01 เม.ย. 2562 | 11:42 น.
การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในรอบห้าปี ที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นครั้งแรก โดยใช้วิธีกาเบอร์เดียว แล้วใช้คะแนนที่ได้ไปคำนวณเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน จาก ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ส่งรายชื่อไว้ โดยหนึ่งใน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน คือ “เม่น-ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์” จากพรรคอนาคตใหม่ บัญชีรายชื่ออันดับที่ 23 ซึ่ง กกต. ได้รับรองอย่างเป็นทางการว่าเขาได้เป็น ส.ส. และที่สำคัญเป็น ส.ส. คนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นผู้พิการ “อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่ความเท่าเทียมของทุกคน ทั้งเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมจะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีสังคมไหนเจริญได้ด้วยทหารปลายกระบอกปืน ไม่มีสังคมไหนเจริญได้ด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม สังคมเจริญได้จากความเท่าเทียมของกติกา และความยุติธรรม ถ้าผมเป็นคนเขียนกติกาเองได้ ผมก็เป็นนายกฯ ได้ เช่นเดียวกันถ้าผมจะจัดการแข่งขันปิงปองเอง ผมก็เป็นแชมป์โลกได้“ ก่อนหน้าที่จะเดินเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัว หลายคนอาจรู้จัก “เม่น-ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์” หรือ “เม่น-ไทยแลนด์” นักกีฬาปิงปองทีมชาติไทย ที่เพิ่งที่คว้ารางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเขาได้แสดงเชิงสัญลักษณ์ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนพิการ ด้วยการนำเงินอัดฉีดที่ได้ไปซื้อจักรยานไฟฟ้า แล้วขับอ้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนมุ่งหน้าสู่อำเภอท่าพญา จังหวัดตรัง บ้านเกิดของเขา “ผมมองค่าของความสามารถน่าจะเท่ากันได้ พอกลับมาก็ซื้อรถจักรยานไฟฟ้า ขับรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วก็ขับกลับบ้าน ใช้เวลาเดินทาง 7 วัน ตลอดทางก็พูดคุยกับผู้คนเรื่องการเมือง เรื่องความเท่าเทียม โดยยกตัวอย่างเรื่องเหรียญรางวัลมาให้เห็นภาพ คนทั่วไปเหรียญทองได้สองล้าน แต่คนพิการได้ล้านเดียว เหมือนมองว่าเป็นคนครึ่งคน มีคนบอกว่าคนพิการน่าจะได้มากกว่า เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า แต่ผมตอบว่าออกมาต่อสู้ไม่ได้อยากได้พิเศษกว่า แค่อยากให้มองว่าหนึ่งคนเท่ากัน ชนะแล้วก็ชักธงไทย เปิดเพลงชาติไทยเหมือนกัน ต่างกันแค่คนที่ขึ้นรับเหรียญเท่านั้นเอง” การแสดงเชิงสัญลักษณ์ของ “เม่น-ไทยแลนด์” ครั้งนั้น เรียกร้องให้ทั้ง ภาครัฐ สื่อมวลชน และคนทั่วไป รับรู้ว่าคนพิการได้รับเหรียญสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้เท่าเทียมและมีความสามารถไม่ต่างจากคนทั่วไป ซึ่ง เม่น-ปริญญา ลูกชายเกษตรกรชาวสวนยาง จากท่าพญา ไม่ได้พิการตั้งแต่กำเนิด แต่เพิ่งมาเป็นโรคโปลิโอเมื่ออายุได้ 2 ขวบ ทำให้ขาข้างซ้ายลีบเล็กกว่าข้างขวา ส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว ในวัยเรียนที่โรงเรียนวัดท่าพญา เขาจำเป็นต้องเดินกะโผลกกะเผลก แบกกระเป๋าไปเรียนวันละกว่า 5 กิโลเมตร จนกระทั่งต้องย้ายมาอยู่วัดเพื่อให้เดินทางได้สะดวกขึ้น ครั้งแรกที่ขอโควตาเรียนต่อระดับ ปวส. อาจารย์เสนอให้เรียนสาขาคอมพิวเตอร์ เพราะเห็นว่าสะดวกกับผู้พิการมากกว่า แต่เขายืนกรานที่จะเรียนด้านเกษตร เนื่องจากต้องการอยู่ธรรมชาติและต้นไม้ เลยได้เรียนที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ ในด้านเกษตร ต่อมาเขาได้ไปเรียนต่อที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง จนได้ใบปริญญาในที่สุด “ตอนจบมาใหม่ ๆ ผมต้องใช้วุฒิปริญญาตรีไปสมัครงานระดับ ปวส. เพราะงานมันหายาก อยากให้ได้งานก่อน เริ่มทำงานที่กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าว แล้วไปศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ในตำแหน่งประธานโครงการสำรวจพื้นที่ปลูกยางภาคตะวันออก สักพักก็กลับบ้านมาเปิดร้านเสื้อผ้ากีฬา เพราะผมเป็นคนชอบกีฬา แล้วก็กู้เงินมาทำเกษตร ขายต้นกล้ายางพารา ตอนแรกต้นกล้ายาง 7 บาท ราคาตกเหลือ 2 บาท เลยเป็นหนี้” เม่น-ปริญญา มีความคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่คนทำอาชีพเกษตร กลับเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งให้เขาสนใจเรื่องการเมือง เพราะนโยบายที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์ที่เขาต้องการได้เลย จนเขาพบว่าการเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน การเมืองที่ดีจะตอบโจทย์การมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เขาเลยกลายเป็นคนที่ติดตามการเมือง พยายามพูดคุยการบ้านการเมืองอยู่ตลอด นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขารักไม่แพ้กันก็คือ "กีฬา" เพราะเชื่อว่ากีฬาจะช่วยสร้างคนสร้างชาติได้ ผู้ที่เล่นกีฬามีสุขภาพที่ดี ได้รับมิตรภาพ มีระเบียบวินัย เคารพกฎกติกา และมีสปิริต อดีตนักปิงปองทีมชาติไทยบอกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในกฎกติกา แต่มันมีอยู่ในหัวใจของนักกีฬา ส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนที่ชอบฟุตบอลมาก แม้จะเสียเปรียบด้านการเคลื่อนไหวเนื่องจากความพิการ แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นความสนุกเลยแม้แต่น้อย “ผมชอบฟุตบอล เตะอยู่ตั้งแต่ประถม ไปอยู่ที่ไหนตอนเย็น ๆ ก็เตะอยู่ตลอด เวลาแตะลอดดากคนอื่นได้ผมก็ยิ้มแล้ว หลายคนมองว่าผมเป็นโปลิโอ หนังหุ้มกระดูก แต่ของผมมันแค่ข้างซ้ายเล็กกว่าข้างขวา พอเหวี่ยงขาเตะได้ ผมตอนแรกก็เล่นเป็นตัวจ่าย หลังๆ เล่นมาเป็นกองหน้าตัวเป้า ผมชอบทีมบาร์ซา เพราะเรื่องยูนิเซฟ แต่จริง ๆ เป็นแฟนผี เพราะถ้ายังไม่หมดเวลาไม่เคยยอมแพ้ ส่วนนักบอลชอบก็องโต” น่าเสียดายที่นักบอลทีมชาติ เปิดรับเพียงผู้พิการทางการพูดและการได้ยิน เม่น-ปริญญา เลยเบนไปลงแข่งปิงปอง หนึ่งในกีฬาที่เขาเคยเล่นสมัยมัธยมต้น ก่อนได้ลงแข่งในกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดตรังเป็นเจ้าภาพ แล้วคว้าเหรียญทองแดงติดมือประเดิมสนาม จากเกมที่แพ้นักกีฬาทีมชาติแบบสูสี ทำให้เขาตัดสินใจหาผู้ฝึกสอนแบบจริงจัง แม้จะต้องขับมอเตอร์ไซค์ไปกลับสนามซ้อมไกลถึง 80 กิโลเมตร อยู่เป็นปี สุดท้ายเขาก็ได้รางวัลแห่งความพยายามโดยติดทีมชาติ รวมถึงการไปคว้าเหรียญรางวัลมากแล้วมากมาย แต่สุดท้ายเขากลับมาคิดว่าความสำเร็จด้านกีฬา ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ต่อสังคมได้อย่างจริงจัง ความตั้งใจที่จะต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ที่ส่งผลต่ออนาคตของประเทศได้นั้น ต้องเป็น “การเมือง” “ผมเคยไปคุยเรื่องสวัสดิการนักกีฬาที่จะดูแลนักกีฬาได้ในระยะยาว เคยเสนอเรื่องให้นักกีฬาคนพิการได้โควตาขายสลากกินแบ่ง ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากได้เหรียญทองแดง เอเชียนพาราเกมส์ที่เกาหลีใต้ก็ไม่ได้ ปีนี้ได้เหรียญเงินไปขออีกก็ไม่ได้ ผมเลยลาออกแล้วหันมามุ่งการเมือง” จากรายได้ที่เหลือเพียง 800 บาทจากเบี้ยคนพิการ เม่น-ปริญญา ได้ส่งประวัติและใบสมัครให้พรรคอนาคตใหม่ เพราะเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเรื่องปัญหาความเท่าเทียมในสังคม รวมไปถึงปัญหาทางโครงสร้างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และอีกหลายอย่าง ที่พรรคนี้กล้าที่จะพูดเรื่องจริง ไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่นในอดีต ที่เขาบอกว่า ถ้าเลือกเหมือนเดิมก็ได้เหมือนเดิม เราต้องกล้าพอที่จะเลือกอะไรใหม่ เขาถึงกับตั้งชื่อลูกสาวที่ตอนนี้มีอายุไม่ถึงขวบปีว่า “น้องฟิวเจอร์” ซึ่งคลอดในช่วงที่อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคของอนาคตใหม่ลงไปที่ตรังพอดี เพราะเขาเชื่อมั่นว่าอนาคตที่ดีจะส่งต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ รวมไปถึงเขาอยากให้ทุกคนตระหนักรู้เรื่องการเมือง เมื่อทุกคนใส่ใจการเมือง การเมืองจะเดินหน้าได้เร็ว แล้วตอบโจทย์ชีวิตของคนในสังคม “ผมต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์มาโดยตลอด ทั้งการตัดผมเป็นเครื่องหมายเท่ากับ หมายถึงคนเท่ากัน ที่เคยอธิบายเวลามีคนมาถาม เวลาไปแข่งต่างประเทศก็ตัดผมทรงสันติภาพ ผมอาจจะต่างเรื่องมุมมองอุดมการณ์ทางการเมือง ที่มีความชัดเจน ตั้งแต่ไปเรียนปริญญาโทรัฐศาสตร์ที่รามฯ ผมมัดผ้าขาวม้าที่พุง ก็มีคนก็เรียกว่าพวกนั่นนี่ มันยากที่สังคมไทยจะยอมรับความแตกต่าง” ว่าที่ ส.ส. ปริญญา ผู้พิการที่มาจากลูกคนจนเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะเป็นทางของของสังคม เพราะการเมืองเป็นเรื่องเดียวกับการทำมาหากิน เรื่องปากท้องของประชาชน เขาเลยตั้งใจจะร่วมต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชน เมื่ออำนาจเป็นของประชาชนแล้วประโยชน์นั้นจะตกอยู่กับประชาชน “เราต้องเลิกมองว่าสิ่งที่คนพิการได้รับคือการสงเคราะห์ดูแล เพราะจะไปคิดว่านั่นเป็นการอุปถัมภ์เกิดบุญคุณที่ต้องตอบแทน กลายเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้การเมืองไทยมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมที่เคยช่วยกัน นักการเมืองรุ่นใหม่เกิดได้ยากมาก แต่ในสังคมประชาธิปไตย เขามองว่าคนพิการมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกับทุกคน คนพิการได้สิทธิ์เพราะเป็นหน้าที่หลักของรัฐ ไม่ใช่บุญคุณ ถ้าเราเข้าใจเรื่องหลักการความเท่าเทียมไม่ใช่แค่คนพิการ แต่เป็นคนชาติพันธุ์ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีศักยภาพ ไม่ได้มองว่าเป็นแค่คนครึ่งคน ผมว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน” ขอบคุณภาพ : Facebook Parinya Chuaigate Keereerut