‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์ชาวไทยผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบลายเส้นสุดอบอุ่นใจ ‘Warbie Yama’ (วอร์บี้กับคุณลุงยามะ) นกอ้วนสีเหลืองจอมกวนที่ขโมยหัวใจคนทั่วโลกมาครอง กับการจัดนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกในไทย

‘Warbie Yama’ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่เราเชื่อว่าถ้าพูดถึงนกอ้วนสีเหลือง พุงกลมป๊อก ขาเล็กจิ๋ว มาพร้อมนัยน์ตาสุดกวนอันเป็นเอกลักษณ์ รับรองว่าคุณจะต้องร้อง อ๋อ! (ลากเสียงยาว) เป็นแน่ อย่างน้อยก็ต้องมีคนรอบตัวของคุณเคยกดส่งสติกเกอร์เจ้านกอ้วนตัวนี้ผ่านทางไลน์บ้างแหละ

ครั้นจะให้เจ้านกตัวแสบ ‘วอร์บี้’ (Warbie) มาแจกความซนตัวเดียวก็เกรงว่าจะไม่ครบองค์ประกอบ ‘นอร์ธ - อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์ชาวไทยผู้อยู่เบื้องหลังลายเส้นสุดอบอุ่นใจ จึงพา ‘คุณลุงยามะ’ (Yama) ที่สุดแสนจะใจดีมาเพิ่มความสดใสให้หัวใจคนทั่วโลกนุ่มฟูขึ้นยิ่งกว่าเก่า

ทำไม Warbie Yama ถึงสามารถตกคนครึ่งค่อนโลกได้จนอยู่หมัด The People ขอชวนคุณก้าวเข้าสู่โลกเหนือจินตนาการของ ‘นอร์ธ - อรุษ’ ผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวแบบไม่มีตัดออก เพราะตลอดเวลา 2 ชั่วโมง 32 นาทีที่เราพูดคุยกับชายคนนี้ มีแต่เรื่องราวน่าประทับใจและความอบอุ่นลอยฟุ้งอยู่เต็มพื้นที่

หมายเหตุ: หากอยากเติมเต็มความอบอุ่นใจไปกับวอร์บี้และคุณลุงยามะ ตอนนี้ที่ River City Bangkok กำลังจัดนิทรรศการ It’s Me, Warbie! The Inside World of Warbie Yama ครั้งแรกในไทยที่ชั้น 2 ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 มกราคม 2566

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก

The People: คุณคิดว่าความสนใจในศิลปะของคุณโดดเด่นกว่าพี่น้องคนอื่นเลยไหม

อรุษ: ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันโดดเด่นหรือเปล่า แต่ก็น่าจะใช่ เพราะว่าผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กคือค่อนข้างจะชัดเจนกว่าพี่น้องคนอื่น ในแง่พี่น้องผมมีพี่สาวคนหนึ่ง แล้วก็น้องชาย ตอนหลังก็มีน้องสาวเพิ่มอีกคนมาอีกคนหนึ่ง ตอนที่แบบโตแล้ว แต่ว่าพี่สาวเขาก็มีทาง Art เหมือนกัน  อย่างเช่นเรื่องดนตรี เขาก็เป็นคนแรกที่ซื้อกีตาร์เข้าบ้าน แล้วก็เอามาเล่นเอง

ตอนนั้นเราก็ห่างกับเขาแค่ปีเดียวเอง พอเริ่มมีความสนใจทางด้านดนตรีเข้ามา ก็ยืมของเขามาเล่น ซึ่งตอนนั้นพี่สาวก็จะวางมือแล้ว (หัวเราะ) เหมือนกับฝึกไปแป๊บนึง แล้วก็คงไปสนใจทางด้านวิชาการ ก็จะไปทางด้านนั้นมากกว่า แต่คิดว่าเป็นเพราะคุณแม่ จริงๆคุณแม่ของผม เขาค่อนข้างมีทางด้านศิลปะอยู่แล้ว คือไม่ได้เป็น Artist หรือเป็นอะไร

จริงๆย้อนไปคำถามแรก อย่างเรื่องของแรงบันดาลใจตอนเด็ก บางทีมันมาจากดนตรีก็มีนะอย่างเช่นบทเพลงที่แม่ฟังตอนเด็กๆ แล้วคุณแม่ก็จะชอบมีพวกหนังสือ หนังสือเพลงแบบฝรั่งเป็นภาษาอังกฤษ พวกเพลงคลาสสิคเก่าๆ เราก็ชอบหยิบมาดูเล่น ก็แปลไม่ออกนะ แต่ว่าบางเพลงที่เราชอบ คือแม่เราฟังก่อน แล้วเราชอบปุ๊บ เราก็มาเจอเนื้อเพลงในนี้ แล้วเราก็มานั่งคัดลอก จนกระทั่งทำเป็นหนังสือเพลงของตัวเองขึ้นมา ก็มีอยู่ไม่กี่เพลงที่เราชอบ แต่เหมือนกับสนุก สนุกกับการเขียน เขียนเป็นเนื้อเพลงออกมา ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะได้ Inspiration มาจากการ์ตูนก็ดี ดนตรีก็ดี ในวัยเด็กอะไรแบบนี้ ก็จะผสมปนเปกันครับ 

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก The People: เพิ่งทราบเลยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับดนตรีมากขนาดนี้

อรุษ: ครับผม นิทรรศการนี้มันเลยค่อนข้างชัดเจนมาก เพราะว่าถ้าได้ไปดูเนี่ย มันจะมีส่วนของ Warbie Orchestra ซึ่งเป็นอะไรที่เพิ่งจะมีแบบจริงๆจังๆ เพราะว่าเราก็ชอบดนตรีด้วย แล้วก็อย่างตัว Short Film ที่ทำ ซึ่งเป็น Original ต้นฉบับเลยของเจ้าตัวละครนี้ Warbie กับ Yama ก็คือผมก็เหมือนกับแต่งท่อนดนตรีเองใส่เข้าไป แต่เนื่องจากว่าจริงๆแล้วมันก็ Low Budget

เพราะว่าก็เป็น Thesis Project ก็เลยแต่งเพลงท่อนหนึ่งใส่เข้าไป แล้วตอนหลังก็คือว่าผมก็มี Idea เกี่ยวกับเกี่ยวกับดนตรี ที่มันเหมาะกับเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ว่าทีนี้เราก็ยังไม่ได้ถึงกับทำเป็นอนิเมชั่น เป็นหนังใหญ่เป็น TV Series ขึ้นมา แต่เราคิดว่า ในสิ่งที่เรามีอยู่บางทีงานของเรามันอาจจะถูกถ่ายทอดออกมาใน Medium อื่นด้วยก็ได้ แบบเต็มที่ไปอีกอันหนึ่งเลยก็ได้

เหมือนประมาณว่าเรามีภาพนิ่ง เรามีภาพการ์ตูนอยู่ แล้วแบบว่ามีเพลงประกอบไปด้วยในหัวจริงๆแล้วที่มันทำออกมา แล้วมันเกิดความน่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือว่า มีหลายคนบอกว่าดนตรี

ที่มันออกมา เนื่องจากว่ามันไม่ได้มีอนิเมชั่นที่มันเสร็จสรรพ มันเลยเหมือนมีช่องว่างให้เกิดจินตนาการในส่วนอื่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ปกติเราจะค่อนข้างจะได้เสพ ได้ดูอะไรที่มันค่อนข้างครบครบวงจรมาแล้ว เป็น Package มาแล้ว อนิเมชั่นต้องมากับดนตรี อะไรมีทุกอย่างคือจะต้องครบแบบนั้น เหมือนเราดูละครหรือดู Musical ซึ่งมันก็ดีครับ แต่ว่ามันเกิดความคิดที่ว่า ถ้าเราชอบแต่ว่าสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้เ ราสามารถถ่ายทอดอย่างอื่นไปได้ไหม

เพราะว่าอย่างผมดูงานอนิเมชั่นของญี่ปุ่น ของ Ghibli บางเรื่องเชื่อไหมว่ายังไม่เคยดูเรื่องนี้เลยแต่ว่าฟังดนตรีเนี่ย อย่างฟังของ โจ ฮิซาอิชิ บางเรื่องเคยดูแล้ว แต่ฟังไปทั้งอัลบั้มเลย บางเรื่องยังไม่เคยดู แต่ดนตรีมันกินใจ มันพาเราไปที่ไหนสักที่หนึ่งแล้ว โดยที่เรายังไม่เห็นภาพกันเลยแต่มันคือ Guide มันมีความพิเศษ แล้วมันมี Concept ที่มันอยู่ในโน้ต ใน Melody อยู่แล้ว

Warbie ก็เลยเช่นกัน ผมได้ร่วมงานกับ คุณมด ภูดินันท์ ดีสวัสดิ์มงคล ซึ่งเขาก็เหมือนกับว่ามาสนุกกัน แล้วเขาก็อยากจะทำดนตรีพวกนี้อยู่แล้ว เขาจบ Flim Score มา แล้วก็เลยมาลองทำกัน ก็ให้เขาดูเป็นภาพ Sketch Panel ก็เล่าเรื่องให้ฟัง แล้วก็มี Comic อะไรให้เขาฟัง ทุกอย่างที่เราสามารถจะโชว์ให้เขาดูได้ แล้วเขาก็มาเรียบเรียงออกมา ก็เลยเกิดเป็นเพลงแรก

ก็คือ Warbie Yama ที่เป็น Main Theme ซึ่งเอามาจาก Melody จากตัว Short Film ที่ผมแต่งมาตั้งแต่ 2008 แต่เอามา Enhance ให้มันเกิดความสมบูรณ์แบบ ใน Warbie ของปัจจุบันซึ่งมันครบแล้ว มันมีความตลก คือแค่ฟังอย่างเดียวก็รู้สึก Warbie จังเลย

ต่อมาก็คือ Inside World เป็น Concept หลักของนิทรรศการนี้ ซึ่งมันก็จะมีความ Fantasy ขึ้นมา มีความอบอุ่นในขณะเดียวกัน และอบอุ่นที่สุดเลยคือเพลงที่สาม เพลง Moment จะเป็นเพลงที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่มาสำหรับผมนะ เพราะว่านอกจากความที่มันซึ้งแล้วเนี่ย มันบ่งบอกถึง Moment คือการเป็น Collection ของ Moment ในอันที่ผ่านๆมา ตั้งแต่การเดินทาง 10 กว่าปีที่ผ่านมาของ Warbie

จริง ๆ แล้วมันเป็นเพลงของฉากท้าย ๆ ของใน Inside World ว่าหลังจากเป็นคุณ Yama วัยเด็ก มาเจอกับ Warbie และหลงเข้าไปในโลกลึกลับของเขา แล้วก็ผจญภัย Work Hard Play Hard กันมาจนกระทั่งซ่อมหลังคาให้ Warbie เสร็จปุ๊บก็นั่งชมจันทร์ด้วยกัน แล้ว Moment นั้น มันคือ Moment แห่ง Friendship ก็คือเกิดความสัมพันธ์ เกิดเพื่อนใหม่ ทั้งที่ต่างกันคนละขั้วเลย ก็ได้มาเจอกัน

Moment ตรงนี้มันเลยสะท้อนถึงการทำงานที่ผ่านมาของผมด้วย แล้วก็ที่มีคนเยอะแยะมากมาย ที่คอย Support ตรงนี้ ที่เขาชื่นชอบ จากต่างประเทศก็ดี Moment นี้ก็ยังสะท้อนถึงคนที่ทำดนตรีด้วย แล้วเอามาประกอบกันจนมันกลายเป็นก้อน มันก็เลยเกิดความอบอุ่น เกิดความยิ่งใหญ่ แล้วก็ลากไปถึง Moment ที่มีเนื้อร้องที่ได้คุณแนน สาธิดา มาร้องด้วย

แล้วก็คนแต่งให้คือคุณฟ้า ที่อยู่ลอสแอนเจลิส เขาเป็นนักเขียนเพลง เพราะว่าเรามองว่าเพลง Moment มันน่าจะมีคำด้วย ที่เป็นกวีอันหนึ่งที่มันขยายความ ซึ่งถ้าไปดูตรงนิทรรศการ

ตรงห้องชมจันทร์ จะมีส่วนหนึ่งที่มาจากเนื้อเพลงของ Moment ด้วย มันก็เลยค่อนข้างครบ พูดถึงดนตรีมันก็เลยค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เแล้วมันก็เป็นเพลง Orchestra ด้วย ซึ่งเพลงส่วนใหญ่คือไม่มีเนื้อร้อง มีแค่ Moment เพลงเดียวเท่านั้นที่มีเนื้อร้อง

The People: มีตัวการ์ตูนในวัยเด็กตัวไหนบ้างไหม ที่ทำให้เราจะนึกถึงตัวการ์ตูนนี้อยู่ตลอด

อรุษ: จริง ๆ ถ้าวัยเด็กก็มีหลายอันนะครับ แต่ที่ชอบๆเลยก็อย่างเช่น โดราเอมอน ซึ่งมันเป็นการ์ตูนที่สนุก มันตลกด้วย แล้วมันก็น่ารัก มันมีความอบอุ่น แล้วมันเหมือนกับว่าตัวเอกค่อนข้างจะ Loser หน่อย อย่างโนบิตะมันก็เหมือนกับโดนใจเรา แล้วก็รู้สึกว่ามันมีความอ่อนแอ เป็นตัวเอกที่ไม่ได้แข็งแรง ไม่ได้มีความเข้มแข็งขนาดนั้น

แล้วก็เรียนรู้จากความผิดพลาดในทุกตอนเลย แต่ก็ยังคงผิดอยู่ คือผมว่ามันมีเสน่ห์ตรงนั้นนะ มันมีเสน่ห์ตรงที่ว่า เหมือนกับมันสอนว่าจริงๆจะต้องทำอะไรได้ด้วยตัวเองมากกว่า เพราะว่าของวิเศษที่มีมา มันก็มันก็ช่วยได้นะ มันก็ทำให้สนุกได้ แต่สุดท้ายมันก็มักจะเกิดปัญหากับตัวเองตลอดเลย เอาไปใช้ไม่ถูกต้อง หรือใช้มันเกินไป ซึ่งมันมีข้อคิดเยอะมากในโดราเอมอน

แล้วตัวโดราเอมอน มันก็เหมือนกับคนที่คอยดูแลเรา คอยให้ความอบอุ่นกับเรา เรียกว่าเหมือนกับรักแบบไม่มีเงื่อนไข ต่อให้ผิดมากขนาดไหน ก็ยังคงดูแล ยังให้ความรักอยู่ ซึ่งมันอบอุ่นมากเลยนะ แล้วมันรู้สึกว่าคนได้รับไป ดูไป ถ้าเขาไม่ได้ไป Relate กับตัวเขา กับโนบิตะ บางทีเขาอาจจะได้ความ Soft ความอบอุ่น ความเมตตา อะไรที่แบบโดราเอมอนมีให้กับโนบิตะก็ได้

แล้วมันมีเรื่องของ Time Machine เรื่องของการย้อนเวลา ตอนที่ชอบเลยคือตอนที่โดราเอมอนพาโนบิตะย้อนเวลากลับไปหาคุณยาย มันซึ้งมากเลย มันทำให้เรารู้สึกว่า ทุกวันนี้ที่เราเห็นพ่อแม่เราก็ดี หรือเห็นคนที่อยู่ ณ ตอนนี้กับเรา เรื่องราวก่อนหน้านี้มันอาจจะมีความน่าสนใจหรือเขาอาจจะ Classify อะไรบางอย่างเพื่อเราไปแล้วก็ได้ โดยที่เราไม่รู้มาก่อน

ทุกวันนี้เราเองที่เหมือนกับว่าไม่เจ็บไม่ไข้นะ หรือว่ายังสามารถเดินเหินอะไรได้ปกติ ได้ทำอะไรได้เนี่ยการ์ตูนแบบนี้แหละ อย่างตอนแบบนี้ มันทำให้เรานึกย้อน มันทำให้เด็กนึกถึงคนอื่นมากขึ้น นึกถึงที่มาที่ไปของคนๆหนึ่ง แล้วพอเวลาเราโต เราผ่านชีวิตมาแล้ว เรายังนึกถึงมันอีก เพราะว่ามันเหมือนกับเราเริ่มมองตัวเองว่า จริงๆที่ผ่านมาเราก็คล้ายๆเขาเหมือนกันนะ

แล้วก็บางทีเขาน่าจะลำบากกว่าเราด้วยซ้ำ ตอนที่เราเด็กๆอะไรอย่างนี้ รู้สึกว่าชอบมาก มันมีข้อคิด มันตลก มันสนุกด้วย มันเหมือนกับเป็นการ์ตูนที่สอนให้ข้อคิด แต่ว่าทำออกมาได้สนุก ตรงนี้มันมีได้อีก

เหมือนบอกว่าถ้ามีการ์ตูนที่เกี่ยวกับธรรมะ หรือว่าอะไรที่สร้างสรรค์สังคมนะ มันก็ดีนะ ถ้าสมมติว่าสามารถทำงานออกมาได้แบบเนียน ๆ ไป (หัวเราะ) คือไม่ได้ทำให้มันน่าเบื่อ ตรงนี้มันดีมาก แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งพวกนี้มันสะท้อนออกมาในงานของผมโดยอัตโนมัติ อย่างการ์ตูน บางเรื่องที่เขียนเนี่ย เรื่องราวมันไม่มีอะไรมากเลย เป็นแค่ว่า Warbie มาเก็บผลไม้ใช่ไหม แล้วเจอ Phebie เก็บด้วย ก็เก็บต้นเดียวกัน ก็เลยคิดว่ามาแย่งกันหรือเปล่า ปรากฏว่าก็ไปแกล้งเขา โดยการขว้างก้อนหินไปโดนหมาตัวหนึ่งที่นอนอยู่ตรงนั้น

หมาก็ลุกขึ้นมา แล้วมันก็เปลี่ยนโหมด กลายเป็นหมาจอมพลัง ประมาณว่ามีใครมาบุกรุก มีใครมาทำอะไรฉัน ก็จะมาทำร้าย Phebie ขณะเดียวกัน Warbie ก็บินไปที่บ้าน Phebie ก็แอบเข้าไปดู เหมือนว่าจะแอบเข้าไปขโมยผลไม้ที่เขาเก็บมานั่นแหละ พูดง่ายๆคือตัวแสบ ปรากฏว่าไปถึงปุ๊บ เห็นผลไม้กองหนึ่งอยู่ แต่มีกระดาษเขียนไว้ว่า For Warbie แล้วก็พลิกกลับมา ก็คือเป็นรูปวาดของ Phebie ว่า Warbie Surprise อยู่ในกองผลไม้ Warbie ก็เลยทำตาซึ้ง แล้วก็เข่าทรุด

ตรงนี้เหมือนมันออกมาเองนะ ออกมาจากข้างในว่า บางทีเราอาจจะมองคนอื่นผิดไปหรือเปล่า บางทีเหมือนคนหนึ่งที่เขาทำอะไรอยู่ แล้วมันเหมือนกันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคิด เหมือนว่าเขามาเอาผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า เขามาแย่งอะไรจากเราหรือเปล่า แต่บางทีมันไม่ใช่ก็ได้

เราอาจจะคิดไปเองเนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือว่าด้วยความความคิดของเรา ที่เป็นตัวเราเองอยู่อย่างนี้ โดนปัจจัยอะไรมาอย่างนี้ บางทีมันอาจจะคิดไปเองก็ได้ ซึ่งแน่นอนมันมีเหตุการณ์ที่จริงและไม่จริง แต่ว่าอันนี้มันเหมือนกับทำให้เราเผื่อใจไว้ บางทีเราก็รู้สึกว่าถ้าคนได้ดูตรงนี้ มันก็มีหลายคนที่เป็น Feedback มา เหมือนมันโดนใจ ว่าแบบเห็นไหมคิดไปเอง เขาไม่ได้มาแย่งสักหน่อย เขาเก็บไว้ให้ตัวเองนะ ก็ว่ากันต่อไป ทีนี้พอกลับมาที่ตัว Bambu ที่เป็นหมายักษ์เนี่ยทำร้าย Phebie ปุ๊บเนี่ย Warbie ก็รู้สึกผิดทันที วิ่งเข้ามา แล้วก็โดนซัดไปเหมือนกัน

แต่ว่าในขณะที่หน้าสิ่วหน้าขวานเนี่ย คนอ่านก็จะเดาในตอนต่อไปว่า เดี๋ยวคอยดูนะ Phebie ตื่นขึ้นมา ตบหมา Bambu แบบกระจายแน่เลย รับรองชัวร์ เพราะว่า Phebie ก็แสบเหมือนกัน ปรากฏว่ามาอีกอาทิตย์หนึ่ง Phebie กระโดดกอด Bambu แทนที่จะตบ ปรากฏว่าการกอดครั้งนั้น มันทำให้ Bambu มันนิ่งไปเลย นิ่งไป แล้วมันก็ Flashback ไป กลับไปสู่อดีตของเขาตอนที่เขายังอยู่กับเด็กชาย Chuchu ซึ่งเขาพลัดหลงกันตอนเด็กๆ แล้วการกอดมันเป็นความอบอุ่น

ที่เหมือนกับว่าเขาไม่ได้มาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็จะมีภาพ Flashback ของ Bambu ขณะที่อยู่กับเด็กชาย Chuchu ก็เป็นความอบอุ่น หลังจากนั้น Bambu ก็ Soft ลงทันที มันก็กลายไปเป็นหมาตัวที่น่ารักเหมือนเดิม

คือมันเหมือนกับว่า เป็นการถ่ายทอดจากประสบการณ์ของเราก็ดี บางทีในอดีตเราอาจจะเคยตัดสินใจผิดพลาดไป หรือว่าแก้ไขปัญหาโดยความหุนหันพลันแล่น ด้วยความรุนแรงก็ดี แต่ว่ามันก็ไม่ได้ส่งผลดี แล้วก็มีความแตกหัก มันจะมีทางที่ดีกว่านั้นไหม ทางที่มัน Soft ทางที่เราอาจจะไม่ได้ Expect ก็ได้ แต่ปรากฏว่าเรา Soft ไปแล้ว มันอาจจะเกิดการแก้ปัญหาที่ดีกว่านั้น ไม่ได้แค่แก้โดยเฉพาะหน้าตรงนั้นด้วยนะ แต่มันลงลึกไปถึงรากของมันเลย ถึงหัวใจของอีกคนหนึ่งทันที ตรงนี้มันก็เลยเหมือนกับวาดออกมา

ตอนวาดไม่ได้คิดว่ามันจะไปส่งผลเปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้น แต่หมายถึงว่ามันเป็นประสบการณ์ส่วนตัว และเป็นสิ่งที่เราอยากจะสื่อ เราก็เลยออกมาอย่างนี้ก่อน ปรากฏว่าคนอ่านเขาสัมผัสได้ และเขาก็รู้สึกได้อย่างคนอินโดนีเซียมาอ่านอย่างนี้ เขาก็จะบอกว่า Touching Story  ยิ่งบางคนที่เขามี Relationship กับสัตว์เลี้ยงของเขาด้วย หรือบางคนที่เคยเจอในสถานการณ์เดียวกัน ตรงนี้มันเหมือนกับว่าทำออกมาเพื่อสื่อสาร เราอาจจะเคยมีเหตุการณ์ในอดีตแบบนี้ แต่เรากลับไปแก้ไขไม่ได้ เราก็เลยทำมันออกมา สื่อสารออกมาในอีกทางหนึ่ง ซึ่งคิดว่าคนอ่านไป เขาก็อาจจะ Pick Up ได้บ้าง มากน้อยต่างกัน

แต่ว่าบางคนเขาอาจจะอยู่ในเหตุการณ์นี้หรือว่าเขาอาจจะมีอะไรในอนาคต ถ้าเขาเจอเหตุการณ์นี้ บางทีมันอาจจะช่วยให้เขาตัดสินใจ ในการแก้ปัญหาได้ดีมากขึ้นก็ได้  แต่ละชั้นของมันเนี่ย มันก็เลยมีความคิดแทรกเข้าไปโดยเนียนๆโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เราคิดอย่างนี้แล้วเราก็สื่อสาร เรารู้ว่าเราทำอะไรออกมาก็อยากให้มันมี Message ที่ดี ที่มันเป็นด้าน Positive ที่มันจรรโลงจิตใจ มันเกิดรอยยิ้มได้

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก ‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก The People: ที่คุณบอกว่าดูการ์ตูนแล้วได้ข้อคิด แล้วโดราเอมอนที่ยกตัวอย่างมา เหมือนกับได้สัมผัสกับรักที่ไม่มีเงื่อนไข อยากจะทราบว่าคุณเริ่มสัมผัสกับความรู้สึกตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

อรุษ: อันนี้คือตอนโตเลย เพราะว่าตอนเด็กมันไม่รู้ (หัวเราะ) ตอนเด็กมันไม่ได้มีคำจำกัดความอะไรไม่ได้มีการวิเคราะห์อะไร คือรู้แต่ว่าสนุก แล้วก็ชอบ ชอบตัวนี้ มันอบอุ่น คืออยากจะมีตัวโดราเอมอนจริงๆเกิดขึ้นอย่างนี้ แต่ว่าตอนเด็กๆยังไม่ได้แยกแยะออกว่าอันนี้คือความไม่มีเงื่อนไขเหรอ ก็คล้ายๆพ่อแม่เราเหมือนกันนะ พ่อแม่เราก็เลี้ยงมาอย่างนี้ แต่ว่าบางทีเราก็อยากให้พ่อแม่เหมือนโดราเอมอนบ้าง

เพราะว่าบางทีพ่อแม่ยังมีดุๆบ้าง ยังมีแบบไม่ตามใจเรา แต่ถ้าเรามีโดราเอมอน เราน่าจะโดน Spoil ไปเยอะเหมือนกัน เพราะว่าดูจะตามใจทุกอย่างแล้วก็เราอยากได้อะไร เราก็จะแสดงกิริยา แล้วก็บอกว่าอยากจะได้ สุดท้ายเขาก็ใจอ่อนจริงๆ เขาก็ให้ แล้วสุดท้ายเป็นไงก็เกิดปัญหาอยู่ดี เนื่องจากความอยากได้มากๆ อยากเอาไปทำในที่มันผิดที่ผิดทางอะไรอย่างนี้ ของวิเศษก็เลยไม่ได้ช่วยอะไร สุดท้ายก็แพ้ภัยอยู่ดี

มารู้ตอนโต ๆ แล้ว พอเริ่มทำงานด้านอนิเมชั่น ด้านการ์ตูน เริ่มคิดเรื่อง คิดอะไรบ้าง ก็หวนกลับไปคิด เพราะมันจะมีช่วงหนึ่งที่ว่าเราดูการ์ตูนตอนเด็ก เราดูทุกอย่างที่เมืองไทยมีอยู่ตอนนั้น เราก็ดูช่อง 9 การ์ตูน หนังสือการ์ตูนจากค่ายต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ อ่าน ๆ ไป แล้วมันจะมียุคหนึ่งที่เราเหมือนจะหยุดอ่านพวกนี้ เพราะเหมือนกับว่าเริ่มรู้สึกโตขึ้น แล้วความสนใจมันถูกเบนไปด้านอื่น คือยังคงวาดรูป วาดการ์ตูนอยู่บ้าง แต่ว่าเรื่องอ่านมันอาจจะน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังอ่านอยู่เรื่อย ๆ นะ

แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่ไปเลย ก็คือไปทางดนตรีเยอะๆหน่อย ก็จะไปเล่นกับวงที่โรงเรียน ก็อ่าน ก็ดูน้อยลง แต่เวลาที่มีการ์ตูนน่าสนใจ บางเรื่องมันไม่ใช่สำหรับเด็กดู เราก็เริ่มอยากไปดู เพราะเรารู้สึกว่าเราเริ่มโตขึ้น พอมายุคหนึ่งที่เริ่มทำงานอนิเมชั่นจริง ๆ แล้ว ก็นึกถึงการ์ตูนต่างๆอันนั้น

ก็เริ่มจะ Rewrite ได้ว่า งานบางงานที่เราดูตอนเด็ก ๆ มันมีคุณค่ามากเลยนะ หรืออย่างรักที่ไม่มีเงื่อนไขของโดราเอมอนเนี่ย ก็เพิ่งจะมาเข้าใจ มาจับจุดนั้นได้ตอนโต ว่าจริงด้วย เขาทำทุกอย่างเลยนะ แล้วก็ยอมได้หมดเลย

The People: งั้นคุณมีความฝันที่จะเป็นแอนิเมเตอร์ตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า

อรุษ: ตอนนั้นยังไม่ได้มีความฝันอะไร ก็เหมือนเด็กทั่วไป ชอบวาดรูป แต่มันค่อนข้างจะชัดเพราะวาดเยอะ ส่งประกวดงานโรงเรียนอะไรแบบนี้ งานวันพ่อ วันแม่ ก็จะได้รางวัลมาเป็นพวกสมุดวาดเขียน เป็นดินสอสี ก็เลยเอามาวาดต่อ เหมือนกับเอารางวัลมาใช้ต่อไปเรื่อย ๆ

มันก็เลย ยิ่งวาด ๆ เข้าไปใหญ่ แต่ว่าไม่ได้ชัดเจนมาก ตอนนั้นมันยังเด็กก็ยังไม่รู้อะไรเลย เราอ่านการ์ตูนมายังไม่รู้เลยว่า อ๋อ นี่คืออาชีพเหรอ เหมือนเราอ่านการ์ตูนตอนเด็กก็แค่สนุก แค่นั้นเอง โตมาถึงรู้ว่า อ๋อ เขามีอาจารย์นะ อาจารย์มีผู้ช่วยนะ ของสำนักพิมพ์นี้นะคือเป็นสังกัด เราอ่านเราก็นึกว่าคงเหมือนเรา เราอยู่ที่บ้านเราก็วาดการ์ตูนไป ใครสนใจเอาไปตีพิมพ์ก็คล้ายๆกันอย่างนั้นเหมือนกันนะ แต่มันยังไม่เข้าใจในเรื่องของคำว่า เป็นอาชีพจริง ๆ ของนักวาด

สมัยก่อนมันมีอย่างหนึ่งที่เคยคิดได้ก็คือว่า พอเริ่มจะเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มเห็นงานที่มันเป็น Graphic หรืองานโฆษณา แต่ก็ยังแยกแยะไม่ออกนะว่า มันมีแบบนิเทศศาสตร์ นิเทศศิลป์ ยังไม่ค่อยเข้าใจ รู้แต่ว่าไปทางนี้คือไปด้านอาร์ตแหละไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง

แต่ก็มีช่วงที่เป็นแบบหัวโค้งนิดหนึ่งด้วย ก็คือว่าช่วงนั้นเริ่มเล่นดนตรีประมาณช่วงปลาย ม. 3 แต่ว่าเล่นแบบ Street ด้วยนะ คือเคยไปเรียน แล้วก็เรียนอ่านโน้ต แล้วก็ทิ้งไป เพราะเหมือนกับว่าเราฟังเพลงแล้วก็เลยอยากเล่น อยากร้องเพลงแค่นั้นเอง ก็เลยทิ้ง Classical ไป แล้วก็มาเล่นเพลง Pop เหมือนคนทั่วไป ก็เล่นตามงานโรงเรียน เล่นไปแบบที่ไม่มีทฤษฎีอะไรเลย ก็เล่นไป แล้วก็คิดว่านี่อาจจะเป็นทางของเราก็ได้นะ ก็ไปดีกว่า เล่นดนตรีมันสนุก มันทำให้เราจิตใจแจ่มใส ก็เลยเริ่มวาดรูปน้อยลง แต่ก็ยังวาดแบบให้เพื่อน ๆ เอาไปอ่านอยู่บ้าง

เราก็จะไปสอบเข้าดนตรี แต่ก่อนหน้านั้นช่วงม.ปลาย มันจะมีงานประกวดวาดรูป ซึ่งเราก็รู้ตัวว่าเราวาดน้อยลง แต่ว่าก็มีคุณครูพาเราออกไปแข่ง ทำไมก็ไม่รู้ คิดว่านี่คือไพ่ใบเดียวของโรงเรียนหรือยังไง คือเมื่อก่อนเราวาดเยอะ เขาอาจจะจำได้ว่าเรามีแววทางด้านศิลปะ ก็เลยให้ไปลอง แต่ปรากฏว่าเราก็ไม่ได้รางวัลอะไรเลย ออกไปข้างนอกเจอสนามใหญ่ ไม่รู้กี่โรงเรียน

ก็ไม่ได้อะไรเลย อันที่ชัดที่สุดเลยก็คือว่า หลังจากนั้นก็ยังมีอีกงานหนึ่ง ก็คือว่าโรงเรียนเป็น เจ้าภาพแล้วเชิญ หลาย ๆ โรงเรียนมาแข่งที่นี่ด้วย แล้วอาจารย์เขาคิดยังไงไม่รู้ ก็เอาเราเข้าไปอีก คือเราก็ชอบแหละ เราก็พยายามทำให้เต็มที่ แต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้รางวัลอะไรเหมือนกัน

ตอนนั้นมันก็เลยทำให้เราฉุกคิดขึ้นว่า หรือเราน่าจะไปอีกทางหนึ่งมากกว่า ก็เลยลองไปสอบตอนช่วงนั้นก็มี Entrance เข้าไป กีตาร์คลาสสิคใช่ไหม มันก็จะมีห้องหนึ่ง ที่มีเด็กทุกคนเข้ามาอยู่ด้วยกัน เราก็เริ่มซ้อมของเราไป สักพักมันมีเด็กคนหนึ่งเล่นเพลงขึ้นมา แล้วรู้ไหมว่าเขาเล่นเพลงอะไร (ทิ้งช่วง) เพลงโดราเอมอน เป็นกีตาร์คลาสสิค แต่ว่ามันเป็น Version ที่เราไม่เคยฟังมาก่อน

แล้วสักพักก็มีเด็กอีกคนหนึ่งเข้ามาแจม มาแจมกันจนกลายเป็นวงมโหรีอะไรก็ไม่รู้วินาทีนั้น เริ่มรู้ตัวแล้วว่าไม่ได้แน่ ๆ ที่เราเล่น ๆ มา แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราอยากรู้ เราอยากเรียนด้านนี้ เพื่อที่เราจะได้เก่งได้ แล้วก็รู้แค่นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กมันเยอะมาก แล้วจำนวนที่เขารับมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น โควตามันน้อย เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเอาคนที่มีพื้นฐานที่ดีใกล้ๆกันไปอยู่แล้ว นั่นก็คือการสอบ เราก็เข้าไปนั่งปุ๊บอยู่ตรงกลาง ก็มีอาจารย์นั่งอยู่ตรงนั้นประมาณ 10 คนรอบๆ กดดันมากเลย แล้วก็มีโน้ตตั้งอยู่อันหนึ่ง เขาก็บอกว่าให้มองโน้ตแล้วเล่นเลย

เราก็เล่นช้ามากเลย ตะกุกตะกัก เสร็จแล้วเขาก็บอกว่า งั้นเอาอีกเพลงหนึ่ง เราก็เล่นเพลง Romance เหมือนเป็นเพลงพื้นฐานที่ทุกคนต้องฝึกตอนเล่น ตอนนั้น วินาทีนั้นก็รู้แล้วว่าคงไม่ได้ แต่เราก็รู้สึกมีความหวังว่า เขาอาจจะเห็นว่าเรามีใจที่จะมาสอบ แปลว่าเราอยากจะเรียนด้านนี้ ขอแค่นั้น (หัวเราะ)

แต่ว่าความเป็นจริงคือเด็กมันเยอะ จำนวนคนที่จะเข้าไปมันไม่พอไง ก็เลยกลายเป็นว่ามีรุ่นพี่คนหนึ่งพอดี เขาก็เรียนนิเทศศิลป์อยู่ และเขาก็จำได้ว่าเราชอบวาดรูป เราก็เลยคุยกับเขาเพราะเมื่อก่อนเขาก็เป็นคนหนึ่ง ที่เคยพาเราไปที่ศิลปากร ตอนนั้นก็มีรุ่นพี่มาติวน้อง ๆ ที่ท่าพระจันทร์ แล้วตอนนั้นเราก็เพิ่ง ม. 3 จำได้เลยพี่ ๆ เขาบอกว่ายังดูเด็กอยู่เลย นี่คือจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเหรอ อ๋อ เปล่า มากับพี่ มาวาดเล่น ก็เหมือนกับเปิดประสบการณ์

ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เรามันมาตั้งแต่เด็กก็คือวาดรูป จริงๆเราน่าจะกลับไปทางนี้ดูไหม ก็เลยไปสอบเข้าทางนิเทศศิลป์ ก็ได้ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แล้วก็ยังได้เล่นดนตรีตามที่ชอบ คือเราไม่ได้อยากจะเล่นเป็นอาชีพขนาดนั้น เราเล่นตามงาน ก็ยังคงสนุกกับมันได้ พอได้มาเข้าคณะ ได้วาดรูป มันเหมือนว่าเราได้กลับมาเจอตัวเองใหม่ ทำงานของวิชาก็ได้ A คือชอบมาก นั่งวาดรูปกับเพื่อนถึง 4 ทุ่มอยู่ใน Studio ก็เป็นชีวิตที่ตอนนั้นเรียกได้ว่าสนุกมากเลย สนุกกับการที่ทำงานศิลปะ สนุกกับการที่ได้วาดรูป สนุกกับการที่ได้อยู่กับเพื่อนที่เป็นคอเดียวกัน

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก The People: พอได้กระโดดเข้ามาทำงานจริงๆ เป็นยังไงบ้าง

อรุษ: กระโดดเข้ามาทำงานจริง ๆ ก็มีความสุขนะ มีความสุขมาก ๆ งานที่ได้ทำแรกๆก็คือเป็น Animator เลย เพราะว่าจริงๆที่เรียนมันเป็น Graphic Design แต่ว่า ณ ตอนนั้น มันยังไม่มีสอนอนิเมชั่นเลย แต่ว่ามันมีวิชาที่มันเป็น Motion Graphic ก็เลยไปลงเรียนช่วงปี 3 ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าเราชอบภาพเคลื่อนไหว แล้วไปบวกกับการ์ตูนที่เราเคยดู พวก Disney ก็ดี พวกการ์ตูนญี่ปุ่น เราก็ชอบตรงนั้น คือเมื่อก่อนเราก็วาดแค่ภาพนิ่งนะ เราก็รู้สึกว่าเอาที่เราเคย Experience

ก็คือ Facebook ใช่ไหม เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะทำให้ตัวละครของเรามีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็ Motion Graphic เราเริ่มเห็น Graphic ที่มันเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่ามันไม่นิ่ง มันมี Movement มันมีพลังงานบางอย่างในนั้น เรารู้สึกว่าเราชอบปุ๊บ บวกกับหนังตอนนั้นที่มาด้วย พวก Jurassic Park , Star Wars , Toy Story ภาคแรก ซึ่งเป็นอนิเมชั่นที่เป็น CG แรก ๆ คือเราเริ่มจาก CG นะ เพราะว่าตอนนั้น 2D มันก็ไม่มีใครสอน หรืออาจจะมีแต่ผมไม่รู้นะ

แต่ว่าเท่าที่รู้ตอนนั้นก็คือว่า มันจะมีโรงเรียนที่เพิ่งเปิด เพื่อนก็แนะนำไป บอกว่าที่นี่เขาสอนเป็น CG Animation เลยนะ เป็นแห่งแรกเลยอยู่ที่ชิดลม เป็นของบริษัท Imagimax ตอนนั้น เขามี Studio แล้วก็เปิดโรงเรียนสอน แล้วพวกนี้ก็คือเป็นรุ่นพี่ ที่เขาจบมาจากอเมริกาแล้วก็กลับมาช่วยสอนโปรแกรม Maya ก็เลยใช้เวลานอกรั้ว คือเรียกว่าเรียนเสร็จก็ไปเรียนอันนั้นจนถึง 4 - 5 ทุ่ม แล้วก็กลับมาฝึกที่บ้าน เสาร์ - อาทิตย์ ก็นั่งทำจนแบบว่าเหมือนจะเอาความรู้จากตรงนี้มาทำงานเป็น Short Animation จบตอนปริญญาตรี

แล้วอาจารย์ที่เขาสอน Motion Graphic เขาก็คงเห็นแวว เขาก็เลยชวนไปทำงานที่บริษัทหลังจากที่เรียนจบเลยทันที แต่ก่อนหน้านั้นตอนที่ยังเรียนไม่จบ ก็คือช่วงที่ทำ Short Film อันนี้ซึ่งมันยากมาก ณ ตอนนั้น คือตั้งโจทย์ไว้สูง คือเราพอเห็นแล้วล่ะ ว่าเราอาจจะ Compromise อะไรได้บ้าง แต่ว่าเรา List ในสิ่งที่เราอยากได้ก่อน ว่าหนังมันจะเป็นอย่างนี้จรวดจะมีควัน มีนู่นมีนี่ แล้วเราก็วิ่งไปหาคนที่มีความรู้ ตรงนี้จริงๆแล้วมันสอนเราเยอะมากนะ Rocket Boy เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ทุกอย่างใหม่สำหรับเราเลย แต่สิ่งที่มันสอนแล้วทำให้เราติดเป็นนิสัยเลยนะก็คือว่าการกล้าที่จะไปหาผู้รู้

ตรงนี้คือสำคัญมากเลย เพราะว่าหนังสือมันไม่มี แล้วเราก็เป็นคนอ่านหนังสือช้า แล้วเราก็เหมือนว่าไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็ดีมากเลย เขาเป็นอาจารย์ที่ดีมากก็แนะนำให้ผมรู้จักพี่คนนี้นะ เขาทำเขาทำ Effect อยู่ คุณลองปรึกษาเขาได้เลย ผมก็เข้าไปเลยถือหนังสือเข้าไป

ใส่ชุดนักศึกษา เข้าไปนั่งอยู่ข้าง ๆ คอมพ์เขา แล้วพี่รบกวนเวลาหน่อยครับ ก่อนหน้านั้นเขาก็คงนัดไว้ให้แล้ว รบกวนหน่อย อยากรู้ว่าตรงนี้ทำยังไง ทำให้ผมดูหน่อยครับ เขาก็ทำให้ดู ผมก็จด ก็รีบกลับไปบ้าน รีบกลับไป Repeat เพื่อจะให้มันเข้ามาในหัว มันมีหลายอันมากเลยนะที่ทำเป็นเพราะว่าเข้าไปหา Professional จริงๆ แล้วคือตอนนั้นมันเป็นเด็กนักศึกษาใช่ไหม มันก็ต้องมีความกล้าในระดับหนึ่ง พี่เขาทำงานระดับทำหนัง ทำอะไรอยู่หรือว่าพี่คนหนึ่งที่อยู่ที่บริษัทกันตนา แต่ว่าจริง ๆ ต้องขอบคุณอาจารย์

เพราะว่าอาจารย์คนนี้เขามี Studio อยู่ใช่ไหม ตอนนั้นเขาก็จะรู้จักกับคน กับ Network มันเรียกว่าเจอถูกคนแล้วเขามีจิตใจดี เขาอยากจะช่วยเหลือ มันเหมือนเปิดประตูให้เราหมดเลย แต่ว่าเราต้องมีความพยายามของตัวเราเองด้วย ที่จะบอกว่าไป เราอยากได้ เราอยากได้อย่างนี้

เราอยากให้หนังของเรามันมีอย่างนี้ มันทำยังไง และก็เข้าไปเลย เข้าไปแล้วเขาก็เจอคนพวกนี้ คือชีวิตที่ผ่านมามันเหมือนเคยเจอแต่คนเก่งที่นิสัยดี โชคดีมากเลย แล้วมักจะเป็นคนที่เก่งจริงๆด้วยนะ ที่มีน้ำใจ เขาก็ยินดีที่จะสอน เหมือนเขาก็สนุกด้วย ในการที่จะบอกเล่าความรู้ของเขาว่ามันทำอย่างนี้นะ อย่างเรื่อง Sound ก็จะเข้าไปที่กันตนาใช่ไหม แล้วก็รู้สึกว่า โห เรานี่เด็กตัวเล็ก ๆ มากเลย

เข้าไปในโรงของเขา โรง Sound ใหญ่มาก เขาก็พาไปดูว่า แบบนี้เขาเรียกว่าระบบ Surround นะ ฟังสิ อะไรแบบนี้ เขาใช้โปรแกรมนี้นะ แล้วก็จดๆ สุดท้าย Rocket Boy ก็เกิดมาด้วยหลายสิ่งอย่าง ที่เหมือนความเป็นตัวของเราเอง ในด้านของเนื้อเรื่องด้วย บวกกับเทคนิคและความรู้ใหม่ๆ ที่เราได้เรียนรู้จาก Professional ด้านต่างๆ มันก็เลยเป็น Learning curve ที่ค่อนข้างจะกระโดดสูงมาก แล้วเป็นจุดหนึ่งเลยนะ ที่ทำให้เรามาทำเรื่องต่อมาได้อย่างเรื่อง Cheez…z เรื่องอะไรอย่าง

The People: ที่คุณบอกว่ามันสื่อให้เห็นความเป็นตัวของตัวเอง มันสื่อในแง่ไหน

อรุษ: ถ้าเป็นตัวของตัวเอง น่าจะเป็นเรื่องราวในวัยเด็กที่แบบว่าชอบเล่นซน Rocket Boy มันก็เลยสื่อออกมาเป็นแบบนั้น คือชอบหมา เพราะเลี้ยงหมามาตั้งแต่เด็ก อย่างตัว Bambu ก็ยังเหมือนหมาที่เลี้ยงอยู่ตอนนี้เลย เป็นพันธุ์ Jack Russell แล้วเป็นเรื่องบังเอิญด้วย เพราะว่าในเรื่องมันก็จะมีหมาพันธุ์ Jack Russell แล้ว 10 ปีต่อมา ตอนที่ไปอยู่เมริกาแล้ว ก็ไปเจอตัวนี้แล้วก็เลี้ยงไว้ แล้วเพิ่งจะมานึกขึ้นได้ว่ามันเหมือนใน Rocket Boy ที่เราเคยทำเลย แบบเดียวกันเลย ซึ่งมันตลกมาก

คือพอเราชอบสิ่งใดแล้ว เดี๋ยวเราก็จะได้เจอมัน ๆ อยู่อย่างนี้ เพราะว่าความสนใจมันเล็งไปแบบนั้นไง อย่างหมาที่เรา Design ไว้อย่างนั้น พอในอนาคตพอเราเจอตัวอื่นเนี่ย เราก็ไม่ได้สนใจมันใช่ไหม เราก็รู้สึกว่าเราชอบแบบนี้ แต่ว่าเราไม่ได้ Rewrite เราว่ามันอาจจะเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตเราในอดีต มันก็คือการบอก เป็นการผสมผสานออกมาในเรื่องราวช่วงวัยเด็ก ในความซนของเรา อย่าง Rocket Boy ก็จะแบบเอาหม้อมาใส่หัว ใส่ชุดจากถังน้ำอะไรอย่างนี้ เล่นสนุกๆไป อันนั้นน่าจะเป็นแล้วจะเป็นตัวตนของเรา

ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดหรอก แต่เวลาทำงานเราแค่รู้สึกว่าเราชอบแบบนี้ เราวาดออกมาแบบนี้ เราอยากจะให้เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ จนกระทั่งเวลามันผ่านไป หรือว่ามีคำถามแบบนี้ใครมาถาม หรือว่ามีคนดูแล้วถามว่า เรื่องนี้มันมายังไงเหรอ ทำไม Idea คุณเป็นอย่างนี้ อย่างเรื่อง Cheez…z ก็เหมือนกัน

เรื่อง Cheez…z ก็คือว่า คุณลุง Yama เนี่ย จริง ๆ มันเป็นตัวแรกที่ผมคิดออกมาก่อนนะ ก็คือว่าผมไปเดินที่แถว Japan Town ที่ซานฟรานซิสโก แล้วผมเห็นคุณลุงคนหนึ่ง จำได้เลยก็เห็นคุณลุงคนหนึ่ง ยืนถือกล้อง Nikon เก่า ๆ ยืนยิ้ม ๆ นิ่ง ๆ แต่ไม่รู้ว่าเขายืนยิ้มให้กับอะไรเหมือนกัน ก็พยายามดูอยู่

ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเด็ก ๆ ที่วิ่งอยู่แถวนั้น แล้วก็รู้สึกว่าเขาน่ารัก หน้าตาเขาก็อ่อนโยน เหมือนคุณลุงเขาน่าจะผ่านเรื่องราวในชีวิตมาเยอะแล้ว แต่ว่า ณ Moment นี้ เขายังคงมีความ Positive เขามายืนยิ้มอยู่ได้ มันดูไม่ธรรมดา ทำไมไม่รู้แต่มันเหมือนโดนสะกดตรงนั้น แล้วการมองเห็นในภาพนั้นเนี่ย มันมาเป็นแรงบันดาลใจให้เรา หลังจากนั้นไม่กี่อาทิตย์ต่อมา ที่เราเริ่มมานั่งวาดเกี่ยวกับคาแรกเตอร์ของคุณลุงคนหนึ่งที่น่ารัก ๆ

คือไม่ได้เหมือนกับว่าถอดเอาคนนั้นมานะ แต่หมายถึงว่าเหตุการณ์นั้นมันสร้างแรงบันดาลใจให้เรา ให้เรามาคิดถึงคาแรกเตอร์ตัวนั้น ซึ่งมีความใจดี แล้วเรารู้เขาไปถึงเขาเลยว่า ใจดีในแบบไหน ใจดีในแบบที่อาจจะคล้าย ๆ กับโดราเอมอนก็ได้ มันเหมือน Link กลับมาว่า สิ่งที่เราเคยดูมันก็ซึมซับมาจริง ๆ

โดยที่ผมยกตัวอย่างนะ ตอนที่ทำ Story Board มีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งก็บอกว่า ตอนที่มัน Climax เขาเอาขนมทั้งถุงโปรยไปเลยใช่ไหม แล้ว Warbie มากิน แล้วก็สุดท้ายก็ไม่ได้ถ่ายรูป Warbie อยู่ดีใช่ไหม ลุงเนี่ยล้มลงไปใช่ไหม ลุกขึ้นมาเนี่ย แล้วก็โมโห ๆ กระโดดกระทืบ ๆ ถุงข้าวเกรียบแล้วก็โยนทิ้งเลย

แต่ปรากฏว่าในใจเรามันขัดแย้งกันทันทีเลย บอกเฮ้ย เขาไม่ทำอย่างนั้น ลุงเขาอย่างดีก็ยอมแพ้ ก็แค่เดินจากไปแค่นั้นเอง คือมันค่อนข้างจะชัดเจนมาก แต่ถ้าสมมติว่าตอนนั้นเราไม่ได้มีอะไรสะสมมาอย่างนั้นนะ แล้วเราแบบเออก็สนุกดีเหมือนกันนะ มันอาจจะไม่มีวันนี้เลยนะ มันอาจจะไม่มีคุณลุงที่เราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นอย่างจริง ๆ จัง ๆ

เหมือนอย่างใน Exhibition ที่เขานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ แล้วคนรู้สึกอยากถ่ายรูปด้วย แล้วก็ลามไปถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งในเรื่อง นั่นก็คือคุณป้า Mali ก็คือจะมีความใจดีอบอุ่นจริง ๆ ซึ่งเราเหมือนจะสัมผัสได้ว่าทุกคนมีอะไรที่ Broken ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก อยู่ในตัวมันต้องมี แต่พอมันมีคาแรกเตอร์ที่อบอุ่นแบบนี้ มันเลยทำให้ดึงดูด มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะอยู่ใกล้ ๆ อยากไปนอนตัก หรือว่าอยากมีคนอย่างนี้อยู่ในชีวิตเรา แล้วทีนี้ในส่วนของ Warbie คือตอนเด็ก ๆ

มันเคยมีนกมาบินชนกระจกที่บ้านบาดเจ็บ ก็เลี้ยงไว้แล้วก็ปล่อยมันไป ก็เลยรู้สึกว่านกมันเป็นสัตว์ที่มีความพิเศษอย่างหนึ่งก็คือว่า อย่างหมาแมวมันยังจับได้ใช่ไหม หรือว่าเดี๋ยวเราก็เห็นมันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ แต่นกเนี่ยมันจับต้องได้ยากมาก เพราะมันอิสระของมัน มันขึ้นไปแล้วจบแล้ว บางทีเราเห็นมันวันนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะไม่เห็นมันแล้ว มันมีความพิเศษตรงนั้น

มันมีความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสิ่งหนึ่ง ที่เราไม่สามารถครอบครองได้โดยง่าย ไม่นับที่ไปซื้อนกมาเลี้ยงแล้วอยู่ในกรงนะ นกแบบตามธรรมชาติ ที่มันอยู่ของมันโดยธรรมชาติ และรู้สึกว่ามันน่ารักอะไรอย่างนี้ แล้วไปบวกกับความเป็นคาแรกเตอร์ที่เราชอบก็คือ มันมีความ Contrast อยู่ในตัวเอง ก็คือว่ามองเห็นจากด้านหลังมันดูน่ารัก แต่พอมันหันหน้ามา Side-Eye มันจะดูแบบเฮ้ย ทำไม มันจะมี Attitude บางอย่างอยู่ในตัวมันเอง

แต่จริง ๆ แล้วมันก็เหมือนเด็กที่มันยังมีความไร้เดียงสาอยู่ ถึงหน้ามันจะเป็นอย่างนั้น มันกวน มันขี้เล่นไง แต่ว่าในใจมันไม่ได้ร้ายอะไร มันยังมีจิตใจที่ดีอยู่ ช่วงหลังมันก็เลยสะท้อนออกมาใน Comic ต่าง ๆ ผมว่าตรงนี้มันเลยเป็นคาแรกเตอร์ที่อาจจะทำให้ใครหลายคนชอบ

เพราะว่าเราอาจจะเคยเห็นคาแรกเตอร์หลายตัวที่มันแบบหน้าเป็นอย่างนี้ ตาเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันมักจะไปทางใดทางหนึ่งเลย ก็คือว่าเป็น Devil ไปเลย แบบว่าร้ายไปเลย หรือว่าโกรธง่ายหรืออะไรก็ตาม แต่ Feedback ตั้งแต่ทำ Warbie มามันกลายเป็นว่า คนบอกว่ามันน่ารักจังเลยทั้งที่หน้ามันอย่างนั้น ทำไมยังพูดได้ว่ามันน่ารัก

หรือว่าแฟนไต้หวันบางคนที่เขาบอกว่า เขานอนไม่หลับต้องเปิดไฟนอน แล้วพอมีตุ๊กตา Warbie อยู่ข้างเตียง มองหน้ามันแล้วก็สามารถปิดไฟนอนหลับได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก หรือแม้แต่ว่าแฟนไต้หวันที่ไปเจอผมที่ไทเปแล้วก็ร้องไห้ ร้องไห้เลยนะ แล้วผมก็ถามว่าเป็นอะไร เขาบอกว่าขอกลับไปเตรียมใจนิดนึง กลับมาผมก็ถามว่าเป็นอะไรครับ

เขาบอกว่าดีใจมากที่ได้เจอกันกับคนวาด เพราะว่าเขาใช้สติ๊กเกอร์ตัวนี้มา แล้วเขาก็คงชอบตัวนี้มากเลย มีตุ๊กตาด้วย มีอะไรด้วย คือเขารู้สึกว่ามันเป็นเพื่อนเขา ตอนที่เขายังอยู่ในวัยเรียน เวลา Bad Day อะไรอย่างนี้ เราก็ขอบคุณนะ เราก็รู้สึกอึ้งไปเลย แล้วก็รู้สึกว่าหน้าเหวี่ยง ๆ แบบนี้มันก็ทำให้เวลา Bad Day กลับรู้สึกดีขึ้นได้ มันก็ Amazing รู้สึกเหมือนกับเราไม่ได้คาดหวัง จริง ๆ เรารู้แค่ว่าคาแรกเตอร์ที่เราทำ มันไม่ใช่ตัวร้าย มันมีความกวน แต่มันก็มีจิตใจที่ดี แล้วพอมันออกไปเยอะๆแบบนี้ มันก็ค่อนข้างจะชัดขึ้นๆ จนคนรู้สึกสัมผัสได้

Short Flim ตัวแรก อย่าง Cheez…z ที่ออกมาใช่ไหม เคยฉายตอนที่ Warbie ซัดคุณลุงล้มไป เพื่อนบางคนเขาทุบโต๊ะเลย เจ็บใจ ดูแล้วอินไง เราก็บอกว่าใจเย็นๆนี่มันการ์ตูน เขาก็บอกว่าคุณ Yama มันคงเหมือนลุงเขามั้ง อะไรอย่างนี้ เห็นคนล้มอย่างนี้แล้วมันเจ็บใจ(หัวเราะ) มันเหมือนคาแรกเตอร์สองตัวนี้มีความ Relate กันอยู่กับชีวิตของผู้ชมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันก็เลยทำให้มีคนที่ชื่นชอบมากขึ้น

The People: เริ่มสร้างคาแรกเตอร์นี้ตอนปีไหน

อรุษ: ตอนที่วาดคาแรกเตอร์จริงๆเลยก็ปลายปี 2007 พอหลังจากนั้นก็เริ่มวาดเริ่มเขียนเป็นเรื่องราวเพราะว่ามันอยู่ในส่วนที่ต้องเรียนด้วย คือมันเป็น Thesis Project นั่นแหละ เรียนอนิเมชั่น ตอนนั้นเรียนปริญญาโท ต้องทำ Short Film จบเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเราเน้นไปทางด้านอนิเมชั่น แต่ถ้าคนที่อยากจบแล้วไปเป็น Animator  อาจจะ Focus กับเรื่องของ Animate อย่างเดียวก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อเรื่อง

อย่างเช่นสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งเขาทำ Film มาคือทำเป็นงานกลุ่มได้คนที่ทำ Charecter Rigging ทำอะไรที่มันเหมือนใส่กระดูกเข้าไปในคาแรกเตอร์ ก็เน้นไปทางด้านนั้นได้เลย แล้วเวลาส่ง Present เราแค่บอกในส่วนที่เราทำก็พอ

แต่เรื่องนี้แรงบันดาลใจมันค่อนข้างแรง มันมาอยู่แล้ว คือมันเป็นเรื่องเล็กมากๆ ก็คือแค่อยากจะถ่ายรูปนกสวย ๆ รูปเดียว แต่ว่า Message ของมันมี Under อยู่แล้วคือ Don't Be Greedy นะ เพราะว่าจะเป็นแบบ Warbie  คือบินไม่ขึ้น (หัวเราะ) ก็ต้องโดนถ่ายรูป ไม่ได้โดนฆ่านะ แค่ถ่ายรูปเฉยๆ  พอหนังฉายออกไป ก็จะมีนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เขาก็เขียน ดีใจมากเลย ใน Film Festival เป็นหนังที่เล็กๆนะแล้วก็เป็นเรื่องราวที่เล็กมาก ๆ แต่ว่ามันเป็นหนังที่ดี แบบว่าสอนเด็กได้ ว่าอย่าตะกละตะกลามนะ เดี๋ยวภัยจะมาสู่ตัวเอง เราก็รู้สึกดีใจที่เขาตีความออก

บางทีเราไม่ได้คาดหวังจริง ๆ เรารู้แต่ว่าเราอยากสื่อแบบนี้ โดยที่มันอาจจะเนียนๆกับเรื่องเพื่อให้มันดูสนุก

แล้วก็มีผู้หญิงอเมริกันที่เขามีลูกชายเขาก็ Message ส่วนตัวมาเลย บอกว่าเขาชอบเรื่องนี้มากเพราะว่าลูกชายวัย 9 ขวบเขาก็ดูแล้วดูอีก เขาบอกเขาชอบตัวนกตัวนี้มาก แล้วเขาก็ได้สอนลูกเหมือนกัน บอกว่า เห็นไหม ๆ จุดจบมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้า You Greedy

มันก็เลยรู้สึกว่า มันเป็นพลังงานดี มันเป็น Film ที่ทำมาแบบมีที่มาที่ไป มันเป็น Idea หรืออะไรที่มันสะท้อนมาจากความที่เราอยากจะสื่อสารเรื่องดีๆแบบนี้จริงๆ คาแรกเตอร์ที่เราเห็นแล้วมันเกิดแรงบันดาลใจจริง ๆ มาจากวัยเด็กด้วย ผสมกันออกมาแล้วมันคือความ Contrast คู่ตรงข้ามก็คือว่าคุณ Yama ก็จะเชื่องช้าหน่อยแล้วก็ใจดี แต่ Warbie ก็จะว่องไว มันก็เลยเป็นความสนุกที่เอาคาแรกเตอร์สองตัวนี้มาอยู่ด้วยกัน

จริง ๆ ก่อนที่จะเป็นสติ๊กเกอร์ มันจะมี Art ที่เราวาดก่อน หลังจากหนัง คือทำหนังจบช่วงปลายปี 2009 - 2010 ต้นปี 2010 เริ่มไปฉายตาม Festival ส่งไปเพราะอยากรู้ว่าคน Enjoy กับหนังเรื่องนี้ของเราขนาดไหน แล้วก็เป็นการทดลองดูเป็นประสบการณ์ ว่ามันจะไปฉายที่เมืองอื่น รัฐอื่นด้วยหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่อเมริกา แล้วก็ไปที่ตุรกีบ้าง ไปส่งปรากฏว่าก็ได้รับรางวัล ได้รับคัดเลือกบ้าง ได้รางวัลบ้าง แล้วก็มีบินไปดูเองบ้าง แล้วในช่วงปี 2010 ถึง 2012 เป็นช่วง Festival เป็นช่วงที่หนังเรื่องนี้ไปตาม Festival ต่าง ๆ

แล้วอันนี้มีควันหลงออกมาช่วงปี 2017 - 2018 ก็จะมีฉายที่ Museum Texas เป็น Art Museum ชื่อ Kimbell Art Museum อันนี้ไม่ได้ไปดูเอง แต่ว่ามันมีงานโชว์ที่เป็นเกี่ยวกับศิลปะเอเชีย แล้วมันมี Family day เขาก็เอาหนังเรื่องนี้ไปฉาย แล้วเด็กๆก็ Enjoy มาก ที่ได้ยินมานะ พอช่วงนั้นที่ Festival เสร็จปุ๊บ ปี 2010 ได้งานที่บริษัท Nickelodeon Animation Studio ช่วงนั้นก็คือเป็นช่วงเดียวกับที่หนังไปที่ Festival ด้วย แล้วก็ทำงานประจำด้วย

แต่เราก็ยังคงวาด Warbie ว่าง ๆ ก็มานั่งคิดเรื่องต่อ เหมือนเรายังสนุกกับมันอยู่เลย เหมือน Short Film นี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ใช่ไหม แต่ว่ามันยังมีเรื่องราวที่เรารู้สึกว่าอยากนำเสนออีก แต่ว่างานประจำมันค่อนข้างจะหนักอยู่แล้ว เราก็เหลือแค่เวลาน้อยๆของเรามา

อย่างเช่นเวลาเลิกงานก็ดี หรือว่าวันเสาร์ อาทิตย์ เราก็มานั่งวาด ๆ จนกระทั่งมันมีงานประมูลช่วยผู้ป่วยมะเร็งที่เป็น Animator ใครจะส่งงานเข้าไปก็ได้ ก็จะมี Artist มากมายเลย ระดับ Disney หรือระดับ Top ก็ส่งเข้าไป ตอนนั้นเราก็ยังชอบวาด Warbie อยู่นะ งั้นเราวาด Warbie ตัวหนึ่งแล้วกัน

ก็ไม่ได้คาดหวังว่าใครจะประมูลไป มันจะช่วยได้มากน้อยก็บริจาคไป คือให้ไป ใส่กรอบไปทีนี้วันงานเราก็อยากไปดูบ้าง เราอยากไปดูงานของคนอื่นว่าเขาส่งอะไรกันมาบ้าง เยอะแยะเลยเป็นร้อย ๆ งาน ก็จะมีกระดาษวางอยู่ แล้วก็ให้คนเขียนชื่อ เขียนราคา

สมมติถ้าเราชอบอันนี้เราก็มอง แล้วเราก็บิดต่อ เราเขียนชื่อเรา แล้วก็เขียนราคาที่มันมากขึ้น ลงไปเรื่อยๆจนกระทั่งหมดเวลา พอหมดเวลาปุ๊บ เราก็เห็นว่ามันมีคนเขียนลงมาเรื่อย ๆ จริง ๆ ด้วย มันแค่ Warbie ตัวเล็ก ๆ แล้วข้างหลังคือเป็นกระดาษเปล่า เป็นสีขาวธรรมดาเลย ใส่กรอบ

เราก็จำได้ว่ามีผู้หญิงเกาหลีคนหนึ่ง เดินมาแล้วก็หยิบกรอบนี้ แล้วก็ยิ้ม ๆ วิ่งออกไป เหมือนคนนี้เขาเป็นคนที่ประมูลได้ไป ซึ่งรูปนี้มีแสดงอยู่ในนิทรรศการด้วย อยู่ในห้องของ Original คือเป็นพวกภาพวาด Original แต่อันนั้นจะเป็นภาพพิมพ์ เพราะว่า Original อยู่ที่คนนั้นไปแล้ว

แต่ในวินาทีนั้นมันทำให้เรารู้สึกได้ว่า คาแรกเตอร์ตัวนี้มีพลังบางอย่าง ที่ทำให้คนรู้สึกชอบมัน แล้วมันสร้างสิ่งดี ๆ ได้ เพราะว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่เล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่มาก คือมันมีคนประมูลงานชิ้นนี้ไป เพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง

ตอนนั้นก็จุดประกายเราว่าจริง ๆ เราก็น่าจะทำต่อไป เราน่าจะวาดหรือคิดเนื้อเรื่องต่อไปที่มันจรรโลงจิตใจ หรือแค่สนุก และมีรอยยิ้มคือรอยยิ้มมันเป็นสิ่งสำคัญ รอยยิ้มเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด แต่บางทีเราลืมที่จะทำ

แล้วมันเป็นสิ่งที่สามารถพลิกจากดำเป็นขาวได้ทันทีเลยเมื่อไหร่ที่เรายิ้ม คือเมื่อไหร่ที่เจอเรื่องอะไรมาก็ตาม พอเรายิ้มมันจะเคลียร์ไปชั่วขณะ เราอาจจะเริ่มขำกับเรื่องพวกนั้นได้ตรงนี้มันเลยสำคัญว่า ถ้ามีรอยยิ้มแล้วสิ่งที่เราจะให้เขาได้รับรู้มันจะง่ายขึ้น เราก็เลยเริ่มคิด

จนกระทั่งตอนที่ Line เข้าประเทศไทย คุณแม่เขารู้สึกว่าอยากได้ Warbie มาอยู่กับโทรศัพท์ด้วยเอาไว้แชทเล่น เราก็เลยเอาเวลาว่างของเราจากการทำงาน เอามานั่งวาด แล้วก็ออกแบบ Set แรก พอออกไปปุ๊บปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะว่าเราก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องดัง เราแค่ทำเอาไว้ใช้ในครอบครัว

ณ ตอนนั้น Line เข้า มันจะใช้กันในฝั่งเอเชีย ส่วนทางยุโรปเองก็ยังใช้ WhatsApp ใช้อะไรพวกนั้นอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นคนเอเชียที่อยู่ที่อเมริกา ก็จะใช้ LINE ส่วน Short Film ก็จะฉายอยู่ที่อเมริกาด้วย เพราะฉะนั้นหลายคนในฝั่งเอเชีย ตอนที่มีสติ๊กเกอร์ Warbie คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมาจากอนิเมชั่น

ส่วนใหญ่คือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีที่มาแบบนี้ ก็เลยน่าสนใจ เหมือนคนเริ่มชอบแล้วมาฮิตทีหลัง มันมีมาตั้งแต่ปี 2008 แล้วเหรอ ก็คือเป็นอนิเมชั่นมาก่อน ช่วงปี 2014 พอทำ Set แรกไปกระแสตอบรับดี ทั้งที่เป็นสติ๊กเกอร์ที่ไม่มีภาษาด้วย ถ้ามีก็คือเป็นภาษาอังกฤษด้วย

แต่ปรากฏว่ามันได้รับความนิยม แล้วก็เริ่มมีแฟน ๆ Message มาว่า อยากให้มี Product อยากให้ทำSetใหม่ จน Line Thailand ติดต่อมา ทำเป็น Official Set อันแรก ที่เริ่มมีแบบเคลื่อนไหวได้ สำหรับ Set เคลื่อนไหวอันแรก พอไปทางไต้หวันกับอินโดนีเซีย ปรากฏว่ากระแสตอบรับค่อนข้างดี 

Line Taiwan ก็เลยติดต่อไปอีก ว่าอยากให้ทำเป็นภาษาของเขา แล้วมันมี Set หนึ่งก็คือของอินโดนีเซีย เป็น Set ที่น่าสนใจมาก คือมันเป็น Big Sticker ช่วงรอมฎอน ก็คือช่วงถือศีลอดของเขา เราก็หืม… Warbie อดข้าว (หัวเราะ) ก็เลยนึกสนุก เลยมีแบบ Warbie แก้มตอบ แล้วก็ยืนแบบว่าไม่ไหวแล้ว แล้วมันก็เป็น Set ที่เราเริ่มไปเรียนรู้วัฒนธรรมของเขา

เราก็ปรึกษากับทาง Line Indonesia คืออยากรู้ว่าช่วงเวลานั้นมันเป็นยังไง มีอะไรบ้าง และมีประเพณีอะไร หรือว่าช่วงที่จบรอมฎอน จะเป็นวันที่ Shopping ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดวันหนึ่ง เราก็เพิ่งจะรู้ มันก็เลยเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้เรียนรู้ในวัฒนธรรมต่างๆ เราก็ได้วาด Warbie แบบเป็นโต๊ะอาหาร เหมือนกับได้กินอาหารแล้ว ส่วนอาหารเราก็ดู Reference มา ก็คุยกับทาง Line ว่าอันนี้เขาเรียกว่าขนมอะไร ที่มันอยู่ในรูป เราก็เอามาวาด มันก็เลยสนุกที่ Warbie ได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมที่มันแตกต่างกัน

แล้วพอเราเริ่มเดินทางเนี่ย ทาง Line Indonesia เขาเชิญไปพูด ไปเจอกับ Creator ของที่นั่น มันอบอุ่นมากเลย แล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่า เราพูดกันคนละภาษานะ แต่เรามีเรามีสิ่งที่เราเชื่อมกันได้ก็คือคาแรกเตอร์กับการ์ตูน ซึ่งแบบนี้มันเป็นอะไรที่ดีมากเลย ตอนที่เราไปที่ไต้หวันหรือ

ไปญี่ปุ่น แล้วก็อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเจอแฟนๆไต้หวันอย่างนี้ มันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าจริง ๆ แล้ว Warbie มันเป็นตัวละครที่น่าจะไร้พรมแดนนะ แล้วความ Positive ที่เราอยากจะสื่อออกไป บางทีมันอาจจะสามารถไป Touch กับแฟน ๆ ทั่วโลก จากตอนแรกที่เราคิดว่าอยู่แค่ในอเมริกาหรือว่าที่ไทย แต่ตอนนี้มันเหมือนกับว่ามันมีคนที่ Apprecate กับตัวละครตัวนี้ก็เลยเริ่มวาด Comic เริ่มวาดอะไรต่อไป

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก The People: ตอนที่คุณไปใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามันทำให้มุมมองที่มีต่อโลกเปลี่ยนไปบ้างไหม เมื่อเทียบกับตอนที่อยู่ไทย

อรุษ: เปลี่ยนนะ เปลี่ยนเยอะเลยเหมือนกัน ปกติคนเราโดยธรรมชาติ คิดว่ามันเปลี่ยนอยู่แล้วแหละ เพราะว่ามันโตขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่เดิมก็เถอะ มันก็จะเปลี่ยนแน่นอน แต่ว่ามันจะเป็นทางไหน สำหรับตัวผม บังเอิญว่าทำงานด้านนี้ แล้วงานด้านอนิเมชั่น มันค่อนข้างเข้มข้นที่นั่น เพราะว่าเขามี Disney มีอะไรมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วใช่ไหม ผมว่าอันนี้มันอาจจะไม่ได้ Apply กับทุกคนนะ เพราะว่าทุกคนมีประสบการณ์ต่างกัน คือมันเป็นเรื่องปกติ ที่ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นได้กับทุกที่

แต่ปัจจัยมันจะอยู่ที่ว่า เราจะเจอใครที่มีผลต่อปัจจัยในการใช้ชีวิต จริงๆพอเราย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้าง เรารู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญเลย คือสังคมที่เราอยู่ตรงนั้น ถ้าเราเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ อยู่ที่ไหนแล้วเรารู้สึกว่า ที่นั่นมัน OK มันก็อยู่ได้ มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับใคร ส่วนปัจจัยอื่นก็ทางด้านกายภาพก็อาจจะเกี่ยว ก็ต้องให้เขาไปลองดู ว่ามันเหมาะกับเขาหรือเปล่า

คือมันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ แต่ประสบการณ์ตรงมันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ว่ามันเป็นยังไง มันรู้สึกยังไง ซึ่งมันอธิบายไม่ได้ ซึ่งของผมบังเอิญว่าไปอยู่พวกอนิเมชั่นอยู่แล้วเพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เราจะเจอ ก็จะเจอแต่งานพวกนี้ มันคือโลกของเราเลย ที่เราชอบ ที่เราตั้งใจไปอยู่ตรงนั้น มันเลยเกิดมุมมองที่อย่างแรกคือ Industry นี่มันช่างใหญ่จริง ๆ

คือก่อนที่เราไปจะอยู่ที่นั่น เราเป็น Animator อยู่ที่เมืองไทย เราก็กำลังเติบโตในอุตสาหกรรมนี้แล้วตลาดของเรามันไม่ได้ใหญ่เท่าเขา เขาทำเรื่องเดียว เขาฉายทั้งโลก คือมันใหญ่จนเหมือนกับแต่ละตำแหน่ง มันถูกแยกออกจากกันโดยชัดเจนเลย แต่อย่างที่ไทยในสมัยก่อนเป็น Animator ทำหมดทุกอย่างเลย เพราะว่าคนมันน้อย และมันยังไม่มีคนที่สามารถทำอะไรได้เยอะขนาดนั้น แต่ยุคนี้มันเริ่มจะมีรูปแบบที่เป็นโครงสร้างที่ดีขึ้น ซึ่งบ้านเราก็ทำงานให้ Hollywood ด้วย คือเขาเห็นจากความประณีตของงานบ้านเรา เขาก็มาจ้างเราทำ

ในมุมมองด้านการทำงาน มันก็เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้น ก็โตไปด้วยกับงาน งานกับเรามันโตไปควบคู่กัน เราก็เริ่มเห็นการทำงานของที่นั่นในด้านนี้ เพราะมันเป็นตลาดอุตสาหกรรมใหญ่ เจอคนที่เก่งมากมาย เพราะเนื่องจากว่ามันเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วมันไม่ใช่มีแค่คนไทยที่ไป มันมีทั้งคนเกาหลี มีทั้งคนยุโรป คือมาอยู่ในนั้นแล้วเอาความรู้ เอาฝีมือมาทำงาน ตรงนั้นก็เลยค่อนข้างเข้มข้น

ในเรื่องของการทำงานมันก็เลยเป็นอะไรที่เปิดประสบการณ์เรามาก ๆ เลย แล้วพอเราไปอยู่ในกลุ่มคนที่เขาทำงานนี้ดี ๆ เรื่องของ Mindset การทำงานมันก็ถูก Develop ไปด้วย เรื่องของการเป็นระบบ เรื่องของความรับผิดชอบ ความใส่ใจ เหมือนกับว่ามันเริ่มชินกับ Standard แบบนี้ พอเราไปอยู่ตรงนั้น นี่คือเรื่องปกติ เป็น Standard ในการทำงานของ Professional ที่เป็นด้านอนิเมชั่นของที่นั่น พอเราไปอยู่ตรงนั้น Bar ของเราก็สูงขึ้นไปด้วยเหมือนกัน อันนี้คือในแง่ของการทำงาน

ถ้าเป็นมุมมองอย่างอื่นในเรื่องของชีวิต มันทำให้เรารู้สึกว่าเรารักประเทศไทยมากขึ้น คือเรารู้สึกว่าอเมริกาเป็นประเทศใหญ่มาก และ Consume เยอะมากเหมือนกัน เราเริ่มหวงแหนประเทศเล็กๆอย่างประเทศที่เราเกิดมา อย่างช่วงที่ไปอเมริกาช่วงหนึ่งที่ไปเรียน

แล้วก็ช่วงที่ทำงาน แทบจะไม่ได้กลับเมืองไทยเลย แล้วมีปีหนึ่งที่กลับมา คือมันเป็นอะไรที่ Awkward มาก พอกลับมาเหมือนบรรยากาศมันเปลี่ยนไปแล้ว เหมือนเราแค่มาท่องเที่ยว ทั้งที่เราก็โตมาแถวนั้น คือช่วงชีวิตมันหายไปสักพักหนึ่ง เหมือนเราเคยชินกับการใช้ชีวิตที่อเมริกา แล้วมันมีเหตุการณ์หนึ่งที่เราไปที่หอศิลป์แห่งชาติ และเขาก็มีการจัดฉายหนังอยู่ เราก็เห็นว่า

มีห้องฉายหนังอยู่ตรงนี้ด้วยเหรอ เจ๋งอ่ะ แล้วเราก็ไปถามเขาว่าทำอะไรกัน เขาก็บอกว่ามีฉายหนัง ฉายฟรี เข้าไปดูได้เลย แล้วเราก็ไปชมเขาอยู่ตรงนั้น ชมไม่หยุดเลย ดีมากเลยนะ จัดแบบนี้ คือว่าที่อเมริกายังไม่มีหนังฟรีให้ดูเลย (หัวเราะ) เหมือนเขาเอาหนังดี ๆ มาให้คนดู เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการงานศิลปะ แล้วก็แบบโห พี่มันดีมากเลย จัดบ่อยหรือเปล่า คุยที่มาที่ไปคุยกันยาวเลย เขาก็คืองงว่าคุณเป็นคนไทย แต่น่าจะเป็นคนแรกที่มายืน Appreciate อะไรหนักหนาอะไรขนาดนี้

มันเป็น Effect ที่เป็นไปโดยธรรมชาติเลย เราก็มาคิดทีหลังว่า มันก็แปลก ๆ ดูประหลาดมากเลย ทำอะไรแต่ละอย่าง คือเราก็เป็นคนไทย แต่ทำอะไรเหมือนนักท่องเที่ยว เหมือนว่าเรา Enjoy เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้กลับบ้านเกิด รู้สึกตื่นเต้นกับภาพที่เราไม่ได้เห็นมานานแล้ว แต่เมื่อเราเริ่มเข้าโรงเรียน แล้วได้ไปเจอกับเพื่อนๆใน Focus ที่เราสนใจ Mindset มันเปลี่ยน มันเริ่มเกิดความอบอุ่นทันที คือมันไม่ได้ไปคิดถึงเรื่องอื่นแล้ว

อย่างเช่นความกลัวที่เราไปอยู่ในที่ใหม่ ๆ แต่เรารู้สึกว่ามันตื่นเต้นกับสิ่งที่เราจะได้ทำ มันก็เลยไม่ได้ไป Focus กับเรื่องพวกนั้น แต่ถ้าสมมติไปโดยที่เราไม่รู้จะไปทำอะไร มุมมองมันก็อาจจะต่างกันก็ได้ คือเหมือนว่ามุมมองที่เรามีต่อสิ่งแวดล้อม มันก็มีผลระดับหนึ่งอยู่แล้ว ดิน ฟ้า อากาศ สังคม เรื่องต่าง ๆ ที่เราเปลี่ยนเปลี่ยนไปไม่ได้อยู่แล้ว และแน่นอนมันไม่ใช่ทุกที่

ทุกที่มันก็มีทั้งดีและไม่ดีใช่ไหม ขึ้นอยู่กับว่ามันเหมาะกับเราหรือเปล่า ก็เลยได้ข้อสรุปว่า หลังจากที่เรากลับมาจากเมืองไทย ก็รู้สึกว่าเราเริ่ม Appreciate กับสิ่งเล็ก ๆ ที่มันดูเหมือนอาจจะไม่ดี แต่เราก็ยังชอบมันได้

คือการที่เราไปมันเหมือนเป็นการเรียนรู้ เราไม่ได้มองว่าที่นี่มันดีกว่าที่ไหน เราแค่ไปเห็นความแตกต่างว่า ที่นี่ก็มีดีอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนี้ ที่นี่มันน่าจะปรับปรุงแบบนี้นะ ที่นี่ก็เหมือนกัน มันก็มีสิ่งที่ควรปรับปรุงนะ

ทุกที่มันก็มีแบบนี้อยู่แล้ว นี่คือมุมมองที่มันเกิดขึ้น แต่ถามว่ามุมมองที่มันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตใจเราเป็นปกติ คือหมายถึงว่าถ้าเราไม่ได้ไปโดนเหตุการณ์อะไรที่มันรุนแรงกระทบจิตใจ เราก็ยังจะสามารถมองโลกในส่วนที่เป็นแง่ดีได้ มันก็จะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แทนที่เราจะมองถึงสิ่งที่มันไม่ดี เรากลับไป Appreciate ในสิ่งที่ดีมากกว่า

ส่วนที่มันไม่ดี เราก็ค่อย ๆ แก้ไขไป ในส่วนที่เราสามารถทำได้ ยังไงก็ตามถ้าเรามองโลก Positive ไว้ก่อน มันเป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่างที่บอกว่า รอยยิ้มมันมีส่วนที่ทำให้เราอยากทำงานสร้างสรรค์ อยากทำอะไรที่มันดีขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่จิตใจมันหดหู่ มันก็จะยาก คือมันจะไม่อยากทำอะไร

ไม่แม้แต่อยากจะช่วยคนอื่น บังเอิญว่าเราทำงานด้านนี้ด้วย สิ่งที่เราวาด สิ่งที่เราสื่อ มันเลยเป็นสิ่งสะท้อนออกมากับความคิดเราว่า ถ้าเราทำให้เขามีความสุขได้ก่อน มันก็เป็นประตู

อันหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน ที่เราอาจจะสอดแทรกสิ่งดี ๆ ตามไปก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้ในฐานะที่เราเป็น Animator คือถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เราสื่อเป็นสิ่งที่ดี Exhibition ที่เกิดขึ้นในวันนี้

คือสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดเหมือนกัน เราทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ออกมาดีเอง คือมันเป็น Message ที่ดีนะ คนก็จะสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ตรงนี้มันจะเป็นรากฐานที่ค่อนข้างจะแข็งแรง

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก The People: มีช่วงเวลาไหนในชีวิตที่อยากจะกลับไปแก้ไขสิ่งผิดพลาดในอดีตบ้างไหม

อรุษ: ถ้าเป็นหลายปีก่อนอาจจะมี อย่างเช่น บางอย่างที่เราไม่ควรจะพูด โดยที่เราอาจจะไร้เดียงสาหรือว่าพูดแล้วทำให้คนอื่นเขาเจ็บใจ หรือบางอย่างที่เราทำด้วยความต้องการของเราเอง

แล้วเราลืมคิดถึงผู้อื่น แต่ ณ ตอนนี้ เหมือนกับว่าความคิดเรามันเปลี่ยน มองอะไรที่มันลึกขึ้น จริง ๆ มันเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว เพราะสิ่งที่เราคิดว่ามันพลาดไป มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งความจริงก็คือเราเวิ่นเว้อไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันเปลี่ยนไม่ได้ มันเป็นอดีตไปแล้ว ถ้าเราไม่ผ่านตรงนั้นมาเราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นความผิดพลาดทั้งหลาย มันเป็นการเรียนรู้หมดเลย

ซึ่งมันทำให้เรา Focus ณ วันนี้ ที่เราจะไม่ผิดพลาด ที่เราจะไม่ทำอีก มันก็เลยออกมาใน Comic ด้วย คือแทนที่เราจะโมโหกลับไป แล้วเราไปซัดเขากลับ ด้วยกายก็ดี ด้วยคำพูดก็ดี แล้วมันก็แตกหัก แล้วมันก็ไม่มีดีขึ้น

บางทีถ้าเราอาจจะลองนิ่งพักหนึ่ง ลองให้มันสงบ มันคลายแล้วก็ลองดูว่าอะไรที่มันสำคัญจริง ๆ มันอาจจะไม่ได้มีอะไรสำคัญเลยก็ได้ หรือไม่มันก็แค่รู้สึกว่ามันมีคำที่กระทบกับเราทำให้เราไม่พอใจ หรือเราอาจจะคิดถึงคนรอบข้างมากขึ้นนิดหนึ่งไหม ที่เราตัดสินใจทำอะไรด้วยความอยากของตัวเอง มันส่งผลกระทบกับใครหรือเปล่า มันก็จะมาช่วยเรา ณ จุดนี้

พี่เคยคิดนะว่าถ้ากลับมาเมืองไทยครั้งหนึ่ง พี่นึกถึงคน ๆ นี้ได้ พี่อยากจะวิ่งเข้าไปขอโทษเขาในสิ่งที่พี่ทำในวัยเด็ก ที่ไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความเป็นเด็กของเรา มันก็เคยมี แต่มันก็มีสิ่งที่จำเป็นกับไม่จำเป็นนะ เขาอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ คือถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ควรจะทำ สมควรไหม อะไรที่สมควรจะทำ สมควรก็คือว่ามันส่งผลอะไร มันส่งผลอะไรที่ดีต่อ

การกระทำนั้นหรือเปล่า ถ้ามันเป็นแค่การรื้ออดีตขึ้นมา ให้มันกลับเข้ามาในสมองอีกครั้งหนึ่งโดยที่มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ส่วนตัวพี่คิดว่า มันไม่จำเป็นต้องพูดถึงด้วยซ้ำ ถ้าชีวิตของเขาดีอยู่แล้วตอนนี้

ยกเว้นแต่ว่ามันมีเรื่องในอดีตที่เราอยากจะแก้ไข แล้วมันอาจจะส่งผลดีต่อเขาในตอนนี้ก็ได้ถ้าเราคิดไตร่ตรองแล้ว ก็อาจจะลองดูก็ได้ ถ้ามันไม่เสียหายอะไร ต้องดูว่ามันเสียหายหรือเปล่าคิดเผื่อแผ่ว่าสิ่งที่ทำ มันส่งผลกระทบที่ดีต่อใครหรือเปล่า ถ้าคิดแบบนี้เยอะๆ มันจะช่วยตัดสินใจทำอะไรได้ดีกว่าปกติ

The People: ในมุมมองของคุณคิดว่า Warbie กับคุณลุง Yama มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม หรือทำให้ชีวิตของคนที่เขาได้รับรู้ถึงคาแรกเตอร์เหล่านี้เปลี่ยนไปในทิศทางไหนบ้าง

อรุษ: อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ว่าคนที่ดูจะไปมีผลกระทบต่อเขาขนาดไหน คืออาจจะเคยได้ยินมาบ้าง หรือแฟนๆบางคนที่เคย Comic ตอนคริสต์มาส ที่คุณป้า Mali ตัดเย็บชุดให้ Warbie จริงๆคือ Warbie เห็นคุกกี้ผ่านหน้าต่าง แล้วคือจะบินเข้ามากินคุกกี้ แต่ก็บินชนกระจกก็สลบลงมา

ก็ Link ไปกับที่มาของ Warbie ตอนเด็กๆที่เล่าให้ฟัง คุณป้า Mali ก็เลยมาตัดชุดคริสต์มาสให้ เห็นว่ามันสลบอยู่ก็มาวัดตัว ก็น่ารักเลย ออกมาเป็นชุด พอเป็นชุดเสร็จปุ๊บ  Warbie ตื่นมาก็เห็นว่ามันมีจานคุกกี้วางอยู่ ก็แบบชุดก็น่ารัก มีคุกกี้ด้วย พอปากหยิบคุกกี้ปุ๊บ ก็นึกขึ้นได้

ก็ทำ Side-Eye เหมือนรู้อะไรใช่ไหม แบบเขารู้สึกดีก็บินไป พอคุณป้า Mali เปิดประตูออกมาจานคุกกี้หายไปแล้ว แต่สิ่งที่มันวางอยู่ ก็คือดอกไม้ดอกหนึ่ง ก็คือ Warbie คาบมาให้ แค่นี้เอง แล้วก็มี Message ที่มีคนมาบอกว่า อยากให้เขียนเรื่องที่มันอบอุ่นใจแบบนี้ต่อไปนะ ก็จะได้รับ Message อะไรแบบนี้บ้าง

แต่ถามว่ามันจะไปเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรไหม ก็คือไม่กล้าคิดไกล ไม่กล้าไปคิดเยอะขนาดนั้น แล้วก็ไม่กล้าแม้แต่จะพูดว่า ผมจะเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงให้สังคมมันดี ขึ้นไม่กล้าขนาดนั้น สังคมมันใหญ่มาก เพียงแต่ว่าเราทำอะไรได้ คือถ้าเราเชื่อในสิ่งที่เราทำว่ามันเป็นเรื่องที่ดี มันสื่อสารได้ดี มันทำให้คนเกิดความคิดดี เกิดความสุข เกิดมีรอยยิ้ม คิดว่ามันอาจจะส่งผลก็ได้นะ แต่จะไปคาดหวังว่าสังคมมันจะเปลี่ยนแปลงไหม ก็ไม่รู้เหมือนกัน

The People: ถ้าคุณไม่ได้ทำงานสายนี้คิดว่าตัวเองจะไปทำงานในสายไหน

อรุษ: นึกไม่ออกเลยนะ อาจจะขายก๋วยเตี๋ยวมั้ง (หัวเราะ) อาจจะไปทางด้านอาหารก็ได้นะ อาจจะเปิดร้านเล็กๆ ที่ให้คนมาทานอาหารเช้า เพราะเราชอบร้านอาหารเช้า ที่คนได้ตื่นเช้า ๆ มาทาน คือตอนเช้ามันดี คนอารมณ์ดี สดชื่น แล้วมานั่งทานอาหารเช้ากันสบาย ๆ

แล้วตอนเรากลับมาเมืองไทยเราก็ชอบไปร้านเก่าแก่พวกนี้ ร้านพวกสภากาแฟเก่าๆ เราก็ไปนั่งกินไข่ลวก กินกาแฟก็มีความสุข คือรู้สึกว่ามันดี เหมือนกับเป็นที่พึ่งได้ในตอนเช้า บางทีถ้าเราไม่ได้ทำอนิเมชั่น อาจจะมาทางนั้นก็ได้นะ แต่ก็คิดว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ มันจะต้องเกิดอย่างนั้นก่อนใช่ไหม

ตอนช่วงอายุ 30 จำได้เลยว่าวันเกิดเรา เราก็นั่งอยู่ในออฟฟิศ มีจอทำอนิเมชั่น แล้วเพื่อน ๆ เอาบอลลูนมาแขวนก็เลข 3 กับเลข 0 เหมือนกับมาฉลองให้ มาถ่ายรูปกัน ดีใจมาก อันนั้นคือในชีวิตจริงมันเป็นอย่างนั้นใช่ไหม มันเป็นช่วงที่พลังเราเยอะ แล้วเราเริ่มเกิดความคิดเยอะแยะ

ซึ่งบางทีมันก็เยอะ ไปแต่เรา Focus กับงานสูงมาก แล้วเราเริ่มทำงานที่มันจริงจังมากขึ้น Professional มากขึ้น คิดว่าถ้าเป็นหนังอีกม้วนหนึ่ง มันอาจจะทางเดียวกัน เช่นเราอาจจะขยายสาขา เราอาจจะเริ่มลงลึกกับสิ่งที่เราทำไปเรื่อย ๆ อาจจะไม่เกี่ยวกับการขยายสาขา

อาจจะทำร้านอาหารร้านหนึ่ง ที่รู้สึกว่ามันมี Quality มาก ๆ มันอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง มันจะเริ่มกลับมาเป็นแค่แบบละเล็ก ๆ อย่างที่เห็นนิทรรศการที่อยู่เนี่ย จริง ๆ มันเป็นความรู้สึกของการทำงาน ที่อยากให้คนมาดู เขารู้สึกดี รู้สึกว่าเหมือนได้กลับไปเป็นวัยเด็กอีกครั้ง ไม่ได้หมายความว่า รู้สึกร่าเริงแบบเด็ก ๆ อะไรอย่างนั้นนะ

ร่าเริงมันคือผลพลอยได้ แต่ความลึกซึ้งก็คือจิตใจที่มันบริสุทธิ์ ตอนนั้นที่เรายังไม่ได้มีอะไร ที่มันยังไม่จำเป็น ที่เป็นขยะในหัวเยอะ ตอนที่เรายังสามารถคุยกันได้โดยที่ไม่มีกำแพง ที่เรายังเล่นกันได้ เช่นเราไปตีคนนี้ อาจจะเจ็บ แต่เดี๋ยวก็ขำ เดี๋ยวก็หายเองได้

หรือวันรุ่งขึ้นก็มาคุยกันใหม่ได้ ทำไมจะต้องซีเรียสขนาดนั้น เพราะว่าสิ่งที่เราสะสมมามันทำให้เรามีความคิดเยอะ คิดเป็นอีกทางหนึ่ง จนกระทั่งมันเกิดกรอบบางอย่าง ที่มันอยู่รอบตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วเราก็เอากรอบอันนี้ไปชนกับคนอื่น โดยที่ฉันก็มีของฉันเหมือนกัน แล้วมันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง

ตรงนี้มันมีงานชิ้นหนึ่งที่ผมทำที่อเมริกา ชื่อน้องจ้ำม่ำ เขียนอยู่ที่ Thai Town ที่เป็นเด็กอ้วนยืนถือนวมต่อยมวย คนก็บอกว่านี่มันคือตา Warbie เลย มันคล้ายกับเป็นของเราไปแล้ว เราก็วาดอย่างนั้นปุ๊บ มันดูกวน แล้วมันเป็นภาพใหญ่มาก ฝรั่งหลายคนเขาเดินมาบอกว่าชอบมาก แล้วมันทำให้เขายิ้มได้ตลอดเลย มองยังไงก็ต้องยิ้ม

ก็อย่างที่บอกว่ารอยยิ้มมันเป็นเรื่องสำคัญ เขายิ้ม เขามีความสุขมาก เขาบอกขอบคุณมากเลยนะที่ทำออกมา แล้วมีหลายคนที่พูดอย่างนี้โดยที่เราไม่ได้คาดหวัง เราคิดว่ามันทำให้คนยิ้ม แล้วมันมีสื่อถึงความเป็นไทย

บางคนก็บอกว่าเขาสัมผัสได้เลยจากคาแรกเตอร์ไทยตัวนี้ มันเหมือนเพื่อนคนไทยของเขาคนหนึ่ง ที่เขาขี้เล่น ดูกวน ๆ แต่อย่าไปทำอะไรเขานะ เขาสู้กลับได้นะ (หัวเราะ) แล้วมวยไทยคือสิ่งที่ฝรั่งคุ้นเคย แล้วพี่ก็ใช้คำว่ามวยไทยเป็นภาษาไทยเลย ตรงนั้นมันก็คล้าย ๆ กับ Concept

เดียวกับที่คิด กับที่นิทรรศการนี้เหมือนกัน เหมือนว่าเราทุกคนเคยเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นมันจะมีวัยที่เรารู้สึกว่า ยังคุยกันได้ ยังเล่นกันได้ง่าย แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับการที่เราโตมาแล้วเราคุยกันยากขึ้น  มันเกิดอะไรกับการหยิบดินสอขึ้นมาวาด เรากลัวอะไรกับหน้ากระดาษเปล่า

เราเคยไปสอนอยู่ที่วัดไทยมา 5 ปี เราบอกว่าไม่มีอะไรสอนนะ เราก็ให้เขาวาดรูปแล้วเดี๋ยวเราไปดูเอง เพราะว่า Skill มันต่างกัน ความชอบของเด็กแต่ละคนก็ต่างกัน พอบอกให้วาดเนี่ย

เร็วมากเลย ทุกคนก็ลงสีสนุกกันมาก เราก็ไปดูเขา แล้วก็ใช้การถาม เช่นว่า อันนี้คือตัวอะไร แล้วเราก็แนะนำเขา พอเขาวาดเสร็จ เราก็จะถามเขาว่าชอบไหม หรือว่าไม่ชอบ คือไม่ได้ไป Direct อะไรเขา คือส่วนใหญ่ที่เราเสนอไป โชคดีที่มันมักจะเวิร์ค เขาก็จะชอบแล้วก็ลงสีต่อ เรา Surprise กับการวาดรูปของเด็กมาก Surprise ตรงที่เขาสามารถวาดได้ทันที เรารู้สึกอิจฉาเขามากเลย แล้วจิตใจเรามันเป็นอะไร

แล้วมี Class หนึ่งที่มีพ่อแม่มาด้วยประมาณ 2 - 3 คน เขาได้ยินมาว่า Class นี้สนุกดี ขอมาเรียนด้วย ผมก็บอกว่าไม่ได้สอนอะไรเลยนะ แค่มาวาดรูปเล่นกันตามสบาย เข้าไปปุ๊บ วาดเลย เด็กก็ลุยเลย ผ่านไป 5 นาที ผู้ใหญ่ก็กุมขมับวาดอะไรดี ก็เลยเข้าไปบอกเขาว่า จริง ๆ ถึงจะไม่เคยวาดรูปมาก่อน ไม่สำคัญเลย จะเขี่ยอะไรมาก็ได้ ไม่ต้องสวยงาม แค่มาผ่อนคลายกันสนุก ๆ

สรุป Class นั้น ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนวาดรูปเลย กระดาษเปล่าทุกคน แต่เด็กนี่คือไปลงสีสันแบบเต็มที่ มันก็เลยสะท้อนกลับมาที่ตัวเราเองว่า ถ้าเราเป็นเขาแบบวันนั้น ก็อาจจะลงเอยเหมือนกันก็ได้นะ เราอาจจะกลัว เราคิดว่าวาดออกมามันจะสวยไหม วาดอะไรดี มันติดอยู่ตรงนี้ ขนาดผมไปช่วย Give Idea คือจริง ๆ มันไม่จำเป็น วาดอะไรก็ได้ แต่เขาคิดเยอะกว่านั้น ไม่รู้ว่าคิดอะไร แต่คือมานั่งอยู่ตรงนี้ มันจะอายเขาไม่ได้นะ

ตรงนี้มันเลยมาจากประสบการณ์ของเรา มันเลยทำให้ประมวลออกมาว่า เราก็เป็นเหมือนกันนะ ขนาดทำงานจนเป็น Professional ทำงานให้ Hollywood เราก็ยังกลัวการวาดรูปอยู่เหมือน กันนะ ทำไมความสดชื่น ความสดใสในวัยเด็กของเรา บางครั้งมันก็หายไป บางทีเราอาจจะดูร่าเริงคุยกับคนง่าย แต่บางครั้งมันมีวันที่เราไม่ต้องคิดอะไรเลย แล้วเราไปสนุกกับอะไรบางอย่าง

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก โดยที่เราไม่ต้องคิดอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะเราเริ่มมีทฤษฎีต่าง ๆ เข้ามา คือการเป็นผู้ใหญ่มันก็ต้องมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่จิตใจของเราสามารถที่จะทำให้มันบริสุทธิ์อยู่ได้ และตรงนี้มันคือสำคัญ แล้วมันก็ส่งผลต่อการทำงาน ไม่ใช่แค่วาดรูปนะ แต่มันส่งผลต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสนใจในชีวิตประจำวัน คือเราไม่ควรจะกังวลกับเรื่องนี้เลย

ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะไม่กังวลกับมันด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากเรามีประสบการณ์เยอะขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่าอันนี้มันต้องกังวล เราแค่ต้องมีความรับผิดชอบตามปกติ แต่ใจของเรามันยังสดใสได้อยู่หรือเปล่า คือเราสร้างสิ่งพวกนี้ออกมาตีตัวเองชัด ๆ เราก็เลยทำไปเรื่อย ๆ คนก็จะรู้สึกว่าความอบอุ่นมันเริ่มกลับมา เขาได้มาดู Warbie เขาได้มาฟังดนตรี เขาก็จะรู้สึกว่า ความอบอุ่นแบบนี้ เขาไม่ได้มีมานานแล้ว คือมันทำให้คนมีรอยยิ้ม ทำให้มีพลัง และทำให้จิตใจของคนมันดีขึ้น

The People: มีอะไรที่คุณอยากส่งสารไปถึงสังคมเพิ่มเติมไหม

อรุษ: เราอาจจะมา Focus ที่ตัวเราเอง อย่างแรกคือเรื่องของจิตใจ เราสามารถที่จะทำให้มันมีความบริสุทธิ์ แน่นอน คือเราใช้ชีวิต มันต้องมีเรื่องราวอะไรบ้าง

ที่มันมากระทบกระทั่ง แต่ว่าในจุดหนึ่งถ้าเราถอยออกมาได้ มันจะมีความรู้สึกว่าแก่นสารของมันจริง ๆ มันไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นนะ บางคนอาจจะ Surprise ว่าพี่ตอบอะไรก็ไม่รู้ ที่แบบว่าเป็นคนที่ไปทำงานต่างประเทศ ไปอยู่จนน่าจะเป็นคนอเมริกันเแล้ว แต่แบบ Surprise กับคำตอบบางอย่างที่ได้รับ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคาดหวัง

แต่คิดว่าการที่ไปอยู่อเมริกามันทำให้เกิดการตกผลึกอะไรบางอย่าง เช่นเรื่องที่เล่าให้ฟังว่าตอนกลับมาเมืองไทยรู้สึกอย่างไร เริ่มเห็นข้อดี ข้อเสีย ที่มันมีอยู่ทุกที่ ที่มันเหมือน ๆ กันหมด

ถ้าจะย่อยลงมา คือชีวิตมันมีทั้งดีและไม่ดีตลอดเวลา คือคนที่ลำบากก็ลำบากจริง ๆ  เรื่องโอกาสหรืออะไรก็ดีแต่สิ่งที่มันอยู่ในใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการทำยังไงให้จิตใจเรามันยังดีอยู่ได้ เมื่อไหร่ที่มันเสียไป อย่าว่าแต่โอกาสเลย แค่เราตื่นมาก็แย่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา แล้วมา Focus ที่ตัวเองว่าเราจะทำอะไรให้มันดี ๆ ได้บ้าง เอาแค่ตัวเราเองก่อน คิดว่าปัญหาในสังคมมันจะน้อยลงเยอะมากเลย คือถ้าเรามีความ Positive มันก็จะมีสิ่งดี ๆ เข้ามาด้วย

ความรู้สึก ณ วันนี้ คือโลกมันเปิดมากเลย แล้วเหมือนกับว่าสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น แล้วมันง่ายด้วยที่จะเห็น แต่บางทีเราอาจจะไม่รู้ ว่ามันจะเหมาะกับเราหรือเปล่า บางอย่างมันไม่ได้เหมาะกับเราเลยนะ แต่เราไม่รู้ตัว เรารู้แต่ว่าสิ่งที่เขาจัดมาให้เรา ภาพที่เราเห็น มันสวยมันดู Fantasy มันน่าเข้าไปจับต้องสัมผัส เรายังมี  Energy ที่อยากจะสนุกสนานอยู่ตรงนั้น

เราอาจจะหลงไปกับมันชั่วขณะเลยก็ได้ โดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วถ้าเกิดมันหลงไปมาก ๆ มันก็เริ่มจะคุยไม่รู้เรื่องแล้วนะ เพราะว่ามันเหมือนไป Focus ในสิ่งที่มันลวงอยู่ ที่มันอยู่ด้านนอก แต่ว่ามันลืม Focus กับตัวเอง

พอมันไปเรื่อย ๆ มันก็เกิดการเปรียบเทียบ ซึ่งการเปรียบเทียบ ถ้ามันเปรียบเทียบโดยต้องการจะแก้ปัญหาบางอย่าง มันก็ได้ประโยชน์ แต่ว่ามันต้องวิเคราะห์ดีๆด้วยนะ แต่ว่าทุกวันนี้ความรู้สึกก็คือว่า มันเกิดการเปรียบเทียบที่มันไม่จำเป็น และเยอะเกินไป แค่ใน Social เราสามารถดูอะไรก็ได้อย่างที่บอกใช่ไหม

บางทีมันอาจจะเห็นคนอื่นที่ดีกว่าเราในบางแง่ เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ปกติสมมติว่าเราไม่เห็น เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรนะ แล้วถามว่าจำเป็นหรือเปล่า ก็อาจจะไม่จำเป็น เหมือนเรากินอะไรอร่อย ก็ไม่จำเป็นว่าเราต้องไปกินอาหารหรูขนาดนั้นก็ได้ แล้วถามในสิ่งที่เราเห็นมันจริงแท้ขนาดไหนก็ไม่รู้ คือทุกอย่างมันมีสองด้าน

ที่สำคัญตอนนี้คือ Focus กับสิ่งที่เราทำ เราชอบเราก็ทำไป ในส่วนที่ต้องเลี้ยงชีพก็ดี ส่วนที่ต้องทำตามหน้าที่อะไรบางอย่าง เช่น การดูแลครอบครัว เราก็ทำไปตามนั้น อะไรที่รู้สึกว่ามันหนักหนาต่อจิตใจเราเกินไป เราอาจจะหาวิธีที่จะเปลี่ยนเปลี่ยนบางอย่างไหม เปลี่ยนสิ่งที่ทำหน่อยเพื่อจะที่ได้ไปเคลียร์ เหมือนกับตอนนี้เราวน ๆ อยู่ในกรอบตรงนี้นะ เราก็ลองถอยออกมาแป๊บนึง แล้วมันจะได้เห็นอะไร ว่าทำไมปี 2 ปีก่อนเราไปหมกมุ่นกับอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยมันก็เป็นได้นะ

ก็คือตรงนี้รู้สึกว่าสำคัญนะ สำคัญมาก ๆ แล้วการทำงานตรงนี้ Warbie เหมือนเป็นการวาดการ์ตูนไป คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นคนที่ Happy เขามีความสุข ไม่มีความทุกข์ ทุกคนมีเรื่องที่ไม่สบายใจ แล้วจะบอกว่ายิ่งดี ยิ่งทำมากขึ้น ยิ่งมีคนรู้จักมากขึ้น ทุกข์กับสุขมันคู่กันมาอยู่แล้ว จากสมมติว่าคนๆหนึ่งวาดไปแบบไม่ได้คิดอะไร ก็ไม่แคร์ว่าใครจะคิดอะไร แต่พอมันมี Feedback โชคดีว่าสิ่งที่เราทำมัน Positive อยู่แล้ว มันเลยกลายเป็นว่ามีหลายคนที่รักและชื่นชอบในงานของเราอยู่แล้ว

แต่พูดถึงว่าการมี Feedback มันก็ตามมาด้วยทั้ง ความทุกข์ในการที่เราต้อง Take Care มันทำอะไรมันก็ต้องมีอยู่แล้ว ปกติเราไม่มีสิ่งนี้ เราก็ไม่ต้องไป Take Care มัน พอเรามีปุ๊บ มันก็กลายเป็นภาระที่เราต้อง Take Care มัน เรามองว่ามันมีสิ่งที่จำเป็น ที่เราจะต้องไปคิดถึง

ตรงนั้นหรือเปล่า คิดแบบให้มันได้ประโยชน์ ได้งาน คือคิดไปเถอะ ส่วนการคิดที่ไม่มีประโยชน์ก็คือว่าดันไปกังวลกับอนาคต ที่มันยังมาไม่ถึงเกินไป คำว่ากังวลไม่ได้เกี่ยวกับการที่เราไม่ต้อง Plan อนาคต ไม่ใช่นะ Plan ก็คือวางแผนไว้ตามสมควรไง แล้วก็มา Focus เหมือนตอนที่ทำอนิเมชั่น ก็ Focus ใน Shot อันนั้น แล้วเดี๋ยวในอนาคตที่เราต้องการ มันก็จะฉายขึ้นมาเอง

แต่ถ้าตอนนี้เราอยู่ในสังคม ที่เราต้องผลักความสนใจ ออกไปสู่ข้างนอกเยอะเกินไป แล้วเราเริ่มไป Focus กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ วันหนึ่งเราจะมาคิดได้เอง ว่ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่เราควบคุมได้ก็ควบคุม เช่นคนไม่มีโอกาส ทำยังไงให้เขามีโอกาส อย่างที่บอกว่าทำอย่างนี้ไม่เป็น แล้วจะทำยังไงให้เราสามารถทำได้ ก็คือต้องวิ่งเข้าไปหาคนที่เขามีความรู้ด้านนี้ ให้เขาช่วยสอน แล้วมันเกิดมาจากอะไร ก็เกิดมาตัวเราเองเท่านั้นถ้าทุกคนรู้สึกว่าสิ่งที่มันดี มันต้องเกิดจากตัวเราเอง มันก็จะช่วยได้ คือมันต้องเริ่มจากคน ๆ หนึ่ง และทุกคนสัมผัสได้แบบนี้ มันกระจายออกไป ก็จะเกิดผลดีที่มันเป็นมวลรวมใหญ่ขึ้น

ยกตัวอย่างศิลปิน Jung Yansu ที่เขามา Collabs กันในนิทรรศการนี้ เป็นความประทับใจมากแบบว่าเป็นครั้งแรกที่เคยร่วมงานกับเด็กคนหนึ่ง ที่เขาเพิ่งจบนะ แล้วเขาเอาตัวเองไป Present ในงาน Bangkok Illustration Fair ปี 2021 แล้วเราก็รู้สึกว่าชอบลายเส้นของเขา ลายเส้นดินสอธรรมดาเลยนะ แต่รู้สึกว่ามันมีพลังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ แล้วเขาก็โชว์อนิเมชั่น

มันเหมือนเห็นวัยเด็กของเราผ่านตัวของเขา ผ่านงานของเขา นี่มันงานถึกนะเนี่ย เป็นอนิเมชั่น Stop Motion เสร็จแล้วยังมีอีกชิ้นหนึ่งที่เพนท์อะคริลิค ซึ่งเป็นงานถึก คือนึกถึงตัวเราเอง

แบบนี้แหละ น้องคนนี้แหละ ต้องมาคุยด้วยแล้ว เนี่ยมันก็คือจากคนๆหนึ่งที่เขา Focus อยู่กับสิ่งที่เขาทำ แล้วพอเขาทำมันได้ดีปุ๊บ เขาไม่ได้ปิดโอกาสตัวเอง เขามาสมัครที่งาน Bangkok Illustration Fair เชื่อว่าเขาก็ไม่ได้คาดหวังหรอก ว่าเขาจะเจอกับเรา แล้วพอเราไปเห็น ได้มาคุยพี่ทำ Warbie นะ อยากจะมาสนุกด้วยกันไหม เขาก็เริ่มเลยใช้เวลา หนังเรื่องนี้ก็เลยเรียกว่าเป็น Solo Project จริง ๆ และทำถึงสองปี เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ แล้วสองปีนั้นเขาทุ่มเทกับ Project นี้แบบสุดๆ แทบจะเต็มเวลาเลย

เหมือนเราก็ใช้ Zoom กัน ตอนนั้นอยู่อเมริกาก็ Zoom  กันประมาณ 10 โมงเช้าของที่นี่ ประมาณ 1 - 2 ทุ่มของที่นู่น ก็ทำแบบนี้ทุกอาทิตย์แล้วเขาก็ส่ง Shot มาให้ดู เราก็แนะนำเขา สอนเรื่องอนิเมชั่นบ้าง ให้แรงบันดาลใจบ้าง ภายใน สองปีจนกระทั่งมันเสร็จ ถามว่าช่วงสองปีนี้ สิ่งที่น้อง Jung เขาทำคืออะไร คือเขาแทบจะไม่ได้เล่นเกมไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เขาแบบวาดแล้วก็คือมาคุยกับพี่ แล้วสุดท้ายพอวันหนึ่งที่งานมันออกมาทุกคนก็แบบชื่นชม แล้วยิ่งได้ฟัง Story ว่าสองปีที่ผ่านมาเขาทำอะไรมาบ้าง แล้ว Focus ที่มาที่ไปเป็นนี้ หลายคนเขาก็ทึ่งตรงนี้

‘อรุษ ตันตสิรินทร์’ แอนิเมเตอร์คนไทย ผู้พา Warbie Yama นกอ้วนจอมกวนไปป่วนหัวใจคนทั่วโลก คืองานบางอย่างมันต้องใช้เวลานะ แต่ว่าเราไม่ได้อยากไป Focus อยู่ที่ปลายทางตรงนั้นเกินไป คือมันไม่ผิดนะ ที่เรามีความอยากจะได้อะไร มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ว่ามันต้องกลับมา Focus กับสิ่งนี้ สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน คือเรามาเริ่มทำจากที่ว่า วันนี้น้อง Jung อยากวาดอะไร น้อง Jung บอกว่าฉากแรกคิดถึงโต๊ะอาหาร กับหน้าต่าง เราก็เอาเลย เพราะว่ามันเป็นมุมโปรดของเขาที่ทำให้เขาอบอุ่น

เขานึกถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำอาหารเอง แล้ว Warbie บินขึ้นมา แล้วก็มานั่งกินด้วยกัน แล้ว Warbie ก็ตะกละตะกลาม ขำๆอย่างนี้ คือยังมีความเป็น Warbie อยู่ จบอีกฉากหนึ่ง

แล้วคิดว่ามันน่าจะมีการคุยกัน ว่าน่าจะมีการ Moment อื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า ก็มี อย่างเช่นว่า Warbie มันเข้ามาในชีวิตแล้วมันเติมความสดใส อยากให้เห็นตอนที่เราเหนื่อย ๆ ตอนเรียนด้วย ก็เลยมีฉากที่ไม่มี Wabie เป็นฉากที่มีเด็กผู้หญิงนั่งอยู่ในห้องเรียน แล้วนั่งรอที่ป้ายรถเมล์คนเดียว ก็ใส่ลงไป

มันก็เลยกลายเป็นว่า เป็นเรื่องที่พิเศษตรงที่ว่าไม่ได้เรียงไปตามรูปแบบอะไรเลย เราคิดถึง Moment ต่างๆที่เขามี ชีวิตประจำวันก็มี หรือว่า Fantasy หน่อยก็คือว่าไปนั่งอยู่ในป่ากัน บ่อน้ำ แล้วอยู่ๆก็มีปลาเดินขึ้นมาจากน้ำ แล้วก็มีขาเดินขึ้นมา ได้เข้ามาอยู่ในโลก Fantasy

และนั่นก็เป็นหนึ่งในฉากก่อนที่มันจะจบด้วยการลงไปนอน คือทำมาก่อนแล้วค่อยมาเรียงทีหลัง แปลกมากเลย คือกลับไปสู่เด็กที่อยากวาดอะไรก็วาด แล้วก็ออกมาเป็น Short Film ที่มันเป็น Moment

แล้วเชื่อไหมพอ Verse กับน้อง Jung แบบนี้ ผมไป Verse กับคุณมดที่เป็นนักแต่งเพลง มันก็เกิด Feeling ในแบบเดียวกัน ก็คือว่ามดอยากทำ เราไม่เคยมีการคุยกันว่าจะมาจ้างเขา คือเรามี Sold เรามี Warbie เขามีดนตรี เล่าให้เขาฟังเขาชอบ จนทำเพลง Moment เสร็จ คือมันเป็น Collection ของ Moment ต่างๆที่เกิดขึ้น มันคือหนังน้อง Jung เลย ก็เลยเอา Moment ที่เป็น Version Jazz เข้ามาใส่ในหนังของน้อง Jung คือมันเข้ากันจนดูแล้วขนลุก มันเป็น Moment ต่างๆที่จบได้แบบอบอุ่น เชิง Fantasy หน่อยๆ

คุณมดก็เหมือนกัน คืออินกับสิ่งที่เขาทำ โดยที่เขายังไม่รู้ว่าปลายทางมันจะเป็นอะไรขนาดไหน รู้แต่ว่าเขาชอบดนตรี เขาชอบทำเพลงประกอบ เขาเห็นว่าอันนี้มันสนุก เขาอยากทำ คำว่า Focus อยู่กับสิ่งที่เราทำ มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะว่าบางทีอย่างที่บอกว่าเราติดอยู่กับกรอบความคิดที่มันเยอะเกินไป แล้วเราก็ไม่ได้ทำมันด้วยนะ แล้วก็ไปหาอันอื่นมาให้คิดเพิ่มด้วยอีก แต่ถามว่าได้ Agreement ขนาดไหน ได้ทำมันออกมาขนาดไหน Excuse มันหรือยัง มันไม่ได้มีความสุขในจุดนั้น ความสุขก็คือว่าได้ลงมือทำจริง ๆ ทำมันขึ้นมาก่อน

อย่างที่มาคุยกันวันนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่พิเศษ คือเรามี Passion เราอยากจะคุยกับคนอื่น อยากจะได้ความคิด อยากจะฟัง แล้วตรงนี้มันก็เป็นพลังงานที่ดี มันทำให้เรารู้สึกว่า ฉันได้ทำบางอย่างแล้ว

พี่เชื่อว่าสิ่งดี ๆ ที่มันเกิดขึ้น มันมีที่มาที่ไปหมด บางอันมันอาจจะเกิดที่มาจากคน ๆ เดียวด้วยซ้ำ ที่ทำให้เกิดความคิดดี เพราะฉะนั้นคุณอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าใครดูผลงานของคุณอยู่ แล้วเขาอาจจะมีอิทธิพลต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เขาอาจจะเป็นคุณครูที่สอนแค่โรงเรียนเล็ก ๆ แล้วเขามีความคิดที่ดี ที่อยากถ่ายทอดให้เด็ก ถ่ายทอดต่อกันไปเป็นรุ่น ๆ เขาก็จะได้รับความเป็น Positive แล้วเมื่อเขาโตขึ้น สังคมมันก็จะดีขึ้น มันก็ไปตามนั้น

แต่ว่าถามว่าเราจะมาเร่งรัดอะไรทีเดียวนั้น มันเป็นไปไม่ได้ บางครั้งมันเกินไปจากสิ่งที่เราอยากได้ บางทีมันเกินไปที่จะทำให้มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือว่า ทำเท่าที่เราทำได้

ถ้าคนไหนมี Power ในการที่จะสร้างสิ่งดี ๆ แล้วก็ทำเลย แต่ว่าคนไหนที่คิดว่า สิ่งที่เราจะทำได้ก่อนคือเริ่มจากตัวเอง แม้แต่สิ่งเล็กๆก็เถอะ ก็ทำก่อนเลย แล้วก็ไม่ต้องไปว่าใครด้วย ไม่ต้องไปสนใจ แล้วถ้ามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่สมควรทำต่อสังคม เช่นเอาตัวเองไป Volunteer ทำอะไร

บางอย่าง เหมือนกับที่พี่ไป Volunteer ที่วัดไทย มันเกิดจากอะไรรู้ไหม เกิดจากการที่เพื่อนของพี่ที่เขาเป็น Animator เขาไปที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ แต่พี่ไม่ได้เป็นคนไปโบสถ์ใช่ไหม พี่ก็รู้สึกว่าแล้วเขาก็ไปเจอ Animator ที่เก่งมากเลย เขาไปทุกอาทิตย์ ไปเป็นสิบปีแล้ว

เราก็เลยรู้สึกว่าเขาก็เก่ง งานเขาก็น่าจะเยอะนะ แต่เขาก็แบ่งเวลาไปทำอะไรที่มันดีต่อจิตใจของเขาได้ ในวันอาทิตย์เราอาจจะทำอะไรได้บ้างก็ได้ ก็เลยลองไปอาสาสมัครสอนเด็ก โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าจะต้องได้เงิน ขับรถไปเลย แล้วก็ไปสอนเด็กทุกวันอาทิตย์ ก็ทำมาจนถึง 5 ปี

แล้วมันก็ได้อะไรจริง ๆ เชื่อไหมว่าทุกอย่างมันหล่อหลอม จนส่งผลมาถึงวันที่มีนิทรรศการแบบนี้ อย่างเรื่องสอนเด็กที่เล่าให้ฟังก็เหมือนกัน อย่างน้อยคนตัวเล็ก ๆอย่างเรา ก็ได้ Contribute บางอย่างต่อสังคมได้บ้าง คือเราไม่ต้องไปสนใจว่านี่คือสังคมบ้านเรา หรือสังคมบ้านเขา คือเราอยู่ที่ไหน เราทำดีได้ก็ทำไปเถอะ แล้วสังคมมันก็อาจจะดีขึ้น วันหนึ่งมันก็อาจจะดีหรือมีอะไรที่ดีบ้าง ให้ดีทั้งหมด มันคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

 

ภาพ: ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์