Iron Butterfly - In-A-Gadda-Da-Vida: ไขปริศนาเพลงชื่อแปลกที่ได้มาจากคนหูฝาด และคนเมา

Iron Butterfly - In-A-Gadda-Da-Vida: ไขปริศนาเพลงชื่อแปลกที่ได้มาจากคนหูฝาด และคนเมา
ครั้งแรกที่เห็นชื่อเพลง ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ เด่นหรา ผู้เขียนขมวดคิ้วจนเหมือนมีคำถามว่า แปลว่าอะไร (วะ) อยู่กลางหน้าผาก หลังจากกดฟังเพลงร็อกความยาว 17:05 นาทีจากอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลงที่วง ‘Iron Butterfly’ เผยแพร่ให้โลกฟังในปี 1968 เพลงนี้ มันก็กลายเป็นอีกหนึ่งแทร็กที่ติดหูมาอย่างยาวนาน เสียงเบสที่โลดแล่นอยู่กลางกีตาร์ยาวเฟื้อยก่อนจะเลือนหาย ทิ้งไว้เพียงเสียงกลองให้จังหวะอยู่กว่าสองนาที และถูกโอบรับด้วยออร์แกน ก่อนเบสและกีตาร์จะเข้าประจำที่ ดนตรีพลิกผันไปมากว่าจะส่งเข้าท่อนร้องของเพลงที่ ‘Doug Ingle’ จะได้โชว์เสียงร้องของเขาแค่ช่วงต้นและจบเท่านั้น ยาวแต่คุ้มที่จะฟัง กระนั้นก็วกมาที่คำถามคำถามเดิมในตอนเริ่มต้น ‘แปลว่าอะไร (วะ) ?’ ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ คือหนึ่งในเพลงที่สะดุดหูสะดุดตาผู้คนตั้งแต่ปล่อย และขึ้นแท่นหนึ่งในเพลงร็อกที่ชื่อฟังดูเป็นปริศนาที่สุดในโลก แต่ความหมายที่แท้จริงของมันไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ถ้าถามว่าฮาไหม ก็น่าจะพอใช้ได้อยู่ เรื่องมันมีอยู่ว่า Doug Ingle ที่เป็นคนแต่งเพลงนี้ขึ้นมา ตั้งใจจะให้มันชื่อว่า ‘In The Garden Of Eden’ หรืออ่านออกเสียงว่า ‘อิน เดอะ การ์เดน ออฟ อีเดน’ สอดคล้องกับเนื้อเพลงที่เป็นการเกี้ยวสาวในห้วงรัก ประหนึ่งว่าเธอและเขาอยู่ในสวนอีเดนของพระเจ้านั่นเอง แต่การที่ชื่อเพลงมันผิดเพี้ยนไปไกลได้ขนาดนั้นก็คงต้องบอกว่าเพราะความเมาเป็นเหตุ อาจจะต้องเท้าความอีกนิดว่าดนตรียาวเหยียดที่เราได้ยินในเพลง นั้นอันที่จริงไม่ใช่เพลงรอบอัด แต่เป็นเพียงการเล่นซาวนด์เช็กให้วิศวกรเสียงฟังระหว่างรอโปรดิวเซอร์ ‘Jim Hilton’ และตอนที่พวกเขาเริ่มเล่นเพลงนั้น นักร้องพ่วงตำแหน่งนักแต่งเพลง Doug Ingle ก็กำลังเมาได้ที่ เสียงเพลงความยาวสิบเจ็ดนาทีกับอีกห้าวินาที คือดนตรีรอบซ้อม มีบางท่อนที่สมาชิกบางคนเล่นหลุด แต่เทปนั้นก็เป็นสิ่งที่สมาชิกในวงและทีมงานลงความเห็นตรงกันว่า ‘สด’ และ ‘มัน’ ที่สุด จนปัดตกเทปอื่น ๆ ที่อัดทีหลังทิ้งไป และคงไว้ซึ่งความออริจินัล รวมถึงความเมาของพี่ Doug เองด้วย คนแต่งเพลงนี้คือนักร้อง ส่วนคนที่เขียนชื่อเพลงแปะบนกล่องเทปคือมือกลองของวงอย่าง ‘Ron Bushy’ ที่ฟังไม่ออกว่า Doug เขาร้องอะไรออกมา พี่แกก็เลยเขียนลงแผ่นไปว่า ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ หรือ ‘อิน อะ กัดดา ดา วิดา’ ตามสิ่งที่ตัวเองได้ยินแทน ความแปลกของวลี ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ ถูกใจค่ายเพลงของพวกเขาเข้าอย่างจัง และการที่มัน ‘ฟังดูตะวันออก’ ในวันที่ The Beatles และ The Rolling Stones แข่งกันทำเพลงด้วยเครื่องดนตรีจากอีกซีกโลกก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจเผยแพร่ในชื่อนี้แทนชื่อที่ควรจะเป็นอย่าง ‘ในสวนแห่งอีเดน’ ไปโดยปริยาย แม้ว่าเพลงนี้จะถูกตัดให้เหลือเพียง 2:52 นาทีด้วยเหตุผลทางธุรกิจอย่าง ‘radio friendly’ แต่เอาเข้าจริง เหล่าดีเจคลื่นเพลงโปรเกรสซีฟต่าง ๆ กลับมักจะเปิดเวอร์ชันยาวเฟื้อยของเพลงนี้กันมากกว่า และนั่นส่งผลดีต่อยอดขาย เพราะ ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ เวอร์ชันยาวไม่มีขายในรูปแบบซิงเกิล ทำให้คนฟังต้องซื้ออัลบั้มเต็มเพื่อฟัง จนอัลบั้มนี้มียอดขายกว่า 4 ล้านแผ่น และขึ้นแท่นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในประวัติกาลของค่าย Atlantic Records กระทั่ง Led Zeppelin มาแย่งตำแหน่งนั้นไป นอกจากนี้ ‘In-A-Gadda-Da-Vida’ ยังถูกจัดเป็นเพลงฮิตเพลงแรกในหมวด ‘heavy metal’ หลังจากวง Steppenwolf บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นครั้งแรกในเพลง ‘Born To Be Wild’ อีกด้วย   ที่มา: https://www.songfacts.com/facts/iron-butterfly/in-a-gadda-da-vida https://www.pri.org/stories/2015-06-06/gadda-da-what-accidental-inspiraton-these-six-hit-songs Photo by Michael Ochs Archives/Getty Images