คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี

‘โน้ต - กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ คนไทยเพียงหนึ่งเดียวจาก ICRC ผู้กรอกใบสมัครอาสาเข้าร่วมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลาที่ประจำการอยู่ที่ยูเครนคือ จิตใจอันแข็งแกร่งของชาวบ้าน แม้จะเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายเพียงใด แต่พวกเขายังไม่ลืมที่จะแบ่งปันรอยยิ้มและคำขอบคุณมาให้

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2023 คือวันครบรอบการก่อสงครามที่ชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซีย เลือกเปิดฉากโจมตียูเครน ประเทศเพื่อนบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง จนกระทั่งประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานกลางใจเหล่าคนหนุ่มสาวยูเครน พวกเขาจึงเลือกที่จะหันหน้าเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะหลุดพ้นออกจากเงาของรัสเซีย

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ทำให้รัสเซียภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ (Vladimir Putin) เริ่มเห็นเค้าลางบางอย่างว่าในอีกไม่นาน ประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของตน ‘อาจจะ’ แปรเปลี่ยนไปเป็นส่วนหนึ่งของตะวันตกอย่างเต็มตัว เมื่อเวลานั้นมาถึงคนที่จะตกที่นั่งลำบากมากที่สุดคงไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นรัสเซียเอง

เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน The People มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยทางไกลกับ ‘โน้ต - กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ ผู้ประสานงานด้านการสื่อสารกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง ประจำยูเครน คนไทยเพียงหนึ่งเดียวจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ผู้ยกมือขออาสาเข้ามาช่วยเหลือชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยไม่หวั่นเกรงต่อกระสุนปืนและลูกระเบิด คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี

ความบาดหมางที่ค่อย ๆ ก่อตัว

หลังจาก กุลวรรธน์ ทราบข่าวว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กำลังอยู่ในช่วงตึงเครียด เขาไม่รอช้ารีบกรอกใบสมัครขออาสาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่กว่าจะได้รับมอบหมายให้เดินทางมายังพื้นที่สงคราม เวลาก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือนสิงหาคม

ส่วนจุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2014 ช่วงเวลาเดียวกับที่ทิศทางการเมืองของประชาชนยูเครนเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน บ้างก็มองว่ายูเครนควรมีเอกราชเป็นของตัวเอง บ้างก็มองว่ายังไงยูเครนก็ต้องอยู่ใต้ร่มเงาของรัสเซียต่อไป เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนเองก็ถือได้ว่ามีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน การจะแยกตัวออกไปจงรักภักดีกับตะวันตก ก็เกรงว่าประเทศที่ไม่มีบทบาทในเวทีโลกมากนัก จะถูกเพิกเฉยจากชาติมหาอำนาจอื่น

นอกจากประชาชนจะเสียงแตกแล้ว สหภาพยุโรป (EU) ยังได้เสนอเงื่อนไขที่ทำให้ใจของเหล่าเสรีชนเริ่มสั่นไหว โดยเสนอให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป หากยูเครนตอบตกลง ประชาชนจะสามารถไปทำงานทั่วยุโรปได้อย่างอิสระ แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องกำแพงภาษี เพราะการเป็นสมาชิกจะทำให้สินค้าจากยูเครนสามารถวางขายในกลุ่มประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี แน่นอนว่าเศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอที่มีแต่ผลดีกับยูเครน (แต่ส่งผลร้ายต่อรัสเซีย เพราะรัสเซียมีกลุ่มความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในชื่อ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย หรือ EAEU อยู่แล้ว)

ถึงจะมีโอกาสสำคัญลอยมาอยู่ตรงหน้า แต่ยูเครนภายใต้การนำของ ‘วิคเตอร์ ยานูโควิช’ (Viktor Yanukovych) กลับมองต่างออกไป ด้วยความที่เขาเป็นโปร-รัสเซีย จึงปฏิเสธข้อเสนอนี้ไปอย่างไม่ใยดี กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาก่อการปฏิวัติ ‘ยูโรไมดาน’ (Euromaidan) สุดท้ายยานูโควิช โดนขับไล่ออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ก่อนลี้ภัยหนีไปอยู่รัสเซีย

เมื่อ ‘ตัวแทน’ ผู้นำจากยูเครนอย่างยานูโควิช โดนประชาชนปิดประตูใส่ รัสเซียตอบโต้ด้วยการประกาศยึดแหลมไครเมียมาเป็นของตัวเอง โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อช่วยเหลือและปลดปล่อยชาวรัสเซียที่อยู่ในประเทศอื่น ให้กลับมาสู่แผ่นดินแม่อีกครั้ง

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี นี่คือเรื่องราวความบาดหมางโดยย่อ ก่อนจะนำไปสู่ฉากเปิดของสงครามในโลกยุคใหม่ และนำพาให้ กุลวรรธน์ อาสาคนไทยเข้ามาช่วยบรรเทาทุกข์ชาวยูเครนในครานี้

“โน้ตมาถึงยูเครนตอนเดือนสิงหาคม ผ่านไปแล้วสักประมาณ 4-5 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาฯ ก็ติดตามมาตลอด ตอนนั้นโน้ต เป็นหัวหน้าฝ่ายการสื่อสารองค์กร คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) อยู่ที่มาเลเซีย แล้วพอความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 และด้วยความที่เราเองก็ติดตามมาตลอดตั้งแต่เดือนกุมภาฯ ก็เลยขออาสามาที่นี่

“สิ่งแรกที่โน้ตจำได้คือตั้งแต่เดือนกุมภาฯ การบินพาณิชย์ปิดหมดเลย น่านฟ้าถูกปิดหมด เราก็เลยต้องเดินทางเข้าโดยการขับรถเข้ามา ก็ต้องเดินข้าม ตม. แบบ On the ground ที่พื้นกันเลย จากโปแลนด์แล้วก็เดินสักกิโลนึง พอไปถึงตม. ฝั่งของยูเครนก็รู้สึกอากาศมันก็ยังโอเคอยู่ ท้องฟ้าก็ใส เงียบ แต่ใส เดินมาถึงฝั่งยูเครนก็เห็นมีคนเดินเข้า ตอนที่โน้ตเข้าวันแรกคือวันที่ 8 สิงหา 2022 เดินเข้าวันแรกก็ เออโล่งดีไม่มีคิวเลยขาเข้า แต่ขาออกเนี่ยคิวเยอะ แต่ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี “พอเข้ามาฝั่งยูเครนก็เห็นว่าส่วนใหญ่ที่เขาเดินออกมาเยอะ มีแต่ผู้หญิงพอเดินผ่าน ตม. เข้ามาแล้วที่เห็นคือครอบครัว คู่แฟน กอดกัน ร้องไห้กันทุกคน แต่ก็มีผู้ชายมาที่ ตม. ด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทำไมเค้าไม่ข้ามไป ก็เพิ่งรู้ว่าเค้ามีกฎหมายห้ามผู้ชายออกนอกประเทศ เป็นกฎหมายพิเศษตอนที่มีสงคราม ในบางประเทศผู้ชายห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

“นี่คือสถานการณ์ที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อนที่ไทย หรือว่าที่ประเทศไหน ๆ ที่เราเคยอยู่ (ก่อนที่กุลวรรธน์จะเข้ามาทำงานร่วมกับ ICRC เขาเคยทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ ในตำแหน่งเลขานุการเอก ณ กรุงอัมมาน ประจำประเทศจอร์แดน - ผู้เขียน) กว่าจะเดินทางมาที่กรุงเคียฟระยะทาง 600 กิโลเมตร ก็ใช้เวลาประมาณ 2 วัน เดินทางกัน 15 ชั่วโมงราว ๆ นั้น ก็อยู่บนรถตลอด เพราะว่าเราไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปได้ เราไม่รู้ว่าจะไปเจอกับวัตถุตกค้างของสงคราม เช่น ทุ่นระเบิด อะไรแบบนี้หรือเปล่า ถ้าพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้รับการยืนยันว่ามันปลอดภัย เราก็ไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้

“มันก็เป็นความรู้สึกที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาทีละนิดทีละนิด รู้สึกว่า โอเค โลกมันคนละอย่างกันเลยจากที่เราเคยรู้จักมา นั่นคือความรู้สึกแรกที่เรามาถึงยูเครน”

 

ร่องรอยความทรงจำที่ถูกทำลาย

การอยู่ในพื้นที่สงครามในความคิดของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหดหู่ ข้าวปลาอาหารที่หดหายลงทุกขณะ ไปจนถึงระบบไฟฟ้าที่ถูกตัดจนทำให้เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืด ถึงนี่จะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ กุลวรรธน์ บอกว่าชาวบ้านไม่ได้กักตัวอยู่แต่ในหลุมหลบภัยเท่านั้น แต่พวกเขายังคงออกไปใช้ชีวิต กิน ดื่ม แบ่งปันเสียงหัวเราะร่วมกัน แม้ว่าจะต้องตื่นตระหนกทุกครั้งที่มีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ให้เตรียมพร้อมรับแรงปะทะจากอาวุธสงครามก็ตาม

“เราก็คงอาจจะดูหนังมาเยอะ ทุกคนคงหดหู่ตลอดเวลาแล้วก็ Depress หมดเลย แต่ที่เจออย่างน้อย แม้แต่ในเคียฟหรือว่าเมืองที่อยู่ขอบประเทศทางตะวันออก ที่จะมีการสู้รบมากหน่อย ก็จะเห็นว่าถ้าไม่มี Air raid siren ดังอยู่ ว่า เฮ้ย! ต้องหลบหนีแล้วเนี่ย เค้าก็พยายามจะใช้ชีวิตธรรมดาเท่าที่เขาจะทำได้ คือไปร้านกาแฟ จิบชา กาแฟ คุยกับเพื่อน ยิ้มแย้มแจ่มใสแบบนี้ ก็ยังมีอยู่บ้าง มันไม่ใช่ทุกคนจะอยู่ใต้ดินตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่แบบนั้น

“แต่สิ่งที่เห็นแล้วรู้สึกเปลี่ยนไปคือคำพูดของคนในวันนั้น โน้ตลงพื้นที่ทำสัมภาษณ์ แล้วก็ถามเค้าว่าชีวิตประจำวันเป็นยังไง เค้าก็บอกว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือแพลนของชีวิตไม่ใช่ว่าตอนนี้ตอนเช้า ตอนนี้ตอนกลางคืน สิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่พระอาทิตย์ สิ่งที่เปลี่ยนของแต่ละวันคือ มี Air raid siren รึเปล่า ถ้ามี Siren ดังอยู่เราใช้ชีวิตยังไง ถ้าไม่มีเราใช้ชีวิตยังไง คือมันไม่ใช่เดย์แอนด์ไนท์ มันเป็น Siren on and off อันนี้เปลี่ยน คือเห็นเลยว่าเป็นการปรับตัวอีกแบบที่เราคาดไม่ถึง”

ส่วนเรื่องอาหารการกินจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน NGOs ต่าง ๆ ทั้ง โครงการอาหารโลก (World Food Programme – WEP) ICRC และ UN “ICRC ก็จะเป็นหน่วยงานเดียวที่ใช้รถบรรทุกของเราเองไปถึงพื้นที่ไปถึงมือของคนคนนั้น และหมู่บ้านนั้นเลย เพราะหน่วยงานอื่นเค้ามีความเสี่ยง เค้าก็ต้องจ้างรถบรรทุกพวกนี้ไปเอง ก็พอมีคนอยากจะช่วยเหลือ แต่บางทีไม่ใช่อาหารไม่พอ แต่ก็แค่เข้าไม่ถึง”

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี มันไม่ถึงขั้นที่ต้องแบ่งจัดสรรทรัพยากรเหมือนในศึกสตาลินกราด ที่เขาต้มรองเท้าบู๊ทกินกันใช่ไหม - เราถาม ซึ่งบอกตามตรงว่าเราเองก็มีภาพจำเกี่ยวกับสงครามค่อนข้างเยอะพอสมควร กุลวรรธน์ ยิ้มออกมาก่อนจะตอบติดตลกว่า เขายังไม่เห็นเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นนั้น

“ส่วนตัวยังไม่ได้ยินเรื่องการต้มรองเท้า (ยิ้ม) แต่อดอาหารก็ไม่น้อย ต้องดื่มน้ำไม่สะอาด กินข้าวหมดอายุ ไม่รู้ว่าอาหารที่ได้รับมาปลอดภัยจริงหรือเปล่า บางทีชาวบ้านเขาก็ไปเก็บเห็ดตามที่นาของตัวเองมากิน ตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงว่าอาจจะเดินไปเหยียบทุ่นระเบิด เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพื้นที่ตรงนั้นปลอดภัยหริอเปล่า จนกว่าจะมีการเข้ามาตรวจสอบ”

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี หนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างรอยร้าวในใจให้กับเขามากที่สุด เกิดขึ้นระหว่างที่ชาวยูเครนคนหนึ่ง พาเขาไปเยี่ยมบ้านที่มีสภาพไม่ต่างจากเศษซากของอะไรสักอย่างที่กองอยู่บนพื้น ท่ามกลางซากปรักหักพังอีกนับร้อยนับพันหลังคาเรือน

“คุณลุงเขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาอยู่บ้านหลังนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว 80 กว่าปี แต่มันพังหมดเลย เพราะพื้นที่นี้ถูกถล่มตั้งแต่เดือนมีนาคม เขาก็พาเราไปให้เห็นว่าเนี่ย มันไม่ใช่บ้านหรอก มันดูไม่ออกแน่ ๆ คือไม่เหลืออะไรเลย เขาก็จะบอกว่า ยังไงก็ตามเราต้องเอาตัวรอดและอยู่รอดให้ได้ จะเป็นสถานการณ์แบบไหน ไอก็ไม่รู้หรอก แต่ life must go on. เราก็ต้องพยายามดิ้นรนต่อไปให้อยู่รอดได้

“บ้านเขาอยู่รอดสงครามโลกครั้งที่ 1 กับ 2 มาแล้ว มาพังตอนนี้ แต่เขาก็บอกเราต้องอยู่ให้ได้ อาจจะเพื่อครอบครัว เพื่อหลาน เพื่อลูก แต่ละคนก็จะมีเหตุผลของเขาเองว่าทำไมหนีออกนอกประเทศถึงเป็นผู้ลี้ภัย ทำไมยังอยู่ในประเทศ ไม่อยากใช้ชีวิตแบบผู้ลี้ภัย อาจเป็นเพราะนี่คือบ้านของเขา โน้ตไม่รู้ ตอบแทนไม่ได้หรอก เพราะทุกคนต่างก็มีเหตุผลเป็นของตัวเอง”

นอกจาก ‘บ้าน’ ที่ไม่เหลือเค้าความเป็นบ้านแล้ว อีกหนึ่งคำพูดที่เสียดแทงเขาไม่น้อยคือ เด็กอายุ 6 ขวบ บอกกับเขาว่า I’m too young to die.

“เราช็อคมาก ไม่รู้จะตอบว่าไงดี เขายังเด็กอยู่เลย พูดมาได้ยังไงทั้ง ๆ ที่เด็กขนาดนี้...

“บางบ้านก็ไม่สามารถเปิดทีวีให้ลูกดูได้ เขากลัวว่าถ้าลูกเผลอดูข่าวแล้วเขาเกิดถามขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นเหรอ สงครามคืออะไร ทุกวันนี้สิ่งที่เราทำกันอยู่มันคืออะไร พ่อแม่ของแต่ละคนก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายสิ่งพวกนี้ยังไงดี เพราะว่ามันคือสงคราม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศนี้กับประเทศนั้นได้หมดเลย คือการที่จะเล่าอธิบายให้เด็กเค้ารู้ว่าความจริงของโลกมันเป็นยังไงอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก”

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี ส่วนอีกหนึ่งบทบาทของการทำงานร่วมกับ ICRC คือการไปเยี่ยมเชลยศึกสงครามในสถานที่คุมขัง และช่วยแลกเปลี่ยนข่าวสารจากคนในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ มาสู่โลกภายนอก ผ่านจดหมายเปิดผนึก ซึ่งได้รับการรับรองว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะทุกรายละเอียดที่เขียนลงไปจะต้องระบุชื่อ - นามสกุลคนรับคนส่งอย่างชัดเจน เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการบอกเล่าว่า คนเขียนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรเพียงเท่านั้น

“การเยี่ยมเชลยศึกเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ ICRC เราทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เป็นการแลกเปลี่ยนจดหมายระหว่างคนที่เขาถูกคุมขังอยู่ เช่น ทหารรัสเซียอยู่ฝั่งยูเครน หรือทหารยูเครนที่ถูกขังฝั่งรัสเซีย เป็นจดหมายที่เค้าสามารถติดต่อครอบครัวได้ ICRC ก็จะเข้ามาช่วยสานสัมพันธ์ให้กับพวกเขา

“ซึ่งส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยากส่งอาหารหรือว่าให้เงินอะไรกับคนที่ถูกคุมขังอยู่หรอก แต่เขาแค่อยากรู้ว่าสามีของตัวเองยังมีชีวิตอยู่ไหม เพราะมันขาดการติดต่อไปเลยประมาณ 3 เดือน พวกเขารู้แค่ว่าสามีถูกส่งไปรบ แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้เป็นตายร้ายดีอย่างไร เขาก็จะถามเราให้เราช่วยหาให้หน่อยว่าถูกจับไปไหรหรือเปล่า ถ้าถูกจับไปฝั่งยูเครน เราก็ต้องไปหา ICRC ที่มอสโก ให้เขาช่วยประสานหน่วยงานท้องถิ่นให้ ช่วยตอบหน่อยได้ไหมว่าตอนนี้ คนคนนี้อยู่ในสถานที่คุมขังหรือเปล่า

“เราแค่ขอทราบสภาพก่อน ขอเข้าเยี่ยมได้ไหม บางกรณีเขาให้ข้อมูลได้แค่ว่ายังมีชีวิตอยู่ เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับบางคน มันเจ็บนะการที่เขาไม่รู้ว่าคนรักของเราหายไปอยู่ที่ไหน หายไปกี่เดือนแล้ว แต่เขาเข้ามาหาเราให้เราช่วย ขอแค่นี้ได้ไหม ขอแค่ให้รู้ว่าเค้ายังไม่ตาย”

“โน้ตไม่เคยโดนถามแบบนี้มาก่อน ก็คงเป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำให้มี ICRC อยู่ในโลกนี้”

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี

ความแกร่งท่ามกลางจิตใจที่แหลกสลาย

อีกสิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเราคือ คนที่เขาต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งมาเป็นเกือบ 1 ปี สภาพจิตใจเขาจะเป็นอย่างไร พื้นที่ในใจของเขายังเพียงพอที่จะแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับเพื่อนร่วมชะตากรรมอยู่อีกไหม หรือมีแต่ความเห็นแก่ตัวเข้ามาครอบงำ

“เอาแค่คนที่โน้ตได้สัมผัสแล้วกัน คือชาวยูเครนทั่วไปส่วนมากเขาแกร่ง เขายังคิดว่าไม่ว่าจะดีหรือร้ายอย่างไรก็ตาม เขาก็ยังขอบคุณเราได้

“สิ่งที่โน้ตไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับคือคำขอบคุณจากเขา ใช่ มันเป็นหนึ่งในหน้าที่ก็จริง แต่พอเราเห็นสภาพตึก บ้านเรือน ครอบครัว ความเป็นอยู่ของเขา พี่น้องหายไปหมด มันทำให้เรารู้สึกแอบโมโหอยู่เหมือนกันนะ ตัวสั่นเลยอะ ทำไมเขาต้องมาถามไถ่เราว่ายูมาจากไหน อยู่เอเชียเหรอ ไกลขนาดนี้แล้วยังมา ‘ขอบคุณนะ’

“เขาไม่ใช่แค่ขอบคุณ เขายังถามถึงครอบครัวเราว่าเป็นยังไง เราก็แบบ เฮ้ย! ยูเจอสถานการณ์แบบนี้ ยังจะมาถามเรื่องโน้ต ถามเรื่องครอบครัวของโน้ตอยู่ได้ยังไง ถ้าเป็นเราเราจะยังมีพื้นที่เหลืออยู่ในจิตใจไหม ยังจะอยากขอบคุณคนอื่นอยู่หรือเปล่า

“โน้ตไม่รู้ว่าเราโชคดีหรือโชคร้ายที่ได้ยินคำคำนี้ แต่อย่างน้อยเขาก็แกร่งมากพอจะแบ่งส่วนหนึ่งของใจมาขอบคุณเรา”

แม้ว่าประเทศไทย - ยูเครน จะมีระยะห่างกันราว 7,208 กิโลเมตร เวลาต่างกันถึง 5 ชั่วโมง แต่เรื่องราวที่เขาเล่าให้เราฟัง กลับรู้สึกราวตกอยู่กลางใจ ใกล้เพียงแค่นิ้วมือสัมผัส... แล้วโลกอันโหดร้ายที่สงครามได้พรากทุกอย่างไปก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า เราได้แต่หวังว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะยุติลงในเร็ววัน เพราะไม่อย่างนั้นคนที่ต้องเจ็บปวดที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาชน

คุยกับ ‘กุลวรรธน์ ชิตรัตน์’ อาสาคนไทยในพื้นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วาระครบรอบ 1 ปี

ภาพ: Kunlawat Chittarat