อินโทรดานส์ คณะบัลเลต์ร่วมสมัย ความสวยงามของมนุษย์ ที่ใช้สรีระ "เล่าเรื่อง"

อินโทรดานส์ คณะบัลเลต์ร่วมสมัย ความสวยงามของมนุษย์ ที่ใช้สรีระ "เล่าเรื่อง"

       อินโทรดานส์ (Introdans) คือหนึ่งในคณะเต้นรำชั้นแนวหน้าของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการชื่นชมอย่างสูงจากรูปแบบการแสดงที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ร่วมสมัยและความสามารถของนักเต้นที่น่าทึ่ง

คณะอินโทรดานส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.. 1971 และเป็นคณะบัลเลต์ร่วมสมัยที่ผลิตผลงานออกมามากที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนได้มีโอกาสเดินทางไปเปิดการแสดงในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นในอาร์เจนตินา อารูบา เบลเยียม บัลแกเรีย จีน คูราเซา เยอรมนี ฮ่องกง สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์

คณะอินโทรดานส์ มีเสน่ห์และเป็นที่ถูกจดจำในฐานะคณะบัลเลต์ที่นำเอาองค์ประกอบของการเต้นบัลเลต์คลาสสิก ผสานเข้ากับเทคนิคการเต้นในแบบร่วมสมัย โดยได้นักออกแบบท่าเต้นชั้นนำจำนวนมากมาสร้างสรรค์ผลงานให้ นอกจากนี้แต่ละผลงานของอินโทรดานส์ ก็มีไลน์การเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป แต่หัวใจสำคัญที่พวกเขาอยากจะนำเสนอก็คือภาษากายที่มาจากการเต้นคือสิ่งที่เป็นสากล และผู้คนทุกวัยสามารถมาอยู่ร่วมกันและเคลื่อนไหวด้วยกันได้

อินโทรดานส์ คณะบัลเลต์ร่วมสมัย ความสวยงามของมนุษย์ ที่ใช้สรีระ "เล่าเรื่อง"

       ปัจจุบัน อินโทรดานส์เป็นคณะที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยจำนวนสมาชิกมากกว่า 70 คน ทั้งยังเป็น 1 ใน 3 คณะเต้นรำที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์อีกด้วย และในงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ปี 2019 นี้พวกเขาไปหอบสี่การแสดงบัลเลต์ร่วมสมัยมาฝากคนดูชาวไทย ให้ได้รับชมกัน ซึ่งทั้งสี่การแสดงก็มีความน่าสนใจที่ไม่เหมือนกันเลย

เริ่มที่การแสดงแรก “Polish Pieces”  โดย ฮันส์ ฟาน มาเนน นักออกแบบท่าเต้นมือหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ ผลงานของ ฟาน มาเนน ชุดนี้นำเสนอนักเต้น 12 คนในเสื้อทูนิคสีสันฉูดฉาด และมีการเปิดตัวที่รุกเร้าคนดูได้ดี การเต้นมีการออกแบบให้ปรับเข้ากับตัวเพลงอันทรงพลังของเฮนริก มิโคลาจ โกเรกกี เรียกได้ว่า Polish Pieces คือความร่วมสมัยของบัลเลต์ ที่มาพร้อมความสดใหม่อย่างแท้จริง

ฟาน มาเนน นำเอาไลน์การเต้นของบัลเลต์มาผสมผสานกับเทคนิคการเต้นในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ออกมาเป็นท่าทางที่สื่อถึงสัตว์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสื่อถึงเรื่องทางโลกของมนุษย์อย่างเช่น เซ็กส์ หรือภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ท่าทางเหล่านี้ยังเป็นเรื่องของการอาศัยการตีความที่มีความลึกซึ้งพอสมควร บางท่าอาจจะใหม่เกินที่เราเข้าใจได้ แต่ไฮไลท์สำคัญของโชว์คือ การทำให้เราได้เห็นว่าการใช้สรีระในการเล่าเรื่อง ของมนุษย์คือสิ่งที่สวยงามยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก

อินโทรดานส์ คณะบัลเลต์ร่วมสมัย ความสวยงามของมนุษย์ ที่ใช้สรีระ "เล่าเรื่อง"

       “Ella” คือโชว์การเต้นเดี่ยวของนักเต้นหญิงที่อุทิศน์ให้กับยอดนักร้องแจ๊สระดับตำนานอย่าง เอลล่า ฟิตซ์เจอรัลด์ โดยได้ โรเบิร์ต แบทเทิล นักออกแบบท่าเต้นชาวอเมริกันเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้

‘Air Mail Special’ ผลงานดังของเอลล่า ที่ถูกเขียนเมื่อปี ค.. 1941 โดยเบนนี กู๊ดแมน ถูกหยิบมานำเสนอโดยอินโทรดานส์ ผ่านการเต้นที่ดูสนุกและเร้าใจ ซึ่งความน่าสนใจของมันก็คือท่าทางต่าง ๆ ของการแสดงนี้จะเล่นล้อไปกับเสียงสแกต (scat) ของเอลล่า อีกทั้งยังจะสอดรับกับเสียงกลองหรือท่อนคลิกตามจังหวะของเพลงด้วยเช่นกัน นี่คืองานสร้างสรรค์การแสดงที่ดึงดูดและเต็มไปด้วยพลังที่อุทิศให้กับเอลล่า ซึ่งส่วนตัวชอบผลงานชิ้นนี้ที่สุดเพราะมันทั้งดูง่าย เพลิดเพลินและไม่ต้องอาศัยการตีความใด ๆ

“In Memoriam” โดย ซีดิ ลาร์บิ เชอร์ครัวอี นี่คือผลงานที่ความตายของคนในครอบครัวได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ เซอร์คัวอี นักออกแบบท่าเต้นชาวเฟลมมิช-โมร็อกกัน สร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ขึ้น เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษของเขา

นี่คือการแสดงที่นำเสนอในห้วงอารมณ์ของความสุขุม นุ่มลึก ผ่านเทคนิคการเต้นบัลเลต์ชั้นสูงและเพลงโพลีโฟนีสไตล์คอร์ซิกาดั้งเดิมของวง A FILETTA บวกกับภาพเคลื่อนไหวของจิลส์ เดลมาส ที่ฉายทางจอด้านหลัง ก็ยิ่งส่งให้อารมณ์ของการแสดงมีความเข้มข้นมากขึ้น

การแสดงชุดนี้ต้องอาศัยการตีความที่ค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร ตัวนักเต้นจะมาพร้อมชุดสี แดง ดำ เบจและขาว ที่สามารถตีความออกมาได้ถึง เลือด ความตาย เถ้าถุลี และการเกิดใหม่ โดยสารหลักของการแสดงชุดนี้คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นจริงและความทรงจำในโลกแห่งจินตนาการ ซึ่งท่าทางที่เหล่านักเต้นแสดงออกมาแอบแฝงเรื่องของความอ่อนโยนและความแข็งกร้าวในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่จุดประสงค์ของการแสดงที่อุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ที่ตัวเชอร์ครัวอี อยากนำเสนอ

อินโทรดานส์ คณะบัลเลต์ร่วมสมัย ความสวยงามของมนุษย์ ที่ใช้สรีระ "เล่าเรื่อง"

       การแสดงชุดสุดท้าย "Black Cake” คืออีกหนึ่งผลงานของ ฟาน มาเนน ที่เคยสร้างสรรค์ให้คณะเนเดอร์ลานด์ ดานส์ เธียเตอร์ในปี ค.. 1989 อันเนื่องมากจากการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของคณะดังกล่าว ชื่อการแสดงที่แปลออกมาได้ว่าเค้กสีดำเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีทั้งกิเลสและราคะ แต่แทนที่ความสุขจะเป็นเรื่องของโทนที่สดใส ฟาน มาเนน กับใช้สีดำเป็นตัวแทนของการสื่อความหมายนั้น

ฟาน มาเนน ได้วาดภาพงานปาร์ตี้ของคนสังคมชั้นสูง ที่มาสังสรรค์และดื่มกัน ก่อนที่เวลาต่อมาพวกเขาจะตกหลุมพลางจากอิทธิฤทธิของแอลกอฮอล์ และได้แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของคนออกมา นี่คือการสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์เรา ผ่านศิลปะการเต้นบัลเลต์ขั้นสูง

อินโทรดานส์ คณะบัลเลต์ร่วมสมัย ความสวยงามของมนุษย์ ที่ใช้สรีระ "เล่าเรื่อง"

       อินโทรดานส์ อาจจะไม่ใช่คณะบัลเลต์ร่วมสมัยที่มาพร้อมกับท่วงท่าที่ชวนน่าตื่นเต้นระทึกใจตลอดเวลา ถ้าให้สรุปสั้น ๆ ก็คือผลงานของพวกเขาต้องอาศัยจินตนาการและการตีความที่ลึกซึ้งพอสมควร ซึ่งถ้าหากคุณสามารถติดเข้าไปในโลกของพวกเขาหรือเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาต้องจะสื่อได้ บัลเลต์ของพวกเขาจะทำให้คุณเห็นถึงความสวยงามอันน่าทึ่งที่สร้างสรรค์มาจากฝีมือมนุษย์