เจ. วิลเลียม ฟุลไบรต์ ผู้เปลี่ยน อุปกรณ์ทางทหาร เป็นทุนการศึกษา "ฟุลไบรต์"

เจ. วิลเลียม ฟุลไบรต์ ผู้เปลี่ยน อุปกรณ์ทางทหาร เป็นทุนการศึกษา "ฟุลไบรต์"

ผู้เปลี่ยน อุปกรณ์ทางทหาร เป็นทุนการศึกษา "ฟุลไบรต์"

"พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการแลกเปลี่ยนความรู้ก็คือการเปลี่ยนความเป็นชาติรัฐให้เป็นเรื่องของมนุษยชาติ แปลงอุดมคติให้เป็นแรงบันดาลใจ การทุ่มสร้างอาวุธโดยเฉพาะเครื่องจักรทำลายล้างที่ไม่อาจคาดเดาไม่สามารถสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจได้ สิ่งที่ควรจะทำก็คือทุกฝ่ายต้องร่วมกันมองหาวัตถุประสงค์และผลประโยชน์อันสร้างสรรค์ร่วมกัน ซึ่งการเจรจาและการสร้างความร่วมมือเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จำเป็นต้องมีผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมเป็นมาเป็นผู้นำหรือผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลของเรา ซึ่งโครงการฟุลไบรต์ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้สมวัตถุประสงค์ดังกล่าว" เจ. วิลเลียม ฟุลไบรต์ (J. William Fulbright, 1905-1995) กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี โครงการฟุลไบรต์ในปี 1986 (กระทรวงการต่างประเทศ, สหรัฐอเมริกา) หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ "โครงการฟุลไบรต์" หรือทุนฟุลไบรต์ ทุนการศึกษาที่เรียกได้ว่าดังที่สุดทุนหนึ่งในโลก มีการแจกทุนกว่าแปดพันทุนในแต่ละปี ถือเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับสหรัฐฯ มายาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลกจบลงหมาดๆ ซึ่งก็คงจะมีบ้างที่เคยได้ยินชื่อโครงการนี้มาก่อนแต่ไม่รู้ว่าชื่อโครงการมีที่มายังไง? บุคคลอันเป็นที่มาของชื่อโครงการนี้ก็คือ "เจ. วิลเลียม ฟุลไบรต์" อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากอาร์คันซอที่ครองตำแหน่งกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นมาได้ด้วยฟุลไบรต์เป็นผู้ผลักดันตั้งแต่ได้เป็นวุฒิสมาชิกสมัยแรกในปี 1944 ไอเดียเบื้องต้นของโครงการนี้ก็คือการเอารายได้ที่มาจากการ "ขายอุปกรณ์ทางทหารส่วนเกิน" ให้กับต่างชาติมาเป็นทุนเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระดับนานาชาติผ่านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในภาคการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์" และปี 1946 มันก็ผ่านรัฐสภากลายเป็นกฎหมาย Fulbright Act ลงนามโดยประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน (ภายหลังได้ถูกควบรวมและขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ภายใต้กฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ Fulbright-Hays Act) กฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขหลักการในกฎหมาย Surplus Property Act ปี 1944 ซึ่งว่าด้วยเรื่องการจำหน่ายอุปกรณ์ทางทหารส่วนเกินที่มีอยู่จำนวนมากเนื่องจากมีการเร่งกำลังผลิตในช่วงสงครามเพื่อสนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ เองและพันธมิตร โดยกฎหมายใหม่จะให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บริหารจัดการการจำหน่ายอุปกรณ์ทางทหารส่วนเกินที่มีอยู่ในต่างประเทศ และเมื่อเงินที่ได้มามักจะเป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่เอาไปแลกเปลี่ยนได้ยากมากกว่าที่จะเป็นเงินดอลลาร์ เพื่อไม่ให้เสียของจึงมีการเสนอให้เอาเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนนักศึกษาสหรัฐฯ ในการออกไปศึกษายังประเทศเหล่านี้เพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของประเทศต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ประชาชนของประเทศคู่สัญญาได้เข้ามาเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็ถือว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย   แต่ช่วงแรกของโครงการก็มีปัญหาติดขัดเพราะกฎหมายฉบับนี้ให้ใช้เฉพาะเงินสกุลต่างประเทศ แต่การแลกเปลี่ยนนักศึกษามันต้องเกิดขึ้นทั้งสองทาง ทางโครงการจำเป็นต้องหาเงินดอลลาร์มาช่วยอุดหนุนนักศึกษาต่างชาติด้วย เบื้องต้นก็เลยต้องไปหาสถาบันการศึกษาและกองทุนมูลนิธิต่างๆ มาช่วยอุดหนุนโครงการจึงเดินหน้าไปได้ การแลกเปลี่ยนนักศึกษากลุ่มแรกตามโครงการนี้เกิดขึ้นได้ในปี 1948 เป็นนักศึกษาอเมริกัน 47 คน กับนักศึกษาต่างชาติ 36 คน จากประเทศจีน พม่า และฟิลิปปินส์ (ซึ่งเป็นฐานการสู้รบสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ภายหลังจึงมีการผ่อนปรนเรื่องการใช้เงินรวมถึงแหล่งที่มาของเงินของกระทรวงการต่างประเทศ และได้ขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่นๆ อีกทั่วโลก (กระทรวงการต่างประเทศ) นอกจากจะโด่งดังในเรื่องการก่อตั้งทุนการศึกษาระดับโลกแล้ว ฟุลไบรต์ยังมีชื่อในฐานะผู้ต่อต้านการล่าแม่มด (คอมมิวนิสต์) ในช่วงสงครามเย็นทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักเสรีนิยม และเป็นผู้ที่วิจารณ์การทำสงครามของสหรัฐฯ ในเวียดนามอย่างหนัก ในฐานะประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเขาได้รับฟังคำร้องเรียนปัญหาจากสงครามอย่างต่อเนื่อง ฟุลไบรต์ยังเป็นผู้เขียน The Arrogance of Power (1966) โจมตีการสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงครามเวียดนาม การที่รัฐสภาไม่ได้ตั้งขอบเขตของกองทัพในการทำสงครามในเวียดนาม รวมถึงกระแสสังคมที่ชักนำประเทศไปสู่เส้นทางดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ฟุลไบรต์ในฐานะวุฒิสมาชิกจากรัฐในภาคใต้เขาไม่กล้าที่จะท้าทายกับระบบแบ่งแยกสีผิว เขาลงคะแนนเสียงไม่รับร่างกฎหมาย Civil Rights Act ปี 1964 ที่กำหนดให้การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือชาติกำเนิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย  รวมถึง Voting Rights Act ปี 1965 ซึ่งยืนยันสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนผิวดำ โดยอ้างว่า เขาไม่เชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถใช้ได้จริง และไม่คิดว่าผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงจะยอมรับได้ หากเขาไปลงเสียงสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว (The New York Times)