133 ปี ปริศนา ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ กับหลักฐานใหม่ ‘DNA’ ที่จะชี้ว่าใครคือฆาตกรต่อเนื่องที่ทั่วโลกตามหา

133 ปี ปริศนา ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ กับหลักฐานใหม่ ‘DNA’ ที่จะชี้ว่าใครคือฆาตกรต่อเนื่องที่ทั่วโลกตามหา
***คำเตือน เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เวลา 03.40 นาฬิกา ของวันที่ 31 สิงหาคม 1888 ความมืดมิดยังปกคลุมทั่วเขตไวท์ชาเปล (Whitechapel) ย่านคนจนที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชายคนหนึ่งเร้นกายอยู่ในความมืด และหายตัวไปราวกับเงาที่ไม่อาจจับต้อง เลือดจากบาดแผลที่ถูกเชือดโดยมีดขนาด 12 นิ้ว ไหลซึมอยู่บนถนน ร่างที่ไร้วิญญาณของเหยื่อรายแรกยังคงอุ่น เธอคือ ‘แมรี แอนน์ นิโคลส์’ (Mary Ann Nichols) หญิงขายบริการผู้โชคร้าย และจุดเริ่มต้นตำนานฆาตกรต่อเนื่องแห่งไวท์ชาเปลที่ตำรวจไม่อาจปิดคดีได้มาจนถึงปัจจุบัน นี่คือปริศนาของฆาตกรที่คนทั่วโลกจับตามากว่า 133 ปี ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ เขาสังหารหญิงขายบริการอย่างโหดเหี้ยมไปถึง 5 ศพ แต่หลายคนเชื่อว่ามีเหยื่อมากกว่านั้น และอาจมากถึง 11 ศพตามจำนวนแฟ้มคดีของตำรวจนครบาลของกรุงลอนดอน (London’s Metropolitan Police Service) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 1888 - 13 กุมภาพันธ์ 1891 เหยื่อทั้ง5 เธอทั้ง 5 คน คือเหยื่อที่สังเวยชีวิตให้กับแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ และได้รับการยืนยันจากตำรวจว่าเป็นฝีมือของฆาตกรคนเดียวกัน โดยพวกเขาเรียกเธอทั้ง 5 คนว่า ‘The Canonical Five’ ส่วนหญิงสาวรายอื่น ๆ ที่เสียชีวิตในไวท์ชาเปล ทางตำรวจยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ เนื่องจากมีหลายแนวคิดและทฤษฎีจากคนที่ตามหาตัวฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ บางคนบอกว่าเหยื่อของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์มีแค่ 5 ราย บางคนบอกว่ามีมากถึง 11 ราย บางคนบอกว่ามีมากกว่านั้น หรือแม้กระทั่งบางคนเชื่อว่าแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่เป็นฆาตกรหลายคนที่ลงมือฆ่าเหยื่อของตัวเอง เพราะเมื่อพิจารณาจากสภาพศพอย่างละเอียดพบว่า วิธีการฆ่าและวิธีการเลือกเหยื่อนั้นไม่เหมือนกันและไม่มีแบบแผน เว้นแต่ว่าพวกเธอล้วนเป็นโสเภณี กระนั้น การตายของหญิงสาวทั้ง 5 ก็มีส่วนที่ถูกใช้เป็นหลักฐาน และเป็นข้อสันนิษฐานในการเฟ้นหาแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ตัวจริง เหยื่อรายแรกถูกพบเป็นศพช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 1888 เธอคือหญิงขายบริการอายุ 43 ปี นามว่า แมรี แอนน์ นิโคลส์ (Mary Ann Nichols) เธอเดินอยู่บนถนนไวท์ชาเปลท่ามกลางความมืดคนเดียว และมีพยานพบเห็นเธอ 1 ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะพบเป็นศพ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือร่างไร้วิญญาณนั้นยังคงอุ่น หมายความว่าคนร้ายเพิ่งจะลงมือได้ไม่นาน โดยสภาพศพของแมรีมีร่องรอยถูกปาดที่คอเป็นแผลลึก 2 รอย และลึกถึงขนาดที่คอของเธอเกือบจะหลุดออกมา นอกจากนี้เธอยังถูกแทงที่บริเวณช่องคลอด 2 ครั้ง และที่บริเวณท้อง ซึ่งการกระทำอันโหดร้ายนี้เกิดขึ้นภายใต้ความเงียบสงัด ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของหญิงสาว และแน่นอนว่าไม่มีใครได้ยินแม้กระทั่งเสียงฝีเท้าของฆาตกร ในจุดนี้ ตำรวจคาดการณ์ว่าแมรีอาจถูกบีบคอจนเสียชีวิต ก่อนที่ฆาตกรจะลงมือเชือดคอของเธอทีหลัง หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ ในวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 1888 ศพของเหยื่อรายที่สองก็ปรากฏขึ้นที่ถนนเส้นเดิม เธอมีชื่อว่า ‘แอนนี แชปแมน’ (Annie Chapman) ร่างของหญิงสาววัย 28 ปีคนนี้ถูกพบในเวลาประมาณ 6 โมงเช้า โดยสภาพศพถูกกระทำรุนแรงขึ้นกว่าศพแรก เพราะนอกจากจะมีรอยปาดลึกที่คอจำนวน 2 รอยแล้ว หน้าท้องของเธอยังถูกเปิดออก ลำไส้เล็กถูกนำมากองทิ้งไว้ที่บริเวณไหล่ขวา มดลูก ช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะถูกชำแหละออกจากร่าง ความโหดเหี้ยมของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์เริ่มเป็นที่กล่าวขานกันมากขึ้น แต่หญิงขายบริการตามถนนไวท์ชาเปลยังคงทำงานของพวกเธอต่อไป โดยวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 1888 เอลิซาเบธ สไตรด์ (Elizabeth Stride) ในวัย 45 ปี ถูกพบเป็นศพราวตี 1 คอของเธอมีรอยถูกปาดเป็นแผลยาว 6 นิ้ว แต่ไม่มีร่องรอยของการถูกชำแหละเหมือนเช่นเหยื่อรายอื่น ๆ ซึ่งคาดเดาว่าระหว่างที่คนร้ายกำลังจะลงมือ อาจมีคนมาพบเห็นเข้าเสียก่อน ทำให้ฆาตกรถูกขัดจังหวะและต้องหนีไป นอกจากนี้ตำรวจยังเผยอีกว่า สาเหตุการตายของเอลิซาเบธมาจากการเสียเลือดมาก ซึ่งต่างจากเหยื่อสองรายแรกที่คาดว่าถูกบีบคอจนตายก่อนจะใช้มีดปาดคอทีหลัง แต่ไม่ถึง 1 ชั่วโมงหลังจากนั้น ศพของแคทเธอรีน เอดโดวส์ (Catherine Eddowes) เหยื่อในวัย 46 ปีก็ถูกพบในสภาพที่น่าสลดกว่าทุกศพที่ผ่านมา เพราะเธอไม่เพียงถูกปาดคอ แต่หน้าท้องของเธอยังถูกกรีดออก ลำไส้ถูกควักออกมาวางบนหัวไหล่ด้านขวา แถมบางส่วนยังถูกตัดออกมาวางทิ้งไว้ข้างลำตัว หน้าของเธอถูกกรีดจนเสียโฉม จมูกถูกตัด แก้มถูกเฉือนเป็นรูปสามเหลี่ยมชี้ขึ้นไปที่ดวงตา นอกจากนี้ ไตและกระเพาะปัสสาวะของเธอยังถูกตัดออกมา การกระทำนี้เองที่ทำให้ตำรวจสันนิษฐานได้ว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์น่าจะเป็นคนที่มีความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ เพราะเขาทราบตำแหน่งของอวัยวะ และตัดมันออกภายใต้ความมืดได้อย่างคล่องแคล่ว 10.45 นาฬิกาของวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 1888 ราวกับเป็นการทิ้งทวนของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ เหยื่อรายสุดท้ายของเขาถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด ถึงขนาดที่ตำรวจไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าผู้หญิงรายนี้เป็นใคร แต่ต้องอาศัยพยานวัตถุที่อยู่ในที่เกิดเหตุแทน ซึ่งคาดว่าเธอคือ ‘แมรี เจน เคลลี’ (Mary Jane Kelly) หญิงสาววัย 25 ปีที่เสียชีวิตอยู่ในห้องพักของตัวเอง แมรีถูกพบในสภาพนอนกางขาอยู่บนเตียง ใบหน้าเละจนไม่อาจระบุได้ว่าเป็นใคร ช่องท้องของเธอถูกเปิดออก คอถูกกรีดลึกถึงกระดูกสันหลัง มดลูก ไต และเต้านมข้างหนึ่งถูกตัดออกมาวางไว้ใกล้ศีรษะ อวัยวะภายในอื่น ๆ ถูกวางไว้ที่เท้า เนื้อบริเวณหน้าท้องและต้นขาถูกวางเอาไว้ที่โต๊ะข้างเตียง ส่วนหัวใจถูกควักออกจากร่างและหายไป จากหลักฐานที่ได้จากศพและที่เกิดเหตุทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีมากมาย ทั้งตำรวจและพลเรือนต่างพยายามระบุตัวแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ให้ได้ แต่ด้วยหลักฐานที่ยังไม่มากพอ ประกอบกับเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 133 ปี ทำให้การตามหาตัวฆาตกรในยุควิกตอเรียนคนนี้ไม่ง่ายเลย รู้จักแจ็คเดอะริปเปอร์จากหลักฐานเพียงน้อยนิด ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝั่งตะวันออกของกรุงลอนดอนเป็นพื้นที่ของคนยากจนที่เต็มไปด้วยปัญหาชุมชนแออัด การทะเลาะวิวาท และอาชญากรรม เหล่าหญิงสาวต่างผันตัวมาเป็นโสเภณีให้บริการแขก นั่นทำให้พวกเธอหลายคนติดโรคซิฟิลิส นอกจากนี้ ไวท์ชาเปลยังเป็นเขตที่ผู้อพยพชาวยิวและรัสเซียเดินทางมาตั้งรกราก หลายทฤษฎีจึงมีการคาดคะเนว่าแจ็ค เดอะ ริปเปอร์อาจไม่ใช่ชาวอังกฤษโดยกำเนิด แต่ก็มีคนแย้งว่า หากฆาตกรต่อเนื่องคนนี้พูดอังกฤษได้ไม่ดี เขาน่าจะมีโอกาสถูกจับมากกว่า และไม่น่ารอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนพฤติกรรมการฆ่าเหยื่อในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในเวลาเช้าตรู่ ทำให้เกิดการคาดเดาว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์น่าจะเป็นคนธรรมดาที่ต้องทำงานในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจเป็นเพียงการตบตาของฆาตกรที่ต้องการทำให้ตำรวจสับสนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีการตัดอวัยวะภายในของเหยื่อทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์อาจเป็นหมอศัลยกรรม หรือเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะเขารู้ว่าอวัยวะอะไรอยู่ส่วนไหน และสามารถตัดมันออกมาแม้จะอยู่ในที่มืดได้ นอกจากนี้ พยานที่เคยพบเห็นแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ยังบอกว่า เขาเป็นชายที่ไว้หนวดเล็ก ๆ บนใบหน้า แต่จากการที่มีคนพบเห็นฆาตกร และฆาตกรกระทำการสังหารเหยื่อในที่โล่งแจ้งอย่างไม่เกรงว่าจะถูกจับได้ ทำให้บางคนสันนิษฐานต่อว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์น่าจะเป็นคนที่ไม่ได้วางแผนก่อนการฆ่า ทั้งยังฆ่าโดยไม่มีแบบแผน เนื่องจากลักษณะการเลือกเหยื่อของเขาไม่เหมือนกัน บางคนอายุมาก บางคนอายุน้อย บางคนรูปร่างสมส่วน บางคนร่างอวบ บางคนผมสีดำ บางคนผมสีบลอนด์ เป็นต้น แต่สำหรับคนที่คิดว่าทั้ง 5 ศพนั้นเป็นฝีมือของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ พวกเขาได้ให้ความเห็นว่า ที่ศพของแมรี แอนน์ นิโคลส์ และเอลิซาเบธ สไตรด์ ยังไม่ถูกชำแหละเช่นเดียวกับศพที่เหลือ เป็นเพราะฆาตกรถูกขัดจังหวะจึงยังกระทำการไม่สำเร็จ แต่หากเขาทำสำเร็จ ทั้ง 5 ศพจะถือว่าเป็นการฆ่าที่มีแบบแผนเดียวกัน จากหลักฐานทั้งหมดที่ถูกเก็บรวบรวมมากว่า 1 ศตวรรษจึงนำไปสู่ตัวผู้ต้องสงสัยที่มีมากกว่า 31 คน โดยมีตั้งแต่คนในสลัมไปจนถึงเศรษฐี คนยกปลา ศิลปิน แพทย์ ไปจนถึงเจ้านายแห่งราชวงศ์อังกฤษ เปิดรายชื่อผู้ต้องสงสัยและหลักฐานชิ้นล่าสุด เขามีใบหน้าที่อ่อนเยาว์ รูปร่างที่สูงสง่า และฐานันดรศักดิ์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ‘เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด’ (Prince Albert Victor Christian Edward) หลานชายของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย คือหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ คำกล่าวอ้างบางส่วนบอกว่า เจ้าชายเดินทางมาใช้บริการซ่องในเขตไวท์ชาเปล และต้องการปกปิดเรื่องที่เจ้าชายมีความสัมพันธ์กับโสเภณี โดยการตามฆ่าโสเภณีทุกคนที่ทราบเรื่อง แต่กระนั้นก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่า เจ้าชายอยู่ในลอนดอนตลอดระยะเวลาที่แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ปรากฏตัว และไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างหญิงสาวแต่ละคนที่เสียชีวิต ทั้งลักษณะภายนอกของเจ้าชายยังอ่อนเยาว์กว่าที่พยานเคยระบุเอาไว้ ผู้ต้องสงสัยอีกคนคือจิตรกรชื่อดังระดับโลกนามว่า ‘วอลเตอร์ ซิคเคิร์ต’ (Walter Sickert) เขาถูกกล่าวถึงโดยนักเขียนนามว่า ‘แพทริเซีย คอร์นเวลล์’ (Patricia Cornwell) ซึ่งเธอเป็นผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับหลักฐานชั้นต้นของคดีทั้งหมดด้วยตัวเอง และเขียนออกมาเป็นหนังสือเรื่อง ‘Portrait of a Killer: Jack the Ripper, Case Closed’ โดยแพทริเซียระบุว่า DNA บนจดหมายที่แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ส่งไปยังตำรวจนั้นตรงกับ DNA ของวอลเตอร์ ทั้งเขายังเดินทางไปวาดภาพสถานที่ในลอนดอน และระบุวันตรงกับช่วงที่เกิดเหตุฆาตกรรมพอดี นอกจากนี้ภาพวาดบางส่วนยังมีลักษณะเหมือนสภาพศพของหญิงสาวที่ถูกฆ่าตาย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วอลเตอร์ชื่นชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมและแจ็ค เดอะ ริปเปอร์มาก ทำให้หลายคนเชื่อว่าเขาเพียงแค่อยากมีส่วนร่วมโดยการส่งจดหมายไปแกล้งตำรวจเท่านั้น และเขาเองยังมีพยานที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสจากจดหมายที่เขียนตอบกับญาติอีกด้วย สำหรับผู้ต้องสงสัยอีกคน เธอมาพร้อมกับการคาดเดาของนายตำรวจคนหนึ่งที่สืบคดีของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์อยู่ แต่ในเคสนี้คงต้องเรียกว่า ‘จีล เดอะ ริปเปอร์’ เพราะผู้ต้องสงสัยอย่าง ‘แมรี เพียร์ซี’ (Mary Pearcey) นั้นเป็นผู้หญิง โดยจุดเริ่มต้นของทฤษฎีนี้มาจากคดีของแมรี เจน เคลลี ซึ่งมีคนพบเห็นแมรี เจนถึง 2 ครั้งในเวลาหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า จิล เดอะ ริปเปอร์จะสังหารเธอ และปลอมตัวเป็นแมรี เจนเพื่อหลบหนี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า แมรี เพียร์ซีมีความรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ เธอจึงสามารถชำแหละอวัยวะภายในออกมาได้อย่างง่ายดาย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพยานหลักฐานที่ไม่เพียงพอ ทำให้ทุกคนยังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย และเรื่องราวของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ยังคงเป็นกระแสให้ผู้คนกลับไปค้นคว้าเป็นระยะ กระทั่งล่าสุดในปี 2019 หลักฐานชิ้นใหม่อย่าง DNA ที่ได้มาจากผ้าคลุมไหล่ของแคทเธอรีน เอดโดวส์ที่ถูกฆ่าโดยแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ก็นำพาตำรวจไปสู่ผู้ต้องสงสัยคนเดิมอีกครั้ง ‘รัสเซล เอ็ดเวิร์ด’ คือนักเขียนผู้ได้รับผ้าคลุมไหล่ของแคทเธอรีน เอดโดวส์มาไว้ในครอบครอง เขาได้ใช้หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์หลักฐานจากการเก็บคราบเลือดและคราบอสุจิที่ติดอยู่บนผ้าไปตรวจสอบ จนค้นพบว่าคราบเลือดนั้นเป็นของแคทเธอรีน ส่วนคราบอสุจิก็ไปตรงกับ DNA ของลูกหลานชายผู้มีนามว่า ‘อารอน คอสมินสกี’ (Aaron Kosminski) ผู้ต้องสงสัยชาวโปแลนด์ที่เคยถูกจับกุมเมื่อร้อยปีก่อน ในสมัยที่อารอนเป็นช่างตัดผม เขาได้อาศัยอยู่ที่ถนนไวท์ชาเปล และถูกตำรวจเข้าจับกุม ก่อนจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรักษาอาการป่วยทางจิตในปี 1891 จนกระทั่งในปี 2007 รัสเซลได้รับผ้าคลุมไหล่นั้นมาตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า ผ้าคลุมไหล่ผืนนั้นอยู่ในที่เกิดเหตุจริง นอกจากนี้ผ้าคลุมไหล่ยังอาจได้รับการปนเปื้อนจากใครก็ได้ที่จะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยมาตลอด 133 ปี ดังนั้นหลักฐานจาก DNA ชิ้นล่าสุดก็ยังไม่อาจไขปริศนาได้ว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ตัวจริงคือใคร? แต่ไม่ว่าโฉมหน้าของฆาตกรต่อเนื่องคนนี้จะถูกเปิดเผยหรือไม่ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น และความโหดเหี้ยมบนหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน ตำนานของเขาจะเป็นเครื่องย้ำเตือนสังคมให้ตระหนักได้ถึงความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน และพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ขึ้นอีก ไม่ว่าจะที่มุมใดของโลกก็ตาม เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ที่มา: https://www.history.com/topics/british-history/jack-the-ripper https://www.usatoday.com/story/news/nation/2019/03/18/dna-evidence-reveals-identity-jack-ripper-scientists-claim/3206856002/ https://www.casebook.org/ https://www.biography.com/crime-figure/jack-the-ripper https://www.sciencemag.org/news/2019/03/does-new-genetic-analysis-finally-reveal-identity-jack-ripper ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=8JKzE7iFNzE&t=1004s