เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม

ทันทีที่เราเปิดประตูเข้าร้าน Merge Ramen ภาพแรกที่เราจำได้คือ เราเห็น ‘เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์’ หนึ่งในผู้เข้าร่วมแข่งขันมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซัน 5 และเป็นกัปตันทีมสีชมพู กำลังง่วนอยู่หลังเคาท์เตอร์ทำครัว

เขาเงยหน้าขึ้นมา พร้อมส่งเสียงทักทาย และบอกให้เราทำตัวตามสบาย หลังจากพูดจบเขาก็ก้มหน้าเตรียมอาหารต่อ

เราเดินสำรวจร้านอีกนิดหน่อย จากนั้นจึงเริ่มต้นบทสนทนาเล็ก ๆ กับชายตรงหน้า ยอมรับตามตรงว่าจุดหมายวันนี้ของเราคือการคุยกับหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันอีกคน แต่หลังจากคุยกับเอมร่วมครึ่งชั่วโมง เราก็ค้นพบกับ ‘ความลับ’ ที่น่าตกใจ เพราะชายตรงหน้านอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการทำอาหารระดับประเทศแล้ว อดีตของเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน...

เขาเคยเป็นนักโทษการเมือง จากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เมื่อปี 2557 พลเมืองคนแรกที่ขึ้นศาลทหาร และถูกตัดสินด้วยศาลทหาร โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด ๆ ผลจากการฝ่าฝืนครั้งนั้น ทำให้เขาถูกตัดสินให้รับโทษอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 10 กว่าวัน

เอมเล่าชีวิตโดยย่อให้เราฟัง และนี่จึงเป็นความบังเอิญแรกที่ทำให้เรารู้จักกับเขา

ความบังเอิญต่อมา คือ ร้าน Merge Ramen ของอดีตนักโทษการเมืองคนนี้ เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน แล้วเราก็ได้ ‘บังเอิญ’ เข้ามาเยือนร้านตอนที่เอมกำลังทำเมนูทดสอบ ที่กำลังจะเปิดขายจริงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เพื่อไม่ให้ความบังเอิญ เป็นเพียงแค่เรื่องของโชคชะตา เราตัดสินใจนัดหมายพูดคุยกับเขาในครั้งต่อไป หลังจาก Merge Ramen พร้อมเปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบ

นี่คือเรื่องราวความบังเอิญทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ราวหนึ่งเดือนก่อนที่เราจะกลับมาพบกับเขาในอีกไม่กี่วันต่อมา

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม

เริ่มทำอาหารเพราะต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย

“การทำอาหารของผม มันเริ่มมาจากการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง เงินเดือนก็อยู่ได้สบาย แต่หลังจากเข้าเรือนจำไป 10 กว่าวัน ผมก็ไม่สามารถสมัครงานที่ไหนได้เลย...” เขาทิ้งช่วงการพูดไประยะหนึ่ง พร้อมยิ้มออกมาบาง ๆ ก่อนจะบอกว่าการมีประวัติอาชญากรติดตัว ทำให้เขาใช้ชีวิตลำบากกว่าเดิมอีกเท่าตัว ต้องทิ้งอาชีพการงานที่มั่นคง เงินเดือนเกือบแสนมาหางานทำด้วยตัวเอง

หลังจากออกจากเรือนจำ เอมจึงเบนเข็มการทำงานมาเอาจริงเอาจังด้านการทำอาหารมากขึ้น จนกระทั่งยื่นสมัครเข้าแข่งขันในรายการมาสเตอร์เชฟฯ ซีซัน 5 และได้ขึ้นแท่นเป็นกัปตันทีมสีชมพู เมื่อถามถึงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขัน เอมใช้เวลาไม่นานเขาก็บอกกับเราว่า รายการนี้คือหนึ่งในความฝัน เมื่อมันลอยมาอยู่ตรงหน้าแล้ว ทำไมเขาจะไม่คว้ามันไว้

“มันคือหนึ่งฝัน เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่อย่างน้อย ผมมีโอกาสแล้วที่จะมีส่วนร่วมตรงนั้น มันก็เหมือนการดำรงชีวิต ทุกวันเราตื่นมาเรามองว่าวันนี้มันคือวันสุดท้ายของชีวิตแล้วทำมันให้ดี เพราะเราไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะมีไหมสำหรับเรา

“ตลอดเวลาที่อยู่ในรายการ ผมไม่เคยมองใครเป็นศัตรู ผมไปแข่งกับตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำว่าเราจะทำได้แค่ไหน เราก็แค่อยากจะทำมันให้ดีที่สุด ผมใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

“อย่างตอนที่ตกรอบ จริง ๆ ถ้าทำอะไรที่เราถนัด ผมว่าผมคงไม่ตก แต่ผมไม่อยากทำ เพราะผมสนุกกับความเสี่ยง สมมติถ้ามันเสี่ยงแล้วผลลัพธ์ออกมาสำเร็จมันก็ดี แต่ถ้าเสี่ยงแล้วไม่สำเร็จ มันก็พัง แค่นั้นเอง”

จากนั้นเอมจึงเล่าต่อว่าก่อนที่เขาจะเข้าแข่งขัน เขาเคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 ตอนที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐประหาร 2549 มาจนถึงรัฐประหาร 2557

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม “ผมไม่เห็นด้วยกับการฉีกรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะจากใครก็ตาม ผมมองว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งเลวร้าย ผู้รัฐประหารเป็นกบฏของแผ่นดิน นี่คือมุมมองของผม ทุกอย่างมีทางแก้ไขเสมอ ถ้าทำไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

“แล้วการที่คุณทำแบบนี้ มันส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ การค้าขาย การท่องเที่ยว ร้านอาหาร ทุกอย่างได้รับผลกระทบ ถึงคนไทยเราจะเห็นว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ แต่คนต่างชาติเขามองว่าสิ่งนี้มันคือบ้านป่าเมืองเถื่อน มันคือประเทศที่ไร้อารยธรรม

“ยิ่งเราอยู่ในวงการอาหารจะรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ โรงแรมโดนยกเลิก ร้านอาหารโดนยกเลิก ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่นี้เท่านั้น พนักงานก็ได้รับผลกระทบ ผู้นำเข้าวัตถุดิบ เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด”

เอมระบายความอัดอั้นใจออกมา ราวกับเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยจางหายไปจากความรู้สึก ทุกการกระทำ ทุกเหตุการณ์ทางการเมืองล้วนสลักลึกอยู่ในห้วงความคิดของเขา แม้การต่อสู้ทั้งในจอและนอกจอจะไม่สำเร็จดั่งใจหวัง แต่อุดมการณ์ของกัปตันทีมไม่เคยจางหาย

เราไม่รู้ว่าชายตรงหน้าได้รับบาดแผลมากน้อยแค่ไหนในการต่อสู้แต่ละครั้ง แต่เขาก็ยังบอกกับเราด้วยท่าทีสบาย ๆ ว่าเขาจะไม่หยุดต่อสู้ ไม่ว่าจะแลกมาด้วยอะไรก็ตาม

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม “มีคนบอกว่าประเทศนี้ไม่ใช่ของผมคนเดียวหรอก ทำไมผมต้องไปทุ่มเทกับมันขนาดนั้น” (ยิ้ม)

“ผมบอกได้สิ เราได้ สิ่งที่เราได้คือลูกหลานของเราจะไม่ตกเป็นทาสใคร ถ้าทุกคนคิดว่าประเทศนี้ไม่ใช่ของกู แล้วใครจะออกมาเรียกร้อง ใครจะออกมาปกป้องสิทธิของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ทำ

เสียใจไหมกับการออกมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมี แต่กลับทำให้คุณต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวไปจนวันตาย - เราถาม

“ผมภูมิใจ ผมภูมิใจในตัวผมมาก เพราะอย่างน้อยที่สุด ผมบอกคนรุ่นหลังได้ว่า เฮ้ย! ประเทศนี้มันเคยเป็นแบบนี้ ถึงผมจะเป็นควายแดง แต่ควายตัวนี้ไม่เคยผิดคำพูด ไม่เคยผิดต่อจิตสำนึก ไม่เคยผิดต่อความเป็นคน”

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม Merge Ramen ร้านราเมงที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเท่าเทียม

จากการต่อสู้ของเอม มาจนถึงวันนี้ชายตรงหน้ายังคงต่อสู้ไม่ลดละ จนกระทั่ง Merge Ramen เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกกฎาคม 2565 และดูเหมือนว่าเส้นทางการต่อสู้ของเขาจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เพราะร้านราเมงแห่งนี้ นอกจากจะก่อร่างมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว เขายังใส่ความตั้งใจที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่ร้านอาหารจะทำได้

“คอนเซ็ปต์ของผมคืออยากขายอาหารที่คุณภาพดีในราคาเหมาะสม เราก็จะทำอย่างนี้ของเราไปเรื่อย ๆ ด้วยความที่ทุกอย่างเราทำเองเป็นโฮมเมด เป็นราเมงโฮมเมดที่ในแบบที่เราชอบ เพราะฉะนั้นทุกอย่างในร้าน จะเป็นแบบที่เราชอบ ทั้งเรื่องของแสงไฟ เรื่องของฟังก์ชันในร้าน เรื่องของเมนู

“แล้วอีกอย่างคือเรามองว่าขยะมันเยอะ โดยเฉพาะขยะอาหาร เราเลยอยากจะ less waste คือผมพูดตรง ๆ ว่าเราทำร้านอาหาร มันต้องมีการตัดแต่ง มันต้องมีของที่ใช้แล้ว จำเป็นต้องทิ้ง จำเป็นต้องใช้ เรา zero ไม่ได้ แต่เรา less ได้ เราลดขยะให้น้อยที่สุดได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ"

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม “ที่สำคัญคือความสะอาดต้องมา ทุกอย่างต้องโอเคต้องปลอดภัย เพราะฉะนั้นเนี่ยน้ำที่ใช้ทั้งหมดในร้านนี้ผ่านการกรองมาก่อนแล้ว กรองก่อนเข้าแทงค์ แล้วน้ำที่ใช้ทั้งหมดในบ้านหลังนี้ ก่อนออกจากบ้านไปสู่ท่อประปาท่อน้ำทิ้งต้องผ่านบ่อดักไขมัน เราจะไม่ทำให้เกิดภาระ แล้วก็ขยะต้องมีน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้

“ขยะที่เกิดจากโต๊ะลูกค้าก็มีแค่ทิชชู่กับเศษอาหารที่เขาทานเหลือ ผมไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่ให้คุณซื้อกลับบ้าน ผมไม่ให้คุณสั่งชามที่ 2 ถ้าชามแรกคุณยังไม่หมด เราไม่ขาย เราโรคจิต...” (หัวเราะ)

นอกจากสิ่งแวดล้อมที่เขาพยายามจะนำมายึดโยงกับร้านราเมงแล้ว เขายังบอกอีกว่า ในมุมมองของเขา คิดมาโดยตลอดว่าการเมืองกับอาหารมันเป็นของคู่กันมานานแล้ว ทุกอย่างถูกถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรม

“การเมืองมันคือชีวิต อาหารก็คือชีวิต การถ่ายทอดตรงนี้มันก็คือเรื่องราวหนึ่งที่ถูกเล่าขานกันมาเรื่อย ๆ มันไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าใครถามผม ผมก็จะบอกว่าอาหารกับการเมืองมันคือเรื่องเดียวกัน

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม “มันเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่ถ่ายทอดเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว ทุกวันนี้ผมก็อยากจะบอกว่า อาหารมันไม่ควรที่จะต้องยึดติดแล้วนะ มันต้องผสมผสาน การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันต้องทำได้ ซึ่งโลกของอาหารมันพัฒนาไปไกลกว่าประชาธิปไตยบ้านเราเยอะ”

คุณพอจะยกตัวอย่างอาหาร ที่สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์การทางการเมืองในประเทศไทยขึ้นมาสักหนึ่งตัวอย่างได้ไหม หลังจากเราถามจบรอยยิ้มของเขาก็กว้างขึ้นกว่าทุกครั้ง เขาตอบทันทีว่า “ตำมั่ว!”

ทำไมถึงเป็นตำมั่ว - เราถามต่อ

“ณ เวลานี้นะ ผมว่าตำมั่วคือคำตอบ ก็คิดดูสิ มันมีอะไรก็จับใส่ ๆ ๆ ยัด ๆ ๆ เข้าไป แล้วบังคับให้ทุกคนกิน คนไม่กินถั่วฝักยาว มึงก็ต้องกิน คือตอนนี้เป็นการเอาตำมั่วยัดใส่ปากทุกคนให้กิน โดยไม่สนใจด้วยว่าเขาอยากจะกินอาหารจานนั้นไหม

“ผมมองว่าทุกคนควรมีสิทธิ์เลือก อย่างที่ผมบอกไปว่าคุณต้องเลือกได้ ไม่ใช่มีอะไรก็ถูกบังคับกินไปหมด อันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ความเท่าเทียม คุณต้องเลือกได้สิว่าจะรับไม่รับ จะกินไม่กิน ทุกคนต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน

แต่ก็มีอาหารหลายประเภทที่ถูกจัดเป็นอาหารเฉพาะชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง คิดว่าเราจะมีอาหารที่เป็นจุดกึ่งกลางสำหรับทุกชนชั้นได้ไหม

“ผัดกะเพราครับ ผัดกะเพรามันคืออาหารของทุกชนชั้น ทุกคนทานได้หมด หนำเลี๊ยบหมูสับก็มี ทุกคนทานได้หมด อยู่ที่ว่าเราจะเลือกจะทานหรือไม่ทาน เราจะเลือกวัตถุดิบแบบไหนแค่นั้นเอง

“เพราะฉะนั้นผมมองว่าอาหารมันเท่าเทียมกันได้ เพียงแต่ว่าคนนี่แหละที่ไปแยกมัน คนนี่แหละที่ไปกำกับมันว่านี่ของชนชั้นสูง ผมก็เห็นเศรษฐีพันล้านจกส้มตำปลาร้า ก็ไม่เห็นแปลกนี่ครับ ใช่ไหม เราแค่ไม่ยึดติด ทำของถูกให้แพง ทำของแพงให้ถูก แค่นั้นเอง”

เอม - สุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์: จากอดีตนักโทษการเมือง สู่ Merge Ramen ราเมงโฮมเมดที่ขายวันละ 50 ชาม