อิรวดี ถาวรบุตร วัยรุ่นอายุ 16 ปั้น ‘Sandee For Good’ สตาร์ทอัพร้านค้าออนไลน์เพื่อสังคม

อิรวดี ถาวรบุตร วัยรุ่นอายุ 16 ปั้น ‘Sandee For Good’ สตาร์ทอัพร้านค้าออนไลน์เพื่อสังคม
“หนูคิดว่ามันสำคัญมาก ๆ ที่เด็กทุกคนเขารู้ว่าสามารถออกมาทำอะไรได้ ไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ มีนวัตกรรมหลายอย่างมากที่เราสามารถมาพัฒนาได้ ด้วยประสบการณ์ของเด็ก ๆ หลาย ๆ คน” คือคำพูดฉะฉานของ “ใบเตย” อิรวดี ถาวรบุตร วัย 16 ปี ซีอีโอของ ‘Sandee For Good’ สตาร์ทอัพที่เธอก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม  ใบเตยที่ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต ก่อตั้ง Sandee For Good ในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ เอาไว้เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือเพื่อองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทย ในรูปแบบร้านค้าออนไลน์ที่ผู้บริจาคสามารถซื้อของออนไลน์ให้กับองค์กรเพื่อสังคม เพราะต้องการช่วยเหลือและอยากแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นสตาร์ทอัพของตัวเองว่า มีแรงบันดาลใจมาจากสมัยเด็กที่ได้ไปช่วยองค์กรเพื่อสังคม และได้เรียนรู้การทำงานขององค์กรเหล่านั้น ทำให้เริ่มเห็นปัญหาการกระจายของที่ไม่ทั่วถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในตัวเมืองมีของบริจาคจำนวนมาก แต่นอกเมืองกลับขาดแคลน เธอยกตัวอย่างองค์กรเพื่อสังคมแห่งหนึ่งที่ประกาศว่าต้องการน้ำ ก็มีรถบรรทุกน้ำมาให้ แต่น้ำกลับมีมากกว่าจำนวนคนที่ต้องการ ขณะเดียวกัน องค์กรเพื่อสังคมที่ห่างไกลอื่น ๆ กลับได้รับการช่วยเหลือหรือการบริจาคที่น้อยมาก ใบเตยจึงอยากแก้ปัญหานี้ โดยสร้างแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาให้องค์กรเพื่อสังคมทุกที่ได้มีโอกาสเท่ากัน “บางทีก็มีที่อื่นที่ต้องการมากกว่า แล้วเหตุผลที่ที่อื่นไม่ได้ของเหล่านั้น เพราะว่าคนที่บริจาคไม่รู้ว่ามีองค์กรอยู่ที่ไหนอีกบ้าง ก็เลยบริจาคอยู่ที่เดียว” ใบเตยเล่า ด้วยเหตุนี้ เธอจึงสร้างแพลตฟอร์ม Sandee For Good เพื่อแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่ามีจุดไหนที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง โดยรวบรวมรายชื่อองค์กรหรือมูลนิธิต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ พร้อมข้อมูลทั่วไป และรายการสิ่งของที่องค์กรหรือมูลนิธินั้นต้องการ แม้ผู้บริจาคจะสามารถมอบสิ่งของให้โดยตรงเองได้เลย แต่ใบเตยรู้สึกว่าอยากทำสิ่งที่ใช้กำลังคนน้อยที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงคิดออกมาเป็นเว็บไซต์และแอปฯ ที่มีขั้นตอนง่าย ๆ ในการบริจาคสิ่งของ และในอนาคตก็จะขยายความช่วยเหลือให้ได้มากขึ้น หรืออาจขยายไปช่วยเหลือมูลนิธิในประเทศอื่นๆ ด้วย แม้ใบเตยจะมีอายุเพียง 16 ปี แต่เธอมองว่าการเป็นเด็กที่อาจจะมีเพียงแค่ความคิด แต่ยังไม่เริ่มลงมือทำนั้นไม่ใช่คำตอบ ใบเตยเห็นว่าการปฏิบัติตั้งแต่เด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตัวเธอเองโชคดีที่เคยเจอคนมีประสบการณ์เยอะ ที่รู้ว่าเด็กมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะแม่ของเธอที่บอกว่า “ถ้าจะทำไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่นะ ให้ทำไปเลย” การเป็นซีอีโอของสตาร์ทอัพในวัยนี้ย่อมมาพร้อมความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในสังคมที่คาดหวังว่าเด็กวัยนี้ควรโฟกัสกับการเรียนหรือเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ใบเตยกล่าวว่า โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพ่อและแม่ให้ได้ทำในสิ่งที่รัก ต่างกับบางครอบครัวที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเรียนเท่านั้น “หนูรู้จักหลาย ๆ คนที่พ่อแม่อยากให้อยู่แต่ในโรงเรียน ให้ทำอะไรปกติที่คนอื่นทำ พอแปลก ๆ ขึ้นมาก็ทักว่าแปลกจังเลย หนูเลยอยากให้ทุกคนรู้ว่า การแปลกเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่งั้นเราก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในสังคมของเรา”

อิรวดี ถาวรบุตร วัยรุ่นอายุ 16 ปั้น ‘Sandee For Good’ สตาร์ทอัพร้านค้าออนไลน์เพื่อสังคม

หลังขึ้นเวทีเสวนาในหัวข้อ “Preparing Our New Generation for Jobs That Don't Exist Yet” และ “Straight Talk: Living in the Future” ที่มีเนื้อหาว่าด้วยระบบการศึกษาของเยาวชนในปัจจุบันและในอนาคต ในงาน Techsauce Global Summit 2019 งานรวมตัวของสตาร์ทอัพชั้นนำในเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นในไทยเมื่อกลางปี 2019 ใบเตยได้เห็นถึงพลังที่สำคัญของเยาวชนและมีความหวังเกี่ยวกับอนาคตที่กำลังจะเปล่งประกาย กล้าเสี่ยง ไม่กลัวความผิดพลาด และเสน่ห์ของคนไทยที่มีความอ้อนน้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ใบเตยมองว่าเป็นข้อได้เปรียบของเยาวชนที่จะนำมาปรับใช้ พาให้สังคมก้าวหน้าไปได้ “ถ้าเด็กไม่สามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ โลกนี้ก็จะเสียกำลังสำคัญไป มีเด็กตั้งกี่คนในโลก ถ้าทุกคนรู้ว่าสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรเองได้ ประเทศเราและโลกใบนี้จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเยอะขนาดไหน” ใบเตยยังได้พูดถึงลักษณะนิสัยของตัวเองที่ทำให้ Sandee For Good มาถึงจุดที่หลายคนเริ่มรู้จัก ว่า คือการที่มีโอกาสแล้วไม่ผลักมันออกไป ทั้งโอกาสที่จะทำอะไรเพื่อสังคม โอกาสที่จะถ่ายทอดประสบการณ์การทำสตาร์ทอัพของเธอให้สังคมได้รู้ เมื่อได้โอกาสแล้วก็ต้องทำเต็มที่ เพราะโอกาสที่ได้มาอาจมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น สุดท้าย ใบเตยได้เปรียบเทียบประสบการณ์ทั้งหมดว่าเป็นเหมือน ‘รถไฟเหาะ’ ที่ช่วงแรกขึ้นไปแล้วน่ากลัว เพราะรถไฟนั้นขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา ตอนเริ่มต้นเธอไม่ได้มองว่าสิ่งนี้ง่ายเพราะเป็นสิ่งที่ใหม่ แต่เมื่อผ่านไปสักพัก ขึ้นรถไฟเหาะไปนาน ๆ ก็จะเริ่มชิน และเรียนรู้ที่จะปรับตัว “ใบเตยอาจเป็นคนนั้นก็ได้ที่ไม่เลือกเดินออกจาก comfort zone ของตัวเอง ไม่เลือกที่จะทำอะไรใหม่ ๆ แต่การที่เราเลือกเดินออกมาขึ้นรถไฟเหาะ มันน่ากลัว มันยาก แต่สุดท้ายก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่มีความหมายและการเรียนรู้อย่างมากมาย”   เรื่อง: ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์ (The People Junior) ภาพ: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)