ไอวา โตกูริ ดาคิโน, กุหลาบแห่งโตเกียว สาวแอลเอที่ถูกตราหน้าเป็นหญิงชั่วขายชาติ

ไอวา โตกูริ ดาคิโน, กุหลาบแห่งโตเกียว สาวแอลเอที่ถูกตราหน้าเป็นหญิงชั่วขายชาติ
  "สวัสดี มิตรสหายชาวอเมริกัน คุณไม่คิดจะกลับบ้าน กลับไปพบหน้าภรรยาที่รัก และลูก ๆ กันเลยเหรอ? น่าเสียดายที่พวกคุณต้องมาถึงนี่ ห่างไกลจากสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตของพวกคุณ และต้องทำสงครามทั้งที่คุณไม่สนหรือเกี่ยวข้องด้วย" เสียงตามสายของหญิงสาวที่กล่าวเป็นภาษาอังกฤษถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุไปถึงบรรดาทหารอเมริกันที่ต้องออกมารบข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สตรีปริศนาผู้มีน้ำเสียงเย้ายวนใจรายนี้ถูกทหารอเมริกันให้ฉายานามว่า "กุหลาบแห่งโตเกียว" (Tokyo Rose) หน้าที่ของเธอคือการบ่อนทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกันที่ออกมารบไกลบ้านไกลเมือง หลังสงครามจบลง ไอวา โตกูริ ดาคิโน (Iva Toguri D’Aquino) หญิงอเมริกันรายเดียวที่ทำงานให้กับสำนักข่าวโดเมอิ (Domei) ในญี่ปุ่นก็ถูกจับกุม โดนกล่าวหาว่า เธอคือต้นเสียงของ “กุหลาบแห่งโตเกียว” ผู้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อชักจูงให้ทหารอเมริกันหนีทัพ ทำให้เธอต้องข้อหาเป็นกบฏขายชาติ ดาคิโน เกิดในลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1916 ตรงกับวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ในครอบครัวของชาวญี่ปุ่นอพยพเจ้าของร้านชำ จบการศึกษาด้านสัตววิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ลอสแอนเจลิสในปี 1940 จากนั้นหนึ่งปีเธอเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมญาติที่ป่วยหนักตามคำร้องขอของแม่ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์โดยที่สหรัฐฯ ไม่ทันตั้งตัว ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ได้คาดคิด ทำให้ดาคิโนกลายเป็นชาวอเมริกันที่ตกค้างอยู่ในแดนศัตรูโดยที่แทบไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย เธอยังถูกยึดบัตรรับแจกอาหารเมื่อเธอปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสัญชาติเป็นญี่ปุ่น บีบให้เธอจำเป็นต้องหางานทำ ในปี 1942 เธอได้งานในสำนักงานโดเมอิ ทำหน้าที่จับตารายงานข่าวของกองทัพอเมริกัน จนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกาศและดีเจให้กับสถานีวิทยุที่เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่น เธอรับหน้าที่จัดรายการในช่วง “Zero Hour” เน้นเปิดเพลงฝรั่งมีเป้าหมายเป็นบรรดาทหารอเมริกัน โดยเธอเรียกตัวเองระหว่างรายการว่า “แอน” หรือ “แอนเด็กกำพร้า” เธอทำงานอยู่ที่นี่หลายปีจนได้แต่งงานกับ ฟิลิเป ดาคิโน (Felipe D’Aquino) เพื่อนร่วมงานสัญชาติโปรตุเกสที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น (นามสกุลเดิมของเธอคือโตกูริ) เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม นักข่าวอเมริกันได้รู้เรื่องราวของเธอก็เกิดความสนใจและพากันมาทำรายงานข่าว รายงานของ The New York Times กล่าวว่าเธอบอกเองว่าตนเป็น “กุหลาบแห่งโตเกียว” ด้วยเพียงคิดว่านั่นจะทำให้ผู้อ่านชาวอเมริกันให้ความสนใจโดยไม่คิดว่านั่นจะกลายเป็นผลร้ายตามมาหลอกหลอนเธออยู่นานนับสิบปี เพราะเมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปว่าเธอทำงานให้กับศัตรู ก็ทำให้ทุกคนหลงคิดทันทีว่า ดาคิโนหักหลังประเทศชาติ โดยไม่ได้คำนึงถึงการกระทำจริง ๆ ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายเป็นการ “กบฏ” ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงจริงหรือไม่? จึงพากันเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเธออย่างถึงที่สุด ขณะที่ดาคิโนกล่าวว่า สิ่งที่เธอทำไปนั้นเธอไม่คิดว่าจะเป็นการแสดงถึงความไม่ภักดีต่อชาติอย่างที่คนกล่าวหา เพราะเธอแค่ออกอากาศเปิดเพลงอเมริกันเท่านั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกประกาศโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ เลย แต่ฝ่ายกล่าวหาก็ไม่ยอมแพ้โจมตีว่าเธอเรียกทหารอเมริกันผ่านรายการวิทยุว่า “บุคคลที่ถูกลืม” เพื่อทำลายขวัญกำลังใจ แต่เธอก็บอกว่าเธอจำไม่ได้ว่าเคยใช้คำนั้น เรื่องนี้ปัญหาก็คือ ไม่มีใครเคยเห็นหน้า “กุหลาบแห่งโตเกียว” มาก่อน หญิงชาวญี่ปุ่นที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในสถานีข่าวแห่งนี้ก็มีอยู่หลายคน ซึ่งจริง ๆ อาจจะสลับหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ก็เป็นได้ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือมันไม่มีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันที่จะเอามาใช้ปรักปรำดาคิโนได้เลย ถึงอย่างนั้น ดาคิโนก็ถูกจับกุม แต่พอถึงช่วงปลายปี 1946 เธอก็ได้รับการปล่อยตัวในญี่ปุ่น เมื่อทางกองทัพและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มีความเห็นสรุปว่า ขาดหลักฐานที่จะเอาผิดเธอ แต่เรื่องไม่จบง่าย ๆ ในช่วงสงครามเย็นที่สังคมหื่นกระหายความสามัคคีและทนไม่ได้กับความแปลกแยก เมื่อกระแสโซเชียลบวกกับแรงกดดันจากสื่อมวลชนหนุนนำ กระทรวงยุติธรรมก็จัดการรื้อคดีของเธอกลับมาพิจารณาอีกครั้งในปี 1948 หลังเธอเพิ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านที่แคลิฟอร์เนีย เธอถูกจับกุมและส่งตัวขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลในปี 1949 อัยการพยายามสืบว่า เธอสมัครใจประกาศโฆษณาชวนเชื่อ “อันต่ำช้า” โดยมิได้ถูกบังคับขู่เข็ญใด ๆ ผู้บังคับบัญชาของเธอในสถานีวิทยุก็มาเบิกความยืนยันว่าเธอเป็นคนประกาศข่าวโฆษณาชวนเชื่อเองโดยไม่มีใครบังคับ และยังมีการเปิดบันทึกการออกอากาศให้กับบรรดาลูกขุนฟัง แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เสียงออกอากาศที่เอามาเปิดนั้นเป็นเสียงของดาคิโนอย่างที่กล่าวหา ฝ่ายดาคิโนก็ยืนยันคำเดิมว่าเธอไม่ได้ทำอะไรผิด เชลยศึกสัมพันธมิตรที่ทำงานในสถานีวิทยุของญี่ปุ่นก็ช่วยยืนยันว่าดาคิโนไม่ได้พูดอะไรที่เข้าข่ายเป็นการทรยศประเทศ อย่างไรก็ดี ดาคิโนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเป็นกบฏจริง จากถ้อยคำที่ออกอากาศว่า “บรรดาลูกกำพร้าแห่งแปซิฟิก พวกเจ้าได้กลายเป็นเด็กกำพร้าจริง ๆ แล้ว พวกเจ้าจะกลับบ้านได้อย่างไร เมื่อเรือของพวกเจ้าต่างจมหายไปหมดแล้ว” ซึ่งศาลเชื่อว่านั่นเป็นเสียงของเธอ จึงลงโทษให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี กับปรับอีก 10,000 ดอลลาร์ หลังรับโทษจำคุกเป็นเวลา  6 ปี กับ 2 เดือน ดาคิโนก็ได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ต้องสู้ต่อมิให้ถูกเนรเทศ เธอใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ทำงานในร้านขายของชำในชิคาโก  ก่อนที่ ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด จะให้อภัยโทษและคืนสัญชาติอเมริกันให้กับเธอในวันที่ 19 มกราคม 1977 โดยมิได้ให้ความเห็นใด ๆ ทั้งนี้ การให้อภัยโทษเป็นสิ่งที่พอจะคาดหมายได้ เพราะ "สติ" ของคนเริ่มกลับมา หัวหน้าคณะลูกขุนที่มีมติให้ลงโทษเธอก็ยอมรับว่าในสมัยที่มีการพิจารณาคดีบรรดาลูกขุนล้วนแต่เต็มไปด้วยไฟแค้นจากความรู้สึกต่อต้านคนญี่ปุ่น เหตุด้วยสงครามเพิ่งจบลงใหม่ ๆ เมื่อเวลาผ่านไปคนเริ่มเห็นได้ถึงปัญหา สังคมจึงเริ่มกดดันให้รัฐบาลประกาศอภัยโทษให้เธอโดยก่อนหน้านั้นหนึ่งปีรัฐสภาแคลิฟอร์เนียมีมติเป็นเอกฉันท์ขอให้ประธานาธิบดีฟอร์ดประกาศอภัยโทษให้กับเธอ ด้าน เอ็ดวิน โอ. ไรส์ชาวเออร์ (Edwin O. Reischauer) อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นระหว่างปี 1961 ถึง 1966 ให้ความเห็นว่า กุหลาบแห่งโตเกียวเป็นเพียง “ตำนาน” ในช่วงเวลาแห่งสงครามเท่านั้น แต่มันได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความด่างพร้อยให้กับกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ ด้วยปัญหาอคติทางเชื้อชาติ และความเกลียดชังต่อชาวญี่ปุ่นคู่สงครามที่เพิ่งยุติลงหมาด ๆ     ที่มา: https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1945/08/08/88274876.html?action=click&contentCollection=Archives&module=ArticleEndCTA&region=ArchiveBody&pgtype=article&pageNumber=11 https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1944/03/27/87438840.html?action=click&contentCollection=Archives&module=ArticleEndCTA&region=ArchiveBody&pgtype=article&pageNumber=4 https://www.nytimes.com/1944/10/30/archives/tokyo-rose-stirs-philippine-mirth-on-radio-she-tells-of-times.html ps://www.nytimes.com/1941/07/28/archives/force-in-cambodia-japanese-on-border-of-thailand-and-in-other.html https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1945/09/06/88291047.html?action=click&contentCollection=Archives&module=ArticleEndCTA&region=ArchiveBody&pgtype=article&pageNumber=2 https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1949/08/19/96470012.html?pageNumber=10 https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1945/09/01/88288728.html?action=click&contentCollection=Archives&module=ArticleEndCTA&region=ArchiveBody&pgtype=article&pageNumber=4 https://www.nytimes.com/2006/09/27/world/asia/28rose.html https://www.nytimes.com/2006/09/28/world/asia/28rose.html