญเติบโตของประเทศที่สะท้อนผ่าน GDP นั้นถดถอยลง นั่นหมายความว่าคนไทยก็จะรวยช้าลง แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทำงานแตกต่างจากเดิมไปด้วย

 

อภิชาต สถิตนิรามัย: วิพากษ์เศรษฐกิจไทยใน ‘หม้อต้มกบ’

 

ช่วงก่อนที่บอกโตเร็ว เราโตจากการลงทุน ถ้าเรียนเศรษฐศาสตร์พื้นฐานก็ C + I + G + (X - M) เราลงทุนเยอะจัดตั้งโรงงานเยอะ การผลิตก็ขยายตัวเร็ว รายได้เราก็เพิ่มเร็ว หลังวิกฤตเศรษฐกิจตัวส่งออกสุทธิกลายมาเป็นเครื่องยนต์แทนที่การลงทุน ซึ่งมันลดไปครึ่งหนึ่ง อัตราการลงทุนของเราไม่เคยกลับเข้าไปสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเลย จนกระทั่งปัจจุบัน

 

เราจะเห็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจผ่านตัวเลขของ GDP ซึ่งหากมองลึกลงไปกว่านั้น GDP ก็จะประกอบด้วยปัจจัยหลักประมาณ 5 ตัวแปร ตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่อาจารย์อภิชาตเอ่ยถึง ซึ่งตัวแปรเหล่านั้นก็จะประกอบไปด้วย การบริโภคของภาคประชาชนและเอกชน (C, Consumption), การลงทุนภายในประเทศ (I, Investment), การใช้จ่ายของรัฐบาล (G, Government Expenditure), การส่งออก (X, Export) และการนำเข้า (M, Import)

อาจารย์อภิชาตได้อธิบายเจาะลึกไปว่า ในช่วงสมัยก่อนจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตที่สูง แต่การเจริญเติบโตเหล่านั้นมันขับเคลื่อนผ่านการลงทุน (ตัวแปร I) แต่หลังจากต้มยำกุ้ง การลงทุนของประเทศไทยก็ลดฮวบไปอย่างมาก และขุมพลังงานหลักที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็หันเหไปที่ การส่งออกสุทธิ (X - M, การส่งออกที่หักลบการนำเข้า) แทน เราจะเห็นได้ว่าเครื่องยนต์ที่ทำให้เศรษฐกิจโตเปลี่ยนจากรุ่นที่ใช้น้ำมันประเภท ‘การลงทุน’ (Investment-Led Growth) เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันประเภท ‘การส่งออกสุทธิ’ (Export-Led Growth) แทน นั่นคือการที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤต

 

ปัจจุบันผลของการเปลี่ยนโครงสร้างจาก Investment-Led Growth มากลายเป็น Export-Led Growth มันก็ทำให้เศรษฐกิจไทยของเราเปิดมากขึ้น เราเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ‘Small But Very Open Economy’ เพราะฉะนั้น ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (External Shocks) มันจึงส่งถ่ายทอดมาสู่เศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็ว

 

การที่ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักก็หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกจะส่งผลกระทบต่อประเทศและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เราจะเห็นได้จาก COVID-19 ที่กระทบการค้าขายส่งออก รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาในด้านของราคาน้ำมันที่เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งทอดมาในรูปแบบ Stagflation

 

เศรษฐกิจติดกับดัก

แล้วโครงสร้างที่แปรเปลี่ยนไปของเศรษฐกิจไทยจะนำพาประชาชนไทยไปเจอกับอะไร? คือคำถามต่อมาที่เราเอ่ยถามอาจารย์อภิชาต

ในช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาเป็นการส่งออกนำ (Export-Led Growth) มันขึ้นอยู่กับค่าแรง ตอนนั้นโครงสร้างประชากรของเรายังมีคนหนุ่มสาวเยอะ และค่าแรงเราก็ยังไม่แพง ทรัพยากรธรรมชาติเราก็ยังพอเหลืออยู่บ้าง เพราะฉะนั้นประเทศไทยมันเลยกลายไปเป็นโรงงานรับจ้างทำของ รับจ้างผลิตตาม Order แล้วส่งออกด้วยค่าแรงต่ำ ใช้ทรัพยากรเข้มข้น ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

ปัจจุบันเครื่องยนต์สองตัวสำคัญ (ค่าแรงและทรัพยากรธรรมชาติ) ที่ทำให้การเติบโตภาคการส่งออกสูงมันหายไปแล้ว ค่าแรงเราสูงแล้วเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย ไม่แปลกที่การลงทุนส่วนใหญ่ของต่างประเทศจึงไปลงทุนที่เวียดนาม การส่งออกของเวียดนามจึงโตเร็ว ก็เหมือนไทยช่วงทศวรรษ 2530 ที่เป็นเนื้อทอง เนื้อหอม ต่างประเทศก็มาลงทุนกันเต็มไปหมด ทรัพยากรธรรมชาติรู้ดีอยู่ อาหารทะเลราคาถูกที่เราเคยส่งออก มันไม่มีปลาเหลืออยู่ในอ่าวไทยแล้ว เครื่องยนต์ตรงนี้มันก็ดับ อันนี้เป็นประเด็นอันที่หนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเราก็เลยโตช้าลง เพราะเราก็ส่งออกได้น้อยลง อัตราการโตของภาคการส่งออกเรามันเลยน้อยลง เราก็โตช้าลง มันก็นำมาสู่ปัญหาที่เรียกว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก แต่เมื่อเครื่องยนต์ทั้งสองตัวดับหรือทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ประเทศไทยจึงประสบปัญหาที่เศรษฐกิจโตไม่ทันอายุของประชาชน เงินในกระเป๋าของคนไทยโตไม่ทันอายุของพวกเขา จึงเกิดเป็นปัญหา ‘แก่ก่อนรวย’ ดังที่อาจารย์อภิชาตได้อธิบายไว้ในชื่อ ‘กับดักรายได้ปานกลาง’

จากนั้นอาจารย์ก็ยังอธิบายต่อถึงกับดักรายได้ปานกลางว่ามันคือสภาวะที่เศรษฐกิจไม่สามารถกระโดดข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปประเทศรายได้สูงได้ หากย้อนไป 40 - 50 ปีก่อนหน้า เราจะเห็นว่าประเทศไทยสามารถถีบตัวเองจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ แต่ก็ยังไม่สามารถข้ามกำแพง ‘รายได้ปานกลาง’ ไปสู่ ‘รายได้สูง’ อย่างเต็มปากเต็มคำได้

 

วิกฤตต้มกบ

หากเป็นเมื่อก่อน เราจะเห็นได้ว่าสัดส่วนคนหนุ่มคนสาวจะมีมากกว่าผู้สูงอายุ ปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ ณ ตอนนี้อะไรหลาย ๆ อย่างมันต่างออกไป หากเทียบกับเมื่อก่อน จำนวนบุตรในแต่ละครอบครัวมีน้อยลงไปกว่าเมื่อก่อนมาก แถมประชาชนหนุ่มสาวในยุคก่อนก็กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ นั่นหมายความว่าสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดจะสูงขึ้นกว่าสมัยก่อน และจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยปริยาย

แปลว่า คนรุ่นหนุ่ม รุ่นสาว หลังจะแอ่นเพราะจะต้องแบกภาระที่จะเลี้ยงดูคนแก่ที่ไม่รวย ถ้าคนแก่ที่รวยคุณก็ไม่ต้องมาช่วยเหลือใช่ไหม? แต่ว่าคนแก่ที่ไม่รวยก็ดูแลตัวเองไม่ได้ คนรุ่นถัดไปก็จะต้องมาดูแล

ในขณะเดียวกัน GDP ก็โตช้า แปลว่ารายได้ของคนรุ่นใหม่โตช้า รายได้คุณจะเพิ่มทันค่าใช้จ่ายหรือเปล่า อันนี้เป็นภาระหนักของคนรุ่นพวกคุณ

เราจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของรายได้และค่าใช้จ่ายของประชาชนไทยรุ่นปัจจุบันเป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะในขณะที่เศรษฐกิจที่เครื่องยนต์ทำงานได้ไม่ดี ทำให้เติบโตได้ช้า รวยได้ช้า และตั้งตัวได้ช้า อีกปัจจัยที่จ้องจะเล่นงานพวกเขาก็คือภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นที่จะมาถ่วงให้พวกเขาตั้งตัวได้ยากขึ้นไปกว่าเดิมอีก

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรจากหม้อต้มที่น้ำกำลังค่อย ๆ ร้อนขึ้น ส่วนประชาชนไทยก็เปรียบเสมือนกบที่นอนอยู่ในน้ำที่กำลังจะเดือดโดยไม่กระโดดหนี ท้ายที่สุดพอถึงวันที่น้ำเดือด กบตัวนั้นก็หมดโอกาสที่จะกระโดดออกไปจากหม้อต้มนี้เสียแล้ว นี่จึงเป็นที่มาของ ‘วิกฤตเศรษฐกิจต้มกบ

 

ถ้ากบมันชินกับความร้อนที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น มันจะไม่กระโดดหนีออกมา ก็เหมือนเราที่ลำบากจนคุ้นเคย ลำบากจนชิน เลยไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

 

ฝาหม้อที่งัดไม่ออก

 

แล้วทำไมตอนนี้เราไม่กระโดดออกจากหม้อไปเลยล่ะ?

 

คงเป็นคำถามที่น่าจะผุดขึ้นมาในความคิดของผู้อ่านหลายคน รวมถึงผู้เขียนเองด้วย จึงได้เอ่ยถามอาจารย์อภิชาตต่อถึงข้อสงสัยคาใจดังกล่าว

สาเหตุที่เราไม่สามารถจะถีบตัวเองหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง มันมีหลายสาเหตุ สาเหตุเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจก็คือว่า เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ภาคการส่งออกของเราจึงโตช้าลง ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ถ้าเราจะแข่งขันได้ในเศรษฐกิจโลก เราก็ต้องมีอย่างอื่นมาแทนตรงนี้ก็คือ ‘นวัตกรรม’ การมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พวกนี้มันต้องใช้นวัตกรรม นวัตกรรมมันก็คือผ่านการลงทุน เราไม่ได้ทำตรงนี้อย่างเพียงพอ

แต่สิ่งที่มันอยู่เบื้องหลังลึกไปกว่านั้นคือ ‘กติกา’ (Rule of the Game) ตัวอย่างเช่นกติกาที่มันไม่เอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรม เช่นการแข่งขันที่ไม่เพียงพอ ตลาดผูกขาด ถ้าผมเป็น Start-up ผมสร้างนวัตกรรมขึ้น ผมก็จะไปทำลายพวกเจ้าตลาดเดิมใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นผู้ครองตลาดอยู่เดิม ถ้ามีการแข่งขันเพียงพอก็ต้องผลิตนวัตกรรมสู้กับผม เขาถึงจะเอาชนะผมได้ แต่เจ้าตลาดเดิมก็คือไปหากติกา ไปทำการผูกขาด ไปทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ผมสามารถเข้าสู่ตลาดได้ แทนที่เขาจะมาแข่งกับผมด้วยนวัตกรรมแข่งกัน แต่เขากลับมาปิดปากผมไม่ให้ผมเข้าสู่ตลาดแทน คือใช้วิธีการผูกขาด

ท้ายที่สุดแล้วเราก็พบว่าการที่เราไม่กระโดดออกจากหม้อ หนึ่งเหตุผลสำคัญอาจเป็นเพราะเราไม่สามารถทำได้ เพราะฝาหม้อได้ถูกปิดไปแล้ว (?) แถมยังเป็นการยากที่จะงัดให้มันออกมาได้ แล้วสาเหตุที่งัดไม่ออกก็เป็นเพราะกติกาที่ครอบและส่งเสริมให้ประเทศไทย ‘ไม่เกิด’ นวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการที่จะช่วยถีบเศรษฐกิจไทยให้ออกจากวิกฤตนี้

 

อภิชาต สถิตนิรามัย: วิพากษ์เศรษฐกิจไทยใน ‘หม้อต้มกบ’

 

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาหรือนวัตกรรมจะเกิดก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันมากพอ ต่างคนต่างแข่งขันให้ตัวเองเก่งขึ้น ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งผลของการแข่งขันดังกล่าวก็จะเป็นประโยชน์ให้กับการพัฒนาภายในประเทศในหลากหลายแง่มุม ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คงเป็น ‘เบียร์’ ถ้าสลัดการผูกขาดออกไป เปิดให้ผู้คนเข้าสู่ตลาดและแข่งขันกันขายเบียร์ได้เต็มที่ ผู้ขายเบียร์ทุกคนก็คงต้องทำสุดฝีมือ แถมยังต้องพัฒนาสูตรของตัวเองให้ดีที่สุด และยังต้องปรับราคาให้เหมาะสมที่สุดด้วย

แต่หากมีการผูกขาด ผู้ครองตลาดก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนแข่งขันอะไรมาก จะรสชาติแบบใด ราคาระดับไหน ท้ายที่สุดเขาก็จะมีส่วนแบ่งในตลาดอยู่ดี เพราะกติกามันเอื้อให้เป็นเช่นนั้น และหากมันเป็นเช่นนั้น ก็แทบไม่ต่างอะไรจากนักมวยอ่อนซ้อม ขาดนวัตกรรมและการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

แล้วเราจะเริ่มแก้จากอะไรดี” ผู้เขียนเอ่ยถามอาจารย์อภิชาตหลังจากได้ฟังปัญหาที่พันกันเป็นโยงใย

การที่เราจะหลุดพ้นไปได้ เราก็ต้องกลับไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เราขาดแคลนนวัตกรรม ก็กลับไปวนเรื่องเดิม แล้วจะทำอย่างไรให้มีระบบการเกิดนวัตกรรมที่ดีได้? ก็ต้องกลับไปแก้กติกาการแข่งขัน จะแก้กติกาแข่งขันมันก็เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกกับอำนาจของนายทุนที่จะไปคุมกติกา มันก็พันเป็น Loop กันไปอยู่อย่างนี้ ถามว่าเราจะซ้ำรอยเดิมไหม เราซ้ำรอยเดิมอยู่ตลอดเวลา เราวน Loop อยู่ตลอดเวลา อย่าถามว่าเราหลุดออกไปหรือยัง” (หัวเราะ)

 

คำตอบที่ลอยละล่องอยู่ในสายลม

 

จะแนะนำยังไงวะ ไม่มีคำแนะนำจริง ๆ ว่ะ

 

เราเอ่ยถามคำถามที่แม้แต่อาจารย์อภิชาตก็ยังไม่แน่ใจในคำตอบ “คำแนะนำในการใช้ชีวิตสำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเผชิญกับปัญหานี้

ต้องอดทนกว่าคนรุ่นผม เพราะว่าคนรุ่นผมมันมาพร้อมกับโอกาส พวกผม เด็กจบธรรมศาสตร์เกรด 2.1 - 2.2  ยังหางานทำได้ง่าย ๆ ชีวิตพวกคุณจะยากกว่านี้

“โลกมันหมุนเร็วมากขึ้นกว่ายุคผมเยอะ คุณจะหมุนตามโลกอย่างไรให้ทัน ยังไม่ต้องพูดถึงการขัดขวางโลกที่มันไม่สมเหตุสมผลในหลาย ๆ เรื่อง เอาแค่ว่าจะหมุนตามโลกอย่างไรให้ทันก็เหนื่อย อันนี้ผมก็กลับมาคำเดิมว่า ผมโชคดีที่ตายก่อน…

หลังจากได้ฟังคำตอบของอาจารย์อภิชาต ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้นึกถึงบทเพลงที่พร่ำถามคำถามเป็นจำนวน 9 ข้อ แต่ทุกคำถามล้วนมีคำตอบเหมือนกัน - ลอยละล่องอยู่ในสายลม

 

/ How many times must a man look up before he can see the sky?

And how many ears must one man have before he can hear people cry?

Yes, and how many deaths will it take ’till he knows that too many people have died? /

/ คนสักคนหนึ่งต้องเงยหน้ามองข้างบนอีกกี่หนถึงจะมองเห็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่?

คนสักคนหนึ่งต้องมีกี่ใบหู ถึงจะสามารถได้ยินว่ามีผู้คนกำลังร้องไห้?

คนสักคนหนึ่งต้องเห็นการตายอีกมากเท่าใดกว่าเขาจะตระหนักว่ามีผู้คนสูญเสียมากมายเกินไปแล้ว? /

 

/ The answer, my friend, is blowin’ in the wind.

The answer is blowin’ in the wind. /

/ คำตอบเหรอสหาย มันก็ลอยละล่องอยู่ในสายลมนี่แหละ

คำตอบมันก็ปลิวว่อนอยู่ในสายลมนี้เอง… /

 

แม้เวลาจะผ่านพ้นไปเกือบ 60 ปี บทเพลง ‘Blowin’ in the Wind’ ที่สรรค์สร้าสงโดย บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ก็ยังคงเข้ากับยุคสมัยเสมอ

เช่นเดียวกับทางออกของวิกฤตต้มกบ คำตอบของมันคงลอยล่องอยู่ในสายลม…